พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239


    ตอนที่ ๒๓๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ขณะหลงลืมสติ กับลักษณะของสติเกิด ซึ่งเป็นสติขั้นเข้าใจ หรือขั้นฟัง ก็เป็นความคิดนึกอยู่ดี ไม่ได้เป็นลักษณะปรมัตถ์ที่แท้จริง แม้แต่ลักษณะของการระลึกได้ที่เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงยังไม่ปรากฏ คุณสุกัญญาจะรู้ลักษณะของเสียงอะไร ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม คุณสุกัญญาจะไปรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ไหม ในเมื่อยังไม่ได้เกิด

    ผู้ฟัง แสดงว่าเราก็เข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเป็นเพียงแค่คิดนึก

    ท่านอาจารย์ นี่คือความละเอียดของการฟังพระธรรม และต้องเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะเข้าถึงความละเอียดนั้นด้วย มิฉะนั้นก็หลงทาง นี่คือสิ่งที่ผู้ที่ได้ฟังแล้วก็ยังต้องฟังต่อไป ใช่ไหม พระภิกษุที่อยู่กับพระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่พระวิหารใดๆ ก็ตามฟังพระธรรม เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไปก็ติดตามไปเพื่อฟังพระธรรม แสดงว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจแค่ไหน เราจะเข้าใจอีก ถูกต้องขึ้นได้อีกแน่นอนเมื่อมีการฟังละเอียดขึ้น และก็พิจารณาละเอียดขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้การฟังต้องเป็นการไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย พอพูดแล้วเราเข้าใจได้ทันที นั่นเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่คำว่า “สติ” เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดกับกุศลจิตทุกประเภท และโสภณจิตทุกประเภท นี่คือสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น แต่ก็จะรู้ความต่าง ขณะที่เป็นสติขั้นฟัง ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ขณะที่กำลังเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใช้คำนี้เพื่อไม่ให้หลงว่าเราเข้าใจ แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ในขณะที่กำลังฟังนี้เอง ทุกอย่างเป็นธรรม ปฏิเสธไม่ได้ เห็นเป็นธรรมหรือไม่ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมหรือไม่ คิดนึกเป็นธรรมหรือไม่ ต้องเป็น ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างต่างกัน กำลังเข้าใจอย่างนี้ แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด เพียงแต่ฟังเรื่องรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะมีจิตเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏ นี่คือกำลังฟังสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ฟังเป็นขั้นสติที่เป็นกุศลระดับฟัง ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจก็เป็นขั้นคิดไตร่ตรอง แต่เมื่อใดที่กำลังรู้ลักษณะ ขณะนั้นสติเกิด สติเกิดนี่เป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย แล้วก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดก็คือไม่รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเลย แต่ขณะที่สติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานเกิด คือกำลังมีลักษณะนั้น ใช้คำว่า “มี” เพราะสติระลึกลักษณะนั้นจึงปรากฏ

    อย่างเราพูดเรื่องแข็งเป็นสิ่งที่ปรากฏกับกายที่มีกายปสาทในส่วนที่มีกายปสาท แข็งจึงปรากฏได้ แต่ลักษณะของแข็งจริงๆ ปรากฏ เวลาที่มีการรู้แข็ง จิตสามารถที่จะรู้แข็ง ถามเด็กๆ ก็ตอบว่าแข็ง รู้ว่าสิ่งที่กระทบสัมผัสแข็ง แต่เพราะสิ่งนั้นอ่อน เด็กก็ตอบว่าอ่อน เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อมีจิตกำลังรู้อ่อน อ่อนปรากฏกับจิตที่กำลังรู้อ่อน แต่ความต่างกันก็คือว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว เข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะเป็นสภาพที่แม้มีการรู้อ่อนหรือแข็ง แต่สติก็กำลังรู้ตรงนั้นด้วย กำลังมีลักษณะซึ่งเริ่มจะเข้าใจว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย จะเป็นแขนไม่ได้ จะเป็นเก้าอี้ไม่ได้ จะเป็นอะไรไม่ได้ เพราะขณะนั้นเป็นเพียงแข็ง นั่นคือปกติจริงๆ และก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ว่าผู้ที่ยังหวั่นไหวเพราะเหตุว่ายังสงสัย ยังอยากให้เกิดอีก ยังอยากจะเข้าใจให้มากกว่านั้นอีก ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแม้ทีละเล็กทีละน้อยตามปกตินี้เองที่เป็นการละโลภะ มิฉะนั้นแล้วความอยากจะเข้ามาทันที อยากจะให้มากกว่านั้น อยากจะประจักษ์ความจริง อยากจะรู้การเกิดดับ ละความเป็นตัวตน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันทั้งหมด สติสัมปชัญญะยังไม่ได้รู้จนกระทั่งชินในความเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือเป็นธรรมนั่นเอง และก็เป็นแต่ละลักษณะด้วย เปลี่ยนลักษณะไม่ได้ สติระลึกเมื่อไรก็ไม่ได้เปลี่ยนลักษณะนั้นเลย ก็ยังคงรู้ลักษณะนั้น แต่ว่าผู้นั้นรู้ขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะ นี่คือการที่จะเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ และการที่จะรู้ลักษณะอย่างนี้จนกว่าจะทั่ว ก็จะทำให้คลายความไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่มีหนทางอื่น

