แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320


    ครั้งที่ ๓๒๐


    สำหรับความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านผู้ฟังในสมัยนี้ และคงจะต่อไปถึงอนาคต ก็ไม่ผิดกับในครั้งอดีต เพราะว่าความเห็นถูกนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายนักสำหรับผู้ที่สะสมอบรมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า เรื่องใดที่เป็นเรื่องผิด ผู้นั้นพร้อมที่จะรับทันที ง่ายเหลือเกินที่จะคิดว่าถูก เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะเหตุว่าสะสมความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด เข้าใจผิด

    แต่ว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องถูก เรื่องใดที่เป็นเรื่องจริง เรื่องใดที่เป็นเรื่องละเอียด บุคคลที่มีความโน้มเอียงสะสมมาที่จะเห็นผิด ไม่ยอมรับเลย ปฏิเสธ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือว่าไม่ถูก แต่สิ่งใดที่คลาดเคลื่อน สิ่งใดที่ผิด บุคคลนั้นง่ายที่จะเชื่อ พร้อมที่จะรับทันที

    แต่ว่าธรรมนั้น ก็คงทนต่อการพิสูจน์ ยิ่งท่านเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม ท่านก็สามารถที่จะอาศัยธรรมที่ท่านศึกษามาเทียบเคียงพิสูจน์ว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    สำหรับเรื่องของบุคคลที่มีความเห็นต่างๆ กัน ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อาชินสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่ออาชินะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เพื่อนพรหมจรรย์ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าบัณฑิต เพราะคิดจิตตุปบาทได้ ๕๐๐ ดวง ซึ่งเป็นเครื่องซักถามอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเป็นผู้ถูกข่มขี่แล้ว รู้ตัวว่าถูกข่มขี่

    นี่ในครั้งพุทธกาล มีผู้ที่มีความเห็นว่า สหายพรหมจรรย์ของตนนั้น ชื่อว่า บัณฑิต เพราะเหตุว่าสามารถคิดเรื่องของจิต คิดจิตตุปบาทได้ ๕๐๐ ดวง ซึ่งเป็นเครื่องซักถามเดียรถีย์ทั้งหลาย และอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ยอมจำนนไป เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นสามารถคิดจิตตุปบาทได้ ๕๐๐ ดวง

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทรงจำเหตุแห่งความเป็นบัณฑิตได้หรือไม่

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กาลนี้เป็นกาลควร ข้าแต่พระสุคต กาลนี้เป็นกาลควรที่พระผู้มีพระภาคพึงทรงภาษิต ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    เห็นไหม แม้แต่เพียงความหมายของบัณฑิต พระภิกษุยังต้องกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาค เพื่อให้พระองค์ทรงภาษิต เรื่องของบัณฑิตไม่ใช่เรื่องเล็ก ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดด้วยว่า จะเป็นบัณฑิตจริง หรือไม่จริง

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะอันไม่เป็นธรรมด้วยวาทะอันไม่เป็นธรรม และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วย วาทะอันไม่เป็นธรรม บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึง เพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    สมัยนี้ มีเรื่องของการบรรยายธรรมมาก เพราะฉะนั้น มีบุคคลที่ย่อมข่มขี่ บีบคั้นวาทะอันไม่เป็นธรรม ด้วยวาทะอันไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน คือ เวลาที่จะกล่าวว่าบุคคลอื่นผิด คำที่กล่าวว่าบุคคลอื่นผิด ตนเองก็ผิด ผู้ที่มีความเห็นผิด และมีความเห็นว่า ความเห็นอื่นผิดด้วย เพราะฉะนั้น ก็กล่าวบีบคั้นวาทะที่ไม่เป็นธรรม ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม สมัยนี้มีไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยวาทะที่เป็นธรรม ก็ยินดีในวาทะอันไม่เป็นธรรม ที่ข่มขี่วาทะอันไม่เป็นธรรม ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึง เพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ท่านผู้ฟังพิจารณาก็จะเห็นได้ว่าแม้ในสมัยนี้ ก็มีบุคคลอื่นที่กล่าวว่า บุคคลอื่นผิด แต่คำพูดของบุคคลนั้นที่กล่าวว่า บุคคลอื่นผิด ก็ผิดเหมือนกัน แต่แม้กระนั้นผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ ก็ย่อมยินดีในวาทะอันไม่เป็นธรรม และกล่าวสรรเสริญว่า ผู้นั้นเป็นบัณฑิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรมบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    สมัยนี้มีไหม มีวาทะที่เป็นธรรม แต่ว่าผู้ที่มีวาทะที่ไม่เป็นธรรมก็ยังกดขี่ บีบคั้น วาทะที่เป็นธรรมนั้น ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม แต่ผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึง เพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมว่า ท่านผู้นั้นเป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นั้นเป็นบัณฑิตหนอ มีไหมอย่างนี้

