แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318


    ครั้งที่ ๓๑๘


    ขอเล่าถึงเรื่องการสนทนากับภิกษุชาวต่างประเทศ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่เข้าใจการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และท่านเองก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย ท่านถามดิฉันว่า ทำไมดิฉันถึงได้กล่าวว่า ทันทีที่ได้ยินคำว่าสติ สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทำไมดิฉันจึงพูดอย่างนี้ ในเมื่อทุกคนก็ทราบว่าสติเป็นอนัตตา

    ดิฉันได้กราบเรียนท่านว่า ดิฉันจะใช้คำพูดทุกอย่าง ทุกประการ ที่จะเกื้อกูลให้ผู้ฟังเกิดสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในเมื่อผู้นั้นเข้าใจลักษณะของสติว่าเป็นอนัตตาแล้ว ผู้นั้นก็รู้ด้วยว่า บางครั้ง เวลาที่ได้ยินอย่างนั้น สติก็เกิด แต่บางครั้ง สติก็ไม่เกิด เป็นการถูกต้องที่เข้าใจอย่างนั้น แต่กระนั้นก็ยังต้องมีคำ มีวาจามีกถา ที่จะเตือนให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเว้นโอกาสที่จะตักเตือนภิกษุ และไม่ทรงเว้นที่จะให้เป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียรปรารภสติ ไม่ว่าจะเป็นการระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของนามธรรม ของรูปธรรม ทั้งๆ ที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ก็ทรงโอวาท ทรงอนุสาสนี พร่ำสอน เพื่อที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เป็นการบังคับ ซึ่งผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะเข้าใจในอรรถที่ทรงใช้ แม้ในการเป็นผู้ให้มีความเพียร ก็ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนที่จะกระทำความเพียร แต่เป็นผู้ที่เพียรระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ไม่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ จะเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผู้ที่ปรารภ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ทำจริงๆ ด้วยความเป็นตัวตน

    ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า การฟังและการพิจารณาเพื่อให้ปัญญารู้ของจริงที่กำลังปรากฏนั้น ควรจะเป็นในลักษณะใด

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟัง และขอความเห็นด้วยว่า สหายของท่านชักชวน เกือบจะเรียกได้ว่าขอร้อง หรือว่าบีบคั้น เคี่ยวเข็ญ ขอให้ไปสำนักปฏิบัติ ซึ่งความจริงทำไมถึงจะต้องขอร้องให้ไปสู่สำนักปฏิบัติ ในเมื่อขณะนี้ มีของจริงที่กำลังปรากฏ ควรที่จะให้บุคคลนั้นเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของจริงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนั้น ในขณะนั้น แต่ทำไมจะต้องขอร้องให้ไปสู่สำนักปฏิบัติ

    ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะต้องใคร่ครวญ พิจารณาเหตุผล เพราะเหตุว่าท่านก็คงจะได้รับการชักชวนขอร้องอยู่เสมอ ซึ่งท่านผู้นี้ก็เล่าให้ฟังว่า ท่านถูกขอร้องหลายครั้งหลายหนแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็ใคร่ที่จะได้ทราบจริงๆ ว่า ท่านควรจะไปสู่สำนักปฏิบัติหรือไม่

    ถ. มีผู้ถามว่า ทำไมในสติปัฏฐานนี้จึงพูดแต่ว่า เพื่อนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกให้พินาศเสีย ทำไมถึงไม่นำอวิชชาซึ่งเป็นตัวร้ายกาจอย่างยิ่งออกไป ซึ่งก็มีผู้ตอบว่า เพราะในครั้งกระโน้นมีธรรมสุดโต่งอยู่ ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค อภิชฌา คือ ชอบใจในกามเป็นอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ทรมานตัวเป็นโทมนัส ผมก็ยังไม่เข้าใจ อาจารย์ช่วยกรุณาเพิ่มเติม

