แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238


    ครั้งที่ ๑๒๓๘


    สาระสำคัญ

    อบรมปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง

    ขณะคิดไม่ใช่เรา เป็นจิตที่กำลังคิดทีละคำ

    โลภะ โทสะ โมหะไม่ได้อยู่ในหนังสือ

    สติระลึกแล้วปัญญาพิจารณา ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม


    สนทนาธรรม ณ สถานที่ประสูติ สวนลุมพินี ประเทศเนปาล

    วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖


    . สวดมนต์กับการเจริญสติ อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    สุ. ดีทั้ง ๒ แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิด เลือกไม่ได้ เพราะในขณะที่ สวดมนต์ สติปัฏฐานก็เกิดได้ ไม่ใช่ว่าต้องแยกกัน

    ถ. ผมสงสัยคำตอบเมื่อคืนนี้ที่ว่า เมื่อตาเห็นรูป หรือสัมผัสแข็งหรืออ่อน เมื่อระลึกอย่างนี้ ทำให้ไม่มีอารมณ์อื่นเกิดขึ้นตามมาอีก ใช่ไหม

    สุ. จิตเกิดดับเร็วมาก ไม่ใช่เราจะไปยับยั้งว่า หลังจากที่สติระลึกนิดหนึ่งดับไปแล้ว อย่างอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ เช่น ในขณะนี้ สติอาจจะระลึกที่แข็งนิดเดียว ต่อจากนั้นอย่างอื่นก็เกิดได้ ตาก็เห็น หูก็ได้ยินเสียงได้

    และสติเองเมื่อเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดต่อ สติก็ระลึกได้ต่อ หรือไม่ระลึกก็ได้ เป็นปัจจัตตัง เมื่อเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้เลยว่า สติของใครกำลังระลึกที่ไหน ระลึกบ่อยๆ หรือระลึกนิดเดียวและไม่ระลึกอีก หรือว่ายังติดตามระลึกต่อจากทางตา ไปถึงทางหู ไปถึงทางใจ

    . ผมหมายความว่า ถ้าตาเห็นแต่เพียงรูป หูได้ยินแต่เสียง สัมผัสมีแต่อ่อนแข็ง ต่อไปเวทนาหรือตัณหาจะไม่เกิด ใช่ไหม

    สุ. เกิดได้ ทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก ใครบ้างที่เวทนากับตัณหาไม่เกิด พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับกิเลสหมด แต่เวทนาก็ยังต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ให้ ทราบว่า สังขารธรรมทั้งหมดขณะนี้เกิดดับเร็วที่สุด ยับยั้งไม่ได้ แต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ จะมาคิดว่า เมื่ออันนี้เกิดแล้ว อันนั้นจะไม่เกิด ไม่มีใครสามารถรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมขณะอื่นเกิดต่อได้ ที่จะบอกว่าเมื่ออันนี้เกิดแล้วอันอื่นจะไม่เกิด เว้นเสียแต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสทั้งหลายไม่เกิด

    . วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ มีสภาพธรรมอย่างไร

    สุ. สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ปรากฏทางมโนทวารสืบต่อกัน จึงปรากฏลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่จำเป็นต้องไป นึกถึงข้างหน้าว่า นามรูปปริจเฉทญาณเป็นอย่างไร ขณะที่สติกำลังระลึกขณะนี้ มีความรู้ในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมบ้างหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และทำอย่างไรที่จะน้อมไป หรือพิจารณาอย่างไร ที่จะให้รู้ในธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งแยกขาดจากรูปธรรม เพราะว่าไม่ใช่ลักษณะของรูป

    นามรูปปริจเฉทญาณ จะเกิดได้ต่อเมื่อมีการระลึก และมีการรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมสามารถจะปรากฏทางมโนทวารสืบต่อกันทีละลักษณะ

    . ตามความเป็นจริงขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่ใช่เป็นอัตตสัญญา จะมีนามมีรูปเกิดสืบต่อกันโดยตลอดเวลาอย่างนั้น ใช่ไหม

    สุ. ขณะนี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่เพราะสติไม่ระลึก จึงไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้ว และก็ดับไป ลักษณะของนามธรรมอีกอย่างหนึ่งจึงเกิดสืบต่อกัน หรือแม้ว่าสติจะ ระลึกแล้ว แต่ปัญญายังไม่รู้ชัด ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า สภาพที่เกิดดับนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าไม่เห็นการดับไป ไม่เห็นการเกิดขึ้น มีแต่สิ่งที่ปรากฏต่อๆ กันไปอยู่เรื่อยๆ อย่างความรู้สึกขณะเกิด ใครระลึกได้

