แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688


    ครั้งที่ ๑๖๘๘


    สาระสำคัญ

    วิปัสสนาญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ

    ขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน และขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๐


    นี่คือความต่างกันของขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน และขณะที่ เป็นวิปัสสนาญาณ ความต่างกัน คือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน นามธรรมและรูปธรรมเกิดสืบต่อกันจนปรากฏเป็นโลก เป็นคน เป็นสัตว์ และชั่วขณะที่สติระลึกบ้าง ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็ยังคงสืบต่อปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะที่ปรากฏสืบต่อไม่เหมือนเดิม เพราะว่าปรากฏเฉพาะ ทางมโนทวารทีละลักษณะเท่านั้น

    ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทีละลักษณะ ในขณะที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ ลักษณะการแทงตลอดของปัจจัย จะสืบต่อทันที ซึ่งเวลาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่ได้ว่างเว้นหรือขาดไปจากนามธรรมและรูปธรรมเลย แม้ว่าจะเป็นมโนทวารวิถีจิต แต่ก็มีนามธรรมหนึ่ง รูปธรรมหนึ่งที่ปรากฏทีละลักษณะ นั่นคือนามรูปปริจเฉทญาณ

    เวลาที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ ก็ปรากฏทางมโนทวาร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ปรากฏรวมกันเป็นโลก แต่สภาพความเป็นปัจจัยสืบต่ออย่างรวดเร็วที่ทำให้ สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น อย่างเช่น ปกติธรรมดาที่พูดและสติก็ระลึกบ้าง ก็ยังคงมี อย่างอื่นปรากฏสลับจนโลกปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ ความรวดเร็วของมโนทวารที่รู้ลักษณะของจิตและเสียงที่ปรากฏ จะรู้ได้ทันทีว่า จิตนั้นเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นเกิดอย่างรวดเร็ว

    เรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละวิปัสสนาญาณ ต้องมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น และขณะที่เกิดก็มีสภาพของธรรมที่ปรากฏด้วยปัญญาที่แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    และหลังจากที่ปัจจยปริคคหญาณดับไปแล้ว ความรู้ชัดในลักษณะของปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดในขณะนั้น จะทำให้ละคลายความหวังหรือ ความคิดต้องการนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    คิดดู ในชีวิตประจำวัน ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ชีวิตของแต่ละบุคคลที่จะเกิดแต่ละขณะจะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ที่จะคิดนึกก็ต้องมีปัจจัยทั้งสิ้น ถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้จะทำให้คลายความหวัง ความห่วง ความต้องการ ความกังวลทุกอย่างได้ และสติจะระลึกพร้อมทั้งการรู้ลักษณะของปัจจัยละเอียดขึ้นๆ โดยไม่คิดที่จะจดจ้องหรือต้องการที่จะรู้นามหนึ่งนามใดโดยเฉพาะ

    สำหรับปัจจยปริคคหญาณละทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าไม่มีเหตุและปราศจาก เหตุอันควรแก่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นละกิเลสหรือความเห็นต่างๆ ออก เช่น นามรูปปริจเฉทญาณละสักกายทิฏฐิ เพราะว่า สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มก้อน และปัจจยปริคคหญาณละความเห็นว่าไม่มีเหตุ หรือที่เข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดเกิดโดยปราศจากเหตุ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งใน ปัจจยปริคคหญาณแล้ว ไม่มีความสงสัยในเรื่องปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

    มีข้อสงสัยไหม ปัจจยปริคคหญาณ

    ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ และไม่ต้องเป็นห่วงอะไรเลย เป็นเรื่องของ การสะสมจริงๆ สะสมการฟัง สะสมสติปัฏฐาน สะสมความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดเมื่อใด เมื่อนั้นจะรู้ได้ว่า ไม่ต้องหวังอะไรเลย เพราะว่าทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๓ ซึ่งทั้ง ๓ วิปัสสนาญาณเป็นตรุณวิปัสสนา เมื่อเทียบกับวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น นามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ ก็ดี และสัมมสนญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็ดี ยังเป็นตรุณวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น ปุถุชนที่กว่าจะไต่ไปถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ ด้วยการที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวิปัสสนาญาณแล้ว หนทางปฏิบัติก็จะมั่นคงขึ้น และจะทำให้เพิ่มสภาพธรรมที่เป็นพละ คือ มีกำลังขึ้น ทั้งศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

    วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่อวิชชาไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นสัมมสนญาณ ขณะนั้นเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม

    ขณะนี้รู้ว่าเสียงปรากฏและหมดไป มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อ ขั้นพิจารณา เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่ประจักษ์ แต่ก็รู้ว่าเร็วแค่ไหน คือ เสียงเกิดและดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ประจักษ์ความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันไม่ได้มีความต่างกันเลย เพียงแต่ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณก็เข้าใจว่า เสียงดับและสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ แต่ในขณะที่เป็นสัมมสนญาณ สภาพธรรมที่เกิดและดับไปๆ จะปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ลองเทียบดู ขณะนี้เข้าใจว่าเสียงดับและสภาพธรรมอื่นเกิด แต่ไม่ใช่ วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ประจักษ์เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น และรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อในขณะนั้นด้วย

    สำหรับความต่างกันของนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ และปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ และสัมมสนญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ แม้ว่าจะเป็นการแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร แต่ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนั้น เพียงแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่เคยประจักษ์แจ้งว่าธาตุรู้เป็นแต่เพียงอาการรู้ โดยที่ไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดในขณะนั้นปรากฏร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น ใส่ใจเฉพาะในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง ซึ่งไม่ใช่เพียงอย่างเดียว แล้วแต่ว่า ในขณะนั้นวิปัสสนาญาณจะเกิดนานหรือมากน้อยแค่ไหน

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ สามารถแทงตลอดถึงปัจจัยที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทันทีที่จิตคิดก็มีเสียงปรากฏอย่างรวดเร็วที่สุด นั่นคือการประจักษ์ในสภาพที่เป็นปัจจัยของเสียงที่เกิดขึ้นเพราะจิตที่คิด โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะพูดอย่างไร จะคิดอย่างไรเลย จะมีสภาพที่ปรากฏโดยความเป็นอนัตตาที่ทันทีที่คิดเสียงนั้นก็ปรากฏเลย นั่นเป็นลักษณะของปัจจยปริคคหญาณ

    สำหรับสัมมสนญาณ เป็นการประจักษ์แจ้งในการเกิดขึ้นและดับไป ใส่ใจในการเกิดและดับของแต่ละลักษณะที่สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สัมมสนญาณ ละความยึดถือว่าเราหรือของเราได้ด้วยกลาปสัมมสนญาณ ที่พิจารณาเห็นรูปกลาป และกลุ่มของนามที่เกิดดับสืบต่อกันในขณะนั้น

    . แทนที่สัมมสนญาณจะเกิดก่อน เพราะเห็นว่าเกิดดับๆ จึงพิจารณาว่าเกิดดับเพราะอะไร จึงพิจารณาเห็นปัจจัยว่า มีปัจจัยจึงเกิด หมดปัจจัยจึงดับ แต่ทำไมปัจจยปริคคหญาณเกิดก่อน

