แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236


    ครั้งที่ ๑๒๓๖


    สาระสำคัญ

    ชีวิตทางโลกและทางธรรมไม่แยกกัน

    โลก ๖ โลก

    ไม่ใช่ไปรู้ชื่อ

    อัตตสัญญาคืออะไร


    สนทนาธรรม ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี (ต่อ)

    วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๖


    ผู้ฟัง เรื่องของปัจจัย ผมได้คิดและเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์แล้วว่า เป็นเรื่องที่ควรนำมาเผยแพร่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าเรื่องปัจจัยที่กล่าวโดยละเอียดอย่างนี้ยังไม่มีกล่าวไว้ที่ไหนเลย ผมเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรมาก แต่ผมนำเอาคำของหลวงพี่ซึ่งเป็นพระพี่ชายท่านเล่าให้ฟัง ท่านเป็นผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าอ่านอยู่ตลอดเวลา และท่านปรารภกับตัวเองว่า ชาตินี้คงจะหมดโอกาสเข้าใจเรื่องปัจจัย จนกระทั่งผมอัดเทปส่งไปถวาย ท่านก็ฟังและอ่านตำรานั้นต่อไป ท่านบอกว่า ชาตินี้คิดว่าจะหมดหวังเสียแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ท่านมีความเข้าใจมาก เพราะได้ฟังเทปประกอบกับการอ่านหนังสือ ลำพังการอ่านอย่างเดียวยากที่จะเข้าใจ หรือไม่มีทางที่จะเข้าใจ ผมเองก็ไม่เข้าใจว่ายากอย่างไร เพราะผมยังไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องปัจจัย แต่เมื่อมาฟังมีความเข้าใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้ว่า ปัจจัยนี้ยากมากจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่จำเท่านั้น

    ผู้ฟัง อาจารย์อธิบายจนเราเข้าใจ เพราะเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ดีมากเลย

    ถ. ในฐานะที่เรายังอยู่ในโลกนี้ ผมอยากจะเรียนถามว่า ทางโลกกับ ทางธรรม บางครั้งอาจจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เท่าที่ผมปฏิบัติมา เวลาที่สนใจใน ธรรมมาก ทางโลกรู้สึกว่าไม่อยากจะได้อะไร อย่างเช่น การงาน รู้สึกว่าจะทำไปทำไมมากมาย ไม่รู้จะเอาไปทำไม เรียนถามอาจารย์ว่า เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

    สุ. มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ สติปัฏฐาน

    . มัชฌิมาระหว่างทางโลกกับทางธรรม

    สุ. โลกกับธรรมแยกกันไม่ได้ คุณหมอไม่มีโลภะเลยหรือ

    . ก็มี แต่รู้สึกไม่ค่อยอยากจะได้อะไร หน้าที่การงานของเรา แทนที่จะทำให้ก้าวหน้าขึ้นไป ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม นี่พูดตามทางโลก

    สุ. ใจคุณหมอจริงๆ อยากจะให้โลภะน้อยลงหรือเปล่า

    . ก็อยากจะให้โลภะน้อยลง

    สุ. เมื่ออยากจะให้โลภะน้อยลง ก็น่ายินดีแล้ว ทำไมสงสัย

    . ผมถามระหว่างทางโลกกับทางธรรม ทางธรรมคงจะดีขึ้น แต่ทางโลก บางทีเพื่อนฝูง ที่เราเคยไปพบปะก็ไม่อยากจะไปเสียแล้ว เขาไปดื่มเหล้ากันบ้าง ก็ ไม่อยากจะไป นี่ผมเรียนถามเกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับทางโลก และระหว่างทางธรรม ซึ่งการปฏิบัติทางธรรมอาจจะดีขึ้น แต่ทางโลกเราหย่อนไป เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร

    สุ. คุณหมอเองก็ทราบว่า โลภะยังไม่หมด ใช่ไหม

    . ก็ยังไม่หมด

    สุ. เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะเกิดขั้น ซึ่งต้องเกิดแน่ๆ ก็รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้คุณหมอไปดูหนังกับเพื่อน หรือไปสนทนากับเพื่อน หรือจะฟังเทปอยู่ที่บ้าน ก็รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง

    ในเมื่อยังมีโลภะอยู่ แน่นอนที่จะต้องมีความยินดีเพลิดเพลินในบางโอกาส แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยอะไรเกิดขึ้นที่จะเพลิดเพลินยินดีในทางไหน ในฐานะที่เป็นผู้ที่ยังมีโลภะอยู่ ก็เป็นชีวิตจริงๆ

