จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142


    . เวลาง่วงนอน ก็เรียกว่าไม่มีขันติ

    สุ. สภาพธรรมเป็นอนัตตา เพียงแต่ว่าเมื่อง่วงนอนแล้วอย่าเดือดร้อน อย่ากลุ้มใจ

    . บางทีก็อดเดือดร้อนไม่ได้เหมือนกัน

    สุ. นั่นคือไม่ได้อบรมขันติ

    ทางสายกลาง จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่า ไม่ใช่บังคับ ฝืนที่จะเร่งรัดผล และพร้อมกันนั้นจะต้องรู้ว่า ปล่อยปละละเลยไม่ได้ นี่คือทางสายกลางจริงๆ

    บางคนคิดว่า สติจะเกิดเมื่อไรก็ช่าง เพราะว่าบังคับบัญชาไม่ได้ นั่นย่อหย่อนแล้วใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่า สติเป็นอนัตตา ต้องมีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ขวนขวายที่จะศึกษาด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการสนทนาธรรม และสติก็มีปัจจัยที่จะเกิด นั่นคือทางสายกลาง แต่ไม่ใช่ว่าให้นั่งทั้งคืนทั้งวันเพื่อให้ สติเกิดมากๆ นั่นผิด หรือว่าย่อหย่อนไปเลย คือ แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไรก็ช่าง

    ทางสายกลาง ที่เป็นทางสายกลางจริงๆ คือ เมื่อสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อย่างใดมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้นทันที ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างอื่น ถ้ามีจิตคิดที่จะเปลี่ยนแปลง สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างอื่น ขณะนั้นไม่ใช่ทางสายกลาง

    เพราะฉะนั้น ทางสายกลางจะลำบากสักแค่ไหน เพราะว่าต้องตรง ต้องเป็นสายกลางจริงๆ ทางตาที่กำลังเห็น ปกติธรรมดา ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น และเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีสัมมาวายามะที่จะระลึก ที่จะรู้ว่า เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นของจริง อย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปลงธาตุชนิดนี้ไม่ได้เลย คือ ธาตุชนิดนี้มีลักษณะที่จะต้องกระทบกับจักขุปสาท จะไม่กระทบกับปสาทอื่น เพราะฉะนั้น เมื่อธาตุชนิดนี้เป็นของจริงที่มี และกระทบกับจักขุปสาท และปรากฏ ก็ต้องเอาความเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกจากธาตุชนิดนี้ ซึ่งเพียงปรากฏทางตาเท่านั้น

    ถ้ามีสีหลายๆ กระป๋อง ขณะนั้นจะเป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นอะไรได้ไหม ก็เป็นแต่เพียงสีหลายๆ กระป๋อง แต่ถ้าเอาสีชนิดหนึ่งระบายไปที่แผ่นภาพ ก็จะเกิด ภาพต่างๆ ขึ้น ซึ่งโดยลักษณะจริงๆ แล้วเป็นเพียงสี คือ สิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้น ไม่มีภูเขา ไม่มีต้นไม้อะไรในแผ่นผ้า หรือในแผ่นกระดาน ในแผ่นกระดาษนั้นเลย แต่ทำไมใจคิดนึกเป็นภูเขา เป็นต้นไม้ เป็นสิ่งต่างๆ ในเพียงสีที่ปรากฏได้ ฉันใด ทางตา วัณณธาตุ ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งจะปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องเอาความคิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกจากวัณณธาตุนี้ ลอกสีออกจากแผ่นผ้าได้ไหม เอาผ้าชุบน้ำเช็ดออกให้หมด ไม่มีภูเขา ไม่มีต้นไม้ ไม่มีอะไรเลย ทางวัตถุทำได้ แต่มิจฉาทิฏฐิ ความยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องอาศัยปัญญาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะลอกอัตตสัญญา ความสำคัญจำหมายในเพียงวัณณธาตุที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    นี่คือทางสายกลาง ไม่ต้องทำอย่างอื่น ระลึกเพื่อศึกษา จนกว่าจะถ่ายถอนความยึดถือวัณณธาตุที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นวัณณธาตุเป็นรูปต่างๆ เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา อดที่จะชอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่มีขันติ

    ผู้ฟัง ไม่มีขันติ ใช่ไหม

    สุ. ขณะนั้นที่เกิดความพอใจ ไม่ใช่ขันติ เพราะฉะนั้น ขันติไม่ใช่เพียงแต่อดกลั้นที่จะไม่ขุ่นเคืองใจเมื่อประสบกับสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ แต่แม้ในสิ่งที่น่าพอใจ ก็ต้องมีขันติที่จะไม่เกิดโลภะ หรือความต้องการ ความพอใจ

