แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689


    ครั้งที่ ๑๖๘๙


    สาระสำคัญ

    สุตตมยญาณ (ปัญญาทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว)

    สีลมยญาณ (ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสังวรไว้)

    ภาวนามยญาณ (ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี)

    น้อมไปพิจารณาลักษณะ - ค่อยๆ น้อมไปที่จะเข้าใจ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐


    . การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันก็ยังไม่แล้ว ต้องเจริญกันต่อไป จากคำถามเมื่อคราวก่อนที่ถามอาจารย์ว่า นามรูปปริจเฉทญาณคงยังไม่เกิดตราบใด ที่การระลึกรู้ทั้ง ๖ ทางยังไม่ทั่ว และได้ยกตัวอย่างเรื่องทางกายว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ตึงไหวก็ไม่เคยระลึก แต่หลังจากที่ถามอาจารย์แล้ว ต่อๆ มาได้มีการพิจารณาตึง ซึ่งอาจารย์เคยถามว่า เคยยกของหนักๆ ไหม ผมเองในชีวิตประจำวันไม่ได้ยกของหนัก แต่ตอนเช้าออกกำลังกายโดยโหนบาร์เดี่ยว มีลักษณะตึง แต่ไม่เคยระลึก แต่หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาก็ใส่ใจกับอาการตึง รวมแล้วเป็นเวลา ๒ อาทิตย์ มีวันหนึ่งอาการตึงก็ปรากฏ แสดงว่าการที่เราคิดนึกเรื่องตึง หรือใส่ใจและศึกษา สังเกต สำเหนียกอาการตึง อาการตึงก็เริ่มปรากฏ ถามอาจารย์ว่า สิ่งที่ผมพูดมานี้เป็นไปอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. เป็นประโยชน์ของการฟัง ใช่ไหม ซึ่งลักษณะที่ตึงก็มีอยู่เป็นประจำ ในวันหนึ่งๆ แต่ไม่เคยรู้ว่านั่นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อได้ฟังเรื่องตึงว่า เป็นลักษณะที่ มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ที่จะรู้ลักษณะของตึงได้ว่าเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งก็เมื่อสติเกิดระลึกตรงลักษณะที่ตึง มิฉะนั้นตึงก็ผ่านไป เหมือนกับเห็น ก็ผ่านไป ได้ยินนิดหนึ่งก็ผ่านไป คิดนึกเรื่องยาวต่างๆ ก็ผ่านไป โดยสติไม่ได้ระลึก

    สภาพธรรมแต่ละขณะในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นธรรม เพราะก่อนที่จะเข้าใจคำว่า ธรรม หรืออรรถ หรือความหมายของธรรม เป็นเราทั้งหมด แม้จะได้ศึกษาเรื่องของธรรม เช่น ปรมัตถธรรม สภาวธรรมต่างๆ ก็ตาม แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นเราเห็น ยังไม่ใช่ธรรมที่เห็น ยังไม่ใช่ธรรมที่ได้ยิน

    ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด เพียงคำๆ เดียว ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ต้องสามารถที่จะศึกษาสังเกตจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นจริงๆ

    ที่ถามว่า ถ้าสติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง นามรูปปริจเฉทญาณจะไม่เกิดนั้น ไม่ต้องเป็นข้อกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ เรื่อง ๖ ทาง หรือยังไม่ใช่ ๖ ทาง หรือเริ่มจะเป็น ๖ ทางแล้ว ขอเพียงให้เข้าใจจริงๆ ก่อนว่า สิ่งที่เคยเข้าใจก่อนการศึกษานั้นเข้าใจผิด คือ เข้าใจว่ามีเรา และเข้าใจว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวตน แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า ไม่มีเราเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่นั่นเป็นขั้นการฟัง เป็นขั้นเข้าใจ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นธรรมจริงๆ ยังไม่ได้ประจักษ์ เพราะว่าขั้นของความเข้าใจเป็นขั้นหนึ่ง ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ คือ ญาณอันสำเร็จจากการฟัง ๑ และปัญญาในการฟังธรรม แล้วสังวรไว้เป็นสีลมยญาณ คือ ญาณอันสำเร็จมาแต่ศีลคือการประพฤติ ๑ เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วยังต้องสังวรที่จะประพฤติ ที่จะพิจารณา นั่นคือสีลมยญาณ ก่อนที่จะถึงภาวนามยญาณ

    ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ขณะนี้เป็นธรรมทุกขณะ ทุกอย่าง ทุกลักษณะ ไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดีจะเป็นภาวนามยญาณ คือ ญาณ อันสำเร็จจากการอบรมเจริญ