    . หมายความว่า เรากระทำงานสิ่งนั้นได้ แต่ให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ใช่ไหม

    สุ. บางคนอาจอยากจะตั้งอุดมการณ์ หรืออุดมคติ หรือแบบฉบับว่า อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะให้ตัวเองถึงขั้นนั้นขั้นนี้ในทางโลก ในทางธรรม แต่ไม่ว่าจะต้องการสักเท่าไรก็ตาม สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอาจไม่ตรงตามความต้องการก็ได้ เช่น ทุกคนคงอยากพร้อมทุกอย่างในรูปสมบัติ คุณสมบัติ อาจจะธรรมสมบัติด้วย ใช่ไหม นี่เป็นความหวัง ซึ่งเป็นที่น่าหวังและน่าชื่นชมยินดีด้วย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นกับเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น อยากจะหวังให้โลภะหมด ไม่สนใจว่าใครเขาจะว่าอะไร แต่ ถึงเวลาจริงๆ ถ้าไม่อยากจะไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนฝูง ในขณะเดียวกันก็อดที่จะนึกถึงเพื่อนฝูงไม่ได้ว่า เพื่อนจะว่าอย่างไร เราจะถูกคนอื่นเขาตำหนิติเตียนอย่างไร ในฐานะที่เรายังมีกิเลสอยู่ ถูกไหม

    . ไม่ถึงกับเพราะว่าเรายังมีกิเลสอยู่ แต่ในฐานะที่เรายังอยู่ในสังคม

    สุ. การที่จะเป็นบุคคลที่พร้อมให้บุคคลอื่นรัก ไม่ติเลย ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมีความมั่นคงว่า เราจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ตามที่เราตัดสินใจว่า สิ่งไหนจะดีกว่ากัน จะยอมคล้อยตามความเห็น ความคิด คำชมคำติของคนอื่น หรือจะเป็นผู้ที่อาจหาญ มั่นคง แน่วแน่ในการที่จะเป็นตัวเอง เมื่อกิเลสชนิดใดยังมีก็ยังมี ขณะใดที่ธรรมหรือความสนใจในธรรมขั้นไหนจะเกิดก็เกิด โดยที่ไม่หวั่นไหวต่อคำติหรือคำชมของคนอื่น

    . แม้แต่การงาน บางครั้งควรจะขยายอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม

    สุ. เหมือนกัน อย่างเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่แน่วแน่ในการตัดสินใจชั่วขณะหนึ่งๆ และเป็นผู้ที่รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    ขอยกตัวอย่าง คุณธงชัยลาออกจากราชการ คุณธงชัยเองก็มีบางขณะหรือ บางโอกาสที่คิดอาลัยถึงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ตำแหน่งหน้าที่การงาน ลาภ ยศ ใช่ไหม แต่ก็เพียงชั่วขณะๆ และรู้ด้วยว่า การที่คุณธงชัยลาออกก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องตามปกติ ซึ่งทุกๆ ขณะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยจริงๆ ที่จะให้เป็นอย่างนั้น บางขณะอาจจะต้องการลาภ บางขณะอาจจะต้องการยศ บางขณะอาจจะต้องการความสงบ บางขณะอาจจะต้องการละ ก็เป็นแต่ละขณะ จริงๆ ถ้าตัดสินใจที่จะไม่ก้าวหน้าทางโลก ชั่วขณะนั้นคิดอย่างนั้น แต่ว่าอีกขณะหนึ่งซึ่งกำลังขวนขวายเร่งรีบที่จะทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง เป็นปกติของชีวิต แต่ละขณะก็เกิดขึ้นเป็นไป

    . บางครั้งทางโลกกับทางธรรมก็แยกกัน

    สุ. ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น เรามีทั้ง ๒ อย่าง เรามีทั้งความพอใจในความก้าวหน้าของทางโลก ซึ่งทุกคนหวังว่าจะให้เป็นอย่างนั้น และในขณะเดียวกันก็ต้องการความเจริญในทางธรรมด้วย เพราะฉะนั้น โลกกับธรรมไม่ขัดกัน

    พระโสดาบันมีทั้งพระมหากษัตริย์ พ่อค้า นายแพทย์ และอื่นๆ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่โลภะ โทสะ โมหะ ยังมี เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ท่านวิสาขามิคารมารดาท่านก็ค้าขาย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบางครั้งถึงกับขาดทุนเป็นอันมาก ท่านก็มีความโทมนัส ท่านก็มีความโสมนัส ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ปัญหานี้ หลายๆ คน ก็มีความคิดอย่างนี้

