พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213


    ตอนที่ ๒๑๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.อรรณพ แต่กุศลกรรมที่มีการนมัสการกราบไหว้ และน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย และก็มีโอกาสสนทนาธรรมเป็นการบูชา และก็ทั้งอามิสบูชาของผู้ที่มีความละเอียดในกุศลทั้งหลายที่ท่านได้จัดเตรียมไป เพราะฉะนั้นเป็นกุศลกรรมที่เป็นความเห็นถูกด้วยทั้งทางกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร เป็นกุศลกรรมบถ

    ท่านอาจารย์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเพียงแค่เห็นมีอกุศลเกิดในสิ่งที่เห็นแล้ว ดูรวดเร็วมาก ขอยกตัวอย่างที่พอจะเข้าใจได้ สักครู่ก็คงจะถึงเวลานั้นคือเวลารับประทานอาหาร ทันทีที่ลิ้มรส เรารับประทานอาหาร รสต้องปรากฏแน่นอน ชอบหรือไม่ชอบในรสนั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีแต่เพียงรสปรากฏแล้วต่อจากนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ชำนาญ ไว อกุศลสืบต่อนี่รวดเร็วเหลือเกิน เหมือนกับได้ยินสืบต่อเห็นในขณะนี้ แนบเนียนไม่มีตะกุกตะกักตรงไหน ราบรื่นไปเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการลิ้มรสแล้ว อกุศลจิตเกิดหรือไม่ ลองสังเกตดู คือขณะที่รสนั้นเองกระทบปรากฏ ชอบหรือไม่ชอบในรสนั้น ไม่ใช่ไปเลือกว่านี่อาหารอะไร ใส่น้ำปลาน้ำตาลอะไรหรือเปล่า แต่ว่าแม้ขณะที่รสกำลังปรากฏก็ชอบหรือไม่ชอบในรสนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชอบหรือไม่ชอบในรสที่กำลังปรากฏนั่นเอง เดี๋ยวนี้นึกออกไหมว่าชอบรสอะไร ไม่ชอบรสอะไร ถ้าจะพูดถึงน้ำพริกมีตั้งหลายรส จะมานั่งนึกได้ไหมว่าเราชอบรสอะไร แต่ขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่มีชื่อน้ำพริกอะไรทั้งสิ้น มะขามหรือว่ากะปิหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ทันทีที่รสปรากฏชอบหรือไม่ชอบ นี่ก็แสดงถึงความรวดเร็วที่พอจะเห็นได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะปรากฏทางลิ้นฉันใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางกายก็ฉันนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าพอลิ้มรสจะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าจะพูดกันตามวิชาการหรืออภิธรรมก็หมายความว่ารู้รส แล้วเวทนาก็คือโสมนัสเวทนาเกิดพร้อมกันในขณะที่รู้รส และก็มีโสมนัสเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ กำลังลิ้มรสแม้ว่ามีเวทนาก็ยังไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบ เพราะเหตุว่าต้องเป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เว้นกายวิญญาณเท่านั้นใน ๕ ทางที่ต้องเป็นทุกข์หรือเป็นสุข นี่คือประโยชน์ของการที่เราจะรู้ความละเอียด ถ้าชอบเมื่อไรขณะนั้นไม่ใช่กำลังลิ้มรส แต่รสก็ยังปรากฏ ที่สงสัยว่าจะมีอกุศลเวลาที่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายได้อย่างไร ก็ยกตัวอย่างเรื่องของรสให้เห็นว่ารสกำลังปรากฏแม้ว่าจิตลิ้มรสนั้นดับแล้ว แต่รสก็ยังปรากฏโดยรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบรสนั้น เป็นโลภะหรือว่าเป็นโทสะก็พอจะรู้ได้ และทางอื่นก็โดยนัยเดียวกัน

