แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744


    ครั้งที่ ๑๗๔๔


    สาระสำคัญ

    เรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - อิริยาบถ

    กายในกาย กายภายนอก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๐


    ถ. หมายความว่า เรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ก็เป็นแต่เพียงรูปที่เกิดขึ้น และให้เราเข้าใจว่า รูปที่เกิดนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา ใช่ไหม

    สุ. เข้าใจแล้ว แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกตรงลักษณะของรูปที่ปรากฏ

    ขณะนี้ก็มีรูป ขณะนี้รูปก็ปรากฏ ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็ระลึกลักษณะของรูป อย่าลืมคำว่า ลักษณะของรูป ไม่ใช่ไปนึกเอา แต่มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้ศึกษา ให้เข้าใจได้

    ลักษณะที่แข็งเป็นรูป ลักษณะที่เย็นเป็นรูป ลักษณะที่ไหวเป็นรูป ขณะที่กำลังพูด รูปอ่อนก็มี แข็งก็มี ขณะที่กระทบสัมผัสริมฝีปากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย อ่อนก็มี แข็งก็มี นั่นคือลักษณะของรูปที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. อย่างยืนนี่ ก็เป็นรูปยืน

    สุ. รู้ได้ทางไหน ลักษณะของรูปรู้ได้ทางไหน

    ถ. รู้จากรูปร่างลักษณะที่เรากำหนดกันขึ้นว่า อย่างนี้ยืน อย่างนี้นั่ง เป็นรูป หรืออาจารย์ว่ามีอีกความหมายหนึ่ง

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือการระลึกได้ และทำอย่างอื่น ใช่ไหม แต่เมื่อได้ยินได้ฟังว่า ที่กายประกอบด้วยมหาภูตรูป มหาภูตรูปมี ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่มหาภูตรูปที่จะปรากฏให้รู้ได้มี ๓ ซึ่งเรียกว่า โผฏฐัพพะ และจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อกระทบกับกายปสาท ถ้ารูปนั้นไม่กระทบกับกายปสาท แม้มีก็ไม่รู้ ขณะนี้ที่ศีรษะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไหม

    ถ. มี

    สุ. รู้ได้ไหม

    ถ. มีลักษณะแข็งก็เป็นดิน

    สุ. กระทบอะไรที่แข็ง

    ถ. ถ้าเอาส่วนใดส่วนหนึ่งไปกระทบ ก็รู้สึกว่าแข็ง

    สุ. ถ้า ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้รู้ว่ามีศีรษะ จำได้ว่ามี แต่รูปแข็งที่ศีรษะปรากฏหรือเปล่า

    ถ. ไม่ปรากฏ

    สุ. ไม่ปรากฏ จะรู้ได้ไหม ทั้งๆ ที่เข้าใจว่ามี ทุกคนกำลังยึดถือว่ามีศีรษะอยู่ทุกคน เพราะฉะนั้น ก็ยังมีศีรษะของเราในความทรงจำ แต่การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องไม่มีอะไรเลยนอกจากรูปที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่ายังคงสภาพอยู่เป็นรูปศีรษะที่แข็ง แต่ความจริงลักษณะของรูปแข็งที่จะปรากฏ เมื่อกระทบกายปสาทดับทันที เร็วมาก ที่ใช้คำว่า ทันที เพราะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต ซึ่งเร็วกว่าระหว่างทางตาเห็นกับทางหูได้ยิน เพราะว่าจิตเห็นกับจิตได้ยิน เกิดห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น คิดดู รูปแข็งที่ปรากฏเมื่อกระทบจะเล็กน้อยรวดเร็วสักแค่ไหน ไม่ใช่ว่ามีศีรษะทั้งก้อนที่แข็ง ที่ยังจำไว้ได้ว่าเป็นศีรษะของเรา ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ ก็ยังเป็นตัวตน โลกยังไม่ได้กระจัดกระจาย ยังไม่ได้แตกย่อย ยังไม่หมดสิ้นไปเหลือแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่างอย่างรวดเร็วและสั้นๆ ด้วย จึงจะประจักษ์ว่าไม่มีเรา

    การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้อย่างนี้ หรือเพื่อจะไปรู้อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างอื่น ก็ยังเป็นเรานั่ง แต่ว่าเราไม่มี มีแต่ลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง

    ถ. ศีรษะที่ว่าเป็นรูป ถ้าไม่มีอะไรไปกระทบ ก็ไม่รู้สึกว่าตอนนั้นเป็นรูป

    สุ. ก็ไม่มี เกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก จำเอาไว้เท่านั้นเองว่ามีเรา มีรูปทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นี่คือก่อนที่สติจะระลึกลักษณะของรูป นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และทุกบรรพหมด เพราะก่อนที่สติจะระลึกยึดถือว่า เป็นเรา กำลังนั่งนี่ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น เมื่อยึดถืออย่างนี้ สติปัฏฐานจึงระลึกตรงลักษณะของรูปที่ปรากฏ และดับไปอย่างรวดเร็ว เพียงรูปเดียวที่ปรากฏ จะไม่ปรากฏพร้อมๆ กันเลย เพราะว่ารูปทุกรูปกำลังเกิดและก็ดับไป เกิดและก็ดับไป ทยอยกันเกิดทยอยกันดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีรูปไหนที่ยั่งยืน ที่จะให้ทรงจำไว้ว่าเป็นของเราได้เลย

    รูปศีรษะที่เข้าใจว่ามีเมื่อกี้ก็หมดไปแล้ว คือ เกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ทุกกลุ่ม ทุกกลาป

    ถ. หมายความว่า เราจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน อะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากยังไม่มีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวก็ไม่เกิดขึ้น

    สุ. นั้นทรงจำไว้ เป็นอัตตสัญญา เคยเห็นเราในกระจก เคยแตะศีรษะ เคยแตะเท้า มีแขน มีมือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ใช้ได้ตลอดเวลาก็คิดว่าเรายังมี หรือว่า รูปของเรายังมี ไม่ปรากฏการดับไปเลย เพราะสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของ รูปหนึ่งรูปใดที่เกิดแล้วดับแล้ว

    ถ. อย่างนั้นที่ว่า พิจารณารูปเดิน รูปยืน รูปนั่ง ก็ไม่สำคัญอะไร ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่สติปัฏฐาน การฟังเรื่องสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ต้องตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดง และพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน ทั้ง ๓ ปิฎกด้วย

    ถ. ตรงไหนจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ในเมื่อเรายืน เดิน นั่ง นอน ...

    สุ. สติปัฏฐานคืออะไร ไม่ใช่ถามว่าตรงไหนเป็นสติปัฏฐาน แต่ต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐานคืออะไร ขอประทานโทษ เคยปฏิบัติไหม

    ถ. ไม่เคย

    สุ. เคยฟังเรื่องการปฏิบัติหรือยัง

    ถ. เคยฟัง

    สุ. เข้าใจว่าอย่างไร สติปัฏฐานคืออะไร

    ถ. คือ การตั้งสติพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง

    สุ. ตั้งสติได้หรือ ถ้าตั้งได้ก็ตั้งเสีย ถ้าอย่างนั้นสติก็ไม่ใช่อนัตตา ไปเอาสติที่ไหนมาตั้ง และใครตั้งสติ ถ้าสติไม่เกิดจะมีสติไหม

    ถ. ก็ไม่มี

    สุ. ขณะนั้นหลงลืมสติ ถ้าสติเกิดขณะนั้นสติทำหน้าที่ของสติ ไม่มีใคร ไปตั้งสติ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วบอกว่า ตั้งสติ ถูกหรือผิด

    ถ. ไม่ถูก

    สุ. ตั้งไม่ได้

    ถ. หมายความว่าเมื่ออะไรเกิดขึ้น สติเราเกิดขึ้นรู้สภาพอันนั้น จึงจะเรียกว่าสติเกิด ใช่ไหม

    สุ. เมื่อสติเกิด สติทำหน้าที่ของสติ สติมีหลายขั้น สติเกิดกับโสภณจิต ทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทานก็มีสติเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตเกิดไม่ได้เลย ขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ขณะที่จิตสงบจากอกุศลมีเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย

    มีสติหลายขั้น แต่สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือความต่างกันของสติขั้นอื่นๆ

    ถ. การที่จะพิจารณากายคตาสติ โดยเฉพาะในเรื่องอิริยาปถบรรพ จะทำอย่างไร คิดอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่จะทำอย่างไร และไม่ใช่จะคิดอย่างไร แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สติปัฏฐานคืออะไร เมื่อเข้าใจว่า สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม ฉะนั้น ต้องมีลักษณะของรูปธรรมที่กาย ปรากฏให้รู้ จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ถ. หมายความว่า รูปหรือนามที่ทำให้กายเกิดความรู้สึกเกิดขึ้น จึงจะ ถือว่านั่นเป็นสติ ใช่ไหม

    สุ. เวลานี้มีกาย หลงลืมสติ คือ ขณะนั้นไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของรูป ที่กาย ไม่ได้ระลึกลักษณะของนามธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำลังปรากฏ นั่นคือหลงลืมสติ

    ถ. ถ้ามีสติ หมายความว่า ผมยืน เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบร่างกาย และเกิดรูปขึ้นมา มีความรู้สึก สติรู้เท่าทันว่านั่นเกิดเป็นรูป อย่างนี้จึงจะเป็น สติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. ขณะนี้มีกายแล้ว และมีรูปประชุมรวมกันเป็นกาย ไม่ได้มีรูปเพียง รูปเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่ที่กายประกอบด้วยรูปมากมาย และกำลังทยอยกันเกิด ทยอยกันดับในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คือ ขณะไหน

    ถ. บอกไม่ถูก คือ รูปเกิดอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่ประจักษ์ ผมก็อธิบายไม่ได้ว่า …

    สุ. ยังไม่ต้องประจักษ์ เพียงแต่ว่าสติปัฏฐานระลึกที่กายขณะไหน เวลานี้ มีกาย กำลังยืน นี่สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหม

    ถ. รู้ว่ากำลังยืนเท่านั้นเอง

    สุ. ที่รู้ว่ากำลังยืน สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหม

    ถ. คงไม่เกิด ยังไม่แน่ใจ

    สุ. อย่างนั้นก็ยังไม่ได้เจริญอะไร เพราะว่ายังไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะเจริญหรือทำอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานต้องเกิดจากความเข้าใจข้อปฏิบัติ เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานระลึกเพื่อที่จะศึกษาให้รู้ตามความเป็นจริงตามที่ได้เข้าใจ ขณะนี้เข้าใจว่ามีรูปทยอยกัน เกิดดับหรือเปล่า

    ถ. เข้าใจโดยปริยัติ

    สุ. ขณะที่ยืน และรู้ว่ายืน ขณะนี้สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. ยังไม่เกิด แน่ใจนะ

    ถ. ตามสติปัญญาของผมเวลานี้แน่ใจ

    สุ. เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกที่กาย ระลึกรู้อะไร อย่าเพิ่งไปปฏิบัติ ขอให้ฟังให้เข้าใจจริงๆ และไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ เพราะเมื่อเข้าใจแล้วจึงจะมีปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่มีปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

    เพราะฉะนั้น ขอเรียนถามว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้อะไรที่กาย

    ถ. ที่กาย ก็คงจะเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    สุ. ที่ปรากฏ เท่านั้น ไม่ใช่ที่คิดนึกเอาเองว่ามี

    ถ. อย่างเวลานี้ผมยืน รู้สึกเท้าหนัก เจ็บ อย่างนี้ก็เป็นรูปเจ็บเกิดขึ้น ใช่ไหม

    สุ. ถ้าระลึกรู้ลักษณะนั้น ไม่ต้องใช้ชื่อก็มีจริงๆ ใช่ไหม สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อก็มีจริงๆ ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. ระลึกตรงลักษณะนั้น

    ถ. ว่าแข็ง ใช่ไหม

    สุ. ต้องพูดไหม

    ถ. ไม่ต้องพูดก็รู้

    สุ. ไม่ต้องพูด ขณะนั้นที่แข็ง ต้องมีสภาพที่รู้แข็งด้วย แข็งจึงปรากฏ ว่าแข็งตรงนั้น

