จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104


    เพราะฉะนั้น ผัสสะดวงหนึ่งเป็นที่สุดอันหนึ่ง เกิดแล้วดับ ผัสสะดวงต่อไปก็เกิดขึ้น ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง คือ ระหว่างการเกิดขึ้นของผัสสะดวง ที่ ๑ และผัสสะดวงที่ ๒

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้อุปมาว่า เหมือนไม้ ๒ อันที่ผูกไว้ด้วยเชือก เมื่อ ตัดเชือก ไม้ทั้งสองก็หล่นจากทั้งสองข้าง ในทุกๆ ขณะนี้เอง สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นส่วนสุดแต่ละอย่าง แต่เพราะตัณหาผูกไว้ มัดไว้ เพราะฉะนั้น ก็ยังเชื่อมสนิทเหมือนเป็นอันเดียวกัน เช่น เป็นคนที่กำลังนั่ง และเห็นด้วย ได้ยินด้วย คิดนึกด้วย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วย จนกว่าจะประจักษ์ความจริง สามารถดับกิเลส ไม่ยึดถือใน สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อนั้นก็เหมือนกับไม้ทั้งสองที่เมื่อตัดเชือกที่ผูกไว้ออกจากกัน ก็หล่นจากทั้งสองข้าง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า ย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    อดีต ปัจจุบัน อนาคต ข้อความทั้งหมดเป็นขณะนี้เอง เพราะสภาพธรรมที่ เพิ่งดับไปเมื่อกี้ก็เป็นอดีต เป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตที่จะเกิดหลังจากขณะปัจจุบันนี้ ก็เป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบันเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดไว้อีก มีใครไม่มีตัณหาบ้างในระหว่างนี้ ระหว่างอดีต อนาคต และปัจจุบัน

    ข้อความในอรรถกถาอุปมาข้อนี้ว่า เหมือนไม้ ๓ ท่อนเอาเชือกมัดไว้ เมื่อเชือกขาด ไม้ ๓ ท่อนก็ตกไปในที่ ๓ แห่ง ไม่รวมกันอยู่เหมือนเดิม

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง อดีตเมื่อกี้นี้ ปัจจุบันในขณะนี้ อนาคตคือเพียง ชั่วขณะที่จะเกิดต่อไป แสดงให้เห็นว่า ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้จริงๆ อย่างนี้ คือ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    สติจะระลึกเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะดับไปแล้ว ก็มีสภาพธรรมที่เกิดต่อเป็นปัจจุบันอีกที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒ อทุกขมสุขเวทนาเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่ง ภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    การที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบัน ต้องรู้สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ซึ่งกำลังมี กำลังเป็นในขณะนี้

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า ย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ท่านผู้ฟังศึกษาปรมัตถธรรมเรื่องจิต เจตสิก รูป พระภิกษุที่ท่านกล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ก็ได้ถึงเรื่องของจิต เจตสิก รูปนั่นเอง คือ ท่านกล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง

    นาม หมายถึงเจตสิกต่างๆ รูปหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย วิญญาณคือจิตที่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งจะรู้ความจริงอย่างนี้ได้เมื่อสติระลึกที่ลักษณะของรูป หรือระลึกที่ลักษณะของเจตสิกที่เป็นนาม หรือระลึกที่ลักษณะของวิญญาณซึ่งเป็นจิต

    รูปมี แต่อะไรปรุงแต่งในขณะที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ ทำให้พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ทั้งๆ ที่รูปเป็นเพียงรูปเท่านั้นเอง รูปต่างกับนามธรรมเพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ และทุกคนมีรูปภายในตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า และก็มีรูปซึ่งเป็นภายนอกด้วย คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    วิปัสสนาญาณจะแยกลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรมโดยรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมด้วยประการต่างๆ แต่จะต้องอาศัยสติปัฏฐานระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะสามารถรู้ชัดในลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้

