จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143


    ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนามากกว่านั้น คือ เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล จะบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร ถ้าเป็นเนยยบุคคลจะต้องกล่าวถึงพระสูตรนี้บ่อยๆ เพื่อให้ใส่ใจพิจารณาโดยแยบคายและต้องคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจะสามารถบรรลุพระอรหัตได้ และสำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคต เพราะว่าพระสูตรนี้กล่าวถึงโทษของการเกิด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า จัตตาโร อาสีวิสา ความว่า อสรพิษ (งู) ๔ จำพวก คือ กัฏฐมุขะ ปูติมุขะ อัคคิมุขะ สัตถมุขะ

    ไม่ได้อยู่ไกล กำลังอยู่ในตัวทุกคน แต่ยังไม่รู้ความจริงเท่านั้นเองว่า งู ๔ ตัวนั้นได้แก่ รูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต

    ในงู ๔ จำพวกนั้น ทั่วเรือนร่างของคนที่ถูกงูกัฏฐมุขะกัด จะแข็งกระด้าง เหมือนไม้แห้งในข้อต่อทั้งหลาย ข้อต่อจะแข็งกระด้างตั้งอยู่เหมือนเสียบไว้ด้วยหลาวเหล็ก

    ใครเคยมีอาการอย่างนี้บ้างไหม ข้อต่อในร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก เป็นเรื่องของธาตุดิน เป็นโทษของธาตุดิน ซึ่งให้โทษเหมือนกับงูกัฏฐมุขะ คือ งูปากไม้ กัด

    เรือนร่างของผู้ถูกงูปูติมุขะกัด ก็จะมีน้ำหนองไหลเยิ้มอยู่เหมือนขนุนสุกเน่า เป็นดั่งน้ำที่เขาใส่ไว้ในหม้อเกรอะ

    บางท่านอาจจะกำลังเป็นอยู่ แล้วแต่โรค เป็นพิษของธาตุน้ำ

    ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูอัคคิมุขะกัด จะไหม้กระจายไป เป็นเหมือนกำขี้เถ้า และเป็นเหมือนกำแกลบ

    นี่เป็นโทษของธาตุไฟ

    ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูสัตถมุขะกัด ย่อมขาดเป็นช่อง เป็นเหมือนสถานที่ฟ้าผ่า และเป็นเหมือนปากที่ต่อเรือนที่ถูกสว่านใหญ่เจาะ

    นี่เป็นโทษของธาตุลม

    อสรพิษทั้ง ๔ จำแนกโดยพิเศษด้วยประการฉะนี้

    ข้อความในพระสูตรนี้ยาว จะขอกล่าวถึงเป็นบางตอนเท่านั้น

    ข้อความต่อไป อุปมาว่า

    พระราชา คือ กรรม ทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร

    เมื่อได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้วก็เหมือนกับผู้ที่เป็นโจร เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ผล กรรมนั้นก็เปรียบเสมือนพระราชา ซึ่งทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร

    แล้วทรงบอกกล่าวแก่เหล่าอสรพิษที่เขาวางไว้ในกะโปรงทั้ง ๔ กะโปรงว่า นี้เป็นผู้บำรุงเจ้านะ

    คือ บุรุษผู้เป็นโจรนั่นเองจะเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงงูทั้ง ๔ ตัว

    ลำดับนั้นงูตัวหนึ่งก็เลื้อยออกมา เลื้อยขึ้นตามเท้าขวาของบุรุษนั้น แล้วพัน มือขวาตั้งแต่ข้อมือ แผ่พังพานใกล้ช่องหูขวา นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    นี่เป็นเสียงของงู

    อีกตัวหนึ่งเลื้อยไปตามเท้าซ้าย แล้วพันมือซ้าย ในที่นั้นนั่นเอง แผ่พังพานที่ใกล้ช่องหูซ้าย แล้วนอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ตัวที่ ๓ เลื้อยออกขึ้นไปตรงหน้า พันท้อง แผ่พังพาน ใกล้หลุมคอ นอนทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ตัวที่ ๔ เลื้อยไปตามส่วนข้างหลัง พันคอ วางพังพานบนกระหม่อม นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ขณะนี้ครบทั้ง ๔ ตัว ตั้งแต่เท้าขวา เท้าซ้าย ที่หน้าท้อง ข้างหลังพันคอไว้หมด

