แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218


    ครั้งที่ ๑๒๑๘


    สาระสำคัญ

    มหาสติปัฏฐาน คือ เครื่องระลึก

    “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง”


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๖


    ถ. ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีข้อความที่ว่า รู้กายในกายทั้งภายใน และภายนอก รู้เวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอก รู้จิตในจิตทั้งภายใน และภายนอก รู้ธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอก

    มีการสนทนากันว่า ขณะที่เห็นคนขับรถเมล์ถูกตัดหน้า และคนขับรถเมล์ที่ถูกตัดหน้านั้นได้ด่าทอผู้ตัดหน้า ในขณะนั้นมีโทสมูลจิตของคนขับรถเมล์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นชื่อว่า พิจารณาเวทนาในเวทนาภายนอกหรือยัง

    สุ. ขณะที่กำลังอยู่ในรถประจำทาง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หรือแม้ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ยังคงนั่งอยู่เรื่อยๆ ตามปกติ การเห็นมี การได้ยินมี การคิดนึกมี ซึ่งจะคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นก็ได้ หรืออาจจะคิดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ ไม่เลือกอารมณ์ ไม่ว่าจะกำลังคิดถึงจิตของคนนั้น หรือจิตของคนนี้ หรือว่าหนังสือ จะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้นอะไรก็แล้วแต่ อาจจะเกิดคิดขึ้นมาถึงจิตของคนนั้น นึกถึงว่าชื่ออย่างนั้น อ่านมาแล้ววันนั้น หน้านั้น เรื่องนั้น อย่างไรก็ตามแต่ ขณะนั้นไม่ควรหลงลืมสติ

    การที่จะรู้ว่า ทุกขณะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นปัญญาที่ระลึกได้จริงๆ ไม่ใช่ว่าปล่อยผ่านไปช่วงนี้ และก็เกิดสงสัยขึ้นว่าเป็นสติหรือเปล่า เป็นนามธรรมหรือเปล่า เป็นรูปธรรมหรือเปล่า แต่ที่จะต้องรู้แน่ คือ ทุกขณะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อสติระลึกได้และศึกษาในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่อาจจะมีการนึกคิดถึงจิตของคนอื่น กำลังนึกคิดถึงจิตของคนอื่นนั่นเองสติเกิดระลึกรู้ในสภาพคิด ซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง

    และการที่จะคิดเรื่องนั้น ก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดเรื่องนั้น จึงเกิดการคิดเรื่องนั้นขึ้น ถ้าไม่เห็น ไม่ได้อ่าน ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังเรื่องนั้นเลย ที่จะปรุงแต่งให้เกิดคิดนึกถึงเรื่องนั้นด้วยเวทนาอย่างนั้นๆ ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งส่วนมากในชีวิตของแต่ละคน รู้สึกว่าจะมีแต่เรื่องของบุคคลอื่น ใช่ไหม เห็นคนอื่นคุยกัน คนนี้ว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จิตของเขาคงจะเป็นมานะในขณะที่กำลังพูดถ้อยคำอย่างนั้น หรือว่าขณะที่พูดอย่างนั้นก็เป็นอาการที่หลงลืมสติ ก็เป็นเรื่องจิตของคนอื่นอีก

    เพราะฉะนั้น โลกสันนิวาสซึ่งอยู่ร่วมกัน จิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน และ มีอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพียงเป็นอารมณ์เท่านั้นจริงๆ คือ เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้แต่ละขณะและก็ดับ แต่ว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับแล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเสียงที่ปรากฏทางหู ดับแล้ว แต่ยังคงเป็นคนนี้พูดคำนี้ ใช่ไหม จิตของเขาจะต้องเป็นโทสะในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงใคร ในขณะไหนก็ตาม ขณะนั้นเป็นเครื่องระลึก ให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    จิตของบุคคลที่กำลังคิดถึงคนที่กำลังกล่าวคำผรุสวาท จิตนั้นเป็นใคร ของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย และไม่ใช่จิตเราด้วย เป็นแต่เพียงขณะหนึ่งของสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นคิดและก็ดับ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาที่คิดถึงคนขับรถประจำทาง