    ผู้ฟัง ขันติกับเมตตา ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ต่างกันตรงมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าชอบดอกไม้

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีขันติแล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องเมตตาไหม ขณะนั้น

    ผู้ฟัง ไม่เกี่ยวกับเมตตาเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เกี่ยวกัน แสดงให้เห็นถึงความต่างกันแล้ว เพราะว่าเมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง เวลาสีปรากฏรู้สึกว่า สีปรากฏหลายสีพร้อมกัน ถ้าสติเกิดระลึกตามความเป็นจริงแล้ว สีจะปรากฏทีละสี หรือว่าหลายสีพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดว่ากี่สี แต่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เวลานี้นับสีหรือเปล่า นับได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องนับ ใช่ไหม ถ้าไม่นับบอกได้ไหมว่ามีกี่สี

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่ามีหลายสี หรือว่ามีสีเดียว

    ท่านอาจารย์ มากมาย ใช่ไหม ต้องนับจึงจะรู้ความต่างกันของแต่ละสี แต่ ไม่จำเป็นต้องนับ ไม่จำเป็นต้องคิดว่าหลายสี เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะ ไม่ยึดถือว่ามีคน หรือว่ามีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ในขณะที่ปรากฏ เราต้องรู้ว่า อะไรปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ใส่ใจสี ขณะนั้นไม่ได้พิจารณาว่าเป็นสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่เป็นความต่างกัน ถ้ากำลังนับสี หรือใส่ใจในสีต่างๆ ในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาว่า สภาพที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นเพียงของจริงอย่างหนึ่ง เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน

    ผู้ฟัง แต่บางครั้งรู้สึกว่า ได้ยินทีละเสียง อย่างเวลาได้ยินเสียงดนตรีรู้สึกว่า ได้ยินเสียงดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจจะไม่ได้ยินเสียงนักร้อง อย่างนั้นหมายความว่า ยังไม่ถูก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กำลังนับเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้นับ แต่รู้สึก

    ท่านอาจารย์ รู้สึก เหมือนกับนับไหมว่า เสียงนี้ไม่เหมือนเสียงนั้น เสียงนั้นไม่เหมือนเสียงนี้ ไม่ได้พิจารณาว่า เสียงเป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเองซึ่งปรากฏ ต่างกับสีที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะแยกโลกแต่ละโลกซึ่งรวมกันออกเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏแต่ละทางและดับไปด้วย ไม่ต้องพิจารณาให้เหมือนกับจะนับเสียง แต่ขณะใดที่เสียงใดปรากฏก็ตาม ไม่ต้องใส่ใจในเสียงนั้นว่าเป็นเสียงประเภทไหน ชนิดไหน แต่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อคลายความไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดและดับ เสียง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดและดับ

    ผู้ฟัง กรณีที่เราระลึกถึงลักษณะของนามธรรม เช่น โมหมูลจิต เราจะศึกษาอย่างไรจึงจะทราบว่า ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของโมหมูลจิต หรือระลึกที่ลักษณะของโมหเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องถึงกับโมหมูลจิตหรือโมหเจตสิก ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็อย่าไปพยายามที่จะรู้ เพียงแต่ให้ละการยึดถือว่าเป็นเรา รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง คือ บางครั้งสติเกิด และในระหว่างนั้นก็มีการหลงลืมคั่น ใช่ไหม ซึ่งเป็นการที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของโมหะ ไม่ใช่ลักษณะของสติ แต่ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องพยายามไปรู้ชื่อ หรือพยายามที่จะแยกจับลักษณะของเจตสิกออกจากจิต แล้วแต่สภาพใดปรากฏ เพราะถ้าจิตปรากฏ นิดเดียวก็ดับ ถ้าเจตสิกปรากฏขณะที่สติระลึก นิดเดียวก็ดับ เกินกว่าที่เราจะพยายามไปจัดสรร แต่ควรรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดและดับไป

    ผู้ฟัง ขณะที่ขับรถ สภาพธรรมที่ปรากฏจะเป็นโลกทางตาหรือว่าโลกทางหูนั้น ถ้าสติเกิดและพิจารณาสลับกันอย่างรวดเร็ว คือ เมื่อพิจารณาทางตา และมาพิจารณาทางหู จะเป็นตัวตนที่ทำหรือเปล่า เพราะทำให้เราไม่เลยไปถึงการนึกคิด หรือปรุงแต่งไปในเรื่องนึกคิด เนื่องจากความรวดเร็วในการพิจารณาทางตาและรีบมาพิจารณาทางหู แต่สติเกิดเองนะ ในขณะที่ขับรถ เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ และอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่เลยไปถึงการนึกคิด คือ ทำให้เห็นว่าเป็นสภาพเห็น เช่น ทางตาก็รู้สึกว่าเป็นสภาพเห็น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า การนึกคิดที่เป็นเรื่องราวยาวๆ น้อยลง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง คนที่ไม่อยากคิดก็ควรเจริญสติปัฏฐานเพื่อพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าสะสมมาที่จะเป็นผู้คิดมาก ความคิดนี้จะคิดอยู่ต่อไป จนกว่าจะชินในลักษณะที่คิดว่า เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และถ้าชินจริงๆ ที่จะวัดได้ว่าเป็นความรู้จริง คือ ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะคิดมากหรือคิดน้อย แต่ถ้ายังเดือดร้อนว่ายังคิดมากเหมือนเก่า ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพราะถ้าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จะรู้ว่า ที่คิดมากนั้นเพราะสะสมมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น จึงไม่เดือดร้อนแม้ว่าความคิดเกิดขึ้น นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เป็นปัญญาจริงๆ

    นี่ก็ทางสายกลางอีก คือ ไม่ได้บังคับอะไร และไม่หวังว่าจะเป็นอย่างไร แต่เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่สะสมมาเป็นแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง การนับสีหรือการแยกเสียงก็ดี ขณะนั้นถือว่าเป็นการระลึกถึง นิมิตอนุพยัญชนะแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่สติสามารถจะรู้ได้อีกว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ในวันหนึ่งๆ ที่เคยเป็นตัวตนทั้งหมด เวลาสติปัฏฐานเกิดและปัญญาเจริญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏจะปรากฏในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนได้

    ผู้ฟัง คำบรรยายของอาจารย์ที่ว่า ต้องรู้ทั่ว ถ้ารู้ไม่ทั่วก็ละไม่ได้ คำว่า รู้ทั่ว หมายความว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ถ้าจะว่าไม่ใช่ตัวตนก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้น สภาพนั้น เป็นนามธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน หรือว่าสภาพนั้นเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่รู้และบอกว่าไม่ยึดถือ ก็ไม่จริง เพราะว่าไม่ใช่ความรู้ ก็ละความไม่รู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง สติช่างครอบคลุมจริง คือ ขณะที่กำลังปรากฏนี้ ไม่พ้นสติเลย

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมทุกขณะได้ เช่น ขณะที่คิด สติปัฏฐานสามารถเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง รูปธรรมคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังมีเรื่องราวในใจต่างๆ แสดงว่า จิตกำลังคิดเรื่องนั้น หรือคิดคำนั้น ต้องรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ผมเพิ่งมาที่นี่ สังเกตดูการสนทนาธรรมคงจะเป็นเรื่องวิปัสสนา ปกติ ผมเป็นคนชอบคิดมาก แต่ไม่ได้คิดในเรื่องไร้สาระ ชอบคิดพิจารณาในเรื่องรูปนามเกี่ยวกับไตรลักษณ์ ผมเห็นว่ารูปนามที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังนั้นไม่ติดใจ เพราะเห็นว่าควรจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกขังก็ไม่ติดใจ อนัตตา ความจริงก็ไม่ติดใจ แต่น่าคิดว่า อนัตตานี้ได้มาจากคำว่า อนิจจัง ทุกขัง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ได้มาจาก หมายความอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังแคบไป เพราะว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ตามข้อความที่ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมต้องกว้างขวาง อนัตตาต้องกว้างกว่า

    ผู้ฟัง กว้างกว่าเพราะรวมนิพพานด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า อนิจจัง ทุกขัง ก็หมายถึงสังขารเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ อนิจจัง ทุกขัง เป็นลักษณะของสังขารธรรม

    ผู้ฟัง ในอนัตตลักขณสูตรที่ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา คล้ายๆ กับพระองค์ตรัสว่า อนัตตา ต้องเนื่องมาจากอนิจจัง ทุกขัง

    ท่านอาจารย์ มิได้ ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง นั่นเป็นอีกประโยคหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ประโยคไหนก็ตามที่เป็นพุทธวจนะ ประโยคนั้นไม่เปลี่ยน ใช้ได้ตลอดพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารธรรมซึ่งไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ก็เป็นอนัตตาด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าสิ่งใดเป็นของเที่ยง สิ่งใดเป็นของสุข สิ่งนั้นเป็น ...