    สุ. เพราะเหตุว่าสติเกิดระลึกรู้ จึงไม่ใช่การหลงลืม เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด จะมีโมหะ การหลงลืมด้วยพร้อมกันไม่ได้ ลักษณะของสติ คือ ระลึกรู้ ตรงกันข้ามกับหลงลืม ที่อภิชฌาและโทมนัสจะออกได้ เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน อภิชฌาและโทมนัสก็ไม่ออก ไม่สามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ในขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของกาย หรือของเวทนา หรือของจิต หรือของธรรม ในขณะนั้นไม่มีอภิชฌาและโทมนัส และเวลาที่สติเกิด จะมีโมหะ การหลงลืมด้วยพร้อมกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด วันนี้สภาพธรรมมีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน ชีวิตของท่านวันหนึ่งๆ ไปมาหาสู่ใคร บังคับบัญชาได้ไหม มีปัจจัยที่จะให้เกิด ที่จะให้ไป ก็เกิด ก็ไป เป็นปกติ เป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ความเข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านยังจะต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ เพื่อการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

    สำหรับท่านที่ยังข้องใจ หรือยังเห็นว่า การไปสู่สำนักปฏิบัติมีผลมหาศาล ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแน่นอน และการที่ท่านจะเทียบเคียงธรรมเอง เป็นการที่ไม่สมควร อย่างข้อความที่ท่านกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้ไม่มีคำกล่าวว่า เข้าห้องปฏิบัติก็จริง แต่ก็มีคำกล่าวว่า ได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระศาสดาหรือพระสาวก แล้วไปสู่เสนาสนะอันสงบสงัด เพื่อให้ได้กายวิเวก การไปสู่เสนาสนะอันสงบสงัดเช่นนั้น ก็คล้ายกับการเข้าห้องกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบันนี้

    คำว่า คล้าย ต้องไม่ใช่ของจริงแน่ ของจริงไม่มี แต่ท่านพยายามให้มี หรือว่าให้คล้าย ก็เป็นการที่ไม่ถูกต้อง และการไปแล้วนี้ ขอให้สังเกต สำเหนียก พิจารณาจริงๆ ว่า เป็นปกติในชีวิตประจำวันหรือเปล่า ประการหนึ่ง และเมื่อออกมาแล้ว ท่านยังสามารถที่จะเห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรมหรือไม่ว่า ณ สถานที่ใด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโลกธรรมฝ่ายดี หรือโลกธรรมฝ่ายเสื่อม ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น สามารถที่จะระลึกรู้ และมีปัญญาที่คมกล้า มีสติที่มั่นคงระลึกได้หรือเปล่า ถ้าระลึกไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไร

    ขอให้คิดถึงประโยชน์จริงๆ ตราบใดที่ท่านยังกล่าวว่า สู้การเข้าห้องปฏิบัติไม่ได้ หมายความว่า ท่านไม่เห็นความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม และท่านยังไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ขอกล่าวถึงข้อความบางประการ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเข้าใจชัดขึ้นในเรื่องของการหลีกเร้นในพระไตรปิฎก ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อานันทภัทเทกรัตตสูตร มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้น

    ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนีอรรถกถา มีว่า

    พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้น หมายถึง การออกจากผลสมาบัติ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องเข้าใจด้วย แต่ละอย่าง ไม่ใช่ท่านคิดความหมายเอง แปลเองว่า พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้น ท่านก็จะหลีกเร้นบ้าง แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้น คือ ออกจากผลสมาบัติ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า

    ปัญจาลจัณฑเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาสในที่คับแคบหนอ ผู้ใดได้รู้ฌาน เป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับแคบ แต่ได้เฉพาะแล้วซึ่งสติ เพื่อการบรรลุธรรม คือ พระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั้งมั่นดีแล้วโดยชอบ

    ซึ่งข้อความใน สารัตถปกาสินีอรรถกถา อธิบายว่า

    ความคับแคบมี ๒ อย่าง คือ ๑. นิวรณ์ ๒. กามคุณ

    นิวรณ์ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ พยาปาทนิวรณ์ ความขุ่นเคืองใจ วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัยไม่รู้ในสภาพธรรม ถีนมิทธนิวรณ์ ความท้อถอย หดหู่ อุทธัจจนิวรณ์ สภาพที่ไม่สงบของจิตที่ฟุ้งซ่าน เป็นนิวรณธรรม ๕

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    แต่ในที่นี้ ความคับแคบ หมายถึงนิวรณ์

    คำว่า ย่อมประสบโอกาส เป็นชื่อของฌาน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องเข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่ว่าท่านเทียบเคียงเอาเองว่า บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาสในที่คับแคบหนอ ท่านก็คิดว่า ที่คับแคบนั้นคงจะเป็นห้องเล็กๆ แต่ความจริงแล้ว หมายความถึงได้ประสบโอกาส เป็นชื่อของฌาน คือ ได้ฌานจิต แม้อยู่ในที่คับแคบ คือ แม้เมื่อมีนิวรณธรรม

