แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249


    ครั้งที่ ๑๒๔๙


    สาระสำคัญ

    สิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้ตามเหตุตามปัจจัย

    กว่าจะละตัวตนได้หมด

    ฝันก็คือการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร

    เรื่องราวต่างๆ เป็นเพียงชั่วขณะที่จิตคิดถึง


    สนทนาธรรมที่โรงแรมรานายานี นครกัตมัณฑุ ประเทศเนปาล

    วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๖


    . ผลจากการปฏิบัติธรรมตามที่อาจารย์บรรยาย ผมรู้สึกว่า ผมรู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และขณะที่เกิดอกุศลจิต จากการที่เรามีสติระลึกรู้ว่า เรามีอกุศลจิต เมื่อรู้เรา ก็รู้โทษ สิ่งไม่ดีต่างๆ ผมขอยกตัวอย่างให้เป็นประโยชน์ คือ ผมซื้อทับทิมแล้วเก็บใส่กระเป๋า และลืมไปเลย กระเป๋าก็ยกขึ้นหลังคารถไปแล้ว ซึ่งผมไม่ผ่านตาเลย คิดว่าลืมไว้ในห้อง รถจวนจะออกก็รีบขึ้นไปดูในห้องที่โรงแรม ปรากฏว่าทำความสะอาดไปเรียบร้อยแล้ว ก็เกิดอกุศลคิดขึ้นมาว่า พนักงานในโรงแรมคงเอาไป และก็คิดว่า หายก็หาย ถ้าเรายังกังวลแบบนี้ก็เป็นอกุศลไปทั้งวัน ทำให้รู้สึกดีขึ้น

    สุ. คราวหน้ามีเรื่องอะไรอีก ก็ค่อยๆ ศึกษา สังเกตไป

    . รู้สึกว่า ไม่ใช่เป็นตัวตน คือลดไปเอง

    ผู้ฟัง เป็นตัวตนที่ลด

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. ขณะนั้นมีหิริโอตตัปปะ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด ต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นฝ่ายดี คือ โสภณเจตสิกเกิดด้วยอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท คือ ต้องมีหิริ ต้องมีโอตตัปปะ ซึ่งหิริก็ตามขั้น หิริของปุถุชน หิริของพระโสดาบัน หิริของพระสกทาคามี หิริของ พระอนาคามี

    . ขอถามเรื่องอารมณ์เดียวอีกครั้ง ที่ดิฉันเข้าใจ อารมณ์เดียว คือ ในขณะที่เรารู้อยู่ที่ตา หรือที่เสียง เพียงอย่างเดียว

    สุ. ใช่ ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง สติทางทวารอื่นๆ ก็เกิด ที่รู้ว่าเกิดก็เพราะสามารถเปรียบเทียบได้ ในระหว่างที่มีสติกับหลงลืมสติ ผมคิดว่าเปรียบเทียบแล้วเห็นชัด แต่ทางทวารกาย การเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ เช่น การกระพริบตาก็ดี การเดินไปก็ดี สติไม่เกิดเลย ไม่ค่อยรู้เรื่องสัมปชัญญะด้วย

    สุ. ค่อยๆ พากเพียรไป หลายๆ กัป ให้นานไว้ก่อน ให้อย่างสูงสุดไว้ จะได้รู้ว่าเราต้องเพียรมาก และเมื่อเพียรมากจริงๆ อาจจะน้อยกว่านั้นก็ได้

    . การกระพริบตานี่ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

    สุ. ถ้าทางกายคุณธงชัยรู้ คุณธงชัยก็เอาความรู้ทางกายน้อมมารู้ในขณะที่กำลังกระพริบตาก็ได้ ไม่ต่างกันเลย เพราะเป็นส่วนของกาย จิตกระพริบได้ไหม

    . ได้

    สุ. จิตเป็นนามธรรม จะกระพริบตาได้อย่างไร จิตเป็นลักษณะรู้ อาการรู้ อะไรกระพริบ

    . ตากระพริบ

    สุ. ตาเป็นอะไร

    . ตาเป็นรูป

    สุ. ถ้าคุณธงชัยรู้รูปอื่น จะไม่พ้นจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ฉันใด ส่วนอื่น กำลังกระพริบตา สติระลึก จะพ้นไปจากลักษณะของรูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวได้อย่างไร

