พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225


    ตอนที่ ๒๒๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้หลบเลี่ยง ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น หรือไม่ใช่ให้ไม่รู้ต่อไปในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ให้รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม มีลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง และสติสัมปชัญญะก็เป็นปกติ เมื่อเกิดจึงรู้ว่าขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะนั้นแม้เพียงชั่วเล็กน้อยเพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แต่ก็เข้าใจความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ทั้งๆ ที่กำลังมีลักษณะที่แข็งปรากฏก็จะต่างกันคือแข็งปรากฏก็ยังคงเป็นแข็ง เป็นกายวิญญาณที่รู้แข็งไปเรื่อยๆ หรือว่าเมื่อแข็งปรากฏแล้วมีสติเกิดรู้ตรงนั้นนี่คือความต่างกัน

    ผู้ฟัง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ไม่ปรากฏเลย ท่านอาจารย์จะช่วยกรุณาแนะนำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ที่จริงต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ฟังให้เข้าใจ สิ่งนี้สำคัญที่สุด จริงอยู่กุศลดีกว่าอกุศล ทุกคนเห็นประโยชน์ของกุศลแต่บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนฟังให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น และเมื่อขณะใดที่เข้าใจขณะนั้นก็ละความไม่รู้ การที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา ก็ค่อยๆ รู้ลักษณะๆ ซึ่งลักษณะที่แท้จริงไม่ใช่เรา ลองคิดดู เพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นใคร เป็นเราหรือเป็นอะไร ในเมื่อเพียงปรากฏ นี่แสดงให้เห็นความห่างไกลของความรู้กับความไม่รู้ซึ่งก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฟังแล้วให้ไปทำอะไรทั้งสิ้น ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังอีก ปัญญาก็เข้าใจอีก ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าคิดที่จะไปทำอย่างอื่น หลังจากที่ฟังแล้วก็คือว่าไม่ได้มีความมั่นคงในความเห็นว่าสภาพธรรมเป็นอนัตตา มีตัวตนแทรกเข้ามาอีกไหม แล้วจะทำอย่างไรให้รู้จริงๆ ว่าเป็นอนัตตาก็คือฟังอย่างไรก็มีความเป็นเราที่จะทำให้รู้จริงๆ ว่าเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ว่าเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา แล้วก็ขณะนั้นอะไรจะเกิดก็เพราะอนัตตา ไม่ใช่มีเราไปจัดการอยากจะให้เป็นอย่างนั้นหรือให้เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญญาไม่สามารถจะเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะมีตัวเรากำลังพยายามทำ ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลที่เราจะรู้ว่ามีหลายประเภทหลายระดับต่างๆ ก็จริงอยู่ แต่ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล นี่คือขณะที่กำลังฟังเข้าใจนี้ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และถ้ามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ก็ไม่หวั่นไหวเพราะรู้ว่าอกุศลต้องเกิดแน่นอน มีใครที่ไม่มีอกุศลเกิดแต่เพราะความไม่มั่นคง พออกุศลเกิดก็เดือดร้อน จะทำอย่างอื่น จะบังคับบ้างหรืออะไรบ้าง แต่ว่าความเป็นจริงขณะนั้นแสดงความเป็นอนัตตาให้เห็นไม่ใช่เพียงขั้นฟัง และก็จำว่าเป็นอนัตตา แต่ไม่ว่าเป็นสภาพธรรมใดปรากฏทั้งหมดนั่นคือกำลังแสดงความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ปัญญาสามารถที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นสติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง เป็นความละเอียดของสภาพธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าปรากฏสืบเนื่องอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวว่าจงใจหรือตั้งใจที่จะอย่างนั้นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ หลีกเลี่ยงอะไร หลีกเลี่ยงความจริง แต่ความจริงคือกำลังหลีกเลี่ยงซึ่งไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ตอนแรกก็คิดว่ากระผมเป็นคนดีมากพอสมควรเพราะว่าในขณะนี้ที่จะว่ากล่าวคนอื่นตรงๆ ก็น้อยลง แต่ในใจก็ยังมีลักษณะของสภาพธรรมที่ขุ่นมัว ที่ขุ่นข้อง ไม่พอใจ ลักษณะนี้ห้ามไม่ได้เพราะเขาเกิด เขาปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีใครบอกให้คุณประทีปห้ามหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเลิกคิดที่จะห้าม แต่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตาด้วย นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจไปทุกชาติให้มั่นคงขึ้น มิฉะนั้นก็จะมีเราที่จะออกนอกทางคือไปทำด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแนะนำเมื่อเวลาทางวาจาไม่ออกมาเป็นอกุศล แต่สภาพจิตนั้นเป็นอกุศล จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แนะนำแล้วทำได้หรือไม่

