แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700


    ครั้งที่ ๑๗๐๐


    สาระสำคัญ

    ขุ. ขุ.อรรถกถามังคลสูตร - ย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้

    จดหมายจากพุทธสาวก ปฏิบัติ คืออะไร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๐


    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอยู่กันต่อไปอีก ทีละวันๆ เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นสุดชาติหนึ่ง และต่ออีกชาติหนึ่งๆ ก็ควรจะเป็นผู้ที่รู้จักชีวิตของตนเองตามปกติว่า ยังเป็นผู้อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยาก ได้รส อยากได้โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วย

    นี่เป็นสิ่งซึ่งควรจะพิจารณา ไม่ใช่ว่ากิเลสดับไปหมดแล้ว กิเลสยังมี และ ยังอยากได้ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นผู้ที่กำลังอบรม เจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เพื่อจะได้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ กุศลเจริญขึ้นตามขั้นของปัญญาที่ได้ฟัง

    เป็นอนัตตาจริงๆ บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าฟังยังน้อยอยู่ และยังเข้าใจไม่มาก การที่จะให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ยังเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องอาศัยการอบรม ซึ่งในขณะนี้ที่กำลังฟัง อยู่อย่างนี้ ก็กำลังเป็นขณะที่อบรมเจริญปัญญา ที่จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองตามความเป็นจริง เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถละกิเลสของแต่ละคนได้ นอกจากทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง และละคลายอกุศล

    ไม่ทราบมีท่านผู้ใดเห็นความละเอียดลึกล้ำของอกุศลบ้างไหม เพราะว่าอกุศล มีหลายระดับ อย่างผู้ที่ยังมีความสำคัญตน ซึ่งทุกคนถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจะต้องรู้สึกว่ายังมีอยู่แน่ๆ เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้ เพราะผู้ที่ไม่มีคือพระอรหันต์ และความสำคัญตนจะมีอย่างละเอียดจนกระทั่งถึงขั้นที่ต้องการให้กุศลเกิด หรือทำกุศลต่างๆ เพื่อความสำคัญของตนว่าเป็นคนดี

    นี่คือความล้ำลึกของอกุศล ถ้าปัญญาไม่รู้ทันอกุศลนั้นๆ ก็ไม่สามารถละคลาย แม้แต่ขณะที่ทำกุศลก็ต้องพิจารณาว่าทำเพื่ออะไร เพราะว่าบางคนยังมีความ สำคัญตนอยู่มาก เพราะฉะนั้น ทำกุศลก็เพื่อความสำคัญตนว่าเป็นคนดี

    วิธีที่จะพิสูจน์ว่าอกุศลละคลายลงไปบ้างไหม และได้เข้าใจประโยชน์ของกุศล เห็นโทษของอกุศลบ้างไหม ในวันหนึ่งๆ ก็มีบทพิสูจน์หลายบท เช่น ถ้าเป็นคนที่ ไม่สำคัญเลยในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขณะนั้นจะสบายใจไหม

    ถ้าเป็นคนที่ไม่สำคัญเลย ที่จริงแล้วสบายมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสำคัญตนที่สะสมมามาก จะเป็นผู้ที่เดือดร้อน กระสับกระส่าย ไม่สบายใจเลย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วิถีชีวิตของแต่ละคนที่ได้ฟังพระธรรม มีการสะสมอบรมเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดและอบรมจนกระทั่งถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสบ้างไหม เพราะว่าเป็นผู้ที่เริ่มเห็นความละเอียดของกิเลสขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ

    หรือท่านเป็นผู้ที่รู้สึกว่าไม่มีศัตรู จริงไหม นี่คือเครื่องวัดกิเลส รู้สึกว่า เป็นผู้ไม่มีศัตรู หรือว่ายังเป็นผู้ที่มีศัตรูอยู่ ขณะใดที่เป็นผู้ไม่มีศัตรู ขณะนั้นท่านไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ขณะนั้นมีจิตใจเกษม ปลอดโปร่ง ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อรรถกถามังคลสูตร แสดงว่า

    ย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้

    คือ ไม่มีศัตรูของท่านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะทำให้ท่านพ่ายแพ้ได้ เพราะ ท่านไม่เป็นศัตรูกับใคร เนื่องจากในขณะนั้นท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจปลอดโปร่ง ไม่ได้คิด ที่จะเป็นศัตรูกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย

    วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ถึงความต่างกันของขณะที่อวิชชาเกิดกับขณะที่ปัญญาเกิด ถ้าเป็นอวิชชา เป็นสภาพที่มืด ทำให้ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล และ ไม่เห็นหนทางที่ถูกที่ชอบที่ควรจะกระทำ ทำให้คิดก็คิดผิด ทำก็ทำผิด พูดก็พูดผิด แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศล และยังเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก

    การที่จะกล่าวถึงเรื่องของปรมัตถธรรมที่เป็นโสภณธรรม ที่เป็นโสภณเจตสิกต่างๆ ที่อบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจนประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงได้ จะต้องย้ำเรื่องของการอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพราะว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติแน่นอน เพราะฉะนั้น ทุกท่านย่อมรู้ตัวเองว่า ท่านถึงขั้นนั้นหรือยัง ที่จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ หรือจะไม่เกิดเกิน ๗ ชาติเลย และกิเลสที่มีอยู่ทุกวันๆ จะเอาไปทิ้งที่ไหน คิดดูก็แล้วกัน เพราะว่าผู้ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เป็นผู้ที่น้อมไปสู่พระนิพพาน จะต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ากิเลสที่ยังมีอยู่ทุกๆ วัน และไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองก็ไม่รู้เลยว่า กิเลสที่มีอยู่จะหมดไป สิ้นไป ดับไป ได้อย่างไร เพียงแต่ต้องการที่จะปฏิบัติและให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปเพื่อที่จะ ได้ถึงนิพพาน โดยปัญญาไม่ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และไม่ได้คิดด้วยว่า ความโกรธวันนี้ ความโลภวันนี้ ความสำคัญตนวันนี้ จะหมดได้อย่างไรที่จะเหลืออีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

    นี่เป็นปัญญาที่จะต้องอบรมตามความเป็นจริง ถ้าจิตใจของท่านผู้ใดสะอาดขึ้น และเห็นโทษของอกุศลเพิ่มขึ้น น้อมประพฤติปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศลทุกประการ มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดโดยถูกต้อง ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ศึกษาและปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น นั่นเป็นทางที่ท่านผู้นั้นย่อมรู้เองว่า เมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง มีการอบรมเจริญกุศล และสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม วันหนึ่งปัญญาย่อมประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    และเมื่อถึงชาตินั้น จะจำไม่ได้เลยว่า ชาติหนึ่ง คือ ชาตินี้ กำลังอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง และด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้ว และคงจะจำไม่ได้ว่า ได้เคยยืนคุยกับสหายธรรมท่านใด หน้าห้องน้ำ หรือในห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยนี้ เมื่อถึงชาตินั้น วันนั้น จะจำไม่ได้เลย ถึงชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาอยู่ จำไม่ได้ว่าชาติไหนได้พบใคร รู้จักใคร สนิทสนมคุ้นเคยกับใคร และเคยสนทนากันเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าเคยไปเที่ยวเตร่สนทนาธรรมกันที่ไหนบ้าง

    ชาตินั้นก็เป็นชาตินั้น แต่ก่อนที่จะถึงชาตินั้น ในชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นชาตินี้ ทุกคนก็คงจำได้ว่าพบใคร ที่ไหน ที่ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยนี่เอง ซึ่งเป็นชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาอยู่ ซึ่งอีกไม่นานทุกอย่าง ที่เป็นความทรงจำในชาตินี้ก็ต้องหมดสิ้นไป เมื่อจากโลกนี้ไปสู่สภาพความเป็น บุคคลใหม่ แต่ทุกอย่างที่สะสมไว้ สืบต่อติดตามไปได้ แต่ข้อสำคัญที่ควรต้องระวัง คือ อย่าโน้มเอียงไปในทางที่จะเห็นผิด ประพฤติผิด และปฏิบัติผิด

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นจดหมายที่ค่อนข้างอ่านยาก จดหมายเพิ่งได้รับตอนที่ไปส่งเทปที่สถานี ซึ่งเป็นการล่าช้ามาก และท่านผู้ฟังท่านนี้ต้องการให้ทุกคนได้รับฟังจดหมายฉบับนี้ แต่ก็เพิ่งได้รับ ต้องขอประทานโทษด้วย

