แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345


    ครั้งที่ ๓๔๕


    ข้าพระองค์นั้นได้รักษาศีล ๕ ในศาสนาของพระองค์ และได้ปฏิบัติในธรรมของพระตถาคต ได้เดินทางไปถึงระหว่างเขตบ้านทั้งสอง ในท่ามกลางหมู่โจร โจรเหล่านั้นได้ฆ่าข้าพระองค์เพราะเหตุแห่งโภคทรัพย์ ข้าพระองค์ระลึกถึงกุศลมีประมาณเท่านี้ สิ่งอื่นอันยิ่งไปกว่ากุศลตามที่กราบทูลแล้วนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ เพราะกรรมอันสุจริตนั้น ข้าพระองค์จึงได้เกิดในไตรทิพย์ พรั่งพร้อมด้วยกามคุณตามปรารถนา ขอพระองค์ทรงดูผลแห่งการถึงสรณคมน์ สมาทานศีล และการปฏิบัติธรรมอันสมควร สิ้นกาลเพียงครู่หนึ่ง เหมือนดังรุ่งเรืองอยู่ด้วยฤทธิ์และยศ เกินจะประมาณ

    ชนทั้งหลายซึ่งมีโภคทรัพย์ด้อยกว่าสมบัติของข้าพระองค์เป็นอันมาก มาเห็นสมบัติอันมากของข้าพระองค์ ย่อมอยากได้ ขอพระองค์ทรงดูผลแห่งเทศนาอันเล็กน้อย อันข้าพระองค์ฟังแล้ว ข้าพระองค์ยังไปสู่สุคติ และได้ประสพความสุข ชนเหล่าใดได้ฟังธรรมของพระองค์เนืองๆ ชนเหล่านั้นเห็นจะได้บรรลุนิพพาน อันเป็นธรรมไม่ตาย เป็นธรรมเกษม เพราะกุศลมีประมาณไม่น้อย อันชนเหล่านั้นทำแล้ว ขอพระองค์ทรงดูผลอันมากมายไพบูลย์ อันข้าพระองค์ตั้งอยู่ในธรรมของพระตถาคตทำไว้แล้ว

    ฉัตตเทพบุตรยังปฐพีให้สว่างไสวดุจพระอาทิตย์ เพราะเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วก็ชนบางพวกได้พบได้เห็นแล้ว พากันคิดว่า พวกเราจะทำกุศลอย่างไร จะประพฤติอย่างไร จึงจะได้อย่างนี้ คิดไป คิดไป เห็นว่าทำได้แสนยาก ดุจพลิกแผ่นดิน และ ดุจยกเขาสิเนรุราช ชนเหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราได้ความเป็นมนุษย์อีกแล้ว ควรเป็นผู้มีศีล ปฏิบัติ ประพฤติธรรม

    พระองค์เป็นครูของข้าพระองค์ ทรงมีอุปการะ และอนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์เป็นอันมาก เมื่อข้าพระองค์ได้พบพระองค์แล้วในวันนั้น ก็ได้ถูกพวกโจรฆ่าตายในเวลาเช้า ข้าพระองค์เป็นฉัตตมาณพได้เข้าถึงสัจจนาม ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะขอฟังธรรมอีก

    ชนเหล่าใดในศาสนานี้ ละกามราคะ ภวราคะ อันเป็นอนุสัย และโมหะแล้ว ชนเหล่านั้น ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์ต่อไป เพราะว่าเป็นผู้บรรลุนิพพาน มีความเย็นเกิดแล้ว

    จบ ฉัตตมาณวกวิมานที่ ๓

    ถ้าท่านได้พบ และพระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอน ทรงแสดงธรรม ให้งดเว้น ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ทีแรกจะทูลปฏิเสธหรือเปล่าว่า ทำไม่ได้ หรือว่าแสนยาก แต่ว่าภายหลังก็ได้กระทำตามพระดำรัสนั้น เพราะฉะนั้น ชีวิต ก็ไม่แน่ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น แต่เพียงชั่วขณะที่งดเว้น ละเว้นทุจริตกรรม เช่น ปาณาติบาต เป็นกุศลที่ควรจะสะสม ที่จะกระทำ ซึ่งก็เหมือนข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า คิดๆ ไปเห็นว่า ทำได้แสนยาก ดุจพลิกแผ่นดิน และดุจยกเขาสิเนรุราช แต่ถ้าอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ก็ย่อมจะถึงวันหนึ่งที่ทำได้อย่างสบาย เพราะว่าได้บรรลุคุณธรรมถึงความที่จะดับกิเลส ละอกุศลกรรมบถเหล่านั้นได้ แต่ต้องอาศัยการเจริญ การอบรม แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่มีอะไรเลยที่จะดับกิเลสได้

