แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213


    ครั้งที่ ๑๒๑๓


    สาระสำคัญ

    อถ.ขุ. ญาณกถา - ทรงแสดงอัธยาศัยที่แต่ละบุคคลสะสมมา

    อภัพพสัตว์ เป็นไฉน

    องฺ.ฉกฺก.ภัพพสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖


    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๒๗๗ มีข้อความที่แสดงถึงอัธยาศัยที่แต่ละบุคคลสะสมมา ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ มิฉะนั้นแล้ว แม้ว่าจะเป็นตัวของท่านเองซึ่งกำลังเจริญอินทรีย์ ก็อาจไม่ได้ระลึกว่า ท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างไร

    ข้อความมีว่า

    ญาณในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

    ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทราบฉันทะเป็นที่มานอน กิเลสอันนอนเนื่อง จริต อธิมุตติของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบชัดภัพพสัตว์และอภัพพสัตว์ ฯ

    ขณะนี้มีใครพอที่จะบอกได้ไหมว่า ท่านมีอัธยาศัยอย่างไร รู้จักตัวเองถ่องแท้ละเอียดถี่ถ้วนพอที่จะกล่าวได้ไหมว่า ท่านสะสมอัธยาศัยอย่างไรมาบ้าง

    และทั้งๆ ที่ทุกท่านก็เจริญสติปัฏฐาน แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ หรือว่าเป็นผู้ที่ ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในชาตินี้

    ข้อ ๒๗๘

    ก็ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

    ข้อความตอนนี้แสดงถึงความเห็นผิดต่างๆ คือ ฉันทะที่เป็นฝ่ายอกุศล ในความเห็น ซึ่งในเรื่องของความเห็น แต่ละท่านจะเห็นได้ว่ามีมากมาย แม้แต่การที่จะเข้าใจข้อความในพระธรรมแต่ละส่วนแต่ละตอน บางท่านอาจจะเห็นอย่างหนึ่ง อีกท่านอาจจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา หรือการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ก็ย่อมมีฉันทะ ความพอใจในความเห็นต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นความเห็นผิด

    อนึ่ง พระตถาคตย่อมทรงทราบบุคคลผู้เสพกามด้วยยถาภูตญาณ คือ ทรงทราบผู้เสพกามว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในกาม มีกามเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในกาม

    เป็นแต่ละบุคคลจริงๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด ท่านก็จะไม่ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่อยู่ในประเภทไหนในการสะสมอัธยาศัย เพราะว่าแต่ละบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีย่อมมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่แม้กระนั้นในระหว่างผู้ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยกัน ผู้ใดจะเป็น ผู้ที่หนักในกาม มีกามเป็นที่อาศัย หรือน้อมใจไปในกาม ก็เป็นการสะสมที่แตกต่างกันไปตามขณะจิตของแต่ละบุคคล

    ทรงทราบบุคคลผู้เสพเนกขัมมะว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในเนกขัมมะ มี เนกขัมมะเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในเนกขัมมะ

    ทรงทราบบุคคลผู้เสพพยาบาทว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในพยาบาท มีพยาบาทเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในพยาบาท

    ไม่มีใครจะรู้ดียิ่งกว่าตัวท่านเอง เพราะว่าบางคนไม่ลืมเลย ไม่ว่าจะโกรธใคร ยังจำได้ เป็นอัธยาศัยจริงๆ คนอื่นๆ อาจลืมไปแล้วเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่คนนี้เป็นอัธยาศัยที่จำฝังใจไม่ลืม เพราะฉะนั้น ก็เป็นการตรวจสอบว่า ท่านอาจจะเป็นผู้ที่หนักในกาม แต่ไม่หนักในพยาบาทก็ได้

    ทรงทราบบุคคลผู้เสพความไม่พยาบาทว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในความไม่พยาบาท …

    บางคนโกรธจริง แต่เมื่อหายโกรธก็หายไปเลย ไม่มานั่งครุ่นคิดติดใจที่จะโกรธต่อไป หรือที่จะพยาบาทต่อไป

    ทรงทราบบุคคลผู้เสพถีนมิทธะว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในถีนมิทธะ …

    มีไหม ไม่ค่อยจะขยันเลย อาจจะชอบนอน

    ทรงทราบบุคคลผู้เสพอาโลกสัญญาว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในอาโลกสัญญา …

    ข้อ ๒๗๙

    ก็กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย

    กามราคานุสัย ได้แก่ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล อย่าคิดว่าดับหมดแล้ว อาจไม่มีปัจจัยที่จะเกิดในขณะหนึ่ง ในช่วงระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าดับหมด ไม่เกิดอีกเลย

    ปฏิฆานุสัย ได้แก่ ความขุ่นใจ หรือความไม่พอใจ โทสะนั่นเอง

    มานานุสัย ได้แก่ ความสำคัญตน

    ทิฏฐานุสัย ได้แก่ ความเห็นผิด

    วิจิกิจฉานุสัย ได้แก่ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

    ภวราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีพอใจในภพ ในการเกิด

    อวิชชานุสัย ได้แก่ การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

    กามราคานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก

    ชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกือบจะไม่รู้เลยว่า ทุกขณะทุกท่านแสวงหาอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดี แสดงถึงกามราคานุสัยว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก

    ปฏิฆานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก

    อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ อารมณ์ที่รัก ๑ อารมณ์ที่ไม่รักหรือไม่ยินดี ๑ เมื่อเป็นอารมณ์ที่ไม่รักไม่ยินดี มีใครบ้างที่จะวางเฉยไม่ขุ่นเคือง นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ยังมีปฏิฆานุสัย เพราะว่า ปฏิฆานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก

    สำหรับอวิชชานั้น ข้อความมีว่า

    อวิชชาตกไปตามในธรรมสองประการนี้ ดังนี้

    คือ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดี หรืออารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดี อวิชชาก็ย่อมจะเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๒

    ข้อความต่อไป

    มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา ซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับอวิชชานั้น ก็พึงเห็นดังนั้น นี้เป็นกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    กว่าจะอบรมเจริญอินทรีย์ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงแม้แต่อนุสัยซึ่งมีอยู่ประจำในจิตสันดานของแต่ละบุคคล

    ข้อความต่อไปทรงแสดงเรื่องจริตของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งการสะสมไปแต่ละขณะ ที่ละเอียดจะทำให้จริตต่างกัน

    ข้อ ๒๘๐

    ก็จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ท่านผู้ฟังตอบได้ไหมว่า จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ของตัวเอง ของ แต่ละคน จะมีจริตอย่างไร ก็เป็นไปตามที่สะสม คือ

    ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นภูมิน้อยก็ตาม เป็นภูมิมากก็ตาม นี้เป็นจริตของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    ปุญญาภิสังขาร คือ การปรุงแต่งของจิตที่เป็นบุญอันเนื่องจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือรูปฌาน ซึ่งก็ยังเป็นไปกับรูป

    อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ การปรุงแต่งเป็นไปในอกุศลทั้งหลาย

    อเนญชาภิสังขาร หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งเป็นอรูปฌานกุศล

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ยังไม่ได้เจริญฌาน ทราบได้ใช่ไหมว่า จริตของท่านก็ยังเป็นบุญบ้าง บาปบ้าง ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ข้อ ๒๘๑

    ก็อธิมุตติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    อธิมุตติ หมายความถึงอัธยาศัย

    สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุตติเลวก็มี มีอธิมุตติประณีตก็มี สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุตติเลวย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุตติเลวเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายผู้มี อธิมุตติประณีตย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุตติประณีตเหมือนกัน แม้ในอดีตกาล แม้ในอนาคตกาล หรือแม้ในปัจจุบันกาล คือ ในชาตินี้

    เป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงอัธยาศัยโดยละเอียด เพราะไม่ว่าจะเป็นอธิมุตติที่เลว อัธยาศัยที่เลว หรืออธิมุตติที่ประณีต อัธยาศัยที่ประณีต ก็มีต่างกัน จนกระทั่งไม่สามารถแสดงได้โดยตลอดว่า ส่วนเลวนั้นมีอะไรบ้าง ในวันหนึ่งๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ และส่วนดี คือ ส่วนที่ประณีตนั้นมีอะไรบ้าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ นอกจากสติของบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นและระลึกได้ในขณะที่สภาพนั้นๆ กำลังปรากฏ

    ท่านผู้ฟังคงจะมีความรู้สึกไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง จะเล็ก จะน้อย จะมาก มีบ้างไหม สังเกตหรือเปล่า ทุกท่านมีแน่ แต่บางทีมีแล้วไม่ได้สังเกต เมื่อไม่ได้สังเกต หรือสติไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่สามารถรู้ในลักษณะของอัธยาศัยที่เลวในขณะนั้นได้

    อกุศลทั้งหมดเป็นอัธยาศัยที่เลว การอดทนไม่ได้ในเมื่อควรจะอดทน เพียงเท่านี้เป็นอัธยาศัยหรืออธิมุตติที่เลวหรือเปล่า ถ้าสติไม่เกิดก็จะเข้าข้างตัวเองว่า คอยไม่ได้ รอไม่ได้ ช่วยไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทุกอย่าง แต่ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นกำลังเป็นอกุศล เป็นอัธยาศัยหรือเป็นอธิมุตติที่เลว ซึ่งถ้าฝ่ายที่ประณีตเกิดขึ้น จะตรงกันข้ามทันที ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นจะมีความอดทน จะมีความเมตตา จะมีความคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ โดยไม่รู้สึกมีความขุ่นเคืองใจ ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความรู้สึกขุ่นเคือง หรือขาดการอดทนเล็กๆ น้อยๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นกำลังสะสม อธิมุตติ คือ อัธยาศัยที่เลว เพราะว่าแม้ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ดูเสมือนเล็กน้อย ใช่ไหม ซึ่งทุกคนก็คงจะเห็นใจว่า ใครจะคอยได้ ใครจะรอได้ ไม่สมควรที่จะคอย ไม่สมควรที่จะรอ ควรที่จะกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ และสติเกิดระลึกได้จริงๆ สามารถจำแนกสภาพธรรมของฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลที่ต่างกันได้ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็จะสะสมอธิมุตติ คือ อัธยาศัยที่ประณีตขึ้น

