แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216


    ครั้งที่ ๑๒๑๖


    สาระสำคัญ

    สงฺ.มหา.สาเกตสูตร - แสดงลักษณะของอินทริยกับพละ

    สงฺ.มหา.ทัฏฐัพพสูตร - ว่าด้วยการเห็นอินทรีย์ ๕ ในธรรมต่างๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖


    ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่า หลายท่านมีศรัทธา แต่จะพิจารณาได้ว่า ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่การเจริญอินทรีย์ ๕

    ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นทั้งอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ ต่างกันที่อินทรีย์ ๕ เจริญขึ้น ย่อมเป็นพละ ๕ คือ ไม่หวั่นไหวในการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าเมื่อเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ละท่านไม่พอใจในอกุศล ซึ่งแสดงว่าสติปัฏฐานไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลว่า เป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่อกุศลนั้นๆ จะเกิดขึ้น อกุศลนั้นๆ ก็เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ที่จะเป็นพละ คือ ไม่หวั่นไหว เพราะสติสามารถระลึกรู้ในอาการ ในลักษณะของสภาพที่เป็นอกุศลนั้น และรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    และบางท่าน อาจจะเป็นผู้ที่ติดในกุศลโดยไม่รู้ เพราะเมื่อไม่ชอบที่จะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลซึ่งเกิดขึ้นปรากฏ เวลาที่กุศลเกิด ชอบ ดีใจ พอใจที่เป็นกุศล โดยที่ไม่ได้ระลึกรู้ว่า แม้ขณะที่เป็นกุศลนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องละเอียด และเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยทั่ว โดยตลอดจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะยึดถือกุศลบ้าง หรืออกุศลบ้างว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สาเกตสูตร ข้อ ๙๗๕ - ข้อ ๙๘๒ มีข้อความที่แสดงลักษณะของอินทริยะกับพละว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมิคทายวัน ใกล้เมือง สาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้วย่อมเป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้วย่อมเป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่หรือหนอ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้วเป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้วเป็นอินทรีย์ ๕ มีอยู่ ปริยายที่อินทรีย์ ๕ อาศัยแล้วเป็นพละ ๕ ที่พละ ๕ อาศัยแล้วเป็นอินทรีย์ ๕ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็น วิริยพละ สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็น สติพละ สิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออก หลั่งไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทางทิศตะวันออก ที่ตรงกลางแม่น้ำนั้นมีเกาะ ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวมีอยู่ อนึ่ง ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสก็มีอยู่

    เพราะว่ามีเกาะอยู่ตรงกลาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวเป็นไฉน คือ น้ำในที่สุดด้านตะวันออกและในที่สุดด้านตะวันตก (คือ ปลายน้ำ) แห่งเกาะนั้น ปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสเป็นไฉน คือ น้ำในที่สุดด้านเหนือและในที่สุดด้านใต้แห่งเกาะนั้น ปริยายนี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแส ฉันใด

    ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ … ฯลฯ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๕ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

    จบ สูตรที่ ๓

    ฟังแล้วเข้าใจไหม ดูเหมือนไม่ยากที่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะข้ออุปมา ซึ่งเห็นชัดเจนว่า แม่น้ำกระแสเดียว มีเกาะอยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้น ในส่วนที่นับว่า กระแสเดียวก็มี ในส่วนที่นับว่า ๒ กระแสก็มี เพราะมีเกาะคั่นอยู่ตรงกลาง

    แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ถึงอรรถของสัทธาพละและสัทธินทรีย์ได้ไหม เพราะเวลาที่สติเกิด สติเป็นใหญ่ในกิจการงานหน้าที่เฉพาะของสติ คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่หน้าที่ของปัญญา ปัญญาไม่สามารถที่จะระลึก แต่ปัญญาสามารถน้อมที่จะรู้ หรือพิจารณาสังเกตจนเป็นความรู้ขึ้น นั่นเป็นกิจของปัญญา