    เมื่อยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ และทรงแสดงธรรมว่า ธรรมใดเป็นโทษ ธรรมใดเป็นอกุศล ก็ควรละเว้น งดเว้น แม้ชั่วขณะเล็กน้อย

    ถ. ท่านผู้หนึ่งที่เข้าสำนักปฏิบัติ เป็นผู้ที่บอกกับผมเองว่า เดี๋ยวนี้ท่านฟังอาจารย์สุจินต์ รู้สึกว่าได้ความรู้ ได้ความแตกฉานเกี่ยวกับการปฏิบัติมากกว่าที่ไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านบอกว่า การไปสู่สำนักปฏิบัตินั้น กับการปฏิบัติซึ่งเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้ การปฏิบัติอย่างนี้สะดวกสบายกว่ามากเหลือเกิน คำพูดนี้ก็เป็นอันลบล้างคำพูดของท่านแต่เดิมที่ว่า การไปสู่สำนักปฏิบัตินั้น จำเป็นอย่างโน้น อย่างนี้

    แต่ที่ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ เป็นปัญหาที่เขาถามกันทางวิทยุ เรื่อง ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ เขายกตัวอย่าง การฆ่าตัวเอง ทำไมจึงไม่ถึงความเป็นกรรมบถ มีเหตุผลอย่างไร

    สุ. เรื่องของอกุศลกรรมบถ เป็นเรื่องของการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน และเจตนาที่เป็นอกุศล รุนแรงถึงกับสามารถทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนได้ ก็เป็นเครื่องวัดว่า กิเลสมีกำลังแรงกล้าขึ้นแล้ว เพราะว่าอกุศลกรรมบถ คือ การกระทำ ที่เป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลส

    ธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ มีปัจจัยที่จะให้กิเลสอกุศลเกิดขึ้น กิเลสอกุศลก็เกิด และถ้าสะสม ก็เพิ่มพูนมีกำลังแรงกล้าขึ้น ซึ่งกิเลสที่มีกำลังแรงกล้านี้จะทำให้ท่านสามารถที่จะกระทำทุจริต คือ ถึงกับเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนได้ ฉะนั้นการที่ท่านจะเบียดเบียนบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นอกุศลที่มีกำลังแรงทีเดียว ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ

    ท่านผู้ฟังถามว่า ตนเองไม่รักชีวิตของตนเองหรือ ซึ่งความจริงการรักชีวิต ก็เป็นอนุสัย เป็นกิเลสที่ละเอียด และลึกมาก

    อนุสัยกิเลสนั้น เป็นธรรมชาติที่มีประจำอยู่ในจิตสันดาน เมื่อยังไม่ได้เหตุ ยังไม่ได้ปัจจัยที่จะให้เกิดปรากฏขึ้น ก็ดูเสมือนว่าไม่มีกิเลส เมื่อบุคคลนั้นไม่ใช่ พระอรหันต์ ต้องมีเชื้อของกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตอย่างละเอียด ที่เป็นอนุสัยกิเลส

    และการรักชีวิตนี้ รักภพ ความปรารถนาในภพ ภว ความเป็น เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ความปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีประจำอยู่ในจิตแล้ว แต่ว่าเมื่อปรารถนาที่จะได้ ในภพอย่างนั้น คือ ประกอบด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยโผฏฐัพพะอย่างนั้น แล้วไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะทนสภาพการไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ยังคงมีความปรารถนาอยู่ เมื่อไม่ได้ จึงได้ฆ่าตัวเอง นั่นเป็นกิเลสที่มีกำลัง แต่ก็ไม่มีกำลังเท่ากับการฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่น

    ถ. ถ้าเปรียบเทียบการรักชีวิต ย่อมมีความรักชีวิตของตนเองมากกว่าชีวิตของสัตว์อื่น นี่เป็นของธรรมดา แต่การฆ่าตัวเอง ทำไมโทษจึงเบากว่าฆ่าคนอื่น ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์สรุปว่า เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่ให้เกิดการฆ่านั้นต่างกัน ผู้ที่ฆ่าตนเองนี้ เป็นโทสะมูลจิตจริง เพราะว่าปัจจัยที่จะให้ฆ่าตนเองนั้น คือ ไม่พอใจในภพนี้ อยากจะไปสู่ภพที่ดีกว่างามกว่า นี่ก็เป็นเหตุหนึ่ง สำหรับการฆ่าสัตว์อื่นนั้น ไม่มีปัจจัยอย่างนี้ ปัจจัยที่จะฆ่า คือ พยายามที่จะทำลายสัตว์นั้นฝ่ายเดียว

