แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248


    ครั้งที่ ๑๒๔๘


    สาระสำคัญ

    ความเป็นตัวตนเหนียวแน่น

    เหตุปัจจัยของสติมาจากไหน

    ขณะที่ระลึกได้

    ไม่มีเรากำหนด

    ปัญญาเกิดเริ่มพิจารณา เริ่มสังเกต ไม่มีตัวตนที่กำลังคิด

    วิถีจิต กับ วิถีมุตจิต

    เรื่องรู้แล้วละ


    สนทนาธรรมที่โรงแรมรานายานี นครกัตมัณฑุ ประเทศเนปาล

    วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๖


    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ถ้าเสียงเบาเหลือเกินปรากฏ หรือไกลเหลือเกินปรากฏ หรือว่าใกล้ที่สุดปรากฏ หรือว่าดังที่สุดปรากฏ สติระลึกในสภาพที่กำลังปรากฏเท่านั้น เราจะเปลี่ยนเสียงเบาให้ดังไม่ได้ เราจะเปลี่ยนเสียงใกล้ให้ไกลไม่ได้ ไม่มีการทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่สติระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏ เมื่อปรากฏอย่างใด สติก็ระลึกรู้อย่างนั้น ไม่ผิดปกติเลย และปัญญารู้ว่า ขณะนั้นสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร จะต้องไปถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนเหนียวแน่นแค่ไหน คอยเข้ามาในรูปร่างลักษณะอาการต่างๆ เพราะอะไรที่ทำให้ติดในไกล ในใกล้ ซึ่งความจริงแล้ว เพียงรู้แล้วละ นี่คือการที่จะค่อยๆ คลาย ขอให้ไม่ผิดทาง นี่สำคัญที่สุด

    อย่างที่คุยกันเมื่อคืนนี้ว่า ทำไมวันหนึ่งๆ มีแต่หลงลืมสติ ซึ่งดิฉันก็บอกว่า ปัจจัยที่จะให้สติไม่เกิดมีมากกว่าที่จะให้สติเกิด และทำไมสงสัย ทุกอย่างต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัจจัยที่จะไม่ให้สติเกิด สติก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิด จะสงสัยทำไมว่า ทำไมสติไม่เกิด ก็ต้องตามเหตุตามปัจจัย

    อย่างเมื่อเช้าตลอดมามีความติดมากมาย และมาสงสัยว่า ทำไมสติไม่เกิด ก็ดูเหตุปัจจัยว่าเมื่อเช้านี้มีปัจจัยของอะไร มีปัจจัยของโลภะ โลภะก็เกิด เมื่อโลภะ เกิดๆ และยังสงสัยว่าทำไมสติไม่เกิด ก็จะเอาปัจจัยของสติที่ไหนมา

    . เหตุปัจจัยของสติมาจากไหน

    สุ. มาจากขั้นการฟัง พิจารณา และเข้าใจ ถ้าไม่เคยได้ฟังเลย มีใครที่ไหนที่สติปัฏฐานจะเกิด แม้ได้ฟังแล้ว แต่ไม่พิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ระลึกอยู่ เรื่อยๆ ถึงเหตุถึงผล เมื่อไรสติจะเกิด

    อย่างที่ฟังธรรมกันเป็นปี จะสังเกตได้ว่า พอเริ่มเข้าใจแล้ว ความสนใจก็จะเพิ่มขึ้น ศรัทธาก็จะเพิ่มขึ้น การใคร่ที่จะฟังธรรม พิจารณาธรรม ได้ยินได้ฟังก็เพิ่มขึ้น จนในที่สุดมีกำลังขั้นของการฟัง เมื่อมีกำลังขั้นของการฟัง ก็เป็นปัจจัยที่จะให้ขั้น ระลึกได้เกิด ลองเทียบดูระหว่างขั้นของการฟังยังต้องอาศัยพื้นฐานถึงอย่างนั้น บางคนฟังครั้งที่หนึ่งแล้วผ่านไปเลย ก็ดี แต่ไม่สนใจ อีก ๑๐ ปีมาฟังอีก ก็ดี เหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่สนใจอีก จนกว่าจะถึงเวลาที่ไม่ใช่เพียงก็ดีเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่น่าติดตามไปตลอดชีวิต หรืออะไรอย่างนี้ ก็ยังต้องอาศัยถึงอย่างนี้แม้ขั้นการฟัง และสำหรับขั้นสติปัฏฐาน สติระลึกนิดหนึ่ง แหม อยากได้ทีเดียวกลุ่มโตๆ อะไรอย่างนี้ ก็จะมาได้อย่างไร เหตุกับผล

