จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139


    พระโสดาบันบุคคลละจิต ๕ ดวง คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง และเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง พระโสดาบันบุคคล ดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทั้ง ๔ ดวง ไม่เกิดอีกเลย และดับโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลดับอกุศลธรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่พระโสดาบันยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ฉะนั้น โลภะที่ พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ โทสะที่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ และโมหะที่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ

    พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิตเหลืออยู่ ๔ ดวง คือ โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ ไม่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ พระโสดาบันยังมีโทสมูลจิต ๒ ดวงเหลืออยู่ แต่ไม่เป็นเหตุให้ประกอบอกุศลกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ พระโสดาบันมีโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

    การคิดถึงเหตุผลที่โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะต้องพิจารณาถึงธรรมที่พระโสดาบันละ เพราะว่าเมื่อพระโสดาบันละอกุศลจิต ๕ ดวง แสดงว่าอกุศลจิตที่พระโสดาบันยังมีเหลืออยู่ ๗ ดวง คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิต ๑ ดวง ไม่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ ด้วยเหตุนี้ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ จึงไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดได้

    . คนที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ตายแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิ เพราะว่ากรรมที่ทำในชาติก่อนๆ แต่ทำไมพระโสดาบันก็มีอกุศลกรรมในชาติก่อนๆ ที่เคยทำ ซึ่งอาจจะต้องตกนรก ทำไมกรรมเหล่านั้นจึงไม่ให้ผล

    ท่านอาจารย์ การที่กรรมมีโอกาสให้ผลได้ ก็เพราะว่ายังมีกิเลสอยู่เป็นปัจจัย แต่ถ้ากิเลสดับ ขันธ์ยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยให้อดีตอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าขันธ์ดับหมด ปรินิพพาน ก็ไม่มีปัจจัยให้กรรมในอดีตให้ผลอีกได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าดับกิเลสหมด แต่ยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีปัจจัยให้วิบากเกิดจนกว่า จะถึงปรินิพพาน

    เมื่อปรินิพพานแล้ว ดับโดยรอบจริงๆ จะไม่มีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดอีกได้ เพราะฉะนั้น การดับกิเลส ก็ดับกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดด้วย

    ถ้าอยากจะดับกรรม ก็ต้องดับกิเลส เพราะจะไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ แต่ถ้ากิเลสยังมี ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    . ขณะที่เกิดอกุศลจิต หมายความถึงอโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ เป็นอโยนิโสมนสิการ

    . ขณะที่มีโยนิโสมสิการ การพิจารณาธรรมโดยแยบคาย ในลักษณะที่เป็นตัวเป็นตน คือ เราศึกษาพระธรรมมาเราก็น้อมใจพิจารณา การโยนิโสมนสิการในลักษณะนี้ ช่วยกรุณาขยายความ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นโยนิโสมนสิการในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าไม่มีตัวเรา ที่จะทำได้ ถ้าทำได้ ก็ขอให้ทุกคนทำให้กุศลจิตเกิดมากๆ ใช่ไหม แต่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิดแสดงว่าขณะนั้น คือ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ต้องเพราะโยนิโสมนสิการ

    และขณะใดที่เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้อกุศลจิตเกิด แต่ อกุศลจิตก็เกิด เพราะอโยนิโสมนสิการในขณะนั้น ซึ่งเป็นอนัตตา

    นี่คือความหมายของโยนิโสมนสิการ คือ ไม่ต้องไปทำ ไม่ใช่ว่าจะทำ โยนิโสมนสิการ ทำไม่ได้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใด ที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะไม่มีใครอยากมีอกุศล แต่อโยนิโสมนสิการเกิดขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ลักษณะของโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ จะเข้าใจและรู้ได้ในขณะที่ เจริญสติปัฏฐาน ทำให้รู้ว่าขณะที่หลงลืมสตินั้นเป็นอย่างไร เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะต่างกับขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด

    ในขณะนี้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า มีลักษณะของสภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏบ้าง แต่เวลาที่สติกำลังเจริญ จะรู้ได้ว่า ในขณะนั้นมีลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏเพียงสั้นๆ และเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเวลาที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด จะไม่สังเกตเลย