    เมื่ออสรพิษ ๔ ประเภทนั้น อยู่ที่ร่างกายอย่างนี้ บุรุษผู้หวังดีต่อบุรุษนั้น เห็นเขาเข้าจึงถามว่า

    พ่อมหาจำเริญ ท่านได้อะไร

    ลำดับนั้น เมื่อบุรุษผู้ถูกงูพันนั้นกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ อสรพิษเหล่านี้ พระราชาพระราชทานให้เป็นเครื่องประดับ เป็นพิเศษบางประการ ที่มือทั้งสองเหมือนกำไลมือ ที่แขนเหมือนกำไลต้นแขน ที่ท้องเหมือนผ้าคาดท้อง ที่หูเหมือนตุ้มหู ที่คอเหมือนสร้อยมุกดา และที่ศีรษะเหมือนเครื่องประดับศีรษะ

    นี่ความเข้าใจผิดคิดว่า งูพิษทั้ง ๔ มีประโยชน์ คือ เป็นเครื่องประดับ

    บุรุษผู้หวังดีนั้นก็กล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ ช่างโง่เขลาจริง ท่านอย่าเข้าใจอย่างนี้ว่า พระราชาทรงยินดีพระราชทานเครื่องประดับนั่นแก่ท่าน ท่านเป็นโจรทำความผิดร้าย ทั้งอสรพิษ ๔ ประเภทเหล่านี้ก็บำรุงยาก ปฏิบัติยาก เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะลุกขึ้น ตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ ตัวหนึ่งต้องการจะกิน เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะกิน ตัวหนึ่งก็ต้องการจะอาบน้ำ ในงู ๔ ประเภทนั้น ตัวใดยังไม่เต็มความต้องการ ตัวนั้นก็จะกัดให้ตายในที่นั้นนั่นแล

    บุรุษผู้นั้นได้ถามผู้ที่หวังดีว่า

    ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ ผู้ถึงความสวัสดีปลอดภัยยังจะมีอยู่หรือ

    หมายความว่า เป็นไปได้ไหมที่จะพ้นจากงูทั้ง ๔ ตัวนี้

    ผู้หวังดีก็ได้กล่าวว่า

    เวลาที่พวกราชบุรุษเจ้าหน้าที่เผลอตัว ควรจะหนีไปเสีย ก็จะปลอดภัยได้

    เมื่อบุรุษผู้ถูกจับเป็นโจรรู้เรื่องนั้นแล้ว เห็นขณะที่อสรพิษทั้ง ๔ เผลอตัว และปลอดจากราชบุรุษเจ้าหน้าที่ ก็ได้เอามือขวาพันมือซ้าย แล้ววางพังพานไว้ใกล้จอนหู ทำทีประจงลูบคลำร่างอสรพิษตัวที่นอนหลับแล้วค่อยๆ แกะออก แล้วค่อยๆ แกะตัวอื่นๆ ออกไป แล้วก็หนีไป

    ซึ่งคำอธิบายมีว่า

    กรรมพึงเห็นเหมือนพระราชา ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะพึงเห็นเหมือนบุรุษผู้ทำผิดกฎหมาย มหาภูตรูป ๔ เหมือนอสรพิษทั้ง ๔ เวลาที่กรรมให้มหาภูตรูป ๔ ในขณะปฏิสนธิของมหาชนนั่นเอง เหมือนในเวลาที่พระราชาทรงให้อสรพิษทั้ง ๔

    เวลาที่พระศาสดาตรัสกรรมฐานมีมหาภูตรูปเป็นอารมณ์แก่ภิกษุนี้ แล้วตรัสว่า เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในมหาภูตรูป ๔ นี้ ก็จักหลุดพ้นจากวัฏฏะด้วยอาการอย่างนี้ เหมือนเวลาที่ตรัสว่า ท่านจงออกไปในขณะที่อสรพิษเผลอและในขณะที่ราชบุรุษสงัดเงียบแล้วหนีไปตามคำว่า บุรุษผู้เจริญ กิจใดที่ท่านควรทำ จงทำกิจนั้นเสีย

    ทุกคนมีโอกาสจะระลึกลักษณะของมหาภูตรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จะได้พ้นจากวัฏฏะ

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ธาตุเหล่านั้น มีสภาวะเสมือนกันกับอสรพิษ โดยเหตุเหล่านี้ คือ โดยที่อาศัย โดยความผิดกันแห่งกำลังเร็วแห่งพิษ โดยถือเอาแต่สิ่งไม่น่าปรารถนา โดยบำรุงเลี้ยงยาก โดยเข้าไปหาได้ยาก โดยเป็นสัตว์ไม่รู้คุณคน โดยมีปกติกัดไม่เลือก โดยมีโทษและอันตรายอย่างอนันต์