    . ถ้าเรากำหนดเสียง จะได้ยินเป็นแผ่วเบา หรือดัง แรง เสียงสูงเสียงต่ำ โดยไม่ได้นึกถึงคำ อย่างนี้พอใช้ได้ไหม

    สุ. คุณกาญจนายังมีคำว่า เรากำหนด ถ้าเปลี่ยนเป็น ขณะที่สติเกิด ถ้าคำนี้ยังไม่เป็นที่พอใจก็เป็น ขณะที่ระลึกได้ หรือขณะที่กำลังพยายามน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของเสียง หรือขณะที่กำลังน้อมที่จะรู้ลักษณะของได้ยิน

    ที่ใช้คำว่า น้อมไปที่จะรู้ คือ ความหมายของคำว่า สิกขา ซึ่งเป็นไตรสิกขา หรือที่ใช้คำว่า ศึกษา ซึ่งไม่ใช่ศึกษาขั้นอ่าน ขั้นเขียน แต่เป็นศึกษาในขณะที่สติเกิดระลึกที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด เมื่อปัญญายังไม่รู้ในลักษณะนั้น ช่วงนั้นที่กำลังน้อมไปที่จะรู้ นั่นคือศึกษา อีกระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ไม่มีเรากำหนด แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่มีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดและน้อมไปที่จะรู้ ขณะนั้นเป็นสติ และสัมปชัญญะ และวายามะ คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ซึ่งจะเข้าใจอรรถของ ๓ คำนี้เลยว่า ในขณะนั้น ลักษณะของความเพียรต้องมี ไม่ใช่เฉยๆ ถ้าเฉยๆ จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่เป็นสภาพของความเพียร คือ เพียรที่จะรู้ แม้ว่ายังไม่รู้ แต่เพียรที่จะน้อมไปที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้นี่กำลังรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะรู้ จะไม่มีเรากำหนดอะไรทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ว่า เสียงแผ่วและเราจะไปทำให้ดังขึ้น หรือเสียงดังเราจะไปทำให้แผ่ว เสียงใกล้เราจะไปทำให้ไกล ไม่มีการสนใจว่า เสียงนั้นแผ่ว หรือใกล้ หรือไกล แต่สนใจน้อมที่จะสังเกตลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    . ในขณะที่กำลังพิจารณา ขณะนั้นก็มีเสียงดังกว่าเข้ามา เสียงแผ่วก็จะหายไป

    สุ. ตัวตนอยู่ตรงไหน กำลังจะแยก กำลังจะคิด อันนี้ต่างจากอันนั้น นั่นคือลักษณะของตัวตน สักกายทิฏฐิอยู่เสมอ

    ผู้ฟัง แค่ว่า เป็นเสียงก็แล้วกัน ...

    สุ. ลักษณะของนามธรรม ที่ได้ยินคำว่า นามธรรมๆ อาจจะ ๑๐ – ๑๕ ปี เมื่ออภิธรรมเริ่มขึ้น ก็นามธรรมกับรูปธรรม เมื่อสติปัฏฐานเริ่มขึ้น ก็นามธรรมกับรูปธรรม คำว่า นาม ไม่ใช่ชื่อ แต่กำลังเป็นสภาพเห็น สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ทางตา นามธรรมไม่ใช่อื่นนอกจากที่กำลังรู้เสียง คือ ได้ยินเสียงในขณะนี้ แต่หาไม่เจอ มีแต่เสียงกับตัวเรา จะเอาเราออกไปได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้เสียง

    ที่คิดว่าเสียงนี้ดังกว่า เสียงนั้นเลยหายไป นั่นใครกำลังคิด

    เพราะฉะนั้น กว่าจะทั่ว คิดดูก็แล้วกัน ถ้าสติไม่ระลึกจริงๆ ไม่น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละทางจริงๆ ตัวตนก็ซ่อนอยู่แทรกอยู่อย่างสบายมาก โดยไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นตัวตน ไม่อย่างนั้นอุปาทานขันธ์ไม่มี ๕ และไม่แยกออก เป็น ๒๐

    . ขณะนั้นไม่มี แต่เราจะพิจารณาว่า เสียงเบา ...