    สุ. บางคนเขาอาจจะคิดว่า คนสนใจธรรม คนศึกษาธรรม คนปฏิบัติธรรม คนไปวัดไปวา จะต้องไม่มีความก้าวหน้าในกิจการงาน จะต้องไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของเขา ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎก แต่ละชีวิตก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย จากความเป็นปุถุชนถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นพระอรหันต์

    . พูดถึงธรรม และทางโลก ใช่ไหม

    สุ. มีประโยชน์ต่อทางโลกด้วย ไม่ใช่ต้องไปแยกกัน ไม่ใช่ว่าเราสนใจ ทางธรรมแล้วจะไปตัดความเจริญก้าวหน้าในทางโลก

    สนทนาธรรมที่โรงแรม เขตประเทศเนปาล

    วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๖

    สุ. สภาพธรรมแต่ละอย่างที่จะรู้ว่าไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะรู้ว่า แข็งเป็นแข็งเวลากระทบสัมผัส สิ่งนี้เมื่อเป็นความจริงแล้วจะเป็นของจริงที่ปรากฏ ทางตาให้เห็นลักษณะหนึ่ง และจะเป็นลักษณะที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสอีกอย่างหนึ่ง คือ ขณะที่กระทบสัมผัสจะแข็ง แต่จะไม่เห็นแข็งเลย ถูกไหม นั่นคือสภาพธรรม อย่างหนึ่ง แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่เคยเป็นมีดจึงไม่มี เพราะว่าแยกออกไปเป็นแข็ง ก็เหมือนกันกับโต๊ะ เก้าอี้ หรืออะไร ทุกอย่างคือธาตุชนิดหนึ่ง วัตถุอย่างหนึ่งซึ่งแข็ง แต่เวลามีสีสันมากระทบ ทุกคนจำขอบเขตว่า อย่างนี้เป็นถ้วยชามีหู อย่างนี้เป็นถ้วยแก้วน้ำ อย่างนี้เป็นมีด แต่เวลาหลับตาและสัมผัส แข็งเหมือนกันหมด นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง เมื่อสติเกิดบ่อยขึ้น อัตตสัญญา รู้สึกว่าพิจารณาแล้วเป็นธรรมชาติ มากขึ้น

    สุ. จนกว่าขณะที่กระทบสัมผัสก็รู้ว่าไม่ใช่ขณะที่เห็น เป็นอีกโลกหนึ่ง เพราะฉะนั้น เรามีแต่ละโลก ค่อยๆ รู้ว่า ตอนนี้กำลังมีโลกแข็ง เมื่ออยู่กับโลกแข็ง จะไม่มีอื่นเลย อย่างอื่นจะปรากฏไม่ได้ ซึ่งเราจะพูดอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมากี่ครั้งก็ตาม แต่ถ้าไม่ประจักษ์จริงๆ ว่า ขณะที่กระทบสัมผัสมีแต่แข็ง เป็นโลกของแข็งเท่านั้น ขณะนั้นสภาพธรรมก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นอนัตตา

    ที่จะปรากฏว่าเป็นอนัตตา คือ ลักษณะแต่ละลักษณะปรากฏโดยไม่มีอย่างอื่นรวมอยู่ จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ในขณะนี้ของจริง คือ ไม่มีเห็น ไม่มีเสียง มีแต่แข็ง ชั่วขณะหนึ่ง

    ผู้ฟัง หมายความว่า เราไปเห็นสีที่อื่น

    สุ. ไม่ใช่ ถึงเห็นสีนี่ก็ตาม ไม่ใช่แข็ง ต้องแยกออกระหว่างที่กระทบสัมผัส จึงจะรู้ว่า ๖ โลกนี้ต่างกัน โลกของแข็งจะไม่มีอย่างอื่นเลย พิสูจน์ในขณะนี้ กระทบสัมผัส โลกของแข็งจะไม่มีอย่างอื่นเลย โลกของสีก็ไม่มีแข็งปรากฏ ทีละโลก พิสูจน์ธรรมโดยการแยกออก ไม่อย่างนั้นต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ เพราะเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เวลาจับโต๊ะ ความรู้สึกว่าเป็นโต๊ะน้อยลง แต่ก่อนเมื่อสังเกตใหม่ๆ มักจะมีโต๊ะปรากฏ เวลาอยู่ในห้องน้ำ ภาพโมเสคมักจะปรากฏขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาบ่อยๆ สติเกิดบ่อยๆ รู้สึกว่า จะพิจารณาเฉพาะเย็นหรือแข็งเท่านั้น

    สุ. ก็ดีแล้ว

    . อัตตสัญญาก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ ปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

