แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250


    ครั้งที่ ๑๒๕๐


    สาระสำคัญ

    การละความเป็นตัวตน

    ไตรสิกขา ระลึกแล้วกว่าจะรู้

    ชีวิตประจำวันมากมายด้วยอกุศล

    จุดประสงค์นี่เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา


    สนทนาธรรมที่โรงแรมรานายานี นครกัตมัณฑุ ประเทศเนปาล

    วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖


    ถ. ถ้าเราคิดถึงเรื่องบุญกุศลที่ได้ทำไว้แล้ว แต่เป็นการคิดเฉยๆ ก็ยังเป็นประโยชน์ ใช่ไหม

    สุ. ต้องละเอียดขึ้นอีก ก็ยังดีกว่าคิดเรื่องที่ไม่ดี นี่ประการที่ ๑ แต่เมื่อคิดแล้วเกิดความสำคัญตนบ้างไหม นี่สำคัญที่สุด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดว่า มานะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งยกตนข่มคนอื่น หรือว่ามีความสำคัญในตัวตนขึ้นมา ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่ความสำคัญตนมี เรานี่ ตัวใหญ่ๆ โตๆ มีได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดถึงกุศลต้องระวัง โดยสติจะต้องระลึกต่อไปว่า ในขณะที่คิดสำคัญตนไหม

    บางคนอาจจะมาสรรเสริญเยินยอว่า ท่านผู้นี้กระทำกุศลไว้มากอย่างนั้น อย่างนี้ และบางทีเราก็อาจจะอ่านใจของคนที่พูดได้ว่าพูดทำไม คือ ทุกอย่างนี้ ออกมาจากใจ ซึ่งเมื่อคนนั้นเจริญสติปัฏฐานระลึกสภาพของจิตก็รู้ว่า จิตประเภทไหนทำให้วาจาอย่างนี้ออกมาได้ พร้อมกันนั้นก็ยังระลึกว่า เมื่อได้ยินคำอย่างนี้แล้ว จิตของผู้ฟังเองรู้สึกอย่างไร พลอยเบิกบาน ฟูขึ้น หรือก็เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว หรือ ลึกยิ่งไปกว่านั้น คือ ไม่มีตัวตนเลย เพราะฉะนั้น การทำกุศลจะบริสุทธิ์ขึ้นอีกเวลาที่ไม่หวังผล

    ตอนต้นๆ คนที่ฟังวิทยุใหม่ๆ มักจะถามกันมากว่า ทำอย่างนี้เป็นบุญไหม ทำอย่างนี้ได้บุญไหม ห่วงแต่ว่าจะเป็นบุญหรือเปล่า จะได้บุญหรือเปล่า แต่ที่จะเป็นการทำกุศลจริงๆ ที่บริสุทธิ์จริงๆ คือ ไม่ต้องคำนึงถึงว่า ถ้าเราถวายของเก่าใช้แล้ว ชาติหน้าเราจะได้ของเก่าใช้แล้ว นี่คือหวังเพื่อตัวตน ยังมีตัวตนที่ไม่อยากจะได้ของเก่า ไม่อยากจะได้ของใช้แล้ว ไม่อยากจะได้ของไม่มีค่า คือตัวตนยังไม่หมด

    แม้เป็นของใช้แล้วไม่สะอาด แต่ว่าเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ก็ล้างขัดเช็ดถูให้ดีเพื่อเขาจะได้ใช้ประโยชน์ และเราก็ให้เพื่อเขาได้ประโยชน์โดยที่ขณะนั้นไม่ได้คิดว่า ชาติหน้าเราจะได้อะไร เพราะไม่มีตัวตนที่จะไปหวังว่า ตัวเราจะต้องได้ของดีๆ เราจึงยอมให้