    ถ. ขณะที่มีโทสมูลจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ ขณะนั้นชื่อว่า รู้โทสมูลจิตของคนอื่น หรือว่าขณะนั้นกำลังมีความคิดนึกของตัวเองเป็นอารมณ์

    สุ. มหาสติปัฏฐาน คือ เครื่องระลึก ไม่ให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติ ต่อไปนี้ ไม่ต้องนึกถึงว่า ขณะนี้เป็นสติปัฏฐานไหน จิตใคร อะไร แต่ให้ทราบว่า หลงลืมสติหรือมีสติ ถ้าหลงลืมสติก็คือยังคงเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่ถ้ามีสติ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพคิด คนขับรถประจำทางหายไปแล้ว หรือว่ากำลังคิดถึงอกุศลจิตหรือกุศลจิตของคนอื่นก็ตามด้วยความหลงลืมสติ เมื่อระลึกได้ ก็ศึกษาลักษณะที่เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงสภาพรู้ในขณะนั้น จึงจะรู้ได้ว่า ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะว่าเป็นเพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นและรู้ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    ไม่ต้องห่วงกังวลอีกต่อไป เพราะไม่ใช่มีแต่คนขับรถประจำทางในชีวิตของ แต่ละคน ยังมีเพื่อนฝูงมิตรสหาย ทุกวัน ก็ยังคงเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ตราบใด ที่หลงลืมสติ

    ถ. ในขณะที่สติเกิด เราพิจารณาอารมณ์ มีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ อยากจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เพราะว่าสติมีหลายขั้น เกิดขึ้นเป็นสติขั้นทานก็ได้ ขั้นศีลก็ได้ ซึ่งผู้สนทนาบางท่านบอกว่า ในขณะนั้นยังไม่เป็น สติปัฏฐาน ลักษณะของสติไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เป็นสติปัฏฐานหรือไม่ เพราะท่านที่สนทนานั้นบอกว่า จะเป็นสติปัฏฐานต่อเมื่อน้อมอารมณ์นั้นเข้ามาในจิตของตนเองจึงเป็นสติปัฏฐาน แต่ตราบใดที่ยังไม่น้อมอารมณ์ คือ จิตของผู้อื่นเข้ามาในตนแล้ว เป็นสติปัฏฐานไม่ได้

    สุ. ไปน้อมจิตของคนอื่นเข้ามาในตนได้อย่างไร จิตของคนนั้นก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ระลึกถึงจิตคนอื่น อย่าลืม ระลึกถึงจิตคนอื่น คือ ขณะนั้นกำลังมีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องระลึก เพราะว่าวันหนึ่งๆ คิดถึงเรื่องจิตของคนอื่นหลายครั้ง แต่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเมื่อคิดถึงจิตของคนอื่นแล้วหลงลืมสติ ก็ให้ในขณะที่กำลังคิดถึงคนอื่นไม่หลงลืมสติ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะนั้น

    กำลังอ่านหนังสือสนุกๆ มีใครบ้างไหมไม่เคยอ่านเรื่องอะไรเลย เรื่องสนุกก็ต้องมีอ่าน เรื่องไม่สนุกก็ต้องมีอ่าน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ขณะใดหลงลืมสติก็รู้ ขณะใดสติเกิดก็รู้ จึงจะรู้ว่า ที่ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรื่อง มีแต่สภาพปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏนั้นคืออย่างไร ก็จะไม่พ้นจากกาย สภาพที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เวทนา ความรู้สึกปรากฏ จิต สภาพรู้ในขณะนั้นปรากฏ หรือธรรมอื่นๆ ปรากฏในขณะนั้นให้รู้ว่า แต่ละลักษณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปกังวลถึงคำ แต่ให้ทราบว่า ในชีวิตจริงๆ ที่นึกถึงคนอื่น ขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติเริ่มระลึกได้ เอาตรงที่สติเกิดและระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่ใช่เราที่กำลังนึกถึงคนอื่น หรือที่กำลังนึกถึงจิตใจหรือความรู้สึกของคนอื่น เพื่อไม่ให้เป็นผู้ที่หลงลืมสตินั่นเอง ในชีวิตประจำวันจริง ๆ