    ผู้ที่ได้ฟังคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ย่อมทราบว่า ปัญญาขั้นนี้เป็นขั้น ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ขั้นฟัง ไม่ใช่ขั้นคิด ไม่ใช่ขั้นพิจารณา แต่ลักษณะของนามธาตุ หรือสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ขณะนั้นไม่มีความสงสัย เพราะว่าลักษณะนั้นปรากฏ ให้รู้ทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้น การที่จะเกิดปัญญาขั้นนั้นได้ต้องมีเหตุ ธรรมทุกอย่างต้องไหลมาจากเหตุ ต้องมีเหตุเป็นแดนเกิด แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้

    ไม่ต้องข้ามขั้น หรือไม่ต้องไปคิดถึงว่าต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เพียงแต่ขณะนี้ได้ฟังว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพียงเท่านี้ และมั่นคงจริงๆ ที่จะเข้าใจในขณะที่เห็นเป็นอาการรู้อย่างไร เป็นลักษณะรู้อย่างไร เป็นธาตุรู้อย่างไร ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่คิดนึก แต่ ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปเรียงทีละทวาร หรือต้องไปคอยกำหนดว่า ทวารนี้รู้แล้ว ทวารนั้นยังไม่รู้ แต่ไม่ว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด เริ่มศึกษา คือ สังเกตที่จะเข้าถึงอรรถที่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็น ไม่ใช่เราที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่เรา ที่กำลังกระทบสัมผัส แต่เป็นเพียงลักษณะของธาตุรู้ ไม่ต้องคำนึงถึง ๖ ทวาร แต่ให้มีความมั่นคง มีความมั่นใจจริงๆ ในการสังเกตลักษณะของสภาพธรรมนั้น และเริ่มชินกับลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิด

    ช่วงขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งหมด เพราะว่าในขณะนี้สภาพนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏหรือเกิดขึ้นเพียงเท่านี้ที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้ง และวันพรุ่งนี้ และวันต่อไป และชีวิตขณะอื่นซึ่งมีความสับสน มีเหตุปัจจัย มีเหตุการณ์ที่จะให้นามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิดเกิดขึ้น ปัญญาจะต้องพิจารณาจนกระทั่งเพิ่มความรู้ชัดขึ้นอีก แต่ในขั้นต้น ขอให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

    . ปัจจยปริคคหญาณ ที่ว่าญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป ปัจจัยนั้นหมายถึงปัจจัย ๒๔ หรือเปล่า

    สุ. เป็นปัจจัยใน ๒๔ ปัจจัย ตามความสามารถของปัญญาที่จะรู้ได้ ในขณะนั้น จะไม่พ้นจาก ๒๔ ปัจจัยเลย แต่ขณะนั้นมีความสามารถที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยใดก็รู้ในลักษณะของปัจจัยนั้น ทางมโนทวารด้วย จึงจะเป็นการประจักษ์แจ้ง เพราะว่าปัจจยปริคคหญาณเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพของปัจจัยที่ทำให้ สภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏทางมโนทวาร

    . สมมติว่ารู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้จักขุวิญญาณ คือ นามเห็น ในขณะนั้นสมมติว่าปัจจยปริคคหญาณเกิดแล้ว มีปัจจัยอะไรที่ทำให้รู้ว่า เป็นปัจจยปริคคหญาณ

    สุ. ต้องรู้ว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น และถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นไหม

    . ไม่เห็น

    สุ. ดูเหมือนธรรมดาที่สุดเลย แต่พิจารณาได้ในขณะนี้ ถ้ารู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ และสภาพรู้ที่เห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ปัญญาที่จะสมบูรณ์ขึ้นแต่ละขั้นๆ จะต้องสืบเนื่องติดต่อกัน คือ ถ้า นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด ปัจจยปริคคหญาณเกิดไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพียงขั้น การพิจารณาว่า ขณะที่เห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้จึงมีธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ กำลังเห็น ...