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นไหมจากอกุศลกรรมในอดีตในแสนโกฏิกัปป์ที่ได้ทำแล้ว เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไร ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย กรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชวร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในชาติสุดท้ายเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วพร้อมที่จะให้ผล ใครยับยั้งไม่ได้เลย ให้ผลเมื่อไร วันไหน ขณะไหน ในลักษณะอย่างไรซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ถึงการให้ผลของกรรมซึ่งวิจิตรมาก คิดไม่ถึงเลย แต่กรรมก็สามารถจะทำให้เป็นไปอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากทั้งหมดมีเพียง ๗ เท่านั้น อยากรู้อกุศลวิบากหรือไม่ หรือว่าควรจะรู้ว่าขณะใดที่อกุศลวิบากเกิด ก็จะได้รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำ ไม่ต้องไปโทษใครทั้งสิ้น ถ้าโทษใครเมื่อไร อกุศลจิตของตัวเองเกิดเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันที่เราเข้าใจว่าเป็นผลของกรรม อาจจะเป็นเหตุก็ได้ใช่ไหม เพราะว่าเป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ หลังจากที่เห็นแล้วอะไรเกิดต่อ กุศลจิตหรืออกุศลจิต นี่ไม่ใช่ผล แต่เป็นเหตุใหม่ เพราะฉะนั้นการจะดับเหตุ ดับอวิชชาที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด และอกุศลจิตเกิด เพราะว่าตราบใดที่ยังเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผลของเหตุนั้นๆ ไม่รู้จบ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าเราต้องมีความอดทน เมื่อก่อนก็ไม่ทราบว่าจะต้องทนอะไร ส่วนใหญ่ก็พยายามเป็นตัวตนที่จะทนต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังทนหรือเปล่า ทนฟังพระธรรม ทนไหม ต้องฟังด้วยวิริยะจนกว่าจะเข้าใจ และจริงๆ ถ้าศึกษาละเอียดว่าความอดทน หรือวิริยะ คือ ความเพียรจะเกิดกับจิตอะไรบ้างก็จะรู้ว่า ยับยั้งไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิริยเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง ขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วเรารู้ว่าเป็นอกุศล เราต้องอดทนต่ออารมณ์ของอกุศลที่เราได้รับ

    ท่านอาจารย์ นี่มีความเป็นตัวตน ฟังให้รู้ว่าไม่มีเราก็ยังมีเรา เพราะฉะนั้นผลของการฟังแค่ไหน อยู่ตรงไหน เพิ่มขึ้นหรือยัง จะมีความอยากอดทนขึ้นมาอีก อยากมีวิริยะขึ้นมาอีกโดยที่ว่าถ้าเข้าใจถูกต้อง วิริยะเกิดแล้ว ไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ประเภทที่เป็นอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ เท่านั้นเอง ขณะใดที่จิตเห็นเกิดขึ้น ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ จิตพวกนี้ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับอเหตุกจิตก็จะมีมโนทวาราวัชชนจิตกับหสิตุปาทจิต เป็น จิต ๒ ดวงเท่านั้นในอเหตุกจิต ๑๘ ดวงที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และนอกจากนั้นมีวิริยเจตสิกหมดเลยที่เกิดร่วมด้วย นั่งเฉยๆ เป็นอกุศลมีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปสามารถรู้สิ่งที่สติไม่ได้ระลึกเพราะสิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ดับนี่คือไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นก็ดับไปหมดแล้ว เสียงที่ปรากฏถ้าไม่รู้ เสียงนั้นก็ดับไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราสะสมความไม่รู้ต่อไปอีกมากแค่ไหน จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่ารู้อะไร ปัญญารู้อะไร และรู้แค่ไหน ฟังให้เข้าใจว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีกฏเกณฑ์ แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีการพิจารณา เข้าใจขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้แม้การตรึกหรือการคิดก็เป็นไปในทางกุศล ถ้ากุศลจิตของใครเกิดคิดเป็นกุศลเกิดขึ้น ให้รู้ว่าจากที่ได้ฟังพระธรรมหรือได้เข้าใจพระธรรมนานแสนนานมาแล้ว พร้อมที่จะเกิดคิดอย่างนี้จึงคิดอย่างนี้ขึ้น และก็เลือกที่จะให้คิดเป็นกุศลทั้งวันก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้กุศลนั้นคิดในทางไหน ในทานหรือในศีล ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเป็นอย่างนี้หรือเราต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร นั่นคือคิด ถึงเวลาจริงๆ แล้วเป็นหรือไม่ ก็แค่คิด

