แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717


    ครั้งที่ ๑๗๑๗


    สาระสำคัญ

    เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    จุดประสงค์ของการสวดมนต์ (การนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย)


    ที่กองสื่อสาร กองบิน ๒ ทหารอากาศ จังหวัดลพบุรี

    วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๐


    ถ. ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ปัจจุบันนี้มีคนที่ทำชั่ว เช่น เป็นคนคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ได้ดีมีอยู่มากมาย ผลการกระทำเช่นนั้นทำไมจึงตรงกันข้าม ไม่ปรากฏผลในปัจจุบัน ถ้าจะตอบว่า ผลการกระทำนั้นจะไปพบในชาติหน้า เราก็ยังไม่แน่ว่าจะมีชาติหน้าจริงหรือไม่ คนก็คงจะเห็นแก่ตนเพื่อความสุขสบายในชาตินี้เท่านั้น ใช่หรือไม่

    สุ. เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีข้อที่น่าคิดอย่างหนึ่งว่า ท่านที่ทำความดี ท่านทำเพราะอยากจะได้ผลดี หรือว่าท่านทำดีเพื่ออะไร หรือเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่ น่าคิด

    ถ้าทุกคนในโลกนี้ทำดีเพื่อหวังผล คือ หวังที่จะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ในขณะที่หวังจะได้สิ่งตอบแทนที่ดี ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตแน่ เพราะยังเต็มไปด้วยความหวัง ความติด ความต้องการ

    เพราะฉะนั้น คนที่ทำความดี ก็น่าจะจำแนกออกไปอีกว่า ความดีนั้นดีแท้ๆ คือ ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือว่าทำดีเพราะต้องการผลตอบแทน และ ระหว่างบุคคล ๒ คนนี้ คิดดู อยากจะเป็นบุคคลไหน คือ เป็นคนที่ทำดีโดยไม่หวัง ผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น กับเป็นคนที่ทำดีเพราะหวังว่าจะได้สิ่งตอบแทน

    ตราบใดที่ทำดีและหวังผล ได้รับผลดีแน่จากการทำดีนั้น เพียงแต่ว่าจะช้า หรือเร็วเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราทำไปในวันนี้ซึ่งเป็นเหตุจะทำให้เกิดผลได้ทันที เพราะว่าไม่มีกรรมอะไรที่ให้ผลเร็วอย่างนั้น นอกจากโลกุตตรธรรม คือ เมื่อมรรคจิตเกิดดับไปแล้วผลจิตเกิดสืบต่อทันที หรือสำหรับผู้ที่มีโอกาสพบพระอรหันต์หรือ พระอนาคามีที่ออกจากนิโรธสมาบัติ และมีโอกาสได้ทำกุศลกับท่าน ก็จะได้รับผลภายใน ๗ วัน

    รู้สึกว่าทุกคนพอใจที่จะได้ผลเร็วอย่างนั้น คือ ได้ผลเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี แต่ ในพระไตรปิฎกแสดงว่า ผล ๗ วันที่ได้รับนั้นไม่ใช่ผลมาก ผลมากจริงๆ ต้องเป็น การเกิดในชาติต่อไป ซึ่งจะทำให้เป็นผู้มีอายุยืน มีวรรณะ มีสุข มีพละ คือ เกิด ในสวรรค์ ซึ่งจะมีอายุยาวนานกว่าโลกมนุษย์ และมีสิ่งที่น่ารื่นรมย์กว่าในโลกมนุษย์ แต่ว่าคนไม่พอใจที่จะคอย ที่จะอดทน เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าการได้ผลใน ๗ วันนั้นพอแล้ว เพราะทำให้เป็นเศรษฐีมั่งมีขึ้นมาอย่างทันตา นั่นคือการหวังผลของกุศล