    ท่านอาจารย์ เป็นอนัตตาด้วย เพราะมีพระพุทธพจน์ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา คำนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าคิดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้น ถ้ามีของเที่ยง มีของเป็นสุข จะเป็นอัตตาได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ผิด

    . ในเมื่ออนัตตาบังคับไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนไป เพราะเป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา นี่ถูกต้อง แต่ถ้าสิ่งใดเที่ยง สิ่งใดไม่ทุกข์คือเป็นสุข สิ่งนั้นก็เป็นอัตตา เพราะว่า อัตตา คือ สิ่งที่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดได้ทั้งนั้น สะสมมาที่จะคิดมาอย่างไร ก็คิดไปอย่างนั้นได้ แต่ที่จะรู้ว่าความคิดของเราแต่ละคนผิดหรือถูก ใครจะเป็นผู้แสดง พระพุทธพจน์มีว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ประโยคนี้ตลอดหมดทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา

    . นั่นเป็นข้อวินิจฉัย โดยเอาพุทธพจน์มาเป็นเครื่องตัดสิน

    ท่านอาจารย์ คนอื่นจะตัดสินได้นอกจากพระพุทธพจน์หรือเปล่า

    . เราไม่ได้หมิ่นพระองค์ แต่เราอยากรู้ด้วยตนเอง เมื่อเราเห็นแล้ว เราก็ยืนยันว่า พุทธพจน์นั้นเป็นพุทธพจน์ที่ยิ่งใหญ่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรเป็นสุข อะไรเที่ยง

    . ผมคิดว่า คำว่าสุขทุกข์นี้เป็น ...

    ท่านอาจารย์ มิได้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น อะไรเที่ยง และอะไรสุข

    . นิพพาน

    ท่านอาจารย์ นิพพานเป็นอัตตา หรือไม่เป็น

    . จากเหตุผลทางตรรกะ …

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แบบตรรกะ แต่ต้องเป็นความจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ผู้ที่จะพิสูจน์ธรรม สามารถอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ และจะรู้ว่าแม้นิพพานก็เป็นอนัตตา

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูป คือ การกระทำต่างๆ ทางกาย ทางวาจา เพราะว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น แม้เป็นเพียงอกุศลเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรม คือ ยังไม่ได้เบียดเบียนประทุษร้าย แต่ก็เป็นปัจจัยทำให้กายวาจาไหวไปด้วยอกุศลจิตนั้น เช่น การทำกิจการงานใดๆ ก็ตาม ถ้าสติไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยความต้องการที่จะกระทำ

    เพียงการนั่งอยู่และลุกขึ้น ก็ด้วยอกุศลจิต คือ ความต้องการที่จะลุกขึ้น เป็นโลภมูลจิต หรือกำลังยืนอยู่ เดินอยู่ และจะนั่งลง ก็เป็นไปด้วยอกุศลจิต หรือกำลังพูดคุยสนทนากัน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่เกิดจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตได้ คือ เป็นไปด้วยโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือโมหมูลจิต เป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน

    นี่เป็นสิ่งที่สติควรจะระลึก เพราะว่าได้ศึกษาเรื่องของอกุศลจิตแล้ว ซึ่ง วันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลจิตมาก แต่เมื่อไรจะระลึกลักษณะของอกุศล ขณะไหนได้ทั้งนั้น ทันทีที่หยิบหนังสือพิมพ์ขึ้น ถ้าสติระลึกจะรู้ลักษณะของความต้องการในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    อกุศลซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะแม้ว่าจะดับไป ก็จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้มีอกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า โลภะวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือบางคนอาจจะไม่คิดเลย ก็มีโลภะไปตลอด ทั้งทางตา ที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน

    ถ้าก่อนๆ นี้ไม่เคยมีโลภะ หรือดับโลภะหมดแล้ว โลภะก็ไม่เกิด แต่วันนี้เอง ที่มีโลภะ ย่อมแสดงว่าโลภะเคยมีแล้วในอดีต สะสมสืบต่อเป็นปัจจัยทำให้โลภะในวันนี้เกิดอีก และโลภะวันนี้ที่เกิดแล้ว แม้ว่าจะดับ ก็ไม่ได้ดับสนิทเป็นสมุจเฉท ยังสะสมสืบต่อที่จะให้เกิดโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิตข้างหน้าอีกได้

