แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212


    ครั้งที่ ๑๒๑๒


    สาระสำคัญ

    ปฏิ - บุคคล ๓ ประเภท เป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว

    สงฺ.มหา.อุณณาภพราหมณสูตร - อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน

    ปฏิ.อินทริยกถา - อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญด้วยอาการ ๔

    อบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเจริญอินทรีย์ ๕


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖


    สำหรับบุคคล ๓ ประเภท ซึ่งเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้ว ข้อความใน ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

    บุคคล ๓ เป็นไฉนเจริญอินทรีย์แล้ว พระขีณาสพสาวกพระตถาคต ชื่อว่า พุทโธ ด้วยสามารถความเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ชื่อว่าเจริญอินทรีย์แล้ว พระปัจเจกพุทธะ ชื่อว่าพุทโธ ด้วยอรรถว่าตรัสรู้เอง ชื่อว่าเจริญอินทรีย์แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าพุทโธ ด้วยอรรถว่ามีพระคุณประมาณไม่ได้ ชื่อว่าเจริญอินทรีย์แล้ว บุคคล ๓ เหล่านี้ เจริญอินทรีย์แล้ว

    บุคคล ๘ เหล่านี้ เจริญอินทรีย์ บุคคล ๓ เหล่านี้ เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการดังนี้ ฯ

    พระขีณาสพ คือ ผู้ที่สิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์ กำลังเจริญอินทรีย์ ไม่ใช่ผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้ว เพราะผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้วมี ๓ ประเภท คือ พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ถ. คำว่า เจริญอินทรีย์ และเจริญอินทรีย์แล้ว หมายความว่าอย่างไร ขออาจารย์ช่วยขยายให้ละเอียดกว่านี้

    สุ. เจริญอินทรีย์ คือ ยังไม่เสร็จกิจ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ครบถ้วน กำลังเจริญอยู่ จึงชื่อว่าเจริญอินทรีย์ แต่ผู้ที่ดับกิเลสหมด คือ ผู้ที่ได้อบรมเจริญอินทรีย์แล้ว

    กัลยาณปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๗ เป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ แต่ยังต้องเจริญต่อไปอีก เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเพียงผู้ที่มีศรัทธา ที่จะนับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ยังไม่ชื่อว่าเจริญสัทธินทรีย์ หรืออินทรีย์อื่นๆ คือ ยังไม่ชื่อว่าเจริญวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ เพราะว่าอินทรีย์ ๕ นี้ ต้องเจริญด้วยกัน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปราศจากปัญญาซึ่งรู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง และสติปัฏฐาน ไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่การเจริญอินทรีย์ ๕

    ถ. ตามพระสูตรที่อาจารย์กล่าวถึงนี้ หมายความว่า ผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานอย่างถูกต้อง ผู้นั้นเป็นกัลยาณปุถุชน ใช่ไหม

    สุ. สำหรับผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชน ที่จริงจะต้องเป็นผู้ที่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วย เช่น วิปัสสนาญาณสามารถที่จะเกิดบ้าง เพียงแต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า แต่ถ้าโดยการสงเคราะห์สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจถูกที่มั่นคง ไม่คลอนแคลน และเป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ผู้นั้นย่อมเป็น กัลยาณปุถุชนได้ แต่เมื่อยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ย่อมจะมีความสงสัยอยู่มากว่าลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็น ผู้ที่มีความมั่นคงในขั้นของความเข้าใจที่ถูกต้องและเจริญหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณปุถุชนได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่กัลยาณปุถุชน ก็เป็นตามขั้นด้วย ขั้นการฟังเข้าใจถูกมั่นคง ขั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานถูกต้องมั่นคง ขั้นสามารถที่จะรู้แจ้งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณ ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นคงขึ้นของความเป็นกัลยาณปุถุชน จนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องทราบว่า ถ้าพียงแต่มีศรัทธา แต่ยังไม่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมแต่ว่าเข้าใจพระธรรมคลาดเคลื่อนทำให้การปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผู้นั้นย่อมไม่ใช่ผู้ที่เจริญอินทรีย์ ๕

