แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687


    ครั้งที่ ๑๖๘๗


    สาระสำคัญ

    การแปลเสียง (แปลความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ)

    ปัจจยปริคหญาณ

    เหตุปัจจัย (โลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๐


    จะเห็นได้ว่า แม้แต่การได้ยินก็เข้าใจว่าได้ยินเป็นคำๆ แล้ว แสดงให้เห็นว่า สติที่จะระลึกทางหู จะต้องพิจารณาลักษณะของเสียง ซึ่งถ้าไม่อาศัยการไตร่ตรอง การพิจารณา ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าขณะที่ได้ยินเสียง กับขณะที่รู้คำหรือรู้ความหมาย ของเสียงต้องต่างกันมาก ถูกไหม แต่ปรากฏเหมือนกับพร้อมกัน

    ขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ที่เข้าใจว่าได้ยินเป็นคำๆ เคยไตร่ตรอง เคยพิจารณาไหมว่าเป็นการแปลเสียง เพราะต้องมีการได้ยินก่อนจึงจะแปลความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้นเป็นความหมายได้ แต่ก็ไม่เคยคิดเลยว่า ขณะนี้ที่กำลังได้ยินกำลังแปลเสียงอยู่ จึงเข้าใจในอรรถ ในความหมายของเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ยินเสียง โสตทวารวิถีจิตมีเสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ เสียงมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตและดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็รู้เสียงนั้นและดับไป วาระต่อไปคงไม่ทราบว่ากำลังแปลเสียง จึงได้รู้ความหมายหรืออรรถของเสียงที่กำลังได้ยิน

    จะเห็นได้ว่า เราชินกับความรวดเร็วของนามธรรมที่เกิดดับสืบต่อจนไม่รู้ตัวว่า ขณะที่ได้ยินนั้นกำลังแปลเสียงอยู่อย่างรวดเร็ว แต่เพราะชินกับการแปลเสียง จึงเข้าใจว่าทันทีที่ได้ยินก็เข้าใจความหมายของเสียง ถ้าจะให้เห็นชัดว่าห่างกันมากระหว่างวิถีจิตที่ได้ยินเสียงกับวิถีจิตที่เข้าใจความหมายของเสียง จะพิสูจน์ได้จากการแปลภาษาอื่น หรือในขณะที่กำลังหัดแปลเสียง กำลังคิดถึงภาษาอื่น

    ถ้าใช้คำว่า แปล ทำให้เข้าใจว่าต้องใช้เวลาในการที่จะแปลจากภาษาหนึ่ง ไปอีกภาษาหนึ่ง หรือแปลจากเสียงที่ได้ยินเป็นความหมายของเสียงต่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เข้าใจคำพูด ก็เป็นการแปลอย่างรวดเร็ว อย่างชำนาญ ซึ่งถ้าชำนาญน้อยลง การแปลก็จะช้าลงไปอีก จนถึงกับกำลังหัดแปลก็ยิ่งช้าลงไป ทำให้สังเกตรู้ได้ว่า ขณะที่เป็นเสียงนั้นอย่างหนึ่ง และขณะที่กำลังหัดแปลให้เข้าใจความหมายของเสียงนั้นก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ารวดเร็วด้วยความชำนาญ ของการเข้าใจที่ซึมซาบแล้วว่าเสียงนั้นหมายความถึงอะไร ก็ทำให้ไม่รู้สึกตัวว่า ในขณะนี้วาระที่ได้ยินเสียง ต้องต่างกับวาระที่กำลังเข้าใจความหมายของเสียง

    เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรองจริงๆ อย่าคิดว่าเข้าใจลักษณะของเสียงแล้ว ในขณะที่สติระลึกลักษณะของเสียงจะต้องรู้ด้วยว่า ถ้าในขณะที่เหมือนกับกำลังแปล แต่เราไม่คิดถึงความหมาย ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงนั้น และไม่คิดถึงความหมาย เฉพาะในขณะนั้น สติกำลังระลึกลักษณะของเสียง