    สุ. ถูกต้อง ความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่า เมื่อมีความไม่พอใจ ไม่ปรารถนาสภาพของสัตว์อื่น บุคคลอื่น ที่จะให้เป็นอย่างนั้น กิเลสก็รุนแรงถึงกับสามารถที่จะทำลายในวัตถุ คือ สัตว์อื่น ซึ่งไม่เป็นที่ไม่พอใจนั้นได้ ก็เป็นกิเลสที่มีกำลังแรง และสัตว์อื่น บุคคลอื่น ก็ไม่เหมือนจิตของตนเองซึ่งต้องการที่จะทำลายสภาพนั้นของตน แต่นี่ไปทำลายสภาพของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลอื่นก็รักชีวิต และไม่ได้ต้องการจะให้ถูกฆ่าด้วย

    สำหรับเรื่องของการฆ่านี้ เป็นอกุศลเจตนา เป็นอกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ต้องการทำลายชีวิตของสัตว์อื่น บุคคลอื่นให้ตกไป เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาสภาพจิตของท่านได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะทราบว่า ขณะนั้น สภาพความไม่แช่มชื่นของจิต เป็นอกุศลธรรม และถ้าท่านไม่ระลึกรู้ว่าเป็น นามธรรมและรูปธรรม กิเลสก็จะเพิ่มกำลังขึ้น จนถึงกับเป็นโทสะกล้า และทำการประหารสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ในการฆ่า ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีอยู่ ถ้ามีความจำเป็นเกิดขึ้น ซึ่งทุกท่านก็บอกว่า เป็นความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพบ้าง เป็นความจำเป็นเวลามีศัตรู หรือสัตว์ร้ายเผชิญหน้าบ้าง มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านกล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการประทุษร้าย หรือว่ามีการฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่น

    แต่ว่า ขอให้ท่านพิจารณาสภาพจิตของท่าน ถ้ามีการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความจำเป็นจริงๆ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือว่ายังแฝงไปด้วยความพยาบาทในการที่จะปองร้าย ในการที่จะเบียดเบียนสัตว์นั้น บุคคลนั้น ซึ่งเจตนาก็มีกำลังต่างกันแล้วใช่ไหม

    ถ้าผู้ที่ฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่น เพราะมีเหตุการณ์ที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ประกอบด้วยความพยาบาทอาฆาต ปองร้าย ก็ไม่มีกำลังแรงเท่ากับขณะที่แฝงด้วยความพยาบาท ความอาฆาต หรือความปองร้าย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาสภาพธรรมแล้ว ก็รู้กำลังของกิเลส ก็ย่อมเป็นผู้ที่เพียร

    ละ ขัดเกลากิเลสส่วนที่มีกำลัง เช่น ความพยาบาท ความอาฆาต ความปองร้าย เป็นต้น แต่เมื่อเป็นการกระทำที่ท่านจำเป็นจะต้องกระทำ เพราะว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ให้จิตของท่านตั้งไว้ชอบ ด้วยการที่จะไม่ให้จิตนั้นกำเริบ หรือว่าแฝงไว้ด้วยความอาฆาต ความพยาบาท ความปองร้าย แต่กระทำไปด้วยความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกระทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์ของการอาชีพ หรือว่าเพื่อประโยชน์ของหมู่คณะซึ่งเป็นส่วนรวม ถ้าเป็นอย่างนี้ อกุศลกรรมนั้นจะไม่มีกำลังเท่ากับขณะที่แฝงด้วยความอาฆาต พยาบาท ปองร้าย ซึ่งเป็นการที่จะขัดเกลา บรรเทากิเลสของท่านให้ลดน้อยลง จนกว่าท่านจะได้เจริญธรรมบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจะไม่มีแม้เจตนาที่จะฆ่าหรือเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่น และจะไม่ล่วงศีล ๕ ไม่กระทำอกุศลกรรมบถที่จะให้ไปสู่ทุคติ อบายภูมิเลย

    ขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่รู้จักตัวของท่านดีขึ้น ละเอียดขึ้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐานและด้วยการรู้สภาพจิตของท่านว่า กิเลสมีกำลังถึงกับทำการฆ่าสัตว์อื่น บุคคลอื่นบ้างหรือไม่ หรือว่าเจตนาที่จะฆ่านั้น ลดลง น้อยลง ละคลายลงบ้างแล้ว

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค สีลมยญาณนิเทส วรรณนา มีข้อความว่า

    ปาณาติบาต โดยเวทนา เป็นทุกขเวทนา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ พระราชาทั้งหลายทรงเห็นโจรแล้ว แม้จะทรงหรรษาร่าเริงอยู่ก็จริง ก็ยังตรัสว่า ขอพวกเจ้าทั้งหลายจงไปฆ่ามันเสีย แม้ก็จริง ถึงกระนั้น เจตนาที่เป็นเหตุให้ตกลงใจแห่งพระราชาทั้งหลายเหล่านั้น ก็ยังสัมปยุตต์อยู่ด้วยทุกข์นั่นเอง