    เมื่อยังไม่ได้อบรมปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึง ไม่ประจักษ์ในขณะที่กำลังเกิด แต่ประจักษ์ในขณะที่ปรากฏแล้ว คือ เกิดแล้วยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น

    เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป อัตตสัญญา คือ ความจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องมี สภาพธรรมดับไปก็ไม่รู้ เกิดขึ้นก็ไม่รู้ มีแต่การปรากฏของสภาพธรรมต่อๆ กัน จึงทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เรื่อยๆ

    . ความคิดนึก ธัมมารมณ์ที่เป็นอัตตสัญญานั้นเป็นอย่างไร

    สุ. ธัมมารมณ์ คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น ทุกอย่างที่ได้ฟัง ลืมไม่ได้ ต้องเข้าใจจริงๆ และไม่สับสนอีก เช่น ได้ยินว่า ธัมมารมณ์หมายถึงสิ่งที่สามารถรู้ได้ทางใจ คำนี้จะสอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก แต่ รูปารมณ์สามารถรู้ได้ทั้งทางตาและทางใจ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ รู้ได้ทุกอารมณ์ รูปารมณ์ก็รู้ได้ สัททารมณ์ก็รู้ได้ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รู้ได้หมด รวมทั้งสามารถรู้ธัมมารมณ์ได้ด้วย

    . สมมติว่า เราโกรธ หรือโลภ เราคิดโลภ

    สุ. ขณะนั้นอะไรเป็นธัมมารมณ์

    . ความคิดโลภ ความต้องการ

    สุ. ความต้องการนี้เป็นอะไร อย่าลืม ถามย้อนกลับไปที่เดิม ความต้องการเป็นอะไร เป็นโลภะ โลภะเป็นอะไร เป็นจิต เจตสิก จิตเจตสิกเป็นอะไร เป็นนามธรรม นามธรรมเป็นอะไร เป็นสภาพธรรม สภาพธรรมเป็นอะไร เป็นสภาพรู้ สภาพรู้เป็นอะไร ต้องถามไปจนถึงที่สุด เพื่อจะได้ไม่ลืมเรื่องเดิมที่พูดกันไว้เมื่อคืนนี้และทุกๆ ครั้งด้วย

    . เป็นอัตตสัญญา

    สุ. เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องตามไปจนกระทั่งถึงว่า โลภะเป็นอนัตตา แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้ว่าเป็นอนัตตา จะว่าเป็นอะไรต่ออะไร ก็แล้วแต่จะ คิดชื่อขึ้นมา แต่ในขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นชื่อว่ามีโลภะเป็นธัมมารมณ์ได้ไหม หรือขณะที่กำลังคิด จิตที่คิดมีบัญญัติเป็นธัมมารมณ์ใช่ไหม เพราะไม่มีใครเห็นบัญญัติ ไม่มีใครได้ยินเสียงบัญญัติ เสียงไม่ใช่บัญญัติ แต่บัญญัติเป็นความหมายของเสียง

    . ผมคิดว่าจะสอดคล้องกับสัมผัส สมมติว่า ผมสัมผัสแก้ว แก้วก็เป็น อัตตสัญญา

    สุ. อย่าใช้คำภาษาบาลีได้ไหม เพราะอาจจะเป็นเครื่องกั้นคนอื่นซึ่งยัง ไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้ว่าอัตตสัญญาคืออะไร หรืออาจจะลืมไป เพราะฉะนั้น ก็เพียงกล่าวว่า รู้ว่าเป็นแก้ว ขณะที่รู้ว่าเป็นแก้ว

    . ทีแรกสัมผัส เป็นแข็ง และรู้ว่าเป็นแก้ว นี่คือทางสัมผัส แต่ทาง ธัมมารมณ์ เราจะโยนิโสนิการแบบเดียวกันได้ไหม

    สุ. โยนิโส ไม่มีใครโยนิโสได้ แต่อาศัยการฟัง ขณะนี้จิตและเจตสิกกำลังทำงาน จิตของแต่ละคนเกิดขึ้นทำกิจ และเจตสิกที่เกิดกับจิตก็ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าสติซึ่งเป็นโสภณธรรมเกิดในขณะที่ฟัง มนสิการเขาก็ทำกิจพิจารณา ของเขาเอง เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่มีเราจะไปทำโยนิโส ขอให้บอกมาว่าโยนิโส ทำอย่างไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขณะนี้จิตและเจตสิกกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิตและเจตสิกนั้นๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีมนสิการขั้นไหน จะมีปัญญาที่สะสมมา ขั้นไหน จะพิจารณาเข้าใจได้ขั้นไหน เป็นเรื่องของความเข้าใจทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องจะทำโยนิโส

