แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718


    ครั้งที่ ๑๗๑๘


    สาระสำคัญ

    ปัญญาเป็นธรรมที่รู้แจ้งนิพพาน (อย่าเพิ่งปฏิบัติโดยไม่รู้)

    อถ.ม.ม. มหาสกุลุทายิสูตร - อุปมาความรู้ชัดในวิปัสสนาญาณ


    ที่กองสื่อสาร กองบิน ๒ ทหารอากาศ จังหวัดลพบุรี

    วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๐


    ถ. การปฏิบัติธรรมเพราะอยากได้มรรคผลนิพพานถือว่าเป็นกิเลสหรือไม่

    สุ. สมัยนี้รู้สึกว่าจะเป็นสมัยนิยมของการปฏิบัติธรรม เพราะไม่ว่าจะไป ที่ไหน ก็มีการชักชวนให้ปฏิบัติธรรม แต่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่ว่า ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย และจะปฏิบัติธรรมได้

    ตามความเป็นจริง ขณะนี้ทุกท่านก็กำลังปฏิบัติธรรมขั้นฟังและศึกษาพระธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในเหตุในผล และถ้าจะถึงขั้นสูงกว่านี้อีก คือ ปฏิบัติธรรม ที่ชักชวนกันว่าเพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ต้องศึกษาให้เข้าใจว่า ปัญญาเป็นธรรมที่รู้แจ้งนิพพาน อวิชชาคือความไม่รู้ไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ เพราะนิพพานเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และเป็นธรรมอย่างเดียวที่ ดับกิเลสได้ ธรรมอื่นทั้งหมดไม่สามารถดับกิเลสได้เลย

    รูปที่ปรากฏทางตาในขณะที่เห็น ดับกิเลสไม่ได้ เสียงที่กำลังได้ยินก็ดับกิเลสไม่ได้ กลิ่น รส สัมผัสทั้งหมดดับกิเลสไม่ได้ แต่นิพพานเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อนิพพานเป็นธาตุที่ไม่เกิด จึงไม่มีโลภะความยินดีไปติดข้อง ไปพอใจในธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

    การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย เพียงแต่ถูกชักชวน ให้ปฏิบัติ ก็ปฏิบัติ และพลอยเข้าใจไปว่า ได้รู้แจ้งนิพพาน ซึ่งความจริงในขณะนั้น ยังไม่รู้แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติธรรมโดยไม่ใช่ปัญญา ขณะนั้นต้องเป็นกิเลสแน่ เพราะว่าอวิชชาทำให้ปฏิบัติข้อปฏิบัติ ที่เป็นมิจฉามรรค

    ในพระไตรปิฎกมีทั้งสัมมามรรค หนทางที่ถูก และมิจฉามรรค หนทางที่ผิด มีทั้งสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ถูก และมิจฉาสมาธิ คือ สมาธิที่ผิด เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งปฏิบัติโดยไม่รู้ เพราะถ้าขณะนั้นไม่มีปัญญาต้องเป็นมิจฉาสมาธิ และต้องเป็นมิจฉามรรคด้วย

    ถ. การกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลเป็นภาษาไทยกับภาษาบาลี มีผลต่างกันอย่างไร

    สุ. ไม่ทราบว่าเวลากรวดน้ำเป็นภาษาบาลีเข้าใจหรือเปล่า หรือได้รับ คำบอกเล่าว่า ให้พูดอย่างนี้ๆ แต่ไม่รู้เลยว่าหมายความว่าอะไร แต่ในขณะที่มีเจตนาตั้งใจจะอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำในภาษาไทยสำหรับคนไทย และสำหรับ ชาวต่างประเทศอย่างคุณอัลลัน อาจจะใช้ภาษาอังกฤษก็ได้ ขณะนั้นเป็นเจตนาที่จะ อุทิศส่วนกุศล ไม่ใช่เป็นเพียงการกล่าวคำที่ไม่เข้าใจความหมาย

