แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709


    ครั้งที่ ๑๗๐๙


    สาระสำคัญ

    ขุ.ปฏิ. ญาณกถา - พละ ๒

    อรรถกถา ม.ม. โปตลิยสูตร - แสดงความต่างกันของผู้บวชกับผู้ไม่บวช

    อรรถกถา ส. ส. อรรถกถาชฎิลสูตร - กำลังแห่งญาณ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐


    สำหรับพละ คือ สภาพธรรมที่มีกำลังที่จะต้องอบรมให้เจริญขึ้น

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๗ – ๒๒๑ มีข้อความว่า

    พละ ๒ คือ สมถพละ ๑ วิปัสสนาพละ ๑

    สมถพละ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะ ด้วยสามารถแห่งความไม่พยาบาท ด้วยสามารถแห่งอารมณ์สมถะ

    คนที่อยากสงบต้องเข้าใจด้วยว่า ต้องประกอบด้วยปัญญา และความสงบนั้น ก็เป็นความสงบด้วยอารมณ์ของสมถะ

    ชื่อว่าสมถพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน เป็นต้นไป จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มิฉะนั้นยังไม่ชื่อว่าเป็นพละ

    คนที่อยากทำสมาธิเพราะคิดว่าสมาธิจะมีกำลัง ให้ทราบว่า ถ้าเป็นอกุศลจิตจะมีกำลังไม่ได้เลย และแม้ว่าจะเป็นมหากุศลจิตที่สงบทีละเล็กทีละน้อย แต่ตราบใด ที่ยังไม่ถึงปฐมฌาน ก็ยังไม่ใช่สมถพละ

    วิปัสนาพละเป็นไฉน อนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา นิพพิทานุปัสนา วิราคานุปัสนา นิโรธานุปัสนา ปฏินิสสัคคานุปัสนา

    วิปัสสนามากมายตามความเป็นจริง ที่กว่าจะละการยึดถือสภาพธรรม ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งชัดจนกระทั่งค่อยๆ เริ่มหน่าย เริ่มคลายได้ จะต้องเป็นพละโดยการ

    พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ จึงเป็นอนิจจานุปัสสนา

    ไม่ใช่นึกเอาว่าขณะนี้ไม่เที่ยง แต่ต้องพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของ ปรมัตถธรรม จึงจะพิจารณาเห็นความสละคืนในรูปเป็นต้นไปได้จนกระทั่งถึง ในวิญญาณ การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในจักษุตลอดไปจนกระทั่งถึงชรามรณะ การพิจารณาเห็นความสละคืนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะว่าปัญญาเมื่อเกิดแล้ว บุคคลนั้นจะรู้จริงๆ ว่า ปัญญาได้กระทำกิจของปัญญา คือ การสละคืน ค่อยๆ ถอนตัวออกจากการติดอย่างเหนียวแน่นในนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่าง

    คำว่า วิปัสสนาพลัง ความว่า ชื่อว่าวิปัสสนาพละเพราะอรรถว่ากระไร ฯ

    ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิจจสัญญา ด้วยอนิจจานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะสุขด้วยทุกขานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะ อัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความเพลิดเพลินด้วย นิพพิทานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความกำหนัดด้วยวิราคานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความถือมั่นด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง ไม่คลอนแคลนเพราะอวิชชา เพราะกิเลสอันเกิดร่วมกับอวิชชา และเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่าวิปัสสนาพละ

    กว่าจะถึง เพราะฉะนั้น ก็ผ่านไปก่อน จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนถึง จริงๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึง จิตต้องหวั่นไหวอยู่เสมอด้วยนิจจสัญญา เห็นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยง ถ้าแตกทำลายเสียหายไป ก็เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นไหว แต่ถ้าขณะนั้นเป็นอนิจจานุปัสสนา เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งว่าสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ขณะนั้นจริงๆ จะไม่หวั่นไหว และบางท่านก็หวั่นไหวเพราะสุข ต้องการความสุข แต่ถ้ารู้ว่าสุขก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ก็ไม่หวั่นไหวเพราะสุขด้วยทุกขานุปัสสนา ไม่หวั่นไหวเพราะอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา เป็นต้น