    ในขณะนี้ มีเสียงเล็กๆ น้อยๆ ปรากฏไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่ได้สังเกตในเสียงนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้ได้ว่า แม้เป็นเสียงเล็กน้อยสั้นเพียงไร หรือเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่ปรากฏเพียงสั้นๆ สติก็สามารถระลึกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ มีสภาพธรรมที่เป็นปริตตารมณ์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างสั้นๆ แต่ไม่ได้สังเกต เพราะว่าไม่ได้สนใจ ต่อเมื่อใดที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้ว่า แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเกิดและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วนั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถจะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของสติปัฏฐาน ตรงกันข้ามกับโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นจิตที่ยากจะรู้ได้ เพราะว่าไม่ได้ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก อื่นใด นอกจากอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ และอุทธัจจเจตสิก ๑ และประกอบด้วยอัญญสมานาเจตสิกตามสมควรเท่านั้น

    . สติปัฏฐานกับอายตนะสัมพันธ์กันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อายตนะ หมายความถึงสภาพธรรมที่ประชุมกันทำให้เกิดการรู้อารมณ์ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ในขณะนั้นเป็นอายตนะ เพราะว่าจักขุปสาทมี แต่ในขณะใดที่ ไม่เห็น ขณะนั้นไม่ได้ประชุม คือ ไม่ได้กระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา การเห็นจึงไม่เกิดขึ้น

    โสตปสาท เป็นรูปที่สามารถรับกระทบเสียงได้ แต่ขณะใดที่ไม่ได้กระทบกับเสียง ขณะนั้นก็ไม่เป็นอายตนะ คือ ไม่ได้ประชุมกันที่จะให้เกิดสภาพรู้ขึ้น เพราะฉะนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมีสภาพรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอายตนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . วันหนึ่งๆ เราเป็นไปตามอายตนะมากมายเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ มากมายสักแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าเราจะแบ่งวันเวลาให้สั้นที่สุดจนกระทั่งถึงเสี้ยววินาทีที่รู้สึกว่าเล็กน้อยมากแล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น สั้นและเล็กน้อยยิ่งกว่านั้นอีก

    เช่น ทางตากำลังเห็น และทางหูกำลังได้ยิน เป็นเสี้ยววินาทีหรือยังในขณะนี้ ในขณะที่ทางตาเห็น และทางหูได้ยินในขณะนี้ มีสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ ทางจักขุทวารวิถีซึ่งเห็น ทางโสตทวารวิถีซึ่งได้ยิน ทางมโนทวารวิถีซึ่งรับรู้สิ่งที่ปรากฏ ทางตาต่อจากทางจักขุทวารวิถี หรือรับรู้สิ่งที่ปรากฏคือเสียงต่อจากทางโสตทวารวิถี และก็มีภวังคจิตคั่น ในขณะนี้เองซึ่งเหมือนกับเห็นและได้ยิน ซึ่งไม่สามารถแยกเป็นเสี้ยววินาทีได้ ก็ยังมีนามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็วมากมาย ทั้งทางจักขุทวารวิถี ทางมโนทวารวิถี และทางโสตทวารวิถี ทางมโนทวารวิถี และภวังคจิตที่คั่นระหว่างวิถี วาระหนึ่งๆ

    วันหนึ่งๆ ก็ลองคิดดูว่า จิตเจตสิกจะเกิดดับมากมายสักแค่ไหน จนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้ว่ารวดเร็วแค่ไหนถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างในวันหนึ่งๆ ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะว่ายับยั้งไม่ได้ที่จะไม่ให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่ได้กล่าวถึงว่า แม้ในขณะนี้ที่จะรู้ว่า นามธรรมแต่ละขณะเกิดและดับไปรวดเร็วแค่ไหน ก็โดยการเห็นและได้ยินอย่างนี้ ระหว่างจักขุทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ มโนทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ และก็ถึงโสตทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ มโนทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ ไม่รู้เลย ใช่ไหม แต่ปรากฏเสมือนว่า ทั้งเห็นและได้ยินด้วย

    เพราะฉะนั้น แสดงว่านามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีทางที่จะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ และถ้ารู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป อยากจะดับสภาพธรรมเหล่านี้ให้หมด ไม่ให้เกิดอีกเลยหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ

    ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่สนใจเลยที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ จะสนใจและเห็นความไม่มีสาระของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมาเพียงเล็กน้อยนิดเดียวและดับไป แต่ถ้ายังไม่เห็นการเกิดดับจะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นสั้นและเล็กน้อยแค่ไหน และถึงแม้จะมีผู้ที่รู้สึกหน่ายต่อการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์วันแล้ววันเล่า ชาติแล้วชาติเล่า แต่ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถดับสภาพธรรมเหล่านี้ได้

    และการดับสภาพธรรม ต้องดับตามลำดับขั้นด้วย เช่น การที่จะดับผัสสเจตสิก หรือเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิกเหล่านั้น ต้องดับผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ และผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ก่อน เพราะการที่จะดับกิเลสต้องดับเป็นลำดับขั้น

    สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล ดับทิฏฐิเจตสิก เพราะฉะนั้น ไม่มี โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลย นอกจากนั้น พระโสดาบันบุคคลดับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ จึงไม่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดอีกเลย

    สำหรับพระโสดาบันบุคคล ผัสสเจตสิกจะไม่กระทบกับความเห็นผิดอีกเลย ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือว่าเที่ยง แม้เวทนาเจตสิก สำหรับ พระโสดาบันบุคคลก็จะไม่เกิดขึ้นรู้สึกโสมนัสยินดีในความเห็นผิดอีกเลย แม้ สัญญาเจตสิกก็จะไม่จำหมายด้วยความเห็นผิดในสภาพธรรมอีกเลย แม้เจตนา หรือเอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เจตสิกอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ จะไม่เกิดกับความเห็นผิด หรือมิจฉาทิฏฐิอีกเลย

    เพราะฉะนั้น การดับสภาพธรรม ต้องดับเป็นส่วนๆ ตามลำดับขั้นของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แต่ผัสสะที่ไม่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์และโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ก็ยังคงเกิดต่อไป จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอรหันต์ จึงสามารถที่จะดับสภาพธรรมทั้งหมดได้

    เรื่องของการดับกิเลส เป็นเรื่องยากมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ควรจะพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้กุศลจิตเกิดเพิ่มขึ้น แทนที่จะคำนึงถึงเฉพาะจะให้บรรลุถึงการดับกิเลส เพราะว่าไม่มีใครสามารถดับกิเลสทั้งหมดได้ โดยปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงปัญญาขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรม ควรอบรมเจริญกุศล หรือเจริญโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตเลยว่า ในวันหนึ่งๆ โยนิโสมนสิการเกิดมาก หรืออโยนิโสมนสิการเกิดมาก

    ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ซึ่งไม่ต้องการรู้แต่เฉพาะว่าโยนิโสมนสิการมีลักษณะอย่างไร แต่ต้องการอบรมเจริญโยนิโสมนสิการด้วย ก็จะพิจารณาว่า ทุกคนล้วนมีกิเลส ควรใส่ใจในกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตนเอง

    นี่เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะบางท่านกล่าวว่า ท่านที่เข้าวัดฟังธรรมแล้ว ทำไมยังมีกิเลสมาก จะได้ยินได้ฟังบ่อย และในระหว่างผู้ที่เข้าวัดด้วยกัน ก็ยังเห็นกิเลสของคนอื่นซึ่งมาวัดด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในวัดหรือนอกวัด ก็มักจะเห็นกิเลสของคนอื่น ใส่ใจในกิเลสของคนอื่นในวันหนึ่งๆ โดยไม่ได้ใส่ใจในกิเลสของตนเอง หรือไม่ได้เห็นกิเลสของตนเองเลย

    ประโยชน์จากการใส่ใจในกิเลสของคนอื่น มีไหม พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเริ่มที่จะให้มีโยนิโสมนสิการแม้ในชีวิตประจำวัน ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า การใส่ใจในกิเลสของคนอื่น มีประโยชน์ไหม

    วันหนึ่งๆ พิจารณาว่า เห็นกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตัวเอง

    อาจจะไม่เคยคิดมาก่อน แต่ขณะนี้คิดได้แล้ว นึกถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า วันนี้เห็นกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตัวเอง เป็นนิสัยที่สะสมอบรมมา แต่มีประโยชน์อะไรหรือเปล่า เมื่อเห็นกิเลสของคนอื่น โยนิโสมนสิการเกิดได้ไหม อโยนิโสมนสิการเกิดได้ไหม

