แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724


    ครั้งที่ ๑๗๒๔


    สาระสำคัญ

    อถ. ขุ.ขุ. - คบหาสมาคมกับความเห็นผิด

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมไว้มากมาย - เพื่อเกื้อกูลปัญญา

    อถ. ส.ส. มัจฉริสูตร

    ส.ส. อถ. อิสสัตถสูตร - เรื่องของบุญ

    สัทธัมมปกาสินี อถ. ขุ.ปฏิ.- ปัญญามีหลายขั้น

    สัทธัมมปกาสินี อถ. ปฏิ - อุทยัพพยญาณ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๐


    เรื่องของผู้ที่มีอธิมุตติเลว ย่อมคบหาสมาคมเข้านั่งใกล้กับผู้ที่มี อธิมุตติเลวเหมือนกัน และผู้มีอธิมุตติประณีต ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับ ผู้มีอธิมุตติประณีตเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า การคบหาสมาคมเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของความเห็น เพราะบางท่าน ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่ก็ถูกชักชวนให้ไปปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของ สติปัฏฐาน ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เข้าใจว่าปัญญาจะต้องเจริญขึ้น เพราะว่าภาวนา คือ การอบรมเจริญความเข้าใจขึ้น ความที่สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาถูกต้องขึ้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในพระธรรม และคบหาสมาคมกับความเห็นผิด ย่อมต้องเห็นผิดตามไปด้วย

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มีข้อความว่า

    บทว่า พาลานัง ความว่า ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้

    อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้า หายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา

    บทว่า บัณฑิตานัง ความว่า ชื่อว่าบัณฑิต เพราะดำเนินไป

    อธิบายว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือ ความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและ ภายภาคหน้า

    นี่เป็นคำอธิบายคาถาที่ว่า อเสวนา จ พาลานัง ซึ่งเป็นอรรถกถามงคลสูตร

    ถ้าไม่คิด ก็ไม่เห็นประโยชน์เลย แต่ถ้าคิด จะเปลี่ยนสภาพจากความเป็น คนพาลสู่ความเป็นบัณฑิตไหม นี่คือโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ เพราะว่า ในสายตาของบัณฑิต ผู้ที่เป็นคนพาล ที่ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่หายใจได้ เท่านั้นเอง ตลอดชีวิตนั้น มีชีวิตอยู่โดยเพียงหายใจเข้า หายใจออก ไม่ได้เป็นอยู่ ด้วยปัญญา ถ้าคิดถึงบุคคลในโลกนี้ มีมากหรือมีน้อย

    เรื่องของวิปัสสนาญาณ ท่านผู้ฟังหลายท่านคงจะไม่ซาบซึ้ง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมก็กำลังเกิดดับ แต่เมื่อไม่ประจักษ์จะซาบซึ้งได้อย่างไร

    ถ้าพูดถึงชีวิตประจำวันตามปกติ พูดถึงความละเอียดของสภาพธรรม พูดถึง สิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ และสติค่อยๆ อบรมไปพร้อมกับการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ก็จะเป็นการเกื้อกูลกันทั้งปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน และปัญญาขั้นพิจารณาเรื่องของกุศลและอกุศล มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้มากมายโดยประการทั้งปวง คงแสดงแต่เพียงพระอภิธรรมและสติปัฏฐานเท่านั้น แต่เพราะว่าธรรมอื่นเกื้อกูลด้วย ฉะนั้น ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ควรที่จะได้รับฟัง และมีสิ่งใดที่จะเกื้อกูลให้ปัญญามีความเห็นถูกแทนอวิชชา แทนที่จะเป็นอกุศล เพราะอโยนิโสมนสิการ ปัญญาก็สามารถพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการได้

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านสนใจเรื่องของสังฆทานมาก ท่านถามว่า ทำอย่างไรจะเป็นสังฆทาน หรือถ้าทำอย่างนั้นๆ จะเป็นสังฆทานไหม ก็ได้เรียนให้ท่านทราบว่า สังฆทานนั้นอยู่ที่ความนอบน้อม การที่ทรงแสดงไว้ว่า สังฆทานมีอานิสงส์มาก ได้บุญมากนั้น ก็เพราะสังฆทานเป็นเครื่องสอบกิเลสในจิตใจให้รู้ว่า ในขณะนั้นเป็น ผู้มีปกติอ่อนน้อม หรือว่าเป็นผู้มีปกติอยากได้บุญ

