แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713


    ครั้งที่ ๑๗๑๓


    สาระสำคัญ

    พระพุทธศาสนาจะสอนให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสิ่งที่มีจริง (สิ่งที่มีจริงเกิดแล้วดับไป ไม่ใช่เรา)

    สภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ

    จิตคืออะไร และจิตอยู่ที่ไหน

    สิ่งที่มีจริงมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม

    คำว่าสงบ หมายถึงสงบจากอกุศล


    ที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง

    วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๐


    สุ. ถ้าจะพูดเรื่องเศรษฐกิจตามแนวทางของอาจารย์ที่สอนเศรษฐกิจ หรือจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ตามแนวทางของอาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งท่านใด นั่นก็ไม่ใช่แนวทางธรรม แต่ถ้าเป็นแนวทางธรรมแล้ว ชีวิตประจำวันซึ่งมีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากแนวทางที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

    เช่น ในขณะนี้ ทุกคนที่นั่งที่นี่ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ จึงมีเรื่อง ในใจมาก บางคนอาจจะมีความสนใจในเรื่องของกรรมตามที่มีคำถามบางข้อเขียนมา และบางคนอาจจะสนใจในเรื่องรูปภาพสวยๆ อย่างที่คุณอัลลันบอก ทุกชีวิต ไม่เหมือนกันเลย มีการสะสมมาที่จะมีความชอบและมีความโน้มเอียงต่างๆ กัน แต่ทุกชีวิตต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ก็ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ คนที่จะขึ้นไปสู่โลกอื่นก็เป็นผู้ที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ชั้นฟ้า หรือภูมิไหนทั้งสิ้น หรือ สัตว์ดิรัจฉานก็เป็นผู้ที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น การที่แต่ละคนมีตา เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าคิดนึกต่างกัน ได้ยินเสียงอย่างเดียวกัน แต่ว่าจิตใจที่เกิดหลังจากที่ได้ยินเสียงนั้นก็ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส เป็นการกระทบสัมผัส ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าทุกคนจะสะสมมีความชอบมีความโน้มเอียงต่างกันอย่างไร แต่ก็ไม่พ้นจากการสะสมมาที่จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ

    ถ้าจะย่อโลกซึ่งเต็มไปด้วยวิชาการต่างๆ และหาดูว่าต้นตอของวิชาการ ต่างๆ นั้นอยู่ที่ไหน ทุกคนที่นี่มีความสามารถหลายอย่าง แต่ความสามารถทั้งหมด ก็ต้องมาจากใจ หลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งทุกคนมี และทุกคนสามารถที่จะรู้ว่า แนวการสอนพระธรรมของพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะไม่ว่าใครทั้งนั้นจะพ้นไปจากสุขทุกข์ซึ่งเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้

    พระธรรมคำสอนทั้งหมดเมื่อประมวลแล้วก็คือว่า ให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกขณะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า เป็นต้นตอของศาสตร์หรือว่าวิชาการทั้งหมด ไม่ว่าในอดีตแสนโกฏิกัป หรือในปัจจุบันขณะนี้ หรือต่อไปข้างหน้า

    มีคำถามข้อหนึ่งถามว่า จิตใจคืออะไร และจะทำให้จิตสงบได้อย่างไร

    อ. จิตใจคืออะไร ถ้าจิตใจไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีไม่ได้ ไม่เห็นอะไร เสียงจะปรากฏทางหูไม่ได้ ไม่ได้ยินอะไร เช่นเดียวกับทวารอื่นๆ เห็นเขากำลังแจกอาหารให้ และน้ำส้มด้วย แต่ถ้าไม่มีจิตใจ ใส่เข้าไปในปากแล้วจะไม่มีรสเลย จะได้กลิ่นไม่ได้ถ้าไม่มีจิตใจ และจะคิดนึกอะไรไม่ได้เลย จะรู้สึกอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีจิตใจ จิตเป็นสภาพรู้สิ่งเหล่านี้ จิตเป็นสภาพที่รู้สีเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา นั่นคือจิตชนิดหนึ่ง ประเภทหนึ่ง เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยพร้อม เหตุปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่าง ถ้าคนตาบอดก็ไม่เกิดจิตประเภทนี้ เพราะว่าขาดเหตุปัจจัยที่สำคัญ ปัจจัยหนึ่ง คือ จักขุปสาท

    สำหรับจิตใจที่สำคัญ คือ จิตคิด ซึ่งเกิดขึ้นคิดเรื่องนี้เรื่องนั้น สามารถคิดในทางที่ดีที่เป็นกุศล หรือสามารถคิดในทางอกุศลก็ได้ จิตที่เห็นไม่ได้ทำหน้าที่คิดเลย จิตเห็นทำหน้าที่เห็นอย่างเดียว เห็นแล้วก็ดับไป ไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากเห็นแล้ว จิตอีกดวงหนึ่งเกิดต่อ รู้เรื่องแล้วคิดไปในทางนี้ ทางนั้น ในทางที่ดีบ้าง ในทางที่ ไม่ดีบ้าง

