แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723


    ครั้งที่ ๑๗๒๓


    สาระสำคัญ

    พระผู้มีพระภาคทรงฉลาดในเทศนาวิธี - สภาวะ ๔ (ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรดูแคลน)

    อรรถกถาทหรสูตร - ความคิดที่ถูกและความประพฤติที่ถูก

    ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา - ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลาย

    อรรถกถา ขุ.ขุ. - การคบหาสมาคม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๐


    ข้อความต่อไปมีว่า

    พวกนิครนถ์ไม่ทูลในสำนักของพระราชาว่า พวกเราเป็นพุทธะ พระราชา ทรงถือเอาข้อนี้ แล้วตรัสกับพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดมยังหนุ่มโดยกำเนิด และยังใหม่โดยการบวช ทำไมจึง ทรงปฏิญาณว่า ตรัสรู้ยิ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเล่า

    เพราะว่าพวกนิครนถ์เหล่านั้นเป็นคนแก่และบวชมานานก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นพุทธะ เพราะฉะนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคซึ่งยังหนุ่มโดยกำเนิด และยังใหม่โดยการบวช แต่ทรงปฏิญาณว่า ตรัสรู้ยิ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็ในบทว่า ภิกฺขุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงบรรพชิตผู้มีศีล ยกพระองค์เป็นภายใน (เป็นตัวอย่าง) เพราะทรงฉลาดในเทศนาวิธี

    ในสภาวะ ๔ อย่างนั้น

    สภาวะ ๔ อย่าง คือ

    ๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์

    ๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก

    ๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย

    ๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

    นี่แสดงให้เห็นถึงความคิด ไม่ใช่แต่ในสมัยโน้น แม้ในสมัยนี้ และในสมัย ต่อๆ ไป ซึ่งผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้สภาพของจิตจาก พระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าปกติไม่เคยระลึกถึงสภาพของจิตของตนเองเลย แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดก็จะเริ่มระลึกว่า เป็นอกุศลขั้นไหน

    ในสภาวะ ๔ อย่างนั้น บุคคลพบพระราชกุมารหนุ่มทรงดำเนินสวนทาง ไม่ถวายทาง ไม่ลดผ้าห่ม ไม่ลุกจากที่นั่งที่นั่งอยู่ ไม่ลงจากหลังช้างเป็นต้น กระทำความประพฤติที่ไม่สมควรเห็นปานนั้นแม้อย่างอื่น โดยดูหมิ่นว่าอยู่ในที่ต่ำ ชื่อว่า ดูหมิ่นกษัตริย์

    คือ พระราชาเสด็จดำเนินมาและตนเองอยู่บนหลังช้าง ถ้าเป็นอย่างนั้น การกระทำนั้น ชื่อว่าดูหมิ่นกษัตริย์

    ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของทุกคน บางครั้งกุศลจิตก็เกิด บางครั้งอกุศลจิตก็เกิด เวลาเห็นบุคคลนั้นบ้าง เวลาเห็นบุคคลนี้บ้าง ความดูหมิ่น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ใช่พระราชาก็ตาม จิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    นี่คือการฟังพระธรรมและยังคิดเปรียบเทียบไปถึงขณะจิตอื่นๆ และเทียบกับบุคคลอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะคิดถึงเฉพาะแต่ผู้ที่สูงกว่า เช่น พระราชา แต่ แม้บุคคลอื่น ก็พิจารณาถึงจิตในขณะนั้นว่า ขณะใดที่มีความคิดดูหมิ่นสักเล็กน้อย นิดหน่อย ไม่ว่าในความประพฤติ ในกิริยา ในคำพูด ในความคิด ในความไม่รู้ ของคนอื่นก็ตาม ขณะนั้นจิตนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ จะขัดเกลาไหม แต่ถ้ารู้ และเห็นโทษจริงๆ ก็คงจะรู้ว่า ไม่ควรดูหมิ่นใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นพระราชา หรือไม่ใช่พระราชาก็ตาม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าผู้นั้นเมื่อกล่าวว่า พระราชกุมารผู้น่ารักพระองค์นี้ พระปรางยุ้ย อุทรพลุ้ย จักทรงสามารถระงับโจรผู้ร้าย ทรงปกครองราชกิจในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าดูแคลน

