พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235


    ตอนที่ ๒๓๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงจิตจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังมีจิตซึ่งโดยประเภทใหญ่ๆ เราก็จะรู้จักว่าจิตที่เป็นกุศลมี และก็จิตที่เป็นอกุศลก็มี ถูกต้องไหม รู้แค่นี้แต่ยังไม่พอ ยังต้องละเอียดขึ้นว่า เมื่อกุศลจิต และอกุศลจิตมี แล้วก็ตามกำลังของประเภทของจิตที่สามารถที่จะกระทำกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุ ผลของกรรมก็ต้องมี ถูกต้องไหม จะได้เป็นผู้ที่มั่นคงเข้าใจว่า จิตก็คือสภาพธรรมที่มีจริง บางขณะก็เป็นกุศล บางขณะก็เป็นอกุศล แม้ดับไปแล้วก็ยังเป็นปัจจัยสะสมอยู่ในจิตที่จะพร้อมด้วยกาลปัจจัยที่จะให้ผลเกิดขึ้น สุกงอม คำว่า “สุกงอม” คือ พร้อมที่จะให้ผล สภาพธรรมที่เป็นผล เป็นจิตประเภทวิบากซึ่งเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้รับผลของกรรม เป็นผลของกรรมที่มีเจตนาที่จะให้ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นปัจจัยที่จะให้วิบากจิตเกิด ถ้ามีเจตนาที่จะเป็นอกุศลที่จะให้ความลำบากเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แม้เจตนาที่เป็นกรรมนั้นดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากนั้นเกิด มีเราหรือไม่ คือ ฟังธรรมต้องให้ถึงความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้เราก็จะรู้จักจิตที่เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล๑ เป็นวิบาก๑ ชื่อยังไม่พอ แต่ว่าขณะนี้ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า จิตเห็นเป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือการที่เราจะเข้าใจลักษณะของสภาพเห็น ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เลือกกาลที่จะให้จิตเห็นเกิดก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าบางครั้งได้ยิน ไม่ใช่เห็น เพราะเหตุว่ากรรมที่จะทำให้จิตได้ยินซึ่งเป็นวิบากสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลคือจิตได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินเสียง ซึ่งเลือกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าจะเป็นเสียงที่น่าพอใจ หรือเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ นี่คือเราเริ่มรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุ ขณะใดซึ่งเป็นวิบาก เพื่อที่จะได้เข้าใจความละเอียดของแม้แต่คำที่เราได้ยิน เช่น คำว่ามูลหรือเหตุ แต่ก็จะต้องมีความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ลืมว่าขณะใดก็ตามที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทั้งหมดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในเรื่องเหตุ และผล ในเรื่องของกรรม และผลของกรรมว่าเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วดับไป จะให้คนอื่นได้รับผลได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็มีกรรมเป็นของของตน ด้วยเหตุนี้ลักษณะของวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็จะมีต่างกันไป ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากจิตนั้นจะไม่มีเจตสิกใดๆ ซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย สำหรับเหตุหรือมูลที่ได้ยินได้ฟังก็คือว่ามี ๖ อย่าง ที่เป็นอกุศลมูล เหตุที่ไม่ดีมี ๓ และที่เป็นเหตุที่ดี เป็นโสภณ คำว่า “โสภณ” มี ๓ ต่างกัน กุศลเหตุจะเป็นอกุศลเหตุได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือความเข้าใจที่ต้องตรง เพราะเหตุว่าอกุศลมูลหรืออกุศลเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ที่ใช้คำว่ามูล เพราะว่าเกิดกับจิตใดก็เหมือนกับจิตนั้นมีมูลมีรากที่จะทำให้จิตนั้นเจริญในทางนั้นต่อไปไม่หยุด เพราะเหตุว่ายังมีเหตุซึ่งยังไม่ได้ดับที่ทำให้เป็นอกุศลอยู่ ด้วยเหตุนี้ทางฝ่ายอกุศลเจตสิกซึ่งเป็นมูล เพราะว่าจิตไม่เป็นมูล จิตไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ขณะนี้ฟัง ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจว่าแม้ขณะที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งเลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “อกุศลเหตุ” หรืออกุศลมูล หรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิด อกุศลวิบากนั้นจะไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย น่าคิดไหม เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า “อกุศลมูล” หรือว่า “อกุศลเหตุ” ซึ่งเมื่อเกิดกับจิตขณะใดต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว จะเป็นอกุศลวิบากไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเรากล่าวว่า “ธรรมทุกอย่างเกิดจากเหตุ” แล้วถ้าไม่มีเหตุ จะเห็นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ว่าถ้าพูดถึงเหตุเจตสิกมี ๖ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป และไม่ใช่เจตสิกอื่น ด้วยเหตุนี้จึงต้องทราบว่าจิตไม่ใช่เจตสิก แล้วก็เหตุนี่จะเป็นจิตไม่ได้ แต่จิตนั้นจะมีเจตสิกที่เป็นเหตุนั้นเกิดร่วมด้วยเมื่อไร ก็ใช้คำว่า “สเหตุกจิต” หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตามซึ่งเกิดร่วมกับจิต ทำให้จิตนั้นเป็นสภาพที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นสเหตุกจิต คือจิตที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นอกุศลจิตเป็นจิตประเภทไหน อกุศล จิตเป็นอกุศลไม่ได้ถ้าไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตใดก็ตามที่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอกุศล เป็นวิบากไม่ได้ต้องเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นอกุศลเหตุหรืออกุศลเจตสิกเป็นได้อย่างเดียว ใช้คำว่า “ชา-ติ” หมายความว่าเมื่อเกิดขณะใดก็เป็นอกุศลขณะนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในขณะที่ทางฝ่ายโสภณเหตุ อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ นี่คือความละเอียดของสิ่งที่มีแต่ไม่รู้เพราะเหตุว่าไม่ได้ฟังธรรม และตราบใดที่ยังไม่รู้ก็ยังคงเป็นเรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรมทั้งหมดจะมากจะน้อยอย่างไรก็เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นต้นว่าธรรมเป็นธรรม ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้ แต่การที่จะรู้ทั่วถึงจนกระทั่งถึงจิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และเป็นชาติอะไร ต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แต่ปัญญาของเราก็ต้องรู้ด้วยว่าเราสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ในระดับไหน แม้ว่าจะมีตำราทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถา เราสามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงหรือสามารถที่จะฟังแล้วรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ให้รู้จริงๆ ว่าลักษณะของธรรมมีจริงๆ และเป็นในขณะนี้ แล้วสามารถจะรู้ว่าแม้นามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรมก็มีจิต และเจตสิก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตอย่างเดียว ดูเหมือนว่าเป็นขั้นต้นจริงๆ แต่พื้นฐานขั้นต้นจะนำไปสู่การเข้าใจสภาพที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดในพระไตรปิฎก เพราะว่าพระไตรปิฎกจะทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริงๆ แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดของใคร บุคคลนั้นเองสามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่ได้มีจิตครบถ้วนตามที่ทรงแสดงในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าจิตก็มีหลากหลายมาก ซึ่งทุกคนมีจิต แต่เมื่อยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็มีอกุศลจิตครบ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลเมื่อใดก็ดับอกุศลไปเป็นประเภทๆ จนกว่าจะดับหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ต้องมาจากความเข้าใจธรรมว่า ธรรมคือขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ผมยังมีโมหะมากๆ อยู่ ยังไม่ตื่น ยังไม่เบิกบานที่จะฟังขนาดนั้น ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ หลายคนจะกล่าวว่าพระอภิธรรมแห้ง ไม่เหมือนพระสูตร มีเรื่องบุคคลนั้น บุคคลนี้ และชีวิตในครั้งนั้นก็เต็มไปด้วยเรื่องที่เหมือนในชีวิตของคนในสมัยนี้ แต่วิถีชีวิตคือวิถีจิตก็จะต่างๆ กันไป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม ไม่ได้เข้าใจว่าอภิธรรมคือธรรมที่มีจริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนี้ ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ก็คือรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละลักษณะ เพื่อที่จะได้มีความมั่นคงในสัจจญาณที่จะรู้ว่าไม่มีเรา ทั้งหมดเพื่อถึงความจริงที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเข้าใจก็คือความไม่ประมาท แต่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นชื่อที่จะไปอ้างว่าอยู่ในสูตรนั้นมีความหมายประการใดๆ แต่ว่าเป็นทุกขณะนี้ที่เป็นกุศลจิตเกิด ตรงกันข้ามกับประมาท สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ และจะต้องค่อยๆ เข้าถึงความเป็นธรรม เพราะว่าเรามักจะลืม ฟังไม่เท่าไรก็ลืม เดี๋ยวก็มาเป็นเราที่อยากจะทำอย่างนั้น ที่อยากจะทำอย่างนี้ ลืมว่าธรรมเป็นธรรม ไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่สามารถที่จะอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ มิฉะนั้นก็จะเป็นแต่เพียงชื่อกับเรื่องราวเท่านั้นเอง

    ชาติก่อนเหมือนฝันไหม มีชาติก่อนหรือไม่ มี เหมือนฝันไหม ฝันไปต่างๆ นาๆ ที่ได้ทำในแต่ละวัน ชาตินี้จะเหมือนฝันไหมเมื่อถึงชาติหน้า

    ผู้ฟัง คงเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ตื่น จะไม่เข้าใจความหมายเลยว่า ตื่น คือรู้ความจริง ทั้งๆ ที่แต่ละชาติก็ผ่านไป ทั้งจิต และเจตสิกก็เกิดดับกลับมาไม่ได้อีกเลย เหมือนสิ่งที่มีในฝันก็ไม่ได้มีจริงเมื่อตื่นขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อชาติก่อนเหมือนฝัน เพราะเวลานี้ใครไปคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วในชาติก่อนได้บ้าง แม้แต่ความฝันก็จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะฉะนั้นชาตินี้ก็จะเป็นฝัน เมื่อถึงชาติหน้าต่อไป แต่เราก็สุขทุกข์ในความฝัน ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องราวต่างๆ ก็หมดไปทุกขณะเหมือนชาติก่อน เกิดมาสุขทุกข์สนุกสนานเป็นใคร ถ้าอ่านประวัติของพระสาวกทั้งหลายก็จะเห็นได้ว่าแต่ละชาติที่ท่านสะสมกุศลอกุศลทั้งหลายจนกว่าจะได้ดับหมดเป็นสมุทเฉท ไม่ได้เป็นเวลาที่เล็กน้อยหรือสั้นๆ แต่ต้องเป็นขณะที่มีความเข้าใจจริงในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าจะกล่าวชื่อในขณะที่มีความเข้าใจเป็นจิตที่ดีหรือเป็นจิตที่ไม่ดี ดี เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวชื่อในขณะที่กำลังเข้าใจ ขณะนี้ที่แต่ละคนฟังแล้วเข้าใจ มุ่งหมายถึงความเข้าใจ ความเข้าใจดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ดี

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลไหม

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นเราหรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เข้าใจ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถูกต้องไหม ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “มหากุศล” เพราะเหตุว่าหลากหลาย ถ้าใช้คำว่า “มหา” ก็เป็นไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ระดับต่างๆ มีอธิบดี มีฉันทะหรือมีวิริยะก็แล้วแต่ เป็นความละเอียด ให้ทราบ ไม่ใช่ให้จำชื่อ แต่ให้รู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังฟังเข้าใจ เป็นสภาพของจิตที่ดีเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ถ้ากล่าวเป็นภาษาบาลี “มหากุศลญาณสัมปยุตต์” คือ ๒ ภาษานั่นเอง แต่ว่าตัวจริงๆ แล้วก็คือขณะใดก็ตามที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นกุศลที่ดีงามที่ประกอบด้วยปัญญาในขณะที่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง โสมนัสหรือไม่ โสมนัสก็มี ไม่โสมก็มี ใช่ไหม คนที่ตอบว่าโสมนัส บุคคลนั้นก็มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จะเรียกภาษาอะไรก็ได้ จะไม่เป็นภาษาบาลีก็ได้ แต่ถ้าไปจำชื่อ เป็น โสมนัสมหคตังต์ญาณสัมปยุตตังก็ต้องไปนั่งจำชื่อ ตามที่คุณเด่นพงษ์บอกว่าก็เขียนเป็นวงหนึ่งประเภทนี่คือหนึ่งวงว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แต่ไม่ใช่ตัวจริงเป็นเพียงสิ่งที่มีอยู่ในกระดาษ แต่ถ้าเป็นตัวจริงคือขณะนี้ เริ่มที่จะความรู้ว่าจิตนี่หลากหลายต่างกัน บางขณะที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี บางขณะที่เป็นอกุศลก็มี บางขณะที่เป็นกุศลก็มี และบางขณะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ทั้งหมดไม่ใช่เรา เป็นธรรมซึ่งเป็นจิตที่เกิดร่วมกับเจตสิกนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่แห้ง เพราะเหตุว่ากำลังมีในขณะนี้ และสามารถที่จะเริ่มมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ต้องไปถามใคร ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องจิตประเภทต่างๆ เราจะรู้ได้ว่าจิตบุคคลอื่นก็เหมือนกัน มีใครบ้างที่ไม่มีโลภะ มีใครบ้างที่ไม่มีโทสะ แต่จะรู้ไหมว่ามีโมหะ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่คุ้นหูก็คือโลภะ โทสะ และบางคนก็อาจจะเพิ่มได้ยินได้ฟังว่าโลภะ โทสะ โมหะ แต่แม้แต่คำว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ไม่ค่อยจะได้ยิน เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภาษาไทย แต่ว่าถ้ารู้ว่าจริงๆ แล้วเจตสิกฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี ในบรรดาเจตสิกที่ไม่ดีทั้งหมด โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุหรือเป็นมูลซึ่งจะทำให้อกุศลนั้นๆ เกิดขึ้น เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เมื่อมีโลภะเกิดขึ้น มีความสำคัญตนไหม มีความเห็นผิดที่ยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่เหตุผล แต่เข้าใจว่าเป็นเหตุผลไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตจริงๆ ก็คือธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดนั่นเอง เพียงแต่ว่าเมื่อฟังแล้วขอให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงขณะนี้ จะได้ไม่ลืมว่าเป็นธรรม ถ้าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในกระดาษนี่ลืมแน่ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมขณะนี้ก็มีการรู้ได้ ระลึกได้ว่าขณะนี้ อะไรกำลังเป็นธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของอกุศลเหตุ กับ กุศลเหตุ ก็มีความละเอียดที่ว่า อกุศลเหตุมี ๓ ใช้คำว่า “มูล” ก็ได้ ได้แก่โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เกิดเมื่อไรเป็นอกุศลเท่านั้น เป็นอื่นไม่ได้ แต่สำหรับเจตสิกที่ดีงามที่เป็นมูลเป็นเหตุให้มีการเจริญงอกงามเจริญขึ้นทางฝ่ายกุศล ก็มีอโลภะตรงข้ามกับโลภะความติดข้อง คือ ความไม่ติดข้อง อโทสะ ความไม่โกรธ และอโมหะซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิก ความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอีกระดับหนึ่ง หลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้วต้องถึงการประจักษ์แจ้งด้วย เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้สมบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งขั้นฟังเข้าใจ ขั้นที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม และขั้นแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ใช่เพียงทรงแสดงไว้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ว่าไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้ง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจนกว่าเมื่อไรประจักษ์แจ้งก็จะได้รู้ถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.