    ในขณะที่สติระลึก ขณะไหนก็ได้ กำลังรับประทานอาหาร ถ้าสติระลึกจะเป็นลักษณะของอกุศลจิตในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดอกุศลเหล่านั้นมีกำลังแรงจนล่วงทุจริตกรรมเป็นกายทุจริต วจีทุจริต หรือมโนทุจริตแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น

    การให้ผลของอกุศลกรรมมี ๒ กาล คือ ในปฏิสนธิกาล ขณะเกิดขณะหนึ่ง และในปวัตติกาล หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมที่ทำไปแล้ว มีโอกาสให้ผลทั้งทำให้ปฏิสนธิคือเกิดขึ้นในอบายภูมิ หรือเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิ

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อปฏิสนธิแล้วบางคนก็มีทุกข์มากกว่าคนอื่นได้ แล้วแต่ว่า ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรมาที่จะทำให้ได้รับวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    บางคนอาจจะสงสัยว่า อกุศลจิตที่ดับไปนานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ยังสามารถเป็นปัจจัยทำให้อกุศลจิตในขณะนี้เกิดขึ้นอีก หรือสามารถเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากในขณะนี้เกิดขึ้นทางตา คือ เห็นอารมณ์ต่างๆ ทางหูได้ยินเสียงต่างๆ ได้อย่างไร ในเมื่อตัวเหตุดับไปแล้ว

    ขอให้คิดถึงสิ่งที่เป็นรูปวัตถุ น้ำตาลมาจากไหน ต้องมีแหล่งที่ผลิตให้เกิดเป็นน้ำตาลขึ้น ใช่ไหม แต่ตอนที่เป็นต้นอ้อย ก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นเม็ดน้ำตาลขึ้นมาได้ ต่อเมื่อผ่านกรรมวิธีต่างๆ ได้เหตุปัจจัยต่างๆ จึงมีสิ่งที่เกิดจากต้นอ้อยคือน้ำตาลได้ ฉันใด วิบากจิตทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็สืบเนื่องมาจากการสะสมของอกุศลจิตและอกุศลกรรมในอดีตนั่นเอง

    หรือถ้ามองดูพืชพรรณไม้ต่างๆ จะเห็นว่า เป็นส่วนประกอบของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้นเอง แต่ทำไมจึงมีรสต่างกัน มีรูปต่างกัน มีกลิ่นต่างกัน เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสภาพที่วิจิตรยิ่งกว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และการสะสมของจิตของแต่ละบุคคลก็วิจิตรมากจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และมีการรับผลของกรรม จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคนนั้น ก็ต่างกันไปตามกรรมที่ได้สะสมมา

    สิ่งที่ควรเข้าใจเพิ่มเติม คือ เจตสิกที่เป็นเหตุ ไม่ใช่กรรม เพราะว่ากรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก เวลาที่โลภมูลจิตเกิด มีทั้งเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอัญญสมานาเจตสิก มีโลภเจตสิก และมีโมหเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเหตุเกิดด้วย แต่สภาพที่เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศลวิบาก ต้องได้แก่เจตนาเจตสิก

    สำหรับอกุศลเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ คือ โลภเจตสิกก็ดี โมหเจตสิกก็ดี ไม่ใช่ว่า ไม่เป็นปัจจัย เป็นปัจจัยแต่ไม่ใช่เป็นกัมมปัจจัย ถ้าใช้คำว่า เหตุปัจจัย ต้องหมายถึงเจตสิกที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิด แต่ถ้าใช้คำว่า กัมมปัจจัย ต้องหมายถึงเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมที่เป็นผลหรือวิบากเกิด

    เพราะฉะนั้น การที่เจตสิกแต่ละดวงต่างกัน ก็ทำให้การเป็นปัจจัยของเจตสิก นั้นๆ ต่างกันด้วย และเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเหตุก็เกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ไม่เกิดกับอกุศลวิบากจิต ฉะนั้น อกุศลวิบากจิตจึงไม่มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย และถ้าศึกษาละเอียดต่อไปจะเห็นว่า วิบากฝ่ายกุศล มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย

    ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดขึ้น และคิดให้ละเอียดรอบคอบลึกซึ้ง จะเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมกันได้