    ถ้าคิดว่า ให้ไปแล้วเราจะไม่ได้ของดี เราก็ไม่ยอมให้ นี่เพราะอะไร ก็เพราะว่าตัวตนไม่อยากจะได้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ควรให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ได้คิดว่า เมื่อเราให้เขา เขาจะให้เรา แต่การให้ที่ดีที่สุดควรจะเป็นว่า ให้เพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์และควรให้ ไม่สามารถที่จะยับยั้งการให้ได้ ในเมื่อเราเห็นว่าเขาต้องการและมีประโยชน์สำหรับเขา ก็ให้ไปเลย เราจะได้อะไรๆ ไม่ต้องคำนึงถึง นี่คือการละ ความเป็นตัวตนที่ว่าเราจะได้ของไม่ดี ไม่ต้องเป็นห่วงตัวเองว่าจะได้อะไร เมื่อเป็นประโยชน์แก่เขาก็ให้ไปเลย และก็ให้ด้วยความเคารพ ไม่ใช่เหมือนโยนให้ หรือ ทิ้งให้ หรือถือว่าผู้รับเป็นผู้ที่ต่ำกว่า

    บางคนให้แล้วยังผูกพันว่า เราเป็นผู้ให้ เขาเป็นผู้รับ ก็จะต้องมีการปฏิบัติ ตอบแทนซึ่งกันและกันวุ่นวายต่อไปอีกมากมาย ซึ่งนั่นไม่ใช่กุศลที่ว่าเมื่อเกิดแล้ว ก็ดับไป ไม่ใช่เรา แต่ผู้ให้กลับไปผูกพันว่า เมื่อให้แล้วคนนั้นต้องตอบแทนอย่างนั้นๆ

    ถ. ถ้าเราให้แล้ว ทำบุญแล้ว แต่เราลืมหมด

    สุ. ก็ไม่เป็นไร

    ถ. แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงจำได้หมด

    สุ. จำนี่ สัญญา ความจำต้องมี เพียงแต่ว่าวิตกเจตสิกจะตรึกนึกถึงเรื่องนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่จำไว้ วิตกเจตสิกก็ตรึกนึกถึงเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะสัญญาเป็นสภาพจำ จำทุกอย่าง แต่ที่เกิดดับมากมาย ที่จะนึกถึงเรื่องไหน ก็เพราะวิตกเจตสิกหรือสติเจตสิก ถ้าเป็นกุศล สติเจตสิกจะนึกออกทันทีว่า เราเคยตั้งใจไว้ว่าจะถวายทาน แต่บางคนก็ลืมไปเลย แม้แต่เวรัญชพราหมณ์ก็ยังลืมถึง ๓ เดือน คือ นิมนต์ พระผู้มีพระภาคประทับที่เมืองของเขา แต่ไม่ได้ถวายอาหารเลย จนกระทั่งพระภิกษุต้องไปเอาข้าวแดงของม้ามาตำมาโขลกให้พระผู้มีพระภาคเสวย แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคจะเสด็จหลังจากที่ประทับแล้ว ๓ เดือน เวรัญชพราหมณ์ จึงนึกได้

    เพราะฉะนั้น กุศลของบางคน เขาอาจจะคิด ตั้งใจ แต่ความหลงลืมก็มีได้ และเวลาที่สตินึกได้ ก็หมายความถึงนึกถึงกุศลที่ว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ นี่บาปบุญ มาอีกแล้ว

    ถ. เป็นกรรมของพระพุทธองค์ เวรัญชพราหมณ์ ...

    สุ. ก็เป็นเรื่องของเวรัญชพราหมณ์ ทุกคนก็ลืมกันทั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย และก็แล้วไป คือ อย่าไปผูกพันไว้มากกับจิตแต่ละขณะ ...