    . อย่างนั้นที่เรียกว่า รู้ปัจจยปริคคหญาณก็ไม่จำเป็นต้องไปจำแนกชื่อว่าเป็นปัจจัยอะไรบ้าง ไม่ต้องจำแนกอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. ไม่ต้อง แต่หมายความว่าลักษณะของความเป็นปัจจัยนั้นปรากฏ ให้ปัญญารู้ว่า สิ่งนี้เกิดเพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา

    . เพราะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณจึงเกิด

    สุ. เช่นเดียวกับขณะที่ได้ยิน ถ้าพิจารณารู้ว่า ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เพราะเสียงสภาพรู้คือได้ยินจึงเกิด นี่คือความต่างกันของแต่ละทวาร เพราะว่านามธรรมแต่ละทวารไม่เหมือนกัน ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก

    . ผมฟังธรรมของอาจารย์มาประมาณ ๔ ปี อาจารย์พูดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ว่า สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงในปัจจุบัน น้อมไปพิจารณา น้อมไปศึกษา น้อมไปสังเกต น้อมไปสำเหนียก ผมมาฟังใหม่ๆ ผมก็คิดว่า เราต้องสนใจ ต้องฟังเทป หรืออ่านหนังสือธรรม หรือตั้งอกตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตอนแรกเข้าใจอย่างนั้น หลังจากที่ฟังไปเรื่อยๆ ได้สนทนาธรรมกับผู้ที่สนใจหลายๆ ท่าน ท่านก็บอกว่า สติไม่เกิดเลย หรือเกิดช้า และที่บางท่านบอกว่าหาของอะไรอย่างหนึ่ง ไม่เจอ นึกว่าคนอื่นเอาไป โทษคนโน้นคนนี้ หลังจากนั้นก็พบว่าลืมวางไว้เอง ขณะนั้นสติเกิดรู้สึกว่าอกุศลจิตได้เกิดขึ้นมากมายในขณะที่กำลังหาของ ผมเข้าใจว่า การเจอของภายหลัง และรู้ว่าก่อนหน้านี้อกุศลจิตคือโทสมูลจิตเกิดขึ้นมากมาย คิดนึกไปต่างๆ ว่ามีคนแกล้ง ลักษณะนี้ก่อนที่จะนึกขึ้นมาได้ ผมเข้าใจว่าเป็นลักษณะหนึ่ง ที่น้อมไปเพื่อพิจารณาศึกษา หรือเพื่อที่จะรู้สภาพธรรม เป็นลักษณะอย่างนั้น หรือเปล่า

    สุ. สติปัฏฐานต้องเป็นขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา และลักษณะของรูปที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด ไม่ใช่คิดเรื่อง

    . ในขณะที่สติเกิด อาจจะไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ก็เป็นสติขั้นหนึ่งที่น้อมไปพิจารณา ศึกษา หรือสังเกต สำเหนียกว่า ขณะที่แล้วๆ มาที่เรากำลังเกิดอกุศลจิตต่างๆ แบบนี้เป็นลักษณะที่น้อมไปเพื่อพิจารณาศึกษาใช่ไหม

    สุ. ขั้นคิด

    . กระผมคิดว่า ทุกๆ ท่านที่มาฟังธรรมวันนี้ ก่อนออกจากบ้าน ถ้าหาก สติเกิด สติในขั้นนึกคิดก็เป็นสติขั้นหนึ่ง นึกคิดว่าเราเดินทางมาฟังธรรม ก็เป็นสติ ในขั้นนึกคิด เป็นลักษณะที่น้อมไปพิจารณา น้อมไปศึกษา ใช่ไหม

    สุ. ขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน คือ สังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน แล้วแต่ว่ากุศลจิตจะเกิดหรืออกุศลจิตจะเกิด ถ้าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

    . ลักษณะที่ผมเรียนถามเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของกุศลจิต ลักษณะที่เป็นสติในขั้นกุศลจิต ใช่ไหม

    สุ. กำลังพิจารณาธรรม เรื่องธรรม พิจารณาด้วยความเข้าใจ ขณะนั้น จึงเป็นกุศล

    . ลักษณะที่อาจารย์ว่า น้อมไปพิจารณา หรือไปสังเกต สำเหนียก ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้จะไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะที่กำลังน้อมไปพิจารณา สิ่งที่ล่วงเลยมาแล้ว ขณะนั้นเริ่มพิจารณา ลักษณะนี้เป็นสภาพธรรมที่สังเกต สำเหนียกหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่สติปัฏฐานก็ได้ หมายความว่ากุศลจิตหรืออกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะก่อนๆ นี้ ก่อนที่จะมาถึงขั้นที่เรา ...