    นี่ยังไม่ได้แสดงออกไปทางวาจา หรือทางกาย แต่ทางใจเกิดแล้ว ใช่ไหม การที่ไม่สามารถจะอดทน และถ้ามากกว่านั้น คือ ถึงกับแสดงด้วยกาย พอที่จะเห็นอัธยาศัยหรืออธิมุตติต่อๆ ไปอีกไหมว่า จะเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยหรืออธิมุตติฝ่ายเลว หรือฝ่ายประณีต ถ้าแสดงออกไปถึงขั้นวาจาอย่างรุนแรง ก็แสดงให้เห็นชัดถึงอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าบุคคลนั้นเองสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่ทราบอัธยาศัยของตนเองตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ จะทำให้เห็นสภาพธรรมตรงและละเอียดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งการสะสมอัธยาศัยเหล่านี้จะไปถึงข้อที่ อภัพพสัตว์ เป็นไฉน คือ ผู้ที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ข้อ ๒๘๒

    อภัพพสัตว์เป็นไฉน

    สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามใน กุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นอภัพพสัตว์ ฯ

    นอกจากจะเป็นผู้ที่มีกิเลสซึ่งมีกำลัง ยังมีกรรมเป็นเครื่องกั้น หรือว่ามีวิบาก คือ บุคคลใดก็ตามในชาตินั้น ปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ สามารถที่จะฟัง สามารถที่จะพิจารณา สามารถที่จะสะสมความเข้าใจหรือการเจริญสติปัฏฐานไป แต่ว่าไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่อย่าลืมว่า แม้ว่าจะไม่มีกรรม หรือไม่มีกิเลส หรือไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น คือ อาจจะเป็นผู้ที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิก แต่ไม่มีฉันทะ หรือไม่มีศรัทธา ก็ไม่อาจจะย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย สัมมัตตนิยาม คือ ความเป็นกุศล ในขณะนั้น เหล่านี้ เป็นอภัพพสัตว์ และบางท่านก็เป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธาด้วย ไม่มีฉันทะด้วย และมีปัญญาทรามด้วย คือ มีปัญญาน้อย หรือไม่มีปัญญานั่นเอง

    สำหรับผู้ที่เป็นภัพพสัตว์ คือ ผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ก็ตรงกันข้าม

    ข้อ ๒๘๓

    ภัพพสัตว์เป็นไฉน

    สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นภัพพสัตว์ ... ฯ

    แต่ละขณะที่เกิดขึ้นเป็นไป สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ละภพ แต่ละชาติ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมของตนเองตามความเป็นจริงว่า สะสมมาอย่างไร

    . ผู้ที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ ไม่มีปัญญา เป็นอภัพพสัตว์ พอจะเข้าใจ แต่ผู้ที่มีกรรม มีกิเลส มีวิบากนั้น หมายถึงกิเลส กรรม วิบากอะไร

    สุ. ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้น ๑ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีฉันทะ ๑ มีปัญญาทราม ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    ฟังธรรมก็จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรม และรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะการรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่เป็นการง่าย นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการฟัง การพิจารณา สนใจ จะต้องทราบว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ฟังแล้วจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าบางบุคคลเป็นอภัพพบุคคล คือ บุคคลที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในชาตินั้น เพราะมีเครื่องกั้น คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น

    กรรม คือ การกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งสำหรับกุศลกรรมย่อมไม่เป็นเครื่องกั้น และสำหรับอกุศลกรรมก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเครื่องกั้นทั้งหมด เพราะแต่ละคนก็มีอกุศลกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง แต่อกุศลกรรมอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปริกุปปสูตร ข้อ ๑๒๙ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ เป็นผู้ต้องไปอบาย ต้องไปตกนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ฆ่ามารดา ๑ ผู้ฆ่าบิดา ๑ ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ผู้มีจิตประทุษร้ายทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อ ๑ ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล เป็นผู้ต้องไปอบาย ต้องไปนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๙

    ถ้ากระทำอนันตริยกรรม ๕ ประการ ประการหนึ่งประการใด ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเป็นกรรมหนัก ซึ่งเมื่อได้กระทำแล้ว แม้จะสร้าง พระมหาเจดีย์สูงใหญ่ ทำกุศลมากมายสักเท่าไรก็ตาม เมื่อจุติ คือ จากโลกนี้ไปแล้ว ต้องปฏิสนธิในอบายภูมิ ต้องไปนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมต่อท่าน พระองคุลีมาล เพื่อให้ท่านพ้นจากกรรมที่เป็นเครื่องกั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมของท่าน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564