    คำว่า ผู้หลีกออกอย่างองอาจ คือ ผู้หลีกออกอย่างประเสริฐ ผู้ละมานะได้แล้ว ท่านเรียกว่าผู้หลีกออก

    ท่านผู้ฟังที่จะหลีกกันนี้ ขอให้ทราบว่า ความหมายของผู้หลีกออกนั้น คือ ผู้ละมานะได้แล้ว ท่านเรียกว่าผู้หลีกออก ดังพระบาลีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ชื่อว่าหลีกออกอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ละอัสมิมานะได้ ตัดมูลรากได้ ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ให้มีความไม่เกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา

    นี่จึงจะชื่อว่าเป็นผู้หลีกออก

    ขณะที่กำลังเห็น ยังไม่ได้ละอะไรที่เป็นความเห็นผิด ยังยึดถือการเห็นว่าเป็นเรา จะชื่อว่าเป็นผู้หลีกออกได้ไหม ก็ไม่ได้ หลีกออก ต้องหลีกออกจากมูลรากของกิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่ละอัสมิมานะได้

    ที่ชื่อว่าชนเหล่านั้นตั้งมั่นแล้วโดยชอบ ความว่า ชนเหล่าใดได้เฉพาะแล้วซึ่งสติเพื่อบรรลุพระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั่งมั่นดีแล้ว ด้วยโลกุตตรสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้ ท่านกล่าวฌานปนกันไปกับวิปัสสนา

    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ท่านเขียนมาจากวัดศรีสุทธารามตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีข้อความว่า

    เมื่อมีจิตโกรธ แล้วรู้ว่าเป็นนามธรรม เมื่อจิตบอกว่าจะเมตตาเขา แต่จิตไปนึกถึงและรู้เหมือนอย่างตาไปเห็นตัวหนังสือ คำว่าเมตตา อย่างนี้ต้องให้ระลึกรู้ว่า เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม

    สุ. สำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นเรื่องของทุกท่านที่เพิ่งเริ่มที่จะสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็ยังสงสัยในลักษณะที่ปรากฏว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของรูปธรรม หรือนามธรรม ที่ปัญญาจะรู้ชัดขึ้นก็ต้องอาศัยการระลึกรู้ สังเกต สำเหนียกจริงๆ จนกระทั่งเป็นความรู้ชัดขึ้น เช่น ในขณะที่โกรธ รู้ว่าเป็นนามธรรม ถ้าใช้คำพูดอย่างนี้ อาจจะหมายความว่า รู้เพียงชื่อที่ได้ยินได้ฟังว่า ความโกรธเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ แต่การที่สติจะระลึกตรงของจริง มีลักษณะที่โกรธ และของจริงนั้นก็หมดไป เปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่น ตามที่ท่านเขียนมาว่า เมื่อมีจิตโกรธ และรู้ว่าเป็นนามธรรม เมื่อจิตบอกว่าจะเมตตาเขา ในขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิดนึก เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง มีความสงสัยว่าจิตไปนึกถึง และรู้ คือไปนึกถึงคำว่าเมตตา เหมือนอย่างตาไปเห็นตัวหนังสือ คำว่าเมตตา อย่างนี้ต้องให้ระลึกรู้ว่าเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม

    ลักษณะที่นึกหรือคิดนั้น ก็เป็นนามธรรม สติก็ระลึกรู้ว่า แม้คิดอย่างนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นของจริง เป็นสภาพคิดนึก

    ส่วนรูปธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ปรากฏทางหู คือ เสียงอย่างหนึ่ง ปรากฏทางจมูก คือ กลิ่นอย่างหนึ่ง ปรากฏทางลิ้น คือ รสอย่างหนึ่ง ปรากฏทางกาย คือ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปธรรมนี้ก็เป็นของจริงที่ปรากฏ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ตรงของจริงนั้น ถ้าเป็นรูปธรรม ก็รู้ว่าเป็นรูปธรรม ถ้าเป็นนามธรรมก็รู้ว่าเป็นนามธรรม

