แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705


    ครั้งที่ ๑๗๐๕


    สาระสำคัญ

    ปัญญาในระดับต่างๆ

    ความต่าง ๙ ประการ ชื่อว่าญาณ

    วิภังคปกรณ์ขุททกวัตถุวิภังค์ - ความสำคัญผิดที่ว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

    องฺ.ทุก.อธิกรณวรรค - ธรรมเทศนามี ๒


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๐


    นอกจากนั้น

    ความต่างแห่งสัญญาอาศัยความต่างแห่งเวทนาเกิดขึ้น

    เวทนาเป็นอย่างไรสัญญาก็จดจำอย่างนั้น วันนี้จำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่เช้ามาเห็นทางตามากมายตั้งแต่ลืมตาตื่น ทางหูก็ได้ยินเสียง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่การที่จะจำอะไรไว้ก็ต้องแล้วแต่เวทนาในขณะนั้นทำให้เกิดความจำหรือ ไม่ให้เกิดความจำ โดยมากถ้าเฉยๆ จำไม่ค่อยได้ ใช่ไหม แต่ถ้าสุขมาก จำได้ หรือทุกข์มากก็จำได้ โกรธมากก็จำได้ เกลียดมากก็จำได้ ไม่พอใจมากก็จำได้

    เหตุการณ์เมื่อครู่นี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เหมือนกัน ใครที่ไม่ลืม เพราะเวทนาอย่างไรจึงไม่ลืม เพราะฉะนั้น แม้สัญญา ความจำ ซึ่งมีต่างๆ กันในวันหนึ่ง ความต่างแห่งสัญญาก็อาศัยความต่างแห่งเวทนาเกิดขึ้น

    ดูเป็นเรื่องเหมือนกับไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือไม่ใช่สภาพธรรมที่จะต้อง แทงตลอดจนกระทั่งประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป แต่ให้ทราบว่า พลววิปัสสนาจริงๆ ปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมทั่วและละเอียด มิฉะนั้นไม่สามารถรู้ความต่างกันของผัสสะ ของเวทนา ของสัญญา หรือของความตรึก ความดำริ ซึ่ง แต่ละคนเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจแล้ว ก็คิดนึกต่างกัน

    เมื่อสักครู่นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อีกเหมือนกันว่า ต่างคนก็ต่างใจ ต่างคนก็ ต่างความคิด แม้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเหมือนกัน แต่ว่า

    ความต่างแห่งความดำริอาศัยความต่างแห่งสัญญาเกิดขึ้น

    ถ้าในขณะนั้นเป็นอนัตตสัญญา รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่ง แม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นจริงๆ ความดำริก็จะเป็นไปในทางกุศล อาจจะมีความเมตตา มีความกรุณา หรืออาจจะคิดเกื้อกูล อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ความดำรินั้นก็ต่างกันไปตามสัญญาที่จำ ว่าจำเหตุการณ์นั้นไว้ในลักษณะใด

    นอกจากนั้น

    ความต่างแห่งฉันทะอาศัยความต่างแห่งความดำริเกิดขึ้น

    การที่แต่ละคนจะตรึกอย่างไรก็เพราะว่ามีฉันทะแต่ละอย่าง

    ความต่างแห่งความเร่าร้อนอาศัยความต่างแห่งฉันทะเกิดขึ้น

    ความต่างแห่งการแสวงหาอาศัยความต่างแห่งความเร่าร้อนเกิดขึ้น

    เมื่อกี้มีใครคิดที่จะทำอะไรบ้างหรือเปล่า ถ้ามี นั่นคือการแสวงหาซึ่งอาศัยความเร่าร้อนเกิดขึ้น

    ความต่างแห่งการได้ (รูปเป็นต้น) อาศัยความต่างแห่งการแสวงหาเกิดขึ้น

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ความต่าง ๙ ประการนี้ ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า การกำหนดธรรม ๙ ประการ เป็นธรรมนานัตตญาณ ฯ

    ถ้ามีใครจะประจักษ์ไตรลักษณ์เมื่อกี้ เป็นไปได้ไหม และถ้าเป็นไปได้จริงๆ ต้องเป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล แต่เพราะเหตุยังไม่สมควรแก่ผล จึงดูเหมือนเป็นภาวะสุดวิสัยที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ความจริงว่า ปัญญาที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ละเพียงบางสถานการณ์ แต่ปัญญาที่อบรมสมบูรณ์ ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมพร้อมที่จะเกิดขึ้นในขณะใด ก็เกิดขึ้นได้ ในสถานการณ์นั้นๆ

