พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228


    ตอนที่ ๒๒๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้ อย่าไปคิดถึงกับว่าเกิดไม่ได้ ยากมากหรืออะไรอย่างนั้น เป็นของธรรมดา มีอยู่ทุกขณะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นปัญญาถึงระดับไหน ปัญญากำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ และกำลังพิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เป็นความทรงจำในเรื่องว่าขณะนี้ไม่มีเราเลย แต่มีธรรมเท่านั้น ทั้งหมดซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือขั้นต้นที่ได้ฟัง แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์เลย เพราะฉะนั้น สติขั้นนั้นเป็นสติที่เกิดพร้อมกุศลจิตในขั้นของการฟัง แล้วก็มีปัญญาที่เข้าใจในขณะนั้น แต่จะรู้ได้ ว่าแข็งขณะนี้เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเมื่อไร ถ้าสติไม่รู้ตรงแข็ง แม้ว่ากายวิญญาณกำลังรู้ตรงลักษณะที่แข็ง แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดต่อ ไม่ใช่เป็นการรู้เรื่อง คิดเรื่องอะไรต่อ แต่เมื่อแข็งปรากฏสติสัมปชัญญะกำลังรู้ตรงแข็งนั้น ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่าสติกำลังรู้ตรงลักษณะที่แข็งเหมือนกันเลย แข็งยังคงเป็นแข็งอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เวลาสติไม่เกิดก็ผ่านไป เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ตรงแข็งเท่านั้นเอง นั่นคือหน้าที่ของสติ และก็ไม่ใช่เราพยายามรู้ตรงแข็งนั่นคือผิด แต่ว่าถ้าฟังแล้วถึงเวลาที่สติสัมปชัญญะจะเกิดก็มีการรู้ตรงนั้น จากขั้นที่ฟังเข้าใจแล้วเริ่มรู้ลักษณะ ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เราจะอยู่ที่ไหน ในเมื่อปัญญาเห็นว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น ค่อยๆ คลายความเป็นเราจากสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงคือรู้สิ่งที่ปรากฏ การที่จะคลายความไม่รู้ก็คือคลายจากความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เวลาที่สิ่งนั้นไม่ปรากฏแล้วก็นึกเป็นเรื่องเป็นราว

    ผู้ฟัง เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจว่าตรงนั้นเป็นลักษณะที่สติกำลังระลึก แต่พอหลังจากนั้นก็เป็นอกุศลติดตามมา ถ้าเวลาที่สติเกิดแล้ว ก็คือมีแต่ลักษณะตรงนั้นเท่านั้นเองที่ปรากฏ ให้คิดว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิด เพราะกำลังมีลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ ถ้าขณะนี้แข็งปรากฏ และก็เกิดการรู้ตรงแข็ง ลักษณะของสติที่กำลังรู้ตรงแข็งฉันใด ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ลักษณะของสติก็คือรู้ตรงสภาพที่กำลังเห็น แต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง ได้ฟังว่า เวลาที่สติเกิดบ่อยๆ แล้วก็จะเริ่มรู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คิดเปรียบเทียบว่าต่างกันหรือไม่ คงจะหมายความว่าสติเกิดแล้วรู้ว่าเป็นลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยสังเกตว่าเกิดแล้วก็ดีใจ

    ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างเรื่องแข็ง เวลาที่กายวิญญาณรู้ลักษณะของแข็ง ก็รู้ธรรมดา แต่เวลาที่กำลังมีสติตรงแข็งก็รู้ด้วยว่าขณะนั้นรู้ตรงนั้น มีลักษณะนั้นให้รู้ ต่างกับขณะที่สติไม่เกิด ธรรมดามาก เล็กน้อยมาก แต่ก็เป็นความต่างกันของขณะที่สติไม่ได้รู้ตรงแข็ง เพียงแข็งกับกำลังที่สติรู้ตรงแข็ง ต้องเหมือนปกติทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานเกิดต้องรู้แค่ลักษณะอย่างเดียว หรือจะต้องมีความเป็นอนัตตาปรากฏขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นอนัตตา เปลี่ยนแข็งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ลักษณะนั้นกำลังปรากฏ ตัวลักษณะนั้นเป็นอนัตตา แม้สติก็เกิดเพราะความเป็นอนัตตา ลักษณะที่แข็งก็เป็นอนัตตา แล้วจะต้องบอกไหมว่าเป็นอนัตตา แต่เป็นความค่อยๆ เข้าใจ เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือความเห็นถูกในลักษณะนั้น แต่โดยมากเราคุ้นเคยกับความคิด เดี๋ยวก็คิดแล้ว กำลังแข็งนี้ก็คิดใช่ไหม เพราะแข็งกำลังปรากฏเป็นสภาพของรูปธรรม ขณะที่คิดนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ทั่วในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่เคยไม่รู้ เพราะฉะนั้นไปบังคับทำไมในเมื่อถ้าบังคับก็คงไม่รู้ แต่เมื่อมีสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วค่อยๆ รู้ จึงจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้แต่สติก็เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ในขณะที่ศึกษาปริเฉท ๑,๒, ๓ นั้นมีแต่หัวข้อ มีเรื่องราว ก็เป็นลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ผู้ฟังๆ เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะโดยวิธีไหนก็แล้วแต่ จะอ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา อภิธัมมัตถสังคหะ หรืออะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นเพียงหนึ่งลักษณะ และหนึ่งลักษณะนั้นก็ไม่มีชื่อ ไม่มีเรื่องราว มีแต่ลักษณะที่ปรากฏได้เฉพาะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น ความเข้าใจในขั้นการฟังถูกต้องตามความเป็นจริง ควรเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าไม่ถูกต้อง ก็เป็นปัญญาของผู้ที่ฟังเองที่จะต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกกับสภาพธรรม ลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะมีการสนทนาธรรม หรือ การสนทนาในเรื่องปริเฉทต่างๆ เป็นหัวข้อต่างๆ ก็ควรเข้าใจอย่างนั้น เพราะว่าการศึกษาในลักษณะของปัจจัย ๒๔ แต่ลักษณะนั้นไม่ปรากฏของปัจจัย ๒๔ เลย