    ผู้ฟัง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ แล้ว จิตทุกดวงเกิดที่หทยวัตถุหรือไม่

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุคืออะไร

    ผู้ฟัง คือวัตถุที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ ในภูมิไหนบ้างที่มีหทยวัตถุ

    ผู้ฟัง กามภูมิ รูปภูมิ อบายภูมิ

    ท่านอาจารย์ ตอบรวมเลย คือ ในภูมิที่มีรูป จิตต้องเกิดที่รูป จิตเกิดนอกรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นภูมิไหนบ้างมีรูป

    ผู้ฟัง รูปภูมิ

    ท่านอาจารย์ ก็รวมไปได้เลย เว้นอรูปภูมิ เท่านี้ก็เปลี่ยนไม่ได้เลย พรหมบุคคลมีหทยวัตถุไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะยังมีรูปอยู่

    ท่านอาจารย์ มดมีหทยวัตถุไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ช้าง

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ปลา

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เปรต

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อสุรกาย

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เทวดา

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ลืมใช่ไหม นี่คือหทยวัตถุ เพราะฉะนั้นคำถาม ถามว่าอะไร

    ผู้ฟัง นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ที่เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตทุกดวงเกิดที่หทยวัตถุหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตอบได้แล้วใช่ไหม เมื่อครู่นี้เรามีคำจำกัดความว่าเว้นอรูปพรหมภูมิไม่มีรูป เพราะฉะนั้นรูปไม่ใช่ที่เกิดของจิตเพราะไม่มีรูปเลย จิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยรูปเกิดได้ในอรูปพรหมภูมิ นอกจากนั้นแล้วทุกภูมิจิตต้องเกิดที่รูป ไม่ว่าจิตประเภทใดๆ ทั้งสิ้นนี่คือคำตอบ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดในภูมิที่ไม่ใช่อรูปพรหมภูมิ โลภะสำหรับอรูปพรหมบุคคลเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง อรูปพรหมก็ไม่มีรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีรูปเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ถูกต้อง จะเข้าใจความหมายของนามธรรม ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย แม้ไม่มีรูปก็เกิดได้ แต่ต้องในภูมิที่ไม่มีรูป ถ้าในภูมิที่มีรูปแล้ว จิตก็ต้องอาศัยเกิดที่รูป ไม่เกิดนอกรูป

    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้ฟังเทปของท่านอาจารย์คือฉันทะก็ฟังได้ แต่สำหรับในโลกปัจจุบันนี้อย่างเราๆ แค่ฉันทะนั้นก็น่าจะช่วยให้เราทำมาหากิน ขยันหมั่นเพียรพอดีๆ อย่างนี้ก็น่าจะพอไปได้ เทวดาสนทนากับพระพุทธเจ้าบอกให้ละฉันทะ คือถ้าละหมดแล้วโลกก็คงเงียบเหงา คงไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

    ท่านอาจารย์ กำลังค้านกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จึงได้กราบเรียนว่ามองในแง่ของโลกุตตรธรรม ถ้าเราหวังที่จะไปนิพพาน หวังตรัสรู้ หวังเป็นพระอรหันต์กันทุกคน ซึ่งเราอาจจะเห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์ยังพอใจในการเกิด