    เช่น รสกำลังปรากฏในขณะที่รับประทานอาหาร ถ้าสติกำลังระลึกตรงลักษณะที่เป็นรส รสปรากฏ เป็นรูปธรรม แต่ที่กำลังรู้ในรสที่กำลังปรากฏ สติระลึกได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญ คมกล้าขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเมื่อสติเกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. กระผมได้ฟังทางวิทยุแทบทุกรายการ แต่ชีวิตประจำวันที่ดำเนินอยู่นี้ จิตสั่ง หรือนามสั่ง

    สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า ชีวิตประจำวันที่ดำเนินอยู่นี้ จิตสั่ง หรือนามสั่ง จิตคืออะไร ก่อนที่จะใช้คำว่า จิตสั่งหรือนามสั่ง ควรที่จะได้ทราบความหมายของคำที่ใช้ก่อน คือ จิตคืออะไร

    ถ. เท่าที่ผมเข้าใจ จิต คือ ความระลึกได้ ระลึกรู้ในรูปธรรม ในนามธรรม

    สุ. จิตเป็นสภาพรู้ ส่วนสติเป็นเจตสิก เป็นลักษณะที่ระลึกรู้ ที่เป็น ฝ่ายโสภณะ รู้ว่า สิ่งใดควร หรือไม่ควร เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล ควรเจริญ หรือควรเว้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังจะใช้คำหนึ่งคำใด ขอให้เข้าใจความหมายของคำนั้นเสียก่อน

    ถ้าท่านจะศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นในพระไตรปิฎกโดยตรง หรือว่าใน อรรถกถา ลักษณะของจิต คือ รู้อารมณ์ เป็นสภาพรู้ สิ่งที่จิตรู้เรียกว่า อารมณ์

    จิตเป็นสภาพรู้ มีลักษณะรู้อารมณ์ กำลังเห็นทางตา ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    จิตเป็นสภาพรู้ ทางตา สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท เป็นปัจจัยสามารถรับกระทบสีเมื่อมีจักขุปสาท และมีรูปารมณ์ คือ สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เป็นปัจจัยทำให้เกิดการเห็นสี จิตสั่งหรือเปล่า เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ถ. ผมได้มาฟังอาจารย์สอนมาหลายปีแล้ว ๗ ปีได้ แต่ผมไม่เคยเข้าห้องปฏิบัติ ห้องปฏิบัติอยู่ที่ตัวของเราเอง ไม่ใช่ที่อื่น อยู่ที่เรานี่แหละ จะรู้อะไรก็รู้ที่ตัวเรา จะรู้โกรธ รู้โลภ รู้หลง ก็อยู่ที่ตัวเรา เพราะฉะนั้น ผมว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ที่ห้องปฏิบัติอันนี้ คือ ตัวเรา ไม่ใช่ที่อื่น พิสูจน์ได้เลย

    สุ. ท่านผู้ฟัง ก็ได้ฟังความคิดเห็นของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งท่านผู้ฟังเองจะรู้จักตัวของท่านเองแต่ละบุคคลตรงตามความเป็นจริง ข้อสำคัญที่สุด คือ การรู้ตรงลักษณะของจริง และอกุศลทั้งหลายก็จะละคลาย เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับเป็นสมุจเฉท แต่ต้องเป็นเรื่องจริง ชีวิตจริงๆ ของท่าน ทุกๆ ขณะเกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุปัจจัย สติเพียงระลึกรู้ในลักษณะนั้นจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จริตอัธยาศัยของแต่ละท่านแต่ละบุคคลจะมีอย่างไร สติปัฏฐานที่ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมก็จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น

    ถ. เวลาผัสสะอารมณ์ เวลาผัสสะทีไร สติระลึกได้ทุกที อันนี้จะพ้นทุกข์ไหมครับ

    สุ. ระลึกแล้วก็รู้ ยังต้องละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่คำว่า ระลึกแล้วก็รู้เท่านั้น

    ถ. ในขณะที่มีผู้มาด่าผม ผมก็แปลเป็นภาษาแขก ภาษาฝรั่งเสีย ความโกรธก็ไม่มี หรือโทสะก็ไม่มี

    สุ. ท่านผู้ฟังบอกว่า เวลามีคนมาด่า ท่านก็แปลเป็นภาษาแขก ภาษาฝรั่งก็ไม่รู้เรื่อง เลยไม่โกรธ

    เรื่องที่จะเลี่ยงธรรมนี้มีมาก แต่ว่ายังไม่จริง ถ้าเริ่มจริงต่อธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นจะเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๓๑๑ – ๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564