พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237


    ตอนที่ ๒๓๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป มากขึ้น เห็นความละเอียด รู้ความเป็นอนัตตา รู้ลักษณะของจิต เจตสิก และ รูป ก็จะทำให้ค่อยๆ เห็นว่าไม่ใช่เรา และไม่มีเรา เพราะว่าไม่ว่าจะกล่าวถึงความริษยามีจริงๆ เคยเป็นเรา แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเกิดความรู้สึกจะไม่สบายเลย เป็นความขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป จนกระทั่งมีความเข้าใจละเอียดขึ้นๆ รู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้น ซึ่งสภาพธรรมที่เกิดจะไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว แต่อาศัยปัจจัยมากหลายปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรม คือจิต และเจตสิกเกิดร่วมกันแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพียงชั่วขณะที่แสนสั้น นี่คือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ถ้าฟังละเอียดเข้าใจขึ้นก็จะทำให้แม้ขณะที่ฟังที่เข้าใจก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ยังเป็นตัวตนอยู่อีก จนกว่าจะรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจถูกต้องว่าเราฟังเพียงเท่านี้ และเรามีความเข้าใจที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงพอที่สติสัมปชัญญะจะรู้ และเข้าใจตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏหรือยัง ถ้ายังก็คือว่าไม่ต้องไปทำอะไร เพราะว่าทำก็ผิดแล้ว ไม่เข้าใจแล้วใช่ไหม แต่ว่าเป็นผู้ที่มีความอดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง สัจจาธิษฐานมีความมั่นคงที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตา และรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหมดเกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ทำไมท่านที่ฟังธรรมแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ทำไมไม่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมสามารถคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา ก็แสดงว่าต้องมีการอบรม และความเข้าใจ ขึ้นอยู่กับปัญญาที่สามารถจะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงเหมือนเช่นพระสาวกทั้งหลาย ท่านก็เป็นผู้ที่ตรงที่ ท่านก็อบรมเจริญความรู้ความเข้าใจ แล้วก็รู้ว่ารู้แค่ไหน ละคลายหรือยัง เพราะถ้ามีการที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องมีปัญญาระดับที่คลายความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง ๖ ทาง เช่น ทางตา มีเห็น กับสิ่งที่กำลังปรากฏ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “รูปารมณ” หรือภาษาไทยจะพูดว่า “รูปารมณ์” เราพูดเพียงชื่อ เรียกชื่อถูก แต่ว่าความเข้าใจในลักษณะที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง สิ่งนี้ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าเริ่มค่อยๆ เข้าใจหรือยัง

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คือหมายความว่าความเข้าใจนี้แค่รู้สภาพแข็งขณะนั้น รู้ลักษณะแข็งก็ยังไม่เพียงพอ คือหมายความว่าความเข้าใจของคนที่จะเข้าใจจริงๆ ต้องพัฒนายิ่งขึ้น เป็นว่าแข็งที่จะปรากฏก็ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงพอก็ไม่ต้องฟังอีกเลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเป็นทีละขั้นๆ ใช่ไหม กว่าจะเข้าใจว่าไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ดับกิเลสหมดแล้วก็ยังฟังพระธรรม เพราะว่าชีวิตของท่านจะไปทำอะไรดี

    ผู้ฟัง ศรัทธาเกิดได้ทั้งกับกุศล และอกุศลหรือไม่ คือฟังอย่างนี้อยู่ในลักษณะคล้ายๆ กับว่ามี ๒ แบบ ก็ขอให้ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายอีกครั้ง ผมจำได้ว่าคราวก่อนอาจารย์บอกว่าเป็นโสภณอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม หรือว่าการอ่าน การศึกษา จะพิจารณาอย่างแคบๆ ไม่ได้ ต้องกว้าง และต้องเข้าใจให้ถูกต้อง “ศรัทธา” ได้ยินชื่อ เราก็ยังไม่ทราบว่าคำนี้ในภาษาบาลีหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมใด ก่อนอื่นเรารู้ว่าเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี นี่ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องระดับหนึ่งว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะประกอบด้วยศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย ศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะเกิดกับอกุศลจิตหรืออกุศลธรรมใดไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะใช้ในความหมายใด ใช้คำนี้บางทีเราก็ใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม แต่เมื่อศึกษาธรรมแล้วให้ทราบว่าเรากำลังศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาในลักษณะอื่นด้วย เช่น ขณะที่กำลังให้ทาน มีศรัทธาไหม