    . หมายความว่า ความเข้าใจจะเป็นแบบสัมผัสหรือเปล่า สมมติว่า สัมผัสแก้วกับแข็ง อัตตสัญญาเป็นแก้ว แต่สัมผัสจริงๆ เป็นแข็ง ส่วนทางคิดนึก อัตตสัญญาคือเป็นเรื่องราว

    สุ. เป็นแก้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าสติจะระลึกในขณะนั้น คือ รู้ว่าขณะที่คิด ขณะที่จำนั้น ไม่ใช่เรา เป็นสภาพจำ เป็นสภาพคิด ทุกคนคิดทุกวัน แม้แต่ในขณะนี้ ถ้าสติระลึก ต้องเป็นโสภณธรรม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะเมื่อระลึกแล้วจะต้องสังเกตหรือเริ่มรู้ว่า ขณะคิดเป็นของจริง เป็นนามธรรม เป็นจิตที่กำลังคิดคำ ตัวตนจึงจะออกไปได้ เพราะรู้ว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นคิดคำเป็นคำๆ จิตในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ยิน จิตในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเห็น จิตในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่แข็ง แต่จิตในขณะนั้นกำลังคิด แล้วแต่ว่าจะคิดคำอะไร เช่น คิดคำว่า เน. คิดได้ไหม ได้ ขณะที่มีคำว่า เน. หมายความว่าจิตกำลังคิดคำว่า เน. ไม่ใช่เรา จะต้องรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นคิดคำ เพราะฉะนั้น เรื่องยาวมากขณะที่สติไม่เกิดก็ไม่รู้ว่าจิตจะต้องคิดทีละคำ ถ้าจิตไม่คิดคำที่ ๑ คำที่ ๒ จิตก็คิดต่อไปไม่ได้ คำที่ ๓ จิตก็คิดต่อไปไม่ได้ เรื่องก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เพราะจิตเกิดดับ อย่างเร็วมาก ซึ่งจิตก็คิดคำว่า อย่าง คิดคำว่า เร็ว คิดคำว่า มาก

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิด ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรทั้งหมด สติปัฏฐานเกิด เพื่อที่จะระลึก และรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราคิด แต่เป็นจิตที่กำลังคิดทีละคำ

    สนทนาธรรมที่โรงแรมกุสินารา ใกล้สถานที่ปรินิพพาน

    วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖

    ถ. เวลาเข้าไปในตลาด เห็นหลายๆ อย่าง มีทั้งมะเขือ พริก อะไรต่างๆ เราไม่ใส่ใจในมะเขือเทศ หรือในอะไรๆ แต่ใส่ใจในพริก ทั้งๆ ที่อย่างอื่นก็เห็น จะเรียกว่าโมหะ ได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ เพราะขณะที่ใส่ใจ ในขณะนั้นเป็นอีกขณะหนึ่งซึ่งกำลังมีโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา แต่วันหนึ่งๆ บางทีเราก็เผลอ นั่นคือลักษณะของโมหะ

    . ถ้าอย่างนั้น วันหนึ่งๆ ก็มีแต่โมหะทั้งนั้น

    สุ. ก็แล้วแต่ โลภะก็มี โทสะก็มี เรื่องสติปัฏฐานเป็นเรื่องรู้ทั้งหมด จะไม่เหมือนการศึกษาตามตำราและรู้จักชื่อทุกอย่าง อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง ก็บอกได้ นั่นคือการศึกษา ทุกคนมีความเก่งเสมอกันโดยการศึกษาปริยัติ สามารถจะบอกได้ว่า จิตแต่ละประเภทเป็นอย่างไร แต่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้สภาพลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    โลภะไม่ได้อยู่ในหนังสือแล้ว ถ้าขณะใดกำลังมีความสนใจ มีความใส่ใจ มีความต้องการดูมะเขือเทศ ดูส้มเล็กส้มใหญ่ นั่นคือลักษณะของโลภะทั้งหมด เพราะฉะนั้น โลภะไม่ได้อยู่ในหนังสือ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ปัญญาต้องรู้ลักษณะของโลภะซึ่งต่างกับโทสะ ซึ่งต่างกับโมหะ