    เวลาที่อกุศลวิบากเกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี

    ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัยจะทราบว่า เจตนาที่เกิดกับวิบาก เป็นชาติวิบาก เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เกิดร่วมกันกับเจตสิกอื่นๆ ทำกิจขวนขวายในกิจของวิบากนั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยที่จะทำให้ผลข้างหน้าเกิดขึ้น เพราะว่าวิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อวิบากเกิดขึ้นและดับไปก็จบ หมดเรื่องของวิบากนั้น เพราะวิบากไม่ใช่กรรมที่จะทำให้วิบากเกิดได้

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คติ ๒ อย่าง คือ นรกและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง อันผู้มีการงานลามกพึงหวังได้

    ผู้ที่มีการงานลามก คือ ผู้ที่กระทำทุจริตกรรม

    ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อธิบายว่า

    บทว่า ปฏิจฉันนกัมมันตัสสะ ได้แก่ ผู้มีการกระทำอันเป็นบาป เพราะคนทั้งหลายย่อมทำบาปโดยอาการปกปิด แม้หากทำโดยอาการไม่ปกปิด บาปกรรมก็ได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดอยู่นั่นเอง

    มีใครเห็นกรรมในขณะนี้บ้าง หรือในขณะที่อกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาเกิด เช่น ในขณะที่มีผรุสวาจา จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม มีเจตนาที่จะเบียดเบียนให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อน ไม่สบายใจ เป็นทุกข์

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นยาก รู้ยาก ว่าขณะนั้นเป็นกรรม เพราะในขณะที่อกุศลจิตเกิด มีอวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทำให้ไม่สามารถรู้ความจริงในขณะนั้นได้ว่า เป็นอกุศลที่มีกำลังจนถึงกับเป็นอกุศลกรรมแล้ว หรือผู้ที่มีเจตนาทุจริต ไม่ว่าจะทำทุจริตใดๆ ก็ตาม คนทั้งหลายย่อมทำบาปโดยอาการปกปิด ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ในอกุศลกรรมที่ได้ทำ แต่ถึงแม้เป็นการกระทำที่เป็นไปโดยอาการไม่ปกปิด คือ ทำซึ่งๆ หน้า หรือว่าเปิดเผยก็ตาม บาปกรรมนั้นเอง ก็ได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิด อยู่นั่นเอง เพราะขณะนั้นผู้ที่กระทำกรรมนั้นไม่เห็นว่าเป็นอกุศลกรรม และยังไม่รู้ว่ากรรมที่เป็นอกุศลกรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร โดยลักษณะใด แสดงให้เห็นว่า บาปกรรมได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดอยู่นั่นเอง

    ส่วนใหญ่เวลาที่ไปตอบปัญหาธรรมมักจะมีผู้ถามว่า ทำอย่างนี้ๆ จะบาปไหม นี่เป็นการยืนยันพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่าถูกต้อง คือ ไม่สามารถรู้ได้ว่า การกระทำนี้เป็นบาปหรือเปล่า เพราะว่าบาปกรรมได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดนั่นเอง

    ขณะนี้มีใครรู้ไหมว่า เป็นผลของกรรมอะไร ปกปิดไหม ทางตาที่กำลังเห็นนี้เป็นผลของกรรม แต่ไม่ทราบว่ากรรมอะไรที่ได้ทำแล้ว ในขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นวิบาก เป็นผล ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร และถ้าจะกระทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่ากรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร ในลักษณะไหน จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ หรือจะให้ผลหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    นี่เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถรู้ได้ ผู้ที่เกิดมาด้วยความไม่รู้ทุกคน ย่อมไม่เห็นโทษของการเกิดเลยว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปเกิดนั้นมีโทษอย่างไร ใช่ไหม ทันทีที่เกิดไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนก็ตามก็ไม่รู้ว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกัมมชรูปนั้น มีโทษอย่างไรบ้าง

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาสีวิสวรรคที่ ๔ อาสีวิสสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ภิกษุผู้เจริญสมณธรรม มีทุกขลักษณะเป็นอารมณ์ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    จริงอยู่ อุคฆฏิตัญญูบุคคลจักบรรลุพระอรหัตด้วยยกหัวข้อแห่งพระสูตรขึ้นเท่านั้น วิปัญจิตัญญูบุคคลบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร เนยยบุคคลกล่าวถึงพระสูตรนั้นบ่อยๆ ใส่ใจโดยแยบคาย คบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจักบรรลุพระอรหัต สำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคตแล

    พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ถ้าใครเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยเร็ว ก็สามารถบรรลุได้เพียงยกหัวข้อแห่งพระสูตรนี้ขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนามากกว่านั้น คือ เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