แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242


    ครั้งที่ ๑๒๔๒


    สาระสำคัญ

    ความต่างกันของโลภะกับเมตตา

    อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ

    กรรมภพ

    เจตนา คือ กรรม

    การอบรมสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียว ที่จะดับกิเลสทั้งหลาย


    ณ สถานที่ทรงแสดงพระปฐมเทศนา สารนาถ เขตพระนครพาราณสี (ต่อ)

    วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๖


    ถ. เมตตากับโลภะใกล้กันมาก

    สุ. เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึก จึงจะเห็นความต่างกัน

    ถ. เมื่อวานที่คุณศุกลให้ เป็นเมตตา ใช่ไหม

    สุ. ถ้าสติไม่ได้ระลึก ใครจะตอบได้ คุณจรีย์ไม่มีทางที่จะรู้ความรู้สึกของ คุณศุกล เดาใจของตัวเองก่อนจะเดาใจของคนอื่น ถ้าเป็นใจของคุณจรีย์ คุณจรีย์ก็คิดเทียบเคียงว่า ขณะนั้นจะเป็นอย่างนี้หรือจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ เพราะว่าดับไปแล้ว ทำไมคุณจรีย์ให้คนนี้ได้ แต่ให้คนอื่นไม่ได้ เป็นเมตตาหรือเปล่า

    ถ. เขาให้ แสดงว่าเขามีเมตตา

    สุ. ใครจะรู้ใจของเขา คุณต้อยลองให้ และดูว่าขณะนั้นคุณต้อยมีเมตตาหรือโลภะ

    ถ. เป็นเมตตา

    สุ. เพราะยังไม่รู้ว่าเมตตากับโลภะนั้นต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้น อย่าไปถามคนอื่นเลยว่า ให้ด้วยโลภะหรือด้วยเมตตา

    ถ. ให้แล้วมานั่งสงสัย

    สุ. สงสัย ไม่มีทางรู้ก็อย่าสงสัย แต่สามารถที่จะรู้อะไรได้ก็เจริญปัญญาเพื่อรู้สิ่งนั้น ดีกว่าไปสงสัยเรื่องอื่นร้อยแปดพันเรื่องซึ่งไม่สามารถจะรู้ชัดได้

    ถ. เท่ากับเราเปิดโอกาสให้เขาทำกุศล

    สุ. ขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่รู้ได้ จิตของคนอื่นเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ปัดเรื่องของคนอื่นออกไป

    ถ. ศรัทธาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    สุ. หลายอย่าง การฟังก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาได้ การสะสมศรัทธาในอดีตก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดศรัทธาได้

    ถ. สภาพจิตของผู้อื่นที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ถ้าของผู้อื่นเป็นอกุศล ก็มักจะเป็นเหตุปัจจัยให้ ...

    สุ. ก็ไม่ใช่อกุศลของคุณธงชัย

    ถ. แต่มักจะทำให้เราเป็นอกุศลตามไปด้วย

    สุ. เพราะฉะนั้น คิดถึงใจของเราที่เป็นอกุศล อย่าไปคิดถึงอกุศลของคนอื่น

    ถ. แต่ใจเราคิดว่า เดี๋ยวเขาคงให้ด้วยความเมตตา คิดว่า ...

    สุ. จะมีประโยชน์อะไร ก็ไม่รู้อยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ก็อย่าไปสนใจ สิ่งที่เรารู้ไม่ได้ จิตของเราเองรู้ได้ก็ยังไม่อยากจะรู้

    ถ. รู้ได้ แต่ไม่ค่อยยอมรับ

    ถ. ไม่ยอมรับ นี่คือโทสะ ใช่ไหม

    สุ. ก็ให้สติเกิด และระลึก เพราะสภาพธรรมมีมาก มานะก็ได้ อะไรก็ได้ เป็นเรื่องชื่อ เราไม่จำเป็นต้องพูด แต่ระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏและจะรู้เองว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดไหน จะให้คนอื่นมาตอบแทนไม่ได้ แต่ถ้าสติระลึกจะรู้ได้ เช่น กำลังเห็น ไม่เคยรู้เลยว่ามีอกุศล แต่เมื่อมีสติจะรู้ว่า ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติซึ่งเป็นอกุศล แม้ในขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น จึงมีเห็นอย่างมีสติและอย่างหลงลืมสติ สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นนี้เอง ก็ยังมีขณะจิตที่ต่างกัน คือ ขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ และยังสลับกันได้ด้วย

