แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733


    ครั้งที่ ๑๗๓๓


    สาระสำคัญ

    กำลังวิตกเจตสิกของท่านพระอานนท์

    ส.ส.อถ.โอฆตรณสูตร - เทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง

    ม.อุ. มหาสุญญตสูตร

    อรรถกถา โอฆตรณ - สูตร - ไม่พัก ไม่เพียร (มัชฌิมาปฏิปทา)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐


    พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธดำริว่า อานนท์ประสงค์จะสดับสุญญตากถา ก็บางคนสามารถจะสดับ แต่ไม่สามารถที่จะเรียน บางคนสามารถทั้งสดับทั้งเรียน แต่ไม่อาจจะแสดง แต่สำหรับพระอานนท์สามารถทั้งสดับ ทั้งเรียน ทั้งแสดง เราจักกล่าวสุญญตากถาแก่เธอ

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ท่านพระอานนท์นั้นจำได้หรือระลึกขึ้นได้เพียงบทเดียว ก็สามารถค้นคว้า ทรงจำได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท

    นี่คือกำลังของวิตกเจตสิก ซึ่งท่านเป็นพหูสูต เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมาก และสามารถพิจารณาธรรมโดยละเอียดๆ ต่อไป ซึ่งย่อมเป็นไปได้

    แม้สภาพของวิตกเจตสิกประเภทเดียว ก็วิจิตรละเอียดมากมายได้ คือ สามารถเป็นกุศลประการต่างๆ ในเรื่องต่างๆ เป็นอกุศลประการต่างๆ ในเรื่องต่างๆ วิตกไปในเรื่องของทานประการต่างๆ วิตกไป คือ คิดไป ในเรื่องของศีลประการ ต่างๆ ในเรื่องของสมถภาวนาประการต่างๆ จนถึงปรุงแต่งเป็นสัมมาสังกัปปะ ในมรรคมีองค์ ๘ และแทงตลอดลักษณะของวิตกเจตสิกโดยสภาพของปัจจัยต่างๆ โดยเป็นอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย

    ไม่ทราบลืมไปหมดหรือยังเรื่องของปัจจัย แต่ให้ทราบว่า ทั้งหมดนี้ เพียงวิตกเจตสิกอย่างเดียว ท่านพระอานนท์ก็สามารถทรงจำได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท ซึ่งเป็นความจริงได้ ถ้าคิดถึงลักษณะของวิตกโดยลักษณะของปัจจัยด้วย เช่น เป็นอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย คือ เป็นสภาพธรรมเมื่อเกิดร่วมกับจิตแล้วดับไป ก็เป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น

    . สงสัยที่วิบากไม่เป็นปัจจัยแก่โลภะ ที่อาจารย์กล่าวว่า วิบากไม่เป็นปัจจัยแก่อกุศล

    สุ. เมื่อไร ตอนไหน กรุณาเล่าให้ฟังหน่อย

    . หนูจำไม่ได้ หนูอัดเทปไว้

    สุ. ไม่อยากมีความสุขทางกายหรือ

    . อยากมี

    สุ. ก็แสดงว่าวิบากเป็นปัจจัยได้ คือ เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะได้

    . อาจารย์อธิบายตรงนี้หน่อย

    สุ. ตามที่ยกตัวอย่าง และก็ตอบมาแล้ว อยากจะสบายกายไหม

    . อยากสบาย

    สุ. ขณะนั้นวิบาก คือ กายวิญญาณ เป็นอารมณ์ของโลภะได้ไหม สิ่งเดียวที่ไม่เป็นอารมณ์ของโลภะ คือ โลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรคจิต ผลจิต นิพพานเท่านั้น ไม่เป็นอารมณ์ของโลภะ

    . แสดงว่าวิบากเป็นปัจจัยของอกุศลได้

    สุ. ทุกอย่าง เว้นมรรคจิต ผลจิต และนิพพาน

    . เหตุกับปัจจัยนี่คนละอัน ใช่ไหม

    สุ. ปัจจัยมีหลายอย่าง เหตุก็เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ต้องคิดอีกมากมาย ใช่ไหม การตรึกพิจารณาสภาพธรรม ยิ่งคิดก็ยิ่งเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขอทบทวนเพียงชื่อของปัจจัย สำหรับท่านที่ได้ฟังเรื่องของปัจจัยแล้ว