    ถ. ถ้าไปทำอะไรมา และได้อะไรที่ดีกว่าคนอื่นเขาหน่อย และเรามาเล่าเพื่อแสดงว่า การทำบุญจะได้อย่างนี้ เพียงเล่าเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้มีมานะ แบบนี้จะ มีไหม

    สุ. สภาพธรรมทั้งหลายเกิดและดับเร็วมาก ผู้ที่รู้คือตัวเอง จึงเป็นปัจจัตตัง คนอื่นรู้ไม่ได้จริงๆ จะไปถามใครเขาก็ไม่รู้ เมื่อสภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว แม้แต่ตัวเองจะตามไปรู้ก็ไม่ได้ นี่คือสภาพที่เป็นปัจจัตตัง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่สติระลึกละเอียด เพราะถ้ามีมานะแฝงสักนิดหนึ่งและดับไป เราอาจไม่รู้สึก แต่การที่จะดับกิเลสได้อย่างพระอนาคามีที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ก็เพราะท่านดับมานะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นความละเอียดของท่านที่จะต้องรู้ว่า สภาพที่เป็นมานะเกิดแทรกแซงขณะไหน อย่างไร ถ้าไม่รู้ ก็ดับไม่ได้เหมือนกัน

    สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน และยังไม่ละเอียด ก็จะต้องเพิ่มความละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น โดยละความเห็นผิดเท่านั้น แต่ยังละมานะไม่ได้ และรู้ตามความเป็นจริงว่า มานะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีหิริคือความรังเกียจก่อน จึงจะละมานะได้ แต่ถ้ายังไม่รังเกียจมานะ คิดว่าดี ต้องมีมานะ ชอบที่มีมานะ ก็ไม่มีวันละมานะได้

    ถ. พูดถึงเจตนาที่เราพูดไป ...

    สุ. ขณะหนึ่งซึ่งสติจะต้องระลึกว่า มีมานะแทรกหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ตรงและสติระลึกจึงจะรู้ได้ แต่ถ้าสติไม่ระลึก ก็รู้ไม่ได้ ก็รู้แต่เจตนาที่เป็นกุศล และเป็นเรื่องปัจจัตตังด้วย

    ถ. การลืมมีโมหะเกิดขึ้นด้วย

    สุ. เป็นโมหมูลจิตที่ลืม คือ ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏให้รู้ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต เหมือนที่คุณสัจจาเล่าก็ชัด คือ ไม่ได้หลับ แต่ไม่รู้ ขณะนั้นต้องเป็นโมหะ เพราะถ้าเป็นกุศล จะต้องศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏและรู้ เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญาไม่ใช่ให้เฉยๆ ไป ถ้าให้เฉยๆ ไป ปัญญาไม่มีทางเกิดได้เลย

    ถ. ขณะที่จิตไม่ดีเกิดขึ้น และระลึกในสภาพที่เป็นอกุศล ทำให้เราเฉยๆ ไม่หวั่นไหว ยอมรับในสภาพของอกุศลวิบากนั้น ถือว่าเป็นการละคลายไหม

    สุ. ถือว่าเป็นการบรรเทาได้ โดยมากถ้าละคลายจริงๆ เราใช้พยัญชนะนี่หละหลวม ถ้าละคลายจริงๆ ต้องเป็นเรื่องสติปัฏฐานเท่านั้นที่จะคลาย เพราะมีคำอื่นอีก เช่น คำว่า บรรเทา ระงับ พวกนี้ แต่จะใช้ก็ได้ ไม่ผิด ถ้าเราเข้าใจความหมาย คือ กุศลเกิดก็ยังดีกว่าปล่อยให้อกุศลเกิดสะสม ซับซ้อน ท่วมทับ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีกุศลหลายๆ ขั้น

    ถ. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    สุ. ถ้าขณะใดไม่รู้สภาพที่เป็นนามธรรม ไม่รู้สภาพที่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ขีดเส้นตายตัวได้ ขณะใดที่ไม่ได้ศึกษา สังเกต พิจารณาเพื่อจะรู้ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ระลึกทันที รู้ทันที เป็นสติปัฏฐาน แต่ระลึกแล้วกว่าจะรู้ ช่วงที่กว่าจะรู้ คือ ความหมายของไตรสิกขา ที่จะต้องศึกษาพร้อมสติ