    ผู้ฟัง ขอให้ช่วยอธิบายคำว่า “นิมิต” หมายความว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดแล้วดับใช่ไหม และสภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ อะไรกำลังปรากฏขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขั้นฟัง แน่นอนว่าสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกสักอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ปรากฏการเกิดดับ หรือว่าอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ปรากฏการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง แข็งปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แข็งปรากฏ แล้วแข็งเกิดดับหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ประจักษ์ แต่ตอบตามที่เรียนมา

    ท่านอาจารย์ ตามที่เรียนมา ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ นั่นคือความจริง ถูกต้องไหม แต่ตามความเป็นจริงของแต่ละคนขณะนี้อะไรปรากฏ ทางตานี่อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็เป็นท่านอาจารย์ เป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือนิมิต ถ้าจะรู้ว่านิมิตคืออะไร เมื่อไร อะไรกำลังปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรมหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปสืบต่อ แต่ว่าปรากฏเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นี่คือนิมิต เพราะฉะนั้นจะเข้าใจคำว่า “นิมิต” ตามลำดับขั้น ก่อนฟังธรรมไม่เห็นมีนิมิตอะไรเลย นอกจากเวลาฝัน ใช่ไหม ฝันถึงสิ่งที่ไม่มีจริงๆ ในขณะนั้นจึงบอกว่า นิมิต คือ ฝัน เพราะว่าไม่ใช่มีสิ่งที่มีจริงในขณะที่ฝันเลย เพราะฉะนั้น ทั่วๆ ไป เข้าใจฝันว่าเป็นนิมิต แต่ในขณะนี้เองก็มีนิมิตของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจคำว่านิมิตมากขึ้นตามลำดับขั้น ก็ต้องเปรียบเทียบขณะที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย นิมิตคือแค่ฝัน แต่จริงๆ ขณะนี้ไม่ได้เข้าใจความเป็นนิมิตเลย แต่เมื่อได้ฟังธรรมเข้าใจแล้ว จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ นิมิตของนามธรรม และรูปธรรมปรากฏ เพราะการเกิดดับเร็วมาก และแต่ละลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ดับแล้วไม่กลับมาอีก แล้วอะไรเหลือ การสืบต่อจนปรากฏเหมือนกับว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกของนิมิต เวลาที่เราไม่ได้ฟังพระธรรม สุข ทุกข์กับความคิด เพราะถ้าไม่คิด นิมิตจะปรากฏไม่ได้ เพราะว่าเพียงแค่เห็นหมดแล้ว ไม่มีอะไร ได้ยินก็หมดแล้ว ไม่มีอะไร แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อปรากฏเป็นนิมิต เสียงอะไร มีเสียงเพลงปรากฏ เป็นนิมิตไหม เสียงอะไรอีก