    แม้แต่เพียงมหาภูตรูป พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงโทษที่จะให้พิจารณาว่า ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

    สำหรับอสรพิษ คือ งูพิษ ที่ว่ามีโทษ คือ

    เมื่อจะยึดเอา ย่อมยึดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือ ย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาของไม่สะอาด ย่อมถือเอาแต่ตัวโรค ย่อมถือเอาแต่ของมีพิษ ย่อมถือเอาแต่ความตาย แม้มหาภูตรูปเมื่อถือเอา ย่อมถือเอาแต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือ ย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาแต่ของไม่สะอาด ถือเอาแต่ความเจ็บ ถือเอาแต่ความแก่ ถือเอาแต่ความตาย

    นี่เป็นสำนวนพระสูตร ซึ่งหมายความว่า โทษของมหาภูตรูป คือ เป็นสิ่งที่เหม็น ต้องชำระให้สะอาดหมดจดอยู่เสมอ มิฉะนั้นมีกลิ่นเหม็นแน่ตลอดศีรษะจรดเท้า

    ด้วยเหตุนั้น พระโปราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

    ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมจับงูอันเปื้อนคูถ มีพิษมาก เป็นผู้เพลิดเพลินงูในโลก ชื่อว่าจับเอาภาวะที่ไม่น่าปรารถนาทั้ง ๕ คือ ของเหม็น ของไม่สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในงูที่เปื้อนคูถ

    ปุถุชนผู้บอดและเขลาไม่ฉลาด ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้เพลิดเพลินความเกิดในภพ ชื่อว่าจับอนัตถภาวะที่ไม่น่าปรารถนา คือ ของเหม็น ของไม่สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ๕ เหล่านี้ มีอยู่ในกายอันเป็นดัง งูที่เปื้อนคูถฉะนั้น

    ยังไม่เห็นโทษ ใช่ไหม ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงอุปมา หรือทรงแสดงอย่างไรก็ตาม ยากแสนยากที่จะเห็นโทษของมหาภูตรูปซึ่งอยู่ที่ตัว ทั้งๆ ที่เป็นของเหม็นจริงๆ เป็นของไม่สะอาดจริงๆ และมีแต่พยาธิ ชรา และมรณะ แต่ก็ยากจริงๆ ที่จะเห็นโทษ

    สำหรับข้อที่ว่า มหาภูตรูปบำรุงเลี้ยงยาก เป็นความจริงไหม ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ง่ายเลยที่จะเลี้ยงดูมหาภูตรูป เพราะว่าเมื่อปรุงยาแก่ปฐวีธาตุ อาโปธาตุก็กำเริบ เตโชธาตุก็กำเริบ คือ เมื่อปรุงยาแก่ธาตุอันหนึ่ง ธาตุอีกอันหนึ่ง ก็กำเริบ เพราะฉะนั้น จึงทราบว่า ธาตุทั้งหลายเหมือนกัน โดยบำรุงเลี้ยงได้ยาก ด้วยประการฉะนี้ ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลาสำหรับธาตุทั้ง ๔ ที่จะต้องให้เสมอกันจึงจะดำเนินไปด้วยดี เพราะถ้าธาตุทั้ง ๔ ไม่เสมอกันก็จะมีทุกข์กาย เป็นความเดือดร้อน

    สำหรับข้อที่ว่า โดยเข้าไปหาได้ยาก คือ มหาภูตรูปเข้าไปหาได้ยาก เพราะ ไม่รู้เลยว่าขณะนี้เป็นเพียงมหาภูตรูป เพราะว่าเป็นตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะรู้ว่าเป็นมหาภูตรูป

    และมีข้อความ วินิจฉัยในบทว่า ทุราสทโต ดังต่อไปนี้

    จริงอยู่ อสรพิษทั้งหลาย ชื่อว่าพบได้ยาก คนทั้งหลายพบอสรพิษที่หน้าเรือน ก็จะหนีไปทางหลังเรือน พบที่หลังเรือนก็จะหนีไปทางหน้าเรือน พบกลางเรือนก็จะหนีเข้าห้อง พบที่ห้องก็จะหนีขึ้นเตียงตั่ง มหาภูตรูปทั้งหลายชื่อว่าพบได้ยากมากกว่านั้น