    ผู้ฟัง มี แต่อาจจะผิดได้

    ท่านอาจารย์ จะกล่าวว่าเชื่ออะไรหรือไม่ขณะกำลังให้ทาน ขณะที่ให้ เชื่ออะไรหรือไม่ ลักษณะของจิตขณะที่ให้ เชื่ออะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง แล้วแต่บุคคล

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราใช้พยัญชนะเดียวว่าศรัทธาน้อมใจเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องก็คือขณะไหน แล้วก็ขณะที่ไม่ได้น้อมใจเชื่อ เพียงแต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ขณะนั้นปราศจากอกุศลเจตสิกทั้งหมด และก็ยังต้องมีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่นมี อโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเกิด ต้องไม่มีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิด เพราะฉะนั้นศรัทธาไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นลักษณะของศรัทธาไม่ว่าจะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยทางฝ่ายโสภณ ลักษณะของศรัทธาก็เป็นสภาพที่ผ่องใส เวลาที่ปราศจากอกุศล แต่อย่างที่ได้กล่าวแล้ว คือชั่วหนึ่งขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นโสภณจิต เป็นจิตฝ่ายดี มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร มีทั้งผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มีอัญญสมนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วยังมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงชั่วหนึ่งขณะแล้วดับไป ใครจะรู้ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะมีคำที่กล่าวถึงศรัทธาในลักษณะที่เป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อ แล้วก็ในที่อื่นๆ ก็จะต้องมีความหมายอื่นด้วย เช่น ปสาท หรือว่าความผ่องใสของจิตซึ่งขณะนั้นก็ปราศจากอกุศลธรรม คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้น แต่จริงๆ แล้วต้องไม่ลืมว่าเรากำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงแม้ในขณะนี้ แต่ไม่ได้เห็นลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เรากล่าวถึงเลย แม้แต่ศรัทธาเจตสิก ก็กำลังพูดถึงสภาพธรรมที่เกิดกับโสภณจิต แต่ขณะนี้ใครจะสามารถรู้ลักษณะเฉพาะของศรัทธาเจตสิกได้บ้าง

    นี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่าปัญญามีหลายระดับจากขั้นฟังเข้าใจเป็นแนวทางที่จะให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ผิดจากหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ถ้าในขณะที่ฟังเข้าใจผิด ก็ไม่มีทางเลยที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้เพราะเหตุว่าแม้กำลังฟังก็ยังเข้าใจผิดได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ และรู้ว่า แม้ว่าจะแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยพยัญชนะภาษาบาลี หรือว่าเมื่อแปลเป็นภาษาอื่นๆ แล้วก็ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นแต่เพียงแนวทางที่ทำให้เราเริ่มที่จะเข้าใจความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ปัญญาต้องรู้ตามลำดับขั้น จะรู้ลักษณะสภาพของความผ่องใสซึ่งปกติมี จะรู้ลักษณะของ โลภะที่ปกติก็มี จะรู้ลักษณะของโทสะซึ่งปกติก็มี แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ในลักษณะที่เป็นธรรมก่อน และขณะนั้นเมื่อปัญญาเริ่มมีมากขึ้น ความสามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ต่างๆ กันออกไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างจึงจะเพิ่มขึ้นได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดกว้างๆ เวลาที่ให้ทานเป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อหรือไม่ เวลาที่ช่วยเหลือบุคคลอื่น ยกของบ้างอะไรบ้าง ในขณะนั้นเป็นสภาพที่น้อมใจเชื่อหรือไม่ หรือว่าเป็นลักษณะของศรัทธาซึ่งผ่องใสจากอกุศล ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นทางที่จะทำให้เข้าใจธรรมกว้างขึ้น มิฉะนั้นเราก็จะไปเจาะจงคิดแต่เฉพาะที่ว่าถ้าเชื่อผิดไม่ใช่ศรัทธา ถ้าเชื่อถูกเป็นศรัทธา แล้วขณะที่ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้คิดอะไรในขณะนั้น แต่เป็นสภาพของกุศลที่เกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ในกรณีที่ให้ทาน จะพิจารณาว่าเป็นศรัทธาในกุศลจิตของตนเองได้หรือไม่ว่าเราให้ทานเพื่อขัดเกลากิเลสที่ตนมีอยู่ เป็นต้นว่าให้ทานเพื่อซื้อหาอาหารรับประทาน