    ผู้ฟัง คงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สามารถเข้าใจได้ใช่ไหมว่าหนทางเดียวคือต้องเข้าใจขึ้นนั่นคือหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของเราซึ่งไปปิดกั้นปัญญาอีกแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้เพราะว่าเราไปปิดกั้นความพยายามด้วยความเป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีความพอใจด้วยในการที่เราทำได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ปิดกั้นการที่จะเห็นว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย กำลังสะสมอยู่ใช่ไหม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการที่ไม่เคยเข้าใจเลย

    ผู้ฟัง เมื่อกล่าวว่าทุกสิ่งเป็นธรรม แต่ลักษณะที่ปรากฏขึ้นมาก็เป็นความรู้สึกซึ่งเราพอใจหรือไม่พอใจ เราก็จะคิดนึกต่อไปว่าถ้าพอใจเราก็คิดนึกว่าสิ่งนั้นคือโลภะ นี่คือสิ่งที่เกิดจากการตรึกนึกคิดในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณสุกัญญาเห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียกอะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ ใช่ไหม ขณะนี้สามารถที่จะบอกได้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอนเพราะเห็น ไม่ต้องไปเรียกชื่อใช่ไหม ถ้าเรียกเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าเรียกก็เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมแล้วจะบอกว่าไม่มีจิต วันหนึ่งๆ จิตไม่ได้ปรากฏ มีแต่ไม่รู้ และก็รู้จักแต่ชื่อว่าธาตุรู้ที่กำลังเห็นเรียกว่าจิต เป็นจิต ใช้คำว่าเป็นจิตด้วย ไม่ได้เป็นเจตสิกด้วย แต่ว่าไม่ได้รู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นจิตทั้งๆ ที่เห็น เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดเสียใจ รู้ลักษณะที่เสียใจ เหมือนกับรู้ว่าเห็น ใช่ไหม แต่เรียกชื่อว่าเจตสิก และก็เรียกชื่อว่าเวทนาเจตสิก แต่สามารถที่จะรู้ในความเป็นธาตุที่เป็นเวทนาในความที่เป็นธรรมที่เป็นเวทนา หรือเพียงแต่ว่าเมื่อความรู้สึกเกิดขึ้น บอกให้เราเรียกชื่อเราก็เรียกถูกเท่านั้นเองว่านี่เป็นเวทนาเจตสิกเหมือนกับขณะนี้กำลังเห็น บอกให้เรียกชื่อก็เรียกถูกว่าเรียกว่าจิต แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงของภาวะที่ไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมๆ มีแน่นอน มีจริงๆ เกิดพร้อมกับขณะแรกของชาตินี้คือปฏิสนธิเกิดขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป จนถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ว่าฟังให้เข้าใจว่าเป็นธรรม แล้วที่กล่าวว่าเพื่อให้ไม่ลืมว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าฟังว่าเป็นธรรมแต่ลืม ขณะที่เห็นไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้ภาษาบาลี ไม่ลืมว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแน่ๆ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมนั้นเป็นอะไร สภาพที่ไม่ลืมนั่นเป็นอะไร สภาพที่ไม่ลืมว่าเป็นธรรม มี สภาพนั้นมีชื่อภาษาบาลีเพราะต้องใช้ชื่อ ถ้าไม่ใช้ชื่อจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายความถึงขณะไหน อย่างไร เช่น ใช้คำว่า “จิต” กับ “ เจตสิก” หรือ “เวทนาเจตสิก” ก็แสดงให้รู้ถึงลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม สภาพนั้นมีจริงๆ ภาษาบาลีใช้คำว่าอะไร

