แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246


    ครั้งที่ ๑๒๔๖


    สาระสำคัญ

    พระอริยบุคคลไม่บอกว่าท่านเป็นพระอริยะ

    คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต


    สนทนาธรรม ที่อโศการาม เขตเมืองปาตลีบุตร ต่อที่โรงแรมอโศก เมืองปัตนะ ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีต เป็นนครปาตลีบุตร

    วันที่ ๒๙ - ๓๐ เมษายน ๒๕๒๖


    ถ. ในครั้งพุทธกาลมีบุคคลที่สะสมบารมีมามากสามารถสำเร็จเป็น พระอรหันต์ได้ง่ายๆ ในสมัยนี้ก็มีชาวพุทธตั้งร้อยล้าน พันล้าน จะไม่มีสักหนึ่งหรือสองคนหรือที่จะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ง่ายๆ เหมือนในครั้งพุทธกาล

    สุ. ยังดีที่ลดจำนวนลงมาเหลือหนึ่งหรือสอง แต่จะรู้ได้อย่างไร ปัญหาอยู่แค่นี้เอง จะรู้ได้อย่างไร มีใครที่รู้ธรรมแล้วจะประกาศตัวเองว่ารู้ ลองคิดถึงประโยชน์ว่าเพื่อประโยชน์อะไร มีประโยชน์อะไร ในเมื่อในยุคนี้เต็มไปด้วยคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม เข้าใจธรรมผิด และปฏิบัติธรรมผิด

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่ว่าจะที่เมืองปัตนะ เมืองเวสาลี เมืองโกสัมพี พระนครราชคฤห์ หรือที่ไหนก็ตามที่เราผ่านมาแล้วทั้งหมด พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชน เดินกันไปตามถนน ใครรู้

    พระอรหันต์ท่านครองจีวรอย่างพระภิกษุปุถุชน เดินไปกับพระภิกษุปุถุชน รักษาศีลตามพระวินัย ใครจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ ชาวบ้านจะรู้ไหม และชาวบ้านผู้ครองเรือนที่เป็นพระโสดาบันก็มาก ที่เป็นพระสกทาคามีก็มาก ที่เป็น พระอนาคามีก็มาก ท่านก็มีชีวิตอย่างนี้ สนทนาอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ สนุกอย่างนี้ โกรธอย่างนั้น แต่ใครจะรู้ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และท่านจะบอกเขาได้อย่างไร มีประโยชน์อะไร ในเมื่อเขาไม่มีหนทางที่จะรู้เลย ธรรมก็ไม่ได้ฟัง หรือฟังแล้วก็ไม่สนใจ

    แม้แต่มารดาของท่านพระสารีบุตร ท่านโกรธท่านพระสารีบุตรมาก เพราะ น้องๆ ของท่านพระสารีบุตรทั้งหมด บวชหมดไม่เหลือเลย และท่านจะคิดหรือว่า ลูกๆ ของท่านเป็นพระอรหันต์ ในฐานะความรู้สึกของผู้เป็นแม่ ทุกคนยังเป็นลูกของท่าน ท่านจึงโกรธท่านพระสารีบุตร

    เพราะฉะนั้น ในเมื่อเขาไม่มีทางที่จะรู้ จะบอกทำไม บอกเพื่อประโยชน์อะไร บอกเพื่อให้เขาสงสัยว่าคนอย่างนี้หรือจะเป็นพระโสดาบันอย่างนั้นหรือ