    เพราะฉะนั้น อินทรีย์แต่ละอินทรีย์ ก็เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต่างก็เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของตนๆ แต่ถ้ายังไม่สามารถระลึกในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นปรากฏ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ยังไม่เป็นพละ เพราะว่ายังไม่มีกำลัง ซึ่งศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิจะเป็นพละ คือ มีกำลังได้ ก็ต่อเมื่อปัญญาเป็นพละ หมายถึงปัญญาต้องมีกำลัง ได้อบรมเจริญสติมาพอที่จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของอกุศลธรรมขั้นใด หรือกุศลธรรมประเภทใดก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ก็จะเป็นพละตามปัญญาที่เป็นพละ เพราะไม่หวั่นไหวในการที่จะรู้สภาพที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    และเมื่อไม่หวั่นไหวที่จะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่เกิดขึ้น การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็ย่อมเป็นไปโดยราบรื่นยิ่งขึ้น เพราะว่าศรัทธาก็ดี วิริยะก็ดี สติก็ดี สมาธิ ก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหวที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่ไม่หวั่นไหว เป็นปกติ จึงเป็นอินทรีย์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนในขั้นที่เป็นอินทรีย์ ๕ นั่นเอง เพราะว่าลักษณะองค์ธรรมของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาที่เป็นอินทรีย์นั้นเองเป็นพละ และศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่เป็น พละนั่นเองก็เป็นอินทรีย์ตามปกติในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    . ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในขั้นสมถภาวนาจัดเป็นอินทรีย์หรือไม่

    สุ. อย่าลืมว่า การเจริญอินทรีย์ หรือพละ หรือสติปัฏฐาน ทั้งหมดนี้ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ผู้ที่ได้ฌานแต่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน มี แม้ก่อนที่ พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การอบรมเจริญอินทรีย์เพื่อการดับสังสารวัฏฏ์

    ถ้าเป็นอินทรีย์ หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สะสมอินทรีย์ ๕ ในการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่สะสมความพอใจ อิทธิบาทในการที่จะเจริญฌานด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ด้วยเหตุนี้ พระอริยสาวกจึงมีทั้งผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมกับฌานจิต และ ไม่พร้อมกับฌานจิต ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญฌานโดยที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ไม่ชื่อว่า เป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานและเป็นผู้ที่อบรมเจริญฌานด้วย ชื่อว่า เป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ เพราะว่าการเจริญอินทรีย์ต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    . อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ พละ แปลว่า กำลัง ธรรม ๒ หมวดนี้ คือ อินทรีย์และพละ มีองค์ธรรมอย่างเดียวกัน ความแตกต่างของอินทรีย์และพละเป็นอย่างไร

    สุ. อินทรีย์ เป็นใหญ่ในกิจการงานหน้าที่ของตน พละ เป็นสภาพที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหว ในขั้นต้น เจริญอินทรีย์ ๕ เพราะสติเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในการระลึกรู้ ซึ่งปกติธรรมดาในวันหนึ่งๆ ไม่ระลึกรู้ เป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือเป็นกุศล ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นสตินทรีย์ ในขณะนั้นสติ เป็นใหญ่ในการระลึกรู้ลักษณะสภาพของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นใหญ่ ทำกิจของอินทรีย์ แต่ยังไม่มีกำลัง เพราะว่ายังหวั่นไหว หลายท่านที่เจริญสติปัฏฐานไม่ชอบระลึกรู้ลักษณะของอกุศล ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า สติสามารถเป็นอินทรีย์เพียงในกิจของสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แต่ยังไม่เป็นสติพละ

    ต่อเมื่อใดไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นอกุศลขั้นใดก็ตาม สติก็ระลึกรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งนั่นแสดงว่า อินทรีย์เจริญขึ้น เป็นพละ เพราะว่าไม่หวั่นไหว

    . ผู้ที่เจริญอินทรีย์ ๕ ในขณะนั้นพละ ๕ ก็ต้องมีประกอบด้วย ใช่ไหม

    สุ. โพธิปักขิยธรรม หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นเครื่องประกอบในการที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพราะว่าปัญญาก็ตาม ศรัทธา ก็ตาม วิริยะก็ตาม สติก็ตาม สมาธิก็ตาม จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่แต่เพียงสติปัฏฐานเท่านั้น แต่จะต้องประกอบด้วยสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗

    . มีคนพูดกันว่า ตลอดเวลาที่ท่านพระอานนท์ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก จนกระทั่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ในระหว่างนี้คนส่วนใหญ่ คิดว่า ท่านไม่ได้เจริญอินทรีย์หรือเจริญสติปัฏฐาน เพราะท่านมัววุ่นวายเป็นกังวลอยู่กับการทำหน้าที่ เป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าจึงได้บรรลุธรรมล่าช้า