    สำหรับดิฉันเอง กรวดน้ำภาษาบาลีไม่เป็น ต้องใช้คำว่า ไม่เป็น เพราะว่า ดิฉันไม่ได้เรียนภาษาบาลี ไม่มีความรู้ภาษาบาลี และคำสวดมนต์ที่สวดเป็น ภาษาบาลี ก็สวดตามความหมายที่เข้าใจ ไม่ใช่คำที่ไม่เข้าใจ และคำกรวดน้ำ ภาษาบาลีถึงแม้จะมีใครบอกสัก ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ก็ยังไม่ได้กรวดน้ำเป็นภาษาบาลี เพราะภาษาไทยก็ใช้ได้ ในเมื่อประกอบด้วยเจตนา ความตั้งใจ

    สำหรับดิฉันเองคิดว่า คนไทยเข้าใจภาษาไทย และมีเจตนาที่จะอุทิศส่วนกุศลให้เป็นภาษาไทย ซึ่งคงดีกว่าใช้ภาษาบาลีที่ไม่เข้าใจ ทั้งผู้ที่รับด้วย และผู้ที่กล่าวด้วย

    ไม่ทราบว่าผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้จะเข้าใจภาษาบาลีที่กล่าวหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นโมฆะ หรืออาจจะเข้าใจเจตนาเป็นภาษาไทย โดยที่ไม่รู้ว่าภาษาบาลีนั้นจริงๆ หมายความว่าอะไร แต่เข้าใจในเจตนาของผู้อุทิศให้ก็เป็นได้

    ก่อนอื่นต้องขออภัยท่านผู้ฟังเทปบันทึกการตอบปัญหาธรรมทางวิทยุ ซึ่งตอนท้ายๆ ของการตอบปัญหานั้น เป็นการตอบปัญหาที่หอประชุมกองบินที่ ๒ โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ ๙ กันยายน แต่เนื่องจากมีเหตุขัดข้องทำให้เสียงตอบปัญหาของคุณอัลลัน ไดร์เวอร์ไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องตัดคำตอบของ คุณอัลลันออกเกือบหมด ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง โอกาสต่อไปหวังว่า คงไม่มีอุปสรรคขัดข้องในการบันทึกเสียงเช่นในครั้งนี้อีก

    ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๐

    ถ. ภังคานุปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นความดับ เรียนถามว่า ความดับนั้นเห็นได้หรือ

    สุ. เห็นได้ทั้งความเกิดขึ้นและดับไป เมื่อได้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นอุทยัพพยญาณแล้ว ยังไม่ละคลายกิเลส เพราะว่าสิ่งใดที่ดับไปก็มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็ดับไป และก็ยังมีสิ่งอื่นที่เกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่สามารถที่ปัญญาขั้นนั้นจะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะถึงภังคญาณ ปัญญาต้องรู้ว่าการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน จะต้องน้อมไปพิจารณาลักษณะที่ดับ เพราะถ้าไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ดับ การละคลายจะมีไม่ได้ จะไม่ถึงปหานปริญญา ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้น

    ถ. ถูกต้อง แต่ผมสงสัยว่า ความดับเห็นได้อย่างไร เพราะความดับเป็น สิ่งที่ไม่มีแล้ว

    สุ. มิได้ สภาพธรรมเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นปัญญาน้อมไปพิจารณาอาการไหน ถ้าเป็นภังคญาณ ก็พิจารณาอาการดับของสิ่งที่เกิด จึงชื่อว่า ภังคญาณ

    ถ. คือ อาการที่ดับแล้ว

    สุ. ไม่ใช่ดับแล้ว มีสิ่งที่เกิด และสิ่งนั้นต้องดับ การประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปยังไม่ใช่ภังคญาณ แต่เป็นอุทยัพพยญาณ และผู้ที่ถึงอุทยัพพยญาณก็รู้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอยู่ แม้ว่าจะประจักษ์สิ่งที่มีแล้วก็หมดไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น หนทางที่จะทำให้ละคลายได้ ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นต้องมนสิการถึงอาการดับ หรือลักษณะดับ เพื่อละคลายความพอใจที่ยึดถือสภาพธรรมนั้น