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏจะปราศจากสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ต้องรู้สิ่งที่จิตกำลังรู้ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ที่จิตกำลังรู้เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้สภาพที่เป็นอารมณ์นั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมณปัจจัย นี่ก็รู้แล้วแต่ไม่ได้บอกชื่อเท่านั้น แล้วก็ต้องมีความเข้าใจด้วยว่าการศึกษาแม้เรื่องของปัจจัยก็ไม่ใช่ไปจำชื่อ แต่รู้ว่าขณะนี้มีสภาพรู้ และสภาพรู้ขณะนี้กำลังรู้อะไร กำลังเห็น มีอะไรเป็นอารมณ์ของจิตเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เมื่อเป็นอารมณ์ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปทำให้จิตได้ยิน หรือจิตได้กลิ่นเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาที่สามารถกระทบจักขุปสาท และจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่เห็นสิ่งอื่น สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นอารัมณปัจจัยของจิตเห็น นี่ก็นหนึ่งปัจจัยแล้ว และจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกันแยกกันไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพของนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกันด้วย เป็นปัจจัยโดยเป็นสัมปยุตตปัจจัยหมายความว่าแยกกันไม่ได้เลย การที่จิตเกิด เจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยของเจตสิก แยกกันไม่ได้ และขณะที่จิตเกิด เจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยทำให้ผลคือจิตเกิดขึ้นร่วมกันในขณะนั้น เพราะว่า ปัจจัยเป็นเหตุ ปัจจยุบันเป็นผล ก็เป็นคำที่ขยายให้เข้าใจ เวลาที่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงขณะนี้ปรากฏเพราะอะไร สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้สิ่งนั้น แต่ว่าปรากฏกับสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ซึ่งขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้โดยละเอียด โดยสภาพความเป็นปัจจัย โดยสภาพความเป็นธาตุ โดยสภาพความเป็นอายตนะ โดยประการทั้งปวงได้กว้างขวาง แต่ผู้ที่ฟังก็คือว่าให้มีความเข้าใจถูกต้องว่าสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ จะให้ประจักษ์แจ้งทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ไม่ต้องไปจำเป็นบทเรียนหน้านั้น เล่มนี้ ปริเฉทนั้น แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถ้าเข้าใจแล้วเป็นปริเฉทไหน บอกว่ารูป หรือเป็นปริเฉท ๖ หรืออย่างไร หรือว่าความจริงก็คือการเข้าใจลักษณะที่มีจริง จะปริเฉทไหนก็ตาม สามารถที่จะเข้าใจได้โดยตลอดถึงคำว่า “ขันธ์” ถ้ามีความเข้าใจจริง สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นขันธ์หรือไม่ ไม่ใช่ชื่อขันธ์แล้วก็อยู่ในหน้านั้นหน้านี้ แต่ว่าลักษณะความจริงของขันธ์คืออะไร คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลากหลายแม้เป็นรูปแต่ละทางก็หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ แล้วแต่ที่จะเข้าใจในขณะนั้นได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ไปชื่อขันธ์เสียก่อน แล้วก็มานั่งลำดับ แต่รู้ว่าขณะนี้ แม้เสียงที่ปรากฏก็ต่างกัน ขณะนั้นก็เป็นขันธ์แต่ละขันธ์ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะไปรู้หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ก็ไม่ได้ หรือว่าจะรู้โดยความเป็นอายตนะหรือความเป็นปฏิจสมุปบาทก็ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ต้องตั้งต้นให้ถูก เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็จะเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังโดยถูกต้องว่าไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่ากุศลไม่มีโรค ไม่มีโทษ แต่ในอรรถกถากล่าวว่า กรรมซึ่งนำไปสู่ภพ ๓ มีโทษ ก็จะขัดแย้งกัน ขอคำอธิบาย

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของกุศลเป็นลักษณะที่ไม่มีโทษ ไม่มีโรค เวลาให้ผลก็ให้ผลเป็นสุข แต่ถ้ากล่าวถึงโดยนัยของการที่มีโทษ ก็คือการที่ยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏะนั่นเอง แต่ถ้าเป็นกุศลที่ให้ผลสามารถที่จะนำออกจากวัฏฏะได้ ก็คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และก็เป็นไปกับความเข้าใจถูก ถึงแม้กุศลนั้นยังเป็นโลกียกุศลอยู่ ถึงจะให้ผลนำเกิดในสุขคติภูมิ แต่ก็นำเกิดเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะถึงที่สุดคือได้ออกจากวัฏฏะในที่สุด เพราะฉะนั้นกุศลจึงมีความต่างๆ กันออกไปหลายประเภท ถึงแม้โลกุตตรกุศลก็ยังใช้ชื่อว่ากุศล แต่โลกุตตรกุศลเวลาเกิดขึ้นสามารถที่จะดับกิเลสแล้วก็ดับวัฏฏะด้วย

    ผู้ฟัง อ่านพบในพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕ มีข้อความบางตอนที่ไม่เข้าใจคือ กรรมที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ ไม่มีการที่จะให้ปฏิสนธิเป็นสภาพ หมายความว่าอย่างไร

    อ.วิชัย จิตที่เป็นอกุศลจิต ที่แสดงไว้ โลภะทิฏฐิคตสัมปยุตต์ โทสะปฏิฆสัมปยุตต์ โมหะ ๒ ประเภท คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ประเภทหนึ่ง และอุทธัจจสัมปยุตต์อีกประเภทหนึ่ง อกุศลกรรมที่เกิดหมายถึงเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ จะมีเพียงเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๑ เท่านั้น คือ เว้นโมหอุทธัจจะ ที่จะให้ผลทั้งปฏิสนธิ และ ปวัตติกาล เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่มีกำลัง แต่โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนไม่สามารถที่จะให้นำปฏิสนธิได้ แต่สามารถให้ผลในปวัตติกาลได้เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ฉะนั้น อุทธัจจสัมปยุตต์ในที่นี้ก็หมายถึงโมหอุทธัจจสัมปยุตต์