    สำหรับข้อที่ว่า อสรพิษทั้งหลายย่อมไม่รู้อุปการะอันผู้อื่นกระทำแล้ว แม้มหาภูตรูปก็เช่นเดียวกัน คือ แม้เมื่อเขาให้ก็ดี ให้บริโภคก็ดี บูชาอยู่ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นก็ดี แสวงหาแต่โอกาสเท่านั้น ได้โอกาสในที่ใดก็กัดเขาให้ตายใน ที่นั้นนั่นแล มหาภูตรูปทั้งหลายต่างหาก ไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วยิ่งกว่าอสรพิษทั้งหลาย

    ถ้าเลี้ยงงู งูก็กัด แต่มหาภูตรูปทั้ง ๔ เลี้ยงตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก็เป็นผู้ที่ ไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วยิ่งกว่าอสรพิษทั้งหลาย

    จริงอยู่ สิ่งที่ชอบใจอันมหาภูตรูปเหล่านั้นทำแล้วไม่มีเลย แม้เขาให้อาบน้ำที่ไม่มีมลทิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก็ดี สักการะอยู่ด้วยธูป ของหอม และดอกไม้เป็นต้นก็ดี ประคบประหงมอยู่ด้วยผ้าอันนุ่ม ที่นอนอันนุ่ม และที่นั่งอันนุ่ม เป็นต้นก็ดี ให้กินอาหารอย่างดีก็ดี ให้ดื่มน้ำอย่างดีก็ดี ก็ยังคอยแสวงหาแต่โอกาส อยู่นั้นเอง ได้โอกาสในที่ใด โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับในที่นั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเสมือนกันกับอสรพิษ โดยไม่รู้คุณคนด้วยประการฉะนี้

    ข้อความต่อไป

    อสรพิษไม่รู้คุณ ไม่ได้เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต ย่อมกัดผู้ที่มาประจวบเข้าให้ตายไปทั้งนั้น แม้มหาภูตรูปก็ย่อมไม่เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต เป็นเทพหรือมนุษย์ เป็นมารหรือพรหม ไม่มีคุณหรือมีคุณ

    ถ้าพวกอสรพิษเกิดความอายขึ้นว่า ผู้นี้เป็นผู้มีคุณไซร้ พวกมันก็จะพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระตถาคต ผู้เป็นพระอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก แม้ถ้าหากพวกมันเกิดความละอายขึ้นโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้เป็นผู้มีปัญญามาก ผู้นี้เป็นผู้มีฤทธิ์มาก และผู้นี้เป็นผู้ทรงคุณทางธุดงค์ แต่ถ้าพวกมันพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเป็นต้น หรือมิฉะนั้นถ้าพวกมันพึงเกิดความกลัวขึ้นว่า ผู้นี้ไม่มีคุณ เป็นผู้ทารุณ กระด้าง พวกมันก็พึงก็กลัวต่อท่านพระเทวทัต หรือ ต่อศาสดาทั้ง ๖ ผู้ไม่มีคุณ ผู้ทารุณ ผู้กระด้าง อสรพิษไม่ละอายและไม่กลัว โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเป็นเหมือนกัน โดยไม่เลือกด้วยประการฉะนี้

    ข้อความต่อไปยาวกว่านี้มาก แต่ขอกล่าวถึงโดยย่อๆ สำหรับโทษและอันตรายที่อสรพิษเกิดขึ้นไม่มีประมาณ คือ

    เวลากัดแล้วทำให้ตาบอดบ้าง เป็นคนเปลี้ยบ้าง หรือว่าเป็นคนร่างพิการไปแถบหนึ่งบ้าง ด้วยประการฉะนี้ แม้ภูตรูปทั้งหลายโกรธขึ้นมาแล้ว ย่อมกระทำความพิการบางอย่าง บรรดาความพิการทั้งหลายมีตาบอดเป็นต้น และโทษและอันตรายของภูตรูปเหล่านั้นหาประมาณมิได้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ภูตรูปเหล่านั้น เสมือนกัน โดยมีโทษและอันตรายหาประมาณมิได้

    การที่จะหนีจากมหาภูตรูป ไม่ง่ายเลย เป็นเรื่องที่ยาก แม้โดยคำอุปมาที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นเห็นภัยของอสรพิษแล้วหนีไป ก็ยังถูกอสรพิษติดตาม ไม่ยอมที่จะให้จากไปง่ายๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระราชาทรงสดับว่า บุรุษนั้นหนีไปแล้ว จึงทรงดำริว่า ใครหนอจักอาจติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นได้