    ตั้งแต่ในครั้งโน้น จนถึงในครั้งนี้ และในครั้งต่อไป ท่านผู้ฟังอย่าคิดว่า ไม่ใช่เรื่องนามธรรมและรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเป็นเหตุให้วจีทุจริตเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเห็นผิดซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ กายก็ย่อมผิด วาจาก็ย่อมผิด สิ่งใดที่เป็นธรรม แต่ผู้ที่มีวาทะที่ไม่เป็นธรรม ก็ยังบีบคั้น กดขี่วาทะที่เป็นธรรมนั้น ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม แต่ว่าผู้ที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ก็ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงว่า ผู้ที่มีวาทะไม่เป็นธรรมนั้น เป็นบัณฑิต

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมและวาทะที่ไม่เป็นธรรมด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะไม่เป็นธรรม บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    สมัยนี้มีบัณฑิตมากไหม ฟังๆ ดูจากผู้ที่ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม จะมีบางท่านสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงทีเดียวว่า ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิต ท่านผู้นั้นเป็นบัณฑิต เพราะเหตุว่าท่านข่มขี่วาทะที่ไม่เป็นธรรมและวาทะที่เป็นธรรม ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม ตนเองนี้มีวาทะที่ไม่เป็นธรรม แต่กระนั้นก็ยังข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรม และวาทะที่ไม่เป็นธรรม ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรมของตนเอง แต่ว่าผู้ไม่รู้ ก็สรรเสริญว่า ผู้นั้นเป็นบัณฑิตหนอ ผู้นั้นเป็นบัณฑิตหนอ

    เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าท่านผู้ฟังไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ท่านก็ย่อมจะสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงในวาทะที่ไม่เป็นธรรมว่า บุคคลนั้นเป็นบัณฑิตหนอ เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังใคร่ครวญ พิจารณา และขอให้เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว และตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่ไม่เป็นธรรมด้วยวาทะที่เป็นธรรม และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรม บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันเป็นธรรมนั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    พิจารณาว่า ตัวท่านอยู่ในประเภทใด หรือว่ามิตรสหายของท่านอยู่ในประเภทใด ควรยกธรรมวินัยเป็นเครื่องตัดสิน และเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมวินัยที่ท่านศึกษาด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่เป็นธรรม และย่อมยังบริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรม บริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะที่เป็นธรรมนั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญท่าน ผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ

    นี่เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เป็นธรรม บุคคลควรทราบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกท่านกำลังสนใจ ที่จะได้ทราบว่า อะไรเป็นธรรมที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมที่ควรทราบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เป็นธรรม บุคคลควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคคลควรทราบ ครั้นทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไฉน และสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไฉน

    ท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านทราบแล้วหรือเปล่า ดูเหมือนกับพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่ง่ายและเป็นธรรมธรรมดา ที่ท่านอาจจะทราบแล้ว แต่ขอให้ทราบว่า ผู้ที่รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุผลของธรรมโดยละเอียดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงแสดงธรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรแก่การที่จะได้ทราบ ควรแก่การที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไฉน และสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลายความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่เกิดขึ้น เพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