    ตามปกติผู้ที่ใส่ใจในกิเลสของคนอื่น ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะมีอโยนิโสมนสิการ ด้วยการเห็นโทษ เพ่งโทษ ขุ่นเคือง ไม่อภัย หวังร้าย ซ้ำเติม ลองคิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเป็นที่ไม่พอใจ ในขณะที่คิดนั้น เป็นโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ

    โดยมากมักจะถามว่า โยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร แต่ความแจ่มแจ้งของ โยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการอยู่ที่ ในขณะที่คิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด พิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เวลาที่เห็นกิเลสของคนอื่น ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ ตรงกันข้าม ให้อภัย คิดช่วยเหลือเกื้อกูล หรืออดทน คอยกาลเวลาที่จะตักเตือนเกื้อกูลโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ท้อถอยที่จะช่วยแก้ไขในกิเลสหรืออกุศลของคนอื่น

    นี่คือโยนิโสมนสิการ คู่กันไปกับการเจริญสติปัฏฐาน ได้ไหม ไม่ใช่มุ่งหวังแต่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ลืมเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อโยนิโสมนสิการ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ควรคู่กันไปกับการเจริญกุศล ทุกประการ ทั้งในขั้นของทาน ซึ่งรวมวัตถุทานและอภัยทานด้วย ในขั้นของศีล ซึ่งรวมการเว้นกายวาจาที่เป็นอกุศล และการประพฤติกายวาจาที่เป็นกุศล ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลบุคคลอื่น และในขั้นของภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล และการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เป็นกุศลขั้นสำคัญที่สุด ที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย เพราะถึงแม้จะทำบุญกุศลทางทาน ทางศีลมากสักเพียงใด ก็ไม่สามารถละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    บางคนสะสมกุศลทางวัตถุทานมาก แต่สะสมกุศลในทางเจริญสติปัฏฐานน้อย จึงต้องอาศัยวิริยกถา ได้แก่ ธรรมกถา ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเพียรในการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าความเพียรที่จะฝืนกระแสกิเลสนั้นยาก แม้เพียงที่จะฟัง บางท่านก็ยาก ไม่มีความเพียรที่จะฟังซึ่งเป็นขั้นต้นของการทำให้สติปัฏฐานเจริญขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตของแต่ละบุคคล ที่ทำให้ไม่เกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ควรท้อถอย ควรสะสมการฟัง และการอบรมเจริญสติปัฏฐานไปทุกชาติ เพราะแม้ในปัจจุบันชาตินี้แต่ละท่านก็ย่อมรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า สติเกิดได้มากน้อยเท่าไรในวันหนึ่งๆ และกุศลจิต คือ โยนิโสมนสิการ เกิดมากน้อยเท่าไรในวันหนึ่งๆ

    สำหรับเจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ดวง ที่กล่าวถึงเจตสิกในวันนี้เพื่อให้เห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดร่วมด้วยตามควรแก่ลักษณะของจิตนั้นๆ เป็นการเข้าใจจิตของแต่ละบุคคล ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา

    เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง หรือ ๕๒ ประเภท แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง และโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

    ถ้านับตามจำนวนแล้ว อกุศลเจตสิกก็ไม่มาก มีจำนวนเพียง ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภทเท่านั้น แต่เกิดง่ายและบ่อยกว่าโสภณเจตสิกซึ่งมีถึง ๒๕ ดวง

    สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับสัมปยุตต์ธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ ถ้าเกิดกับอกุศลจิต อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็ เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับกุศล อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับวิบาก อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยา อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยา

    อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ได้แก่ สัพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ ผัสสะ ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ เจตนา ๑ เอกัคคตา ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ มนสิการ ๑ และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ อธิโมกข์ ๑ วิริยะ ๑ ปีติ ๑ ฉันทะ ๑ เจตสิกเหล่านี้เมื่อเกิดกับกุศลก็เป็นกุศล เมื่อเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับวิบากก็เป็นวิบาก เมื่อเกิดกับกิริยาก็เป็นกิริยา

    เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกดวงเดียว เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