    . ขณะที่แกว่งแขน ไม่มีความแข็งอะไรเลย ไม่มีความอ่อน

    สุ. ไม่เป็นไร เย็นก็ได้

    . ทาน ศีล ภาวนา ทั้ง ๓ สิ่งนี้ย่อมเกื้อกูลเป็นเหตุปัจจัยกัน ใช่ไหม คือ ขณะที่สติเจริญขึ้น ทำให้การบำเพ็ญทานเพิ่มขึ้น เมื่อการบำเพ็ญทานเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้สติเพิ่มขึ้น หรือศีลก็เหมือนกัน จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. การรักษาศีล ถ้ารักษาได้เคร่งครัดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดสติมากขึ้น

    สุ. แต่อย่าลืมว่า จิตใจสำคัญ และตัวกิเลสก็สำคัญมาก เพราะคุณธงชัยต้องการรักษาศีลเพื่อให้สติเกิดมาก

    . ไม่ใช่อย่างนั้น

    สุ. ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นก็ทิ้งไปเลย จะไปปรุงแต่งให้รักษาศีลเป็นอย่างไรๆ ก็แล้วแต่เรื่องของเขา เราไม่เอาอะไรมาขีดคั่น หรือมาหวัง ทำไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องข้างหน้าไม่คิด เอาขณะเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ กำลังเป็น เป็นแล้ว เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ ตามเหตุตามปัจจัย

    . ที่เดลลี วันแรกที่เรามาถึงมีการเดินขบวน ดิฉันเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังจะเดินเข้าไปข้างใน ตำรวจก็โบกมือไม่ให้เข้ามา ขณะนั้นดิฉันระลึกที่สภาพรู้ ที่ตำรวจกำลังห้ามผู้หญิงคนนั้นโดยรู้ทันทีว่า เป็นลักษณะการห้าม ไม่ให้ผู้หญิงคนนั้นเข้าไป

    สุ กายวิญญัติ

    ถ. ก็มาคุยกันว่า จะต้องเห็นรูปก่อน ใช่ไหม

    สุ. ไม่ได้บอกว่า ก่อน

    ถ. เป็นอารมณ์ของกายภายนอก ใช่ไหม

    สุ. ยัง เห็นทางตาเท่านั้น ยังไม่กระทบกายภายนอกเลย เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    . เป็นสภาพรู้ในอาการของคนนั้นได้ไหม ว่าเขากำลังห้าม ไม่ให้เข้าไป นี่เป็นสภาพนามธรรม

    สุ. ถ้าสติระลึกว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพรู้

    . โดยไม่ได้ระลึกเลยว่า เห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และจึงจะรู้

    สุ. นั่นยาว ใช่ไหม

    . ขณะนั้นระลึกในอาการที่เห็นว่า เขากำลังไม่ให้ผู้หญิงคนนั้นเข้าไป ในบริเวณนั้น

    สุ. แต่ไม่เกี่ยวข้องกับตา ถ้าระลึกในสภาพรู้

    ถ. ระลึกที่สภาพนั้นสภาพเดียวก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. รู้ว่าเป็นลักษณะที่รู้

    . อย่างนี้เข้าในลักษณะที่ว่า รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม ใช่ไหม

    สุ. ต้องอ้างมาเลยว่าโดยปัจจัยอะไร

    ถ. อย่างนั้นก็แค่ระลึกเท่านั้น ก็ถูกต้องแล้ว

    สุ. จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้น แม้เวลานี้เห็นแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ก็รู้ว่า ที่รู้นั้นก็เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น

    ถ. รู้ในอาการ

    สุ. รู้ในลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้น

    . ละเอียดมาก

    สุ. ดีที่รู้ว่าละเอียด จะได้รู้ว่าต้องระลึกจนทั่ว จนละเอียดจริงๆ

    . ก็เพียรที่จะระลึกรู้ แต่ดูเหมือนมีตัวตนอยู่ในนั้นนิดๆ

    สุ. แน่นอน เพราะยังไม่ได้ดับตัวตน จึงเห็นว่า ตัวตนอยู่ตรงนั้นที่จะต้องคลาย เพราะฉะนั้น ตัวตนที่จะคลาย คือ คลายตรงที่เป็นตัวตนอันนั้น

    . โดยมากเราจะนึกว่า ตัวตนคือตัวนี้

    สุ. ใช่ แต่ความจริงทั้ง ๕ ขันธ์ เวทนา ความรู้สึก ยึดถือไว้ว่าเป็นตัวตน สัญญา ความจำ ก็เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น จนกว่าจะครบ ๕ ขันธ์ ถ้าไม่ครบก็ ไม่หลุด

    . เราคิดแต่ว่าตัวใหญ่ตัวนี้เป็นตัวตน

    สุ. แต่ความจริงทั้งหมด ทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวน้อยทั้งหมด

    สนทนาธรรมที่โรงแรมนารายาณี นครกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

    วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖

    . มีจิตที่มุ่งอยากจะให้ผู้อื่นได้รับรู้บ้าง เราควรจะทำอย่างไรดี

    สุ. ถ้ามีทางที่จะชักชวนเขาได้ เราก็ทำ แต่ถ้าไม่เหมาะกับโอกาส เขาอาจจะเบื่อเรา ต้องคอยโอกาส แต่ถ้ามีทางที่จะฟังวิทยุได้ เราก็เปิด เขาจะฟังหรือไม่ฟังก็ตามแต่ ทีละเล็กทีละน้อย ก็ต้องไปเรื่อยๆ เขาคงจะไม่ถึงกับวิ่งหนีไป อะไรอย่างนั้น แต่ถ้าอยู่กันคนละบ้านก็ยาก

    . พยายามบอกว่า ให้พบกันตอน ๖ โมงเช้า

    สุ. ก็ลองคุยว่ามีเรื่องอะไร อย่างเรื่องที่เราพูดคุยกัน สิ่งละอันพันละน้อย ก็มีที่ใครๆ ก็ฟังได้ และอาจจะขอความเห็น คำวิจารณ์จากเขาว่า เขารู้สึกอย่างไร จะได้รู้ว่าเขาสนใจหรือไม่สนใจแค่ไหน ถ้าเขายังไม่สนใจ ก็ยากที่จะฝืน ทั้งๆ ที่หวังดี แม้แต่ญาติสนิทมิตรสหาย ก็ไม่มีทางเลย ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคนจริงๆ แต่ละคนอัธยาศัยไม่เหมือนกันจริงๆ ต้องอาศัยความคุ้นเคยและการรู้จิตใจว่า โอกาสไหน ช่วงไหนที่จะชักชวนได้ ช่วงที่เขากำลังรื่นเริงสนุกสนานก็ต้องปล่อยไป ไม่อย่างนั้นเขาก็หนีเรา

    ผู้ฟัง ปัญหานี้ดีมาก เพราะเคยคุยกันในห้องว่า หลังจากที่ได้ศึกษาธรรม รู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก กลายเป็นคนที่ไม่ค่อยจะสนใจอะไร อยู่ง่าย กินง่าย สนุกก็สนุกคล้ายฝืนๆ ทำให้คนที่เขาเคยเห็นชีวิตเราแต่ก่อนร่าเริง กลับมองว่า การศึกษาธรรมทำให้เป็นคนที่อะไรๆ ก็ได้ ง่ายเกินไป สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ผมก็บอกว่า ความสบายใจอยู่ที่ตัวของเรา และเราได้รับประโยชน์ ผมคิดว่าเป็นทางที่ถูก

    ผู้ฟัง เราก็ต้องพยายามค่อยๆ ไป

    สุ. ทำทางอื่นไม่ได้เลย จะกระโดดข้ามก้าวยาวๆ ก็ไม่ได้ คือ ความไม่รู้ที่มีอยู่ทั้งหมด ต้องอาศัยความรู้เท่านั้นจึงจะละได้ และความรู้ต้องเริ่มจากการฟัง โดยละเอียด และพิจารณาโดยละเอียด สติปัฏฐานจะเกิดมากเกิดน้อยอย่างไร ไม่เป็นปัญหา เรามาถูกทางแล้ว และเรารู้ว่าตัวตนอยู่ที่ไหน เมื่อรู้ว่าตัวตนอยู่ที่ไหน จึงเห็นว่า กว่าจะละตัวตนได้หมดต้องอีกนานเท่าไร เพราะคอยแอบคอยแทรกอยู่ เรื่อยๆ ทุกอารมณ์

    เมื่อเช้ามีผู้ถามว่า อารมณ์ทุกอย่างสติจะระลึกได้ไหม ก็บอกเขาว่า ได้ ไม่ว่าอารมณ์อะไร เขาบอกว่า เวลาเป็นภวังค์ที่อารมณ์ไม่ปรากฏ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ก็บอกว่า ไม่ได้แน่นอนในเวลานั้น เพราะว่าไม่มีอารมณ์ของโลกนี้ที่จะปรากฏให้สติระลึก เขาบอกว่า เวลาที่หลับแล้วฝัน สติเกิดได้ไหม ก็บอกเขาว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยสติ ก็เกิดได้ เขาก็ถามว่า เวลาที่สติเกิดในขณะที่ฝันจะตื่นทันทีใช่ไหม ก็บอกว่า ได้ จะตื่นทันทีก็ได้ เพราะถ้าสัมปชัญญะบริบูรณ์ก็ตื่นทันที เมื่อสติระลึก สัมปชัญญะก็บริบูรณ์ด้วยการตื่นขึ้นและรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะบางครั้งฝันว่าสติเกิด และความฝันอื่นก็ต่อมา

