แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698


    ครั้งที่ ๑๖๙๘


    สาระสำคัญ

    มหาสติปัฏฐานสูตร - ปรารภ คือ ตั้งต้นอีก

    ทุกขสัจจ์ คืออะไร

    ม. ม. จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร - การศึกษาพระธรรมควรจะศึกษาอย่างไร (สิ่งใดเป็นประโยชน์ ควรศึกษา ควรพิจารณา)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๐


    . หนูมีปัญหา หนูอยู่วัด เขาให้นั่งสมาธิหลังทำวัตรทุกวัน วันพระก็มี พระมาอบรมให้นั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ หนูก็ต้องทำเพื่อหน้าที่ ถ้าไม่ทำเกรงจะถูกเพ่งเล็ง

    สุ. เรื่องความคิดเห็นเป็นอิสระได้ไหม ขอให้ความคิดเห็นของแต่ละคนเป็นอิสระก็แล้วกัน บังคับไม่ได้

    . เกรงเขาจะเพ่งเล็ง ถ้าไม่ทำ

    สุ. เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงๆ ว่า ชีวิตของบรรพชิตหรือชีวิตของอุบาสิกาที่เป็นแม่ชีลำบากกว่าคฤหัสถ์ซึ่งมีสิทธิเสรีทุกอย่างไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ หมู่คณะ แต่ถ้าเป็นบรรพชิต ต้องมีพระผู้ใหญ่ พระผู้น้อย หรือแม้แต่ในสำนักต่างๆ ก็ต้องมีผู้ที่เป็นหัวหน้า ก็เห็นใจในความลำบาก แต่ดิฉันเองคิดว่า ถ้าเราเป็นตัวของเราเอง ด้วยความเข้าใจธรรม คงจะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ เพราะคงจะไม่มีการฆ่า การตี ใช่ไหม ถ้าจะไม่เห็นด้วย จะลำบากยากสักแค่ไหน ถ้าอยู่โดยที่มีความเห็นหรือข้อปฏิบัติที่ต่างกับบุคคลอื่น แต่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูก

    . ถ้าเราจะไม่ทำ …

    สุ. ก็ได้นี่

    . ถ้าหัวหน้าเพ่งเล็ง

    สุ. เพ่งเล็งก็ไม่ถึงกับทุบตีกระมัง แต่ปัญญาสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะนั้นทีละอย่าง ซึ่งขณะนั้นจะไม่รู้สึกว้าเหว่เหมือนกับขณะที่ปัญญาไม่เกิด เพราะตามความเป็นจริงทุกคนที่เข้าใจว่าอยู่คนเดียว ก็ยังมีตัวของตัวเองที่จะอยู่คนเดียว แต่ความจริงแล้วสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละขณะ มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน ใครจะเห็นอะไร ใครจะได้รับกระทบคำพูดหรือวาจาอย่างไร ก็เป็นเพราะเหตุที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง และก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวและดับไป

    ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ คงจะพอเป็นไปได้ หรือพอจะอยู่ได้ อาจจะไม่ต้องแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่ตรงกับบุคคลอื่น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามหรือโน้มเอียงไปตามความเห็นผิดของบุคคลอื่น และถ้าการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่มีประโยชน์ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นนั้น ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างปฏิบัติไป คงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าจะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของเหตุที่ได้กระทำแล้ว แต่คงจะไม่ถึงกับทุบตี

    ขณะที่ไม่มีปัญญากับขณะที่ปัญญาเกิดนั้น ต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังสูญเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าขณะที่กำลังได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ตาม เวลาที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นจะไม่มีความว้าเหว่ หรือไม่มีความเดือดร้อนใดๆ เพราะว่าปัญญาสามารถเกิดปีติโสมนัสได้ แม้ในขณะที่ไม่มีสิ่งใดเหลือที่จะพึงยึดถือว่าเป็นเราอีกต่อไป

    บางท่านอาจจะคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานของท่านไม่ก้าวหน้าเลย บางท่านคิดอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ท่านก็ได้ฟังพระธรรมมากและได้ทำกิจเผยแพร่พระศาสนา บางท่านก็ทำเทปให้คนอื่นได้รับฟัง ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แม้กระนั้นก็ดูเสมือนว่า ท่านยังต้องตั้งต้นเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของของสภาพธรรมอยู่เรื่อยๆ

    แม้แต่ข้อความในพระไตรปิฎก ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มีคำว่า ปรารภ คือ ตั้งต้นอีก เริ่มอีก เนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งในขณะนั้นท่านคงจะไม่ทราบว่า ในขณะที่ท่านเข้าใจว่า กำลังตั้งต้น กำลังเริ่มต้นอีก ตั้งต้นอีก ระลึกอีก พิจารณาอีก แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้นทุกๆ ขณะ สติและปัญญากำลังหยั่งรากลึกลงไปตามอวิชชา เพราะว่าโลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ หรือเป็นมูลรากที่ลึกมาก เนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ จนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึกอีก ระลึกอีก และตั้งต้นอีก ระลึกอีกเรื่อยๆ เพื่อหยั่งลงไปตามความลึกของอวิชชาและโลภะโทสะ ก็ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไปตัดรอนรากที่ลึกของอกุศลทั้งหลายได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ดูเสมือนไม่ก้าวหน้าเลย แท้ที่จริงทุกๆ ขณะที่สติเกิดและปัญญากำลังเริ่มศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ให้เข้าใจว่า เป็นขณะที่ทั้งสติและปัญญากำลังหยั่งลงไปให้ถึงรากของอกุศลมูลทั้งหลาย เพื่อที่จะดับได้เป็นสมุจเฉทเมื่อปัญญาสมบูรณ์ตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณนั้นๆ