วิชัย ขณะที่ฟังพระธรรมในส่วนของพระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม โดยส่วนตัว ถ้าเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะซาบซึ้งในพระปัญญาคุณที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ถ้าไม่มีพระธรรมก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเลยตั้งแต่เกิดจนถึงตายไป ถ้าไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมก็จะไม่มีความเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงๆ เป็นอย่างไร พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมโดยละเอียดให้บุคคลที่ฟังสามารถเข้าใจได้ตามปัญญาของแต่ละบุคคล ฉะนั้นถ้าฟังแล้วเกิดความเบื่อหน่ายก็พิจารณาดูว่าไม่ใช่กุศลจิตแน่นอน ดังนั้นไม่มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง อาจจะเป็นเรื่องราวมากมาย แต่ขณะที่มีความเข้าใจจริงๆ และก็เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็จะมีความเข้าใจ และก็เป็นกุศลจิตที่เจริญขึ้น บางครั้งก็จะมีปิติที่ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ได้ยิน จิต เจตสิกเป็นสภาพธรรม และจิตไม่ใช่เจตสิก แต่เมื่อใดที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เห็นพระคุณไหม ถ้าจะเห็นพระคุณเห็นได้เลย ใครจะแสดงเรื่องของจิตว่าเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้ซึ่งมีปัจจัยเกิด และต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกัน เจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตหรือไม่ เป็น จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดหรือไม่ ต่างอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย แยกกันไม่ได้ โดยศัพท์ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “สัมปยุตตปัจจัย” ไม่แยกกัน ขณะใดที่จิตใดเกิด และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นเกิดกับจิต และดับพร้อมจิตขณะนั้น และรู้อารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด ทั้งจิต และเจตสิกก็เกิดดับที่รูปนั้นด้วย นี่คือการเข้าใจธรรมซึ่งมีจริงๆ ระลึกถึงพระคุณหรือไม่ ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ แม้ในขั้นฟังเรื่องของจิต และเจตสิก เพียง ๒ คำนี้สามารถที่จะเห็นพระกรุณาคุณได้ และเห็นพระปัญญาคุณด้วยว่าใครสามารถที่จะแทงตลอด รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เพียงแค่ขณะที่เห็น ใครจะรู้ว่าเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท และเวลาที่อกุศลจิตเกิดก็มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับ ๗ ประเภทนั้นด้วย และถ้าเป็นโสภณจิตที่ดีงามก็ยิ่งมีเจตสิกที่มากกว่านั้นอีกเกิดร่วมด้วยตามประเภทของจิตนั้นๆ ถ้าได้ฟังแล้วเข้าใจอย่างนี้ เห็นพระปัญญาคุณ และก็ระลึกถึงพระคุณได้

    ผู้ฟัง ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิชัย คือ เมื่อเช้านี้ผมสังเกตดูสภาพจิตของผมตอนที่กำลังพูดถึงจิตประกอบอันนั้นอันนี้ อันนั้นกับตัวนี้ๆ กับตัวนั้น เหมือนกับพริกแกงใส่อันนี้ สภาพจิตผมเริ่มหงุดหงิด ฟังแล้วก็เป็นจิตอกุศลขึ้นมา แต่พอได้รับคำอธิบายชี้แจงให้ชุ่มขึ้น ทำให้จิตชุ่มขึ้น นี่ไม่ได้หมายความว่าท่านวิทยากรอื่นๆ ไม่เอาไหน คือหมายความว่าผมไม่เอาไหนเอง คือทุกอย่างต้องมีเจตนาดีแต่ว่าเรารับไม่ได้ ไม่ใช่รับไม่ได้ คือ ยังเข้าไม่ถึง ผมไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เข้าใจจิต คำอธิบายของผม ความรู้สึกหงุดหงิดกับไม่หงุดหงิด เห็นชัดในตัวผมเองเลย

    ท่านอาจารย์ แสดงถึงความหลากหลายของจิต เห็นไหม ตามความเป็นจริง แสดงถึงการบังคับบัญชาไม่ได้ คุณเด่นพงษ์ก็ไม่อยากที่จะให้หงุดหงิดแต่ก็หงุดหงิด ถึงไม่หงุดหงิดขณะที่ฟังธรรม คิดถึงเรื่องอื่นแล้วหงุดหงิดในขณะที่กำลังอยู่ที่นี่ก็ได้ แม้ว่าจะไม่ฟังธรรม แต่ไปหงุดหงิดเรื่องอื่นที่บ้าน หงุดหงิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็แสดงถึงความหลากหลายของจิตซึ่งต่างกันไปมาก และความต่างก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    ผู้ฟัง คำพูดที่พูดว่า “ชื่นชมโสมนัส” หรือว่า “ขณะที่แห้ง” ถ้าไม่คิดถึงคำพูดอย่างนั้น ลักษณะของสภาพธรรมก็มีจริง และผู้ที่รู้สึกอย่างนั้นก็มีลักษณะสภาพธรรมอย่างนั้นมีจริง สมควรที่จะใส่ใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีชื่ออย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องกังวลเรื่องชื่อหรือไม่มีชื่อ แต่ก็ควรจะคิดว่ามีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่จะทำให้ไม่ต้องไปท่อง และก็จะไม่ลืมด้วย หงุดหงิดมีจริงไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567