    สุ. แทนที่คุณกาญจนาจะพิจารณาสภาพรู้หรือเสียง คุณกาญจนากลับไปพิจารณาเสียงเบา เอาเบาเข้ามาสนใจว่า เสียงเบา

    . ไม่ใช่อย่างนั้น คือ ต่างกับการได้ยินอีกครั้งหนึ่ง

    สุ. แทนที่จะศึกษาลักษณะของเสียงกับสภาพรู้ ก็มาเปรียบเทียบว่า เมื่อกี้เบา ตอนนี้แรง ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    . และที่คิดว่า รูปนั้นดับไปแล้ว มีรูปใหม่เกิด

    สุ. นามธรรมก็มาอยู่ที่คิดแล้ว ตัวตนก็มาอยู่ที่กำลังคิดแล้ว สตินิดเดียว และกลุ่มก็มา มากันทั้งกลุ่มนั่นแหละตัวตน เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจความหมายว่า ปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการเริ่มพิจารณา เริ่มสังเกต และไม่ขาดความเพียร ที่จะสังเกต ที่จะพิจารณา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ธรรมดาๆ คือ แข็งอย่างนี้ และมีรู้แข็ง เมื่อแข็งปรากฏตรงนี้ ก็ต้องมีรู้แข็งตรงนี้ แต่เมื่อยังไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้อาการรู้ ซึ่งต่างกับแข็ง ก็น้อมไปที่จะรู้ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงต้องมี ความเพียร และต้องมีการน้อมไปที่จะรู้

    . .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. สภาพคิดก็แทรกเข้าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชินกับลักษณะที่คิด ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งนั้น และเมื่อไม่หวั่นไหว สติก็ระลึกได้ละเอียดขึ้นว่า ขณะนั้นคิด ขณะนี้แข็ง ขณะนั้นรู้ สามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ทุกอย่างที่สติระลึกไปเรื่อยๆ

    . อย่างอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีบางโอกาสไหมที่จะไม่รับรู้เลย คือ ว่างไปเลย มีไหม

    สุ. ขณะเกิด ปฏิสนธิจิตขณะแรก ๑ ขณะ ไม่มีใครรู้สึกตัว เพราะว่าปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติ เป็นอารมณ์ของชาติก่อน ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ แต่ที่เรากำลังอยู่ในโลกนี้ ที่เราบอกว่าเรากำลังนั่งอยู่ เป็นเรา คนนั้นคนนี้นั่งอยู่ที่นี่ในเมืองกาฐมาณฑุ เพราะกำลังเห็นโลกนี้

    แต่ถ้าทุกคนจะหลับสนิทเดี๋ยวนี้ กาฐมาณฑุก็ไม่มี ห้องนี้ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี นั่นคือขณะที่ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางหนึ่งทางใด

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นปฏิสนธิขณะหรือเปล่า เป็นภวังคขณะหรือเปล่า เป็นจุติขณะหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ๓ ขณะนี้ เป็นวิถีจิตทั้งหมด ฉะนั้น จึงมีคำว่า วิถีจิต กับวิถีมุตตจิต

    วิถีจิต หมายความถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา กำลังเห็นโลกนี้จริงๆ กำลังได้ยินเสียงของโลกนี้ กำลังได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสกับโลกนี้ คิดนึกเรื่องของโลกนี้ กำลังเป็นตัวเราที่อยู่ในโลกนี้และคิด นั่นคือรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เป็นวิถีจิต แต่ขณะที่เป็นปฏิสนธิ เป็นภวังค์ เป็นจุติ เพียง ๓ กิจนี้เท่านั้น ที่เป็นวิถีมุตตจิต