    สำหรับนามธรรม ได้แก่ เจตสิก เช่น โลภะ โทสะ ผัสสะ เวทนา สัญญา ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดอยู่เป็นประจำในขณะที่มีรูปหรือนามเป็นอารมณ์ เวลาที่เห็นรูปที่พอใจ นามคือโลภเจตสิกก็เกิดยินดีพอใจในรูปนั้น เวลาที่ได้ยินเสียงที่ ไม่น่าพอใจ นามคือโทสเจตสิกก็เกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้นด้วยความขุ่นเคือง ไม่พอใจ นั่นคือลักษณะของนามซึ่งเป็นส่วนสุด ๑ ซึ่งต่างกับรูปที่เป็นอีกส่วนสุดหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    ส่วนวิญญาณ คือ จิต เป็นท่ามกลาง เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น รู้แจ้งอารมณ์นั้น แต่จิตไม่ใช่สภาพที่พอใจหรือไม่พอใจในอารมณ์นั้น เพราะลักษณะที่พอใจ ติดข้อง ต้องเป็นลักษณะของโลภเจตสิก ลักษณะที่ไม่พอใจ ขุ่นเคือง ต้องเป็นลักษณะของโทสเจตสิก เพราะฉะนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวว่า นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด

    ยังไม่จบ เพราะในครั้งนั้นมีพระภิกษุหลายรูป เพราะฉะนั้น

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ท่านผู้ฟังอาจจะเก็บอายตนะไว้ในตำรา ลืมว่าขณะเห็น อายตนะอะไร ขณะที่กำลังได้ยินเป็นอายตนะหรือเปล่า ซึ่งในพระอภิธรรมได้กล่าวถึงเรื่องของอายตนะ แต่ตามความเป็นจริงแล้วทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่จะมีการรู้แจ้งอารมณ์ได้ ก็โดยอายตนะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีรูปธรรมหรือนามธรรม แต่ถ้าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดประชุมอายตนะทั้งหลาย การรู้แจ้งอารมณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้

    กำลังหลับสนิท รูปก็มี นามก็มี แต่ขณะนั้นไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา เพราะฉะนั้น จักขุทวารหรือจักขุปสาทไม่ใช่จักขายตนะ

    ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จักขุปสาทกับรูปารมณ์เป็นอายตนะ และมีผัสสะเป็นธัมมายตนะกระทบอารมณ์นั้น ทำให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่วิถีจิต สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ และวิถีจิตจะมีได้ก็โดยสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอายตนะ คือ เป็นสภาพที่ประชุมกันเพื่อให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น การดับกิเลส ต้องอาศัยการเข้าใจเรื่องของอายตนะด้วย

    เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะรู้อายตนะไหม เวลาที่ไม่มีอะไรปรากฏเลยเป็นภวังค์ จากนั้นมีสิ่งที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ต่างกับขณะที่สิ่งนั้นยังไม่ปรากฏ และที่สิ่งนั้นจะปรากฏได้ต้องอาศัยอายตนะหนึ่งอายตนะใดสิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น อายตนะเป็นภาษาบาลี จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาท ต้องอาศัยจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาการเห็นในขณะนี้จึงเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถเข้าใจอายตนะภายในและอายตนะภายนอก

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในขณะนี้เองที่กำลังเห็น ถ้ายังเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นสักกายทิฏฐิ เป็นการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง

    ความดับสักกายะ ในอรรถกถาแสดงว่า ได้แก่ นิโรธ คือ นิพพาน ซึ่งเป็นอารมณ์ของโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะ คือ อโยนิโสมนสิการ เป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง

    เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย พวกเราทั้งปวงเทียวได้พยากรณ์ตามปฏิภาณของตนๆ มาเถิด เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเราโดยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นไว้โดยประการนั้น

    ภิกษุผู้เถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ครั้งนั้นภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลการที่สนทนาปราศรัยทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำของใครหนอเป็นสุภาษิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำของเธอทั้งปวงเป็นสุภาษิตโดยปริยาย อนึ่ง เราหมายเอาข้อความที่กล่าวไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า

    ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ ฯ

    เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อม ร้อยรัดผัสสะ เหตุเกิดผัสสะ และความดับผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพ นั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ

    ผู้ฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีหลายนัยมาก ถ้าศึกษา ไม่ละเอียดจะทำให้สับสน ที่พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ส่วนสุดทั้งสองควรกำหนดรู้ แต่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอันบรรพชิตไม่พึงเสพ ซึ่งส่วนสุดทั้งสองนั้นหมายถึงกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค และให้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นท่ามกลาง แต่ในพระสูตรนี้พระเถระทั้งหลายให้รู้ส่วนสุดทั้งสองและรู้ท่ามกลางด้วย จะสามารถบรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาไม่ดีแล้ว อาจเกิดการสับสนกันได้