    แต่ที่ถูกแล้วน่าจะคิดว่า ความดีจริงๆ ต้องเป็นการทำโดยไม่หวังผล มิฉะนั้นเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสมาก จนกระทั่งแม้ทำความดีแล้วก็ยังไม่พ้นบ่วงของกิเลส คือ ยังมีกิเลสติดตาม คอยหวัง คอยรอผลของกรรมดีนั้น ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนั้น ไม่มีวัน ที่จะหมดกิเลส

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการหมดกิเลสจริงๆ เพราะเห็นโทษเห็นภัยของโลภะ ของโทสะ ของโมหะ ย่อมกระทำดีโดยไม่หวังผล แม้ว่ากรรมดีนั้นถึงอย่างไรก็ต้องให้ผล แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะความหวังในผล ซึ่งย่อมดีกว่า เพราะไกลจากบ่วงของกิเลส

    ถ. กราบเรียนอาจารย์สุจินต์ ขอให้ท่านอธิบายว่า เมื่อถึงคราวที่ท่านจะแตกดับไปนั้น ท่านจะไปอย่างไร มีอะไรเป็นที่ยึดที่พึ่ง

    สุ. ถ้าเข้าใจพระธรรมจริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคนในขณะนี้จะบอกไม่ได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นในขณะต่อไป ขณะนี้ดับไปแล้ว อะไรจะเกิด ขณะต่อไป มีใครรู้บ้างว่าจะได้ยินเสียงอย่างเมื่อกี้ ไม่มีใครทราบว่าจะได้เห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะได้กลิ่นอะไร จะลิ้มรสอะไร จะสัมผัสอะไร แม้แต่ใจของตัวเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไร ถ้าสิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้นจะไม่รู้เลย ทุกวันๆ ชีวิตดำเนินไปตรงตามหลักธรรมที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น สำหรับดิฉันเอง เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ดิฉันจะตายเมื่อไร จะแตกดับไปเมื่อไร และจะไปอย่างไร เหมือนกับขณะต่อไปก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่า จะเห็นหรือจะได้ยินอะไร หรือจะคิดนึกอะไร

    และที่ถามว่า มีอะไรเป็นที่ยึดที่พึ่ง

    ขณะจุติเป็นช่วงขณะที่สั้นที่สุด และก่อนที่จุติจิตจะเกิดก็ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย เหมือนกับเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าขณะต่อไปอะไรจะเกิด ซึ่งจุติจิต คือจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ และที่ชื่อว่าจุติเพราะทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ หมายความถึงสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานไปด้วยความเข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา

    ถ. คนเราเกิดมาเพื่ออะไร

    สุ. คำถามนี้น่าคิด และคำตอบก็มีอยู่ในชีวิตประจำวัน คือ ทุกคนที่เกิดมาแล้วไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ทำไมจึงต้องเกิดมา ไม่มีใครรู้ ชาติก่อนตั้งใจหรือเปล่าที่จะเกิดก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ เกิดมาแล้ว เมื่อเกิดมาแล้ว วันหนึ่งๆ เกิดมาเพื่ออะไร ก็เห็นคำตอบได้จากชีวิตประจำวันว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องกระทบสัมผัส และต้องคิดนึก

    นี่คือเกิดมาเพื่ออะไรในวันหนึ่งๆ ที่หลีกเลี่ยงบังคับไม่ได้เลย ถ้าใครจะบอกว่า ไม่อยากเห็นอีกแล้ว ไม่อยากได้ยินอีกแล้ว พอที ไม่อยากได้กลิ่น ไม่อยากลิ้มรส ไม่อยากคิดนึก ถึงจะไม่อยากสักเท่าไร ก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ที่ทุกคนเกิดมาจะโดยปรารถนาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไรก็ตามซึ่งตนเอง ก็ไม่ทราบ แต่มีเหตุที่จะให้เกิดขึ้นเพื่อเห็น เพื่อได้ยิน เพื่อได้กลิ่น เพื่อลิ้มรส เพื่อ คิดนึกถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน

    ทุกคน วันหนึ่งๆ อยู่ในโลกของความคิด ความคิดนั้นมาจากไหน มาจาก สิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง กระทบสัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ใครจะคิดถึงปัญหานี้หรือไม่คิดถึงปัญหานี้เลย แต่ทุกชีวิตที่เกิดมาเหมือนกัน คือ เกิดมาเพื่อที่จะเห็น ที่จะได้ยิน เป็นต้น ข้อสำคัญ คือ เราจะเพียงเห็น และได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และก็อยากจะเห็นอีก อยากจะได้ยินเพลงเพราะๆ อีก อยากจะได้กลิ่นหอมๆ อีก อยากจะได้รสอร่อยอีก ทุกวันๆ อย่างนี้ ไม่รู้จักจบ เท่านั้นหรือ หรือจะมีหนทางใดที่ทำให้เราสามารถเกิดสติปัญญา รู้จักเหตุและผล ในชีวิตขึ้น

    นี่เป็นสิ่งซึ่งผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนมีโอกาสมากกว่าศาสนิกชนอื่น เพราะว่าสามารถศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรม ในชีวิตประจำวันได้ และจะทำให้เข้าใจจุดประสงค์ของการที่เมื่อเห็นแล้วควรจะ เป็นอย่างไร ควรจะเป็นกุศล หรือควรจะเป็นอกุศล เมื่อได้ยินแล้วควรจะเป็นกุศล หรือควรจะเป็นอกุศล

    ถ้าเข้าใจละเอียดขึ้น ทุกคนเห็นแล้วก็เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ทุกคนได้ยินแล้วก็เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ซึ่งยังดีกว่าเกิดมาแล้วลุ่มหลง มัวเมา ติดข้องอยู่เฉพาะในการที่ ต้องการจะเห็น ต้องการจะได้ยิน ต้องการจะได้กลิ่น ต้องการจะลิ้มรสสิ่งที่ดีๆ เพียงชั่วขณะแล้วก็หมด วันนี้ทุกท่านคงได้รับประทานอาหารที่ถูกปาก แต่ขณะนี้ รสนั้นอยู่ที่ไหน เย็นนี้อาจจะได้รับประทานอีก ชั่วขณะที่บริโภคก็รู้สึกว่าอร่อย ชอบ หลังจากนั้นแล้ว รสนั้นอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งเป็นเพียงเครื่องล่อที่จะให้ติด หลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ผู้ที่ฉลาดแทนที่จะปล่อยให้เป็นอกุศล ก็ย่อมหาทางที่จะทำให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เข้าใจว่าชาติหนึ่งๆ ที่เกิดมา เราบำเพ็ญชีวิตเพื่อจะได้เกิดปัญญา มากน้อยแค่ไหน หรือว่ายังคงลุ่มหลงมัวเมาอยู่ต่อไป

    ถ. การระลึกชาติได้ก็ดี การตายแล้วฟื้นเล่าประสบการณ์ในปรโลกก็ดี เชื่อถือได้แค่ไหน

    อ. ถ้าความจำดีๆ ก็มักจะจำได้ แต่ผมไม่สนใจชาติก่อน สนใจชาตินี้ เดี๋ยวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ อยากจะเข้าใจให้ดีขึ้นๆ

    สุ. ถ้าจะระลึกชาติได้จริงๆ ต้องอบรมเจริญปัญญามาก ต้องบรรลุถึงฌานจิตขั้นต่างๆ และต้องฝึกหัดอบรม ย้อนถอยจากขณะนี้ไปถึงขณะเมื่อกี้ จนกระทั่งถึงเมื่อเช้านี้ จนกระทั่งถึงก่อนจะตื่นนอน จนกระทั่งก่อนจะนอน เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเกิด นั่นจึงจะเป็นการระลึกชาติที่ถูกต้อง