    นี่เป็นการพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ทางหูฉันใด ทางตาก็ฉันนั้น กำลังแปลความหมายของสีต่างๆ ออกมาเป็นคนต่างๆ แต่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่รู้ว่าในขณะนั้นก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปะปนกัน

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพื่อที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ต้องเป็นปัญญาจริงๆ สติระลึกจริงๆ สังเกตจริงๆ พิจารณาจริงๆ จนกระทั่งความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ

    และเวลาที่วิปัสสนาญาณแต่ละวิปัสสนาญาณจะเกิด จะเกิดปรากฏโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่มีการรู้ตัวล่วงหน้าเลยว่า ขณะไหน ที่ไหน กำลังทำอะไร เพราะว่าการฟังพระธรรม การที่สติอบรม และเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ จากภพหนึ่งชาติหนึ่งสะสมไป เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่วิปัสสนาญาณ จะเกิดเมื่อไร วิปัสสนาญาณก็เกิดโดยไม่มีการรู้ล่วงหน้า ไม่มีการตระเตรียมว่า จะต้องเป็นในขณะนั้นในขณะนี้ แต่ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้และรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ และในขณะที่แทงตลอดต้องเป็นลักษณะที่เป็นอนัตตา แม้แต่ในการปรากฏของวิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา ซึ่ง ในขณะนั้นไม่ต้องมีการพิจารณาอะไรอีก เพราะว่าปัญญาถึงความสมบูรณ์ ที่แทงตลอดแล้ว เพราะฉะนั้น สภาพธรรมปรากฏชั่วขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะนานหรือจะมากจะน้อยแค่ไหน

    ถ้าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของนามรูปปริจเฉทญาณ ต่อไปเป็นเรื่องของ วิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ว่าวิปัสสนาญาณ จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ปัญญาก็ยังไม่พอที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่า นามธรรมและรูปธรรมหลังจากที่วิปัสสนาญาณดับแล้ว ก็เกิดดับสืบต่อกันไปเหมือนเดิม

    เพราะฉะนั้น การที่จะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องอาศัยการฟังพระธรรมต่อไปอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงโดยละเอียดถึงปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำไมต้องฟังเรื่องของปัจจัยด้วย ก็เพื่อปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจจริงๆ แม้ว่านามรูปปริจเฉทญาณจะดับไปแล้ว แต่การฟังพระธรรมที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมได้ ค่อยๆ ละคลายละเอียดขึ้น

    และไม่ควรพอใจเพียงขั้นเข้าใจเรื่องของปัจจัย ซึ่งทุกท่านก็เคยได้ฟังเรื่องของปัจจัยมาแล้วว่า จิตเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสิ่งซึ่งปรากฏทางตากระทบกับ จักขุปสาท ฟังดูเป็นเรื่องปริยัติ หรือจิตได้ยินจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาท นี่คือขั้นปริยัติ

    แต่การที่จะพิจารณาปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมให้ละเอียดขึ้น ต้องพร้อมกับขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เช่น ในขณะนี้ ถ้าสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินจะรู้ได้ทันทีว่า เสียงเป็นปัจจัย เพราะว่าในขณะนั้นหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว จึงศึกษาด้วยความละเอียดขึ้นในขณะที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน

    หรือแม้แต่เหตุปัจจัย ซึ่งได้แก่ โลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุ ขณะที่ฟังโดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นเพียงขั้นความเข้าใจอย่างหยาบๆ ว่า การที่เราเอื้อมมือไป หรือตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ก็มีโลภะเป็นเหตุทั้งนั้น นั่นคือความเข้าใจขั้นปริยัติ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดในขณะนั้น ในขณะที่กำลังกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใด หรือแม้ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร มีการกระทบสัมผัสนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นสติจะน้อมระลึกถึงลักษณะของปัจจัยที่ทำให้เกิดนามธรรมที่กำลังรู้รูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มรส หรือการเห็น การได้ยิน ในขณะนั้นจะพิจารณาละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เข้าใจซึมซาบลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่ต้องซึมซาบในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด นอกจากนั้นยังต้องให้เข้าใจซึมซาบในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมนั้นที่เกิดเพราะปัจจัยด้วย