    ข้อ ๑๘๕ แสดงปัญญาขั้นต่อไป คือ

    ปัญญาอันรู้ยิ่งเป็นญาตัฏฐญาณอย่างไร ปัญญาเครื่องกำหนดรู้เป็น ติรณัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องละเป็นปริจจาคัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องเจริญเป็น เอกรสัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องกระทำให้แจ้งเป็นผัสสนัฏฐญาณ

    ปัญญาทั้งนั้นเลย เพราะถ้าเข้าใจผิดไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ และแม้ว่าดูเป็นชื่อซึ่งเป็นภาษาบาลี แต่คำอธิบาย คือ ชีวิตประจำวันนั่นเอง คือ

    ถ้าบุคคลใดรู้ยิ่งธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันรู้ธรรมนั้นๆ แล้ว

    นี่เป็นของที่แน่นอน คือ ถ้าพูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม รู้โดยชื่อ แต่ บุคคลใดรู้ยิ่งธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันรู้ธรรมนั้นๆ แล้ว คือ ประจักษ์ชัดจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่เป็นความรู้ยิ่ง ไม่มีความสงสัย ก็ชื่อว่าเป็นอันรู้ ธรรมนั้นๆ แล้ว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ตรงที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า รู้ธรรมนั้นๆ แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป

    เมื่อกำหนดรู้ธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันพิจารณาธรรมนั้นๆ แล้ว

    เหตุกับผลต้องตรง ใช่ไหม การที่จะรู้ธรรมใดๆ ได้จริงๆ ย่อมหมายความว่า ได้พิจารณาธรรมนั้นๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงความหวัง ไม่ต้องพิจารณา สติปัฏฐาน ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู และจะรู้ยิ่งซึ่งธรรมนั้นๆ เป็นไปไม่ได้เลย

    เจริญธรรมใดๆ แล้ว ธรรมนั้นๆ ย่อมมีกิจเป็นอันเดียวกัน กระทำให้แจ้ง ธรรมใดแล้ว เป็นอันถูกต้องธรรมนั้นแล้ว ... เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาอันรู้ยิ่งเป็นญาตัฏฐญาณ ฯ

    วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ข้อ ๘๙๙ แสดงความสำคัญผิดที่ว่า ได้บรรลุธรรมวิเศษ คือ

    ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง

    ที่กล่าวถึงปัญญามากมายในพระไตรปิฎก ก็เพื่อแสดงให้เห็นจริงๆ ว่า อย่าคิดว่าจะถึงอย่างเร็ว หรือเมื่อได้ยินได้ฟังใครบอกว่าถึงแล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

    ความสำคัญว่าทำแล้วในกิจที่ตนยังไม่ได้ทำ

    ถ้าขณะนี้ไม่ระลึกศึกษาลักษณะของเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ ขณะที่ได้ยิน สภาพที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม ขณะที่คิดนึกรู้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ที่กำลังนั่งอยู่ ที่นั่นที่นี่ ถ้าไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิดนึก ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ชื่อว่ายังไม่ได้ทำกิจ ที่ควรกระทำ และถ้าเข้าใจว่า แม้ไม่ทำอย่างนี้ก็สามารถถึงอุทยัพพยญาณได้ ก็เป็น ความสำคัญว่าทำแล้วในกิจที่ตนไม่ได้ทำ

    ความสำคัญว่าบรรลุแล้วในธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ

    ความสำคัญว่าได้ทำให้แจ้งแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

    คือ ยังไม่ถึงนิพพานเลย ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ได้ฟังคำบอกเล่าก็เข้าใจว่า ได้บรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะมีความสำคัญตนแน่นอน เพราะว่าเมื่อไม่ใช่ปัญญาก็ไม่ได้ละคลายกิเลส

    ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง อันใดมีลักษณะ เช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครเข้าใจผิดว่าได้บรรลุแล้ว ท่านผู้ฟังก็คงไม่เข้าใจผิดอย่างนั้น และเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ได้กระทำกิจอะไรแล้วบ้าง