    คือ มีทั้งอกุศลที่ดูหมิ่น และอกุศลที่ดูแคลน ถ้าไม่พิจารณาก็คิดว่า มีแต่เพียงความดูหมิ่น คือ ประมาทผู้นั้น แต่จิตมีความละเอียดซับซ้อนยิ่งกว่านั้น คือ ถึงแม้ ไม่ดูหมิ่น แต่ดูแคลนได้ โดยเห็นว่าเล็กน้อย เพราะเห็นว่าเป็นพระราชกุมารผู้น่ารัก พระปรางยุ้ย อุทรพลุ้ย ก็คงจะไม่สามารถระงับโจรผู้ร้าย หรือปกครองราชกิจในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดได้

    นี่สำหรับกษัตริย์

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของงู ซึ่งมีข้อความว่า

    เอาลูกงูพิษแม้ขนาดเท่าไม้ป้ายยาตามาประดับที่หูเป็นต้น ให้มันกัดนิ้วมือก็ดี

    ลิ้นก็ดี ชื่อว่าดูหมิ่นงู

    นอกจากดูหมิ่นคน ใจที่เป็นอกุศลก็ยังดูหมิ่นงู ในชีวิตประจำวันมีได้ไหม ในโลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ สัตว์ก็มี และเวลาที่เห็นสัตว์ ระลึกถึงจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    นี่คือการที่จะขัดเกลา นี่คือการที่จะฟังพระธรรมและรู้สภาพจิตของตนเอง เพื่อเวลาที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติจะไว และจะรู้ลักษณะของอกุศลว่า เป็นอกุศล และถ้าเป็นสติปัฏฐานก็สามารถระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการคิดนึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อกล่าวคำว่า งูพิษตัวนี้น่าเอ็นดูนะ เหมือนงูน้ำ จักสามารถกัดอะไรๆ ได้หรือ จักสามารถแผ่พิษไปในร่างกายของใครๆ ได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าดูแคลนงู

    เคยคิดไหม อาจจะไม่ได้พบงู เปลี่ยนเป็นสัตว์ประเภทอื่นก็ได้

    ต่อไปเป็นเรื่องของไฟ มีข้อความว่า

    จับไฟแม้เท่าหิ่งห้อย เล่นด้วยมือ เหวี่ยงไปที่หม้อสิ่งของ เหวี่ยงไปที่มวยผม ก็ดี ที่หลังที่นอนผ้ากระสอบเป็นต้นก็ดี ชื่อว่าดูหมิ่นไฟ

    ไฟไหม้เพราะดูหมิ่นไฟ เพราะประมาท

    กล่าวว่า ไฟนี่น่าเอ็นดูนะ จักหุงต้มข้าวต้มข้าวสวยอะไรได้บ้างนะ จักปิ้งปลาและเนื้ออะไรได้บ้าง จักบรรเทาความหนาวของใครได้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าดูแคลน

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของภิกษุ มีข้อความว่า

    อนึ่ง บุคคลพบภิกษุหนุ่มและสามเณรสวนทาง แล้วไม่ถวายทาง กระทำความประพฤติที่ไม่สมควร ซึ่งกล่าวไว้แล้วในเรื่องพระราชกุมาร ชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุ

    ลักษณะที่ดูหมิ่นภิกษุ จะประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร ทุกวันทุกคนต้องเห็น เพศบรรพชิต ท่านจะมีความประพฤติเป็นไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน แต่จิตที่ กำลังเห็น กำลังคิด และกำลังประพฤติต่อท่าน เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำกิจของตน

    กล่าวว่า สามเณรรูปนี้น่าเอ็นดูหนอ แก้มยุ้ย ท้องพลุ้ย จักสามารถเรียน พระพุทธวจนะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ จักสามารถยึดป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ได้ จักเป็นที่น่าพอใจในเวลาเป็นพระสังฆเถระได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าดูแคลน

    ไม่ใช่ดูหมิ่น แต่ว่าดูแคลน เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลจิตที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาจริงๆ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงว่า ข้อนั้นแม้ทุกข้อไม่ควรทำ จึงตรัสว่า ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรดูแคลน

    ถ้าจะต้องเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เป็นพระโสดาบันบุคคล ความคิดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ที่เป็นอกุศลก็จะต้องค่อยๆ ละคลายไป จนกระทั่งมีปัจจัยทำให้เหลือการเกิดเพียง ๗ ชาติเท่านั้นจริงๆ มิฉะนั้นก็ยังต้องเกิดมากกว่า ๗ ชาติ