    นี่เป็นสภาพของจิตที่ละเอียด ขณะที่กำลังหัวเราะร่าเริง แต่สั่งให้ฆ่า ถ้าไม่มีทุกข์ โทมนัสเวทนา ไม่พอใจในบุคคลนั้นแล้ว จะสั่งให้ฆ่าไม่ได้ ซึ่งทั้งๆ ที่กำลังหัวเราะร่าเริง แต่สั่งให้ฆ่า เป็นสภาพของจิตที่ต่างกัน แต่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากจนดูเหมือนกับว่า ไม่ใช่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนา

    แม้ผู้ที่กำลังล่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยความสนุกสนานอยู่ก็ตาม ดูเหมือนเป็นความสนุกสนานที่ได้ล่าสัตว์ ตัดชีวิต แต่เมื่อมีการฆ่าขณะใด ขณะที่ฆ่านั้นต้องเป็นเวทนาที่ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่น เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส ในสภาพของสัตว์ที่กำลังถูกฆ่านั้น การฆ่าจึงจะสำเร็จลงไปได้ นี่เป็นสภาพของจิต เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน แต่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น การที่จะละเจตนาฆ่าได้เด็ดขาด ได้เป็นสมุจเฉท จึงต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ ความเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะว่าเป็นผู้ที่เจริญสติ อบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างประเภทกัน แม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วก็รู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล และปัญญาที่สมบูรณ์นั้น จึงดับสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ที่เป็นเจตนาฆ่าได้โดยเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    แต่แม้ว่าเป็นเวทนา เป็นความรู้สึกของท่านเอง ถ้าไม่เจริญสติ จะทราบได้ไหมว่า ขณะที่จะฆ่ามีความไม่พอใจ มีความไม่แช่มชื่นในสัตว์ ในวัตถุที่กำลังจะถูกฆ่า จึงได้มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์นั้น บุคคลนั้นได้

    สำหรับความละเอียดในข้ออื่น ท่านสามารถศึกษาได้ใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค

    ส่วนบุคคลที่ฆ่าตัวเอง ก็เพราะกิเลสมีกำลัง แต่ไม่ใช่การประทุษร้ายบุคคลอื่นให้เดือดร้อน แม้ผู้ที่เจริญอบรมคุณธรรมเพื่อการบรรลุความเป็นพระอริยเจ้า เมื่อกิเลสมีกำลัง ก็อาจจะมีการฆ่าตนเองได้

    ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต สีหาเถรีคาถา มีข้อความว่า

    เมื่อก่อนเราเป็นผู้ถูกกามราคะเบียดเบียน มีจิตฟุ้งซ่าน จึงทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่มนสิการโดยอุบายอันแยบคาย เป็นผู้อันกิเลสทั้งหลายกลุ้มรุมแล้ว มีปกติเป็นไปตามความเข้าใจในกามคุณว่าเป็นสุข ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตอันสัมปยุตต์ด้วยราคะ จึงไม่ได้ความสงบแห่งจิต เราจึงเป็นผู้ผอมเหลือง มีผิวพรรณไม่ผ่องใสอยู่ตลอด ๗ ปี เราเป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว ไม่ได้ความสบายใจทั้งกลางวัน กลางคืน เพราะเหตุนั้น เราจึงถือเอาเชือกเข้าสู่ราวป่า ด้วยคิดว่าจะผูกคอตายเสียในที่นี้ดีกว่าที่จะกลับไปสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก พอเราทำบ่วงให้มั่นคง ผูกที่กิ่งไม้แล้ว สวมบ่วงที่คอ ในทันใดนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย

    เพียรที่จะรักษาศีลด้วยความเป็นภิกษุณี ไม่ทำลายสัตว์อื่น ชีวิตของสัตว์อื่น แต่ยังมีกิเลสแรงกล้าที่คิดจะทำลายชีวิตของตนเอง แต่เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่อบรมอุปนิสัยในการที่จะบรรลุคุณธรรม เป็นพระอริยเจ้า ท่านจึงได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยเจ้าในขณะที่กำลังจะฆ่าตัวตาย

    สำหรับเรื่องของศีลทั้งหมด เป็นเรื่องของทาน การให้ ที่ยิ่งใหญ่กว่าการให้วัตถุเป็นมหาทานทีเดียว เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้เบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อนด้วยเจตนาที่จะฆ่า หรือเจตนาที่จะถือเอาโภคสมบัติของบุคคลนั้น หรือกระทำทุจริตประการอื่น ก็เท่ากับเป็นการให้สิ่งที่มีประโยชน์แก่บุคคลนั้น คือ ท่านไม่ได้ให้การเบียดเบียนบุคคลนั้นให้เดือดร้อน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๔๑ – ๓๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564