    สุ. ขณะนี้ถ้าสติระลึกลักษณะของนามธรรมอย่างหนึ่ง จะรู้เฉพาะลักษณะของนามธรรมนั้น ใช่ไหม และขณะที่ระลึกลักษณะของรูปธรรม สังเกตพิจารณา ก็รู้ลักษณะของรูปธรรมนั้น เฉพาะรูปธรรมนั้น ใช่ไหม ทีละอย่าง ฉันใด เวลาที่ นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ขณะนั้นเป็นการแทงตลอดในลักษณะของนามธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏ เพราะว่านามธรรมจะปรากฏทางตาไม่ได้ นามธรรมจะปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะที่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ เช่น ในขณะนี้ที่คิดนึก กำลังคิดนึก รู้ว่าเป็นสภาพคิด แต่ลักษณะของอาการรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งปราศจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่นามธรรมหรือรูปธรรมใด เหลือปะปนปรากฏเลย ไม่เคยมีเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเมื่อสภาพของนามธรรมปรากฏ จึงรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม และเมื่อลักษณะของรูปธรรมใดปรากฏ จึงรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมนั้น ในขณะนั้นรู้ความต่างกันของลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้กับรูปธรรมเท่านั้น เพราะว่าปัญญาในขั้นนั้นเป็นปัญญาขั้นต้น จะรู้มากกว่านั้น ไม่ได้เลย เพราะว่าในขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีการที่จะไตร่ตรอง ไม่มีการที่จะพิจารณา ไม่มีการที่จะสงสัย เพราะว่าเหมือนสภาพที่ปรากฏทางมโนทวารให้รู้ ให้ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ปัญญาในขณะนั้นเป็นการแทงตลอดลักษณะที่เป็นธาตุรู้ โดยไม่มีการสงสัยในลักษณะที่เป็นธาตุรู้ที่ปรากฏใน นามรูปปริจเฉทญาณ หลังจากนั้นแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณดับไป นามธรรมและรูปธรรมก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วเหมือนเดิม ซึ่งไม่ใช่ในขณะที่แทงตลอด

    ชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ มีอนัตตสัญญาเริ่มเกิด เพราะว่าสภาพธรรมไม่ได้รวมกันให้เป็นอัตตาเหมือนอย่างเดิม แต่ผู้นั้นต้องมีความฉลาด มีมนสิการรู้ว่า จะต้องอาศัยญาตปริญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นแล้ว น้อมพิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้เหมือนกับที่เคยประจักษ์ คือ ไม่ลืมสภาพธรรมที่เคยประจักษ์ แต่ต้องอาศัยปัญญานั้นแหละน้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ ซึ่งเมื่อไม่ใช่วิปัสสนาญาณก็ปรากฏสืบต่อจนกระทั่งติดกันเหมือนเดิมให้สามารถแยกออกว่า ลักษณะเฉพาะของธาตุรู้แต่ละลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปและเกิดต่างออกไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จนกระทั่งละเอียดขึ้นโดยรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะปัจจัย จึงจะขึ้นถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ได้ แต่จะให้วิปัสสนาญาณที่ ๓ มาเป็นที่ ๒ เป็นไปไม่ได้

    . คิดว่า เมื่อเราเห็นแล้ว เห็นก็ต้องเกิดดับ เห็นเกิดดับจึงคิดว่า มีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดดับ

    สุ. ที่จริงสภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ และเกิดดับ แต่การเกิดดับไม่ปรากฏ ใช่ไหม สภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ เกิดขึ้น และดับไป แต่การเกิดดับของ สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ ปรากฏแต่ลักษณะของสภาพธรรม ถูกไหม

    อย่างสีที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดและดับ แต่ไม่มีการประจักษ์แจ้ง การเกิดขึ้นและดับไปของสี มีแต่ลักษณะของสีปรากฏให้รู้

    เพราะฉะนั้น นามรูปปริจเฉทญาณก็โดยนัยเดียวกัน คือ ต้องนามเกิดและดับ รูปเกิดและดับ จึงประจักษ์แจ้งได้ทางมโนทวาร แต่ในขณะนั้นลักษณะที่เกิดดับไม่ได้ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ปรากฏ ลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ปรากฏ

    . ญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ สมมติว่า ธรรม คือ สังขตธรรมที่เกิดขึ้น คำว่า ปัจจัย ที่ว่ามีปัจจัยจึงเกิด จำเป็นหรือไม่ที่จะใช้อย่างเดียวที่จะทำให้สังขตธรรมหรือธรรมเกิด เช่น น้ำต้องอาศัยปัจจัย ๒ อย่าง เช่น H2O เมื่อปัจจัยสองอย่างมาพบกันแล้วน้ำจึงเกิดขึ้น นามธรรมก็ดี รูปธรรมก็ดี เกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง หรืออย่างเดียวก็เพียงพอ