    เพียงวิตกเจตสิกประเภทเดียว อย่างเดียว ก็สามารถระลึกตรึกโดยลักษณะที่เป็นอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สหชาตนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย วิปากปัจจัย ฌานปัจจัย มรรคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย

    คิดดู ธรรมสำหรับผู้ที่เข้าใจกว้างขวางลึกซึ้ง จะสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน มากน้อยแค่ไหน

    นอกจากจะคิดโดยความเป็นปัจจัย ยังคิดโดยความเป็นปัจจยุบบัน คือ เป็นผลของปัจจัยอะไรได้บ้าง เช่น เป็นปัจจยุบบันธรรมของเหตุปัจจัยได้ เป็น ปัจจยุบบันธรรมของอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สหชาตนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย สหชาตกัมมปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย ฌานปัจจัย มรรคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย

    เป็นการทบทวนให้ทราบว่า สภาพธรรมกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง สามารถจะคิดถึงวิตกเจตสิกโดยภูมิต่างๆ และโดยการเกิดร่วมกับเวทนาต่างๆ โดยลักษณะที่หยาบ โดยลักษณะที่ละเอียด โดยลักษณะที่เลว โดยลักษณะที่ประณีต

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าวิตกเจตสิกของท่านผู้ใดจะตรึกไปในการพิจารณาให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นกุศล ซึ่งจะสะสมไปทุกชาติ เพื่อเกื้อกูลต่อการที่จะ เห็นจริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละขณะในขณะนี้ ทุกๆ ขณะที่เกิด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะยิ่งพิจารณาโดยนัยของปัจจัยโดยละเอียดจะรู้ได้เลยว่า ไม่สามารถยึดถือสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเป็นตัวตนได้

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาเทวตาสังยุตตวรรณนา นฬวรรค ที่ ๑ โอฆตรณสูตร ข้อ ๑ มีข้อความว่า

    ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ ทรงแสดงโดยนิคคหมุขะ และอนุคคหมุขะ ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใดมีความถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ว่ารู้แล้ว

    ข้อความในอรรถกถา ยกตัวอย่างพราหมณ์ ๕๐๐ คนที่บวชเป็นบรรพชิต

    เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมเช่นกับพระสูตรทั้งหลายมีมูลปริยายสูตรเป็นต้น นี้ชื่อว่านิคคหมุขเทศนา

    คือ ข่มบุคคลผู้ควรข่ม

    ข้อความต่อไป

    พระดำรัสนี้สมดังที่ตรัสไว้ว่า (คือ ตรัสใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว) ดูกร อานนท์ เราจักกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่ ดังนี้

    ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่นในสูตรทั้งหลายมีอากังเขยยสูตร เป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่นในคำว่า ดูกร ติสสะผู้ยินดียิ่ง ดูกร ติสสะผู้ยินดียิ่ง ... ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรา กล่าวแล้ว ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่าอนุคคหมุขเทศนา

    จะเป็นบุคคลไหน จะให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมประเภทไหน จะให้แสดงธรรมโดยกล่าวถึงอกุศล และที่ข่มนี่ไม่ได้ข่มบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่กล่าวถึงโทษของอกุศลให้เห็นชัดจริงๆ ส่วนผู้ใดที่มีอกุศลน้อยก็กล่าวถึงกุศล ซึ่งเป็นการยกย่องให้เห็นประโยชน์ของกุศล

    ข้อความต่อไป แสดงวิธีแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคมีข้อความว่า

    ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น (คือ เข้าใจยาก) ด้วยพระดำริว่า เทวบุตรนี้ยังไม่ละมานะนี้ ก็ไม่ควรเพื่อจะรับ ธรรมเทศนา เปรียบเหมือนผ้าที่ยังเศร้าหมอง (ยังไม่ได้ซักให้สะอาด) ไม่ควร จะย้อมสี เราจักข่มมานะของเทวบุตรนี้ก่อน แล้วจักประกาศเนื้อความนั้นอีกแก่เธอ โดยไม่มีจิตต่ำเช่นนี้ถามอยู่ ดังนี้