    ผู้ฟัง สัญญาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ สัญญาจำทุกขณะ แม้ขณะที่กำลังหลงลืมก็มีสัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง อวิชชาความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อวิชชาไม่รู้อะไรเลย และอวิชชาเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง แต่ว่าลักษณะของเห็นอย่างนี้ เมื่อเห็นก็มีความเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดที่ปัญญาไม่ได้รู้จริง เข้าใจถูกต้อง ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังมีความเป็นตัวตน นี่เพียงฟัง

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่อาจารย์ถามขอตอบว่าเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูกต้อง ขณะที่ไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ขอตอบอีกครั้งว่าเป็นสติ

    ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะที่เราใช้คำว่า “สติ” เป็นสภาพที่ระลึกได้ไม่หลงลืมหรือไม่ลืม แต่ต้องเป็นไปในทางฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นแต่ละคนได้ยินชื่อธรรม แต่ว่าชื่อนี้แปลอย่างนี้ แล้วลักษณะจริงๆ คืออย่างไร แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะนั้นก็ต้องเป็นแต่เพียงการจำ แต่เกิดจำขึ้นมา ขณะนั้นยากที่จะรู้ได้ว่าจำด้วยจิตอะไร ใช่ไหม เพราะว่าการจำของเราทุกคน จำชื่อนี่แน่นอน ปลาทูจำได้ไหม ก็จำได้ คราวนี้พอเกิดนึกอะไรขึ้นมาที่เคยจำไว้ ก็จำได้ถึงคำนั้น แต่ว่าความเข้าใจ และสภาพของจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัตตังเป็นความรู้เฉพาะตนจริงๆ ใครจะไปบอกคนอื่นว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตจะถูกหรือจะผิดในเมื่อไม่ใช่จิตของตนเอง และจิตของคนอื่นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเป็นวิตกก็ได้ เป็นสติก็ได้ เป็นสัญญาที่จำก็ได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความรู้ความเข้าใจที่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมขั้นไหน เพราะว่าถ้ามาฟังเพียงครั้งแรกก็อาจจะจำเพียงชื่อ กว่าจะพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ด้วยเหตุนี้ก็ต้องแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ในวันหนึ่งๆ ที่เราคิดว่าเรารู้แล้วเข้าใจสภาพจิตที่เกิดกับตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเราที่จำ เป็นเราที่คิด เป็นเราที่รู้

    ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพนั้นๆ ก็มีจริง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้หมดความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มีกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ธรรมทั้งหมดเป็นชื่อ ซึ่งเราจะเริ่มค่อยๆ คุ้นหู แต่ความเข้าใจลักษณะนั้นลึกซึ้งถูกต้องระดับไหน หรือเพียงแต่จำชื่อ จำคำแปล จำความหมาย แล้วก็นึกถึงชื่อเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เช่น ขณะนี้ที่กำลังฟัง เป็นกุศลหรืออกุศล เห็นไหม ตอบโดยชื่อก็ตอบได้ แต่ถ้าตอบจริงๆ ถึงขณะจิต เกิดแล้วดับแล้ว ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรม กุศลก็ยังเป็นเรา อกุศลก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนตั้งแต่ขั้นฟัง จนกระทั่งขั้นค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้ที่ไม่รู้ก็เหมือนกับไก่ที่ยังไม่ได้ออกมานอกเปลือก มีตัวไก่เล็กๆ อยู่ในเปลือกไข่ และก็ยังไม่ได้ออกมานอกเปลือกไข่” ใครเป็นบุคคลแรกที่ออกมา

    อ.ธิดารัตน์ มีแสดงอุปมาไว้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุปมาว่าเหมือนกับลูกไก่ตัวพี่หรือลูกไก่ตัวที่สามารถเจาะเปลือกไข่ออกมาได้ก่อน ซึ่งเปลือกไข่อุปมาเหมือนกับตัณหา และอวิชชาที่หุ้มห่อไข่เอาไว้ ส่วนการฟักให้ไข่นั้นค่อยๆ ที่จะเป็นตัว และก็ตัวลูกไก่นั้นเมื่อได้การอบรมจากธรรมก็ค่อยๆ แข็งแรงขึ้น จงอยปากก็เหมือนกับปัญญาที่มีกำลังที่จะเจาะแทงตัณหา และอวิชชาออกมาจากเปลือกไข่ได้

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วซาบซึ้งหรือยัง จะซาบซึ้งยิ่งขึ้นถ้าได้เข้าใจว่าทำไมแม้แต่เพียงไข่ แค่ไข่ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอุปมาให้เห็นความจริง ไข่ถ้าเป็นคนอื่นก็กระเทาะ และก็ออกมาได้ง่ายมาก แต่ตัวไก่ที่อยู่ในไข่ที่กว่าจะออกมาได้ด้วยตัวเองลำบากหรือยากสักแค่ไหน แล้วเวลาที่ทรงอุปมาเหมือนกับไข่ก็ใบเล็กๆ แล้วสิ่งที่อยู่ในไข่ก็ต้องเริ่มจากมองไม่เห็น กว่าจะเป็นตัว กว่าจะแข็งแรง เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อวิชชากับโลภะมากมายแค่ไหน ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่เฉพาะเพียง ๔ อสงไขยแสนกัปป์หลังจากที่ได้รับพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ก่อนนั้นก็มีการเกิดดับของจิตซึ่งสืบต่อจนกว่าจะถึงการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราอยู่ที่ไหน ก็ต้องอยู่ด้วย มีด้วย ไม่ได้หายไปไหนเลย แต่ไม่ได้อบรมปัญญาที่จะทำให้สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ดูเป็นของธรรมดา แต่ต้องเป็นปัญญาระดับไหนที่สามารถจะแทงตลอดรู้ความจริง เข้าใจคำที่ใช้คำว่า "ภาวะที่เห็น" สภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่สามารถจะเป็นอย่างอื่นไปได้เลยชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไปสืบต่อตั้งแต่ ณ กาลครั้งไหนจนถึง ณ บัดนี้ เพราะว่าอดีตเป็นสิ่งซึ่งแม้จะทรงระลึกชาติในยามแรกของคืนที่จะตรัสรู้ก็ไม่มีการจบสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า กว่าจะได้รู้ความจริงของสภาพธรรมต้องเป็นความเห็นที่ถูกต้องตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ และอบรมที่จะรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริงนี้นั่นเองที่ลึกซึ้งที่เป็นความจริง ปัญญาที่อบรมมาแล้วเท่านั้นจึงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็มีผู้ที่ได้ฟังอย่างนี้แล้วก็กล่าวว่านี่เป็นวิริยารัมภกถาใช่หรือไม่ เพราะว่าถ้ากล่าวถึงอย่างนี้ ผู้ที่เห็นความจริงแล้วจะมีความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงเหมือนไฟไหม้บนศรีษะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรวดเร็ว แต่หมายความว่ายังมีความรู้สึกว่ายังมีความไม่รู้มากมายแค่ไหน แล้วกว่าจะรู้จริงๆ ต้องอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าแต่ละคนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกกี่วัน หรืออีกกี่ขณะจิต ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แต่สิ่งที่ได้จากการเกิดมาเป็นบุคคลนี้ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้มีทั้งทุกข์ สนุกสนาน รื่นเริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เหลือเลย ถ้าประจักษ์จริงๆ ว่าเพียงเกิดแล้วก็ดับไป จะไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ก็ออกจากสังสารวัฏคือพ้นจากการเกิดดับไม่ได้ จะต้องอาศัยปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูกอย่างเดียวที่กว่าจะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะสามารถที่จะไม่ให้มีการเกิดดับซึ่งเป็นทุกข์ได้ แต่ว่าถ้ายังไม่มีปัญญาก็ต้องฟัง แม้แต่บางคนก็ยังไม่อยากจะไม่เกิด เพราะเหตุว่าเป็นความจริงที่ว่าถ้ายังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น ก็ต้องมีความติดข้องในสิ่งนั้น ที่จะให้พ้นความติดข้องเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ก็อบรมได้เจริญได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะให้มีความเพียร ให้มีวิริยะ ไม่ใช่ให้ท้อถอย แต่ว่าไม่ใช่เราเลย ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นธรรมที่ไม่ว่าขณะไหนก็คือเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ไม่ว่าจะเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็คือธรรมทั้งหมด