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ทำไมจะไม่ได้ สติปัฏฐานสามารถที่จะแทรกเกิดระลึกรู้สภาพธรรม ทุกประเภทได้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นของจริง เพื่อให้บุคคลอื่นเกิดปัญญา หรืออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงให้หยุดอยู่ที่หนึ่งที่ใดด้วยความไม่รู้

    ผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ที่ฟังพระธรรม ซึ่งจุดประสงค์ของการฟัง เพื่อความเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วก็พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้อง จนสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้ว

    ถ้าฟัง เลื่อมใส แต่ไม่ปฏิบัติตาม ก็ยังไม่พอ เพราะดีเท่าไรๆ ก็ไม่มีวันพอ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    สนทนาธรรม ณ พุทธคยา วันเพ็ญเดือน ๖

    วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๖

    ถ. ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายปฏิจจสมุปปาทะ และปัจจัย ๒๔

    สุ. ปฏิจจสมุปปาทะ คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ปัจจัย หมายความถึง สภาพธรรมใดที่ทำให้สภาพอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้น เป็นปัจจัย ส่วนสภาพที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น เป็นปัจจยุบบัน คือ ธรรมที่อาศัยปัจจัยนั้นเกิดขึ้น

    ถ. ที่กล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป วิญญาณกับนาม น่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน ใช่ไหม

    สุ. แต่ถ้าแยก วิญญาณหมายถึงจิต นามหมายถึงเจตสิก รูปก็ได้แก่รูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิญญาณเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เป็นวิบากเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตด้วย เพราะถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด นามคือเจตสิกก็เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตไม่ได้ กัมมชรูปก็เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตไม่ได้

    ขณะแรกของทุกคนที่เกิด คือ ปฏิสนธิจิตเกิด และไม่ใช่มีแต่เฉพาะปฏิสนธิจิต แต่มีนามคือเจตสิกซึ่งอาศัยปฏิสนธิจิต จึงเกิดขึ้นพร้อมกัน และมีกัมมชรูปที่ต้องอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย กัมมชรูปนั้นจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต กัมมชรูปคือรูปของ แต่ละคนในขณะที่เริ่มเกิด ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนอาศัยกรรมต่างกันทำให้รูปต่างกัน ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิก็มีกลุ่มของรูปที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นต่างกันไป ตามกรรม

    ถ. อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบาย อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ

    สุ. อุปาทาน หมายความถึง การยึดติดมั่น ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

    ในหมวดของอุปาทาน ความยึดมั่น จะมีลักษณะของอุปาทาน ๔ อย่าง คือ

    ๑. กามุปาทาน หมายความถึง ความยึดมั่นในกาม คือ ยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนซาบซึ้งดีในความเหนียวแน่น ในความติด ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะว่า ยากเหลือเกินที่จะละได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอุปาทาน เพราะว่ายึดติดแน่นมาก

    ๒. ทิฏฐุปาทาน หมายความถึง ความเห็นผิด ซึ่งยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนบ้าง หรือเห็นว่าตายแล้วสูญบ้าง หรือเห็นว่าโลกเที่ยงบ้าง แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรม แต่ผู้ที่มีความยึดมั่นในความเห็นอย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะสละความยึดมั่นอย่างนั้นได้ นี่คือ ทิฏฐุปาทาน