    ผู้ฟัง เกิดมาแล้วก็เอาฉันทะสักหน่อยไม่ดีหรือ

    ท่านอาจารย์ มิได้ อย่างไรๆ เราเลือกไม่ได้เลย เราจะเลือกธรรมไม่ได้เลยแต่ว่าเราสามารถเข้าใจ ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมใดปรากฏ เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นอนัตตา ไม่มีเรา แต่มีธรรม ฉันทะก็มี ใครที่จะไปดับฉันทะก็ไม่ได้จนกว่าจะไม่มีการเกิดอีก เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าเราจะทำอะไรหมายความว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักเจตสิก ไม่รู้จักรูป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นจิตใครจะทำอะไรจิตได้ ถ้าเป็นเจตสิก เป็นรูป ใครจะไปทำอะไรได้ แต่สามารถเข้าใจได้ถูกต้องว่าจิตไม่ใช่เจตสิก และก็จิต เจตสิกไม่ใช่รูป แต่ขณะนี้มี และก็เป็นธรรม ศึกษาธรรมให้เข้าใจความจริง แต่ไม่ใช่ให้ไปคิดเปลี่ยนแปลงด้วยความเป็นตัวตน แม้แต่ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิด บังคับไม่ได้ ปัญญาระดับไหนที่จะเกิดก็บังคับไม่ได้ ฉันทะในอะไรจะเกิด ก็เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราไม่มีฉันทะ ฉันทะมีเมื่อไรให้เรารู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นฉันทะ

    ผู้ฟัง อาจารย์ว่าให้มีได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้ ไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับได้ แต่มีฉันทะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีแน่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีใครให้ฉันทะเกิด แต่ว่ามีเหตุปัจจัยให้ฉันทะเกิด แล้วฉันทะก็ดับ เพราะฉะนั้นฉันทะเป็นอนัตตาแล้วก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ฉันทะในกุศลก็มี ฉันทะในอกุศลก็มี ก็รู้ตามความเป็นจริง คุณเด่นพงษ์พอใจฉันทะในอกุศลเพราะเหตุว่าคิดว่าถ้าไม่มีโลภะอยู่ในโลกนี้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ผมไม่ได้ใช้คำว่าโลภะเลย ผมไม่เห็นด้วยกับโลภะ ผมไม่เห็นด้วยกับตัณหา แต่คำว่าฉันทะ น่าจะหมายความคล้ายๆ กับสัมมาอาชีวะ คำว่าสัมมานี่พอดีพอเหมาะ แม้แต่เรากินเราอยู่ เราก็กินพอเหมาะพอควร หามาได้ก็ใช้พอเหมาะพอควร สัมมาอาชีวะ ผมก็นึกว่าก็น่าจะใช้กับคำว่าฉันทะ

    ท่านอาจารย์ คือเรานึกเองว่าฉันทะเป็นอย่างนี้ แต่ฉันทะเกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้นที่คุณเด่นพงษ์กล่าวหมายความถึงฉันทะฝ่ายไหน

    ผู้ฟัง ก็คงจะหมายถึงฝ่ายดี มองกันในแง่สัมมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าฝ่ายดีทุกคนก็มีฉันทะในฝ่ายดี ไม่ได้ต้องไปให้ฉันทะฝ่ายดีเกิด

    ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อเช้านี้ฟังเหมือนกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ละฉันทะ

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดกับอกุศล ต้องเข้าใจด้วย

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจไปหนึ่ง แล้วอีกประเด็นหนึ่งที่ฟังในเทป ผมก็พยายามฟัง และทำความเข้าใจ อย่างผมเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ผมก็รู้ว่าผมเรียนได้ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่พระโสดาบัน พระอนาคามี พระอรหันต์ ท่านไม่ได้มีใบประกาศนียบัตร แล้วก็มีการถามกันว่าใครจะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน แม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้เลย ตัวเองรู้ ต้องรู้

    ผู้ฟัง แต่อย่างผม ถ้าผมไม่สอบปริญญา ผมก็ไม่รู้ว่าได้ ทั้งๆ ที่ผมามีความรู้ ผมนึกไปในลักษณะอย่างนี้ อาจจะนึกแบบเชยๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ใครรู้แค่ไหน คนนั้นก็รู้ว่ารู้แค่นั้น ไม่ว่าจะทางไหน