    ถ. ก็บอกชาวพุทธด้วยกัน

    สุ. บอกเพื่ออะไร

    ถ. อย่างในกลุ่มพวกเรา ทุกคนก็อยากเป็นพระโสดาบัน

    สุ. แต่ไม่หมดความสงสัย สมมติมีคนบอกว่า คนนั้นเป็นพระโสดาบัน คนอื่นจะไม่หมดความสงสัยเลย และความสงสัยมีประโยชน์กับใคร หรือว่ามีประโยชน์อะไร ตรงกันข้าม ถ้าคนนั้นเขาสามารถช่วยเกื้อกูลบุคคลอื่นแต่ละบุคคลในข้อธรรม เล็กๆ น้อย นิดๆ หน่อยๆ ที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ และข้อปฏิบัติก็ตรงตาม วินัยบัญญัติ ซึ่งคนนั้นก็จะกล่าวว่า พระไตรปิฎกว่าอย่างนี้ พระธรรมวินัยว่าอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น แต่จะไม่มีทางเปิดเผยตัวเองออกมาว่า นี่ฉันบอกอย่างนี้ หรือว่าฉันเป็นพระอรหันต์แล้วนะ พระผู้มีพระภาคท่านสอน ฉันปฏิบัติตามจนกระทั่งฉันนี่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีเลย เพราะความเป็นตัวตนค่อยๆ น้อยลงจนกระทั่งหมดสิ้นจึงเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ท่านไม่ได้หวังอะไร ท่านหวังประโยชน์อยู่อย่างเดียวว่า อะไรจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ไม่ใช่ไปทำให้เขาเกิดความสงสัยและลังเลไปตลอด แต่ทางที่เขาจะหมดความสงสัยเป็นอย่างไร คือ ศึกษาพระธรรม และเจริญสติปัฏฐาน

    ... ท่านพระอานนท์ หลังพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ท่านเป็น พระอรหันต์ มีอิทธิฤทธิ์มาที่สังคายนา เทวดาเห็นท่านพระอานนท์งดงามผ่องใส เทวดาบางท่านก็มีความคิดว่า พระอานนท์ยังกับพระผู้มีพระภาค พระอานนท์ท่านจึงได้ตรัสคำว่า เอวัมเม สุตัง แปลว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ทุกครั้งที่วิสัชนา เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านพระอานนท์ แม้แต่ท่านพระสารีบุตร แม้แต่ พระอรหันต์องค์อื่นๆ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วท่านไม่ใส่ใจ ใครจะว่าร้าย ใครจะ ติฉินนินทา ใครจะคิดว่าท่านเป็น ใครจะคิดว่าท่านไม่ได้เป็น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำร้ายท่านได้ เพราะท่านหมดเรื่องที่จะไปสู่อบายภูมิแล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจถูกตามพระธรรม เพราะฉะนั้น ท่านเอ่ยแต่พระธรรม จะไม่มีความเป็นตัวของท่านว่า ท่านแสดง

    ถ. ในครั้งพุทธกาล ทราบได้อย่างไรว่าคนนั้นคนนี้เป็นพระโสดาบัน

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ทั้งนั้น ท่านชีวกะเป็นพระโสดาบัน ท่านอนาถบิณฑิกะเป็นพระโสดาบัน ท่านวิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบัน ท่านทรงพยากรณ์ทั้งนั้น โดยท่านพระอานนท์เป็นผู้ทูลถาม บางครั้งท่านพระอานนท์ก็ยังได้ทูลถามว่า ที่มคธใครเป็นพระโสดาบันบ้าง ที่นี่ใครเป็นพระโสดาบันบ้าง ที่โน้นใครเป็นพระโสดาบันบ้าง เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เกิดปีติ ได้เบิกบานว่า ชาวเราหรือชาวเขา ก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุผล แต่ไม่ใช่ท่านเหล่านั้นเองบอก พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์

    ถ. หลังพุทธกาล ไม่มีพระผู้มีพระภาคแล้ว

    สุ. ก็ต้องแล้วแต่พระอรหันต์ อย่างท่านเดินตามกันไป ๒ รูป ท่านก็ยังไม่บอก แม้ภิกษุที่อยู่ข้างหลังถามว่า พระอริยะเป็นอย่างไรๆ องค์ที่อยู่ข้างหน้าก็บอกว่า แม้เดินตามหลังกันก็ยังไม่รู้ ซึ่งคนนั้นก็ไม่รู้จริงๆ พูดอย่างนั้นแล้วก็ยังไม่รู้ จะรู้ได้อย่างไร เห็นกันอยู่ทุกวัน ไม่มีอะไรที่ต่าง สติใครจะเกิดเวลานี้ คนอื่นจะรู้ได้อย่างไร