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องละเอียดเพราะเหตุว่าบางครั้งพระไตรปิฎกพยัญชนะว่าอย่างนี้ แต่ผู้แปลอาจจะพลั้งเผลอก็ได้ เช่น เรื่องของมโนกรรมกับมโนทวาร ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกใช้คำว่าเจตนาที่เกิดทางปัญจทวารเป็นมโนกรรม แต่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเพราะไม่ได้กระทำกายกรรมหรือวจีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และสภาพของเจตนาต้องเป็นกรรม เจตสิกอื่นจะเป็นกรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจตนาที่เกิดในปัญจทวาร ชวนะที่ทางปัญจทวารจะเป็นกรรมอะไร เมื่อไม่ใช่กายกรรม ไม่ใช่วจีกรรม ก็ต้องเป็นมโนกรรม

    เพราะฉะนั้นไม่เพียงแต่จำชื่อว่า อุทธัจจะ เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ทำไมกล่าวว่าจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะไม่เป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิจิต นี่ก็คือถ้ามีความเข้าใจในเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ก็จะรู้ว่าอกุศลใดที่ไม่มีโลภะกับโทสะเกิดร่วมด้วย มีแต่โมหะเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนกว่าอกุศลที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือมีโทสะเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าจิตนั้นประกอบถึง ๒ เหตุ จิตทุกประเภทที่เป็นอกุศลต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตบางประเภทนอกจากมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยังมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็น ๒ เหตุ เพราะว่าเหตุมี ๖ ฝ่ายอกุศล คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และ ฝ่ายโสภณเหตุ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญา หรือ อโมหเจตสิก สำหรับอกุศลจิตก็จะต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ไม่ขาด ๔ เจตสิกเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจก็สามารถที่จะรู้ แยกได้ด้วยความเข้าใจของตนเองว่า ที่กล่าวอย่างนี้มุ่งหมายอย่างไร ไม่ได้มุ่งหมายถึงอุทธัจจเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท แต่หมายเฉพาะโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์โดยไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริง จิตประเภทนี้มีกำลังอ่อน แล้วถ้าไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย จะรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าขณะใดมีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ขณะนั้นรู้ว่าเป็นอกุศล ขณะใดที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยก็รู้ ขณะใดที่มีโทสะเกิดร่วมด้วยก็รู้ แต่ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลโดยไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก หรือวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนี้รู้ได้ไหมว่ามีแล้ว รู้ไม่ได้ ดังนั้น จะเป็นกรรมอะไรหรือไม่ที่จะทำให้ถึงกับเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็เป็นไปไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาต้องพิจารณาถึงเหตุผลด้วย แต่ในขณะที่กระทำกรรมใดๆ ก็ตาม ก็จะมีจิตนี้เกิดสลับได้โดยความที่เป็นสภาพที่เป็นอกุศลที่ไม่รู้สึกตัวในขณะนั้น ดังนั้น จิตนี้จึงสามารถที่จะให้ผลหลังปฏิสนธิ แต่จะไม่ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง แล้วก็พบพยัญชนะใดในพระไตรปิฎก ความเข้าใจที่มั่นคงก็จะไม่ทำให้ไขว้เขวเพราะรู้ความต่างว่าขณะนั้นไม่ได้มุ่งหมายถึงอุทธัจจะที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่หมายเฉพาะจิตที่เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย และก็ไม่ใช่จิตที่เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิตที่มีกำลังที่จะทำให้อกุศลกรรมสำเร็จลงไปได้ ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้

