จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124


    นี่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย และถ้าพระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ท่านพระสารีบุตรไม่จงใจ ภิกษุนั้นก็จะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นฝ่ายท่านพระสารีบุตร

    เป็นความวิจิตรของจิตจริงๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การคิดนึกของแต่ละคนบังคับบัญชาไม่ได้เลย ถ้าสะสมอกุศลที่จะคิดในทางอกุศล ก็ย่อมคิดในเรื่องอกุศลต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ ผ่านจากสมัยของพระผู้มีพระภาคมาเป็นเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี อกุศลที่สะสมไว้ก็เพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่ได้ขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกประการ ก็ย่อมมีเหตุให้เกิดกุกกุจจะได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่า กุกกุจจะของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร

    ประการหนึ่ง คือ โทสะและกุกกุจจะเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ซึ่งรวมถึงความไม่รู้และความไม่เข้าใจบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย ตัวอย่างคือเรื่องของท่านพระภิกษุรูปหนึ่งกับท่านพระสารีบุตร

    ทุกคนมีเหตุผล แต่ถ้าไม่พิจารณาถึงเหตุผลของคนอื่น เอาแต่ตนเองเป็นเครื่องวัด ย่อมจะเกิดความคิดว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำอย่างนี้ ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น หรือว่าควรจะทำอย่างนี้ไม่ควรจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทำให้เกิดกุกกุจจะได้ ถ้าเป็นผู้ที่พยายามเข้าใจคนอื่น มีความเห็นใจ และให้อภัย ก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทน ไม่แสดงกายวาจาให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งขณะใดที่แสดงกายวาจากระทบกระเทือน ให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

    . คนที่ไม่ยอมพูดขอโทษคนอื่น นั่นคือมีกุกกุจจะในใจของตัวเองแล้ว ซึ่งเป็นอกุศล และถ้าเขายกน้ำชามาให้ ไม่ยอมกล่าวคำว่า ขอบคุณ ขอบคุณกับ ขอโทษนี่ จะคู่กันไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาไม่ขอบคุณ ภายหลังก็นึกว่า ขอบคุณหรือยัง หรือไม่ได้ขอบคุณ ก็เป็นกุกกุจจะได้

    . เท่าที่สังเกต ผู้ที่ไม่ยอมขอโทษ ก็ไม่ยอมขอบคุณเหมือนกัน เป็นอัธยาศัยของบุคคลคนนั้น คือ จะมีมานะรวมเข้าไปด้วยไหม นอกจากกุกกุจจะแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นการสะสมของจิต เพราะฉะนั้น เวลาเห็นคนอื่น สะท้อนให้เห็นว่า อาจจะเป็นเราได้ไหมในชาติหนึ่งข้างหน้า ถ้าอกุศลนั้นๆ ยังไม่ได้ขัดเกลา

    เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาเห็นอกุศลตามความเป็นจริงและเห็นโทษ เพียรที่จะละคลายอกุศลทุกประการ และคิดถึงบุคคลอื่นในทางที่เป็นกุศล พร้อมกันนั้น เป็นผู้ที่ทำความดีเสมอและเพิ่มขึ้น เพราะว่าอกุศลมีมาก ซึ่งทางเดียวที่จะคลาย อกุศลได้ คือ ด้วยการเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติทำกุศลและเจริญ สติปัฏฐาน ย่อมมีเหตุที่จะให้เกิดกุกกุจจะน้อย แต่ถ้าอดทนไม่ได้ต่อการกระทำ ทางกายทางวาจาของคนอื่น และใช้กิริยาอาการที่ไม่เหมาะสม ตนเองย่อมเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังได้

    สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส นิวรณบรรพ มีข้อความที่แสดงว่า

    อุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการ ในเพราะความไม่เข้าไปสงบ แห่งจิต

    ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล พิจารณาได้เลย กำลังคิดอะไรในขณะนั้นที่ไม่ใช่กุศล ก็มักจะคิดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ถูก ในทางที่ไม่เข้าใจ ไม่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น อุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการ ในเพราะความไม่เข้าไปสงบแห่งจิต