    สำหรับเรื่องอินทรีย์ ๕ แม้จะเป็นเรื่องที่เคยได้ฟังมาแล้ว ซึ่งก็คงจะไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ แม้พระสาวกที่ได้รู้แจ้งพระอริยสัจธรรม ท่านก็เคยได้ฟังจาก พระผู้มีพระภาคองค์ก่อนๆ มาแล้ว แต่แม้ว่าท่านได้อบรมเจริญอินทรีย์พร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและกราบทูลถามเรื่องอินทรีย์ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ชราวรรคที่ ๕ อุณณาภพราหมณสูตร ข้อ ๙๖๖ - ข้อ ๙๗๔ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน

    ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และอะไรย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้

    เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติ ซึ่งน่ารู้ แทนที่จะอยากรู้เรื่องอื่น คนอื่น ประเทศอื่น โลกอื่น ทำไมไม่อยากรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นของจริง ซึ่งเห็น ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน เพราะฉะนั้น พราหมณ์ แม้ไม่ใช่เป็นพระภิกษุก็มีความสนใจที่จะรู้ในเรื่องของจักขุนทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และอารมณ์ของทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงได้เข้าไปเฝ้าและทูลถามเรื่องของอินทรีย์ ๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะมีความรู้สึกเหมือนกับอุณณาภพราหมณ์หรือเปล่า ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน คือ ทางตาเห็น แต่ไม่สามารถรู้เสียง ทางหูก็ได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถเห็น ดูไม่น่าประหลาด ไม่น่าสนใจ แต่ให้ทราบว่า น่าสนใจที่สุด เพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่ท่านผู้ฟังถามว่า ทางใจรู้อะไร คำตอบก็อยู่ในข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ ไม่ว่าทางตาจะเห็นอะไร ทางใจคิดถึงสิ่งที่ตาเห็น ไม่ว่าทางหูจะได้ยินเสียงอะไร ทางใจก็คิดถึงเสียงที่ทางหูได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น คงจะไม่มีปัญหาอีกว่า ทางใจรู้อารมณ์อะไร โดยเฉพาะผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทราบว่า ทางตาต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้ คือ เห็น ในขณะที่กำลังเห็น ทางหูก็รู้เสียง และสภาพรู้ คือ นามธรรมที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    บางท่านก็ถามว่า ทางใจรู้อะไร ถ้าเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ คำตอบก็ต้องถูกต้อง คือ ทางใจรู้สิ่งที่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัสนั่นเอง เพราะฉะนั้น ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของจริงทางทวารทั้ง ๖ ไม่ใช่ว่าทางใจจะต้องไปรู้อย่างอื่นหรือไปแสวงหาอย่างอื่นขึ้นมารู้จึงจะเป็นสติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้ที่กำลังปรากฏ คือ คิดนึกทางใจนั่นเอง

    ข้อความต่อไป

    อุณณาภพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจเล่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ

    อุณณาภพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติเล่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ วิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ

    อุณณาภพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุตติเล่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุตติ

    อุณณาภพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุดแห่งปัญหาได้ ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด

    ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

    ครั้นอุณณาภพราหมณ์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรือนยอด หรือศาลาคล้ายเรือนยอด มีหน้าต่างใน ทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไป แสงส่องเข้าไปทางหน้าต่าง ตั้งอยู่ที่ฝาด้านไหน

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในพระตถาคตของ อุณณาภพราหมณ์มั่นคงแล้ว มีรากเกิดแล้ว ตั้งอยู่มั่นแล้ว อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะพึงชักนำไปไม่ได้ ถ้าอุณณาภพราหมณ์พึงทำกาละในสมัยนี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ซึ่งเป็นเครื่องประกอบให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมายังโลกนี้อีก

    จบ สูตรที่ ๒

    หมายความว่า อุณณาภพราหมณ์ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจจริงๆ ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และหมดความสงสัยในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่าจะได้กราบทูลถามถึงอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพาน และ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุดแห่งปัญหาได้ ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด ถ้าได้เข้าใจตามอรรถนี้จริงๆ ประจักษ์สภาพธรรมจริงๆ ก็รู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นได้ ด้วยการเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยถูกต้อง