    ๕๖๐ สุขุมวิท ๖๖ พระโขนง กทม

    ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐

    เรียน ผู้จัดรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา

    กระผมได้ฟังรายการของคุณมาระยะหนึ่ง กระผมรู้สึกว่า คุณพยายามที่จะ ทำคำพูดง่ายๆ ดิน ไฟ ลม น้ำ ให้เป็นของยาก ฟังยาก เช่น ภาษาไทยคำว่า จิต หู ตา รูป สัมผัส ก็มี แต่คุณกลับใช้คำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่ไม่ค่อย ได้ใช้ได้พูดกัน แล้วคุณคิดหรือว่าผู้ฟังจะฟังรู้เรื่องเข้าใจจริงๆ เช่น อาโป วาโย เตโช ผัสสะ จักษุ โสตะ ฯลฯ

    ซึ่งการกระทำของคุณตรงข้ามกับการบรรยายของพระสงฆ์ ซึ่งถึงแม้ท่านจะเรียนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค รวมทั้งเคยปฏิบัติธุดงค์ในป่ามา แต่ท่านก็พยายาม ใช้คำง่ายๆ ที่ผู้ฟังฟังเข้าใจ หลีกเลี่ยงการใช้คำบาลี แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ท่านต้องอธิบายให้เข้าใจในความหมาย การกระทำของคุณที่พยายามใช้คำพูดลักษณะแบบนี้ ถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับพวกอาจารย์ที่พยายามใช้ภาษาอังกฤษปนไทยเมื่อพูดกับนักเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าอาจารย์คนนี้เก่ง ถึงแม้ว่านักเรียนพวกนั้นจะฟังความหมายของคำภาษาอังกฤษนั้นไม่เข้าใจก็ตาม

    อันที่จริงแล้วคำภาษาบาลียากๆ เหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้การปฏิบัติกัมมัฏฐาน ได้เจริญก้าวหน้าเร็วเลย การศึกษาทฤษฎีหรือปริยัติเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการปฏิบัติ มันไม่มีประโยชน์อะไร ตรงข้ามการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวกลับมีประโยชน์มากกว่า เช่น พระอาจารย์มั่น หลวงปู่แหวน ท่านเรียนจบเปรียญธรรม ๙ หรือเปล่า แต่ท่านปฏิบัติเดินธุดงค์ตามป่าตลอดตั้งแต่หนุ่มจนแก่ และผลก็รู้ทั่วๆ ไปแล้วว่า ท่านสำเร็จขั้นใด แต่พระที่จบเปรียญธรรม ๙ ปัจจุบัน มียศ เช่น พระเทพ ผมเคยฟังท่านเล่าว่า เมื่อท่านลงมือปฏิบัติแล้วเหมือนคนไม่มีความรู้เลย ทฤษฎีที่เรียนมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย บางรูปยังต้องไปเรียนกัมมัฏฐานกับเณรเลย

    คราวนี้ก็มาถึงคำว่า ปฏิบัติคืออะไร คุณเคยบอกว่ารายการนี้ก็สอนให้ปฏิบัติ คือ การให้มีสติ หรือการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากนี้ก็ยังสอนให้พิจารณาแยกรูปนามให้ได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การพิจารณาลักษณะนี้ไม่ใช่การปฏิบัติเจริญ วิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นปัญญาอันประเสริฐ แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้นึกคิดเอาเอง การที่เราจะสามารถกำหนดรู้รูปนามได้นั้น เราต้องลงมือปฏิบัติบำเพ็ญกัมมัฏฐาน เจริญภาวนาจนบรรลุถึงญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณเสียก่อน จึงจะสามารถกำหนดแยกนามและรูปได้ ซึ่งเป็นการรู้การเห็นอันเกิดจากการ เจริญภาวนาของตนทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าได้ศึกษาพระปริยัติธรรมซึ่งอธิบายว่ารูปเป็น อย่างนั้น มีจำนวนเท่านั้น นามเป็นอย่างนั้น มีลักษณะเป็นอย่างนั้น และใช้ปัญญาคิดไปตามที่พรรณนาเอาไว้ในตำรา เสร็จแล้วร้องออกมาด้วยความภาคภูมิใจว่า อ๋อ รูปเป็นอย่างนี้เอง นามเป็นอย่างนี้เอง ตัวเรานี้เห็นทีจะได้บรรลุนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพราะมีความรู้ความเข้าใจสามารถแยกรูปนามได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ซึ่งการ คิดนึกเรื่องเรียนรู้เอาเองเช่นนี้ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่เกิดจากการ เจริญภาวนา แต่เป็นเพียงแต่สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษา ได้สดับตรับฟังมา และเข้าขั้นเพียงจินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการจินตนาการของตนเท่านั้น ยังไม่เข้าภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่สามารถจะ แผดเผากิเลสได้

    ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงควรเข้าใจว่า ความรู้ความเห็นในเรื่องวิปัสสนาทั้งหมดเป็นความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยเฉพาะ ไม่ใช่ความรู้ความเห็นที่เกิดจากการศึกษาเรียนรู้หรือนึกคิดเอาเอง ซึ่งเป็นความรู้ความเห็นที่ไม่แน่นอน

    เมื่อถึงตอนนี้แล้วคุณก็คงจะรู้แล้วว่า รายการของคุณไม่ได้สอนให้มีการปฏิบัติ หรือการบำเพ็ญวิปัสสนานากัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนาภาวนาเลย แต่เป็นการสอนปริยัติทั้งหมด และผู้ฟังจะสามารถกำจัดกิเลสได้อย่างไร นอกจากนั้นการสอนเรื่อง รูปนาม สิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม นั่นก็เป็นสิ่งเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีเรื่องความ เบื่อหน่ายในรูปนาม ความอยากหลุดพ้นในรูปนาม ซึ่งคุณยังไม่ได้พูด ผมรู้สึก เป็นห่วงลูกศิษย์หรือผู้ฟังของคุณมาก ซึ่งก็ล้วนแต่สนใจธรรมทุกคน แต่ก็ต้องมาเสียเวลาเปล่าๆ คือ ต้องเสียเวลามาฟังคำบาลี เวลาถามบางคนก็พูดผิด บางคนก็พูดไม่คล่อง บางคนก็นึกไม่ออก นอกจากนั้นยังไม่มีโอกาสที่จะฝึกสมาธิ วิปัสสนาภาวนาอีก แล้วปัญญาจะเจริญได้อย่างไร

    สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากจะแนะนำให้คุณไปฝึกสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีความรู้ หรือได้ญาณขั้นใดๆ หรือจนพอที่จะสอนได้แล้ว จึงค่อยมาสอน

    ขอแสดงความนับถือ

    พุทธสาวก

    ป.ล. ผมได้ฟังจดหมายของคุณพุทธบุตรแล้ว รู้สึกว่ามีส่วนถูกอยู่มาก แต่ศิษย์ของคุณมีแต่ความหลงอย่างไร้สติ ขาดการสำรวมทางวาจา นั่นย่อมแสดงว่า การอบรมสั่งสอนมาตลอดหลายปีของคุณไม่ได้ผล เพราะอะไร ก็เพราะว่าคุณสอน แต่ทฤษฎี ไม่ได้ลงมือปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาภาวนา เหมือนเด็กที่เรียนศีลธรรม แต่ตัวหนังสือในตำราตั้งแต่เด็กจนโต แต่ก็ยังทำบาปอยู่ ผิดศีลอยู่ ลูกศิษย์ของคุณ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ หลงว่าตนมีความรู้ทางธรรมมาก ต่างยกยอซึ่งกันและกันอย่างไร้เหตุผล ขาดความจริง พอมีคนมาเตือนสติให้ก็ไม่พอใจ ผมก็อยากรู้ว่า บรรดาลูกศิษย์ของคุณจะรักษาศีลได้กี่คน และทำสมาธิวิปัสสนาภาวนาหรือลด ความโกรธ ความโลภ ความหลงได้กี่คน ผมคิดว่าก็คงเหมือนกับเด็กที่เรียนศีลธรรม นั่นแหละ ผมหวังว่าคุณคงอ่านจดหมายนี้ให้ลูกศิษย์ของคุณฟังด้วย เพื่อให้ได้เห็น แสงสว่างบ้าง จะได้ลดความหลงผิด มิจฉาทิฏฐิลงไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564