    ท่านอาจารย์ ทุกครั้งที่ให้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นทั้งนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าเป็นกุศล เป็นโสภณจิต แต่ก็ไม่ใช่จะมาวิจัยวิจารณ์เมื่อสิ่งนั้นหมดไปแล้วผ่านไปแล้ว ก็เป็นเรื่องคิด แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าจะคิดก็คิดไตร่ตรองให้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กว่ามาคิดเรื่องราวว่าการให้ของคนนี้มีความเชื่ออะไรหรือไม่ มีความคิดอะไรหรือไม่ เพราะว่าเหตุการณ์นั้นๆ ก็เกิดขึ้นหมดไปแล้ว แต่ขณะนี้ที่ไม่ลืมก็คือว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สิ่งนี้เราลืมเสมอที่จะฟังให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพราะว่าไปคิดเรื่องอื่น

    ผู้ฟัง วันนี้ที่เราให้ก็เพื่อที่เขาจะได้เอาไปซื้อหารับประทาน สิ่งนี้นับว่าเป็นปัญญาระลึกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องนับ จะนับทำไม ความจริงเป็นอย่างไรก็ศึกษาให้เข้าใจความจริง คุณวิจิตรไม่สามารถจะไปรู้จิตของคนอื่น จะไปนับให้คนอื่น การฟังธรรมต้องไม่ลืมว่าเพื่อเข้าใจ ใครเข้าใจ ผู้ฟังเข้าใจ ประโยชน์ของใคร คือประโยชน์ที่การฟังแต่ละครั้งทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เห็นความจริงของธรรมแม้ในขั้นการฟังว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องไหม ถ้ามีความเข้าใจขณะนั้นเป็นปัญญาซึ่งก็ไม่ใช่เราด้วย เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อละความเป็นเรา พระธรรมที่ทรงแสดงทั้ง ๓ ปิฎกต้องไม่ลืมว่าเป็นไปเพื่อกำจัด เพื่อนำออกซึ่งอกุศลธรรมทั้งหมด เพื่อละความไม่รู้ ละความติดข้อง

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผมขณะนี้ก็คือว่าศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกอย่างเดียว คือถ้าไปไหว้ต้นกล้วย ไปทำบูชายัญอะไรต่างๆ นั้น จะไปเรียกว่าศรัทธาก็เป็นการใช้คำผิด ถูกไหมครับ ถ้าไม่ใช่คำว่าศรัทธา จะใช้คำอะไร

    อ.ธิดารัตน์ มีข้อความที่จำแนกศรัทธาไว้ ๔ อย่าง ก็จะมีในทีฆานิกายมหาวรรค ท่านก็อธิบายว่า คำว่า “ศรัทธา” นั้น ศรัทธามี ๔ คือ อาคมนยสัทธา อธิคมสัทธา ปสาทสัทธา โอกัปปนสัทธา ท่านก็อธิบายว่า บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ อาคมนยสัทธาย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู อธิคมสัทธาย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลายๆ ศรัทธาของท่านก็ชื่อว่า “อธิคมสัทธา” ส่วนศรัทธาที่เป็นความเลื่อมใส เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ชื่อว่าปสาทสัทธา ส่วนศรัทธาที่มีลักษณะเป็นความปักใจเชื่อก็จะใช้คำว่า “โอกัปปนสัทธา” ก็คือศรัทธาที่มีความเชื่อที่มั่นคงขึ้น สิ่งนี้ก็คือหมายถึงว่าคำว่า “ศรัทธา (สัทธา) ” อย่างเดียว เวลาที่มาประกอบกับคำอื่นก็จะช่วยให้ความหมายของลักษณะของศรัทธาชัดเจนขึ้น เช่นกำลังของศรัทธาที่มีกำลังต่างๆ