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านรู้จักตนเองได้ตามความเป็นจริง ตามที่สติปัญญาจะเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ไม่สามารถรู้จริตที่แต่ละบุคคลได้ประพฤติ ผ่านมาแล้วในอดีตกาลในแสนโกฏิกัปจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

    ท่านผู้ฟังฟังแล้วอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับภังคญาณเลย ใช่ไหม แต่ความจริงก่อนที่จะถึงภังคญาณ ปัญญาที่จะถึงภังคญาณนั้นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และพิจารณารู้จักตัวเองจริงๆ และน้อมพิจารณาสังเกตเห็นธรรม ไม่ใช่เป็นบุคคลอีกต่อไปแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น ผู้ที่มีความเห็นผิดก็คบหาสมาคมกับผู้ที่เห็นผิด พอใจในความคิดผิดๆ ในความเห็นผิดๆ ต่างๆ นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ถึงความเป็นผู้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เป็นภังคญาณ ไม่ใช่ว่าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏรอบตัว หรือสภาพธรรมทั้งหลาย แต่สามารถพิจารณาละเอียดขึ้น เข้าใจละเอียดขึ้น พร้อมทั้งสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติอย่างรวดเร็ว แม้เพียงความคิดนึกที่เกิดจากการได้ยิน หรือเกิดจากการเห็น หรือเกิดจากการกระทบสัมผัสทางทวารอื่นๆ

    เรื่องของภังคญาณ เป็นเรื่องที่ยังอยู่อีกไกล ต้องขอกล่าวว่ายังอยู่อีกไกลจริงๆ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและวิปัสสนาญาณยังไม่เกิด และแม้สำหรับผู้ที่ นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ก็ยังต้องรู้ว่า ไม่ใช่เป็นผู้สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้อย่างรวดเร็ว เพราะบางท่านต้องอบรมเจริญนานมากกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เห็นประโยชน์ เห็นคุณของการเป็นผู้ฟังพระธรรมอย่างละเอียด และน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถา คหปติวรรค โปตลิยสูตร ข้อ ๙๓ แสดงความต่างกันของผู้บวชกับผู้ไม่บวช และสำหรับผู้บวชแล้วก็ยังต้องเตือนตัวเอง ซึ่งจะเป็นคติสำหรับผู้ที่ยังไม่บวช แม้ว่าเป็นเพศที่ต่างกัน

    สำหรับผู้ที่บวชแล้วต้องเตือนตนเองว่า

    จำเดิมตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี บัญญัติว่าสมณะมีอยู่

    นี่เป็นความละเอียดแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น เห็นความต่างกันของผู้ที่ เป็นคฤหัสถ์ กับผู้ที่เป็นบรรพชิต ถ้าใครจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงต้องรู้ตัวว่า สามารถมีอัธยาศัยอบรมเจริญปัญญาในเพศนั้นได้หรือไม่ เพราะว่านับตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี ชีวิตเดิมที่เคยเป็นคฤหัสถ์ ทุกประการไม่มี บัญญัติว่าสมณะมีอยู่

    การกล่าวเรียกว่าคฤหัสถ์ไม่มี การกล่าวเรียกว่าสมณะมีอยู่

    เพราะฉะนั้น การบวชแสดงว่า เป็นการเกิดใหม่สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต แต่สำหรับผู้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม แม้ยังไม่เป็นบรรพชิต ก็อาจจะคิดว่า การฟัง พระธรรมก็เหมือนกับการเกิดใหม่ก็ได้ เพราะว่าก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาส จะได้เข้าใจสภาพธรรมเลย ปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามแม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ ถ้าจะใช้ข้อเตือนตนเองอย่างบรรพชิตก็จะเตือนได้ว่า แม้ในการที่ได้ฟัง พระธรรม ก็เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่ ซึ่งทำให้จิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละคลายอกุศล ผิดจากก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม

    ผู้ที่ฟังพระธรรมน่าจะได้เตือนตัวเองว่า ต่างกับก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมบ้างไหม นี่คือประโยชน์ ถ้ายังไม่ต่าง ต้องเตือนตัวเองว่า เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็ควร ที่จะพิจารณาเห็นคุณประโยชน์และเริ่มน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงฟัง หรือไม่ใช่ว่าบางท่านอาจจะคิดว่าไปปฏิบัติโดยนั่ง แต่ไม่รู้อะไร และสบายๆ นั่นก็ไม่ใช่เป็นการรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า กิเลสหนาแน่นมากมายที่ไม่เคยมองเห็น จะมีใครสามารถนำกิเลสทั้งหมดที่มากมายออกมาชี้ให้เห็น เพื่อจะได้เห็นความ น่ารังเกียจ และมีความพากเพียรที่จะละคลายให้สมกับที่เกิดใหม่ในพระธรรม

    ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะเตือนตนเองว่า

    เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดขาดเครื่องผูกพัน คือ ปาณาติบาตเหล่านั้น ด้วยศีลสังวรทางกาย คือ ไม่ทำปาณาติบาต ดังนี้ เราบวชในศาสนาของผู้ไม่ ปลงชีวิตสัตว์แม้แต่มดดำมดแดง ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงจากปาณาติบาตได้ เราบวชทำไม

    นี่คือผู้ที่เตือนตนเอง

    เราบวชในพระศาสนาที่สอนไม่ให้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แม้แต่เส้นหญ้า ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงอทินนาทานได้ เราบวชทำไม

    เราบวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำมุสาวาทแม้ด้วยมุ่งหวังให้หัวเราะ หรือหมายจะเล่น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ทำการพูดส่อเสียดโดยอาการทั้งปวง บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความโลภหรือความติดข้องแม้มีประมาณน้อย บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความนินทาและกระทบกระทั่งผู้อื่นในเมื่อแม้เขา เอาเลื่อยครูดตัว บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความโกรธและความคับแค้น แม้เมื่อตอและหนามตำเอาเป็นต้น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ถือตัวแม้เพียง สำคัญผิด ก็ยังไม่ละแม้ความสำคัญผิดได้ เราบวชทำไม

    ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทุกท่านไม่ควรที่จะคำนึงถึงบุคคลอื่น แต่ ควรที่จะคำนึงถึงตนเอง ซึ่งมีข้อที่น่าคิดว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วยังไม่คิดที่จะพากเพียรเพื่อละอกุศลต่างๆ เหล่านี้แล้ว ฟังพระธรรมทำไม

    กว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ ก็ควรที่จะได้คิดว่า ถ้าถึงอุทยัพพยญาณจริงๆ แล้วจะได้เป็นพระโสดาบันจริงๆ จะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ กิเลสมากมายในชีวิต จะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ละไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรมด้วยการพิจารณา เพื่อสติจะได้มีสังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ พร้อมกับเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม เพื่อประโยชน์แก่การที่จะละคลายกิเลส

    สำหรับความต่างของผู้ที่อบรมเจริญปัญญา กับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ซึ่งไม่ใช่คนอื่น คือ ตัวของท่านผู้ฟัง ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก่อนที่จะอบรมเจริญปัญญา แต่หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็พอที่จะพิจารณาเห็นความต่างกันของขณะที่ปัญญาเกิด กับขณะที่อวิชชาเกิด

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ อรรถกถาชฎิลสูตร ข้อ ๓๕๔ มีข้อความว่า

    บทว่า ถาโม ได้แก่ กำลังแห่งญาณ

    จริงอยู่ กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือ กิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลพึงรู้กำลัง (ญาณ) ได้ก็ในคราว มีอันตราย

    ฟังดูเป็นข้อความธรรมดา แต่น่าพิจารณา ท่านผู้ฟังอาจจะยังไม่เคยรู้สึกตัวว่า เหมือนอยู่ในเรือนที่มืดตื้อ ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้ทราบไหมว่าขณะไหน จะตอบได้ไหมว่าเคยอยู่ในเรือนที่มืดตื้อบ้างไหม หรือบ่อยๆ ในขณะไหนบ้าง ซึ่งก็คือขณะที่ อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่ปัญญาเกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถือเอาสิ่งที่ควรถือ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่มีความประพฤติเหมือนดังเข้าไปในเรือนที่มืดตื้อ ทำอะไรก็ไม่ถูก และทำสิ่งที่ผิดๆ ด้วย ไม่มีปัญญาที่จะส่องให้เห็นว่าสิ่งนั้นไม่ควรกระทำ แต่ทำไปแล้วด้วยอวิชชา