    และที่ถามว่า จะทำให้จิตสงบได้อย่างไร

    ทำให้จิตสงบได้อย่างไร จิตเห็นไม่ใช่จิตที่ทำให้สงบหรือไม่สงบ เพราะว่า เป็นวิบาก เป็นผลเกิดขึ้นจากเหตุในอดีต เป็นวิบากจิต กุศลวิบากคือเห็นสิ่งที่ดี อกุศลวิบากคือเห็นสิ่งที่ไม่ดี หลังจากเห็นแล้ว จิตจะสงบหรือไม่สงบ ตรงนี้แหละ ที่สำคัญ หรือหลังจากได้ยินเสียงแล้ว จิตจะวุ่นวายหรือจิตจะสงบ หรือหลังจากได้ รสอร่อย จิตจะชอบหรือจิตจะสงบ หรือสัมผัสอะไรที่สบายๆ แล้วชอบมาก รู้สึกว่าสบายจริงๆ หรือว่าจิตจะสงบ หรือเฉยๆ ก็ได้ เพราะจิตสงบเกิดกับสุขหรือเกิดกับ เฉยๆ ก็ได้ คนส่วนมากคิดว่าจิตสงบแล้วก็ชอบ แต่จิตอย่างนั้นไม่ต้องทำให้สงบ เพราะว่าชอบ หรือว่าอยากให้สงบในขณะนั้น

    ต้องตรงกับตัวเองว่า ความสงบคืออะไร และต้องการมากน้อยแค่ไหน ถ้า เห็นอะไรที่สวยๆ และอยากดูอีก ตอนนั้นจิตใจสงบหรือเปล่า อยากให้จิตสงบ ในขณะนั้น หรือว่าอยากดูไปเรื่อยๆ เพราะว่าน่าดู อยากให้จิตสงบตอนที่ ดูหนังไหม อยากให้จิตสงบตอนที่คนเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ขำๆ ตลกๆ ให้ฟังไหม อยากให้จิตสงบในขณะนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ความจริงคนเราไม่สนใจความสงบหรอก ไม่ต้องการ เราอยากเห็นสิ่งที่สวยๆ อยากได้ยินเสียงที่น่าพอใจ เสียงเพราะๆ หรือเรื่องตลกๆ อยากฟังใครๆ พูดว่า เราเก่ง เราเป็นคนดี ซึ่งตอนนั้นตื่นเต้นหรือสงบ ถ้าอยากให้จิตใจสงบจริงๆ ประการแรกต้องเข้าใจว่า สงบหมายความว่าอะไร จึงจะรู้ว่า อยากจะเจริญจิตให้สงบหรือเปล่า

    สุ. ขอพูดถึงเรื่องของจิตอีกสักเล็กน้อย เพราะรู้สึกว่า ไม่มีปัญหา ที่ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีจิต แต่ว่าจิตคืออะไร และจิตอยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่มีจิตก็ยังอดสงสัยไม่ได้ในเรื่องของจิต และยังมีคำว่า วิญญาณ และมีคำอื่นอีก แต่ให้ทราบว่า สิ่งที่ มีอยู่ในโลกนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่ต่างกัน ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยเรียกว่า รูปธรรม และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นสภาพรู้ เรียกว่า นามธรรม

    เพราะฉะนั้น คำว่า รูปธรรมกับนามธรรม ในพระพุทธศาสนาต่างกับ ในวิชาการอื่น เพราะในวิชาการอื่นเราคิดว่า รูปเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตา แต่สำหรับพระพุทธศาสนาแล้ว สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นแต่สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ สภาพรู้ สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม เช่น เสียง ไม่มีใครมองเห็น และเสียงไม่ใช่ สภาพรู้ เสียงไม่ได้ยินอะไร เสียงไม่เห็นอะไร เสียงไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปธรรม กลิ่นก็เป็นรูปธรรม อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบสัมผัสได้ ก็เป็นรูปธรรม

    เรายังไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ในพระพุทธศาสนาจำแนกรูปนั้นว่าเป็นรูปอะไรบ้าง แต่ให้ทราบโดยประเภทใหญ่ๆ ว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นแล้วก็เป็นนามธรรม คือ สภาพรู้ เช่น ขณะที่กำลังเห็น ส่วนใหญ่แล้ว ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาก็เข้าใจว่ามีจิต แต่ขณะที่กำลังเห็น ใครจะรู้บ้างว่าเป็นจิตประเภทหนึ่ง และที่ถามว่าจิตคืออะไร ในขณะที่กำลังเห็นนี้เองเป็นจิต ประเภทหนึ่ง

