แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235


    ครั้งที่ ๑๒๓๕


    สาระสำคัญ

    สภาพธรรมที่มีจริงเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด

    ไตรสิกขา คือ ในขณะนี้เอง

    อริยสัจจ์ ๓ รอบ


    สนทนาธรรม ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี (ต่อ)

    วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๖


    สุ. ถ้าจะให้ง่ายที่สุด เคยพูดแล้ว ซึ่งในเทปก็มี ทุกอย่างที่เป็นธรรมเป็น สติปัฏฐาน ไม่ต้องแยกก็ได้ ถ้าอยากจะแยกก็แยกได้ เหมือนกับไม้ไผ่ นำไปสานเป็นกระบุงก็เป็นกระบุง สานเป็นกระจาดก็เป็นกระจาด แต่เนื้อแท้ของกระจาดและกระบุงก็คือไม้ไผ่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้ากล่าวอย่างนี้ผิดไหม ไม่ผิด ไม่ต้องไปแยกเลยก็ได้ ไม่ต้องไปคิดว่า ตอนนี้กำลังเจริญกายานุปัสสนา ตอนนี้กำลังเจริญเวทนานุปัสสนา ไม่จำเป็นเลย เพราะว่าสภาพธรรมที่มีจริงเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด แต่ที่ทรงแสดงไว้เพราะส่วนใหญ่ยึดถือในร่างกายของตัวเอง มหาภูตรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เมื่อเกิดมาแล้วก็ยึดถือว่าเป็นกายของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกที่กายซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นของเรา มหาภูตรูปส่วนนี้จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะแยกก็ได้ ไม่แยกก็ได้ ไม่น่าสงสัยอะไร เป็นเรื่องของคำเท่านั้นเอง

    ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็รู้ว่า สภาพธรรมที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนที่กายก็เป็นธรรม เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่อื่นก็เป็นธรรม แต่ว่าธรรมคือเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งตรงนี้ยึดถือว่าเป็นร่างกาย เพราะฉะนั้น เมื่อระลึก จึงเป็นการระลึกที่กาย

    . ในสติปัฏฐานสูตรจึงได้บอกว่า ให้รู้ธรรมโดยความเป็นธรรม กายสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ตอนท้ายของหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านว่าอย่างนี้ทุกบทเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ยิ่งเรียนรู้สึกว่ายิ่งยาก แต่ก่อนไม่รู้อะไรเลย

    สุ. ถูกต้อง เพราะก่อนเรียนไม่รู้ว่า มีเรื่องที่จะต้องรู้ซึ่งละเอียดและก็ลึก และเมื่อเรียนแล้วจึงรู้ว่า เป็นสิ่งที่ลึกและละเอียดจริงๆ

    อย่างเช่น ขณะที่สติระลึกที่กาย ที่อ่อนหรือแข็ง หรือว่าจะระลึกที่ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งตรงไหนก็ตาม ที่คุณหมอสัญชัยถามว่า เมื่อสติระลึกแล้วไม่ทันพิจารณา มักจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม หมายความว่า ไม่ทันจะรู้จริงๆ ว่าลักษณะที่แข็งนั้นเป็นรูป หรือลักษณะที่กำลังรู้แข็งนั้นเป็นนาม ถูกไหม ในตอนแรก ก็เพราะว่าการน้อมไปที่จะพิจารณาขณะที่สติระลึกแข็งยังไม่เกิดขึ้น เพียงแต่สติระลึก แต่ยังไม่ได้น้อมพิจารณาซึ่งการพิจารณาไม่ใช่นึกเป็นคำ ต้องรู้ความต่างกันของการน้อมพิจารณาโดยไม่ใช่ นึกเป็นคำ

    กว่าคำนี้จะซาบซึ้ง ต้องค่อยๆ น้อมที่จะรู้ลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพรู้ นี่คือการศึกษาที่เป็นไตรสิกขา ถ้าคนไหนน้อมจริงๆ เริ่มที่จะรู้ ศึกษาในลักษณะของสภาพที่เป็นสภาพรู้ ผู้นั้นจะไม่สงสัยเลยว่า ไตรสิกขาคือในขณะนี้เอง คือ พร้อมกับที่สติระลึก มีการสังเกต พิจารณาน้อมไปที่จะรู้ นั่นคือลักษณะของการศึกษาพร้อมสติ ซึ่งการที่จะรู้แจ้งความเกิดดับ หรือลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ก็ในขณะที่น้อมศึกษาและความรู้เจริญจนกระทั่งแจ้งและชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เหมือนกับตอนต้นซึ่งไม่ทันที่จะรู้ แต่เมื่อศึกษาจนชิน ที่ว่าไม่ทันที่จะรู้ก็กลายเป็นว่า ทันทีที่ระลึก ความรู้แจ้งชัด ก็เกิดขึ้นพร้อมกับสติในขณะนั้น