    ผู้ฟัง เสียงนก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นนิมิตอีก เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกของนิมิตไปตลอดชาติทุกชาติ เหมือนกับว่าเราสุขทุกข์กับความฝัน ฝันว่ามีคน ฝันว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้จริงๆ นิมิตของชาติก่อนดับไปหมด หาอีกไม่ได้ สุขทุกข์ที่ชาติก่อนสำคัญเหลือเกิน ก็เหมือนชาตินี้ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง กับนิมิต กับเรื่องราวต่างๆ กับคนนั้นกับคนนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่เหลือ และไม่มีในชาติก่อนฉันใด ขณะนี้เดี๋ยวนี้ก็จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าพอถึงชาติหน้า ก็จะรู้ได้ว่าหลงสุขหลงทุกข์กับเรื่องราวนิมิตต่างๆ ที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นอย่างนี้ทุกชาติ คือหลงสุขหลงทุกข์กับนิมิตด้วยความคิด เพราะไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ด้วยเหตุนี้ถ้าทำให้มีการเข้าใจจริงๆ ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นลักษณะนั้นไม่ใช่เรื่องราวบัญญัติต่างๆ เพราะว่ามีลักษณะที่กำลังปรากฏให้รู้ว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ นี่ก็เริ่มเห็นความต่างของบัญญัติกับปรมัตถ์ และจะรู้ว่าบัญญัติก็คือนิมิตนั่นเอง เรื่องราวต่างๆ ชื่อต่างๆ ทั้งหมดจากการที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วยังสมมติเรียกไปต่างๆ นาๆ อีก ชื่อ ยศฐาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ก็มาจากนิมิตที่ปรากฏนั่นเอง นี่คือการเริ่มที่จะรู้ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดมีลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกับความทรงจำเรื่องราวต่างๆ นี่คือนิมิต ถูกต้องไหม และถ้าประจักษ์การเกิดดับ ยิ่งเห็นว่าแม้นามธรรม และรูปธรรมที่มีลักษณะนั้นก็เป็นนิมิตของนามธรรม และรูปธรรมนั้นเอง เพราะเมื่อเกิดขึ้นก็มีลักษณะอย่างนั้น แต่ว่าชั่วขณะที่สั้นมากแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของนิมิตเพิ่มขึ้นอีก แล้วก็จะรู้ได้ว่าธรรมที่ไม่มีนิมิตเลยคือนิพพาน เพราะเหตุว่าไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการที่จะปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น

    กำลังมีนิมิตเป็นอารมณ์ สุข ทุกข์กับนิมิตตลอดชาติ ชาติแล้วชาติเล่าก็ไม่มีอะไรเหลือ

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็คงจะมีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้น รู้ความจริงยิ่งขึ้น มิฉะนั้นจะไม่เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สามารถที่จะทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลที่ได้ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ซึ่งกิเลสก็รู้กันแล้วตอนนี้ ว่ามารวดเร็ว มาทั้งวัน มาไม่หยุด ยับยั้งไม่ได้เลย มาจากไหน ถ้าไม่รู้ความจริงก็คือว่าไม่สามารถที่จะดับได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะกล่าวถึงคำว่า “ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ” ถ้าหมายถึงว่าสิ่งที่เกิดตรงนี้เป็นนิมิตได้ไหม ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ต้องมีสิ่งที่เกิด ทางตาต้องเกิด แต่ดับแล้วโดยไม่รู้ และก็มีเกิดสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นสัณฐาณ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ว่ามีลักษณะที่เกิดดับๆ ต่อกันก็ต้องค่อยๆ ...

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณแรก ไม่ใช่ประจักษ์การเกิดดับ แต่เป็นการรู้ลักษณะของธาตุซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เป็นลักษณะของสภาวธรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรมที่ต่างกันทีละลักษณะ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณแรกเป็นญาตปริญญา เป็นความรู้รอบในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางมโนทวาร ไม่มีอะไรจะกั้นหรือขัดขวางได้เลย ลักษณะนั้นจะปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นจึงเป็นการรู้รอบในลักษณะนั้น เป็นญาตปริญญา เพราะไม่มีอะไรกั้น ทีละลักษณะ และก็ทางมโนทวารด้วย

    ผู้ฟัง นิมิตก็คือบัญญัตินั่นเอง เป็นอีกนัยหนึ่งของบัญญัติ สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นนิมิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม และก็ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะใดก็ตาม แต่ว่าเมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ ขณะนั้นก็เป็นนิมิตของสิ่งซึ่งเกิดดับ และเมื่อนิมิตมีก็บัญญัติทรงจำในเรื่องนั้น และก็มีคำเรียกต่างๆ เป็นสมมติต่อไปอีก