    กำลังดูโทรทัศน์ นึกถึงจิตคนอื่นหรือเปล่า กำลังเห็นเรื่องต่างๆ เป็นตัวนั้นตัวนี้ คนนั้นคนนี้ ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นจิตของคนอื่นหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น มีคนจริงๆ หรือเปล่า มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในโทรทัศน์ ในเรื่องหนังละครต่างๆ หรือเปล่า ในขณะที่กำลังดู มีไหม

    ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่จะต้องพิสูจน์ได้ โดยการที่สติเกิดจึงจะรู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นเรื่อง เพราะว่าทันทีที่คิด ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นไปในสมมติสัจจะ ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แม้ในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ จะมีจิตของใคร ใครพูดว่าอย่างไร คนนั้นตอบว่าอย่างไรก็ตามแต่ คนนั้นกำลังโกรธ คนนี้กำลังโลภอย่างไรก็ตามแต่ ให้ทราบว่า เป็นเครื่องระลึก ไม่ควรที่จะหลงลืมสติ

    . จิตดับแล้ว ก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร

    สุ. ขณะนี้มีจิตหรือเปล่า

    . ไม่มี

    สุ. ไม่มี จะนั่งอยู่ที่นี่ไม่ได้ กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังเห็นเป็นจิต กำลังคิดนึกเป็นจิต จิตเกิดดับ ไม่ใช่จิตเที่ยง จิตเห็นก็อย่างหนึ่ง จิตได้ยินก็อย่างหนึ่ง จิต คิดนึกก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยิน คือ จิต ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน ขณะเห็นก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. จิตได้ยิน และก็มีจิตเห็น และก็มีจิตคิดนึก จิตเกิดแล้วก็ดับ และก็เกิดอีก และก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัย กำลังเห็นหรือเปล่า จิตเห็นดับหรือเปล่า

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เฉย เป็นอะไร ลักษณะที่เฉยเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นอะไร

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มีขันธ์ ๕ ไหม มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่าเป็นเวทนาขันธ์ หรือเป็นสัญญาขันธ์ หรือเป็นสังขารขันธ์ หรือเป็นวิญญาณขันธ์ หรือเป็นรูปขันธ์ สิ่งที่ปรากฏจะต้องเป็นขันธ์หนึ่งขันธ์ใดในขันธ์ ๕

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรม และสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้รู้ชัดตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    . การเจริญสติปัฏฐานเป็นเหตุ และผลก็คือการละคลาย ใช่ไหม

    สุ. ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ต้องไม่เป็นโมฆะแน่ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ข้อความในสามัญญสูตรได้แสดงไว้แล้วว่า ผลของ มรรคมีองค์ ๘ คือ การบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอรหันต์

    . การเจริญสติปัฏฐานกระทำได้ในทุกๆ ที่

    สุ. ไม่ควรจะมีอะไรเป็นเครื่องกั้น เพราะว่าสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เป็นพยัญชนะที่ต้องสอดคล้องด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าเว้นบางสถานที่ ก็ไม่ได้ตรงกับพระพุทธดำรัสที่ว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง

    . ไม่ใช่ว่าการเจริญสติปัฏฐานที่ใดที่หนึ่งจะเหมาะกว่าอีกที่หนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. ต้องพิจารณาว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร ต้องทราบจุดประสงค์ก่อนว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร ถ้าจุดประสงค์ถูก การเจริญสติปัฏฐานก็ถูก และผลก็ถูก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องของการปฏิบัติธรรม หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ควรจะพิจารณาว่า เพื่อประโยชน์อะไร

    ก่อนที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ควรที่จะมีการถาม การใคร่ครวญ การไตร่ตรองเพื่อความถูกต้องว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าคำตอบถูก การปฏิบัติก็ถูก เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเพื่อประโยชน์อะไร