    ท่านอาจารย์ มัชฌิมาปฏิปทา คือ สติปัฏฐาน เกิดขึ้นระลึกรู้อะไร ก็ไม่พ้นไปจากที่พระเถระทั้งหลายท่านได้กล่าวแล้วนั่นเอง คือ อดีตเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง เพราะฉะนั้น ที่พระปัญจวัคคีย์ต้องเว้นจากส่วนสุดทั้งสอง และอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นท่ามกลาง เป็นทางสายกลาง ก็คือสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ไม่ได้ผิดกันเลย เมื่อเว้นส่วนสุดทั้ง ๒ ข้างแล้ว ก็ทรงแสดงหนทางไว้ด้วย คือ อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ โดยสติปัฏฐานเกิดขึ้น สติปัฏฐานเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร ก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่พระเถระทั้งหลายได้กล่าวว่า สภาพธรรมใดเป็น ส่วนสุด และสภาพธรรมใดเป็นท่ามกลาง ก็ตรงกัน

    ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า กำลังพูดถึงเรื่องโทสมูลจิต เรื่องของโทมนัสเวทนา เรื่องของทุกข์ต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้ในขณะที่เป็นทุกข์ หรือในขณะที่เป็นโทมนัสเวทนาด้วย เพราะวันหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถจัดแบ่งได้ว่า ให้สุขเกิดเท่านั้น ให้ทุกข์เกิดเท่านี้ แต่สุขเวทนาก็ดี หรือทุกขเวทนา โทมนัสเวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในวันไหน มากบ้าง น้อยบ้างอย่างไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่การที่จะรู้ลักษณะของทุกข์ ต้องรู้ลักษณะของทุกข์ทุกอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะโทมนัสเวทนาเท่านั้น และควรรู้ถึงเหตุที่ให้เกิดทุกข์ด้วยว่า ทุกข์ทั้งหลายในปัจจุบันชาติที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด หรือในชาติก่อนๆ หรือในชาติต่อๆ ไปซึ่งจะมีได้นั้น เกิดจากอะไร เพราะถึงแม้ว่าทุกข์มีอยู่จริง เป็นอริยสัจธรรมด้วย แต่ถ้าไม่พิจารณา ก็ย่อมไม่เห็น

    พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงเรื่องของทุกข์ไว้มาก ไม่ใช่แต่เฉพาะ โทสมูลจิตหรือโทมนัสเวทนาเท่านั้นที่เป็นทุกข์ แต่ว่าทุกข์ทั้งหลายทั้งหมดย่อมมีได้ เมื่อยังมีภพชาติอยู่

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาถึงเหตุที่นำมาซึ่งทุกข์ คือ ทุกข์ของการเกิดขึ้น ทุกข์ของภพชาติ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเลย ทุกข์ทั้งหลายในชาตินี้ย่อมมีไม่ได้ หรือในชาติก่อนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าชาติก่อนๆ ไม่มีการเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ทุกข์ทั้งหลายในชาติก่อนๆ ก็มีไม่ได้ หรือในชาติต่อไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย

    ทุกข์ของชาติก่อนๆ ผ่านไปหมด จำไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม หรือใครยังเป็นทุกข์อยู่ว่า ชาติก่อนๆ โน้นเป็นทุกข์มากมายอย่างนั้นอย่างนี้ เคยเป็นเปรต เคยตกนรก แต่นั่นก็เป็นเรื่อง ไม่ใช่ทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

    สำหรับทุกข์ในชาตินี้ที่ผ่านมาแล้ว ใครยังคร่ำครวญคำนึงถึงอยู่อีกหรือเปล่าว่า เคยเป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียเวลาจริงๆ แต่ทุกข์ที่จะเกิดต่อไปที่จะติดตามชาติภพข้างหน้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของทุกข์ของชาติใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ ว่า

    ก็ชาตินี้ (คือ ขณะที่เกิด) ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ท่านเรียกว่า ทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์

    ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา เป็นวิบาก และขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ จะมีใครเป็นทุกข์จริงๆ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกบ้าง

    ถามว่า ก็ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ชนิดไหน

    เฉลยว่า ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งหมด คือ ทุกข์ที่เป็นไปในอบาย ซึ่งแม้พระผู้มีพระภาคทรงประกาศไว้ด้วยอำนาจอุปมาในพาลปัณฑิตสูตรเป็นต้น และทุกข์อันต่างโดยชนิด มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ในมนุษย์โลกซึ่งเกิดขึ้นในสุคติ