    นั่งเผลอๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไรเลย ไม่ใช่ว่าขณะนั้นไม่มีกิเลส เมื่อไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ก็ต้องเป็นโมหะ

    . ง่วงนอนก็เป็นโมหะ ใช่ไหม

    สุ. ง่วงนอนเป็นโลภะหรือโทสะ เพราะถีนมิทธเจตสิกเกิดได้เฉพาะกับจิตที่เป็นสสังขาริก แต่โมหะไม่เป็นสสังขาริก โมหะไม่รู้เลย ไม่ใช่ง่วง

    . การเจริญเมตตา คือ วันหนึ่งขณะที่นั่งรถ มีเด็กคนหนึ่งขึ้นรถมา เป็นเด็กสลัม ก็จูงเด็กนั้นมานั่งด้วย ขณะที่จูงมานั่งด้วยรู้ว่าจิตในขณะนั้นไม่ใช่เมตตา รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ เด็กไม่มีที่นั่งเราควรเอาเขามานั่งด้วย ต่อมาอีกขณะจิตหนึ่งรู้สึกขยะแขยงขึ้นมา ก็รู้สึกว่าขณะนั้นเป็นโทสะแน่ๆ สักครู่หนึ่งเด็กนั้นไอ เมื่อได้ยินเสียงเด็กไอ ก็กอดเด็กนั้นเข้ามาอีก เข้าใจว่าเป็นความเมตตา อย่างนี้จะเป็นการตามระลึกรู้สภาพธรรมไหม

    สุ. ถูกแล้ว หมายความว่า เริ่มระลึกแล้ว แต่ว่าลักษณะสภาพของปัญญาที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ยังไม่มี แต่คล้ายๆ กับจะมีเงาของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละอย่างเพื่อให้พิจารณายิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องค่อยๆ เริ่มไปอย่างนี้

    . แต่เริ่มอย่างนี้ถูกแล้วใช่ไหม ตามรู้สภาพของจิต

    สุ. ใช่ เมื่อกำลังมีสิ่งที่ปรากฏและระลึกได้ ก็ถูก เรื่องผิดสำหรับคนที่เข้าใจสติปัฏฐานยากที่จะมีได้ เว้นเสียแต่จะมีความเป็นตัวตนลึกแค่ไหน เพราะฉะนั้น ก็มีความจงใจบ้าง มีความต้องการบ้าง มีการพยายามพากเพียรบ้าง ซึ่งในขณะนั้นจะเห็นลักษณะของตัวตนชัด จนกว่าความเป็นตัวตนจะค่อยๆ คลายออกจากลักษณะของสภาพเหล่านั้น เพราะรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นนามธรรมแต่ละชนิด

    . รู้ว่าสภาพนั้น ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นเมตตา

    สุ. เป็นลักษณะของเมตตา ไม่ต้องใส่จิต ไม่ต้องใส่อะไรเลย จะเป็นจิต จะเป็นเจตสิก ไม่ต้องสนใจเลย แต่ให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะ อย่างนั้นจริงๆ กำลังปรากฏ

    ถ. ชั่วเวลานิดเดียว ที่นั่งอยู่ในขณะนั้น จิตก็เปลี่ยนไปตั้งหลายอย่าง

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. หน้าหนาว เวลารู้สึกทีไร ก็รู้สึกแต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างอื่น ไม่ค่อยจะรู้สึกในแง่ที่เป็นสภาพธรรม รู้สึกว่า รู้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่เห็นมีประโยชน์เลย สู้รู้ทางตาไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า มีโทมนัสในอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า

    สุ. ขณะนั้นไม่พอใจ ใช่ไหม

    . ทางตาไม่ปรากฏ รู้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    สุ. ต้องสังเกตเอง รู้เองว่า ขณะนั้นเป็นความไม่พอใจหรือเปล่า ถ้าเป็นความไม่พอใจ จะใช้คำว่าโทสะก็ได้ ในภาษาบาลี แต่ภาษาธรรมดาก็คือความ ไม่พอใจ ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่า ใช่ไหมอันนี้ ถูกไหมอันนั้น ลักษณะของสภาพธรรมเกิดปรากฏอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    . แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีความสึกว่า รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่มีประโยชน์เท่ากับรู้ทางตา หรือรู้ทางหู

    สุ. ก็ระลึกต่อไป จนกว่าความเข้าใจอย่างอื่นจะเกิดขึ้นอีก

    . แต่มีความรู้สึกว่า ไม่มีประโยชน์

    สุ. เวลานี้เป็นอย่างนั้น ก็ระลึกไปว่า ที่กำลังคิดอย่างนี้เป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง และต่อไปก็ดูว่าจะระลึกที่ร้อนที่แข็งอีกหรือเปล่า และจะเห็นประโยชน์ไหมว่า ระลึกที่นั่นแล้วเป็นอย่างไร

