จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112


    ต่อไปก็เป็นชีวิตประจำวัน คือ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่ทำให้เกิดโทมนัสหรือทุกข์ขึ้น

    มีข้อความอธิบายว่า

    อัปปิยสัมปโยคะ คือ บทว่า ที่เขาไม่ต้องการ คือ โดยอรรถว่า ที่เขาไม่แสวงหา

    เวลาท่านผู้ฟังได้อะไรที่ท่านไม่ต้องการ ก็หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่ง ท่านไม่ได้แสวงหา

    บทว่า ที่เขาไม่ต้องการนี้ เป็นชื่อของอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย อันเขาไม่พึงแสวงหา ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่าใดไม่ก้าวไป คือ ไม่ก้าวไปในใจ เหตุนั้น ธรรม มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น จึงชื่อว่าอกันตา ไม่ก้าวไปในใจ

    อยู่ข้างนอก คือ เห็นก็ผ่านไป ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ติดใจ ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้แสวงหา

    ธรรมเหล่าใดย่อมไม่เอิบอาบในใจ หรือย่อมไม่ยังใจให้เจริญ เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอมนาปา ไม่เอิบอาบใจ หรือไม่ให้ใจเจริญ คือ ไม่น่าพึงใจ

    ชื่อว่าสังคติ การไปพร้อม สมาคโม ความมาพร้อม ภาวะที่ร่วมกันในการยืนและนั่งเป็นต้น ชื่อว่าสโมธานัง การประชุม การทำกิจทั้งปวงร่วมกัน ชื่อว่ามิสสีภาโวความเป็นผู้ปะปน อัปปิยสัมปโยคทุกข์นั้นมีการประชุมสิ่งที่เขาไม่ปรารถนาเป็นลักษณะ มีการทำความกระทบจิตใจด้วยอาการต่างๆ เป็นรสะ มีภาวะที่ ไร้ประโยชน์เป็นปัจจุปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ อย่าง แก่ผู้ที่ประจวบแล้วกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก

    ลองพิจารณาว่า สิ่งอันไม่เป็นที่รักในชีวิตของทุกๆ ท่าน คืออะไรบ้าง

    จริงอยู่ วัตถุที่เขาไม่ปรารถนาแล้ว (หมายถึงสิ่งของ) ถึงการประชุมเข้าแล้วย่อมให้เกิดทุกข์แม้ทางกาย โดยการเจาะ การตัด และการผ่าเป็นต้น แม้ทางใจ โดยนัยอันเกิดแต่ความหวาดกลัวขึ้นได้

    สิ่งที่ไม่ปรารถนาทางกาย คือ ไม่ปรารถนาที่จะให้รูปซึ่งเป็นอันตรายกระทบกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมีด เป็นปืน เป็นวัตถุใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ร่างกายปวดเจ็บ เป็นทุกข์ทรมานเกิดขึ้น นั่นคือวัตถุที่ไม่น่าปรารถนา แม้ทางใจก็มีทุกข์ เวลาที่ ประจวบกับสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ ทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้

    เพราะเหตุนั้น ท่านจึงตรัสไว้ดังนี้ว่า

    เพราะเห็นสัตว์อันไม่เป็นที่รักทีเดียว จึงมีทุกข์ที่ใจก่อน และมีทุกข์อันเกิดแต่ความพยายามของสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นที่กายเหตุใด เพราะเหตุนั้นพึงทราบ ความสมาคมกับสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่า อันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแม้แห่งทุกข์ทั้ง ๒ ในโลกนี้

    ท่านผู้ฟังคงจะเคยมีคนซึ่งท่านไม่ชอบ การไม่ชอบนี่ แม้เพียงเห็นก็ไม่สบายใจแล้ว ไม่อยากเห็น บางทีถ้าได้ทราบว่าคนนั้นจะไปในที่ไหน ท่านก็ไม่ไป เพราะว่า ไม่ต้องการที่จะพบเห็นคนที่ท่านไม่พอใจ นั่นคือการประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก

    และถ้าไม่ชอบมากกว่านั้นอีก คือ โจรผู้ร้ายต่างๆ ซึ่งจะไม่มีใครชอบเลย เวลาที่เห็นขโมย โจร นอกจากจะไม่เป็นที่พอใจแล้ว ก็ถึงกับหวาดกลัวด้วย ซึ่งในขณะที่กำลังหวาดกลัวนั้น ก็เป็นทุกข์

