แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734


    ครั้งที่ ๑๗๓๔


    สาระสำคัญ

    วิตกเป็นสภาพที่ตรึกตามสัญญาที่จำ

    บุญเป็นสิ่งที่ควรกระทำ (ไม่จำเป็นต้องคิดถึงผล)

    อถ.ส.ส. สุนทริกสูตร - พระวิตกของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นไปด้วยพระมหากรุณาคุณ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๐


    มีบางท่านบอกว่า ท่านชอบอ่านหนังสือมาก ซึ่งหลายท่านก็คงจะเหมือนกัน เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ขอให้ระลึกในขณะที่อ่านว่า เป็นอกุศลวิตกหรือกุศลวิตก

    อ่านสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม น่าอ่านไหม มีของจริงๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ แต่ไปอ่านหนังสือเรื่องต่างๆ โดยลืมที่จะอ่านลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เป็นข้อที่น่าคิดได้หลายอย่าง แม้แต่ผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ วันหนึ่งๆ ถ้าเกิดระลึกขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่สติจะระลึกศึกษา เหมือนกับที่อ่านหนังสือ และพยายามเข้าใจเรื่องในหนังสือฉันใด สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็น่าศึกษา น่าอ่าน น่าพิจารณา เพราะถ้าศึกษาพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นความว่างจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสัญญา ในความจำ ไม่ว่าจะเป็นการจำหรือการคิดเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคลต่างๆ เรื่องวัตถุสิ่งต่างๆ แท้ที่จริงแล้ว หามีสิ่งนั้นๆ ไม่ แต่สัญญาก็ยังจำไว้มากมายเหลือเกิน

    นี่ก็ต่อจากเรื่องของวิตก เป็นเรื่องของสัญญา แต่ไม่ใช่แยกจากกัน วิตก ก็เป็นสภาพที่ตรึกตามสัญญาที่จำ

    สำหรับเจตสิก ๕๒ ดวง ถ้าทบทวนคงจะทราบว่า เจตสิก ๕๒ เป็นนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิก ๕๐ ดวงที่เหลือเป็นสังขารขันธ์

    ในการกล่าวทบทวนเรื่องของปรมัตถธรรมบ้าง หรือเรื่องของขันธ์ ๕ บ้าง ก็ เพื่อแสดงให้เห็นความละเอียดว่า ในบรรดาเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๕๐ ดวงนั้น เฉพาะเจตสิก ๙ ดวงเท่านั้นที่เป็นมรรค คือ เป็นทางที่นำออกไปสู่คติต่างๆ ซึ่งโดยมากก็ทราบกันอยู่แล้วว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิก ๘ ดวง คือ สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

    สำหรับเจตสิกที่เป็นมรรค ทั้งหมดมี ๙ ดวง แต่ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิก ๘ ดวง เพราะฉะนั้น เหลืออีก ๑ ดวงที่เป็นมรรค คือ มิจฉาทิฏฐิ

    มิจฉามรรค ๘ คือ ๑. มิจฉาทิฏฐิ ๒. มิจฉาสังกัปปะ ๓. มิจฉาวาจา ๔. มิจฉากัมมันตะ ๕. มิจฉาอาชีวะ ๖.มิจฉาวายามะ ๗. มิจฉาสติ ๘. มิจฉาสมาธิ

    มิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก มิจฉาสังกัปปะ ได้แก่ อกุศลวิตก มิจฉาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก มิจฉาสติ ได้แก่ โลภมูลจิต มิจฉาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต

    ไม่มีมิจฉาวาจาเจตสิก ไม่มีมิจฉากัมมันตเจตสิก ไม่มีมิจฉาอาชีวเจตสิก

    แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยอกุศลเป็นปกติ จนกว่าขณะใดที่ กุศลจิตเกิด เป็นการวิรัติทุจริตทางวาจาเมื่อไร ขณะนั้นก็เพราะสัมมาวาจาเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจวิรัติวจีทุจริต ขณะที่ละเว้นการกระทำที่ไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ขณะนั้นก็เพราะสัมมากัมมันตะเกิดขึ้นทำกิจวิรัติการกระทำทุจริตทางกาย ขณะใดที่ ละเว้นอาชีพที่ทุจริต ขณะนั้นสัมมาอาชีวะเกิดขึ้นทำกิจวิรัติอาชีพทุจริต เพราะฉะนั้นไม่มีมิจฉาวาจาเจตสิก ไม่มีมิจฉากัมมันตเจตสิก และไม่มีมิจฉาอาชีวเจตสิก

    นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพิจารณาศึกษาลักษณะของจิตเจตสิก ในชีวิตประจำวันจริงๆ จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละประเภทที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้แต่วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์นั้น ก็เกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นจึงเกิดได้ โดยต้องอาศัยเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ แล้วแต่ว่าวิตกเจตสิกนั้นจะเกิดกับกุศลธรรมหรือ อกุศลธรรม

    ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายกุศล หรือเป็นธรรมฝ่ายอกุศล ก็ปรุงแต่งวิตกเจตสิก จนเป็นความละเอียดในเรื่องการตรึกนึกคิดต่างๆ บางครั้งก็เป็นอกุศลที่ไม่น่าจะ คิดได้ถึงอย่างนั้นเลย แต่อาศัยการสะสมของสภาพธรรมที่เกิดมาแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิตกนั้นๆ เกิดขึ้นได้ หรือขณะที่วิตกเจตสิกเกิดกับสภาพธรรมฝ่ายดีเป็นโสภณ บางครั้งก็ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถเจริญถึงขั้นแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของสภาพธรรมแต่ละขณะ

    สำหรับวิตกเจตสิกซึ่งเกิดในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ความละเอียด ของการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ทั้งหลายก็เป็นปัจจัยให้จิตคิดนึกไปต่างๆ เช่น ขอกล่าวถึงความคิดนึกของท่านผู้ฟังบางท่าน

    ในการบรรยายพระธรรมทุกครั้ง จะสังเกตได้ว่า มีผู้ที่มีกุศลวิตกต่างๆ กัน บางท่านก็ตรึกไปในเรื่องของการช่วยจัดสถานที่ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาฟัง คำบรรยาย บางท่านก็ตรึกไปในเรื่องการจัดหาน้ำดื่มที่จะปรุงเปลี่ยนรสต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางท่านก็มีกุศลวิตกตรึกไปในการเก็บล้างแก้วน้ำเป็นต้น บางท่านก็มีกุศลวิตกคิดจะเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วยการถามปัญหาที่เข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟัง หรือว่ามีกุศลวิตกที่จะเล่าประสบการณ์ของท่านที่จะ เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่นๆ แต่ก็มีการตรึกหรือวิตกละเอียดด้วย เช่น บางท่านคิดว่า น้ำปานะที่ยังมีเหลืออยู่หลังจากการบรรยายพระธรรมแล้วนั้น สมควรจะถวายแก่พระภิกษุต่อไปอีกหรือไม่

    ห้ามไม่ได้เลยในการที่บางท่านจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แต่ควรจะเข้าใจ ให้ถูกต้องว่า ความผิด ความถูก ในการกระทำทุกอย่าง หรือแม้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น ความควร ความไม่ควรนั้น อยู่ที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง

    ไม่ใช่ว่าจะต้องมีสิ่งอื่นเป็นเครื่องวัดว่า ทำอย่างนั้นแล้วถูก ทำอย่างนี้แล้วผิด ถ้าสติสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่คิด หรือในขณะที่ทำ จะรู้ได้ว่า ความควรหรือไม่ควร อยู่ที่กุศลจิตหรืออกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นควรจะพิจารณาว่า ขณะที่คิดจะให้หรือคิดที่จะถวาย น้ำปานะที่ยังมีเหลือหลังจากการฟังพระธรรมแล้วนั้น ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือ อกุศลจิต

    บางท่านไม่กล้าถวายเพราะคิดว่า ดูเหมือนเป็นของเหลือ แต่จิตก็มีการคิดพิจารณาได้หลายอย่าง คือ พิจารณาว่า ขณะที่คิดจะให้ คิดจะถวาย ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็เป็นกุศล และขณะที่คิดว่าเป็นของเหลือไม่ควรให้ หรือไม่ควรถวาย ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ความคิดรวดเร็วมาก และเกิดดับสลับกัน ขณะที่คิดว่าเป็นของเหลือไม่ควรให้ คิดดูดีๆ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าไม่ควร ก็น่าจะพิจารณาต่อไปว่า เพราะอะไรจึงไม่ควร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้รับ และถ้าไม่ได้ถวายหรือไม่ได้ให้ไป พระภิกษุผู้ควรที่จะได้รับ จะเสียประโยชน์หรือ จะได้ประโยชน์จากน้ำปานะที่ยังเหลืออยู่นั้น