    ไม่ยอมที่จะปล่อยไปง่ายๆ เลย

    จึงเลือกได้คน ๕ คนผู้เป็นศัตรูต่อบุรุษนั้น ทรงส่งไป แล้วตรัสสั่งว่า พวกเธอจงไป จงติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นเสีย

    ลำดับนั้น บุรุษผู้หวังดีต่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นทราบเรื่องแล้ว ก็ได้บอกบุรุษผู้เป็นโจรนั้นซึ่งมีความกลัวเหลือประมาณให้หนีไป

    นอกจากมหาภูตรูป ๔ ซึ่งเป็นเหมือนกับงูพิษ ๔ ตัวแล้ว ยังมีคนที่เป็นศัตรูของบุรุษนั้นอีก ๕ คน ได้แก่ ขันธ์ ๕ เพราะว่าไม่ใช่มีแต่กายซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูปเท่านั้น แต่ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้รับผลของกรรม คือ ทำให้เกิดวิบากจิต เห็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม หรือว่าได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่ดี

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ที่เรียกว่า บุรุษผู้เป็นศัตรู คือ เป็นผู้ที่ฆ่า เพราะเหตุว่าขันธ์ทั้งหลาย ย่อมฆ่าซึ่งกันและกัน

    อันดับแรก รูปย่อมฆ่าทั้งรูป ทั้งอรูป อรูปย่อมฆ่าทั้งอรูป ทั้งรูป อย่างไร

    คือ เวลาที่ปฐวีธาตุแตก หรือดับไป ย่อมพาเอาธาตุ ๓ นอกนี้แตกไปด้วย

    คือ ต้องดับพร้อมกับปฐวีธาตุนั่นเอง แม้ในอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อเกิดก็เกิดพร้อมกัน ดับก็ดับพร้อมกัน และเมื่อเกิดขึ้นต่างก็อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เมื่อดับก็พากันดับตามกันไปด้วย เพราะฉะนั้น รูปชื่อว่าฆ่ารูป นั่นแหละก่อน ด้วยอาการอย่างนี้

    ส่วนเวลาที่รูปขันธ์แตก อรูปขันธ์ทั้ง ๔ ก็ดับพร้อมกัน แตกไปด้วย

    ในขณะนั้น รูปฆ่าอรูปด้วยอาการอย่างนั้น

    สำหรับที่ว่า อรูปย่อมฆ่าทั้งอรูป ทั้งรูป อย่างไร

    เวลาที่เวทนาขันธ์ดับ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ก็ดับไปพร้อมกันด้วย นั่นคืออรูปฆ่าอรูป

    ส่วนในขณะจุติ เวลาที่อรูปขันธ์ ๔ ดับ ทำให้รูปที่เป็นกัมมชรูปดับพร้อมกันไป แตกไปด้วย ชื่อว่า อรูปชื่อว่าฆ่ารูป ด้วยอาการอย่างนี้

    เวลาตาย จุติจิตดับพร้อมกับรูป เพราะฉะนั้น ชื่อว่าอรูปฆ่ารูป

    เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรหนีไป พวกอำมาตย์ก็ได้กราบทูลพระราชาอีกว่า

    บุรุษโจรผู้นี้ ถูกพวกอสรพิษติดตามไปก่อน ได้ลวงอสรพิษเหล่านั้นท่าโน้นท่านี้หนีไป บัดนี้เขาถูกศัตรู ๕ คนติดตาม ก็หนีเตลิดไป

    เมื่อเขาถูกศัตรู ๕ คนติดตาม หนีไป พระราชาทรงทราบ ก็ต้องการจับไว้ ไม่ปล่อย เพราะฉะนั้น ก็ให้คนที่สนิทสนมกับเขาซึ่งเป็นคนภายใน เคยกินเคยดื่มร่วมกันตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ติดตามไป เพื่อจะฆ่าอีก

    ทราบไหมว่าใคร คนสนิทสนมภายใน เคยกินเคยดื่มร่วมกันตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ก็คือ โลภะ อยู่จนคุ้นเคยสนิทสนม คุ้นเคยมากตลอดเวลา เพราะฉะนั้น