    เมื่อเห็นผู้ไม่เป็นที่รัก เกิดความทุกข์เพียงเห็น แต่ถ้าเห็นกันต่อไปอีกอาจจะเกิดทุกข์มากกว่านั้น คือ ทะเลาะกัน ตีกัน วิวาทกัน ฆ่ากัน ทำร้ายกันก็ได้

    เพราะฉะนั้น ทุกข์ซึ่งเกิดจากการประสบกับสิ่งหรือผู้ไม่เป็นที่รัก ย่อมมีตั้งแต่อย่างเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงการทำให้เกิดภัยอันตรายขึ้นได้

    ชีวิตประจำวันนั้น นอกจากจะประสบกับสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รักแล้ว ยังมีทุกข์อื่นอีก คือ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก

    ก็ในนิทเทสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสคำเป็นอาทิว่า มาตา วา ได้แก่ มารดา ก็ตาม ดังนี้ เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้ใคร่ประโยชน์โดยสรุปในคำว่า มารดา เป็นต้นนั้น มีวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้

    ชื่อว่ามารดา ด้วยอรรถว่า ประพฤติยึดถือว่าของเรา

    ชื่อว่าบิดา ด้วยอรรถว่า ประพฤติรักใคร่

    ชื่อว่าพี่น้องชาย ด้วยอรรถว่า เป็นผู้คบ

    ชื่อว่าพี่น้องหญิง ก็เหมือนกัน

    ชื่อว่ามิตร ด้วยอรรถว่า ประพฤติเมตตา หรือด้วยอรรถว่า นับถือ

    ชื่อว่าอำมาตย์ ด้วยอรรถว่า เป็นผู้ร่วม โดยอรรถ คือ เป็นไปร่วมกันในกิจและกรณียะทั้งหลาย

    ชื่อว่าญาติ ด้วยอรรถว่า เป็นผู้ทราบหรือรู้อย่างนี้ว่า คนนี้เป็นคนข้างในของเรา

    ชื่อว่าสาโลหิต โดยอรรถว่า เป็นผู้สัมพันธ์กันโดยสายเลือด

    ปิเยหิวิปโยคะนั้น มีการพลัดพรากจากวัตถุที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีการให้เกิดความโศกขึ้นเป็นรสะ มีการโยนความพินาศให้เป็นปัจจุปัฏฐาน

    นี่คือการพลัดพรากจากผู้ที่เป็นที่รักทั้งหลาย คือ มารดา บิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือแม้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

    จริงอยู่ วัตถุที่น่าปรารถนาอันบุคคลพลัดพรากอยู่ ย่อมให้เกิดทุกข์แม้ทางกาย โดยลักษณะมีทำให้มีสรีระซูบซีดและเหี่ยวแห้งเป็นต้น แม้ทางใจ โดยเศร้าสร้อยเป็นลำดับว่า แม้สิ่งซึ่งมีอยู่แล้วแก่เรานั้น ก็จะไม่มีแก่เขาอีก ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า เพราะพลัดพรากจากญาติและทรัพย์เป็นต้น คนพาลผู้เพียบพร้อมด้วยลูกศร คือ ความโศกจึงเสียดแทงใจ เหตุใด เพราะเหตุนั้น ความพลัดพรากจากของรักนี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นทุกข์

    เมื่อมารดาบิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สิ้นชีวิตไป ผู้ที่คิดถึงก็จะมีความโศกเศร้า และคิดว่า สิ่งซึ่งมีอยู่แล้วแก่เรานั้น ก็จะ ไม่มีแก่เขาอีก

    ชีวิตของเราที่ยังมีอยู่ แต่ชีวิตของเขาไม่มีอีกที่จะเป็นบุคคลนั้น ทรัพย์สมบัติ บ้านช่อง ข้าวปลาอาหารทั้งหลายที่เรามี เรากำลังบริโภค สำหรับเขาก็จะไม่มีอีก นี่คือความรู้สึกที่ระลึกถึงผู้จากไปโดยสิ้นชีวิต ขณะที่เพียงคิดถึงระลึกถึงนั้น ก็เป็นโทมนัสเวทนาอย่างอ่อน แต่จะเพิ่มกำลังขึ้นจนถึงกับทำให้ร่างกายซูบซีดเหี่ยวแห้งหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่กำลังของโทมนัสเวทนา