    เพราะฉะนั้น ธรรมทุกอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดในขณะนั้น เมื่อสติเกิดในฝันจะตื่นทันทีก็ได้ เมื่อฝันว่าสติเกิดและจะฝันต่อไปอีกก็ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ และไม่มีการขีดคั่นบัญญัติว่าต้องอย่างนี้ๆ ออกมาเป็นตัวเลข เพราะความวิจิตรของจิต แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เขาก็บอกว่า ต่อไปนี้เขาจะต้องพูดเรื่องนามธรรมและรูปธรรมให้มากๆ เพราะถ้าไม่พูดเรื่องนามธรรมหรือรูปธรรมมากๆ ก็ไม่มีทางที่สติจะระลึก แต่ก็ลำบากสำหรับเขา เพราะเขาคงจะอยู่คนเดียวในมาเลเซีย คงต้องหากลุ่มที่สนใจ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กแต่ก็สนทนา เรื่องนามธรรมรูปธรรมได้

    . นอนเฉยๆ ถ้าเรามีสติปัฏฐาน เราก็จะไปได้สบาย แต่ได้คำตอบว่า เป็นโมหะ แต่ก่อนเรื่องสติปัฏฐาน ดิฉันไม่รู้จักว่านามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร วันนี้ได้คำตอบสมบูรณ์แล้ว

    สุ. แทนที่จะเฉย เราก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ศึกษาในสภาพที่ เป็นนามธรรมในขณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากเห็น และก็รู้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เรื่องแกะเรื่องทิ้งความเป็นตัวตนต้องมี ไปเรื่อยๆ แต่ละคนก็แต่ละแบบ

    . ตอนฝันเจริญสติปัฏฐานได้หรือ

    สุ. ได้ มโนทวารวิถีจิต ตามการสะสม ตามเหตุปัจจัย และจะตื่นทันทีก็ได้ จะไม่ตื่นทันทีก็ได้ เป็นเรื่องราวของฝันต่อไป

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เพราะว่าฝันก็คือการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางมโนทวาร แต่ความฝันรับอารมณ์อย่างรวดเร็ว ถ้าสติปัฏฐานมีปัจจัยจะเกิดในขณะนั้นก็เกิด และก็ฝันต่อได้

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ก็แล้วแต่บุคคล คือ คนนั้นจะต้องรู้ว่าสติปัฏฐานคืออย่างไร ต่างกับหลงลืมสติอย่างไร ต่างกับสติขั้นทาน ขั้นศีลอย่างไร และเมื่อรู้แล้ว ถ้าสติปัฏฐาน จะเกิด ก็เพราะมีปัจจัยจึงเกิด และเมื่อเกิดแล้วจะตื่นทันที หรือจะฝันต่อไป ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    . นี่ตื่นทันที

    สุ. ตื่นทันทีก็ได้ อะไรก็ตาม ทุกอย่างได้ทั้งนั้น เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะเกิดอย่างนั้นไม่ได้

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ถ้าเข้าใจว่าฝัน คือ มโนทวารวิถี สติปัฏฐานก็คือมโนทวารวิถี ถ้ามีปัจจัยจะเกิดก็เกิด และจะฝันต่อไปก็ได้ จะตื่นก็ได้

    เล่าต่อว่า คนที่ถามก็บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาตื่นเช้า และก็นอนต่อ และสติจะเกิดสลับในระหว่างที่นอนก็รู้ได้ สักประเดี๋ยวนึกๆ อยู่ อ้าว เสียง ได้ยิน ประเดี๋ยวก็มีอย่างอื่นปรากฏ

    ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า เมื่อเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่มีอะไรไปกั้น ไม่ว่าจะนอน จะพูด จะคิด ก็คือมีสิ่งที่สลับจากทางตา เป็นทางหู เป็นทางจมูก เป็น ทางลิ้น เป็นทางกาย อยู่ตลอดเวลา อย่างขณะที่พูด สติอาจจะระลึกรู้ที่กาย ที่อ่อน ที่แข็ง ไม่มีทางที่จะเป็นไปไม่ได้ ปกติที่สุด แต่ความรู้ที่จะเพิ่มขึ้น จะต้องมีการพิจารณาสังเกตจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะที่กำลังปรากฏที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่มีปัจจัยจึงเกิดเป็นไปอย่างนั้นทั้งนั้น ของแต่ละบุคคล