    สุ. ก็เป็นความคิด จะต้องพิจารณาลักษณะของจิตที่คิดว่าเป็นกุศล หรือเปล่า ถ้าเป็นกุศลจึงจะมีสติเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นการคิดธรรมดาก็ไม่ใช่ เพราะว่าบางคนคิดแล้วเกิดโลภะ หรือคิดด้วยโทสะก็ได้

    . ในขณะที่คิดเรื่องสภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโลภะบ้าง ในขณะที่คิดอย่างนี้ เป็นลักษณะที่น้อมไปพิจารณา หรือเปล่า

    สุ. พิจารณาอะไร

    . พิจารณาสภาพธรรม

    สุ. พิจารณาลักษณะ ไม่ใช่คิดเรื่อง ต้องแยกออกว่า ขณะที่กำลังมี สภาพธรรมปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ และสังเกตลักษณะที่กำลังปรากฏ เพื่อจะได้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ นั่นจึงเป็นสติปัฏฐาน นอกจากนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การพิจารณาลักษณะ

    ที่ใช้คำว่า น้อมไปพิจารณาลักษณะ ไม่ใช่น้อมไปถึงอดีตที่แล้วมา หรือ หลายวันแล้วก็เอามานั่งพิจารณา ที่ใช้คำว่า น้อมไป ไม่ใช่คิดเป็นคำ ขณะนี้แข็งกำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใด พิจารณาโดยไม่ใช่คิดเป็นคำ นั่นคือการน้อมไป ที่จะสังเกต ที่จะเข้าใจ ที่จะรู้

    ที่ใช้คำว่า น้อมไป เพราะว่าในขณะนั้นยังไม่ใช่ความรู้ ยังไม่ใช่การเข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่การที่จะเข้าถึงอรรถ ลักษณะที่เป็นนามธรรมได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณาไป ทีละน้อยๆ การที่ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณา คือ การค่อยๆ น้อมไปที่จะเข้าใจ โดยไม่ใช่การคิดเป็นคำๆ ว่า สภาพรู้เป็นนามธรรม รูปแข็งไม่ใช่นามธรรม เป็นลักษณะของรูป นั่นคือการคิด แต่ไม่ใช่การสังเกตลักษณะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มสังเกต ก็ยังไม่ใช่การรู้จริงๆ แต่เริ่มที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น จึงชื่อว่า น้อมไปที่จะรู้ แต่ไม่ใช่น้อมไปถึงเมื่อวานนี้ หรือไม่ใช่น้อมไปที่เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นนานแล้ว

    . ลักษณะเดียวกับที่มีผู้ถามเรื่องตึงไหวเมื่อสักครู่นี้ ลักษณะนั้น เป็นลักษณะที่น้อมไป ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่กำลังสังเกตเพื่อจะรู้ โดยไม่ใช่คิดเป็นคำๆ เพราะว่าส่วนใหญ่มักจะคิดเป็นคำๆ แข็งเป็นรูป รู้เป็นนาม สีเป็นรูป รู้เป็นนาม เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม หรืออาจจะคิดว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นคำๆ ทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้สังเกต รู้ว่า ธาตุรู้มีลักษณะอย่างนั้น คือ กำลังรู้ คือ เห็น เป็นสภาพของธาตุรู้อย่างหนึ่ง

    แม้ได้ยินคำว่า นามธรรม และรูปธรรม เพียง ๒ คำ แต่จะต้องศึกษา ไปตลอดจนกว่าจะถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งต้องเริ่มจากขณะที่สติเกิดที่เป็นสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และ ส่วนใหญ่ควรจะระวังสักนิดหนึ่ง เพราะว่าฟังดูเหมือนบางท่านจะติดสติ

    ที่ติด รู้สึกว่ามีความห่วงใย หรือมีความต้องการ และบางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าไม่ต้องการสติก็ไม่เกิด ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งละความต้องการ ความห่วงใย แต่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น มีฉันทะ มีวิริยะที่จะฟัง ที่จะสังเกต ที่จะเข้าใจ จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกและสังเกตศึกษาลักษณะของ สภาพธรรมตรงตามที่เข้าใจ แต่ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ

    อย่างในขณะนี้ มีใครเข้าใจบ้างหรือเปล่าว่า ขณะที่กำลังเห็นทางตานั้น กำลังแปลสีที่ปรากฏเป็นเรื่อง หรือเป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ ขณะนี้ตามความ เป็นจริงมีสีสันวัณณะหลายอย่าง หลายสีมากมายที่กำลังปรากฏทางตา กำลังแปลสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาอยู่หรือเปล่า แปลสีนี้ออกมาเป็นคนนี้ แปลสีนั้นออกมาเป็นวัตถุต่างๆ

    ต้องแปลไหม คิดถึงความจริง เห็นขณะหนึ่ง ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ คือ แปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏออกเป็นบุคคลต่างๆ และวัตถุต่างๆ ซึ่งขณะนั้นคือการคิดนั่นเอง แต่ถ้าใช้คำว่า คิด บางท่านอาจจะนึกถึงคำ และเข้าใจว่ากำลังคิดเรื่อง แต่นี่ยังไม่ใช่การคิดคำ เป็นแต่เพียงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา และแปลทันทีว่า สีนี้เป็นคนนี้ สีนั้นเป็นคนนั้น สีนี้เป็นวัตถุสิ่งนั้น สีนั้นเป็นวัตถุสิ่งอื่น