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำสมาธิและว่างไปหมด ตรวจสอบกับพระอภิธรรมได้เลย ทำไมทรงแสดงพระอภิธรรม ก็เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดคิดว่าข้อปฏิบัตินั้นถูกแล้ว เพราะเมื่อไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต ต้องเป็นวิถีจิต คือ ต้องรู้อารมณ์ ทางหนึ่งทางใด แต่เมื่อไม่รู้ ขณะนั้นเป็นอะไร ก็ต้องเป็นโมหะ เพราะไม่รู้

    . เมื่อก่อนนี้ไม่รู้จักคำว่า นามรูป ไม่รู้จักคำว่า สติปัฏฐาน ดิฉันทำงานเหนื่อยมาก ไปนั่งพักและหลับตา ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รับรู้อะไรเลย ว่างเฉยไปเลย ดิฉันไม่ทราบว่าเป็นอะไร

    สุ. ถ้าไม่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นโมหะ ถ้าไม่ใช่ภวังค์

    . ไม่ใช่สมาธิหรือ

    สุ. สมาธิคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าคืออะไรถามไม่ได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่า คืออะไร

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มี แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นโมหะในเมื่อไม่รู้

    .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ภวังค์ ต้องหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด

    .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. จำไว้เลยว่า ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ทั้ง ๖ ทาง ขณะนั้นเป็นภวังค์ หรือแม้ขณะที่กำลังคุยกันในขณะนี้ ทั้งเห็นและได้ยิน ก็มีภวังคจิตคั่นมากอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น จะเห็นความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตว่า ทั้งๆ ที่ภวังค์คั่น ก็ไม่ปรากฏลักษณะของภวังค์

    . แต่ก่อนไม่รู้จักนามรูป อ่านหนังสือของนโปเลียนที่บอกว่า เหนื่อย มากๆ แล้วไปนั่งพัก ประสาททุกส่วนจะไม่รับรู้อะไรเลย และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

    สุ. คนชอบนะแบบนี้ โมหะ อยากมี อยากให้ว่างไปเลย เฉยๆ

    ถ. ก็สบาย เข้าใจผิดคิดว่า

    สุ. ญาณชนิดหนึ่ง ขั้นหนึ่งขั้นใด เพราะเขาเข้าใจคำว่า ญาณ ผิด

    . อย่างที่เขาเรียกกันว่า รวมลงไปที่จุดเดียว อารมณ์เดียว

    สุ. แต่อารมณ์หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ และถ้าอารมณ์ไม่ปรากฏก็มีอยู่ ๓ ขณะ คือ ขณะปฏิสนธิ ขณะที่เป็นภวังค์ และขณะจุติ นอกจากนั้นแล้ว เช่น ทางตาเห็น จะว่าอารมณ์ไม่ปรากฏไม่ได้ ทางหูได้ยินเสียง จะว่าอารมณ์ไม่ปรากฏไม่ได้ และเมื่อขณะนั้นไม่ใช่หลับสนิท ก็ต้องเป็นโมหะ คือ ไม่รู้ว่าในขณะนั้นเป็น อารมณ์อะไร

    . หลับตาแล้วก็ไม่ฟัง

    สุ. ไม่สำคัญ เพราะขณะนั้นไม่ได้หลับ ก็ไม่ใช่ภวังค์

    . คือ ประสาททุกส่วนไม่รับรู้อะไรเลย เพราะดิฉันเหนื่อยมาก และสั่งเด็กว่า ไม่ให้ใครมากวน …

    สุ. ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงวิถีจิต ลักษณะของจิตไว้โดยละเอียด ก็เข้าใจว่าดี เพราะทุกคนชอบ ว่าง สบาย

    . นึกว่าเป็นสมถะ หรือว่าเป็น...