    ผู้ฟัง สมมติว่าจะจับถ้วยแข็ง หรือว่าจะท้าวโต๊ะ ความแข็งไม่ใช่เป็นความแข็งของโต๊ะ มันเป็นลักษณะแข็ง เพราะฉะนั้นก็คือสภาพแข็ง และการระลึกนี้ก็จะต้องเป็นการระลึกปัจจุบันทันด่วน ไม่มีชื่อของสิ่งนั้นๆ สิ่งนี้คือสภาพธรรมใช่ไหม เป็นลักษณะ

    ท่านอาจารย์ มีอย่างหนึ่งคือการฟังธรรมนี่ เมื่อเป็นความเข้าใจแล้ว ไม่ถาม เพราะเข้าใจ ถ้ายังถามอยู่ แสดงว่าไม่ได้เป็นความเข้าใจของเราเอง นี่แน่นอน จึงต้องถาม เพราะฉะนั้นก็ขอถามคุณรัชดาว่า วันนี้มีลักษณะของแข็งปรากฏบ้างไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างของแข็งที่ปรากฏตามปกติกับแข็งที่ปรากฏกับสติที่กำลังรู้ลักษณะแข็ง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว เข้าใจแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตประจำวันก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้นปรากฏตามปกติ ตามธรรมดา หรือว่ามีลักษณะพิเศษคือลักษณะของสติที่รู้ลักษณะแข็งนั้นด้วย นี่คือความต่างกัน ซึ่งแต่ละบุคคลจะตอบแทนกันได้ไหม จะถามคนอื่นว่าแล้วนี้เป็นสติปัฏฐานหรือไม่ แล้วนี่เป็นการรู้ลักษณะนั้นหรือไม่ หรืออะไรอย่างนี้ ต้องเป็นการฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจในความต่างของขณะที่แข็งก็ปรากฏตามปกติ จะฟังแล้วหรือยังไม่ได้ฟังก็ตามแต่ ฟังแล้วแข็งก็ปรากฏตามปกติได้ วันนี้ก็รับประทานอาหารใช่ไหม ตื่นขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน จับช้อนส้อม ทุกสิ่งทุกอย่างแข็งทั้งนั้น กับขณะที่กำลังมีลักษณะแข็งปรากฏเพราะกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น นี่คือความต่าง ถ้าขณะนั้นมีสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นเป็นความต่างของขณะที่เพียงปรากฏทั่วๆ ไปในวันหนึ่ง ขณะนั้นผู้นั้นก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมมีลักษณะนี้เกิดขึ้น และรู้ตรงแข็ง ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยว่าสภาพธรรมมีจริงๆ ในชีวิตประจำวันแล้วก็ปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด แข็งก็ปรากฏได้ตามปกติ แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดก็คือขณะนั้นกำลังมีลักษณะแข็งซึ่งไม่เปลี่ยน เป็นปกติ

    ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจอรรถที่ว่าสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานตามรู้ คือ มีแข็งปรากฏก่อน และสติก็รู้แข็งนั้นด้วย ตามรู้ตามปกติ เพราะว่าตามปกติเวลาแข็งปรากฏก็คิดนึกเรื่องอื่น ช้อนนี่เป็นอย่างไร ช้อนเล็กช้อนใหญ่ก็คิดไปเรื่องนั้น แต่ขณะนั้นมีลักษณะแข็ง และก็มีการรู้ตรงแข็ง จะน้อยจะมากไม่สนใจ ไม่มีตัวเราที่จะไปนั่งใคร่ครวญไตร่ตรองเลือกเฟ้น แต่ขณะนั้นรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นแรกที่ปัญญาจะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แก้วนี่จับแล้วก็แข็ง น้ำแข็งนี่ก็แข็ง มันก็จะเป็นน้ำแข็ง เป็นตู้เย็น เป็นอะไร สิ่งนั้นคือล่วงเลย ไม่ใช่เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าฟังเข้าใจว่าสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานคือการรู้ลักษณะที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าขณะที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่มีสติที่ระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใดกับขณะที่สติระลึก ขณะนั้นจะมีความต่างกัน ที่ให้ผู้มีสตินั้นเองรู้ความต่างว่าขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ผ่านไปโดยไม่รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเลย นี่เป็นความเข้าใจที่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง จนกระทั่งเมื่อเกิดก็รู้ว่าลักษณะนั้นก็คือต่างกับขณะที่หลงลืมสติหรือผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ก็ถึงกับบรรพชาอุปสมบถเป็นพระภิกษุ ก็มีศีลที่จะต้องประพฤติทางกาย ทางวาจาตามเพศของสมณะมากกว่านี้ด้วยศรัทธาที่สะสมมาในระดับนั้น แต่ก็เป็นแต่เพียงในขั้นของยับยั้งด้วยศีล แต่คนที่เห็นโทษมากกว่านั้นอีก รู้ว่าแม้ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ ไม่ได้ประทุษร้ายฆ่าสัตว์ให้ถึงแก่ชีวิต แต่โกรธมี ริษยามี อกุศลทั้งหลายมีอย่างรวดเร็ว อย่างยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นถ้ามีปัญญา ท่านก็สามารถที่จะอบรมให้กุศลจิตมีความตั้งมั่น เมื่อกุศลจิตเกิดมากขึ้น ความสงบก็ปรากฏ ก็เป็นการระงับอกุศลด้วยกำลังของความสงบของกุศลจิตซึ่งเกิดสืบต่อจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิซึ่งไม่ง่ายเลย