    ผู้ฟัง การระลึกเรื่องอกุศล อย่างการฆ่าสัตว์ ระลึกถึงแล้วจิตใจเศร้าหมอง ถือว่าอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้อกุศลเจริญงอกงามขึ้น ถ้าจะมีการระลึกถึงสิ่งเก่าๆ ก็ควรจะระลึกถึงเรื่องที่เป็นกุศล

    สุ. ถ้ามีความเข้าใจถูกเป็นปัจจัย ก็ระลึกเป็นกุศลได้ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องเป็นอกุศลอยู่วันยังค่ำ บังคับจิตไม่ได้เลย แต่ปัญญา สภาพรู้ จะเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นเกิดกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล ถ้าบอกอย่างนี้แล้วให้ไปบังคับกัน ไม่มีทางสำเร็จ แต่ต้องให้เกิดปัญญาที่จะรู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้

    ชีวิตประจำวันมากมายไปด้วยอกุศล โดยที่ไม่รู้ตัว แต่ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอกุศล ความรู้นั้นจะค่อยๆ ละอกุศลไปทีละน้อย ตามกำลังของการสะสมว่า เคยสะสมมาพร้อมที่เมื่อฟังธรรมแค่นี้แล้วจะละได้แค่ไหน หรือว่าจะละได้บ่อย หรือว่าจะไม่บ่อย แต่ถ้าใครยังดื้อมาก หมายความว่าฟังเท่าไรๆ ก็ไม่ยอมละอกุศลของตน ก็เป็นบริษัทที่ว่ายาก

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกรุนแรงอยู่ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ยังไม่รู้จักอาจารย์ ดิฉันเคยโกรธมาก ทั้งชีวิตไม่เคยมีใครทำความเจ็บใจให้เท่านี้ ดิฉันสวดพาหุง จดชื่อเขาและนั่งทับเลย ในตำราเขาให้แผ่เมตตา แผ่ไม่ได้ เอาเป็นเอาตายทุกที อาฆาตเลย

    สุ. พาหุงเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่สวดถวายพรพระ แม้แต่ทางประเทศ เวลาเกิดสงครามในสมัยโบราณ ในตำราบอกว่า จะต้องสวดบนกำแพงเพื่อเอาชนะศัตรู พาหุงก็คือการชนะ ๘ อย่าง ดิฉันท่องได้เก่ง รู้คำแปลด้วย ดิฉันก็นั่งทับชื่อเขา ให้แผ่เมตตา แต่แผ่ไม่ลง

    สุ. หมายความว่า สวดแล้วนั่งทับชื่อเขา เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อแผ่เมตตา

    สุ. แผ่โดยตรงไม่ได้ ต้องไปนั่งทับ และสวดพาหุง

    ผู้ฟัง เพื่อจะเอาชนะเขา ก็ผิดอีกแหละ พาหุงเป็นคาถาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะศัตรู …

    สุ. เพื่อจะเอาชนะ ไม่ใช่เพื่อเมตตา

    ถ. บุคคลที่ทำอะไรไม่ดี เราถอยออกมา แต่ใจเราก็ยังเคียดแค้น

    สุ. เป็นปัจจัตตังอีก คือ เราก็ยังรู้ว่า เรายังมีกิเลส ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ยังอุตส่าห์ถอยออกมา ก็ยังดีกว่าไปรบให้ชนะ

    ผู้ฟัง ดิฉันอยากจะเล่าต่ออีกสักนิด เป็นความรู้สึกที่ไม่มีใครสอน ท่องไปไม่ใช่น้อย เป็นปี และมีความรู้สึกว่า เรื่องอะไรเราจะไปนั่นเขา กรรมทุกคนก็มี คิดได้เอง ถอยกลับเป็นไม่โกรธ สบายเลย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นว่ากรรมมี ดิฉัน ยังไม่ได้ฟังท่านอาจารย์ เพียงแต่นึกว่า เราจะหมดสิ้นถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขา กรรมของเขามี ก็ตัดขาด ไม่ไปยุ่งอีกเลย ไม่คิดถึงทั้งในด้านดีและด้านร้าย