    คิดได้หลายขั้นในการที่จะถวายหรือจะไม่ถวาย และต้องคิดแม้แต่ว่าขณะที่เกิดความคิดจะไม่ถวายนั้น เพราะเหตุใดจึงไม่ถวาย ถ้าเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็น ของเหลือ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ผู้จัดน้ำดื่มเพื่อผู้ฟังพระธรรม ซึ่งผู้ฟังพระธรรมนั้น ก็มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เมื่อจัดเป็นทานแก่ผู้ฟังพระธรรม และยังมีน้ำเหลืออยู่อีก ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่ภิกษุซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม เป็นผู้ศึกษาพระธรรม เป็นผู้ที่ปฏิบัติพระธรรมในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น จะถวาย หรือจะไม่ถวาย

    คิดดู ท่านผู้ฟังไม่ทราบเผชิญกับปัญหานี้หรือเปล่า แต่ถ้าเผชิญก็จะได้ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรด้วยกุศลจิต ผู้ที่ไม่ถวายเพราะกลัวว่าจะได้บุญน้อย มีไหม

    บางท่านอาจจะไม่อยากถวายเพราะคิดว่าจะได้บุญน้อย เพราะเป็นของที่เหลือจากผู้ฟังทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ขณะนั้นคงจะไม่ได้สังเกตว่า ความอยากได้บุญปิดบังไม่ให้เห็นว่า ขณะที่อยากได้บุญนั้นเป็นอกุศล กุศลจิตควรจะเกิดทันทีไม่ใช่ว่าต้องรอ หรือลังเล หรือสงสัย เพราะว่าขณะที่รอ หรือลังเล หรือสงสัย ในขณะนั้นลักษณะของจิตเป็นอย่างไรจึงได้รีรอ จึงได้ลังเล จึงได้สงสัย

    ปัญญาต้องรู้ละเอียดกุศลจึงจะเกิดได้ทันที เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ขณะใด ก็ให้เพื่อประโยชน์ในขณะนั้น ขณะที่ให้หรือขณะที่ถวายนั้น ถ้ากระทำด้วยความ นอบน้อมก็เป็นความยำเกรงในสงฆ์ ถ้าขณะที่คิดว่าได้บุญน้อยหรือผลของบุญนั้น ก็อาจจะไม่เต็มที่ เว้าๆ แหว่งๆ เพราะว่าเป็นของเหลือ ขณะนั้นคิดถึงใคร

    ผู้ที่ไม่ถวายเพราะกลัวว่าจะได้บุญน้อย ขณะนั้นคิดถึงใคร

    คิดถึงตัวเอง ถึงผลของบุญที่จะได้ หรือว่าคิดถึงประโยชน์ของผู้รับ ซึ่งถ้า ไม่ถวายผู้รับก็จะไม่ได้ประโยชน์

    การกระทำทุกครั้ง ไม่ควรที่จะหวังในผล เมื่อเป็นโอกาสที่จะให้ หรือที่จะถวาย หรือที่จะกระทำกุศล น้อยมากไม่สำคัญ และผลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ควรที่จะคำนึงด้วยว่า จะได้รับผลไม่เต็มที่ หรือจะได้รับผลน้อย จะได้รับผลที่ไม่ดี เพราะว่าบุญเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลต่อมาซึ่งจะเกิดขึ้น

    นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของวิตกเจตสิกที่จะไตร่ตรองพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรมให้ถูกต้องตรงตามสภาพของกุศลจิตและอกุศลจิต จึงจะเป็นเหตุ ให้เจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น มิฉะนั้นจะมีอุปสรรคอยู่เสมอ เพราะว่ากลัวผลบุญจะน้อย แม้แต่ในเรื่องของพิธีการหรือพิธีกรรมต่างๆ ถ้าไม่พิจารณาในเรื่องของกุศล ขณะนั้น ก็เป็นเรื่องกลัวผลของบุญอีกเช่นเดียวกัน