    การฟังพระธรรม สามารถพิจารณาได้หลายอย่าง เมื่อมีผู้กล่าวถึงสังฆทานว่า มีอานิสงส์มาก ผู้ฟังที่ด้วยโลภะซึ่งสะสมมาก็ยินดีต้องการผลของสังฆทาน คือ อยากจะทำสังฆทานเพราะว่าได้บุญมาก แสดงให้เห็นว่า ด้วยความต้องการหรือว่าด้วยความอยาก แต่ถ้ารู้ว่า สังฆทาน คือ ผู้ที่มีปกตินอบน้อมและไม่เลือกผู้รับ ซึ่งเป็นภิกษุ คือ ไม่เลือกภิกษุบุคคล เพราะฉะนั้น ก็มีความนอบน้อมและไม่เจาะจงภิกษุซึ่งเป็นผู้รับ ซึ่งนี่ตรงกันข้ามกับเป็นผู้ที่อยากได้บุญมาก เพราะรู้ว่าสังฆทานได้บุญมาก

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาละเอียดจริงๆ จะรู้ได้ว่า ผลมากหรือผลน้อยนั้นอยู่ที่กุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุทาน ไม่ใช่อยู่ที่ความพยายามที่จะให้เป็นสังฆทาน หรือไม่ใช่อยู่ที่ความต้องการอยากจะให้ในขณะนี้ นอบน้อมเพื่อจะได้เป็นสังฆทาน

    บางท่านปกติไม่นอบน้อมต่อภิกษุ แต่เวลาที่อยากจะได้กุศลมาก ในขณะที่ ให้ทานนั้นท่านก็พยายามนอบน้อมเพื่อผลที่จะเป็นสังฆทาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติ นอบน้อมอยู่เสมอ ในขณะที่ให้ก็เป็นผู้ที่นอบน้อม และไม่เลือกภิกษุบุคคลที่เป็น ผู้รับด้วย ขณะนั้นก็เป็นสังฆทาน โดยไม่มีความอยากที่จะทำสังฆทาน หรือไม่ต้องพยายามที่จะให้เป็นสังฆทาน นี่ก็เป็นความต่างกันของความละเอียดของจิต

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มัจฉริสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราไม่อาจเพื่อถือเอามหาทานแล้วทำให้ชื่อว่ามีผลน้อย หรือทานอันน้อย ทำให้ชื่อว่ามีผลมาก เพราะความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    คือ แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ทรงสามารถเปลี่ยนแปลงทานน้อยให้เป็น ทานใหญ่ หรือว่าทานใหญ่ให้เป็นทานน้อยได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สงสัยอยากรู้และถามคนอื่นว่า ทำอย่างนี้แล้วจะได้บุญมากไหม จะได้ผลมากไหม ไม่มีทางที่ใครจะไปเปลี่ยนแปลงจิตของบุคคลนั้นได้ และบุคคลนั้นเองต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นกุศลจิตเป็นอย่างไร มากหรือน้อย หรือว่ามีอกุศลเกิด คั่นแทรก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็แต่มหาทานนี้ชื่อว่ามีผลน้อยอย่างนี้ เพราะความไม่บริสุทธิ์เกิดขึ้นกับตน ทานน้อยนี้ชื่อว่ามีผลมากอย่างนี้ เพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตน

    หมายความว่า ไทยธรรม คือ วัตถุทาน แม้ว่าจะเป็นของน้อย ไม่มาก แต่ที่จะให้ผลมากหรือน้อยนั้น เพราะความไม่บริสุทธิ์คืออกุศลจิตเกิดขึ้นแทรก หรือว่ามีผลมากเพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    โดยนัยอย่างนี้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์ พันกหาปนะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น

    คือ ผู้ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนในขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    บางคนคิดแต่เรื่องทาน ไม่ได้คิดเรื่องศีล คือ เรื่องการวิรัติกายวาจาที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้น เวลาที่ถวายทาน ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน ไม่ควรที่จะถวายด้วยความข้องใจ หรือว่าด้วยมลทิน คือ กิเลส ไม่ว่าจะเป็นดูหมิ่น ดูแคลน หรือไม่นอบน้อมก็ตาม พึงถวายด้วยจิตที่ผ่องใสเท่านั้น