    สุ. สติปัฏฐานดีที่สุด เวลาโกรธ เราก็รู้ว่าเรายังมีกิเลส มีปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาสิ่งที่ไม่น่าพอใจปรากฏ ก็เป็นปัจจัยให้โกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เราเลย พิจารณาจิตของเราแทนที่จะเป็นเรื่อง นี่คือสติปัฏฐาน แต่วันหนึ่งๆ สติปัฏฐานไม่ใช่จะเกิดได้ตลอดทุกสถานการณ์ ก็สลับกันไปอย่างนี้ จนกว่าจะถึงวันที่รู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีอกุศลเกิดขึ้นให้เห็น ซึ่งดีกว่าไม่มีอกุศลเกิดขึ้นให้เห็น เพราะจะคิดว่าตัวเองไม่มีกิเลส

    ถ. ... อย่างนี้จะเป็นสติหรือไม่

    สุ. ถ้าขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นสติขั้นหนึ่ง มีทั้งสติขั้นทาน มีทั้ง สติขั้นศีล มีทั้งสติขั้นความสงบ มีทั้งสติปัฏฐาน

    สนทนาธรรมที่โรงแรมนารายาณี นครกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

    วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

    ถ. ... เราได้ยินเฉยๆ ใช่ไหม

    สุ. นั่นคือหลงลืมสติ ขณะที่มีสติ มีการศึกษาพร้อมสติอย่างไรจึงจะรู้ว่าลักษณะ ...

    ถ. ก็ในเมื่อเกิดนิดเดียว

    สุ. นิดเดียวนั่นแหละ ปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้งความเกิดดับของ นิดเดียวนั้น จึงจะชื่อว่ารู้แจ้ง

    ถ. ขณะที่สติเกิด ก็เหมือนกับว่า เราได้ฟังเฉยๆ ถ้าจะพิจารณาเป็นรูปหรือเป็นนาม ก็แยกไม่ออกอยู่แล้ว

    สุ. นี่แยกไม่ออก แต่คนที่แยกออกมีไหม

    ถ. ก็ต้องมี

    สุ. ไม่ใช่องค์เดียวด้วย พระสาวกทั้งหมดเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีการเป็นพระอริยบุคคล ปุถุชนจะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม คุณธงชัยคิดว่าอย่างไร

    ถ. ผมคิดว่าชั่วโมงบินน้อยไป คือ จำนวนครั้งที่สติเกิด ...

    สุ. หมายความว่า ขณะที่เห็นสั้นจนเกินกว่าที่จะพิจารณารู้ได้

    ถ. ก็ไม่เชิง ผมคิดว่าสติผมยังเกิดน้อยไป

    สุ. หมายความว่า ผู้ที่รู้ได้มี แม้อารมณ์นั้นจะสั้นหรือเล็กน้อยสักเท่าไรก็ตาม ถูกไหม

    ถ. ถูก

    สุ. ไม่อย่างนั้นการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นโมฆะ คือ ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้

    ถ. ปัจจุบันอารมณ์ หมายถึงขณะที่ตาเห็นรูปหรือหูได้ยินเสียง ใช่ไหม

    สุ. คือ อารมณ์ที่กำลังปรากฏนั่นเองเป็นปัจจุบัน ยังไม่ดับ จึงปรากฏ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ธรรมดาๆ ทุกอย่างเหมือน ที่เคยรู้ แต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมใช้คำศัพท์ต่างๆ เรากลายเป็นสงสัย กลายเป็นไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้ว ก็คือรู้ของธรรมดาๆ อย่างนี้ ผิดกันที่ภาษาและความหมายที่ทรงใช้เพื่อให้เราเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เคยเข้าใจแม้ว่ามีอยู่ในชีวิตประจำวัน