    ถ้ายังไม่เข้าใจอรรถนี้ ก็แยกทางจักขุทวารวิถีกับทางมโนทวารวิถีไม่ออก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กถาวัตถุ ๑๐  กลาป  กามสุขัลลิกานุโยค  กายวิญญาณ  การคลุกคลี  กิเลส  กุศลวิตก  กุศลาภิสังขาร  ขันติ  ขันธ์ ๕  จูฬสุญญตสูตร  ชาติ  ฐิติ  ตัณหา  ตัตตรมัชฌัตตตา  ทวาร  ทิฏฐิ  ธรรมสังเวช  นามขันธ์ ๓  นามธรรม  นามรูปปริจเฉทญาณ  นามรูปววัฏฐานะ  นิคคหมุขเทศนา  นิพพาน  นิพพิทาญาณ  ปฏิฆะ  ปฏิสนธิ  ปรมัตถธรรม  ประจักษ์  ประจักษ์แจ้ง  ปริยัติ  ปริเทวะ  ปหานปริญญา  ปัจจยปริคคหญาณ  ปัจจยุปบันธรรม  ปัจจัย  ปัจจัย ๒๔  พระพุทธพจน์  พระอนาคามี  พระอรหันต์  พระอริยบุคคล  พระโยคาวจร  พลสมาบัติ  พหุสูตร  ภยตูปัฏฐานานุปัสสนาญาณ  ภวทิฏฐิ  ภังคญาณ  ภังคานุปัสสนาญาณ  ภาวนามยญาณ  มนสิกา  มนสิการ  มนายตนะ  มรรคมีองค์ ๘  มหากุศลญาณสัมปยุตต์  มหาสุญญตสูตร  มหาสุญญสูตร  มัจฉริยะ  มัชฌิมาปฏิปทา  มานะ  มิจฉาสมาธิ  มุญจิตุกัมมยตาญาณ  มุญจิตุกัมยตาญาณ  มโนทวาร  มโนทวารวิถี  รูปธรรม  วิจิตร  วิตกเจตสิก  วิบาก  วิปัญจิตัญญู  วิปัสสนาญาณ  วิปัสสนูปกิเลส  วิมุตติญาณทัสสนะ  วิรัติ  ศีล ๘  สติปัฏฐาน  สติสัมปชัญญะ  สภาวะธรรม  สมถภาวนา  สมุจเฉท  สังขาร  สังขารขันธ์  สังขารขันธ์ ๕๐  สังขารธรรม  สังขารนิมิต  สังสารวัฏฏ์  สัจจธรรม  สัญโยชนสูตร  สันติบท  สัมมากัมมันตเจตสิก  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาวาจาเจตสิก  สัมมาสติ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาสังกัปปเจตสิก  สัมมาอาชีวเจตสิก  สัสสตทิฏฐิ  สาวก  สีลมยญาณ  สีหไสยาสน์  สุญญตกถา  สุญญตพลสมาบัติ  สุญญตากถา  สุตตมยญาณ  สุตตะ  สุนทริกสูตร  อกุศลวิตก  อกุศลาภิสังขารม  อนัตตา  อนันตรปัจจัย  อนิฏฐารมณ์  อนุคคหมุขเทศนา  อนุสาสนี  อนุโมทนา  อภิธรรม  อภิสังขาร  อริยมรรคมีองค์ ๘  อัตตกรณสูตร  อัตตกิลมถานุโยค  อัตตสัญญา  อากังเขคยยสูตร  อาทีนวญาณ  อานิสงส์  อายตนะ  อารัมมณปัจจัย  อิฏฐารมณ์  อิสสา  อุคฆติตัญญู  อุจเฉททิฏฐิ  อุทธัจจะ  อุบาสก  อุปัฏฐาก  อุปาทะ  อุปาทานขันธ์  อุปาทานขันธ์ ๕  อุปายาสะ  อุปายาโส  อุเบกขา ๑๐  อโทละ  เคยยะ  เจตสิก ๕๒  เนยยบุคคล  เมตตา  เหตุ  เหตุปัจจัย  เอกัคคตาเจตสิก  โลกสูตร  โลกุตตรธรรม  โสกะ  โสภณเจตสิก  โสรัจจะ  โอฆกรณสูตร  โอฆตรณสูตร  ไวยากรณ  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564