    ถ. และใครเป็นคนรู้ว่า ครั้งนั้นมีพระอรหันต์หลายรูป

    สุ. ในสมัยนั้น ท่านรู้กัน ท่านสนทนากัน เพราะฉะนั้น ท่านพระมหากัสสปะท่านก็เลือกพระภิกษุที่ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาที่จะกระทำสังคายนาได้ถูก และในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่เวสาลี ท่านก็สามารถที่จะรู้ได้ถูก แต่ในยุคนี้สมัยนี้ ๒๕๐๐ กว่าปี ไม่มีพระอรหันต์ แม้ที่ได้ปฏิสัมภิทาก็ไม่มี อภิญญาก็ไม่มี หรือพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะก็ไม่มี ถ้าสมัยนี้จะมีได้ ก็เพียงพระอนาคามีบุคคล

    ถ. คนหนึ่งเป็นพระอรหันต์ อีกคนเป็นพระอนาคามี คนที่เป็นพระอรหันต์สามารถจะรู้ได้

    สุ. ถ้าสามารถจะรู้ได้ ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมกับพระรูปหนึ่ง พระรูปนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านพระสารีบุตรคิดว่า พระรูปนั้นเป็นพระอนาคามี พระผู้มีพระภาคต้องตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า พระภิกษุรูปที่กำลังฟังอยู่นั้นเป็น พระอรหันต์ ขณะที่แสดงธรรม ท่านไม่สามารถรู้ได้ว่า สติของบุคคลนั้นขณะที่กำลังฟัง บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว

    เพราะฉะนั้น เรื่องรู้ได้ เมื่อเรารู้ไม่ได้ก็อย่าไปคิดดีกว่า เวลานี้เราพูดถึง กำลังของพระผู้มีพระภาค เราพูดถึงกำลังของท่านพระสารีบุตร เราพูดถึงกำลังปัญญาของพระอรหันต์ที่ท่านมีปฏิสัมภิทาและอภิญญา ไม่ใช่กำลังของเรา แต่เราก็เฝ้าแต่สงสัยว่า กำลังนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ตัดออกไปเลย

    ถ. คนทุกวันนี้อยากจะรู้ว่าใครเป็นอริยะ

    สุ. เพราะฉะนั้น ขอเชิญเขามาศึกษาธรรม เมื่อเขาอยากจะรู้

    ถ. เขาไม่มา

    สุ. เขาไม่มา เขาก็ไม่รู้ บอกเขาว่า คุณไม่มาคุณก็ไม่มีทางรู้ เพราะ ทางเดียวที่คุณจะรู้ได้ คือ คุณต้องศึกษาธรรม

    ถ. บางคนก็ว่าเป็นเรื่องนิยาย

    สุ. ก็ตามใจ เมื่อไม่เรียน นิยายก็นิยาย คนไม่เรียนและจะให้คนอื่นไปนั่งบอก อย่างนี้ไม่ได้

    ถ. เราก็พอที่จะรู้คุณธรรมของบางคน โดยการสนทนากัน

    สุ. จนกว่าเราจะรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏที่ลึกซึ้ง ที่ว่าคัมภีระ ที่รู้ยากนั้น คืออย่างไร เมื่อไรเรารู้ เมื่อนั้นเราจึงจะรู้ว่า อ้อ คนนี้เขารู้ เพราะเขาสามารถที่จะชี้แจงหนทางพร้อมทั้งสภาพธรรมได้ แต่ว่าผู้นั้นต้องรู้ด้วยตัวเอง

    ถ. เราประมาณว่า ...