    ๓. สีลัพพตุปาทาน สีละ กับ พรต หมายความถึง การยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด เป็นความยึดมั่นอย่างยิ่ง อย่างเช่น ที่เมืองพาราณสี เมื่อมีความเห็นผิดก็มีข้อปฏิบัติทางกายที่ผิดๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นความยึดมั่นว่า ข้อปฏิบัติทางกายเหล่านั้น เช่น การลงอาบในแม่น้ำคงคาวันละ ๓ ครั้งจะทำให้หมดกิเลสได้ นั่นคือ สีลัพพตุปาทาน การยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิดว่า เป็นหนทางที่ทำให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้

    ๔. อัตตวาทุปาทาน หมายความถึง การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นอัตตาหรือเป็นตัวตน ต่างจากข้อที่ ๒ คือ ทิฏฐุปาทานว่า เมื่อแยกอัตตวาทุปาทาน การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนออกแล้ว ทิฏฐิอื่นที่เหลือทั้งหมดเป็นทิฏฐุปาทาน

    เป็นเรื่องของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงก็ ไม่ทราบว่า มีการยึดติดในอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนยังไม่ใช่ พระอริยบุคคล จะต้องมีการยึดติดในทิฏฐิบ้าง ในความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนบ้าง ในข้อปฏิบัติที่ผิดบ้าง หรือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะบ้าง

    ถ. ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพคืออะไร

    สุ. ภพ คือ การเกิดขึ้น ได้แก่ กรรมภพและอุปปัตติภพ คำว่า ภพ มี ๒ อย่าง กรรมภพ ได้แก่ เจตนา คือ กรรม การกระทำต่างๆ ตามความยึดมั่นนั้นๆ และอุปปัตติภพ คือ การเกิดขึ้น

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ตัณหาเป็นความพอใจ อุปาทานเป็นการยึดติดแน่น ตัณหาเหมือนมือที่แบ คอยที่จะรับ ยื่นอยู่เรื่อยๆ แต่อุปาทาน เมื่อรับแล้วก็กำไม่ปล่อย

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. โลภะทั้งนั้น แล้วแต่ขั้น แล้วแต่ระดับ ชื่อตั้งมากมายตามลักษณะของโลภะ รูปลักษณะต่างๆ

    ถ. ดูเหมือนว่ากิเลสเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม กรรมทำให้เกิดวิบาก วิบากก็ทำให้เกิดไปเรื่อยๆ

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยหลายหลากนัยตามอัธยาศัยว่า ผู้นี้จะเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงโดยอย่างไร ถ้าแสดงอย่างนั้นไม่เข้าใจ แสดงอย่างนี้เข้าใจ ก็แสดงอย่างนี้ แล้วแต่ผู้ฟัง และสำหรับผู้ที่สามารถจะเข้าใจปฏิจจสมุปปาทะได้ทั้งหมด ก็แสดงทั้งหมดทันที เพราะฉะนั้น ขึ้นกับผู้ฟังว่า เมื่อได้ฟังแล้วใครจะเข้าใจได้แค่ไหน

    ถ. การละมานะ

    สุ. เจริญสติปัฏฐานจนถึงเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันละไม่ได้ พระสกทาคามีละไม่ได้ พระอนาคามีละไม่ได้

    ถ้าไม่มีหนทาง คือ สติปัฏฐาน กิเลสทั้งหลายดับไม่ได้เลย หนทางอื่นก็ไม่มี อย่าลืมว่า หนทางอื่นไม่มี เงินซื้อไม่ได้ ไปกราบไหว้วิงวอนขอร้องใครให้กิเลสหมดก็ไม่ได้ ต้องเข้าใจว่า สติ คือ สภาพที่สามารถระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    สิ่งที่เตือนใจที่ดีที่สุด คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อาจจะลืมไปแล้วว่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังอีกว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ก็อาจจะมีการระลึกว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นคืออะไร ทางไหน เพื่อสติจะได้ระลึกในลักษณะของสภาพนั้น และมีการสังเกต พิจารณา จนกว่าจะรู้ว่า ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้เป็นอย่างไร เท่านี้ ไปเรื่อยๆ ไม่ลืมที่จะรู้ว่าทางตามีของจริงกำลังปรากฏ เป็นอริยสัจได้สำหรับผู้ที่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ทางหูมีสภาพธรรมกำลังปรากฏเป็นของจริง และสามารถที่จะเป็นพระอริยะได้ถ้ารู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เหมือนกัน