    คนที่โกรธจัดๆ เวลาหายโกรธแล้วจะรู้ได้เลยว่าเมื่อกี้อยู่ที่ไหน ทำอะไร ไม่ได้มีปัญญาที่จะเห็นโทษของการกระทำที่เกิดจากความโกรธหรือทุจริตกรรมต่างๆ เลย เพราะฉะนั้น ใกล้เข้ามาอีกที่จะให้ถึงภังคญาณ ขณะนี้กำลังมีอันตรายหรือเปล่า เพราะเวลาที่คิดถึงอันตราย ย่อมคิดถึงภัยที่จะได้รับทางหนึ่งทางใด ตามข้อความที่ว่า กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือ กิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อ

    เพราะฉะนั้น ที่ดิฉันเรียนถามว่า ใกล้เข้ามาอีกถึงในขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน มีอันตรายอะไรหรือเปล่า ถ้าคิดว่าไม่มี ก็หมายความว่าไม่เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังสนุกสนานรื่นเริง หรือกำลังเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ในขณะนั้นเห็นโทษภัยของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของลิ้มรส ของสิ่งที่กระทบสัมผัส หรือของคิดนึกบ้างไหม

    การที่จะเห็นภัยจริงๆ ต้องเห็นภัยของการเกิดขึ้นของสังขารธรรม เพราะไม่มีใครสามารถยับยั้งการเกิดขึ้นได้เลย ไม่อยากจะเกิด ไม่มีทาง ใครจะบอกว่า ไม่อยากจะเห็นอีก ไม่อยากจะได้ยินอีก ไม่อยากจะเกิดอีก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามีปัจจัยที่จะเกิดก็ต้องเกิด และปัจจัยนั้นก็คืออวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ละเอียด เมื่อได้ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมแล้ว ก็น้อมระลึกถึงธรรมโดยละเอียดขึ้น คือ แม้แต่กำลังเห็นในขณะนี้ เมื่อไม่รู้ความจริงของ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นอันตราย เป็นโทษ เพราะว่าเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นส่วนใหญ่ในชีวิต

    การที่จะถึงภังคญาณได้ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียด เห็นโทษโดยละเอียด และสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ที่ท่านอาจารย์บรรยาย หมายถึงลำดับหรือชั้นของวิปัสสนาญาณ ซึ่งก็มีญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา ญาตปริญญาถ้าเทียบกับวิปัสสนาญาณนี่ถึงแค่ไหน

    สุ. นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นไปจนถึงอุทยัพพยญาณ จาก อุทยัพพยญาณตลอดไปเป็นตีรณปริญญา และภังคญาณก็เริ่มปหานปริญญา

    แต่ไม่มีการลำดับขั้นวัดว่า เมื่อหมดเขตของปริญญานี้แล้ว จะไม่เป็นปริญญานี้อีกต่อไป ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคำว่า ตีรณะ แปลว่า พิจารณา เพราะฉะนั้น ตีรณปริญญา ก็คือปริญญาที่พิจารณาความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่อยไปโดยตลอด

    ผู้ฟัง แต่เฉพาะญาตปริญญาหมายถึงแค่อุทยัพพยญาณเท่านั้น

    สุ. ญาตปริญญา ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ

    ผู้ฟัง ถึงอุทยัพพยญาณ

    สุ. อุทยัพพยญาณ ที่จริงแล้วที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการพิจารณา ความไม่เที่ยง คือ การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง จึงยังไม่ชื่อว่าสมบูรณ์หรือว่าเป็นขั้นของตีรณปริญญา แต่หมายความว่าที่ อุทยัพพยญาณจะมีได้ ก็ต้องอาศัยการพิจารณา

    เพราะฉะนั้น ไม่มีขีดขั้นจำกัดเขตอย่างที่ว่า เพราะแต่ละปริญญาอาศัยกัน และไม่ทิ้งกันด้วย คือ ไม่ใช่ว่าเมื่อถึงภังคญาณแล้วจะไม่มีตีรณปริญญาอีก ยังมีตีรณปริญญาควบคู่กันไปกับญาตปริญญาด้วย เพราะว่าการพิจารณานั้นทำให้ มีการเริ่มหน่าย เริ่มคลาย เนื่องจากน้อมระลึกถึงสภาพที่ดับ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๑ ตอนที่ ๑๗๐๑ – ๑๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564