    อย่างอารมณ์ปัจจุบัน คำว่า ปัจจุบัน ทุกคนก็รู้ ธรรมดาที่สุด คือ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต หมายความถึงสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ แต่เวลาเป็นธรรมเกิด อารมณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็เราเคยเข้าใจอยู่แล้วว่า ปัจจุบัน คือ สิ่งที่เรากำลังมี ทำไมจึงสงสัยในอารมณ์ปัจจุบัน

    ทำให้เห็นว่า เพราะไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมี คำอะไรที่เข้ามา ก็ทำให้ดูเหมือนว่าเราไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจแล้ว ใช้คำเหมือนเดิม อย่างอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น หมายถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ใครจะแปลคำว่าปัจจุบันโดยนัยอื่นไม่ได้ทั้งนั้น เว้นเสียแต่ว่าจะอธิบายให้คลาดเคลื่อน ทำให้งงไปกันหมดว่า อารมณ์ปัจจุบัน เป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นของธรรมดา ตรงกับที่เคยเข้าใจ ตรงกับที่ทุกคนเคยรู้ว่า ปัจจุบัน คือ สภาพธรรมหรือสิ่งที่กำลังปรากฏ จะไม่สงสัยเลย

    พระธรรมที่ทรงแสดง ก็ทรงแสดงตามธรรมดา ถ้าเอาคำว่าอารมณ์ปัจจุบัน มาแปลให้ไขว้เขวผิดปกติไป ก็ทำให้เราไม่เข้าใจคำนั้น แต่ถ้าเราไม่เคยได้ฟังคำไขว้เขวมาก่อน เวลาที่พูดถึงอารมณ์ปัจจุบันก็รู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติใดก็ตาม ซึ่งไม่ตรงกับปริยัติที่เรียนมาทั้งหมด ข้อปฏิบัตินั้นไม่ถูกแน่นอน

    ถ. ขณะที่สติเกิด จะโยนิโสมนสิการอย่างไร

    สุ. ใครโยนิโส

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. คุณธงชัยก็มาติดอยู่ที่ว่าเหมือนเดิมๆ ดิฉันจึงได้ถามว่า ผู้ที่รู้แจ้ง ถึงความเกิดดับแม้ว่ากำลังแข็งอย่างนี้ มีไหม ถ้ามี ซึ่งต้องมี และคุณธงชัยซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งความเกิดดับของแข็ง ก็ต้องอบรมเจริญไป จนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่ว

    ถ. บางทีเราพิจารณาแข็งเพียงอย่างเดียว แต่รู้แข็ง ...

    สุ. ก็พิจารณาต่อไป เมื่อรู้ตัวเองว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่ได้พิจารณาอะไร สติจะได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยพิจารณา จนกว่าจะรู้ มีอยู่คำเดียว คือ จนกว่าจะรู้ และเมื่อรู้ขึ้นแล้ว ก็ยังไม่พออีก จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

    ถ. การเจริญสติ หมายถึงการรู้สิ่งที่ปรากฏ ถูกไหม

    สุ. การที่สติระลึกรู้ว่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ

    ถ. ถ้าเป็นสติปัฏฐาน คือ พิจารณานามรูป อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร จึงไม่ใช่เรา จุดประสงค์เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เมื่อไม่ใช่เราแล้ว เป็นอะไร ถ้าไม่รู้ จริงๆ ก็ต้องเป็นเรา จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    แข็งนี่ดับไหม เมื่อปริยัติว่าดับ ปฏิบัติก็ต้องตรงกับปริยัติ เพราะฉะนั้น ถ้าข้อปฏิบัติใดไม่ตรงกับปริยัติ ข้อปฏิบัตินั้นผิด และเมื่อระลึกรู้ที่แข็งแล้วยังไม่ดับ จะทำอย่างไร จะให้คนอื่นมาโยนิโสให้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นไปเพราะโยนิโส แต่เป็นไปเพราะจะต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะรู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566