    ทุกคนมีจิต และไม่ใช่มีจิตประเภทเดียว มีจิตหลายประเภทในวันหนึ่งๆ มีจิตเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง มีจิตได้ยินเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง มีจิตได้กลิ่นเป็นจิต อีกชนิดหนึ่ง มีจิตลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่กระทบสัมผัสก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่โกรธก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่โลภหรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีจิตมากมายหลายประเภท ถ้าไม่ศึกษาก็รู้แต่เพียงว่ามีจิต แต่ถ้าบอกว่า กำลังเห็นเป็นจิต จะเชื่อไหมว่าที่กำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้

    ถ้าพูดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย เพราะว่าทุกคนชินกับ สภาพนามธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน โดยไม่รู้ว่าเป็นจิต และยังยึดถือสภาพนั้นว่า เป็นเราด้วย ขณะใดที่เห็นก็เป็นเรา เดี๋ยวนี้ก็เป็นเราที่กำลังเห็น เพราะไม่เคยคิด ไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่ว่าเป็นเราแท้ที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับรูปธรรม

    ธาตุรู้เป็นธาตุที่วิจิตรมาก มีความต่างมาก มีความละเอียดพิสดารมาก และต้องอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแต่ละอย่าง เช่น จิตเห็นจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราเห็น แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยจักขุปสาทเป็นปัจจัยกระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบจะกับจักขุปสาทได้ เป็นแสงสว่าง เป็นสีต่างๆ ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น

    ข้อที่จะรู้ว่าขณะที่เห็นเป็นจิต เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้อย่างไร ก็คือคนตาย ไม่เห็น ขอให้คิดถึงคนตาย ดูเสมือนว่ามีทุกอย่างครบตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีร่างกาย แต่ตามความจริงแล้วต่างกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ของคนที่ยังมีชีวิต เนื่องจากตา หู จมูก ลิ้น กายของคนที่มีชีวิตเป็นรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถสร้างจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทได้เลย แต่ทันทีที่ตาย คือ จุติจิตเกิดขึ้นและดับไปเป็นจิต ขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ซึ่งทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทเลย มีแต่เพียงรูปสัณฐาน ซึ่งดูเสมือนว่ายังเป็นรูปของตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่มีปสาทซึ่งเป็นรูปที่สามารถ รับกระทบสี รับกระทบเสียง รับกระทบกลิ่น เพื่อจิตจะเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิต คือ สภาพรู้ อาการรู้ และไม่ใช่มีแต่เฉพาะคน สัตว์ดิรัจฉานก็มี เพราะว่าสัตว์ดิรัจฉานก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีการจำกัดว่า ต้องเป็นเฉพาะคน แต่ว่าธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว อย่างได้ยินเมื่อกี้เกิดขึ้นดับไปแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วดับไปแล้วจะเป็นของใครได้

    ใครจะยังไปตามยึดถือสิ่งที่เกิดแล้วดับว่า ของฉัน ในเมื่อไม่มีแล้ว หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกขณะในชีวิตจะเห็นได้ว่า เป็นสภาพนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับหมดไปจริงๆ ทุกขณะ โดยไม่กลับมาอีกเลย

    นี่เป็นเหตุที่ทุกคนเกิดมาแล้วก็มีการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลง มีการ คิดนึกดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ชอบบ้าง สุขบ้าง ตั้งแต่เกิดจนตาย และ จากโลกนี้ไปโดยที่ไม่รู้ความจริงว่า จิตคืออะไร เพียงแต่เข้าใจคร่าวๆ เผินๆ เอาเองว่า มีจิต แต่พระพุทธศาสนาจะสอนโดยละเอียดในเรื่องของจิตและในเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมด

    สำหรับคำถามที่ว่า ทำให้จิตสงบได้อย่างไร

    ดูเหมือนจะเข้าใจว่า รู้จักความสงบแล้ว แต่ความจริงไม่ตรงกับพระธรรม เพราะส่วนใหญ่จะคิดว่า ถ้าอยู่คนเดียวไม่มีใครมารบกวน วันนั้นเงียบสงบดี คิดว่าอย่างนั้น ใช่ไหม ไม่มีเสียงจอแจ ไม่มีเสียงรถยนต์ ไม่มีเสียงอะไรก็คิดว่าสงบดี บางคนก็บอกว่า อยู่ในป่าสงบดี แต่ความจริงความสงบต้องเป็นความสงบจากอกุศล ความสงบจริงๆ ไม่ใช่ร่างกายไปอยู่ในที่หนึ่งที่ใดซึ่งจำกัดและไม่มีสิ่งวุ่นวายมากระทบ มาทำให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้างหลายๆ เรื่อง แต่ต้องเป็นขณะใดก็ตามที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นจึงสงบ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่เพียงคำว่า สงบ ก็ขอให้เข้าใจความหมายจริงๆ ว่า หมายถึงสงบจากอกุศล ขณะที่เกิดความต้องการ พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นไม่สงบ เพราะว่ากำลังติดข้องอยากจะได้สิ่งนั้น ขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่สงบ เช่น ทุกคนคงจะไม่ชอบฝุ่น ตื่นขึ้นมาถ้าบ้านยังไม่สะอาด เพียงแต่เห็นฝุ่นก็รู้แล้วว่า ขณะนั้นไม่สงบแล้ว

    ขณะใดที่ให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะนั้นอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยว่า สงบจากอกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นอกุศลก็เกิดดับเป็นอกุศลอย่างเร็ว ขณะที่เป็นกุศลก็เกิดดับสลับอย่างเร็ว และ ชั่วขณะที่คิดจะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ทันทีที่มีเสียงดัง ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น ความไม่พอใจก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น อกุศลในวันหนึ่งๆ เกิดมากมาย เรียกได้ว่าจะมีกุศลสลับบ้าง ก็สักเล็กน้อย พิจารณาในวันนี้ก็ได้ ตั้งแต่เช้ามา ที่ถามว่า จะทำจิตให้สงบได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ไปนั่งสงบ แต่ให้รู้สึกตัวว่ากุศลจิตเกิดบ้างหรือเปล่าตั้งแต่เช้า ถ้าไม่เป็นไป ในทาน เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในความเมตตา กรุณา มุทิตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นหรือเปล่า เป็นจิตที่ดีไม่ได้คิดเบียดเบียนมุ่งร้ายคนอื่นหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นขณะนั้นเป็นกุศล

    ในขณะนี้ที่กำลังฟังเรื่องของพระธรรม มีความตั้งใจฟัง มีความสนใจ และ เกิดความเข้าใจ ขณะนี้อาจจะไม่ทราบว่า แท้ที่จริงสงบจากอกุศล เพราะถ้าไม่สนใจ ที่จะฟัง บางท่านก็อาจจะเลื่อนลอยไปแล้ว ใช่ไหม คือ คิดโน่นคิดนี่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลซึ่งแทรกสลับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าจะทำให้จิตสงบอย่างไร อย่าเพิ่งไปคิดถึงความสงบมากจนกระทั่งเป็นฌานจิต หรือจนกระทั่งปัญญาเกิด แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะใดจิตสงบ ขณะใดจิตไม่สงบ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอย่างนี้ ที่จะให้จิตสงบมั่นคงขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ไปเข้าใจผิดเอาเองว่า นั่งนิ่งๆ และให้จิตจดจ้องอยู่ที่หนึ่ง ที่ใดก็เข้าใจว่าสงบ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วในพระพุทธศาสนามีคำว่า มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ มีมิจฉามรรคและสัมมามรรค

    ถ้าอยากจะทำสมาธิ เพราะเข้าใจว่าสงบ แต่ไม่รู้อะไรเลยว่า ความสงบ คือ สงบจากอกุศล ก็จะไปพยายามนั่งนิ่งๆ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ

    คำถามต่อไป อยากทราบว่า นรกมีจริงไหม

    อ. ผมไม่ทราบว่า มีใครในห้องนี้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นรกไม่มีจริง ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็เก็บไว้ก่อน สิ่งที่จะทำให้พิสูจน์ได้ คือ อกุศลของ แต่ละคน ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่จิตใจดีจะเป็นเหตุทำให้ไปนรก แต่การกระทำที่ไม่ดี ต้องเป็นเหตุทำให้ประสบผลที่ไม่ดี

    เนื่องจากทุกคน ไม่เว้น เคยทำอะไรไม่ดีบ้าง ทุกคนมีโอกาสที่จะรู้ ไม่วันนี้ ก็พรุ่งนี้ ไม่ปีนี้ก็ปีหน้า ไม่ปีหน้าก็อีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีข้างหน้า สักวัน ไม่ใช่ชาติที่ติดต่อกับชาตินี้ ชาติหนึ่งชาติใดก็จะรู้ ซึ่งความจริงก็รู้มาแล้ว เพราะเคยไปมาแล้วไม่รู้กี่แสนกี่ล้านครั้ง ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ถ้าหากไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ เอาไว้ก่อน ศึกษาธรรมข้ออื่นๆ ไปก่อน และค่อยๆ เชื่อ ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564