    ถ. ความดับ อาการดับ จะเห็นได้หรือ เพราะสิ่งที่เห็นต้องเป็นสิ่งที่ มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริง คือ ปรมัตถธรรม เราจะเห็นสิ่งที่มีอยู่จริง ต้องเห็นขณะที่เกิดและตั้งอยู่ เราจึงรู้ว่ามีอยู่จริงๆ คือ ขณะเกิดอยู่ ตั้งอยู่ จึงเห็นได้จริงๆ แต่บอกว่าดับไปแล้ว ความดับเป็นชื่อ จะเห็นอะไร เห็นได้หรือ ผมจึงสงสัยว่า ภังคญาณ เห็นความดับ เห็นได้อย่างไร ความดับ ความไม่มี แต่เราบอกว่า เห็นความดับ คล้ายๆ กับว่าความดับมีอยู่ เราจึงเห็น

    สุ. มิได้ ถ้าพิจารณาพระธรรมที่ได้ฟังโดยละเอียด เมื่อบอกว่า น้อมพิจารณา ใส่ใจในอาการดับ ต้องหมายความว่า มีสิ่งที่เกิด ใช่ไหม เพราะถ้า ไม่มี อะไรจะดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องมี และสิ่งนั้นดับ

    ถ. เกิดแล้วดับ ไม่สงสัย แต่สงสัยว่า ความดับนั้น เราเห็นความดับหรือ

    สุ. มิได้ สิ่งนั้นเกิดแล้วดับ ต้องมีสิ่งที่มี และสิ่งนั้นจึงดับ ไม่ใช่ว่าลอยๆ ขึ้นมาเป็นอาการดับ เพราะฉะนั้น ญาณนี้ ภังคญาณ จึงสืบเนื่องจากอุทยัพพยญาณ ซึ่งประจักษ์ทั้งการเกิดขึ้นและดับไป และก็เกิดขึ้นและดับไป แต่สำหรับภังคญาณ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดดับ แต่ความใส่ใจนั้นน้อมไปใส่ใจที่อาการดับของสิ่งที่มี ถ้าไม่มี จะไม่มีอะไรดับ ต้องมีสิ่งนั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจในการเกิด ใส่ใจในอาการที่ดับ จึงจะ ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นลง เริ่มเป็นปหานปริญญา

    ถ. สงสัยตรงเห็นว่า เห็นไม่ได้หรอก แต่ว่ารู้ได้ ทำไมรู้ได้ ก็พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้องตามอาการที่เกิด อย่างที่อาจารย์อธิบายว่า ถ้าไม่มีเกิด ก็ไม่มีอาการดับ ผมเลยเปลี่ยนคำว่า ดับเราเห็นไม่ได้ แต่รู้ได้ คำว่ารู้นี้ตรงกับคำว่าญาณ ภังคาวิปัสสนาญาณ ญาณนี้ชื่อว่ารู้ความดับ ไม่ใช่เห็นความดับ รู้ความดับ คือ เห็นอาการดับอันเนื่องมาจากอุทยัพพยญาณ ใช่ไหม

    สุ. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มหาสกุลุทายิสูตร อุปมาความรู้ชัดในวิปัสสนาญาณว่า

    ผู้ได้วิปัสสนาดุจบุคคลผู้มีจักษุ กาลที่รู้แจ้งกายอันมีมหาภูตรูป ๔ ของ ผู้เจริญวิปัสสนา ดุจกาลที่รู้แจ้งแก้วมณีของผู้วางแก้วมณีไว้ในมือแล้วพิจารณาดูว่า นี้แลแก้วมณีฉะนั้น

    ท่านที่เคยดูเพชรพลอย คงจะดูได้ชัดเจน โดยหยิบมาดูใกล้ๆ อย่างละเอียด ฉันใด เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด กาลที่รู้แจ้งกายอันมีมหาภูตรูป ๔ เวลานี้ทุกคนมีมหาภูตรูป ๔ ที่กาย แต่ไม่ค่อยจะระลึกรู้ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบเลย และเวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็คิดว่า กำลังสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ว่าในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น กาลที่รู้แจ้งกายอันมีมหาภูตรูป ๔ ของผู้เจริญวิปัสสนา ดุจกาลที่รู้แจ้งแก้วมณีของผู้วางแก้วมณีไว้ในมือ เห็นชัดอย่างนั้นทีเดียว แล้วพิจารณาดูว่า นี้แลแก้วมณีฉะนั้น