    . ขอให้อาจารย์อธิบายอริยสัจ ๓ รอบ

    สุ. รอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าทุกขอริยสัจหมายถึง การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ

    ถ้ารู้จริงๆ ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ไม่ต้องไปทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น เพราะว่าทุกขสัจหมายความถึงลักษณะของเห็นซึ่งเกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดแล้วดับ กลิ่นเกิดแล้วดับ รสเกิดแล้วดับ ทุกอย่างที่กำลังเกิดดับ ที่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะประจักษ์ความเกิดดับ ถ้ามั่นคงอย่างนี้จริงๆ ก็ชื่อว่ารู้อริยสัจ ในขั้นของสัจญาณ ในลักษณะของทุกขสัจ และตลอดไปจนถึงสัจจะอื่นๆ นี่คือรอบที่ ๑

    และถ้ารู้จริงๆ อย่างนั้น สติก็เริ่มระลึก นั่นเป็นกิจจญาณ เป็นรอบที่ ๒

    เมื่อระลึกไปจนกระทั่งสามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ รอบที่ ๓ เป็นกตญาณ คือ รู้แล้ว ตรงกับสัจจญาณ

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ขอให้เข้าใจถูกก่อน ที่จะได้ไม่เห็นผิดไป นี่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเห็นผิดไม่มีทางที่จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร ซึ่งสามารถที่จะตรัสรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนี้ทางตากำลังเกิดดับ ไม่ว่าเจตสิกมี ๕๒ ประเภท วิตกเจตสิกต่างกับวิจารเจตสิก ทั้งๆ ที่วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่เพราะจรดในลักษณะของวิตกด้วยพระสติและสัมปชัญญะจึงแทงตลอดในลักษณะของวิตกเจตสิก ซึ่งต่างกับวิจารเจตสิก และทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างได้ เพราะว่า ทรงตรัสรู้พร้อมสติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ผิดและไม่เป็นสอง ไม่เหมือนคนที่นึกเดา และไม่รู้ว่านี่นามหรือนั่นรูป ใช่ไหม ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น แต่นี่ไม่ใช่โดยลักษณะนั้น และยังทรงสามารถรู้อัธยาศัยของผู้ที่มาเฝ้าและฟังพระธรรมว่า ผู้นี้สะสมปัญญามาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นไหนและด้วยพระธรรมเทศนาในลักษณะใด

    ทุกครั้งที่ระลึกถึงพระปัญญาคุณ แม้เพราะเหตุนั้นๆ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่มีใครสามารถแสดงพระธรรมได้ถ้าไม่ประจักษ์แจ้ง ไม่ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย เพราะว่าสภาพธรรมมีจริงและเกิดดับจริงๆ แต่ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏ อวิชชาทำให้ไม่รู้ เพราะฉะนั้น วิชชาต้องค่อยๆ เจริญ จึงจะละความไม่รู้ได้

    ผู้ฟัง น่ากลัวถ้าเราจะเข้ารกเข้าพงไป แต่นี่เราได้รู้จากพระไตรปิฎกจริงๆ เป็นวาสนาที่จะได้ประพฤติต่อไป เรียนต่อไป

    สุ. บางทีเป็นคำถามง่ายๆ แต่ก็น่าคิด เพื่อจะได้ทดสอบว่า ความเข้าใจตรงกับจุดประสงค์ของการเป็นพุทธบริษัทหรือเปล่า อย่างถ้าจะคิดว่า ทำไมจึงฟัง พระธรรม ฟังทำไม น่าจะเสียเวลา ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เราคงสั่งสมมานาน จึงได้น้อมไปเพื่ออยากจะฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจ

    สุ. ทำไมจึงฟังเพื่อให้เข้าใจ นามรูปก็เกิดดับอยู่แล้ว ทำไมจะต้องเข้าใจ

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจถูกจะได้ทำถูก ถ้าไม่เข้าใจก็ทำไม่ถูก ก็ทำผิดอย่างที่เราทำกัน

    สุ. เพราะอยากทำถูก หรือเพราะอะไร

    ผู้ฟัง อยากทำตามที่ท่านสอนให้ถูก

    สุ. อยากละกิเลส

    ผู้ฟัง มีหลายคนไม่กล้าถามอาจารย์ว่า ทำไมจะต้องระลึก จะเกิดประโยชน์อะไร ไม่เห็นจะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป

    ผู้ฟัง ตอนนั้นดิฉันถามที่ศรีลังกาว่า นึกถึงแข็ง แข็งนี้จะเป็นบุญอย่างไร

    สุ. และตอบว่าอย่างไร จำได้ไหม ไม่น่าสนุกเลยใช่ไหม ระลึกที่แข็ง ไม่น่าจะมีประโยชน์ ก็เพียงแข็งๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แข็งๆ นี้คืออะไรถ้าไม่ระลึก แข็งๆ ธรรมดาอย่างนี้คืออะไรถ้าไม่ระลึก ก็คือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราต้องการและพอใจ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเพียงแข็ง ที่เขารบราฆ่าฟันกันแต่ละประเทศ เขาก็ต้องการแข็งๆ นี้แหละ ใช่ไหม เวลาอยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ลองจับดูก็แข็งๆ ทั้งนั้น แต่ทำไมอยากได้ รบราฆ่าฟันกัน ทั้งก้อนอิฐก้อนดิน แข็งๆ ทั้งนั้น ก็อยากได้แข็งๆ ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น แข็งที่ไม่น่าระลึก เวลาที่ไม่ระลึก แข็งนั้นคืออะไร เพราะไม่รู้ความจริงว่าเพียงแข็งเท่านั้น แข็งนั้นก็เป็นทุกอย่าง เป็นทั้งตัวเรา เป็นทั้งตัวเขา เป็นทั้งวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีและความยินร้ายตลอดเวลา แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า เพียงแข็ง ไม่ใช่ตัวตน และยังเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและดับไป ความยินดี ความพอใจ ความเพลิดเพลินในสิ่งแข็งๆ นั้น ก็จะต้องลดน้อยลง

    ผู้ฟัง ตอนนั้นดิฉันบอกว่า จะได้บุญอะไร นึกแต่เพียงแข็งๆ

    สุ. เพราะถ้าสติไม่ระลึก สิ่งที่แข็งนั้นเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสิ่งที่เราพอใจ กระเป๋าก็แข็ง โทรทัศน์ก็แข็ง รถก็แข็ง อะไรๆ ก็แข็งทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสติ ไม่ระลึก แข็งนั้นคืออะไร ก็คือสิ่งที่พอใจทั้งนั้น ในรูปร่างต่างๆ จับปากกาก็แข็ง ดินสอก็แข็ง อะไรๆ ก็แข็ง พอใจไปหมด เพราะไม่รู้ในสภาพที่แท้จริงว่า เป็นแต่เพียงแข็ง เพราะฉะนั้น คำตอบนี้ก็ย้อนกลับไปได้ทุกอย่าง ถ้าไม่ระลึกสิ่งนั้นคืออะไร ถ้า สติไม่ระลึก ก็คือสิ่งที่นำมาซึ่งความยินดีพอใจ หรือความยินร้าย

    ผู้ฟัง อะไรๆ ก็แข็งทั้งนั้น ทั้งแข็ง ทั้งเย็น ก็อยากได้

    สุ. ถ้าสติไม่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทบสัมผัสกาย แยกออกมาจากทางตา ความเป็นตัวตน สิ่งที่น่าพอใจจึงจะไม่มี เมื่อรวมกันทั้งสีและแข็ง มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็เป็นที่ตั้งของความพอใจ แต่เวลากระทบก็คือแข็ง เมื่อไม่ระลึกก็พอใจแล้วในแข็งนั้น

    ผู้ฟัง แต่คิดว่าแข็งนี้เราไม่ได้ติด ลำพังแข็งเฉยๆ เราคงไม่ติด ไม่เกิดความยินดีพอใจ เราน่าจะติดจากทางตามากกว่า

    สุ. ถ้าไม่มีแข็ง อะไรจะปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    สุ. ก็ไม่มีให้พอใจ

    ผู้ฟัง แต่เราไม่ได้พอใจเพราะแข็ง

    สุ. แข็งนั้นก็พอใจด้วย เวลาที่กระทบสัมผัส ถ้าแข็งน้อยอาจจะไม่พอใจ หรือถ้าแข็งไปอาจโกรธ เช่น ข้าวสุกที่แฉะๆ ก็ไม่ชอบ ใช่ไหม แข็งไปก็ไม่อร่อย ซึ่ง ก็คือ แข็งน้อย แข็งมากนั่นเอง ยังพอใจอยู่ หมอนแข็งไปเป็นอย่างไร อย่างนั้นเป็นความพอใจในแข็งหรือเปล่า