    อาการแห่งจิตอันไม่เข้าไปสงบ ชื่อว่าอวูปสมะ แต่เมื่อว่าโดยอรรถ คำนี้ก็คือ อุทธัจจกุกกุจจะนั่นแหละ เมื่อยังอโยนิโสมนสิการในอุทธัจจกุกกุจจะนั้นให้เป็นไปมากอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น

    นี่เป็นเครื่องเตือนใจท่านผู้ใดที่ยังข้องใจอยู่ ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ก็ตามลองคิดดูว่าในขณะนั้นเพราะไม่ลืม ไม่ยอมพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น ยังคงมีความขุ่นหมองเดือดร้อนใจอยู่ แต่ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากายของใคร วาจาของใคร แม้แต่กายวาจาของเราเอง ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไป ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ว่าเหตุการณ์นั้นๆ ก็ผ่านไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าคิดใหม่ด้วยโยนิโสมนสิการ เข้าใจใหม่ และขณะนั้นอภัยให้และมีเมตตา อุทธัจจะย่อมไม่เกิด แต่ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยน เมื่อยัง อโยนิโสมนสิการในอุทธัจจกุกกุจจะนั้นให้เป็นไปมากอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความไม่เข้าไปสงบแห่งจิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่ง อโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อความไพบูลย์มากขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้อาหารของอุทธัจจกุกกุจจะด้วย เวลาที่อุทธัจจกุกกุจจะเกิดระลึกได้ทันทีว่า อโยนิโสมนสิการ และตราบใดที่ยังไม่เป็นโยนิโสมนสิการ อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้วก็จะไพบูลย์เพิ่มมากขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง การละอุทธัจจกุกกุจจะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในเพราะความสงบแห่งจิต กล่าวคือสมาธิ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเข้าไปสงบแห่งจิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

    ข้อที่ว่า อนึ่ง การละอุทธัจจกุกกุจจะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในเพราะความสงบแห่งจิต กล่าวคือสมาธิ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมอื่นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ ขณะใดที่เมตตาเกิด ขณะนั้นก็เป็นสมาธิขั้นหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นกุศลจิต เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ละอุทธัจจกุกกุจจะ หรือละโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ด้วยการเจริญเมตตาได้ แต่ขณะใดที่ไม่เข้าใจคนอื่น ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา

    พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ทุกท่านเป็นผู้ที่อดทน แม้การคิดร้ายต่อคนอื่น ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน จึงคิดร้ายต่อคนอื่น ขณะที่ไม่เข้าใจบุคคลอื่น หรือไม่ให้อภัยบุคคลอื่น หรือขณะที่กล่าวคำที่ไม่สมควร ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่อดทน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ

    ๑. ความเป็นพหุสูต (การฟังและการศึกษามาก)

    ๒. ปริปุจฉกถา (การสอบถาม)

    ๓. ความเป็นผู้ชำนาญในพระวินัย (นี่สำหรับบรรพชิต สำหรับคฤหัสถ์ก็เป็น ผู้ที่มีความชำนาญในความประพฤติทางกายทางวาจาที่สมควร)

    ๔. การคบบุคคลผู้เจริญ

    ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

    ๖. สัปปายกถา

    ถ้าเกิดกุกกุจจะขึ้น ต้องละด้วยธรรม ๖ ประการนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนพระพุทธพจน์และอรรถกถานิกาย ๑ หรือว่า ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกาย ๕ นิกาย แม้โดยการสดับมาก ก็ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้

    ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่เข้าใจสภาพธรรม ไม่สามารถรู้ว่า อกุศลธรรมมีโทษอย่างไร กุศลธรรมมีประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อศึกษามาก พิจารณาธรรมมาก ขณะนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้รู้ว่า แม้กุกกุจจะที่เกิดก็เป็นชั่วขณะจิตหนึ่งและดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เมื่อเป็นผู้ที่มากด้วยการสอบถามถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรก็ดี

    ฉะนั้น โอกาสที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรที่จะทำให้เกิดกุกกุจจะก็ย่อมน้อยลง