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ถามว่า มีใครพิจารณาเวทนาบ้างไหมตอนประมาณบ่าย สองโมงกว่าๆ ก่อนบ่ายสาม ขอตอบว่า ไม่มี เพราะยังเกรงใจว่าท่านอยู่ในสงฆ์

    สุ. ไม่มีเวทนาไม่ได้

    ผู้ฟัง มี แต่ไม่ใช่คิดจะทำอะไร เพราะว่าท่านอยู่ในสงฆ์ก็เลยเกรงใจ คิดว่าจะรอเวลาสักครู่ รู้สึกว่ามี แต่ไม่มากมายอะไร ผิดปกติไปเล็กน้อยเท่านั้นเอง

    สำหรับเรื่องเวทนา เมื่อวานนี้อ่านกันเรื่องสติปัฏฐานสูตร เวทนามีอามิส กับเวทนาไม่มีอามิส ยังไม่เข้าใจกัน ขอคำอธิบาย

    สุ. เวทนามีอามิส หมายถึงเวทนาที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เวทนาไม่มีอามิส หมายถึงเวทนาที่ไม่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ภูมิของจิตก็ต่างกันเป็นเท่านี้เอง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามภูมิ นอกเหนือไปจากนั้นก็ไม่ใช่กามภูมิ เพราะฉะนั้น อามิส หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่ใคร่ที่พอใจ

    ขอกล่าวถึงปัญญาขั้นอื่นๆ ต่อไป เพื่อจะได้เห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ละเอียดจริง

    ข้อ ๒๔๓

    ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏเป็นขันติญาณอย่างไร ฯ

    ชื่อของปัญญาก็มีมากตามคุณธรรม คือ รูปปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ เวทนาใดๆ สัญญาใดๆ สังขารใดๆ วิญญาณใดๆ ปรากฏโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏจึงเป็นขันติญาณ อดทนต่อสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปโดยไม่หวั่นไหว จึงเป็นขันติญาณ เพราะถ้าเป็นปัญญาเพียงเล็กน้อยและคิดว่าสภาพธรรมเกิดขึ้น ดับไป ไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ หรือตกใจ หรืออาจจะกลัวลักษณะที่กำลังปรากฏนั้น แต่ปัญญาที่ทนต่อสภาพการเกิดขึ้นและดับไป ไม่หวั่นไหวที่จะประจักษ์แจ้งในอาการที่เกิดดับนั้นเป็นขันติญาณ เป็นพลววิปัสสนา

    ข้อ ๒๔๔

    ปัญญาในความถูกต้องธรรมเป็นปริโยคาหนญาณอย่างไร ฯ

    ท่านที่ไม่ชินต่อภาษาบาลีคงไม่ต้องจำ แม้แต่ดิฉันเองก็เพียงแต่ค้นคว้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของปัญญาไว้มากมาย ก็เพื่อให้เห็นความสมบูรณ์ ความคมกล้าของปัญญาแต่ละขั้นที่เป็นพลววิปัสสนา

    ปัญญาย่อมถูกต้องรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาย่อมถูกต้องรูปใดๆ ก็เข้าไปสู่ คือ ประจักษ์แจ้งในรูปนั้นๆ ฉะนั้น ปัญญาในความถูกต้องธรรมจึงเป็นปริโยคาหนญาณ

    ข้อ ๒๔๕

    ปัญญาในการรวมธรรมเป็นปเทสวิหารญาณอย่างไร

    หมายความว่า ปัญญาขั้นนี้รู้ธรรมทุกชนิดโดยละเอียด โดยความต่างกัน เช่น

    เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา เพราะความสงบแห่งมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีกุศลเวทนา

    แม้แต่เวทนาที่เป็นกุศลก็รู้ว่า ต่างกับเวทนาที่เป็นอกุศล และผู้ที่ยังไม่ใช่ พระโสดาบันบุคคล ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น บางครั้ง บางขณะจะมีเหตุปัจจัยทำให้มิจฉาทิฏฐิเกิดคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะนั้นปัญญา ก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา

    ไม่ว่าเวทนาที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐินั้นจะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนาก็ตาม ปัญญาก็ยังรู้ว่า เวทนานั้นเกิดเพราะมิจฉาทิฏฐิ และเมื่อมิจฉาทิฏฐิหมดไป เพราะความสงบแห่งมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีกุศลเวทนา

    บางท่านพิจารณากุศลจิตและอกุศลจิตว่าต่างกัน แต่ถ้าเป็นความละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็พิจารณาสภาพของความรู้สึกว่า ความรู้สึกที่เป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นอกุศลที่เป็นอุเบกขาก็มี ที่เป็นโสมนัสก็มี แต่เป็นอกุศล ส่วนความรู้สึกที่เป็นกุศล เป็นอุเบกขาก็มี เป็นโสมนัสก็มี แต่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น สามารถเห็นความต่างกันของเวทนาซึ่งเป็นกุศลและเป็นอกุศล

    นอกจากนั้น ปัญญาก็ยังรู้ว่า

    เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา

    ใครก็ตามที่เคยปฏิบัติผิด เข้าใจผิดว่า บรรลุแล้ว เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย

    ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา

    ในขณะที่เข้าใจผิดว่า บรรลุ ขณะนั้นมีอกุศลเวทนา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอกุศลเวทนา ภายหลังเมื่อได้ศึกษา ได้เข้าใจ ได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ เป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่ถูกต้องจริงๆ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า

    เพราะความสงบแห่งมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีกุศลเวทนา

    ความที่เคยหลงผิดเข้าใจผิดว่า พ้นแล้ว แต่เป็นการพ้นผิด เพราะไม่ใช่การพ้นจริงๆ เมื่อรู้แล้วว่าขณะที่เป็นมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเวทนา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าแต่ก่อนที่เคยเข้าใจว่าพ้น ความจริงเป็นมิจฉาวิมุตติ การที่ปัญญาเข้าใจถูกอย่างนี้ ย่อมมีกุศลเวทนาในขณะนั้น

    นี่ก็เป็นการรู้ธรรมทุกชนิดโดยละเอียด เป็น ปเทสวิหารญาณ คือ ปัญญา ในการรวมธรรม

    ถ. กุศลเวทนากับอกุศลเวทนาที่เป็นฝ่ายโสมนัส ต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกันที่สภาพของเวทนาไม่ผ่องใส เป็นอกุศล กับสภาพของเวทนาผ่องใสเป็นกุศล ไม่ผ่องใสบางทีใช้คำว่า เศร้าหมอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นทุกข์โศกเศร้า แต่หมายความว่ามีมลทิน คือ อกุศลธรรมเกิดร่วมด้วย

    ถ. เช่น นึกถึงที่รูปสวย เสียงเพราะ พอใจเป็นโสมนัส

    สุ. ทุกคนเคยชินกับความหลงเพลินไปในความสุขของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส และเวลาที่เป็นกุศล ไม่ติดไม่ข้องในสิ่งนั้น หรือไม่เห็นว่าเป็นสาระมากมายอย่างที่เคย ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นจะรู้ว่า เวทนาแม้ว่าเป็นอุเบกขาก็ตาม หรือโสมนัสก็ตาม แต่ก็ต่างกัน แม้ในความคิดความเห็นก็ต่างกัน

    ถ. เป็นโสมนัส แต่ไม่ติดในอารมณ์ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง และมีความพอใจ มีความยินดี

    สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด เวทนาขณะนั้นต่างกับเวทนาที่เกิดกับอกุศลจิต เวลาที่โทสมูลจิตเกิด ต่างกับเวทนาที่เป็นกุศลจิต ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. เวลาที่กำลังอยากได้อะไร หรือพอใจอะไรมากๆ กำลังติดข้อง กำลังเพลิน ไพเราะจริงๆ หรือสวยจริง น่าดูจริง สนุกจริง กำลังมีโสมนัสเวทนา และชั่วขณะต่อไปก็ระลึกได้ว่า เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง สิ่งซึ่งหลงพอใจหรือเป็นสุขมากมายนั้นก็ไม่ยั่งยืน นี่เป็นเวทนาที่ต่างกันแล้ว ใช่ไหม ถ้าระลึกได้ด้วยความโสมนัส ดีใจที่ระลึกได้ถึงขั้นนี้ที่ว่า แม้แต่ความสุขชั่วขณะนั้นก็ไม่เที่ยง ขณะที่เป็นโสมนัส ที่ระลึกได้ด้วยปัญญา กับขณะที่กำลังเพลินพอใจในสิ่งที่กำลังเห็น กำลังสนุกร่าเริง โสมนัสเวทนา ๒ ขณะนี้ย่อมต่างกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๑ ตอนที่ ๑๗๐๑ – ๑๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564