    เวลานี้ถ้าไม่ยกตำราขึ้นมากล่าวถึง ในขณะที่ทุกท่านกำลังพูดคุยเป็นปกติ รู้ได้ไหมว่า จิตอะไรเป็นปัจจัยให้พูดคำนั้นๆ เคยระลึกไหม เมื่อระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างแล้ว ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า จิตอะไรที่ทำให้พูดคำอย่างนั้น หรือแสดงกิริยาอาการของกายอย่างนั้น

    การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงวันเดียวสองวัน แต่ต้องเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ระลึกได้ แม้แต่ในขณะที่พูด และถ้าเป็นปัจจยปริคคหญาณจริงๆ ที่ปรากฏ ทางมโนทวาร ในขณะที่เพียงนึก เสียงปรากฏ ความรวดเร็วของการที่ปกติธรรมดา ไม่เคยระลึกรู้ว่าจิตอะไรกำลังเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดนั้นๆ แต่เวลาที่สติปัฏฐานอบรมไปจนถึงความสมบูรณ์ของปัจจยปริคคหญาณ ทันทีที่คิด เสียงปรากฏ เป็นชีวิตจริงๆ หรือเปล่าในขณะนี้

    ใครก็ตามลองพูด ทันทีที่คิดเสียงปรากฏหรือเปล่า แต่เวลาที่ไม่ใช่ ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาก็ไม่ได้แทงตลอด เพราะว่าในขณะนั้นสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณทั้งหมด ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่เกิดทางมโนทวาร และสภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏเฉพาะทางมโนทวาร และ เป็นความชัดเจนโดยสภาพที่เป็นอนัตตา โดยที่ไม่ได้คิดหรือไม่ได้ตระเตรียมมาก่อน เป็นการสะสมการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยไม่ใช่ขั้นหยาบๆ แต่ต้องพิจารณาให้ละเอียดขึ้นด้วย

    ต้องอาศัยการฟังอย่างมาก แม้แต่ในเรื่องของปัจจัยก็ไม่ได้ละเลยว่า ในขณะที่พูด จิตในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดเสียง ให้เกิดการพูด และเป็นจิตประเภทใด

    เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้การเคลื่อนไหวของ การกระทำทางกาย หรือแม้แต่คำพูดของตนเอง

    . จิตทั้งหมด ถ้าไม่เรียนจะรู้ได้หรือ

    สุ. ถ้าไม่เรียน รู้ไม่ได้แน่ ไม่มีทางเลย

    . ยาก ต้องเรียนก่อน

    สุ. ต้องฟังพระธรรมไปอย่างมาก เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเรื่องปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าประจักษ์สภาพที่เป็นปัจจัย ในขณะนั้นจะไม่มีความหวังหรือความต้องการใดๆ ละคลายความหวัง ความต้องการนามนั้น รูปนี้ลงไปอีก เพราะรู้ว่าแต่ละนามแต่ละรูปเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้ว อาจจะอยากรู้นามนั้นบ้าง หรือรอที่จะรู้นามนี้บ้าง หรือหวังที่จะรู้นามรูปที่ละเอียด แต่ถ้าสภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นปัจจัย จะเห็นได้ว่า ไม่ต้องหวังอะไรเลย เพราะว่าทุกขณะมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    . รู้ย่อๆ ก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่กำลังศึกษา เรียกว่าย่อมากและหยาบมากแล้ว เพราะว่า สติไม่ได้ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะใด ขณะนั้นย่อและหยาบ

    . ต้องอาศัยการฟัง

    . คำว่า ธรรมนิยาม หมายความว่าอย่างไร

    สุ. เท่าที่ทราบ ได้แก่ ธรรมที่เกิดโดยที่เป็นธรรมเนียมของธรรมนั้น เช่น การที่แผ่นดินจะไหวในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เป็นต้น เป็นธรรมเนียมหรือเป็นนิยามที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    . กรณีที่รูปไม่เที่ยง เป็นธรรมดา และเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นธรรมนิยามหรือเปล่า

    สุ. ไม่ได้กล่าวไว้ว่าเป็นธรรมนิยาม

    . ผมศึกษาอื่นมาเกี่ยวกับที่ว่า ...