    สุ. ปัจจัย ๒ อย่างนี้ อะไร

    . ไฮโดรเยน ๒ อะตอม ออกซิเจน ๑ อะตอม

    สุ. นั่นไม่เกี่ยว

    . จำเป็นไหมต้องใช้หลายอย่าง หรือเพียงอย่างเดียวก็เกิดขึ้น ถ้ามีปัจจัยเพียงอย่างเดียวธรรมเกิดขึ้นได้ไหม

    สุ. กำลังของสติปัญญาของแต่ละคนน้อยมาก ถ้าเทียบกับพระมหาสาวกในอดีต เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังเริ่มอบรมเจริญวิปัสสนา ขอให้เป็นผู้ที่สามารถรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย แค่นี้พอ เพื่อการละคลาย เพื่อการไม่หวัง และ ไม่ต้องการ ไม่จงใจนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด ถ้าเป็นการปล่อยวาง สติจะเพิ่มขึ้นจริงๆ และจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้นด้วย เพราะว่าไม่มัวหวังหรือจดจ้องรอคอยนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    อย่างการพิจารณารู้ลักษณะของปัจจัย จะต้องอาศัยปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมจากนามรูปปริจเฉทญาณนั่นเอง เช่น ในขณะที่ได้ยิน รู้ว่าเป็นสภาพรู้ ไม่สงสัยในสภาพที่เป็นนามธรรม พร้อมกันนั้นก็ยังรู้ด้วยว่า ถ้าไม่มีเสียงจะรู้เสียง ในขณะนั้นไม่ได้ เพราะว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะรู้เสียง เมื่อรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะรู้เสียง จึงรู้ว่าเสียงนั้นเป็นปัจจัย ได้ยินมีเสียงเป็นปัจจัย แต่เสียงไม่ได้มีได้ยินเป็นปัจจัย

    . ถ้าเสียงไม่มี จิตไม่มี เราจะได้ยินได้อย่างไร

    สุ. ถ้าของแข็งกระทบกันเสียงก็เกิด ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เกิดขึ้นอย่างนั้น อย่างคนที่กำลังพูดวิทยุอยู่ที่ไหน คนที่นี่ไม่ได้ยิน ก็เป็นเรื่องของคนที่นี่ที่ไม่ได้ยิน แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เสียงเกิด เสียงก็ต้องเกิด

    ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เสียงไม่ใช่มีได้ยินเป็นปัจจัย แต่ได้ยินมีเสียงเป็นปัจจัย ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยิน ในขณะนั้นจึงรู้ว่า ลักษณะที่ ได้ยินเกิดขึ้นเพราะเสียงเป็นปัจจัย และเวลาที่ลักษณะของนามธรรมอื่นเกิด เช่น ลิ้มรส รสปรากฏ และสภาพที่กำลังลิ้มรสเป็นสภาพที่รู้รส จึงรู้ว่าขณะนั้นต้องมีรส ลิ้มรสจึงเกิด รู้รสจึงเกิด ถ้ารสไม่มีจะมีสภาพที่รู้รสในขณะนั้นไม่ได้เลย

    ทุกอย่างในชีวิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สำหรับคนที่อยู่ ในกามภูมิ จะพ้นไปจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็รู้ถึงปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเรา เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้แต่ละอย่างชั่วขณะหนึ่ง ทุกๆ วันเป็นอย่างนี้ จิตนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว จิตนี้รู้แข็ง จิตนั้นรู้เสียง ก็เป็นสภาพธรรมคนละอย่าง ซึ่งห่างไกลกันมาก

    ถ้าคิดถึงลักษณะของรูปกลาปซึ่งเกิดที่กาย จากตาไปถึงหูมีอากาศธาตุคั่นอย่างละเอียด เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูปจะมากมายสักแค่ไหน ลักษณะที่เห็นอาศัย สิ่งที่ปรากฏเป็นปัจจัย สภาพที่ได้ยินอาศัยเสียงเป็นปัจจัย และก็ดับ ไม่ต้องห่วงกังวลรอคอยอะไรเลย ถ้าสติเกิดสืบต่อไปก็มีลักษณะของนามธรรมปรากฏให้รู้อีกว่า เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้นๆ ขณะที่ระลึกรู้แข็ง ก็รู้ว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นเพราะแข็งเป็นปัจจัย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564