    เมื่อเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญในพระวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้ชำนาญนั้นก็ทำให้ความประพฤติเป็นไปในทางที่ดี สำหรับคฤหัสถ์นั้น การเป็นผู้รู้ในการประพฤติที่สมควรต่อบรรพชิต ย่อมทำให้ไม่มีกุกกุจจะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า คฤหัสถ์ควรจะประพฤติต่อบรรพชิตอย่างไร แม้ในเรื่องของการไหว้ การนมัสการ การติดต่อ เมื่อได้กระทำไปโดยที่ไม่สมควรไม่เหมาะ ก็ทำให้เกิดกุกกุจจะได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรเป็นผู้ที่ศึกษามาก เพื่อจะได้เป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญทั้งในวินัยของบรรพชิตและของคฤหัสถ์ด้วย

    การคบบุคคลผู้เจริญ เช่น เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ผู้เจริญเช่นกับท่าน พระอุบาลีก็ดี ย่อมละกุกกุจจะได้

    นี่เป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น สำหรับในสมัยนี้ ต้องทราบว่า บุคคลใดซึ่งเป็นผู้รู้ในเรื่องใด เมื่อได้เข้าไปสอบถามท่านเหล่านั้นก็จะทำให้ละกุกกุจจะคือความประพฤติเพราะไม่รู้ได้

    การมีมิตรดี ที่คอยแนะนำตักเตือนในโอกาสที่สมควร ย่อมเป็นเหตุให้ไม่เกิด กุกกุจจะ คือ ไม่มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ถูกต้อง

    นอกจากนั้น ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้ แม้ด้วยสัปปายกถา อันอาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร คือ พระธรรมที่เหมาะควรแก่โอกาสและเหตุการณ์นั้นๆ

    ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรม ๖ อย่าง ย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจะกุกกุจจะ ดังนี้

    ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็อุทธัจจะอันละด้วยธรรม ๖ เหล่านี้ ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค และกุกกุจจะอันละได้ด้วยธรรม ๖ เหล่านี้ ไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอนาคามิมรรค ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ศึกษา ต้องเป็นผู้ที่คบผู้เจริญ ต้องเป็นผู้มีกัลยาณมิตร และต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในสัปปายกถา

    ข้อความในพระไตรปิฎกมีมากที่กล่าวถึงการประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่จะทำให้ตนเองไม่เป็นที่รังเกียจ เพราะเวลาที่กุกกุจจะเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกว่า ตนเองได้กระทำสิ่งซึ่งเป็นที่รังเกียจ เพราะฉะนั้น จึงควรเห็นโทษของอกุศล และ อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจ

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๐๐ แสดงลักษณะของผู้เป็นที่รังเกียจ และผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็บุคคลผู้เป็นที่รังเกียจเป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติอันไม่สะอาดที่พึงระลึกด้วยความระแวง มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะก็ปฏิญาณว่า ตนเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีความเน่าอยู่ ณ ภายใน มีจิตชุ่มอยู่ด้วยราคะ เป็นดังว่าหยากเยื่อ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นที่รังเกียจ

    ถ้าเป็นที่รังเกียจ หรือคนอื่นรังเกียจ ตนเองย่อมเกิดความรำคาญใจซึ่งเป็น กุกกุจจะขึ้น แต่กุกกุจจะนั้นเกิดขึ้นเพราะโทษของตนเอง เพราะว่าตนเอง เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติอันไม่สะอาด

    อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มักโกรธ มีความแค้นเคืองมาก ถูกใครว่าเข้าแต่น้อย ก็ขัดใจ โกรธเคือง มุ่งร้าย ปองร้าย ทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นที่รังเกียจ

    ใครก็ตามที่กิริยาอาการเต็มไปด้วยโทสะ หรือว่าใครก็ตามซึ่งอาจจะมีคำพูดที่เป็นคำติเพียงเล็กน้อยไม่มากมายเลย แต่ก็มีการแสดงความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจอย่างรุนแรง ในขณะนั้นย่อมเป็นที่รังเกียจของคนอื่น จนกระทั่งไม่เตือน ก็ได้ ใช่ไหม เพราะถ้าเตือนก็แสดงกิริยาอาการที่แสดงความแค้นเคืองมาก

    อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด มีความถือทิฏฐิของตน มีความถือรั้น มีความสละคืนยาก บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นที่รังเกียจ

    คนอื่นไม่รังเกียจ รังเกียจตัวเองได้ไหม หรือต้องให้คนอื่นรังเกียจก่อน จึงพิจารณาตนเองว่าตนเองเป็นที่รังเกียจอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด ไม่ต้องรอให้ คนอื่นรังเกียจ แต่สามารถพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจของตนเพื่อละสิ่งที่ น่ารังเกียจนั้น

    ส่วนผู้ที่ไม่เป็นที่รังเกียจก็ตรงกันข้าม คือ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วย อาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

    ซึ่งย่อมจะเป็นผู้ไม่มีกุกกุจจะด้วย

    อีกอย่างหนึ่ง บุคคลไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มีความแค้นเคืองมาก แม้อันใครๆ ว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่มุ่งร้าย ไม่ปองร้าย ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

    แทนที่จะใช้คำอื่น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นโดยใช้คำว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนย่อมรังเกียจอกุศลธรรม แต่ไม่รังเกียจกุศลธรรม

    อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเป็นผู้ไม่ถือโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่มีความเห็นผิด ไม่ถือทิฏฐิของตน ไม่มีความถือรั้น มีความสละคืนง่าย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

    อริยบุคคลทั้งหมดรวมทั้งกัลยาณปุถุชนเรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ไม่คะนอง ไม่เป็นที่รังเกียจ

    แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่เป็นผู้ที่โกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ แม้ตัวเองภายหลังก็เกิดกุกกุจจะความรำคาญใจได้ว่า ตนเองได้กระทำกายวาจาอย่างนั้นๆ ที่ไม่สมควร

    แม้ในเรื่องของการโอ้อวด หรือการถือตัวก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีกิริยาอาการที่แสดงการโอ้อวดหรือการถือตัวแล้ว ภายหลังก็ทำให้เกิดกุกกุจจะ ความรำคาญใจได้

    เรื่องของกุกกุจจะควรพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ มีบ้างไหม ถ้ามีก็เพราะ อกุศลทั้งนั้น

    กุกกุจจะเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับโทสมูลจิต ถ้าโทสะไม่เกิดกุกกุจจะ เกิดไม่ได้ ซึ่งการละกุกกุจจะและการละโทสะเป็นเรื่องยาก แต่สามารถอบรมให้ เบาบางลงได้

    สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส นิวรณบรรพ แสดงการละโทสะ มีข้อความว่า

    ก็พยาบาทเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิต ในคำเหล่านั้น แม้ปฏิฆะ ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต แม้อารมณ์ในปฏิฆะก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต อโยนิโสมนสิการมีลักษณะอย่างเดียวกันในที่ทั้งปวงนั่นแหละ เมื่อยังมนสิการนิมิตนั้นให้เป็นไปมากในปฏิฆนิมิตนั้น พยาปาทะย่อมเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาปาทะะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อให้ พยาปาทะที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์มากขึ้น ดังนี้

    เหมือนกันทั้งกุกกุจจะและพยาปาทะ ความโกรธและความรำคาญใจย่อมเกิดจากอโยนิโสมนสิการ

    อนึ่ง พยาปาทะนั้นละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ ในคำเหล่านั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระก็ดี ย่อมควรในคำที่ท่านกล่าวว่า เมตตา แต่คำว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น โยนิโสมนสิการมีลักษณะตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เมื่อยังมนสิการเป็นไปให้มากในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ย่อมละพยาบาทได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

    พยาบาทละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น ซึ่งหมายความถึงเฉพาะฌานจิต

    . ฌานจิต คือ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ถ้าใช้คำว่า เจโตวิมุตติ ก็หมายความถึงฌานจิต คือ อัปปนาสมาธิ

    . ปฏิฆนิมิต หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ที่ทำให้เกิดปฏิฆะชื่อว่าปฏิฆนิมิต หรือแม้แต่โทสะนั่นเองก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต ถ้าในที่อื่น ปฏิฆนิมิตหมายความถึงอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าเป็นสิ่งที่กระทบกับปสาทได้