    สนทนาธรรม ณ พุทธคยา (ต่อ)

    วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๖

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เรื่องของคนอื่นเขาจะเข้าใจอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไป วิตกกังวลถึง เพราะทุกคนมีอายุไม่มากเลย ที่เราพบกัน นั่งสนทนากันที่นี่ ก็เป็นช่วงหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ และต่อจากนี้ไปแต่ละคนจะไปทิศทางไหน ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเสียเวลาเรื่องของคนอื่น ก็พยายามให้เป็นประโยชน์ โดยทำอย่างไรจึงจะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยนัยต่างๆ ที่เราจะสนทนากันเพื่อให้สัจจญาณ มีความมั่นใจ มั่นคง ในอริยสัจรอบที่ ๑ คือ ทุกขสัจ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงสิ่งอื่นเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในขณะนี้ ที่กำลังเกิดดับ

    เมื่อความเห็นของเราถูกต้องแล้ว สติจะได้ระลึกถูกโดยมั่นคง ไม่หันเหไปที่อื่น เมื่อสติยังไม่ระลึก ก็สนทนากันเพื่อประโยชน์ คือ ให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏเดี๋ยวนี้ ซึ่งจะทำให้สัญญาความจำมั่นคงขึ้นในเรื่องของทุกขอริยสัจ เพื่อสติจะได้ระลึกจนกว่าจะรู้ชัด

    ถ. เวลาที่เดินข้ามแม่น้ำเนรัญชรา สภาพธรรมที่ปรากฏแทนที่จะเป็นความร้อน ก็เป็นความหิว

    สุ. ทำไมคุณสุรีย์ใช้คำว่า แทนที่จะเป็นความร้อน

    ถ. เพราะระลึกถึงความหิว กระหายน้ำ

    สุ. ความหิวเกิด ความหิวก็ปรากฏ แต่ใช้คำว่า แทนที่จะเป็นความร้อน หวังอะไร หวังว่าความร้อนจะต้องปรากฏ นี่คือความเป็นตัวตน ความติด ความ ยึดมั่นที่จะหลุดออกไปแสนยาก แม้เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว ฟังมาแล้วเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นอนัตตา แล้วแต่สภาพธรรมใดปรากฏ เพียงคำเดียว ขีดเส้นใต้ลงไป แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ไม่ใช่แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏ กลายเป็นว่าแทนที่จะร้อน

    เพราะฉะนั้น จะต้องตรึกตรอง พิจารณาใคร่ครวญธรรมมากสักเท่าไร แม้แต่เพียงคำเดียว บรรทัดเดียว เราเข้าถึงความหมายจริงๆ หรือยังในคำว่า แล้วแต่ สภาพธรรมใดจะปรากฏ

    ถ. เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ก็ทราบ แต่เวลาที่มาสนทนา ไม่ทราบว่า จะใช้คำพูดอย่างไรให้ถูกให้ตรงกับที่สภาพธรรม ...

    สุ. ก็ต้องบอกว่า ขณะนั้นความหิวปรากฏ ไม่ใช่บอกว่า แทนที่จะร้อน

    ถ. เป็นการเรียบเรียงคำพูดที่ไม่ถูกต้อง

    สุ. แสดงความหวัง ความติด

    ถ. อย่างนี้เรียกว่าเลือกไหม

    สุ. ไม่ใช่ แต่หมายความว่า ความเป็นตัวตนนี่มากมาย จนกระทั่งแม้แต่ความคิดของเราที่จะพูดออกมาก็ไม่พ้นไปจากการแสดงถึงตัวตนซึ่งยังไม่ได้ละคลาย

    ถ. ควรจะร้อน...