    ที่ถามคงจะหมายความถึงบางท่านที่อ้างหรือที่กล่าวว่า ท่านสามารถจดจำว่าอดีตชาติท่านเป็นใคร แต่ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แม้แต่บุคคลนั้นเอง ถ้าจะมีการพิสูจน์ก็ต้องคิดถึงว่า ประโยชน์อยู่ที่ไหน

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มุ่งถึงประโยชน์เป็นข้อใหญ่ เพราะถ้าระลึกชาติได้ อย่างที่คุณอัลลันพูดถึงเมื่อกี้ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าท่านจะนึกถึงศัตรู หรือคนที่ท่านไม่ชอบในขณะนี้ว่า ชาติก่อนเคยเป็นมารดา หรือชาติก่อนเคยเป็นบิดา ความรู้สึกของท่านต่อบุคคลนั้นเปลี่ยนไหมในชาติปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่มารดาบิดาอีกต่อไป

    ประโยชน์อยู่ที่ว่า ถ้าท่านจะคิดว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่เคยที่จะ ไม่เกี่ยวข้องกันโดยสถานหนึ่งสถานใด อาจจะเคยเป็นญาติ เป็นพี่น้อง เป็นมารดา เป็นบิดา เคยเป็นผู้มีพระคุณ เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านนึกถึงบุคคลนั้นด้วยความ ไม่พอใจ ถ้าจะระลึกในทางที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะทำให้ความไม่พอใจนั้นลดน้อยลง นี่ยังเป็นประโยชน์มากกว่าการที่จะมายึดติดข้องว่า ชาติก่อนเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนี้ ซึ่งสิ่งนั้นก็ผ่านไปแล้ว

    สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ หรือถึงแม้จะพิสูจน์ได้เป็นความจริงบ้าง บางราย ก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรจะยึดมั่น

    ถ. การสวดมนต์ได้ประโยชน์อย่างไร

    สุ. ข้อสำคัญต้องรู้ว่า สวดมนต์คืออะไร โดยมากธรรมเนียมไทยเรา ผู้ใหญ่ก็สอนให้สวดมนต์ไหว้พระตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผล แต่แม้กระนั้นก็ตามก็ยังสอนให้เข้าใจเพียงขั้นต้นว่า เป็นการนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าสำหรับเด็กที่จะเข้าใจได้ก็คือเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้ที่เลิศประเสริฐกว่าบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ควรที่จะนอบน้อมสักการะในผู้ที่ประเสริฐที่สุดในโลก นี่ก็เป็นความเข้าใจของชาวพุทธทุกคน

    แต่เมื่อโตขึ้นก็ควรที่จะได้เข้าใจให้ละเอียดขึ้นว่า การสวดมนต์นั้นมีความหมายว่าอะไร เช่น ที่ได้กล่าวเมื่อกี้ก็มีคำแปลด้วย คือ การน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย แต่ถ้าจะให้ละเอียดจริงๆ ต้องรู้ว่า ขณะนั้นจิตนอบน้อมจริงๆ ในขณะที่กล่าว คำสรรเสริญ ไม่ใช่อย่างในยุคนี้สมัยนี้ซึ่งมีการท่องคาถายาวๆ และบอกว่า ถ้าใคร ท่องได้จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ถ้าเป็นการสวดในลักษณะนั้น เพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นจิตใจของบุคคลนั้นไม่ได้น้อมระลึกถึงพระคุณ มากเท่าที่ควร เพียงแต่อาศัยว่าถ้ากระทำอย่างนี้แล้วจะได้รับผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการสวดมนต์ ซึ่งเป็นการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย

    ถ. การทำบุญ ควรตั้งจิตอธิษฐานอย่างไร

    สุ. กุศลหรืออกุศลให้ผลต่างกัน ถ้าเป็นกุศลก็ให้ผลที่ดี เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำบุญแล้วจะเห็นได้ว่า แต่ละคนตั้งความปรารถนาต่างๆ กัน ตามระดับขั้นของการสะสม ถ้าคนที่ยังติดพอใจในเรื่องโลกก็หวังที่จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แม้แต่พระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ได้ตั้งความปรารถนาขอให้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแว่นแคว้นของพระองค์ ขอให้ได้เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ได้ฟังพระธรรม และขอให้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมด้วย นี่คือความปรารถนาหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเป็นทั้งทางโลกและ ทางธรรมสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ก็ยังปรารถนาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ทางที่ดีที่สุด คือ ปรารถนาที่จะ มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง มีการได้ฟังพระธรรม และได้มีการเจริญกุศล

    ถ. การบำเพ็ญทาน การรักษาศีล และการปฏิบัติสมาธิ อย่างไหน มีอานิสงส์มากน้อยกว่ากันอย่างไร

    สุ. ต้องการผลมาก ใช่ไหม ที่ว่าการบำเพ็ญทาน การรักษาศีล การปฏิบัติสมาธิ อย่างไหนมีอานิสงส์มากน้อยกว่ากัน

    ผลมี ๒ อย่าง คือ ทางวัตถุอย่างหนึ่ง และทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นผลทางวัตถุ คือ ได้รูปดีๆ อยากได้วัตถุอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ หรือว่าสมบัติต่างๆ นั่นก็เป็นผลของบุญ แต่ถ้าจิตยังติดข้องในสิ่งนั้น ไม่ใช่ผลมาก หรือไม่ใช่อานิสงส์มาก เพราะว่าสิ่งที่ได้มายิ่งเพิ่มกิเลสขึ้น แทนที่จะมีการสละออก เพราะฉะนั้น สำหรับการบำเพ็ญทาน ไม่สามารถทำให้ละกิเลสได้

    การรักษาศีล ถ้าเข้าใจคำว่า ศีล จะรู้ว่ามีศีลหลายขั้น ซึ่งละเอียดขึ้นๆ แม้แต่ในการอบรมเจริญปัญญาก็จะขาดอธิศีลไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตได้ละเอียด โดยที่ว่ายังไม่ต้องมีการแสดงออก ทางกาย ทางวาจา เช่น ในขณะนี้ผู้ที่ไม่เคยเจริญสติ ไม่ได้อบรมเจริญสติ อาจจะ ไม่ทราบว่ากำลังคิดอะไร ถ้าถามว่ากำลังคิดอะไร อาจจะตอบไม่ได้เลย แต่ความจริงทุกคนต้องคิด เพียงแต่ว่าจิตที่คิดเกิดดับสลับเร็วมาก เดี๋ยวคิดเรื่องนั้น เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ถูกถามทันทีว่า กำลังคิดอะไร บางครั้งอาจจะตอบไม่ได้ทันทีว่า กำลังคิดอะไร เพราะว่าเป็นเพียงคิดเรื่องสีสันรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ ยังไม่ได้คิดเป็นคำ ยังไม่ได้คิดเป็นเรื่อง

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีอธิศีล คือ เป็นผู้ที่สามารถรู้ความละเอียดของจิตด้วยสติสัมปชัญญะ ในขณะนั้นย่อมเป็นหนทางที่จะทำให้ได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น คือ ไม่ใช่เพียงแต่ได้อานิสงส์ทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังได้อานิสงส์ในทางสติปัญญาด้วย

    สำหรับการปฏิบัติสมาธิเป็นเรื่องละเอียด ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะหลงปฏิบัติ มิจฉาสมาธิซึ่งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในขั้นของสมาธิ ควรที่จะได้ศึกษาก่อน ให้เข้าใจในเหตุผลโดยละเอียดจึงจะได้อานิสงส์ เพราะถ้าเป็นสมถภาวนา อานิสงส์สูงสุดจะทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล แต่ยังดับกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็น วิปัสสนาภาวนา อานิสงส์สูงสุด คือ ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอริยบุคคล ดับกิเลสได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    11 ก.พ. 2566