    . เพื่อให้ตัวเรารู้ ขณะกระทำอะไรทุกอย่างของเรา

    สุ. อย่างนั้นเป็นแต่เพียงสติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ตราบใดที่เป็นเรา เพื่อที่จะรู้ตัวว่าเราทำอะไร ในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐาน เพื่อรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า ขณะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเป็นของจริง เป็นธรรม ตามีจริง เป็นธรรม หูมีจริง เป็นธรรม เสียงมีจริง เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง เป็นธรรม ทุกอย่างที่เป็นของจริง เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    . คำตอบของทุกคนที่จะเจริญสติปัฏฐาน คือ เพื่อให้รู้ธรรมที่แท้จริง ใช่ไหม

    สุ. เพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง

    . เพื่อปัญญาที่จะรู้สภาพธรรม

    สุ. ที่ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริง

    . เพราะความจริงเป็นแบบนั้น ใช่ไหม

    สุ. ตั้งแต่เกิดจนตาย ตามความเป็นจริง คือ นามธรรมเกิดขึ้น รูปธรรมเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย

    . เหตุที่กระทำ ก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. ขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังมาตั้งแต่เด็กว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หรือว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถึงแม้ว่าจะเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่ถ้าสติไม่ระลึกว่า ขณะนี้ธรรมใดกำลังปรากฏ ธรรมนั้นดับ ไม่ใช่ธรรมอื่นเลย แต่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เกิดขึ้นแล้วดับ

    อาจจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ไปอีกนานว่า ทางตาที่กำลังเห็น สภาพเห็นเป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏจึงปรากฏ สภาพรู้คือเห็น เกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เกิดแล้วก็ดับ ถ้าสติไม่เกิดระลึกในขณะที่กำลังเห็น ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์ความ เกิดดับ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งตรวจสอบได้ในพระธรรมวินัย ในมหาสติปัฏฐานสูตรจะใช้คำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการผิดปกติ ขณะใดก็ตามที่สติเกิด จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเองดับ

    . การเจริญสติปัฏฐาน อย่างไหนจะได้ผลดีกว่า ระหว่างการทำสมาธิอย่างหนึ่ง กับการได้ฟังอาจารย์บรรยายบ่อยๆ อย่างไหนจะมีผลมากกว่ากัน

    สุ. ทุกอย่างต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ต้องการผลอะไร

    . ผล คือ ให้ทราบว่า รูปนามเกิดแล้วดับ

    สุ. ผล คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ถูกไหม ถ้านี่เป็นผลที่ต้องการ สติจะต้องเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะอื่น ถ้าท่านผู้ฟังไปสู่สถานที่หนึ่ง โดยหวังผลอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ใช่หวังที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ท่านผู้ฟังอาจจะเข้าใจว่า ไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากมาย แต่ขณะนี้ไม่รู้เลย เพราะเหตุใด เพราะว่าสติขณะนี้ไม่เกิดเลย เมื่อสติขณะนี้ไม่เกิดเลย จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้อย่างไร เพราะขณะนี้เป็นสัจธรรม เป็นของจริง ทุกๆ ขณะที่เกิดปรากฏนี้เป็นสัจธรรม เป็นของจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่า จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แต่หวังจะไปรู้อย่างอื่น ก็ไม่มีวันที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้

    ต้องการผลอย่างไหน อยู่ที่ท่านผู้ฟังเองจะพิจารณาและตัดสิน ถ้าต้องการรู้ของจริงซึ่งเป็นอริยสัจธรรม ขณะนี้ จริงไหม ทางตาที่กำลังเห็น จริงไหม เป็นของจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นของจริง ควรรู้ไหม ถ้าต้องการที่จะรู้อริยสัจธรรม

    กำลังได้ยินในชณะนี้ เป็นของจริงไหม ควรรู้ไหม รู้ได้ไหม ถ้ารู้ได้ เพราะอะไร เจริญอย่างไร อบรมอย่างไร จึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ สัจธรรม ที่เป็นของจริงในขณะนี้ได้

    ต้องเข้าใจว่า ของจริง คือ สัจธรรม ในขณะนี้สามารถรู้ได้ จึงจะอบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถรู้ลักษณะของของจริงตามปกติได้ แต่ถ้าเข้าใจผิดคิดว่า รู้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่สติจะเกิดเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564