    สำหรับความคิดที่ถูกและความประพฤติที่ถูก ก็ต้องต่างจากความคิดที่ผิดและความประพฤติที่ผิด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความคิดที่ถูกและความประพฤติที่ถูก จะเป็นอย่างไร

    ข้อความใน อรรถกถาทหรสูตร มีว่า

    ก่อนอื่น เมื่อพิจารณาเห็นอานิสงส์มีตำบลแขวงยานพาหนะเป็นต้นที่ได้มา เพราะอาศัยพระมหากษัตริย์

    นี่คือการที่คิดถูก

    อานิสงส์มีผ้าเงินทองเป็นต้นที่พึงได้ด้วยการให้งูนั้นเล่นกีฬา เพราะอาศัยงู

    นี่ก็เป็นความคิดถูก คือ ไม่ดูหมิ่น ไม่ดูแคลนงู

    อานิสงส์มีต้มหุงข้าวต้มข้าวสวยและบรรเทาความหนาวเป็นต้น ที่พึงได้ปรารภด้วยอำนาจของไฟนั้น เพราะอาศัยไฟ

    นี่คือไม่ดูหมิ่นไฟ

    อานิสงส์มีได้ฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟัง ทำเรื่องที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และการบรรลุมรรคของตนเป็นต้นที่พึงถึงด้วยอำนาจภิกษุนั้น เพราะอาศัยภิกษุ

    นี่คือความคิดถูก มีความเคารพ และสามารถได้ประโยชน์ เช่น ได้ฟังเรื่องที่ ยังไม่ได้ฟัง ทำเรื่องที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และสามารถบรรลุแม้มรรคของตน ก็ด้วยอำนาจของภิกษุ หรือเพราะอาศัยภิกษุนั้น

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    อันผู้ประสงค์จะฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟังเป็นต้น คุ้นเคยสนิทกับภิกษุ ไม่ใช้ท่าน ให้ทำตัวเป็นหมอ รับใช้ก่อสร้างเป็นต้น พึงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ โดยเคารพ อาศัย ภิกษุนั้น ก็จักได้พระพุทธพจน์ที่ไม่เคยฟัง ด้วยประการฉะนี้

    เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องกุศลจิต เรื่องอกุศลจิต ซึ่งชีวิตประจำวันที่ผ่านไป แต่ละขณะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงจะไม่มีใครรู้เลยว่า ทุกๆ ขณะแต่ละบุคคลค่อยๆ สะสมฉันทะ ความพอใจในความคิดเห็น ในจริต คือ การกระทำบุญกรรมหรือบาปกรรมในแต่ละขณะไปอย่างละเอียดจริงๆ เพราะเพียงเท่านั้นเองจะรู้ได้อย่างไรว่าสะสมไปแล้ว ชั่วขณะที่เกิดขึ้นสะสมที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะพูดอย่างนั้น ที่จะดูหมิ่นอย่างนั้น ที่จะดูแคลนอย่างนั้น หรือที่จะเห็นประโยชน์ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่มีทางที่จะรู้เลย แม้ในชาตินี้เอง เมื่อสติไม่เกิดก็ไม่สามารถ รู้ได้ว่า แต่ละขณะจิตเป็นอกุศลขั้นไหน แค่ไหน นอกจากนั้นในอดีตอนันตชาติที่ ผ่านมาแล้ว ก็ยังสะสมอยู่ในจิตทุกขณะ

    ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความที่แสดงพระญาณของ พระผู้มีพระภาคในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย

    ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทราบฉันทะเป็นที่มานอน กิเลสอันนอนเนื่อง จริต อธิมุตติ ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบชัดภัพพสัตว์และอภัพพสัตว์ ฯ

    ภัพพสัตว์ คือ ผู้ที่ไม่มีกรรม กิเลส วิบากเป็นเครื่องกั้นที่จะให้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม และเป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญาพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ส่วนอภัพพสัตว์ คือ ผู้ที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาถึงฉันทะของแต่ละบุคคลหรือของท่านเอง

    ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๗๘ มีข้อความว่า

    ก็ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

    แม้แต่ฉันทะของแต่ละคนเองก็ไม่สามารถรู้ได้ลึกซึ้ง แต่ทุกคนก็มีฉันทะแล้ว คือ

    สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้อาศัยทิฏฐิในภพก็มี

    เป็นผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าเที่ยง

    อาศัยทิฏฐิในความปราศจากภพก็มี

    คือ ในความเห็นว่าตายแล้วสูญ เป็นอุจเฉททิฏฐิ

    ดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง ฯลฯ

    คิดดู คนที่จะคิดอย่างนี้ ต้องมีความโน้มเอียง ต้องมีฉันทะ ต้องมีความพอใจที่จะเห็นอย่างนี้ ที่จะชอบใจในความคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ยากที่จะคิดเปลี่ยนแปลงบุคคลที่สะสมฉันทะอย่างนี้ให้มีความเห็นถูกได้ แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัท ผู้ไม่ประมาทจะพิจารณาได้ว่า ถ้ามีความเห็นผิดประการใดต้องรีบทิ้ง ต้องรีบเปลี่ยนและแก้ให้เป็นความเห็นถูกขึ้น หรือถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดกว่านั้น มีปัญญากว่านั้น ต้องรู้ว่า อกุศลใดๆ ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยพิจารณาจิตของตนเองเลย ถ้าเห็นแล้ว ก็รีบละ นี่คือ ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศลละเอียดขึ้น

    ข้อ ๒๗๙ มีข้อความว่า

    ก็กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

    กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย

    กามราคานุสัย คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้กิเลสอันนอนเนื่อง เมื่อมีก็มี ไม่ต้องวุ่นวายกับกิเลสซึ่งไม่สามารถดับได้ด้วยความไม่รู้

    มีท่านผู้ฟังบางท่านเป็นห่วงมาก เรื่องของโลภะท่านก็บอกว่าท่านมีมาก เรื่องของโทสะก็มีมาก แต่ท่านจะทำอะไรกับโลภะโทสะของท่านได้ นอกจากจะต้อง ดับกิเลสไปตามลำดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิด โลภะก็เกิดเพราะมี เหตุปัจจัยต้องเกิด เพราะว่ายังไม่ได้ดับกามราคานุสัย

    กามราคานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก ปฏิฆานุสัย (คือ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจ) ของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์ อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก อวิชชาตกไปตามในธรรมสองประการนี้ ดังนี้

    วันหนึ่งๆ ไม่โลภะ ก็โทสะ เพราะอวิชชาซึ่งตกไปตามธรรม ๒ ประการนี้ ดังนี้

    มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา ซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับอวิชชานั้น ก็พึงเห็นดังนั้น นี้เป็นกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    แต่ละขณะที่ชอบครั้งหนึ่ง ก็เพิ่มความติด ความพอใจ ขณะที่โกรธ ขุ่นเคืองใจครั้งหนึ่ง กิเลสนั้นก็ยังไม่ได้ดับ ก็ต้องสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ที่ว่าจะดับกิเลส หรือบอกให้ละกิเลส จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่กำลังปรากฏ

    ข้อ ๒๘๐ กล่าวถึงจริตของสัตว์ทั้งหลาย

    ก็จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นภูมิน้อยก็ตาม เป็นภูมิมากก็ตาม นี้เป็นจริตของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกคนจะมีจริต คือ ความประพฤติในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ก็เป็นเพราะปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร แต่ในสมัยนี้คงไม่ถึง อเนญชาภิสังขาร เพราะต้องเป็นอรูปฌานกุศล สำหรับอปุญญาภิสังขารเป็นอกุศล ทุกประเภท ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงอธิมุตติของสัตว์ทั้งหลาย

    ข้อ ๒๘๑

    ก็อธิมุตติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุตติเลวก็มี มีอธิมุตติประณีตก็มี สัตว์ทั้งหลายผู้มี อธิมุตติเลว ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับสัตว์ผู้มีอธิมุตติเลวเหมือนกัน สัตว์ผู้มีอธิมุตติประณีต ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับสัตว์ผู้มีอธิมุตติประณีตเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น จะไปชักชวนใครให้มีความเห็นอย่างเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้จะอยู่ร่วมบ้าน บางคนก็มีความเห็นต่างกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๓ ตอนที่ ๑๗๒๑ – ๑๗๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564