    ขณะปฏิสนธิขณะเดียวเป็นวิบากจิต ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ที่เรียกว่าทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ซึ่งจะติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดในอบาย เป็นทุกข์ที่จะประสบอกุศลวิบากต่างๆ และถึงแม้ว่าเกิดเป็นมนุษย์ การหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูล เป็นต้นในมนุษยโลกซึ่งเกิดขึ้นในสุคติ ก็เป็นทุกข์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูล

    ความจริงสัตว์นี้เมื่อบังเกิดในครรภ์มารดา ไม่ใช่บังเกิดอยู่ในดอกอุบล ดอกปทุมและดอกปุณฑริกเป็นต้น ที่แท้แลย่อมบังเกิดในส่วนแห่งครรภ์ที่น่าเกลียดมีประมาณยิ่ง หมกอยู่ด้วยป่าใหญ่ คือ กลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ไม่สะอาด อบอวลด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ มืดตื้อคับแคบอย่างยิ่ง หว่างกลางพื้นท้องและกระดูกสันหลัง ภายใต้กระเพาะอาหารใหม่เบื้องบนกระเพาะอาหารเก่า ดุจหนอนเกิดในปลาเน่า ขนมกุมมาสบูดและบ่อน้ำครำเป็นต้น สัตว์นั้นบังเกิดในที่นั้นแล้ว ถูกไออุ่นอันเกิดในครรภ์มารดาตลอด ๑๐ เดือนอบดุจข้าวห่อ นึ่งดุจก้อนแป้ง เว้นอาการคู้เข้าเหยียดออกเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่งแล ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลก่อน

    ถ้าจะพิจารณาข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก จะเห็นตามความเป็นจริงได้ไหมว่า น่าเกลียดมีประมาณยิ่ง เพียงแต่เอาผิวหนังออก แต่ลึกลงไปในนั้นอีก ที่เกิด คือ ไม่ใช่ในดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก แต่ว่าหมกอยู่ในป่าใหญ่ คือ กลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง อบอวลด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ มืดตื้อคับแคบอย่างยิ่ง ภายใต้กระเพาะอาหารใหม่เบื้องบนกระเพาะอาหารเก่า ดุจหนอนเกิดในปลาเน่า

    ในตัวนี้มีหนอน และในขณะที่มีสิ่งที่มีชีวิตในครรภ์ ก็อยู่ใกล้ๆ กัน

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ วิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น ปฐมชวนวิถี เป็นโลภชวนะทางมโนทวาร และดับไป วิถีจิตหลังๆ เป็นกายทวารวิถีก็ได้ เพราะมี กายปสาทเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ถ้ามีกายปสาทก็มีการเจริญเติบโตขึ้น มีการกระทบสัมผัสกับสิ่งซึ่งทำให้เกิดทุกขเวทนาในขณะใด ขณะนั้นโดยปัจจัย จะทำให้เกิดโทมนัสเวทนาหรือโทสมูลจิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้

    เริ่มทุกข์แล้ว แต่ก็ลืมไปหมด สำหรับในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไป ก็ต้องเป็นอย่างนี้อีก

    ข้อความต่อไป

    ทุกข์ของการบริหารครรภ์เป็นมูล

    อนึ่ง สัตว์นั้นเสวยทุกข์ใดมีประมาณยิ่งด้วยความพยายามของมารดา มีการคร่าไปทั่ว คร่าไปรอบ ซัดลง และซัดออก เป็นต้น ในการลื่นถลา การเดิน การนั่ง การลุกขึ้น และการพลิก เป็นต้น โดยทันที ดุจลูกแพะน้อยในเงื้อมมือของนักเลงสุรา และดุจลูกงูน้อยในเงื้อมมือของหมองู และเสวยทุกข์กล้าอันใด เป็นดุจสัตว์ผู้อุบัติใน สีตนรก (คือ นรกเย็น) ในคราวที่มารดาดื่มน้ำเย็น เป็นดุจถูกฝนถ่านเพลิงปะพรมรอบในคราวที่มารดากลืนข้าวยาคูและภัตร้อนๆ เป็นต้น เป็นดุจถึงกรรมกรณ์วิธีแปลงแสบเป็นต้น ในคราวที่มารดากลืนของเค็มและของเปรี้ยวเป็นต้น ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล

    โทมนัสเวทนาก็เกิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