    . ก็เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง

    สุ. ถ้าระลึกถึงสัญญา และรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสัญญา ก็ใช่

    . การศึกษาเรื่องของจิต เจตสิก รูปนี้ ตามปริยัติเราเข้าใจ แต่จะสงเคราะห์ หรือเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร ที่ว่าให้ระลึกรู้ทุกอย่าง ที่ปรากฏ

    สุ. นี่เรากำลังฟังเรื่องจิต เจตสิก รูป แม้แต่คำว่า สัญญา ที่คุณธงชัยพูดเมื่อกี้ก็เป็นเจตสิก เมื่อฟังจึงรู้ว่า เป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา ซึ่งนั่นโดยขั้นตำรา แต่เวลาที่สัญญาความจำเกิดขึ้นว่านี่เป็นนี่ ไม่ได้รู้เลยว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสัญญา คือ ความจำในรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็ระลึกตามที่ฟังทั้งหมด ฟังเพื่อระลึกให้ตรงกับลักษณะที่ปรากฏ ถ้าไม่ฟังก็ไม่ทราบจะระลึกอย่างไร สัญญาคืออะไร อัตตสัญญา คืออะไรก็ไม่รู้ นั่นคือปรมัตถธรรมเรื่องจิต เจตสิก รูป สัญญาก็เป็นเจตสิก แข็งก็เป็นรูป สภาพที่รู้เป็นนามธรรม สภาพที่ไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม นี่คือจิต เจตสิก เป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่รู้

    ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงที่ผมเป็นอยู่ขณะนี้ เวลาฟังเรื่องจิต เจตสิก เป็นความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่เวลาที่บอกว่าเจริญสติปัฏฐาน ที่เราพูดถึงจิต เจตสิก รูป ไม่ได้มาติดต่อในเรื่องของการระลึก

    สุ. เพราะว่าเราไม่ได้ไปรู้ชื่อ ไม่ใช่สติเกิดและรู้ว่า นี่จิตเป็นกามาวจรโสภณประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร ไม่ใช่ไปรู้ชื่อ แต่เรียนเพื่อให้รู้ว่า จิตประเภทนี้ไม่ใช่ตัวตนเพราะอย่างนี้ๆ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกก็รู้ว่า นี่เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดที่ฟังว่า จิตเกิดขึ้นเพราะอะไร มีลักษณะอย่างไร มีเจตสิกประกอบเท่าไร รู้อารมณ์อะไร ทั้งหมดนี้ที่แยกเพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน จะมาเกื้อกูลเวลาที่สติระลึกและรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง ความเข้าใจยังไม่พอ

    สุ. มากเหลือเกินที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ละเอียดขึ้นๆ

    . ขณะที่เราถูกแดดร้อนๆ สภาพร้อนปรากฏ แต่ถ้าร้อนจัดๆ จะเป็นเวทนาไป

    สุ. ก็ไม่เป็นไร แล้วแต่อะไรจะปรากฏ

    . แทนที่จะเป็นรูป กลับเป็นเวทนาไป

    สุ. ก็ไม่เป็นไร เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทำไมต้องให้เป็นรูปอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเวทนาก็เป็นเวทนา ถ้ารูปปรากฏก็เป็นรูปปรากฏ เมื่ออะไรปรากฏ ก็เป็นสิ่งนั้นแหละที่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด เราจะใช้ภาษาบาลีก็ได้ ภาษาไทยก็ได้ให้รู้ว่า เป็นลักษณะของความรู้สึก ซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ถ. คือ รูปแรงๆ เช่น ความร้อน ถ้าโดนมากๆ เป็นเวลานาน เป็นเวทนา เจ็บปวดขึ้นมา หรือถ้าทางโสตทวาร เสียงมาแรงๆ ดังมากๆ เราเจ็บ เป็นเวทนา ใช่ไหม

    สุ. เราจะไม่ไปสงสัยอะไรแบบนั้นเลย เพียงแต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ถ. ก็อดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้

    สุ. เรื่องอดไม่ได้ ก็เป็นเรื่องอดไม่ได้แน่ๆ จนกว่าสติจะระลึกจนรู้ทั่ว ไม่อย่างนั้นคำว่า รู้ทั่ว ก็ไม่มี

    ถ. ถ้าเราคิดหาเหตุผลไปด้วย ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ภาวนาปัญญา