    สุ. ทุกท่านกรุณานำหนังสือมาด้วย เพราะว่าดิฉันอาจจะอ่านไม่ทั่วถึง หรือยังไม่พบข้อความนั้นก็เป็นได้

    . อีกคำหนึ่ง คือ ฐิติญาณ

    สุ. ฐิติญาณ ได้แก่ ปัจจยปริคคหญาณ เพราะว่าเป็นปัญญาที่รู้ปัจจัย ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น

    . ธรรมนิยามเกิดก่อนฐิติญาณ หรือเกิดทีหลัง

    สุ. นิยาม กับ ญาณ คนละอย่าง นิยาม มี พีชนิยาม จิตตนิยาม ธรรมนิยาม เป็นต้น

    . อาจารย์ช่วยอธิบายที่ว่า ธรรมนิยามเกิดก่อน ฐิติญาณเกิดทีหลัง

    สุ. กรุณาเอาหนังสือมาได้ไหม คราวหน้า

    . เป็นข้อความจากพระไตรปิฎก จากสุสิมสูตร

    สุ. ขอความกรุณาเอามาด้วยคราวหน้า

    . เรื่องนี้พักไว้ก่อน อีกเรื่องหนึ่ง คือ เห็นรูป ๑๗ ขณะ แต่ระลึกภายหลัง ที่นักศึกษาถาม รูปที่ระลึกภายหลังต้องเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ใช่ไหม สมมติว่าเห็นรูปเมื่อวาน

    สุ. เป็นการทรงจำ

    . ทรงจำเป็นสัญญา ใช่ไหม

    สุ. แต่ไม่ใช่ในขณะที่เป็นมโนทวารวิถีวาระที่สืบต่อจากปัญจทวารวิถี

    . เป็นสัญญา แต่สัญญาพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ให้พิจารณา ให้เห็นเป็นเหมือนพยับแดด ที่คิดว่ามีอยู่จริง เปลวไอน้ำ เมื่อเข้าไปดูก็ไม่มีอยู่จริง คือ จริงๆ แล้วไม่มีอะไร แต่เราคิดว่าเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ใจรับรู้และถือว่ามี ใช่ไหม

    สุ. เวลานี้เห็นอะไร

    . เห็นพระพุทธรูป และคิดว่ามีอยู่

    สุ. เป็นพยับแดดหรือเปล่า

    . เป็นพยับแดด คือ หมายความว่าเป็นของว่างเปล่า

    สุ. เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ความหมายของเป็นพยับแดด คือ ไม่มีวัตถุหรือบุคคลในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    . อย่างนี้ใช่ไหมที่ว่า สัตว์บุคคลไม่มีในขันธ์ ๕

    สุ. มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ยาก ใช่ไหม สภาพธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะให้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าระลึกว่ามีสิ่งที่จะศึกษาเพียง ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น พระธรรมใดที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แม้เพียง ชั่วขณะเดียว อีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าก็คงจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ

    สำหรับปัจจยปริคคหญาณ ต้องมีเหตุให้เกิด ซึ่งได้แก่การฟังพระธรรมทั้ง ก่อนที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ก่อนที่ปัจจยปริคคหญาณจะเกิด และแม้หลังจาก ที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ก็ยังต้องฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมเพื่อจะได้ไตร่ตรองพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของปัจจัยในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิด

    ถ้าศึกษาเรื่องของเหตุปัจจัย คือ โลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ จะเป็นประโยชน์เพราะวันหนึ่งๆ โลภะมีมาก และเวลาที่โลภะเกิด เป็นเหตุให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ตาม ในขณะนั้นจะสามารถรู้ว่า รูปนั้นเกิดเพราะจิตที่เป็นโลภะ เพียงแต่ว่าในขณะที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ สัตว์ บุคคล ตัวตน และโลกนี้ไม่ปรากฏ ไม่มีเลย มีแต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เท่านั้นที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564