    สุ. คงจะมีคนที่อยากจะให้ท่านพระอานนท์บรรลุเป็นพระอรหันต์เร็วกว่านั้น ใช่ไหม ถึงได้กล่าวว่าอย่างนั้น

    . เพราะท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญามาก เป็นเอตทัคคะตั้ง ๔ - ๕ อย่าง

    สุ. อย่าลืม อัธยาศัย อธิมุตติของท่านพระอานนท์ ท่านตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก ในขณะที่พระสาวกองค์อื่นไม่ได้มีอัธยาศัยที่จะตั้งความปรารถนาเป็นพุทธอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจะเปลี่ยนแปลงการสะสมของตนเองได้ไหม ในเมื่อท่านพระอานนท์ครั้งหนึ่งได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็น พุทธอุปัฏฐาก ไม่ว่าท่านจะเจริญกุศลประการใดก็ตาม ก็เพื่อให้ความปรารถนาของท่านสำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปรารถนาที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก จะไม่ให้ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐากได้อย่างไร ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลเลย การที่พระสาวกแต่ละท่านจะเป็นเอตทัคคะในแต่ละทาง ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยของพระสาวกแต่ละองค์

    เมื่อท่านสะสมมาที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านก็กระทำกิจของท่านอย่างดีที่สุด ซึ่งพระผู้มีพระภาคเองก็ได้ทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ไว้มากว่า ไม่มีพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่จะเลิศยิ่งกว่าท่านพระอานนท์ และในเมื่อท่าน พระอานนท์มีอัธยาศัยที่สะสมมาอย่างนั้น และท่านสามารถเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในชาตินั้น ทำไมมีข้อติเตียนที่ท่านไม่บรรลุโดยรวดเร็ว ก็เป็นไปตามอัธยาศัย

    ไม่ทันใจของใคร ตัวของคนที่ไม่ทันใจนั้นบรรลุหรือยัง จึงไปคาดคั้นท่าน พระอานนท์ให้ท่านบรรลุเวลานั้นเวลานี้

    . เป็นพุทธประเพณีหรือเปล่า ที่พุทธอุปัฏฐากเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ต้องเป็นแค่พระโสดาบันเท่านั้น

    สุ. ไม่ทราบเหมือนกัน คงจะต้องค้นคว้าในอรรถกถา

    . ผมทราบมาว่า พุทธอุปัฏฐากถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว การต้อนรับ พระอาคันตุกะ หรือต้อนรับอุบาสก อุบาสิกาก็ดี อาจจะไม่เท่ากับพระโสดาบันก็ได้

    สุ. ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ท่านเป็นเอตทัคคะในการจัดเสนาสนะ จัดที่พักที่อาศัยของพระอาคันตุกะ และสามารถกระทำกิจของสงฆ์ได้อย่างดี เพราะเป็นเอตทัคคะ ตั้งความปรารถนาที่จะกระทำกิจนั้น เพราะเมื่อท่านบรรลุความเป็นพระอรหันต์และยังไม่ปรินิพพาน ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ควรจะทำประโยชน์อย่างใดที่ท่านสามารถจะกระทำได้ ท่านก็ทูลขอพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงมอบให้ท่านเป็นผู้จัดเสนาสนะสำหรับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไม่ขัดอะไร

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเดือดร้อนกับผู้ที่ได้บรรลุแล้วทั้งหมด ควรห่วงผู้ที่ยังไม่บรรลุมากกว่า ผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วหมดปัญหา แต่ผู้ที่ยังไม่บรรลุทั้งหลาย ควรที่จะได้อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ไปเรื่อยๆ ทำไมจึงมีข้อติแม้ผู้ที่เป็น พระพุทธอุปัฏฐากอย่างท่านพระอานนท์ว่า ท่านบรรลุช้า

    สำหรับการที่จะรู้ว่า อินทรีย์ ๕ ที่ได้อบรมเจริญมาแล้ว จะพร้อมหรือสมบูรณ์ในขณะไหน ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๘๕๒ - ๘๕๗ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ พึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมนี้

    โสตาปัตติยังคะ คือ องค์ธรรมของผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน

    ก็จะพึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมนี้

    ก็จะพึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นสตินทรีย์ใน ธรรมนี้

    ก็จะพึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในฌาน ๔ พึงเห็นสมาธินทรีย์ใน ธรรมนี้

    ก็จะพึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในอริยสัจ ๔ พึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล

    จบ สูตรที่ ๘



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564