    สุ. แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏ ไม่ต้องมีคำว่า แทนที่จะร้อน

    ถ. เมื่อร้อนปรากฏก็รู้ร้อน เมื่อหิวปรากฏก็รู้หิว

    สุ. แต่ทำไมมีคำว่า แทนที่จะร้อน

    ถ. ที่ใช้คำว่า แทนที่จะร้อน เพราะร้อนมาก ร้อนจึงควรจะปรากฏ

    สุ. ก็กลายเป็นคิดเรื่องร้อนควรจะปรากฏ มีตัวตนว่า ควรจะอย่างนี้ ควรจะอย่างนั้น

    ถ. ความจริงไม่ได้เลือก แต่เวลาพูดรู้สึกว่าจะเรียบเรียงคำพูดไม่ถูกให้ตรงกับลักษณะที่ปรากฏ สภาพธรรมที่ปรากฏตอนสติเกิด คือ หิวปรากฏ

    สุ. เพราะฉะนั้น ถึงต้องคอยสะกิดนิดๆ ว่า เวลานี้กำลังมีอะไรที่ยังเป็นตัวตนเหลืออยู่โดยคำพูด

    ถ. ... เมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ก็ทรงพระดำเนินไปสอนเวไนยสัตว์ ระยะทางสุดแสนไกลก็ต้องทรงพระดำเนินไป คงจะลำบากยากเข็ญยิ่งกว่าเราที่เดินข้ามแค่แม่น้ำเนรัญชรา ทำให้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณในวันนี้ ซึ่งแต่ก่อนเมื่ออยู่ที่กรุงเทพเคยกล่าวกับเพื่อนว่า เวลาน้อมถึงพระพุทธคุณตามที่อาจารย์เคยสอนให้เจริญพุทธานุสสติ เวลาน้อมถึงพระพุทธคุณ พระปัญญาคุณจะปรากฏ เพื่อนคนหนึ่งก็บอกว่า เพราะคุณได้ศึกษาเรียนรู้พระธรรมก็ระลึกในพระปัญญาคุณ แต่คุณยังไม่ได้อ่านพระสูตร พระวินัย ถ้าคุณได้อ่านพระสูตร พระวินัย จะซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ อย่างในวันนี้เป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาคุณซึ่งซาบซึ้งที่สุดเลยจากความร้อนที่เดินบนทราย

    สุ. แต่ใครจะทุกข์กว่ากัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงพระดำเนิน บนทรายกับเราที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเดินบนทราย ใครจะมีความทุกข์มากกว่ากัน

    เราเปรียบเทียบตัวของเรากับบุคคลอื่น ซึ่งเราเข้าใจว่า พระองค์ทรงมี พระมหากรุณาคุณมาก ทรงมีพระบริสุทธิคุณ ทรงมีพระปัญญาคุณ ไม่มีผู้ใดสามารถเปรียบปานได้ แต่สติปัญญาของเราอันน้อยนิดที่เพิ่งจะเข้าใจพระธรรม ดูเหมือนกับว่า เราเห็นพระปัญญาคุณมากมายเหลือเกิน หรือพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณมากมายเหลือเกิน แต่ก็นับว่ายังเห็นเพียงส่วนน้อยที่สุดตามปัญญา ของเรา

    ถ. แต่ก็ยังดีที่ระลึกได้ตรงลักษณะนั้น

    ถ. สมาธิระหว่างที่ฟังอาจารย์แสดงธรรม กับสมาธิระหว่างที่เดินข้าม แม่น้ำเนรัญชรา ทำไมต่างกันมากนัก

    สุ. เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศล สมาธิที่เป็นอกุศลก็มี และสมาธิที่เป็นกุศล ก็มี เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังธรรม จิตก็อ่อนเป็นกุศล ไม่เหมือนกับขณะที่เป็นสมาธิเป็นความตั้งใจ แต่ว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะนี้อะไรปรากฏ นี่สำคัญที่สุด แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง กำลังเห็นอย่างนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566