    ให้คนที่ ๖ คือ นันทิราคะ หรือโลภะ ติดตามไปพูดเกลี้ยกล่อมว่า กลับมาเสียเถิด อย่าหนีเลย กลับมาบริโภคกามกับบุตรภรรยา แล้วจักอยู่เป็นสุข

    แต่ความกลัวของเขามากมาย หนีซอกซอนต่อไป จนกระทั่งไปถึงบ้านร้าง หมู่หนึ่ง ซึ่งมีกระท่อม ๖ หลัง อยู่ตรงหน้า ปลายเขตแคว้น แต่เป็นกระท่อมเปล่า ไม่มีอะไรเลย

    เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นไม่ได้อะไรๆ ในเรือนสักหลังเดียว ในจำนวนเรือนทั้ง ๖ หลัง แต่แล้วก็เห็นแผ่นกระดานคดๆ ที่เขาปูไว้ที่ใต้ต้นไม้ ที่มีเงาสงบต้นหนึ่งที่อยู่กลางหมู่บ้าน ก็คิดว่า จักนั่งในที่นี้ก่อน แล้วก็ไปนั่งในที่นั้น มีลมอ่อนๆ พัดโชยมา ทำให้ระลึกถึงความสุขแม้มีประมาณเท่านั้นเองโดยสงบ ซึ่งบุรุษผู้หวังดีก็ได้กล่าวว่า อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเป็นที่สงบ ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น เขาควรที่จะข้ามไปสู่ฝั่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่เห็นสาระของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่เชื่อคำชักชวนของสหายซึ่งเคยกินดื่มกันมาตั้งแต่หนุ่ม คือ โลภะ เพราะว่าความยินดีนั้นเหมือนกับเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยทำศีรษะคือปัญญาให้ตกไป และโดยทำให้เข้าถึงการเกิด เพราะเวลาที่อิฏฐารมณ์ปรากฏทางตา โลภะก็เกิดขึ้น ขณะใดที่ เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตาและโลภะเกิดขึ้น ขณะนั้นศีรษะคือปัญญาเป็นอันชื่อว่าตกไป ทุกขณะที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นปัญญาไม่เกิด

    นอกจากนั้น โลภะยังทำให้เข้าถึงการเกิดด้วยอัณฑชกำเนิดเป็นต้น เพราะว่าการเกิดมี ๔ อย่าง ได้แก่ การเกิดเป็นโอปปาติกกำเนิด คือ เกิดเป็นตัวขึ้นมาทันที การเกิดโดยอัณฑชกำเนิด คือ เกิดในไข่ ชลาพุชกำเนิด คือ เกิดในครรภ์ และ สังเสทชกำเนิด คือ กำเนิดในสิ่งสกปรกต่างๆ

    นี่ก็คือภัยของโลภะ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมให้ผู้ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้พิจารณา เพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัยในอนาคต

    สำหรับภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าได้พิจารณาแล้ว บางท่านย่อมเกิดความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะแม้จะมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ก็ยังต้องอาศัยวิริยกถาให้เกิดความเพียร ที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

    และทั้งๆ ที่เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม สติก็ไม่ระลึกที่ลักษณะที่เป็นนาม หรือลักษณะที่เป็นรูป จึงต้องอาศัยพระธรรมเทศนาอย่างมาก เช่น การแสดงโทษภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งถ้าได้พิจารณาจะทำให้เห็นว่า ในชาติที่เป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะเจริญกุศลทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล ในความสงบของจิต และในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมปัญญาให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ไม่มีใครชี้หนทางทำให้ปัญญาเจริญได้

    สำหรับธรรมที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นของวิริยะ ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงธรรม ๑๑ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความพิจารณาเห็นภัยในอบาย ๑

    สำหรับข้อที่ว่า วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาอบาย คือ การเกิดในอบายภูมิ ได้แก่ การเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นดิรัจฉาน มีข้อความว่า

    ใครๆ ไม่อาจจะเจริญความเพียรให้เกิดขึ้น ในขณะที่กำลังได้รับความทุกข์ทางกายอย่างใหญ่หลวงได้ในนรก

    แม้แต่เป็นมนุษย์ เวลาที่เกิดทุกขเวทนามาก บางท่านก็กล่าวว่า ไม่สามารถระลึกลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรมได้ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่ายังอบรมเจริญปัญญาและสติปัฏฐานไม่พอ แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานมากพอที่จะมีกำลังแล้ว สติปัฏฐานย่อมสามารถระลึกได้

    แต่ในนรก สัตว์ในนรกได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