    อ.ธิดารัตน์ พูดถึงเรื่องของลูกไก่ ก็ทำให้เวลาที่ถูกอวิชชา และตัณหาครอบงำก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าเวลาที่ลูกไก่อยู่ในฟองไข่ไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้มีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไก่ที่จะมีโอกาสออกจากเปลือกไข่ได้ในชาติไหน คงอีกยาวไกลมาก

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด ธรรมลึกซึ้ง ไม่เห็นผิดว่าไม่ลึกซึ้ง ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ต้องมีความเห็นถูกต้องโดยการฟังว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ค่อยๆ สะสมความเห็นถูกเป็นสัจจญาณ เรื่องที่จะหวังว่าเมื่อไรจะประจักษ์การเกิดดับ เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อไรจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นการคิดหวังคร่ำครวญโดยไร้เหตุ ถ้าไม่มีความเข้าใจ ไม่มีการฟัง จะกล่าวเพื่อเหตุใด กี่ร้อยกี่พันครั้งกี่แสนชาติก็คือเป็นแต่เพียงความคิดความหวัง โดยไม่มีเหตุที่สมควรที่จะให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม และมีศรัทธา เราก็ไม่ทราบว่าชาติหน้าจะเกิดที่ไหนสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล จากคนที่สวยงามก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นหนอนเป็นอะไรก็ได้หมด จากทรัพย์สมบัติที่มีมากก็จะเป็นคนที่ขัดสนก็ได้ ทุกอย่างในชีวิตก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครชนะวิบาก ถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลเมื่อไรก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลนั้นเกิดขึ้นโดยที่คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นการแสดงยืนยันถึงความจริงของธรรมว่าเป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ได้ฟังพระธรรม มีการพิจารณา และก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแค่ไหน กำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็เป็นผู้ที่รู้ดี เป็นผู้ที่ตรงที่จะต้องสะสมว่าขณะไหนที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ใช่การรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งรู้ความต่างของขณะที่สติเกิด และขณะที่หลงลืมสติ

    อ.วิชัย สำหรับธรรมที่พระผู้ทีพระภาคทรงแสดงก็จำแนกจิตโดยชาติต่างๆ หรือแม้ธรรมที่เกิดร่วมด้วยก็โดยชาติต่างๆ ถ้าเราพิจารณาว่ากลุ่มธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิตหรือเจตสิกก็จะมีกลุ่มของเขาอยู่ ซึ่งโดยตามความเป็นจริงก็คือเป็นอย่างนั้น เช่น บางประเภทก็สามารถเป็นได้ทั้ง ๔ ชาติ หรือบางประเภทก็เป็นได้แค่ชาติเดียว หรือบางประเภทก็เป็นได้แค่ ๓ ชาติ เช่น ถ้าเราพิจารณาถึงจิต ยกตัวอย่างสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หรือเจตสิกที่ประกอบกับจิตทุกประเภท คือไม่ว่าจิตประเภทไหนเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกอย่างน้อย ๗ ประเภทที่เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เช่น ผัสสเจตสิก โดยสภาพก็คือกระทบอารมณ์ ดังนั้น เมื่อจิตเกิดก็ต้องมีผัสสเจตสิกที่กระทบอารมณ์ และโดยกิจก็คือประสานจิตกับอารมณ์ ฉะนั้นไม่ว่าจิตเกิดขึ้นเป็นชาติใดก็ตาม ก็ต้องมีผัสสเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีผัสสเจตสิก จิตหรือเจตสิกประเภทต่างๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะเหตุว่าไม่มีผัสสเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ที่กำลังรู้ในขณะนั้น ฉะนั้นเมื่อผัสสเจตสิกเกิดก็สามารถเกิดกับจิตทุกประเภท ก็คือเกิดได้ทั้ง ๔ ชาติ คือ เป็นทั้ง ๔ ชาติ ส่วนจิต เจตสิกบางประเภท เช่น อกุศลเจตสิกคือมีชาติเดียว เกิดขึ้นก็ต้องเป็นชาติอกุศลประเภทเดียวเท่านั้น เช่น โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ซึ่งสภาพเหล่านี้จะเกิดเป็นวิบากก็ไม่ได้ จะเกิดเป็นกิริยาหรือกุศลใดๆ ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องเป็นชาติเดียวคือเป็นอกุศล ส่วนเจตสิกบางประเภท เช่น สติเจตสิกเป็นสภาพที่ระลึกได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567