    ข้อสำคัญ คือ ไม่ควรคลอนแคลนในเหตุในผล ในข้อปฏิบัติ เพราะอาจจะ เห็นว่าช้าเหลือเกิน หรือปัญญาเกิดทีละเล็กทีละน้อย น้อยมาก จึงอาจจะมีความเห็นที่กวัดแกว่งไปสู่ความเห็นผิดต่างๆ แทนที่สติจะมั่นคงโดยระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวถึงสัจจญาณ ปัญญาที่พิจารณารู้ว่าทุกขสัจจ์คืออะไร

    กำลังเห็นขณะนี้เอง เป็นทุกขสัจจ์ กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังคิดนึก สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกอย่างเป็นทุกขสัจจ์ เพราะว่าเกิดขึ้นและดับไป และปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งได้ก็โดยสติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งได้

    อย่าเห็นผิดในข้อปฏิบัติ และอย่าคลาดเคลื่อนไป เพราะนั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร มีข้อความที่แสดงว่า แม้ท่านพระมาลุงกยบุตรจะได้บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค และได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ความคิดเห็นต่างๆ ที่สะสมมาที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ตรง ให้ควรแก่ธรรมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ทำให้ท่านพระมาลุงกยะมีความเห็นต่างๆ ซึ่งขอให้พิจารณาดู เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เป็นผู้ที่ละเอียด และเห็นว่าการปฏิบัติธรรมที่ถูกที่ตรงเป็นหนทางเดียวจริงๆ ไม่ใช่หนทางอื่น

    ข้อความใน จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร ข้อ ๑๔๗ – ข้อ ๑๕๐ มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปใน ที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์

    ความคิดอย่างนี้ก็มี คือ คิดว่าถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทำอย่างนั้นจะลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ เหมือนกับจะผูกมัดบังคับว่า ถ้าจะให้ท่านเป็นบรรพชิตต่อไปต้องพยากรณ์กับท่าน

    ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็ อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์

    ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกเที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกไม่เที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่เที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยงหรือโลก ไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่มีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือ โลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น

    นี่คือผู้ที่ได้ไปเฝ้าและกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกท่านคิดว่า ท่านมีความโน้มเอียงที่จะคิดอย่างนี้บ้างไหม เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง เรื่องชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เรื่องสัตว์เบื้องหน้าตายไปมีอยู่ หรือตายไปไม่มี หรือตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องของความคิดเห็นแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า เป็นประโยชน์ต่อการที่จะ ละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือเปล่า ซึ่งท่านก็ได้กราบทูลถามต่อไป โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ

    ท่านมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า

    ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์ ฯลฯ

    ท่านมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า

    ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้า พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า

    จะบวชก็บวช จะสึกก็สึก ไม่ได้สัญญาอะไรกันไว้เลย เพราะฉะนั้น จะมาทวงสัญญาอะไรกับใคร แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมควรจะศึกษาอย่างไร

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้

    ดูกร มาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้นพึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัด มาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ... สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่า เป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์ ... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่าน หรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้นทำด้วยไม้ที่เกิดเอง หรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้นเขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่าง หรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

    ดูกร มาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำ กาละไป ฉันใด ดูกร มาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค จักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้นแก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ใน พระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำ กาละไป ฉันนั้น

    ท่านพระมาลุงกยบุตรจะเป็นอย่างไร ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น

    ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ควรศึกษา ควรพิจารณา แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าแต่ละชีวิตก็สั้นมาก ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและคิดว่าต้องรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก่อน ถ้าไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง จะไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของ พระผู้มีพระภาค คือ จะไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละคลายกิเลสเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ ผู้นั้นก็ย่อมจะถึงกาละ คือ ตายไปเสียก่อน

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    สำหรับผู้ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมและเป็นผู้ที่อ่อนโยนสามารถที่จะสอนง่าย ก็สามารถที่จะรับฟังพระธรรมโดยที่เห็นประโยชน์ว่า สิ่งใดที่ควรเจริญ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ

    . ที่ว่า ท่านพระมาลุงกยบุตรยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แสดงว่าท่านเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ท่านไม่คิดที่จะไปทวงสัญญากับพระพุทธองค์อีก ใช่ไหม

    สุ. เพราะท่านเป็นบุคคลที่ควรแนะนำได้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสข้อความ ที่จะทำให้ท่านเกิดความรู้สึกว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์

    . คำว่า ยินดีชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถึงขนาดที่เรียกว่าเข้าใจธรรม หรือบรรลุอะไรหรือเปล่า

    สุ. ไม่ได้กล่าวถึง ข้อความในอรรถกถาก็ไม่ได้อธิบายอะไร เพียงแต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจบพระธรรมเทศนาแม้นี้ด้วยสามารถบุคคลที่ควรแนะนำได้ แต่ไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้บรรลุมรรคผลหรืออะไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564