    สุ. เป็นประโยชน์ขั้นคิด ถ้าจะเอาประโยชน์ขั้นสติปัฏฐานต้องรู้ว่า แม้แต่คิดก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งแล้ว ประโยชน์มีหลายขั้น แม้แต่ทานธรรมดา ศีลธรรมดา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม รูปธรรม ไม่ใช่เรา ก็ยังเป็นประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ขั้นไหน

    . วันพรุ่งนี้เราจะไปกราบไหว้สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึง การระลึกในที่นี้จะเป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ แค่พระพุทธคุณจิตก็คงเป็นกุศลได้ ใช่ไหม

    สุ. กุศลมีหลายขั้น แล้วแต่จะเกิดเป็นกุศลขั้นไหน

    . แต่ความตั้งใจที่ว่า ไปถึงสถานที่นั้นแล้วเราจะระลึกถึง

    สุ. เวลานี้คุณศุกลกำลังคิดอย่างนี้ แต่เวลาไปถึงที่นั่นจริงๆ จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ขณะนี้กำลังคิดอย่างนี้ ไปถึงที่นั่นจริงๆ มีใครจะรู้ได้ว่า ใครจะคิดอะไร ต้องแล้วแต่เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ขณะที่กำลังพูดนี้ คือ กำลังคิดอย่างนี้ เท่านั้นเอง ปัจจุบัน คือ ขณะนี้ที่กำลังคิดอย่างนี้ อนาคตใครจะรู้ว่า ใครจะคิดอะไร อย่างไร พรุ่งนี้จะไปถึงที่ประสูติหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ

    . ขอเรียนถามเรื่องอัตตสัญญา ขณะที่เราเห็น

    สุ. ถ้าเราจะเปลี่ยนคำ ไม่อยากจะใช้ภาษาบาลีคำว่า อัตตสัญญา เพราะถ้าใช้แล้วงง อัตตสัญญาคืออะไรกันแน่ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงแต่กล่าวว่า จับขวด นั่นก็คือบาลีที่ใช้คำว่าอัตตสัญญา เพราะความหมาย คือ จับแข็ง ใช่ไหม จับสิ่งที่แข็ง จับสิ่งอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อกลายเป็นจับขวด นั่นคืออัตตสัญญา โดยที่เราไม่ต้องใช้คำว่าอัตตสัญญาก็ได้ถ้าจะงงกับคำนี้ เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีใครจับ ขวดได้ มีแต่จับแข็ง

    . ถ้าไม่เคยเห็นว่าอย่างนี้เป็นอะไร

    สุ. ไม่เคยเห็น หมายความว่า มืดๆ และอะไรกระทบก็แข็งอย่างนั้นหรือ

    . คือ ไม่รู้จักชื่อเรียกว่า ขวด ไม่เคยเห็น

    สุ. ไม่เคยเห็นแล้วจับ หมายความว่ามืด ต้องมืด ถ้าไม่มืดก็ต้องเห็น

    . ไม่เคยรู้จัก

    สุ. ไม่เคยรู้จัก คือ มืด และมีแข็งมากระทบ อย่างเราเข้าห้องที่ไม่มีไฟ เราจะต้องกระทบใช่ไหม ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งของของเรา อาจจะเป็นกระเป๋า หรืออะไรก็ได้ แต่ในความมืดเรายังไม่รู้ว่าเรากระทบถูกอะไร อย่างเราเปิดกระเป๋าขึ้นมา ไม่รู้ว่านี่เรากำลังคลำอะไร ทุกอย่างแข็ง ในเมื่อไม่เห็น ทั้งๆ ที่เป็นของของเราทั้งกระเป๋าเราควรจะจำได้ เพราะเราเคยเห็นมาก่อน อย่างยกเสื้อขึ้นมาจะรู้ได้อย่างไรว่า เสื้อตัวไหน ในเมื่อมืด ทั้งๆ ที่เราเคยจำได้ว่า เสื้อของเรามีสีนั้นสีนี้ แต่เมื่อมืดเราไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราจับเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ที่คุณหมอบอกว่า ไม่รู้จัก ก็คือมืด ถูกไหม ถ้าสว่าง คุณหมอต้องเห็น จะรู้จักชื่อหรือไม่รู้จักไม่สำคัญ

    ถ. เราก็รู้ว่า เราจับเสื้อ

    สุ. นั่นคืออัตตสัญญา ไม่ใช่จับแข็งหรือจับอ่อน อัตตสัญญานี้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเวลานึกถึง นึกถึงคน นั่นคือ อัตตสัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นอนัตตสัญญา สติจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ และรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เช่น แข็ง ที่จริงๆ แท้ๆ ก็คือแข็ง จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าไม่ชอบแข็ง เป็นไปไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๒๓๑ – ๑๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566