    เรื่องของบุญ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาอิสสัตถสูตร ข้อ ๔๑๐ มีข้อความว่า

    บทว่า ปุญญธรา ได้แก่ ธารแห่งบุญที่สำเร็จมาแต่ทานเจตนามิใช่น้อย

    คือ การกระทำกุศลแต่ละครั้งๆ ขอให้ทราบว่า เป็นธารแห่งบุญที่เกิดจากเจตนามิใช่น้อย

    ท่านที่นั่งฟังพระธรรม ขณะที่เห็นซึ่งปรากฏเหมือนไม่ดับไปตลอดเวลา อาจจะหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ชวนจิตที่เป็นกุศลในขณะที่ฟัง พิจารณา และเข้าใจนั้น ๗ เท่าของจิตที่เห็นแต่ละขณะซึ่งดูเสมือนว่าไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็น ธารแห่งบุญที่สำเร็จมาแต่ทานเจตนามิใช่น้อย

    บทว่า ทาตารัง อภิวัสสติ ความว่า สายน้ำที่หลั่งออกจากเมฆซึ่งตั้งขึ้น ในอากาศ ย่อมตกรดแผ่นดินเปียกชุ่ม ฉันใด ธารแห่งบุญที่เกิดในภายในทายกแม้นี้ ก็หลั่งรดภายในทายกนั้นให้ชุ่มเต็มเปี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน

    ขอกล่าวถึงเรื่องของปัญญา ซึ่งต้องเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตจะพิจารณารู้ได้ว่า ปัญญามีหลายขั้น เพราะฉะนั้น ก็มีหลายชื่อตามสภาพลักษณะของปัญญานั้นๆ

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

    ปัญญานั้นท่านเรียกว่า อภิญญา เพราะอธิบายด้วยอภิศัพท์มีอรรถว่า งาม ดังนี้ คือ รู้งามด้วยสามารถแห่งการรู้สภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ

    ปัญญาเป็นสภาพที่รู้งาม เพราะว่าสามารถรู้สภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ รู้ความจริงแล้วจะรู้ว่างามที่สุด เพราะว่าเป็นสัจจะ เป็นของที่เที่ยงแท้ เป็นสัจจธรรม

    อีกชื่อหนึ่งของปัญญา คือ ปริญญา

    ปัญญานั้นท่านเรียกว่า ปริญญา เพราะอธิบายด้วยปริศัพท์มีอรรถว่า ซึมซาบไปรอบ ดังนี้ คือ ความรู้ที่ซึมซาบไปด้วยสามารถแห่งสามัญลักษณะ มีอนิจลักษณะเป็นต้น หรือด้วยสามารถแห่งการเข้าถึงกิจของตน

    คำว่า ตีรณัฏเฐ ญาณัง (ในที่นี้กล่าวถึงตีรณปริญญา) ญาณในอรรถว่าใคร่ครวญ ได้แก่ ญาณ มีการเข้าไปใคร่ครวญเป็นสภาวะ หรือมีการพิจารณาเป็นสภาวะ

    สภาพธรรมในขณะนี้เกิดดับ ใคร่ครวญ พิจารณา เป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงสภาวะลักษณะที่เป็นสามัญลักษณะ มีอนิจลักษณะ เป็นต้น

    คำว่า ปหาเน ปัญญา ปัญญาในการละ ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น หรือธรรมชาติใดย่อมละ นิจสัญญาวิปลาสเป็นต้นได้ ธรรมชาตินั้นชื่อว่าปหานปัญญา อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมละนิจสัญญาวิปลาสได้ด้วยญาณนั้น ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่าปหานัง ญาณัง ญาณเป็นเครื่องละนิจสัญญาวิปลาส

    นอกจากนั้นยังมี

    คำว่า ปริจจาคัฏเฐ ญาณัง คือ ญาณที่สละนิจสัญญาว่าวิปลาสเป็นต้น

    ฟังดูเป็นชื่อ แต่ขณะนี้กำลังอบรมทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าเมื่อไรถึง เมื่อนั้นก็ซาบซึ้งในอรรถ แม้แต่คำว่า อภิญญา หรือปริญญา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้มีสัมปชัญญะ ความว่า บุคคลใดย่อมรู้โดยประการทั้งปวงด้วยดี