    ข้อความที่มาของปัญหานี้มีว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน เทวดาองค์หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว กราบทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคทรงข้ามโอฆะได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว

    เทวดากราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเราเพียรอยู่ เมื่อนั้นเราลอยอยู่โดยแท้ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว อย่างนี้แล

    ถ้าคิดว่ารู้แล้ว ก็ยาก ใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่าสิ่งนี้ต้องเป็นสิ่งซึ่งลึกซึ้ง โดยที่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสตอบง่ายๆ ทันที ตรงๆ แต่นี่เป็นวิธีแสดงเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ได้รู้สึกตัวว่ายังไม่รู้ หรือผู้ที่คิดว่ามีปัญญามาก จะได้ทราบว่า ปัญญานั้นเป็นปัญญาที่ถูกต้องหรือเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัส อย่างลึกซึ้งได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้การตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาคเวลาที่ มีผู้ทูลถาม บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น คือ เข้าใจยาก

    ถูกใจ หรือไม่ถูกใจคนฟัง

    คนฟังมีหลายประเภท อกุศลวิตกก็คอยจะเกิดร่ำไป เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็เกิด เกิดง่ายๆ แต่ถ้าพิจารณาถึงประโยชน์จริงๆ ถึงพระมหากรุณาคุณจริงๆ ที่ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถรู้สึกตัวในขณะที่มีอกุศล ก็ต้องเป็นประโยชน์อย่างมาก

    ถ้าใครมีอกุศล และผู้อื่นสามารถทำให้ผู้มีอกุศลนั้นรู้ตัวว่ามีอกุศล ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว

    ชอบหรือไม่ชอบ

    จะยอมรับหรือว่าคิดดูก่อน หรือไม่อยากให้รู้ว่ามีอกุศล ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ซึ่งขอให้ทราบว่า ผู้ใดก็ตามที่ยังเข้าใจพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคไม่ถูก ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญาไม่ได้ เพราะไม่รู้หนทางว่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติอย่างไรจึงไม่พักและไม่เพียร ซึ่งนี่คือมัชฌิมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง หลักการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นดีแน่ การแสดงธรรมโดยชี้ให้เห็นอกุศลและโทษของอกุศลให้บุคคลนั้นๆ รู้สึกตัว สำหรับผู้ที่ศึกษาและเข้าใจธรรมพอสมควรและมีความตรงต่อตัวเอง คงไม่มีปัญหาที่จะยินยอมให้เทศนาอย่างนั้นได้ แต่ที่ใช้คำว่า ข่มบุคคลที่ควรข่ม คำพูดอาจจะรุนแรงไปหน่อย คือ ใช้คำว่า ข่ม เขาอาจจะไม่ยอมตั้งแต่ตอนแรก เพราะมานะ ความสำคัญตนมาแล้วก็ไม่ยอมฟัง แต่สำหรับผม ถ้าเป็นธรรมเทศนาและจี้มาที่ใจดำของผม หรือตรงไหนก็แล้วแต่ ผมยอมรับโดยดุษฎี ยอมรับอย่างตรงๆ

    การแสดงธรรมอย่างที่อาจารย์แสดงออกมา หลายครั้งเป็นการชี้อกุศล ผมเห็นชัด ชี้อกุศลของหลายๆ คนด้วย ทั่วๆ ไป ไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจง ถ้าบางท่าน ยังไม่ยอมรับ ก็ลำบาก

    สุ. ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เลิกคิดถึงคนอื่นจริงๆ เพราะคิดแล้วก็ห่วง คิดแล้วก็กังวล คิดแล้วก็ไม่พอใจ เมื่อไรคนนั้นจะดีขึ้นมาสักทีหนึ่ง ฟังพระธรรมมาก็มากแล้ว ยังไม่ดีขึ้น ขณะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ สภาพของจิตที่กำลังคิด และขณะนั้นเป็นอกุศลวิตก นี่เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจ

    เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเราเพียรอยู่ เมื่อนั้นเราลอยอยู่โดยแท้ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว อย่างนี้แล

    อรรถกถาอธิบายข้อความนี้ไว้ ๗ หมวด ใครที่อยากจะเพียรควรฟัง เพราะว่า มุ่งหน้าไปพากเพียรกันมากมายโดยไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ เป็นหนทางสายกลาง ซึ่งต้องเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘

    ๗ หมวด คือ

    ประการที่ ๑ ว่าด้วยกิเลสและอภิสังขาร วิตกเจตสิกเรื่องเดียวก็เต็มในพระไตรปิฎกทั้งหมด

    เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของกิเลส ชื่อว่าจม เมื่อบุคคลเพียร ด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่าลอย

    อยู่ในประเภทไหน หรือว่าทั้ง ๒

    พักอยู่ด้วยกิเลสชื่อว่าจม สนุกสนานกันก่อน เอาไว้แก่เฒ่า หรือนาทีสุดท้าย ที่จะจากโลกนี้ไป คอยจนกระทั่งถึงวาระนั้น นั่นคือพักอยู่ด้วยกำลังของกิเลส ชื่อว่าจม

    ส่วนอีกบุคคลหนึ่งเพียรอยู่ด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่าลอย

    อภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่องค์ของมรรคหนึ่งมรรคใดเลยในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของความตั้งใจ จงใจ ขวนขวาย ต้องการพากเพียร แต่เป็นเรื่องของสติที่จะเกิด เมื่อเข้าใจลักษณะของสติและรู้ว่า สตินั้นระลึกรู้อะไร เพื่ออะไร

    ถ้ายังไม่รู้ว่าสติต้องรู้อะไร ปัญญาต้องรู้อะไร และไปพากเพียรทำอะไร ขณะนั้นก็จะเห็นลักษณะของอภิสังขาร ซึ่งเมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่าลอย

    ประการที่ ๒ ว่าด้วยตัณหา ทิฏฐิ และว่าด้วยกิเลสที่เหลือ และอภิสังขารทั้งหลาย คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของตัณหาและทิฏฐิ ชื่อว่าจม เมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย ชื่อว่าลอย

    ไม่ว่าจะทรงแสดงด้วยประการต่างๆ อย่างไร โดยนัยใด ให้ทราบว่า คือ ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั่นเอง

    ประการที่ ๓ ว่าด้วยตัณหา และว่าด้วยทิฏฐิ คือ แยกออกไปอีก

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังแห่งตัณหา ชื่อว่าจม เมื่อบุคคล เพียรอยู่ด้วยกำลังแห่งทิฏฐิ ชื่อว่าลอย

    ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาทั้ง ๒ นี่เป็นข้อที่จะต้องเข้าใจให้ถูก มิฉะนั้นการปฏิบัติ จะไม่ใช่สัมมามรรค

    ประการที่ ๔ ว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ และว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิ คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่าจม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าลอย

    ประการที่ ๕ ว่าด้วยลินะ การติด และอุทธัจจะ คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของการติด ชื่อว่าย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังของอุทธัจจะ ชื่อว่าย่อมลอย

    ประการที่ ๖ ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกามสุขัลลิกานุโยค ชื่อว่าย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยอัตตกิลมถานุโยค ชื่อว่าย่อมลอย

    ประการที่ ๗ ว่าด้วยอกุศลาภิสังขารทั้งหมด และกุศลาภิสังขารอันเป็นโลกียะทั้งหมด คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยอกุสลาภิสังขารทั้งหมด ชื่อว่าย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยกุสลาภิสังขารอันเป็นโลกีย์ทั้งหมด ชื่อว่าย่อมลอย

    แล้วแต่ว่าจะทรงแสดงโดยหมวดไหน นัยไหน แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตปกติประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๔ ตอนที่ ๑๗๓๑ – ๑๗๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564