    พยัญชนะสั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกท่านปฏิบัติอยู่ในชีวิตปกติประจำวัน ดังข้อความที่ว่า ความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดอยู่อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยเกิดขึ้น เพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย

    ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว การชักชวน หรือคำพูดที่ผิด ก็ย่อมเกิดขึ้น ทำให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดไปด้วย แต่ว่าความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ถ้าท่านมีความเห็นชอบ โดยเฉพาะในมรรคมีองค์ ๘ เป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลสมีมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก ถ้ากิเลสไม่มาก จะหลงลืมสติมากไหม เพราะฉะนั้น ท่านพิสูจน์ธรรม ท่านเห็นธรรมที่เป็นตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ที่หลงลืมสติมากอย่างนี้ ก็เป็นเพราะกิเลสมากเหลือเกิน และเมื่อมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเจริญกุศลทุกประการ

    เมื่อท่านเป็นผู้ที่ใคร่ที่จะละกิเลส ดับกิเลส เพราะเห็นว่าสะสมกิเลสมามากเหลือเกิน ซึ่งถ้ายังคงสะสมอกุศกรรมและกิเลสต่อไป เมื่อไรจะดับหมดได้สักที แต่ ทั้งๆ ที่อยากจะดับกิเลส รู้ว่ากิเลสที่มีนี้มากเหลือเกิน ถ้าท่านยังไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการ จะดับกิเลสได้อย่างไร เพราะเหตุว่าขณะใดที่จะกระทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นการสะสมเพิ่มพูนกิเลสอีก และขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็เพิ่มพูนกิเลสมากขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส และใคร่ที่จะดับกิเลส ก็จะไม่เพิ่มกิเลสโดยการกระทำทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา กุศลธรรมมิใช่น้อยจึงเจริญ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความดำริผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความดำริชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การเจรจาผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การเจรจาชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การงานผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การงานชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงชีพผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การเลี้ยงชีพชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความพยายามผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความพยายามชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความระลึกผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความระลึกชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความตั้งใจผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความตั้งใจชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความรู้ผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความรู้ชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความพ้นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความพ้นชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม

    อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความพ้นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความพ้นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม บุคคลควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคคลควรทราบ ครั้นทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ คำที่เรากล่าวดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุนี้

    เรื่องของชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ หรือเปล่า ทั้งหมดนี้ที่ พระผู้มีพระภาคตรัส ตั้งแต่ความเห็นชอบซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความดำริชอบซึ่งได้แก่สัมมาสังกัปปะ การเจรจาชอบซึ่งได้แก่สัมมาวาจา การงานชอบซึ่งได้แก่สัมมากัมมันตะ การเลี้ยงชีพชอบซึ่งได้แก่สัมมาอาชีวะ ความพยายามชอบซึ่งได้แก่สัมมาวายาโม ความระลึกชอบซึ่งได้แก่สัมมาสติ ความตั้งใจชอบซึ่งได้แก่สัมมาสมาธิความรู้ชอบซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความพ้นชอบซึ่งได้แก่สัมมาวิมุตติ เหล่านี้ เป็นความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ ที่สามารถจะดับกิเลสได้จริงๆ

    แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นผิด คลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ อกุศลธรรมก็ย่อมเจริญ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมเจริญ เพราะว่าชีวิตปกติประจำวันนั้นมาจากความเห็นผิด ทุกอย่างก็ผิดตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    ถ. มิจฉาวิมุตติหมายถึง

    สุ. ไม่พ้น แต่เข้าใจว่าพ้น ก็เป็นการพ้นผิด

    ถ. วิธีการเจริญสติ ผมยังไม่ทราบว่าเจริญอย่างไร อาจารย์อธิบายว่าเวลาเจริญสติให้กำหนดที่อารมณ์ที่มากระทบ เช่น สิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู เป็นต้นพิจารณาอย่างไร สิ่งที่มากระทบนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๓๑๑ – ๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564