    . เวลาจะตาย เพียงแต่นึกแข็งๆ จะได้บุญอะไร

    สุ. ไม่ใช่นึกชื่อ

    . เข้าใจแล้วว่า เป็นที่รวมของกิเลส แต่เวลาจะตาย วินาทีสุดท้ายเรารู้ว่าเราจะตายแล้ว ไปกระทบเพียงแต่แข็งหรืออ่อน เราจะได้บุญอย่างไร

    สุ. กำลังจะตาย กระทบอ่อน อกุศลจิตเกิด ไม่ได้บุญแน่ ทั้งๆ ที่อ่อนกำลังปรากฏ แต่ปัญญาไม่ได้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อปัญญาไม่รู้ก็ต้องเป็นโมหะ เป็นความไม่รู้ หรืออาจจะเป็นโทสะ หรืออาจจะเป็นโลภะ ซึ่งทั้งหมดเป็นอกุศล แต่ถ้าในขณะที่อ่อนปรากฏขณะที่จะตายและรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงสภาพอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏ ขณะนั้นจึงเป็นการได้ประโยชน์จากการรู้ลักษณะที่อ่อน เพราะไม่ได้ยึดถือว่า อ่อนนั้นเป็นอะไร

    แต่ตามปกติของคน ไม่ว่าจะตายหรือไม่ตายก็ตาม เวลาที่อ่อนกระทบก็คิดว่าคืออะไรทันที และในขณะที่อ่อนปรากฏนั้นก็มีสภาพที่กำลังรู้ ซึ่งลักษณะที่รู้อ่อนก็ไม่ใช่เราอีก ต่อเมื่อใดไม่มีเราในขณะที่อ่อนปรากฏ ทั้งอ่อนและสภาพที่รู้อ่อนเป็นแต่เพียงธรรม อย่าลืม เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น จึงจะเป็นบุญ เพราะว่า ละการติดในอ่อนและในสภาพที่กำลังรู้อ่อน ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าการอดทนฟังธรรมทั้งภาคเช้า ภาคค่ำ เป็นประโยชน์อย่างมากเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นเทปที่เคยเปิดมาแล้วก็ตาม บางทีเราอาจจะมีความเข้าใจ แต่ยังเข้าใจไม่มาก เราอาจจะได้ปัญหาหรือหัวข้อในธรรมที่ผู้อื่นถามไว้ บางครั้งคำบรรยายที่ท่านอาจารย์ตอบไป เรายังไม่ค่อยเข้าใจ เราก็นำคำถามนั้นกลับมาถามใหม่ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมนี้ผมเห็นว่าให้ประโยชน์กับตัวเอง คือ ทำให้เข้าใจธรรมได้ตรง และอาจจะช่วยเหลือเพื่อนธรรมด้วยกันในปัญหาธรรมต่างๆ เพราะบางท่านอาจจะไม่กล้าถาม และเราไปถามปัญหาที่ตรงกันเข้า ก็เป็นการสงเคราะห์กันไป

    ถ. ท่านพระอานนท์ก็เคยทูลถามปัญหาที่นี่

    สุ. ในพระไตรปิฎก ที่พระวิหารเชตวัน มีมาก หลายเรื่อง

    . ขอให้อาจารย์พูดถึงการที่เราได้รับความกระทบกระเทือนจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง หรือทำให้เราเสียประโยชน์ ที่ว่าเป็นกรรม

    สุ. เป็นผลของกรรม

    . เป็นผลของกรรม โดยอาศัยบุคคลอื่น ขอให้อาจารย์อธิบายตรงนี้

    สุ. ถ้าคิดถึงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่ว่ามีนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ นี่จะเป็นคำตอบของทุกสถานการณ์ ในเมื่อ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทุกอย่างที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องของปัจจัยจริงๆ จึงจะช่วยให้เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

    อย่างพี่น้อยที่เจ็บตรงนี้ ไม่มีใครทำให้ แต่กรรมมี ถ้าบังเอิญพี่น้อยถูกขว้าง พี่น้อยอาจจะโกรธคนขว้างแทนที่จะระลึกได้ว่า เป็นกรรมของตัวเอง แต่เพราะไม่มี คนขว้าง พี่น้อยจึงระลึกได้ว่า นี่คือวิบาก ผลของกรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดว่าผู้อื่นทำให้ เพราะแม้ไม่มีผู้อื่นทำให้ ถึงคราวที่วิบากจะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๒๓๑ – ๑๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566