    และสำหรับความสงสัยที่ว่ากุศลที่มีโทษนั้น ผลของกุศลไม่ได้ทำให้เดือดร้อน ใช่ไหม ตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หูได้ยินเสียงที่น่าพอใจ จมูกได้กลิ่นที่น่าพอใจ แม้ลิ้มรสก็เป็นรสที่น่าพอใจ กระทบสัมผัสน่าพอใจ นี่เป็นผลของกุศลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภทไม่ได้นำโทษภัยหรือความทุกข์มาให้ ไม่ว่าจะเป็นระดับของขั้นทาน ขั้นศีลซึ่งเป็นกามาวจรกุศลก็ให้ผลที่ดีงามทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของกุศลกรรมด้วย ไม่ใช่เห็นโทษแต่เฉพาะของอกุศลกรรม เพราะถึงแม้ว่าจะทำให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ก็ไม่จบ ไม่หยุด ตราบใดที่ยังเป็นกุศลกรรม เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีปัญญาจึงเห็นโทษของแม้กุศลกรรมว่าให้ผลเพียงแต่ทำให้ได้รับผลในสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้เกิดในภพภูมิที่ดีแต่ออกจากสังสารวัฏไม่ได้ นี่คือโทษของกุศล เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว โลกุตตรกุศลเกิดแล้ว ก็ยังต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาก็ไม่เพียงแต่ว่าให้ถึงเพียงขั้นโสดาปัตติมรรคจิต แต่ว่าจะเห็นโทษยิ่งขึ้น จนกระทั่งเห็นว่าจะต้องดับธรรมที่เป็นกุศลซึ่งเป็นเหตุให้เกิดซึ่งจะดับได้ด้วยอรหัตตมรรคเท่านั้น เมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้น กุศลก็ไม่มี อกุศลก็ไม่มี

    อ.กุลวิไล ในชีวิตประจำวันบางครั้งเราก็จะหวั่นไหวไปกับสิ่งที่ปรากฏทางทวารต่างๆ และก็เป็นปัจจัยให้เราทำอกุศลกรรมได้ง่าย เพราะว่าเราจะเป็นไปกับกระแสของตัณหา โลภะ ซึ่งจะติดข้องในทวารต่างๆ นั่นเองซึ่งก็เป็นเรื่องของการที่จะอบรมปัญญาที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้นในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมก็คงไม่ลืม เราฟังมาแล้วมาก แล้วก็จะฟังต่อไปด้วยเพื่อประโยชน์คือการรู้จริง เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแต่เราก็เข้าใจว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นทุกอย่างเหมือนเคยในชีวิตประจำวันที่ผ่านมาก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม แต่การฟังพระธรรม และเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมก็เป็นสิ่งที่ยาก ต้องอาศัยการฟังเข้าใจ และค่อยๆ รู้ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ มิฉะนั้นเราก็ลืม และคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าเราได้เข้าใจเรื่องของกุศล เรื่องของอกุศล แต่ขณะนี้สภาพธรรมมี กำลังปรากฏ การศึกษา การฟัง การไตร่ตรองทั้งหมดต้องไม่ลืมว่าเพื่อเข้าใจจริงๆ เห็นถูกจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็คงเป็นการฟังที่ค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมว่าไม่ใช่เพื่อที่จะจำเรื่องราวหรือตัวเลข แต่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฎ ชาตินี้จะรู้ได้กี่ขณะหรือว่ายังไม่ได้เริ่มเลย ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่ลืมว่าจุดประสงค์ของการฟังไม่ใช่ไปรู้อื่น แต่เข้าใจถูกต้อง รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ก็คือเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง และเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน และเป็นเรา และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องของกุศล ก็ต้องรู้ว่าขณะนี้เห็น เพียงเห็น ไม่ดี ไม่งาม ไม่ได้เป็นสภาพธรรมที่จะทำให้เกิดผล เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่มีการที่ใครที่จะเลือกเห็นได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมจึงศึกษาสิ่งที่กำลังมีให้เข้าใจในความละเอียดที่เกิดปรากฏเช่น เดี๋ยวนี้เห็น หรือว่าไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ที่ไหนก็ตาม จิตเห็นไม่ใช่กุศล เพราะเหตุว่าเป็นผลที่มีเหตุที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567