    . ไม่เห็นประโยชน์

    สุ. ไม่เห็นประโยชน์ ขณะนี้เป็นนามธรรมที่ไม่เห็นประโยชน์ ก็ต้องระลึกในสภาพที่กำลังคิดว่า ไม่เป็นประโยชน์ เรื่องที่จะต้องระลึกนี้ ชั่วชีวิต ทุกขณะจิต คิดอย่างนี้ก็ต้องระลึกแล้วว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิด และก็หมดไป และจะระลึกที่แข็งอีก และจะคิดว่าไม่มีประโยชน์อีก ก็ต้องเป็นนามธรรมคนละขณะอีก จะให้มาคล้อยตามไปว่าไม่เป็นประโยชน์นั้น เป็นไปไม่ได้็เ็

    . รู้สึกว่า ทางตาจะมีประโยชน์มากกว่า

    สุ. คิดอย่างนี้ก็ต้องระลึกว่า เป็นนามธรรมที่คิด เพราะขณะนั้นยังเป็นตัวตน ความเป็นตัวตนนี้ต้องมากและลึก เพราะฉะนั้น จึงต้องเจริญปัญญารู้ทั่วจริงๆ แม้ในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น จนกว่าจะไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรื่องอื่นที่ว่าจนกว่าฉันจะ ทำถูก แต่ว่าจนกว่าจะไม่มีตัวตน ถ้าจะถูกก็คือขณะนั้นรู้ว่า เป็นสภาพคิด ไม่ใช่เรา นั่นจึงจะถูก ไม่ใช่ไปนั่งค้นคว้าว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ แต่ที่จะมีประโยชน์ คือรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิด นั่นคือการรู้ถูก ถูก คือ ระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน รู้ว่าเป็นสภาพคิด

    ที่จริงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานไม่มีอะไรเลย นอกจากระลึกไปๆ ทุกอย่าง เท่านั้นเอง ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพคิด

    . คือ มั่นใจในแนวทางที่ปฏิบัติที่ถูกต้องดีกว่า ใช่ไหม

    สุ. และอดทนที่จะเจริญต่อไป แม้ว่าผลจะเกิดยากแสนยาก ทีละเล็ก ทีละน้อยอย่างไรก็ตาม ก็ไม่เปลี่ยนว่าจะต้องไปหาวิธีอื่น นอกจากสติเกิดและระลึกจนกว่าจะรู้สภาพที่เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกแล้ว จะให้ปัญญาเป็นเพียงขั้นของการฟังต่อไป ก็ไม่ถูก แต่จะต้องมีการสังเกต พิจารณา ศึกษา ที่ใช้คำว่า ไตรสิกขา คือ พร้อมกับที่สติระลึก เพื่อจะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมตามธรรมชาติ ตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย

    ขณะที่ไม่ระลึก และพยายามที่จะทำอย่างนั้นระลึกอย่างนี้ ขณะนี้ แข็งๆ เป็นอะไร พยายามกดที่แข็งอีก หรือเห็นทางตา นี่เป็นอะไร ก็พยายามจ้อง มีไหม ที่เป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริง มี ใช่ไหม

    ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ปัญญาต้องรู้จนกระทั่งว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น ความเพียรในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ซึ่งการที่จะทิ้ง ที่จะละความเพียรในแบบที่พยายามฝืนให้หนักให้เหนื่อยก็ด้วยปัญญาที่รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ จะไม่พ้นไปจากลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ต่อให้เป็นการพากเพียรอย่างไร เป็นการไม่เห็นประโยชน์อย่างไร เป็นการไม่คิดอย่างไร ทุกอย่างหมด ก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ที่คิดอย่างนั้น ที่กำลังพูดอย่างนี้ ที่กำลังเห็นอย่างนี้

    . ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ก็รู้สึกว่า กำลังคิดว่ารู้จักลักษณะนั้นบ้างหรือยัง

    สุ. นั่นเป็นปัจจัตตังของแต่ละคน กว่าแต่ละคนจะเดินไปถึง ไม่มีคนอื่นรู้ได้ว่า จะต้องอดทนแค่ไหน พากเพียรแค่ไหน ต่อสู้แค่ไหนกับความต้องการที่จะให้ สติระลึก หรือให้ปัญญารู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๒๓๑ – ๑๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566