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของแข็ง หรือจะระลึกลักษณะของสภาพรู้แข็งก็ได้ เพราะก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดเป็นเรา แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็คือสภาพธรรมตามปกติที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั่นเอง แต่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของรูป ซึ่งมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ หรือระลึกลักษณะของนามที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งมีจริงๆ เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง จึงไม่มีเรา เพราะว่ารู้ก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และแข็งก็เป็นรูปธรรม เพราะไม่ใช่สภาพรู้

    ถ. นี่ก็พอเข้าใจ อีกอย่างหนึ่งที่ว่า กายในกาย กายนอกกาย เป็นอย่างไร

    สุ. มีกายของตัวเอง และมีกายของคนอื่นหรือเปล่า

    ถ. ก็ถ้ามีกายของคนอื่น เราจะไปรู้ถึงความรู้สึกของเขาได้อย่างไร

    สุ. ยังไม่พูดถึงเรื่องรู้สึก เพียงแต่ว่ามีกายของเราที่กำลังยึดถือ และ กายของคนอื่นก็มี เคยกระทบสัมผัสกายของคนอื่นไหม

    ถ. เคย

    สุ. เคย ซึ่งที่จริงแล้วก็คือรูป ถ้าสติปัฏฐานเกิด แต่ก่อนที่จะเป็นสติปัฏฐานก็เป็นคนอื่น เป็นกายของคนอื่น ยังยึดถือว่าเป็นกาย และยังยึดถือด้วยว่าเป็นกายของคนอื่น นี่คือก่อนสติปัฏฐานเกิด แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด อย่าว่าแต่คนอื่นเลย เรามีไหม เมื่อเราไม่มี ตัวตนไม่มี ก็มีแต่สภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ที่เคยคิดเรื่องคนอื่น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ เป็นรูปธรรมที่กระทบสัมผัสเท่านั้นและดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราหรือเขา รูปของใครก็ตาม เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงจะไม่มีทั้งเราและคนอื่นได้ แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้ เพราะเคยยึดถือว่ามีคนอื่น และมีกายของคนอื่น สติปัฏฐานจึงระลึกเพื่อรู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น นอกจากนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดและดับไป ไม่ได้เป็นของใครเลย

    ถ. ถ้าเช่นนั้นจะตรงกับความหมายในหนังสือไหมที่ว่า พิจารณากาย ในกายของตัวเองบ้าง กายภายนอกบ้างอย่างนี้

    สุ. เวลาที่กระทบสัมผัสกายคนอื่นก็มี จะให้หลงลืมสติ หรือจะให้สติเกิด

    ถ. การกระทบนี่ ไม่จำเป็นต้องเป็นกายของใคร จะเป็นกายของผู้อื่นก็ได้ อาจจะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้

    สุ. แต่เมื่อกี้ไม่ได้ถามอย่างนี้ ถามเรื่องกายคนอื่น เมื่อถามเรื่องกายคนอื่น ก็ต้องพิจารณาเรื่องที่เคยยึดถือว่าเป็นกายคนอื่น ซึ่งแท้ที่จริงก็เป็นรูปธรรมที่ปรากฏ เมื่อกระทบกับกายปสาท และรูปนั้นก็ดับด้วย เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นของใคร เพราะว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. พอเข้าใจแล้ว ที่ผมถามนี่ไปโยงกับเรื่องเวทนาของตัวเองกับเวทนาของคนอื่น เราจะไปรู้เวทนาของผู้อื่นได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ผมถาม

    สุ. ก่อนเจริญสติปัฏฐาน เคยคิดถึงใจเขาใจเรา อกเขาอกเราบ้างหรือเปล่า หรือมีแต่ใจเราคนเดียว มีแต่ความรู้สึกของเราคนเดียว ความรู้สึกของคนอื่นไม่มี เป็นก้อนอิฐ เป็นหิน เป็นไม้

    ถ. ถึงจะคิดอย่างไร ความรู้สึกก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง ความรู้สึกที่เกิดกับเขา เราไม่รู้ว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร

    สุ. ก่อนสติปัฏฐานเกิด มีคนอื่นไหม

    ถ. มี

    สุ. มีใจคนอื่นไหม

    ถ. มี

    สุ. มีความรู้สึกคนอื่นไหม

    ถ. มี

    สุ. เพราะฉะนั้น เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็จะได้รู้ว่า ไม่มีทั้งนั้น ไม่มีคนอื่นเลย มีแต่ลักษณะของความรู้สึกของตนเองที่กำลังคิดเรื่องของคนอื่น ถ้ายังไม่สามารถแยกความคิดออกจากปรมัตถธรรม เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    ถ. หมายความว่า ที่เราถือว่าเป็นเวทนาของผู้อื่นนั้น ความจริงไม่ใช่อะไรของใครทั้งนั้น เป็นแต่ธรรมที่เกิดขึ้น

    สุ. เป็นเรื่อง เป็นความคิดเรื่องความรู้สึกของคนอื่น สำหรับผู้ที่ไม่มี เจโตปริยญาณ

    ถ. ขอให้อธิบายคำว่า ไหว ตึง เป็นอย่างไร

    สุ. ไม่เคยรู้สึกเลยหรือ

    ถ. บอกไม่ถูกว่า ตอนไหนไหว หรือตึง เวลาที่เราปวดเมื่อย ตึง ใช่ไหม

    สุ. ก็ถูกแล้ว เวลานั้นถ้าสติปัฏฐานเกิดก็ระลึกตรงลักษณะที่กำลังตึง กำลังไหว ไม่ใช่ให้ไปทำ ส่วนมากท่านผู้ฟังที่จะไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เพราะคิดว่า เมื่ออ่านเรื่องสติปัฏฐานแล้ว สติที่เกิดระลึกต้องไปทำอย่างอื่น คิดว่าต้องไปทำอะไรๆ ขึ้น ความจริงสติปัฏฐานไม่ใช่ระลึกแล้วทำอย่างอื่น แต่สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง เคยตึงแน่ๆ

    . ปวดเมื่อยแน่นอน

    สุ. สติระลึกขณะใด ขณะนั้นก็รู้ลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ถ. และไหวล่ะ

    สุ. เคยไหวไหม

    ถ. ไหว หมายถึงการโคลงตัวไปมา แกว่งแขน แกว่งอวัยวะอย่างนั้นหรือ

    สุ. นั่นนึกไหว ลักษณะของธาตุลมจริงๆ อาจจะยังไม่ละเอียดพอ แต่จะพิจารณาอย่างหยาบๆ ไปก่อนก็ได้ กระพริบตาเมื่อกี้ไหวหรือเปล่า

    ถ. ไหว

    สุ. สติปัฏฐานเกิด ระลึกได้ ที่จริงแล้วขณะนั้นธาตุลมเป็นประธาน แต่ ไม่ต้องใช้ชื่อเสียงเรียงนามอะไรทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องอยากรู้ลักษณะของธาตุลม ในขณะที่กำลังกระพริบตา หรืออะไรก็ตามแต่ แต่สิ่งใดก็ตามที่สติเกิดระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้เล็กน้อย ขณะนั้นเป็นของจริง แต่ปัญญาในขั้นต้น ยังไม่สามารถรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกขาดจากรูปธรรมได้ สติจะต้องเกิดอีก บ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งใช้คำว่า อนุปัสสนา คือ สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ นี่เป็นความจริง เพราะว่าสภาพธรรมทุกอย่างดับเร็ว ทันทีที่สติระลึก สิ่งนั้นก็ดับแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยทำให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏอีก อย่างแข็งก็มีปัจจัยให้ปรากฏอยู่ยังไม่ประจักษ์การดับไป ต่อเมื่อใดปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับ ไม่มีอะไรจะปิดกั้นการประจักษ์แจ้งของปัญญาได้เลย แต่ต้องเกิดจากการที่สติเริ่มระลึกก่อน โดยไม่เลือก โดยไม่เจาะจงว่า จะรู้ลักษณะของรูปใด หรือนามใด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๕ ตอนที่ ๑๗๔๑ – ๑๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564