    นี่คือการพลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก

    รวมความทั้งหมดของทุกข์ คือ ปรารถนาสิ่งใดเมื่อไม่ได้ย่อมเป็นทุกข์ เช่น ปรารถนาที่จะไม่แก่ ปรารถนาที่จะไม่เจ็บ ปรารถนาที่จะไม่ตาย ก็ไม่มีทางเป็นไปได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้นั้นเป็นทุกข์ ความปรารถนานั้น มีความปรารถนาวัตถุอันไม่พึงได้ เป็นลักษณะ มีการแสวงหาวัตถุนั้นเป็นรสะ มีความไม่สำเร็จเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    อีกประการหนึ่ง สำหรับสัตว์ผู้ปรารถนาวัตถุนั้นๆ อยู่ เพราะไม่ได้วัตถุนั้นๆ ย่อมเกิดทุกข์อันสำเร็จแต่ความพลาดหวังใดในโลกนี้ เพราะความปรารถนาวัตถุอันไม่พึงได้เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาแล้วว่า เป็นทุกข์แล

    โดยย่อ คือ อุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์

    เมื่อย่อลงไปจนถึงที่สุดของทุกข์ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ขันธ์ หรือ อุปาทานขันธ์นั่นเองเป็นทุกข์

    บทว่า สังขิตเตน (โดยย่อ) พระผู้มีพระภาคตรัสทรงหมายเอาเทศนา จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจย่นย่อทุกข์ได้ว่า เท่านี้ ๑๐๐ ทุกข์ หรือว่าเท่านี้ ๑,๐๐๐ ทุกข์ แต่เทศนาอาจย่นย่อได้ เพราะฉะนั้น เมื่อทรงย่นย่อเทศนาว่า ขึ้นชื่อว่าทุกข์มิใช่อะไรอื่น โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้ จึงตรัสอย่างนั้น

    เพราะทุกข์มีชาติเป็นต้นอันใด อันพระผู้มีพระภาคผู้คงที่ตรัสไว้ในโลกนี้ และทุกข์ใดที่พระองค์มิได้ตรัสไว้ ทุกข์นั้นๆ ทั้งหมด เว้นขันธ์ ๕ นี้เสียแล้ว ย่อมไม่มี ฉะนั้น อุปาทานขันธ์ ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงที่สุดทุกข์ จึงได้ตรัสว่า เป็นทุกข์ โดยย่อ

    ถ้าจะกล่าวถึงทุกข์ของแต่ละคน ให้แต่ละคนเอาความทุกข์ของตัวเองมาเล่า สู่กันฟัง คงไม่มีวันจบ เพราะว่าวันนี้ทุกข์อย่างหนึ่ง อีกวันก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ในโลกนี้มีผู้คนมากมายเพียงใด ทุกข์ก็แจกแจงไปตามเหตุตามปัจจัยเพียงนั้น ไม่มีทางจะประมาณได้ว่า นี้ ๑๐๐ ทุกข์ นี้ ๑,๐๐๐ ทุกข์ ก็จริง แต่โดยสรุปแล้ว ทุกข์ทั้งหมด คือ อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เป็นทุกข์ เพราะถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่มีทุกข์ ซึ่งข้อความอุปมาว่า

    ชาติเป็นต้นเบียดเบียนอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล โดยประการต่างๆ ดังไฟป่าเบียดเบียนเชื้อฟืน เครื่องประหารเบียดเบียนเป้า เหลือบและยุงเป็นต้นเบียดเบียนโค คนเกี่ยวข้าวเบียดเบียนนา โจรปล้นบ้านเบียดเบียนบ้าน ย่อมเกิดในอุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ นั่นเอง ดุจหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้นเกิดในพื้นดิน ดุจดอกไม้ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้นเกิดที่ต้นไม้ ฉะนั้น

    ถ้ามีขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ก็เหมือนต้นไม้ที่เกิดแล้ว ซึ่งย่อมมีดอกไม้ผลไม้และ ใบอ่อนเกิดที่ต้นไม้นั้น ฉันใด เมื่อขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ก็ย่อมจะมีทุกข์ลักษณะหนึ่งลักษณะใด เช่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส หรืออุปายาสะนั่นเอง เกิดจากอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น