    สุ. เราประมาณ พูดได้ แต่ถูกหรือผิด

    ถ. ประมาณว่า อย่างน้อยเขาก็สูงกว่าเรา คือ เราเทียบท่านไม่ได้เลย

    สุ. เท่านั้นพอ แต่ประมาณเกินกว่านั้นไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงได้

    ถ. ที่จะรู้ คงรู้ด้วยคุณธรรมที่เสมอกัน ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน เพราะถ้าใครรู้ อีกคนหนึ่งต้องรู้ทันทีว่า เมื่อพูดออกมาแล้ว คนนั้นรู้ ถ้ามีพระโสดาบันรูปหนึ่ง แล้วอีกคนหนึ่งยังไม่เป็นพระโสดาบัน เมื่อคนนั้นเป็นพระโสดาบันเมื่อไหร่ หรือยังไม่ต้องถึงพระโสดาบัน วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก่อน คนที่ผ่านวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็รู้ว่าคนนี้รู้แล้ว และคนที่ผ่านก็รู้ว่าคนนี้เขาต้องรู้ก่อนเขาจึงได้รู้ เพราะเป็นทางสายเดียว และสภาพธรรมไม่เปลี่ยน จิตเจตสิกแต่ละลักษณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมาจากการที่ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น การที่ สภาพธรรมแต่ละอย่างจะปรากฏ ต้องมีหนทางที่จะให้ปรากฏ และเมื่อปรากฏแล้วสภาพธรรมนั้นเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีทางจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย

    ที่คิดว่ารู้และมาศึกษา และรู้ว่าไม่รู้ นั่นประเสริฐ เพราะรู้ว่าหนทางที่จะรู้ ยังไกล และยังไม่พอ จนกว่าสติจะมั่นคง ถ้าสติมั่นคงก็สบาย เป็นกัลยาณปุถุชน เต็มขั้น ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง เมื่อเรียนครั้งแรก ทราบนิดหน่อย คิดว่าตัวเอง ... เมื่อเรียนต่อๆ ไป รู้สึกว่าอีกหลายชาติ หลายภพ

    สุ. ก็ของจริง ไม่ได้พูดถึงอย่างอื่นเลย เห็นกำลังเกิดดับ จริง ได้ยินกำลังเกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อไรจะคลายความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ ทุกคนต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และละคลายโดยอย่างไร ก็โดยสติระลึก ถ้าไม่ระลึก ไม่มีทาง และต้องโดยทั่วด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไหน ไม่ว่าจะดูละคร ดูหนัง กำลังโกรธ กำลังคิด กำลังอะไรๆ ทุกอย่างหมด ก็ต้อง สภาพนั้นๆ เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรม

    ถ. พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิหมดหรือยัง

    สุ. ถ้าไม่หมด ไม่เป็น

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจในความหมายของอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า รูปขันธ์ ระลึกทางตาหรือยัง ทางหูหรือยัง ทางจมูกหรือยัง ทางลิ้นหรือยัง ทางกายหรือยัง

    เวทนาขันธ์ ทุกขณะที่เป็นอุเบกขา หรือโสมนัส หรือโทมนัส หรือทุกข์ หรือสุข

    สัญญา ความทรงจำในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในความเป็นเราที่กำลังเห็น สังขารขันธ์ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ

    ถ. ถ้าละสักกายทิฏฐิได้หมด น่าจะละกามราคะได้ ละปฏิฆะและมานะได้

    สุ. ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ความติดในรูป พอใจที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ความติดในเสียง ความติดในกลิ่น ความติดในรส ความติดในโผฏฐัพพะ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การสะสมความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากสักแค่ไหน มากยิ่งกว่าความเห็นผิดหรือเปล่า

    วันนี้เรามีความเห็นผิดเกิดขึ้น หรือว่าเรามีโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยไม่มีความเห็นผิดเลย จำนวนก็ไม่เท่ากันแล้ว