    ข้อความในปฏิสัมภิทามรรค แสดงเรื่องของอินทรีย์ ๕ ด้วยประการต่างๆ มากมาย เช่น อินทรีย์ ๕ เจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วเป็นขั้นๆ แสดงให้เห็นถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่จะเป็นไปโดยรวดเร็ว แต่จะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ด้วยอาการต่างๆ จนถึงขั้นที่เจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้ว เป็นขั้นๆ

    ขอกล่าวถึงข้อความบางตอนของ อินทริยกถา ใน ปฏิสัมภิทามรรค เช่นข้อความที่ว่า

    อินทรีย์บุคคลย่อมเจริญด้วยอาการเท่าไร เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้ว

    เพราะถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอยู่เรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะทราบได้อย่างไรและเมื่อไรว่า ได้เจริญอบรมอินทรีย์มาแล้ว และระงับบ้างแล้ว และระงับดีแล้ว เพราะฉะนั้น ข้อความใน ปฏิสัมภิทามรรค จึงได้อธิบายว่า

    อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญด้วยอาการ ๔ เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วด้วยอาการ ๔ คือ

    อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญในขณะโสดาปัตติมรรค เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วในขณะโสดาปัตติผล

    แสดงให้เห็นถึงความละเอียดว่า ขณะจิตที่ต่างกัน คือ ขณะที่เป็น โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลส คือ ความเห็นผิด เป็นสมุจเฉท ขณะนั้นบุคคลนั้นย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ ส่วนจิตที่เกิดต่อจากโสตาปัตติมรรคจิต คือ โสตาปัตติผลจิต ในขณะนั้นเป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้ว ฉะนั้น จึงเป็นขณะที่ต่างกัน เพราะว่าโสตาปัตติมรรคจิตเป็นกุศล ส่วน โสตาปัตติผลจิตเป็นวิบาก และในขั้นต่อๆ ไป คือ ในขั้นของสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ก็โดยนัยเดียวกัน คือ

    อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญในขณะสกทาคามิมรรค เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วในขณะสกทาคามิผล อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญในขณะอนาคามิมรรค เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วในขณะอนาคามิผล อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญในขณะอรหัตตมรรค เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้วในขณะอรหัตตผล ฯ

    มรรควิสุทธิ ๔ ผลวิสุทธิ ๔ สมุจเฉทวิสุทธิ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิสุทธิ ๔ (คือ มรรควิสุทธิ ๔ และผลวิสุทธิ ๔ นั่นเอง) ด้วยประการดังนี้ อินทรีย์ ๕ บุคคลย่อมเจริญด้วยอาการ ๔ เหล่านี้ เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว ระงับแล้ว และระงับดีแล้ว ด้วยอาการ ๔ เหล่านี้ ฯ

    เรื่องของการอบรมเจริญอินทรีย์ในแต่ละภพ แต่ละชาติ แต่ละขณะ ในสังสารวัฏฏ์นี้ ยังไม่รู้ว่าจะสมบูรณ์เมื่อไร จนกว่าโสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด ตลอดไปจนกระทั่งถึงโสตาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล

    เป็นชีวิตปกติธรรมดาประจำวันจริงๆ ซึ่งจะต้องอบรมเจริญไป และไม่มีผู้ใดสามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเจริญอินทรีย์ ๕ จะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น จะมีสภาพของจิตที่เป็นอกุศลประเภทใดเกิดขึ้น จะมีสภาพของกุศลจิตประเภทใดเกิดขึ้น แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ต้องในขณะที่สติระลึกเท่านั้นที่จะเป็นอินทรีย์ ที่จะทำให้สามารถละอกุศลที่กำลังเกิดปรากฏ โดยรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน หรือแม้กุศลก็รู้ว่าสภาพของกุศลนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระสาวกแต่ละท่านที่ทรงแสดงไว้มีอัธยาศัย ต่างๆ กัน ทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิตและผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ และสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม ใครจะรู้ว่า แต่ละบุคคลได้สะสมเจริญอินทรีย์พร้อมกับจิตประเภทใดๆ มาบ้าง ซึ่งผู้ที่จะรู้ถึงอัธยาศัยของแต่ละบุคคลได้ มีแต่พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564