    อ.นิภัทร เรื่องศรัทธา ผมก็ไม่รู้ว่าเกินกว่านั้นได้หรือไม่ ก็มีคำว่า “ปรับอินทรีย์” ปรับอย่างไรก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ อินทรีย์มี ๕ สัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา ที่เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวงก็คือสติ ถ้าสติไม่เกิดจะมีการรู้ไหมว่าสัทธามากกว่าปัญญา

    อ.นิภัทร ผมเคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ มีศรัทธาจริงๆ เชื่อเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ว่าไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร

    อ.นิภัทร อย่างนี้ก็ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าศรัทธามากกว่าใช่ไหม ปัญญานิดเดียว แล้วที่จะรู้ได้ก็เพราะสติเกิดจึงสามารถที่จะรู้ได้ มิฉะนั้นก็มากกว่าปัญญาไปเรื่อยๆ

    อ.นิภัทร สตินี่คงจะไม่มากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำให้มีการรู้สภาพธรรมในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าถ้าศรัทธากับปัญญาเสมอกันเพราะสติรู้ว่าขณะไหนมีศรัทธาแต่ว่าขาดปัญญา อย่างผู้ที่มาฟังธรรมก็สามารถที่จะรู้ได้ว่ามีศรัทธาที่จะฟัง และปัญญามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น หรือว่าศรัทธาก็เหมือนเดิมคือมาก และปัญญาก็คงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเหตุว่ายังไม่ได้มีความเข้าใจเท่ากับศรัทธา แต่ถ้าฟังแล้วมีศรัทธามีความเข้าใจตามกำลังของปัญญา มีปัญญาเท่าไรก็มีศรัทธามั่นคงขึ้นเท่านั้น ถ้ามีการฟัง และก็มีความเข้าใจถูกว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสัจจธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังอย่างนี้ก็ไม่ได้เข้าใจผิด และก็มีการที่จะรู้ว่าพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ใช่เพียงคิด แล้วก็สอนด้วยความละเอียดยิ่ง แต่เป็นเพราะการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นละเอียดยิ่ง ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเสมอได้ ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ทรงแสดงภาวะความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นตามความละเอียดโดยประการทั้งปวงที่จะอุปการะให้สัตว์โลกเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มมีปัญญา ศรัทธามั่นคงขึ้นก็จะรู้ว่าศรัทธาที่มั่นคงขึ้นตามกำลังของปัญญาที่มี

    อ.นิภัทร พวกเราท่านทั้งหลายเห็นด้วยหรือไม่ มามูลนิธิทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์ มีศรัทธาแน่นอน ไม่มีศรัทธาก็มาไม่ได้ ศรัทธาที่จะตั้งมั่นได้ต้องมีปัญญา ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่ฟังว่าคืออะไร มาฟังวันหนึ่งๆ ได้คำหนึ่ง นิดเดียว หน่อยหนึ่งก็ยังดี ดี กว่าบอกว่าไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นศรัทธาจะมั่นคงได้ต้องมีสติปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่คำที่เรากล่าวลอยๆ แล้วก็จำๆ สืบต่อกันมา แต่ถ้าศึกษาพิจารณาก็จะได้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น

    อ.วิชัย ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา แต่ปัญญายังไม่เจริญ รู้สึกว่าขณะที่มีศรัทธา ขณะนั้นก็มีสติด้วย แล้วเหตุปัจจัยที่จะมีสติในการที่จะรู้ว่ามีความต่างระหว่างศรัทธากับปัญญา จะเป็นสติขั้นไหน อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเรื่องราวก็เป็นขั้นความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดที่มีจริงๆ แม้ขณะนี้ก็กำลังปรากฏที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมต้องเพราะสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิดเท่านั้น เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับเร็วมาก ขณะนี้ทุกอย่างถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด สภาพธรรมนั้นก็ดับหมดแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง ชั่วขณะที่สั้นมาก และก็มีสิ่งอื่นเกิดดับสืบต่อ แต่สามารถที่จะปรากฏเป็นนิมิตของสังขารทุกประเภทที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