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ได้เหมือนกันทุกคน แต่ก็เป็นสภาพธรรม จึงได้เป็นปัจจัตตัง ใน ... ธรรมรัตนะ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ คือ ผู้ปฏิบัติจะรู้แจ้งด้วยตนเอง คนอื่นรู้ไม่ได้ ใครกำลังฝัน สติเกิด คนนี้ตื่นขึ้น หรือกำลังนอนเล่นอยู่ เสียงปรากฏในขณะนี้ สติใครจะระลึกก็เป็นปัจจัตตัง คนอื่นไม่สามารถรู้ได้เลยนอกจากตัวเอง

    เรื่องราวต่างๆ เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่จิตคิดถึงเรื่องนั้น ถ้าจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็ไม่มี แต่มีเพราะจิตเกิดขึ้นคิด และเรื่องนั้นจะดี หรือเรื่องนั้นจะไม่ดี อยู่ที่สภาพของจิต ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ย้อนกลับมาระลึกว่า จิตที่คิดเรื่องนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี แค่นี้เราก็ละแล้ว ใช่ไหม เพราะเป็นโทษ เป็นภัย เป็นการสะสมสภาพของจิตที่ไม่ดี

    ถ้าเราสามารถมีสติแต่ละขั้นได้ ก็เป็นกุศล อย่างที่ว่าเรื่องไม่ดี นึกถึงจิตว่า ที่เรื่องไม่ดีปรากฏ ก็เพราะจิตที่ไม่ดีกำลังนึกถึงเรื่องที่ไม่ดี เพียงแค่นี้ แม้ยังไม่ถึง สติปัฏฐาน ก็เป็นประโยชน์แล้ว

    . ก็จะหยุดคิดถึงทันที ใช่ไหม

    สุ. ถ้าสติเกิด เพราะวันหนึ่งๆ สิ่งที่ไม่ดีต้องมี และเรื่องที่ไม่ดีจากสิ่งไม่ดี ที่ปรากฏก็ต้องมี แต่ถ้าคิดว่า ที่เรื่องไม่ดีปรากฏเพราะจิตไม่ดีกำลังคิดเรื่องที่ไม่ดี แทนที่จะนึกว่า เรื่องไม่ดีๆ อย่างนั้น เป็นทุกข์อย่างนั้น โกรธอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนั้น ก็กลับมานึกถึงจิตว่า นี่เป็นจิตที่ไม่ดี ที่กำลังมีเรื่องไม่ดี

    . เพราะมีเหตุมีปัจจัยมา

    สุ. เพราะคิด เหตุปัจจัยดับแล้ว หมดแล้ว แต่การที่เราคิดต่อ เราคิดต่อ นี่เราคิดได้ ๒ อย่าง คือ เราจะคิดอย่างดี ขณะใดที่เรื่องดีปรากฏให้ทราบว่า จิตที่ดีๆ กำลังคิดเรื่องดีๆ แต่เวลาที่เรื่องไม่ดีปรากฏ จะทางตา หรือทางหูก็ตามแต่ เราก็ทราบว่า ในขณะนั้นจิตที่ไม่ดีกำลังคิดเรื่องนั้น เรื่องที่ไม่ดีจึงมีในขณะนั้น เราก็ปัดเรื่องที่ไม่ดีออก เพราะว่าจิตในขณะนั้นเป็นกุศลแล้วจึงไม่รับเรื่องที่ไม่ดี

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้สิ่งที่ไม่ดีจะปรากฏ ทางตาให้เห็น ทางหูให้ได้ยิน ไม่คิดถึงสิ่งที่ไม่ดีได้ เพราะดับแล้ว ไม่ฟังเสียงที่ไม่ดีได้ เพราะดับแล้วเหมือนกัน แต่จิตที่ เกิดต่อ กุศลหรืออกุศล ถ้าต่อด้วยเรื่องที่ไม่ดีก็หมายความว่า อกุศลจิตกำลังพัลวัน อยู่กับสิ่งที่เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี แต่ถ้าจิตที่ดี ตัดไปเลย หมดไปเลย ไม่มีอะไร ดับไปหมดแล้ว

    เพราะฉะนั้น เราสามารถรู้จิตของเราได้จากเรื่องที่เราคิด ถ้าเราคิดในเรื่องของบุญกุศล ขณะนั้นจิตเป็นกุศลเพราะมีเรื่องของบุญกุศล แต่ขณะไหนที่ไม่ใช่เรื่องของบุญกุศล ขณะนั้นก็ทราบถึงสภาพของจิตว่า จิตขณะนั้นไม่ใช่บุญ ไม่ใช่กุศล และเราก็เก็บจิตประเภทที่ไม่ดีไว้เต็มเลย ใครก็เอาออกไปไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564