    แต่ว่าผู้ที่เห็นโทษของอกุศลที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นก็จะฟังธรรม รู้ว่าเพื่อละ อย่าลืม สิ่งนี้สำคัญที่สุดเพราะว่าถ้าไม่ใช่เพื่อละ ไม่มีทางที่จะละอะไรได้เลย เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่เพียงให้ยับยั้งด้วยศีลหรือว่าระงับด้วยสมาธิ แต่ให้ถึงการสามารถที่จะดับกิเลสทั้งหมดได้ไม่เกิดอีกเลยเป็นสมุจเฉทซึ่งต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นการละที่ยากมากใช่ไหม ละด้วยศีลมีคนยับยั้งได้มาก รักษาศีล ๕ ศีล ๘ หรือผู้ที่ในครั้งอดีตมีปัญญาที่สามารถจะให้จิตสงบในขั้นของสมาธิก็ยังมี แต่ว่าผู้ที่จะละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเราจะยากสักแค่ไหน ในเมื่อขณะนี้แม้สภาพธรรมมีก็ยังไม่ได้รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นธรรมที่จะละได้เป็นปัญญาเท่านั้น อย่างอื่นไม่สามารถจะทำหน้าที่ละโลภะหรือความติดข้องได้

    ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะละเมื่อไร แต่ว่ามีความเป็นผู้ตรงว่าวันนี้ฟังธรรม มีความเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะจนกว่าสติสัมปชัญญะจะรู้ตรงลักษณะนั้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมีความเข้าใจตลอดทุกทาง ทั้ง ๖ ทวารว่า ก็เป็นธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่ากำลังดำเนินทางละความไม่รู้ และก็ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เป็นหนทางละโดยตลอด

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้นการฟังแล้วถ้าพูดว่ากุศลเกิด หรือถ้าสติเกิดก็จะรู้ว่าเมื่อเวลาเห็น ก็เห็นเพียงครั้งเดียว เมื่อเวลาได้ยิน ก็ได้ยินเพียงครั้งเดียว แล้วก็เห็นคนเดียว ได้ยินคนเดียว คิดก็คิดคนเดียว แต่ว่าขณะนี้ก็มีสหายธรรม ชอบไปฟังเสียงที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ และก็ชื่นชมยินดี

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วคุณประทีปกำลังคิด แล้วก็ไม่รู้ขณะที่คิดไม่ใช่เรา แล้วก็รู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าเรายับยั้งความคิดไม่ได้ คิดตลอด คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ไม่ใช่คนก็คิดใช่ไหมว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร ถ้ายิ่งเป็นคนเรื่องราวยิ่งมากกว่าสิ่งนั้นมากมาย ยิ่งเป็นคนคุ้นเคยเรื่องยิ่งยาว ตั้งแต่สมัยเด็กจนกระทั่งถึงสมัยนี้ก็เป็นเรื่องที่ยาวมาก แต่ว่าห้ามไม่ได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าจริงๆ แล้วคือธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับไปหมดไม่เหลืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    1 ก.พ. 2567