    สุ. นึกได้ แต่ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็ไม่รู้ว่า หาใช่สมถะไม่

    . แต่หายเหนื่อยจริงๆ

    สุ. ก็ชอบ ใช่ไหม นั่นล่ะเรื่องติด เรื่องติดต้องตรงกันข้ามกับเรื่องรู้แล้วละ เพราะฉะนั้น บางคนเข้าใจว่าตัวเองละมากเลย เพราะเฉยไปหมด แต่ความจริง ไม่ใช่เลย เมื่อไม่มีความรู้ ก็ไม่มีทางละ

    . การน้อมระลึกลักษณะของสภาพธรรม คล้ายกับมีตัวตนคอยไปจดจ้อง

    สุ. ถูกต้อง เพราะในขั้นต้น ใครจะละตัวตนได้

    . ตัวอย่างเช่น เมื่อไปนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สติเกิดระลึกรู้เวลาที่กระทบแข็งที่เท้า และก็หมดไป และดูเหมือนจะคอยว่า...

    สุ. ก็เป็นความจริง เพราะตัวตนยังเต็มอยู่

    . และจะมีลักษณะของลมเย็นมากระทบ ก็ระลึกตรงลักษณะนั้น รู้ว่าเป็นอะไร เช่น เป็นเวทนา มีความรู้สึกสบาย ก็รู้ในลักษณะที่สบายนั้น และก็ว่างไปอีก ขณะที่เดินผ่านจังกมเจดีย์ที่ท่านเดินจงกรม ก็ระลึกถึงสภาพที่ท่านย่างก้าวพระบาทไป ขณะนั้นก็เป็นสภาพรู้ที่เป็นการนึกคิด ดูเหมือนเราเพียรที่จะรู้สภาพธรรมบ่อยๆ ภายหลังก็เอามาคิด อ้อ อันนั้นคือกายา …

    สุ. เป็นเรื่องธรรมดา ความคิด ทุกคนคิด ห้ามไม่ได้ จนกว่าสติจะระลึกว่าขณะนั้นกำลังเป็นสภาพคิด

    . ภายหลังก็คิดว่า อันนั้นกายานะ เพราะระลึกที่แข็ง อันนี้สบายนะ เป็นเวทนา ลมพัดเย็น ในขณะที่กำลังคอยสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่ง จริงๆ ไม่ใช่คอย แต่เพียรที่จะระลึกศึกษาอย่างที่อาจารย์ว่า เพียรระลึกศึกษาลักษณะที่กำลังจะปรากฏ

    สุ. กำลังจะปรากฏ นี่แสดงให้รู้ว่าตัวตนอยู่ตรงไหน ถ้าไม่รู้ทัน ก็ไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังเพียรรู้สิ่งที่กำลังจะ ขณะนั้นก็คือ ตัวตนอยู่ตรงนั้น

    ถ. ไม่ได้หมายความว่า จะตั้งใจ …

    สุ. ไม่จำเป็นต้องตั้งใจ แต่ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ตัวตนก็เป็นกลุ่มเข้าไปแล้ว เข้าไปเป็นกลุ่มแล้ว

    ถ .... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. จนกว่าตัวตนจะคลายเมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นการดีที่เรา รู้ว่าตัวตนอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวตนอยู่ตรงนี้ จะไม่มีการคลายตัวตนตรงนี้ จะไม่มีการระลึกศึกษารู้ลักษณะที่เกิดต่อจากสติ

    เพราะฉะนั้น เห็นไหมว่าทางไกลแค่ไหน ละเอียดแค่ไหน ไม่ใช่เป็นเรื่อง หยาบๆ ใกล้ๆ ง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ เราจึงจะรู้ว่า การที่ปัญญาเพิ่ม เพิ่มได้อย่างไร และปัญญาขั้นไหนเพิ่ม ขั้นไหนยังไม่เพิ่ม เพราะว่ามีหลายขั้น

    . ขณะที่มีสติ เกิดทุกทวารพอสมควร แต่ยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ มีโอกาสที่จะทำให้กิเลสอื่นลดลงบ้างไหม

    สุ. หวังผลอีกแล้ว คุณธงชัยสามารถที่จะรู้อสงไขยแสนกัปที่เคยสะสม อะไรๆ ไว้บ้างไหม และรู้หรือไม่ว่า เคยสะสมโลภะขั้นไหนไว้ อิสสาขั้นไหนไว้ มัจฉริยะขั้นไหนไว้ ชาตินี้ยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้อิสสาขั้นนั้นเกิดหรือว่าในเรื่องนั้นเกิด ก็ไม่เกิด แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564