    กาลที่รู้แจ้งอารมณ์ มีผัสสะเป็นที่ ๕ ก็ดี (คือ ฝ่ายนามธรรม) จิตเจตสิก ทั้งปวงก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี ของภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ดุจกาลที่รู้แจ้งด้ายว่า ด้ายนี้ร้อยอยู่ในแก้วมณีนั้นฉะนั้น

    ถ้าปัญญาไม่คมกล้าจะเห็นชัดได้จริงๆ ไหมว่า ในแก้วมณีนั้นมีด้ายอะไร ร้อยอยู่ แต่สำหรับกาลที่เป็นวิปัสสนาญาณ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งอย่างนั้นได้

    ถ. เพราะฉะนั้น การดับก็ต้องเห็นการเกิดขึ้นก่อน

    สุ. มีสภาพธรรมที่ต้องเกิดดับแน่นอน จะไม่มีแต่เฉพาะสภาพธรรมที่ดับไป เป็นไปไม่ได้

    ถ. เพราะฉะนั้น ญาณนี้ ที่ว่าเห็นความดับ ก็คงจะเป็นเรื่องของพยัญชนะ และเป็นเรื่องของการอธิบาย

    สุ. แล้วแต่การที่จะน้อมไปพิจารณาเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เพราะว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก และมีสิ่งอื่นเกิดขึ้นมาแทน ทั้งๆ ที่ประจักษ์ว่าสิ่งเมื่อกี้ที่เกิดปรากฏไม่เที่ยงเลย หมดแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น ก็สบายๆ ใช่ไหม ยังไม่เดือดร้อน ยังไม่เห็นว่าเป็นภัย เพราะว่า สภาพธรรมก่อนดับไปก็จริง แต่ก็มีสภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นมาแทน เหมือนขณะเมื่อกี้กับขณะเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีใครเดือดร้อน

    ถ. จึงเปลี่ยนคำว่า เห็นความดับ เป็นรู้ความดับ รู้อย่างไร รู้เพราะว่า เห็นความสิ้นไป เมื่อเห็นความสิ้นไป จึงรู้ถึงความดับ

    สุ. มนสิการถึงลักษณะที่ดับเท่านั้น ไม่สนใจเรื่องการเกิดอีกแล้ว เพราะ รู้ว่าอย่างไรๆ ก็ห้ามการเกิดไม่ได้ เมื่อทุกสิ่งมีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด แต่ทำอย่างไร จึงจะละคลาย วิธีที่จะละคลาย คือ น้อมไปมนสิการอาการที่ดับไป เพื่อที่จะได้เห็นความไม่มีสาระจริงๆ

    ถ. ถ้าภังคานุปัสสนาญาณเกิด จิตขณะเดียวที่เป็นภังคานุปัสสนาญาณเกิด หลังจากนั้นทำให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และยังมีเวลารำพึงรำพันถึงว่า เบื่อหน่ายแล้ว คลายราคะ คลายความยึดมั่น สละคืน เป็นช่วงเวลาต่อจากนั้นที่เรารำพึงถึง หรือว่าเป็นขณะจิตเดียว หรือต้องต่อจาก ภังคานุปัสสนาญาณ จิตดวงต่อมาพิจารณารำพึงเห็นอย่างนั้น ต้องมีเวลาอีกช่วงหนึ่งใช่ไหม

    สุ. หลังจากที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นดับไปแล้ว ปริญญา คือ การน้อมพิจารณาเพื่อรู้ตามปัญญาที่วิปัสสนาญาณได้รู้แล้ว จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้นด้วย มิฉะนั้นแล้วจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่อไปไม่ได้

    ถ. ไม่ใช่ ผมถามว่า ญาณนั้นเกิดแล้ว เรามีจิตขณะอื่นที่ไม่อยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน คือ มีการรำพึงถึงว่า เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย ต้องคลายกำหนัด ความรู้สึกหลายดวงต่อๆ มา เป็นช่วงที่ไม่เป็นปัจจุบันใช่ไหม ช่วงที่รำพึงรำพันถึงนามรูป ที่เราเห็น หรือเป็นในขณะตามที่อธิบายอยู่ในชีทว่า อยู่ในภังคานุปัสสนาญาณจิตนั้น ใช่ไหม