    และอุปาทานขันธ์ ๕ มีทุกข์เบื้องต้น คือ ชาติ มีทุกข์ท่ามกลาง คือ ชรา มีทุกข์สุดท้าย คือ มรณะ เพราะทุกข์มีความตายเป็นที่สุดกระทบเฉพาะ จึงมีทุกข์ที่เผาลน คือ โสกะ เพราะอดกลั้นโสกะนั้นไม่ได้ จึงมีทุกข์ที่เป็นเหตุพูดรำพัน คือ ปริเทวะ ต่อนั้นเพราะประจวบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา กล่าวคือ ธาตุกำเริบ จึงมีทุกข์ที่เบียดเบียนกาย คือ ทุกข์ เพราะปุถุชนผู้ถูกทุกข์เบียดเบียนอยู่เกิดปฏิฆะขึ้นในอุปาทานขันธ์นั้น จึงมีทุกข์ที่เบียดเบียนใจ คือ โทมนัส เพราะโสกะเป็นต้นเจริญ สำหรับผู้ที่ปราศจากความยินดี มีทุกข์ที่ถอนหายใจเนืองๆ คือ อุปายาสะ สำหรับผู้ที่ถึงความพลาดหวังแห่งใจ มีทุกข์ เพราะพลาดหวัง คือ ความไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา

    อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ที่บุคคลเข้าไปพิจารณาโดยประการต่างๆ อย่างนี้ ด้วยประการนี้นั่นแล ชื่อว่าเป็นทุกข์

    เพื่อที่จะให้พิจารณาขันธ์ ๕ นั่นเอง ที่ได้ทรงแสดงทุกข์ต่างๆ ไว้มาก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคเพื่อทรงแสดงย่อทุกข์ที่พระองค์ตรัสแสดงแต่ละอย่างๆ นี้ ซึ่งใครๆ ไม่อาจจะกล่าวโดยไม่เหลือได้ด้วยกัปมิใช่น้อยนั้นแม้ทั้งหมดในอุปาทานขันธ์ ๕ หมวดใดหมวดหนึ่ง ดุจย่อรสแห่งน้ำในมหาสมุทรทั้งสิ้น แสดงในหยดน้ำหยดเดียว ฉะนั้น จึงได้ตรัสว่า สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา กล่าวโดยย่อแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้แล

    ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ในสังสารวัฏฏ์ หลายแสนโกฏิกัปป์นับประมาณไม่ได้เลยนั้น ความทุกข์ก็มีประการต่างๆ แต่แม้ว่าจะมีมากเพียงใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงย่อลงที่อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง ดุจย่อรสแห่งน้ำในมหาสมุทรทั้งสิ้น แสดงในหยดน้ำ หยดเดียว ฉะนั้น

    ในพระสูตร ได้กล่าวถึงความทุกข์ซึ่งแต่ละคนประสบผ่านมาในสังสารวัฏฏ์ เช่น ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุตปฐมวรรคที่ ๑ อัสสุสูตร ข้อ ๔๒๕ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระอภิธรรมโดยละเอียดตลอดเวลา แต่ทรงแสดงธรรมที่จะเตือนให้บุคคลนั้นระลึกถึงการที่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากการร้องไห้ หรือความโศกเศร้าต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ได้ จึงได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ที่เคยร้องไห้มาแล้วในสังสารวัฏฏ์ กับน้ำในมหาสมุทร สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    ผู้ที่เห็นทะเล ก็ควรจะระลึกได้ว่า น้ำตาของท่านในสังสารวัฏฏ์นั้น มากกว่าน้ำในมหาสมุทรอีก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ... ของน้องสาว ... ของธิดาเป็นต้น ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค เป็นต้น ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขาร ทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ไม่ใช่ว่าภิกษุเหล่านั้นจะไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะเป็น ผู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็จริง แต่ถ้าไม่มีพระธรรมเทศนาที่ทรงเตือนให้ระลึกถึงสภาพของสังขารซึ่งเป็นทุกข์ สติย่อมไม่เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และพระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ทรงอุปมาเพียงน้ำตากับน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น ยังมีข้อความใน ติณกัฏฐสูตร ข้อ ๔๒๑ - ๔๒๒ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉันนั้น