    ทางตาที่กำลังเห็นเป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่ากระทบกับจักขุปสาท ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็เป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่ากระทบกับโสตปสาท เพราะฉะนั้น เวลาที่อารมณ์ต่างๆ ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเพลิน ความพอใจ แต่ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ย่อมทำให้เกิดปฏิฆะ คือ การกระทบกระทั่ง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็น คือ ความขุ่นใจ ความเคืองใจ แม้ลักษณะของปฏิฆะซึ่งเป็นโทสะก็กระทบใจ ทำให้ปรากฏสภาพที่รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสเจตสิก เป็นลักษณะของความขุ่นเคือง แม้ปฏิฆะก็เป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่าเป็นลักษณะที่ปรากฏให้รู้ถึงความกระทบใจได้

    เรื่องของธรรมมีคำหลายคำ ซึ่งจะต้องเข้าใจเป็นตอนๆ เช่น ในที่อื่น ปฏิฆนิมิตหมายความถึงอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าเป็นเรื่องของ โทสะ ปฏิฆะ ได้แก่ โทสะ เพราะว่าเมื่อกระทบแล้วทำให้ปรากฏลักษณะของความ ขุ่นเคือง เพราะฉะนั้น ลักษณะของโทสะก็เป็นปฏิฆนิมิต และแม้อารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปฏิฆนิมิตด้วย

    ข้อความที่ว่า พยาบาทนั้นละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ

    สงสัยไหมที่ว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น คือ สมาธิที่มั่นคงถึงขั้น ฌานจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ แต่ว่า ในคำเหล่านั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระ (สมาธิที่ยังไม่ถึงอัปปนา) ก็ดี ย่อมควรในคำที่ท่านกล่าวว่า เมตตา

    ในวันหนึ่งๆ ขณะใดที่เกิดโทสะ ขณะนั้นรู้ได้ว่าขาดเมตตาแล้ว เพราะฉะนั้น การละโทสะ คือ มีเมตตาในขณะนั้นทันที แต่ยังไม่ชื่อว่าละ เพียงแต่ว่าระลึกถึงเพื่อให้คลายความโกรธเคืองในบุคคลนั้น

    และพิจารณาดูในชีวิตตามความเป็นจริงว่า ต้องคิดนานไหม ต้องระลึกนานไหม ต้องเมตตากันอย่างมากไหม คือ ต้องคิดหลายเรื่องเพื่อที่จะให้เกิดเมตตาขณะนั้น จึงจะค่อยๆ คลายโทสะลงได้

    บางคนบอกว่า โกรธลูกมาก รีบไปเอาหนังสือเมตตามาอ่าน ดูเหมือนกับว่า ทันทีที่โทสะเกิดก็จะไปหาน้ำมาดับไฟ คือ หยิบหนังสือเรื่องเมตตามาอ่าน ซึ่งใน ขณะนั้นก็รู้ว่าไม่หายโกรธ เพราะว่ามีปัจจัยพร้อมที่จะเกิด โทสะก็เกิด และปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดก็น้อยกว่าโทสะมาก เพราะฉะนั้น การอ่านหนังสือเรื่องเมตตาเพื่อไม่ให้เกิดโทสะในขณะนั้น ไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยของโทสะมีมากกว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเมตตา

    ผู้ที่ไม่อยากจะมีโทสะหรือกุกกุจจะ ไม่ใช่เป็นผู้ที่คอยให้เกิดและไปอ่านตอนนั้นตอนนี้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลด้วยประการทั้งปวง และพยายามอบรม ในการที่จะมีเมตตาในวันหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่โกรธคนอื่น หรือนึกถึงคนอื่นในทางที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นโทสะ ไม่เป็นเมตตา เพราะฉะนั้น ด้วยการที่สติระลึกอย่างนั้น จะเปลี่ยนการระลึกถึงบุคคลอื่นในทางที่จะให้เกิดโทสะ เป็นระลึกในทางที่จะให้เกิดเมตตาแทน ค่อยๆ เป็นไปทีละน้อยในวันหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่รอให้โกรธก่อน และหาหนังสือเรื่องเมตตามาอ่าน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