    อ.วิชัย หมายความว่าถ้าเป็นศรัทธาในขั้นต้น ขณะนั้นก็เป็นเพียงเป็นเหตุให้เจริญกุศลขั้นอื่นเจริญขึ้น แต่ว่าขณะนั้นต้องมีสติ และปัญญาที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเพียงแค่ศรัทธาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เช่น การให้ทานกุศล ถ้าสติไม่เกิด การให้ก็มีไม่ได้เลย ในขณะที่สติเกิดก็มีศรัทธาในการให้ด้วยจึงให้ ด้วยเหตุนี้โสภณเจตสิกจึงต้องเกิดกับโสภณจิตอย่างน้อยที่สุดต้อง ๑๙ ประเภท ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

    ผู้ฟัง เราไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพราะว่าคิดถึงเรื่องอื่นเสมอ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ยินคำว่า “ปรมัตถ์” กับ “บัญญัติ” เป็นชื่อที่เข้าใจ แต่ขณะนี้เข้าใจลักษณะของปรมัตถ์กับขณะที่ไม่ได้เป็นลักษณะของปรมัตถ์ที่ปรากฏ เพราะว่ากำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือไม่ นี่คือการฟังธรรม แม้ว่าจะได้ฟังตั้งแต่ต้นก็จะผ่านไปโดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าเป็นความเข้าใจจริงๆ หรือไม่ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว

    ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่ามีลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะ ซึ่งใครก็ทำให้ลักษณะนั้นเกิดหรือเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เลย ซึ่งขณะนี้มีแล้ว และกำลังปรากฏด้วย เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราก็พูดกันทุกวัน เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ลืมทุกวันเหมือนกัน แม้ขณะที่กำลังฟัง ลืมที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะเราคิดถึงคน จะข้ามไปอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดแล้ว ดับเร็ว เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เมื่อดับไปแล้ว ทางใจจะมีการรับรู้ และคิดต่ออย่างรวดเร็วมาก ด้วยเหตุนี้แม้จะได้ฟังว่าขณะนี้มีธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา แต่ก็ยังเห็นคน ทำอะไรไม่ได้เลย จะไปกั้นไม่ให้เห็นคน เห็นสัตว์ไม่ได้ แต่เริ่ม อย่าลืมว่าเริ่ม เริ่มที่จะเข้าใจถูกแม้เล็กน้อยนิดเดียว แต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้เริ่มเข้าใจขึ้นจนกว่าจะคลายความสงสัย และการที่ลืมที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็เกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็ชาติหนึ่งๆ ก็อยู่ในความฝันคือนิมิตความทรงจำเรื่องราวต่างๆ จากปรมัตถธรรมซึ่งเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องฟังแล้วฟังอีกจนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่จะรู้ว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เราก็เพียงกล่าวว่าปรมัตถธรรมมีจริง และก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ปรากฏได้แต่ละทาง ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่รู้ลักษณะนั้น ก็คือกำลังคิดนึกเป็นเรื่องราว เป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้นละเอียดไหม ที่กว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริง

    ถ้าเข้าใจความจริงว่าเป็นสิ่งแม้ปรากฏ แต่ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ และปัญญาที่จะรู้ต้องเริ่มจากฟังเข้าใจ และก็เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ วันหนึ่งก็จะคลายความสงสัย และก็จะรู้จริงๆ ว่า ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งวัน ไม่มีใคร กว่าจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม และยังต้องละคลายเพราะเห็นโทษของสภาพธรรมที่ไม่มีใครเลย แต่เป็นธาตุแต่ละธาตุซึ่งเกิด และก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

    ด้วยเหตุนี้การฟังก็จะทำให้เข้าใจถึงผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอดีตกาล ท่านอบรมสะสมปัญญานานไหมกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567