    ผู้ฟัง ตัวเองก็รู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เรารู้ว่าเรารู้อะไร ไม่รู้อะไร แม้แต่ในทางโลก ไม่ใช่ในทางโลกเราไม่รู้ แล้วเราไปคิดว่าเรารู้ ก็ยังคงเป็นความไม่รู้นั่นเอง สำหรับทางธรรมเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของการศึกษาทางโลกที่จะต้องมีใบอะไรมารับรอง แต่ผู้นั้นเป็นผู้ที่ตรง ผู้นั้นรู้ คนอื่นจะกล่าวว่าผู้นั้นไม่รู้ก็แล้วแต่ผู้ที่ไม่รู้จะกล่าวอย่างนั้น จะไปเปลี่ยนความเป็นจริงคือผู้นั้นรู้ ความรู้ระดับนั้นเกิดแล้วให้เป็นความไม่รู้ไม่ได้ เช่น เวลานี้คุณเด่นพงษ์เข้าใจคำว่าธรรมใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วใครจะไปบอกว่าคุณเด่นพงษ์ไม่เข้าใจคำนี้ก็เรื่องของเขา คุณเด่นพงษ์เข้าใจว่าจิต เจตสิก ไม่ใช่รูป ใครจะไปบอกว่าคุณเด่นพงษ์ไม่รู้ จิต เจตสิก รูป ก็เรื่องของเขา แต่ความรู้มีหลายระดับ ขณะนี้เราต้องเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมแน่นอน จะฟังมานานสักเท่าไรแล้วก็อีกกี่ชาติจะฟังต่อไปก็ตามแต่ สัญญาความจำ เราสามารถที่จะระลึกได้ไหมว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่ให้จำชื่อ เพราะเหตุว่าธรรมมี แล้วก็ใช่ชื่อเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงธรรมอะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้มีธรรมจริงๆ ที่มีลักษณะกำลังปรากฏ ที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างนี้ที่กำลังปรากฏก็ไม่เปลี่ยนแปลงกี่ภพกี่ชาติก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ธรรมทางหูไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมทางจมูก ธรรมทางลิ้น ธรรมทางกาย ธรรมทางใจที่คิดนึกก็เป็นธรรม เราฟังอย่างนี้แล้วสัญญาจำไว้ได้แค่ไหนที่จะรู้ว่า แม้ขณะนี้ก็เป็นธรรมที่กำลังมีลักษณะอย่างนี้กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้สัญญาก็จะต้องมีการจำด้วยความเข้าใจถูกต้อง จนกว่าจะสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้โดยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นผู้นั้นต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ อย่างสติหรือสติปัฏฐานใช้ชื่อว่า “สติปัฏฐาน” และก็รู้ว่ามี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คนที่พูดอย่างนี้มีความเข้าใจระดับไหน เราอาจจะบอกว่าเขารู้หมด เขาจำได้ว่าสติปัฏฐานมี ๔ แต่ว่าถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจความต่างของสติขั้นที่เป็นสติขั้นทาน สติขั้นศีล สติที่จิตสงบ และสติที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เข้าใจความต่างของขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด ผู้นั้นจะเข้าใจสติปัฏฐานได้ไหม เรียกชื่อได้หมดเลย แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ มีใครจะบอกว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องความคิดของคนนั้น แล้วก็เป็นผู้ที่ตรงสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมที่จะรู้ว่าไม่ได้ศึกษาเพื่อเหตุอื่นเลยทั้งสิ้น ข้อความในพระไตรปิฎกมีข้อความหนึ่งที่ว่าการต้มข้าวต้มอย่างเดียวเพื่อข้าวต้ม การปิ้งขนมอย่างเดียวเพื่อขนม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย เราต้มข้าวต้มเพื่ออะไร ต้องการอะไร ก็ต้องการข้าวต้มใช่ไหม ถ้าจะปิ้งขนม ต้องการอะไร ก็ต้องการขนม ถ้าไม่ปิ้ง ขนมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจธรรม มีธรรมกำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้นอกไปจากธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เริ่มที่จะเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าลักษณะจริงๆ เป็นสิ่งที่รู้ยาก ไม่ใช่ไม่สามารถว่าจะรู้ไม่ได้ รู้ได้ แต่เรารู้เองว่าเป็นความต่างกันของระดับขั้นฟัง และยังต้องพิจารณาไตร่ตรอง และก็มีธรรมกำลังปรากฏให้พิสูจน์ ให้ค่อยๆ เข้าใจตามที่เรียน แต่กว่าสัญญาจะมั่นคงที่จะระลึกได้ และสติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “อบรม” ไม่มีตัวตนที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้หลงผิดไปที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้แม้แต่การศึกษาธรรมนั้นก็จะต้องรู้จุดประสงค์ว่าศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อใบหนึ่งใบใดให้ใครมารับรองว่าผู้นี้รู้เลย แต่เป็นผู้ที่จริงใจ และตรงต่อพระธรรม มีความเคารพในพระรัตนตรัย ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์ และพระธรรมก็มีจริงๆ กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เรียนเพื่อละความไม่รู้ และก็รู้ได้เลยว่าประโยชน์สูงสุดก็คือว่าถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้อยู่ๆ ในคุกใหญ่คือสังสารวัฏที่ไม่สามารถจะออกไปได้เลย จะอยากออกหรือไม่อยากออกก็ต้องอยู่ เพราะเหตุว่าไม่มีเราแต่มีเหตุที่จะให้จิต เจตสิกเกิด มีสมุฏฐานที่จะทำให้รูปเกิด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย

    ผู้ฟัง แล้วท่านอื่นที่เป็นพระโสดาบันด้วยกัน ทำไมถึงจะรู้ว่าอีกคนหนึ่งเป็น แล้วพระอรหันต์ท่านมีทิพยจักษุ หรือมีฌาณสูงอะไรพอจะมองเห็น

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะไม่ได้มีความสามารถที่จะมีจักขุทิพย์หรืออะไร มีทางเดียว สนทนากัน ในพระไตรปิฎกก็มีข้อความว่า ๒ ท่านสนทนากันโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

    ผู้ฟัง ไม่ใช่มองเห็นแล้วรู้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง ไม่มีทางเลย ศีลจะรู้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ ขณะนี้ไม่มีใครล่วงศีลเลยใช่ไหม อยู่ด้วยกันไม่นานเลย ถึงแม้ว่าจะอยู่ด้วยกันนานๆ ยังต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้ด้วย เพราะว่ามีท่านหนึ่งท่านบอกว่าท่านทำเป็นมีศีล คนไม่รู้เลย อยู่ด้วยกันตั้งหลายวันก็ไม่รู้ใช่ไหม นั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง สำหรับปัญญามีทางเดียวที่จะรู้ได้คือสนทนากัน

    อ.วิชัย โดยสภาพของปุถุชนก็คืออาจจะมีกาลที่ว่าศึกษาพิจารณาแล้วก็ปัญญาเจริญขึ้น แต่ภายหลังก็อาจจะไม่สนใจ ความรู้ความเข้าใจก็เสื่อมลง อกุศลธรรมเจริญ ถ้าพูดถึงโดยฝ่ายของพระอริยบุคคล ผู้ฟังใหม่อาจจะมีความเข้าใจว่าจะเสื่อมได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ชีวิตหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นปุถุชนหรือเป็นพระอริยบุคคลถึงขั้นพระอรหันต์ก็ต่างกันตามการสะสม เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว สมานัตตา เสมอกันในศีล และในคุณธรรมของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นคนอื่นที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ไม่มีทางที่จะรู้ เช่น คนที่ไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะ จะรู้ลักษณะของสติปัฏฐานไหม

    อ.วิชัย ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นพระโสดาบันทุกท่านเสมอกันในเรื่องการดับกิเลสคือความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละความสงสัย แต่อัธยาศัยของพระโสดาบันแต่ละท่านก็ต่างกันตามการสะสม เพราะฉะนั้นพระโสดาบันหรือผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบางท่านก็มีครอบครัว เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ครองเรือน บางท่านก็ไม่มีครอบครัวเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ไม่ครองเรือน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567