    สุ. ภังคานุปัสสนาญาณละสัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเที่ยง เป็น ตทังคปหาน ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏความดับไปๆ ในขณะนั้นก็ เหลือจะพอแล้ว ใช่ไหม แต่ว่าเพียงตทังคปหาน เพราะยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเพราะฉะนั้น เมื่อวิปัสสนาญาณนั้นดับไปแล้ว ก็ต้องมนสิการ น้อมพิจารณา สภาพธรรมต่อไปอีก แต่เปลี่ยนเป็นมนสิการถึงความดับไปเพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นโทษ เป็นภยญาณ

    ถ. ปัญญาที่เกิดในจักขุทวารวิถีมีอะไรเป็นอารมณ์

    สุ. ถ้าเป็นทางตา ต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์

    ถ. ไม่สามารถมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ได้

    สุ. แน่นอน

    ถ. เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดในจักขุทวารวิถีทั้งหมด ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนถึงตทาลัมพนจิต ต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์เท่านั้น ถ้าดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีเกิดรับอารมณ์นั้นต่อ ต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์เท่านั้นใช่ไหม

    สุ. วาระแรกต้องเป็นอย่างนั้น

    ถ. ถ้าวาระแรกเป็นอย่างนั้น วาระต่อไปจึงสามารถรู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่ต่างกัน แต่ไม่สามารถรู้ได้ขณะที่มโนทวารวิถีต่อจากจักขุทวารวิถี ใช่ไหม

    สุ. หมายความถึงวิปัสสนาญาณหรือเปล่า

    ถ. ใช่

    สุ. ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่จะปราศจากปัญจทวาร เพราะการที่ รูปจะปรากฏแต่ละอย่างได้ต้องปรากฏตามทวารนั้นๆ เช่น รูปารมณ์ต้องกระทบกับจักขุปสาท และต้องมีมโนทวารวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์ ถ้าเป็นเสียงที่ปรากฏ ก็ต้องกระทบกับโสตปสาท และโสตทวารวิถีจิตต้องรู้สัททรูปคือเสียงนั้น และมโนทวารวิถีจิตที่ รับรู้ต่อที่เป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นเป็นมโนทวารซึ่งมีอารมณ์ที่รับรู้ต่อจาก ทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใด

    ถ. ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกที่ลักษณะของรูปธรรม เช่น รูปารมณ์ ปัญญา ก็รู้ชัดในรูปารมณ์ และมโนทวารวิถีที่ต่อวาระแรกก็รู้ชัดในรูปารมณ์ จนกระทั่งวิถี หลังๆ ที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ขณะนั้นยังไม่มีลักษณะของนามธรรมเป็นอารมณ์ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณจะไม่มีเราที่กำลังรู้ จึงเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นปรากฏโดยเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เราที่กำลัง รู้รูปารมณ์ หรือสัททารมณ์

    ถ. แสดงว่าสติปัฏฐานต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นธาตุรู้ ก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณได้ เพราะว่าวิปัสสนาญาณ เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้น ในปัญจทวารต้องระลึกลักษณะของรูปธรรมแล้ว และมโนทวารที่ต่อจากปัญจทวารต้องรู้รูปธรรมด้วย เพราะว่ารู้อย่างอื่นไม่ได้ จนวาระหลังๆ แสดงว่าวิปัสสนาญาณต้องเกิดวาระหลังจากนั้นไปอีก ใช่ไหม

    สุ. ก่อนที่วิปัสสนาญาณจะเกิด สติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ในขณะที่กำลังระลึกและเริ่มพิจารณาสังเกตลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ และศึกษาว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของรูปธรรมหรือ เป็นลักษณะของนามธรรม ขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ผู้ที่สติปัฏฐานกำลังระลึก เริ่มรู้ว่า กำลังศึกษา

    ต้องมีการศึกษา คือ ต้องมีการพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าระลึกเปล่าๆ เฉยๆ แต่ปัญญาไม่รู้อะไรเลย และอยู่ดีๆ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาโดยที่ไม่เคยรู้ว่า ต้องมีการศึกษาพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    11 ก.พ. 2566