    อย่างเราตื่นมา พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งความเห็นผิดไม่ได้เกิดประกอบด้วยเลย ฉะนั้น ความเห็นผิดก็ต้องน้อยกว่าความติด ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเมื่อรู้ว่าความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ผู้นั้นก็รู้ว่า ยังมี เหตุปัจจัยที่ทำให้ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต้องเกิดอยู่ จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกต่อไป เมื่อระลึกต่อไป ก็ยังดับไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่ พระอนาคามี จนกว่าหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นอีกเป็นขั้นๆ จนกว่าจะถึงความเป็น พระโสดาบัน ความเป็นพระสกทาคามี และจนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี เห็นโทษแม้แต่การติดในกุศลที่สงบของตน ซึ่งปราศจากการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว จึงจะเป็นพระอรหันต์ได้

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นขั้น หลายชั้น หลายเชิงของโลภะ ซึ่งโลภะที่ประกอบกับความเห็นผิดต้องดับก่อน แต่โลภะที่ไม่ประกอบกับความเห็นผิดยัง ดับไม่ได้ จนกว่าจะเป็นไปตามขั้นจริงๆ

    ถ. ผมเข้าใจว่า เมื่อดับสักกายทิฏฐิหมดแล้ว คือ ดับตัวเราหมดแล้ว ไม่น่าจะยึดติด

    สุ. ไม่ติดในความเห็นผิด และรู้ว่าความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เราอีกต่อไป แต่มีปัจจัยเกิดก็เกิด จนกว่าปัญญาอีกขั้นหนึ่ง อีกขั้นหนึ่งๆ จะเกิด จึงจะดับได้

    ไม่อย่างนั้นเราประมาทกิเลสของเราเหลือหลาย มีปัญญาแค่นี้จะดับกิเลสแล้ว มีปัญญาแค่พระโสดาบัน จะไปเป็นพระอรหันต์

    ถ. ผมเข้าใจว่า ยังดับสักกายทิฏฐิไม่หมด

    สุ. อย่างนั้นก็ไม่เป็นพระโสดาบัน จากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยะ ขั้นที่สูงมากขั้นหนึ่งซึ่งก้าวยาว คือ ดับสักกายทิฏฐิอย่างเดียว และวิจิกิจฉาที่เกิดเพราะอาศัยสักกายทิฏฐิ เมื่อยังมีสักกายทิฏฐิ ก็ยังมีวิจิกิจฉา ธรรมอื่นในฐานะเดียวกับทิฏฐิดับหมด

    ถ. ในปฏิกูลมนสิการบรรพกล่าวไว้ว่า มีการพิจารณาความเป็นปฏิกูลของร่างกาย ปอด ตับ ไต ไส้ พุง และตอนที่สองให้พิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นและที่เสื่อมไปในกาย คือ ตอนแรกให้พิจารณาความเป็นปฏิกูลของกาย ท่อนที่สองให้พิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นและเสื่อมไปในกาย อ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า ก่อนที่จะมีสติระลึก ในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นปฏิกูลก่อน ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ ข้อหนึ่งที่จะต้องจำไว้ไม่ว่าจะไปเจอที่ไหนในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือที่ใดๆ ก็ตาม สติปัฏฐาน ที่ทรงแสดงว่า มหา คือ มาก กว้างขวาง ใหญ่โต ก็เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ เมื่อจับข้อนี้ได้ ทั้งหมด เพื่อเพียงสติระลึก และเมื่อระลึกแล้ว ธรรมก็ปรากฏ คือ นามธรรมหรือรูปธรรม

    ถ. ไม่ได้หมายความว่า ถ้าระลึกถึงสิ่งที่เป็นปฏิกูลแล้วจะทำให้สติเกิดหรือ

    สุ. ทุกอย่างที่เห็น จะปฏิกูลหรือไม่ปฏิกูล ก็เพื่อเป็นเครื่องระลึกให้ สติเกิดได้ เห็นปอด เห็นตับ ไปตลาดไม่เห็นใครระลึกเลย ควรระลึกไหม นั่นคือ มหาสติปัฏฐาน ไม่ทิ้งอะไรสักอย่างเดียวว่าอย่างนั้นดีกว่า เพราะฉะนั้น จะแยกเป็นบรรพใดๆ ก็ตามแต่ ทุกประการ ให้รู้ว่าที่ทรงแสดงไว้เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ

    ถ. ถ้าเราเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไม่มีวิจิกิจฉา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่จำเป็นต้องสนทนาธรรมกัน เพราะ การสนทนาธรรมเนื่องจากเรามีวิจิกิจฉา ถามกันไปถามกันมา คนนี้ตอบ คนนั้นถาม ก็เนื่องจากเรามีวิจิกิจฉา

    ผู้ฟัง เวลาสนทนาธรรมกัน ไม่สงสัยก็ได้ สนทนาให้สติเกิดก็ได้

    สุ. อย่างที่ท่านผู้ฟังตอบ ถูกต้องแล้ว ก็ต้องสนทนาธรรม หรือแม้แต่จะฟังพระธรรมก็ได้ เพราะเหตุว่าพระอริยะท่านรู้หนทางข้อปฏิบัติ ท่านจะไม่มีทางผิดเลย เพราะฉะนั้น ชีวิตของท่าน ท่านก็ต้องรู้แล้วว่า อย่างไหนจะเป็นฉันทะ เป็นอัธยาศัยของท่าน ท่านก็ค่อยๆ พรากจากชีวิตของฆราวาส แต่ว่าตามการสะสม อย่างท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา ท่านบรรลุโสดาบันเมื่ออายุ ๗ ขวบ แต่ตามการสะสมของท่าน ท่านยังครองเรือน มีลูกมีหลาน ยังร้องไห้ แต่ไม่มีทางที่กิเลสของท่านจะเท่ากับปุถุชน กิเลสที่ยังไม่ดับก็ยังแสดงออกมาตามอัธยาศัย ท่านมีเครื่องประดับที่หญิงอื่นไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างตามการสะสม เมื่อตามการสะสมท่านจึงได้ทราบว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามการสะสมทั้งนั้น เป็นปกติ เป็นชีวิตจริงๆ

    ถ. เวลาน้อมระลึกถึงพระคุณของผู้มีพระภาค รู้สึกว่า ...

    สุ. จะระลึกแบบไหน

    ถ. ถ้าแบบเจริญสติ

    สุ. ถ้าเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกว่า ขณะคิดเป็นสภาพของนามธรรม ชนิดหนึ่ง กำลังคิดนั่นเองเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังคิดคำ แต่เป็นกุศลจิตที่คิด เพราะธรรมดาในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตคิดทั้งนั้น ถ้าคิดถึงเรื่องของที่จะซื้อ อกุศลจิต คิดเรื่องอาหารที่จะรับประทาน อกุศลจิต คิดเพียงคำสองคำในขณะนั้นก็ยังเป็น อกุศลจิต เช่น คิดว่า ตลาดพาราณสี ดูเหมือนไม่มีอกุศลอะไรเลย เพียงแต่คิดว่า ตลาดพาราณสี แต่จิตอะไรที่คิดคำว่า ตลาด - พา - ราณ - สี ถ้าไม่มีความผูกพัน ถ้าไม่มีความต้องการ ถ้าไม่มีการที่จะโยงใยเรื่องหนึ่งเรื่องใด คำว่า ตลาด - พา - ราณ - สี ก็ไม่เกิดคิดขึ้นมาได้ แต่เพราะเหตุใดจึงคิด ตลาด - พา - ราณ - สี

    ปุถุชนคิดเรื่องราวต่างๆ ทุกวัน ด้วยอกุศลจิต เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วคิดคำว่า ตลาด - พา -ราณ - สี เหมือนกัน คำไม่ได้ผิดกันเลยกับสมัยเมื่อเป็นปุถุชน แต่จิตที่คิดคำว่า ตลาด - พา - ราณ - สี ของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต ดังนั้น ไม่ได้อยู่ที่คำ แต่อยู่ที่สภาพของจิตที่คิด

    เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า คิดทุกขณะเป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะที่เมื่อเกิดก็คิดถึงคำแต่ละคำ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    10 ก.พ. 2566