    การกระทำทุกอย่างในพระพุทธศาสนา เป็นการกระทำที่จะต้องพิจารณาถึงจิตว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางท่านก็เรียกกันมารับพรพระหลังจากที่มีการถวายทาน หรือว่าทำกุศลแล้ว ซึ่งความจริงแล้วพระภิกษุท่านกล่าวคาถาอนุโมทนา คือ แสดงอานิสงส์ของกุศลนั้นเพื่อให้ผู้ทำกุศลเกิดความปีติในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่ท่าน เป็นฝ่ายให้พร ท่านอนุโมทนาในกุศลของผู้ที่ได้กระทำกุศล แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจก็รีบมา รับพร ซึ่งความจริงแล้วขณะที่ถวายทานเป็นกุศลจิต ถ้าจะเป็นพรก็เป็นผลของกุศลจิตที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่ว่าถ้าไม่รับกุศลนั้นจะไม่เกิด

    ต้องเข้าใจลักษณะของวิตกเจตสิกโดยละเอียด มิฉะนั้นจะเข้าใจพระธรรมผิดและเป็นโทษได้ เช่นข้อความในคราวก่อน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โอฆตรณสูตร ที่มีข้อความแสดงว่า พระเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ ทรงแสดงโดยนิคคหมุข ทรงกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม และอนุคคหมุข ทรงกล่าวยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง

    ผู้คิดผิดก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม

    สำหรับพระผู้มีพระภาคแล้วที่จะไม่ทรงกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย ประโยชน์นั้นไม่มีเลย ถ้าเป็นผู้พิจารณาโดยละเอียดย่อมจะเห็นพระมหากรุณาคุณ รู้ว่าขณะใดควรที่จะทรงแสดงธรรมในลักษณะใด และบางคนฟังเผิน ก็รีบไปข่มบุคคล ผู้ควรข่ม เพราะเข้าใจว่าข้อความนี้กล่าวว่าอย่างนี้ ก็ต้องรีบไปข่มคนที่ควรข่ม ด้วยอกุศลจิตที่อยากจะข่ม

    นี่ก็เป็นเรื่องของนานาความคิดจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะไม่รู้วาระจิตของตนเอง คือ ไม่ได้พิจารณาจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่รอบคอบจะรู้ว่า คำพูดอาจจะน่าฟังแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือคำพูดที่ไม่ตรงและไม่เกื้อกูลกับบุคคลอื่น ก็ไม่ควรที่จะกล่าว แต่ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้องและผู้ฟังสามารถพิจารณาเหตุผลได้ ก็ควรมีเมตตาใคร่ที่จะให้ผู้ที่มีอกุศลรู้ตัวว่ามีอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ข่มด้วยเหตุผลของพระธรรม ไม่ใช่ข่มด้วยอธรรม นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจิตของตนเองโดยละเอียด

    ขอกล่าวถึงลักษณะความคิดซึ่งเป็นพระวิตกของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นไป ด้วยพระมหากรุณาคุณ

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุนทริกสูตร ข้อ ๖๕๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ในโกศลชนบท สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกาแล้ว ลุกจากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคปายาสอันเหลือจากการบูชานี้

    สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงคลุมพระอวัยวะพร้อมทั้งพระเศียร ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็คิดว่า เป็นผู้ที่คลุมศีรษะประกอบความเพียรคืนยังรุ่ง จึงได้ถือข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟด้วยมือซ้าย ถือน้ำเต้า ด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แต่ก่อนที่จะถวายก็ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นชาติอะไร

    ทั้งๆ ที่คิดแล้วว่า ผู้นี้คงเป็นผู้มีความเพียรนั่งคลุมศีรษะคืนยังรุ่ง แต่ก็ยังมี วิตกเจตสิกที่ตรึกก่อนที่จะถวาย โดยคิดคำนึงถึงชาติ จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นชาติอะไร ไม่ได้ถามถึงพระธรรมเลย ไม่ได้ถามถึงข้อปฏิบัติเลย เจอหน้ากัน ก็ถามถึงชาติ นี่ก็แสดงลักษณะของจิตแล้วว่า ในขณะนั้นมีความสำคัญตนอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำเป็นมุนี มีความเพียร มีความรู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้ว บูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมบูชาพระทักขิไณยบุคคลโดยกาล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๔ ตอนที่ ๑๗๓๑ – ๑๗๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564