    ไม่ใช่รู้ผิด แต่ว่ารู้ด้วยดี

    ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าสัมปชาโน ผู้รู้ด้วยดี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขันติญาณ นี้เป็นตรุณวิปัสสนาญาณอันเป็นไปแล้วด้วยสัมมสนญาณ มีการพิจารณาสังขารธรรมโดยความเป็นกลาปเป็นต้น

    สำหรับขันติญาณนั้น เริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณซึ่งเป็นตรุณวิปัสสนา จนถึงอุทยัพพยญาณ เป็นความสมบูรณ์ของขันติญาณ เพราะสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นปัจจุบันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ก่อนที่จะถึงภยญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตั้งแต่ญาณขั้นต้นๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งเห็นว่าสังขารทั้งหลายในขณะนี้เป็นภัยอัน ใหญ่หลวงจริงๆ ซึ่งยากที่จะเห็นได้ ไม่เดือดร้อนเลยกับเห็น ยังเห็น และก็ยังเห็น จะเป็นภัยได้อย่างไร ก็เพราะว่ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค อุทยัพพยญาณ มีข้อความว่า

    สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ

    สำหรับผู้ที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะนี้ พิจารณารู้ได้จริงๆ ว่า สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ ไม่มีของเก่าเลยสักขณะเดียว เพราะว่าสิ่งใดก็ตามซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปทันที หมดไปแล้ว และมีสิ่งอื่นมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นของใหม่และดับไป เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ

    ธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่เคยเกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็ดับไป ดังนี้

    จริงไหม ได้ยินขณะเมื่อกี้ ยังไม่เคยเกิดมาก่อน แต่เกิดเมื่อมีปัจจัยและก็ดับไป ดังนี้ เห็นขณะใหม่ซึ่งยังไม่เคยเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    สังขารทั้งหลายมิใช่ใหม่เป็นนิจอย่างเดียว สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏดุจ หยาดน้ำค้างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ดุจฟองน้ำ ดุจรอยไม้ขีดในน้ำ ดุจเมล็ดผักกาดบนปลายเข็ม ดุจฟ้าแลบ ดุจมายา ดุจพยับแดด ดุจความฝัน ดุจลูกไฟ ดุจต่อมน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น หาแก่นสารมิได้ ไม่มีสาระ

    ทุกคนเคยเห็นหยาดน้ำค้าง เคยเห็นฟองน้ำ เคยเห็นรอยไม้ขีดในน้ำ เคยเห็นเมล็ดผักกาดบนปลายเข็ม เคยเห็นฟ้าแลบ เคยเห็นมายา พยับแดด ความฝัน ลูกไฟ ต่อมน้ำ ต้นกล้วย แต่เมื่อไม่พิจารณา จะไม่เห็นความหาแก่นสารมิได้ ไม่มีสาระเพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วยอุทยัพพยญาณ และภังคญาณแล้ว ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาภังคญาณ มีว่า

    ผู้ประจักษ์แจ้งภังคญาณย่อมพิจารณารู้ว่า สังขารทั้งหลายแม้ในอดีตแตกแล้ว แม้ในอนาคตก็จักแตกเหมือนสังขารนี้ ด้วยความเป็นไปตามอารมณ์ที่เห็นแล้ว โดยประจักษ์ แม้โบราณาจารย์ก็กล่าวไว้ว่า ภิกษุผู้มีความเห็นบริสุทธิ์ในสังขารที่เป็นปัจจุบัน ย่อมน้อมนำความเห็นบริสุทธิ์นั้นไปพิจารณาสังขารที่เป็นอดีตและอนาคตว่า สังขารทั้งหลายแม้ทั้งหมด ก็มีปกติแตกสลายไป เหมือนหยาดน้ำค้างแห้งไปในเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ฉะนั้น

    ฝนตกบ่อยๆ ใช่ไหม บางคนอาจจะมองฝนตก และเห็นต่อมน้ำบนหลังน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นและแตกไปๆ แต่มีขณะไหนบ้างที่จะพิจารณาเหมือนผู้ที่ได้ประจักษ์ ภังคญาณ

    นี่เป็นแต่เพียงคำอุปมา แต่สามารถประจักษ์ถึงความเกิดดับของสภาพของสังขารธรรมทั้งหลาย และยังจะต้องพิจารณาเพื่อจะอบรมเจริญปัญญาต่อไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๓ ตอนที่ ๑๗๒๑ – ๑๗๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564