    ข้อความต่อไป ใน ปฐวีสูตร ข้อ ๔๒๓ - ๔๒๔

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา โดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ท่านผู้ฟังที่อยากจะรู้ว่า เมื่อไรโลกเราจะหมดไป ก็ควรคิดถึงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้เอาดินมาปั้นเป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา และสมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา จนกระทั่งหมดโลกนี้ แต่สังสารวัฏฏ์ก็ยังไม่หมด ก็จะต้องมีทุกข์สืบต่อไปอีก

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังได้ตรัสไว้ใน ขีรสูตร ข้อ ๔๒๗ - ๔๒๘ ว่า

    น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนั้น ดื่มแล้วนั่นแหละมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เพราะสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกข์ต่างๆ โดยนัยของพระสูตร ซึ่งแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องมีทุกข์ที่ไม่เหมือนกับชาตินี้เลย ชาติก่อนใครเคยมีทุกข์อย่างไหน ก็ ไม่เหมือนกับทุกข์ของชาตินี้แน่นอน และทุกข์นั้นก็ผ่านไปหมดแล้ว ทุกข์ในชาตินี้ก็ ใกล้จะจบสิ้นด้วยความตาย และจะต้องตั้งต้นทุกข์ของภพชาติต่อไปอีก แต่ไม่ว่าจะเป็นทุกข์มากมายในสังสารวัฏฏ์อย่างใด ขณะใดที่โทมนัสเวทนาเกิด ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ซึ่งโดยประเภทมี ๒ ดวง ได้แก่ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง และ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    ทั้งๆ ที่ทุกข์มากมาย แต่ว่าโดยปรมัตถธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง

    บางท่านเป็นห่วงว่า ท่านฟังแต่ธรรมไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมเลย ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น ขณะที่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดขึ้น นั่นคือการศึกษาปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั่นเอง เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมเป็น ปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาความละเอียดของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้รู้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และขณะใดเป็นจิตที่เป็นวิถีจิต ขณะใดเป็นจิตเห็นซึ่งเป็นวิบาก ขณะใดเป็นจิตที่เป็นกุศลและอกุศลซึ่งเป็นเหตุ ขณะนั้น คือ การศึกษาพระอภิธรรมนั่นเอง เพราะว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดนั้น แสดงไว้ในอภิธรรมปิฎก และอภิธัมมัตถสังคหะทั้งนั้น

    ข้อความทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงแล้วนี้ คือ ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม ซึ่งกล่าวถึงสภาพธรรมโดยละเอียดต่างๆ และต้องรู้จุดประสงค์ของการศึกษาว่า การศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะหรืออภิธรรมปิฎกนั้นเพื่ออะไร

    ไม่ใช่เพื่อที่จะจำว่ามีจิตกี่ดวง มีเจตสิกกี่ดวงและเกิดกับจิตกี่ดวง แต่เพื่อ ปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นจะรู้ไหมว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ จะรู้ไหมว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง และจะคิดหรือเปล่าว่า ในขณะที่กำลังได้ยิน เป็นจิตอะไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง แต่ว่าในขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ปัญญากำลังพิจารณา ศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาปรมัตถธรรมส่วนละเอียด เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ปัญญาที่เคยได้ยินได้ฟัง เคยพิจารณา เคยเข้าใจส่วนละเอียดของสภาพธรรมนั้นๆ จะช่วยทำให้พิจารณาได้ถูกต้องว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะพึงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏ

    ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการฟังธรรม หรือการศึกษาธรรมทั้ง ๓ ปิฎกด้วยว่า เพื่อประโยชน์ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น และปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะสภาพธรรมจนสามารถดับกิเลสได้

    สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ นั้น ควรรู้ว่า เกิดขึ้นเพราะอกุศลเจตสิกกี่ดวงเป็นปัจจัยบ้าง เพื่อเกื้อกูลไม่ให้ยึดถือโทสมูลจิตที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน

    จะขอกล่าวถึงทีละดวง คือ

    โทสมูลจิตดวงที่ ๑ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เป็น โทสมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา เกิดเองตามปัจจัย โดยไม่อาศัยการชักจูง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๗ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง เว้นปีติ อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และโทสเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๗ ดวง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