พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238


    ตอนที่ ๒๓๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้การฟังก็จะทำให้เข้าใจถึงผู้ที่ได้รู้แจ้งสัจธรรมในอดีตกาล ท่านอบรมสะสมปัญญานานไหมกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ และแม้เมื่อ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ได้ทรงพยากรณ์สุเมธดาบสว่าอีก ๔ อสงไขยแสนกัปป์ สุเมธดาบสจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระสมณโคดม บุคคลในครั้งนั้นเป็นอย่างไรคะ คุณนีน่า เสียใจว่าเราไม่รู้ หรือว่าดีใจว่าแม้เรายังไม่รู้ขณะนี้ แต่เราก็ยังมีการที่เราจะรู้ได้ถ้ามีการสะสมต่อไป นี่คือความเห็นถูก นี่คือความอดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เผาอะไร ตบะ เผาโลภะ เพราะเหตุว่าขณะนี้ถ้าฟังดู ทุกคนเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม รู้ว่าธรรมยาก แต่อยากที่จะถึงนิพพาน หรือว่าบอกว่ายากเกินไป เพราะอยากจะมีเราที่ถึง ไม่ใช่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็สามารถที่จะละความไม่รู้ได้ ด้วยเหตุนี้ปัญญามีหน้าที่ละโลภะ แล้วก็จะเห็นโลภะละเอียดขึ้น เพราะเหตุว่าแต่ก่อนนี้เห็นโลภะอย่างหยาบ ชอบสิ่งที่น่าดู อยากจะได้รสอร่อย ก็เห็นเพียงเท่านี้ แต่ว่าปัญญา ที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีการยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีความยินดีพอใจ เพราะว่าต้องละตั้งแต่ความเห็นผิด เป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่หมดที่จะต้องละต่อไปคือละความติดข้องในรูป เสียง รส กลิ่น โผฏฐัพพะ ในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวันคือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏทางกาย ก็มีสิ่งแค่นี้ แต่ก็ติดข้อง ต้องการอยู่ตลอดมากมายรวดเร็วไม่จบ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังต้องละต่อไป คือละความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้เป็นพระอนาคามีบุคคล ละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังต้องละต่อไป

    นี่แสดงให้เห็นว่าคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ละความไม่รู้ ละการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ละความเป็นเราที่ต้องการหนทางผิดๆ จนกว่าจะรู้ว่าหนทางใดถูก แล้วก็ยังมีความติดข้องในข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เพราะว่าผู้ที่แม้มีความเห็นในหนทางที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้นโลภะก็ยังทำให้เกิดความเห็นผิด เกิดความเข้าใจผิดในการประพฤติปฏิบัติแต่ไม่ใช่ว่าในการเห็นว่าเป็นตัวตน แม้กระนั้นก็ยังมีโลภะที่ต้องการที่จะรู้สภาพธรรมที่จะต้องการให้ถึงญาณขั้นสูงๆ ต่อไป ซึ่งถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ก็ละโลภะนั้นไม่ได้ เพราะว่าโลภะไม่ปล่อยให้ไปง่ายๆ ให้ใครหลุดพ้นไปจากอำนาจของโลภะโดยง่าย ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่เห็นถูกต้อง และรู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางละ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องเรา คอยไม่ไหว นานเหลือเกิน อสงไขยแสนกัปป์ เมื่อไรจะถึง เลิกดีกว่า นั่นก็ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วจึงบัญญัติชื่อขึ้นภายหลัง สิ่งนี้เป็นความเข้าใจถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีคำหรือว่าไม่พูดจะทำให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ว่าที่ท่านอาจารย์ได้หยิบข้อความในพระไตรปิฎกที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันมาเพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ผมกำลังทำความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็มีประโยชน์อะไรที่มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ เพียงแค่ฟังเรื่องราวเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงจะไม่เกื้อกูลไม่อุปการะ แต่ทรงแสดงว่าปัญญามี ๓ ขั้น ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นอบรมประจักษ์แจ้งแทงตลอด

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติในขั้นทานเกิด จะต้องมีสติ มีศรัทธา ขณะนั้นศรัทธาหรือสติปัญญาจะเท่ากันไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาให้ มีปัญญาด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง มีก็ได้ ไม่มีก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงอยู่แล้วว่าไม่ใช่อินทรีย์ ๕ พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น สติหรือปัญญาหรือศรัทธาในการให้ก็เป็นกุศลอีกระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สติที่จะเป็นไปในการให้ทานไม่สืบต่อ สติปัฏฐานก็ไม่รู้ในลักษณะของสติที่เป็นไปในการให้ทานได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมไม่ใช่ให้ไปฟังแล้วไปเตรียมแผนการ เป็นผู้จัดการ ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ คือผู้จัดการที่จะให้สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่ ฟังเพื่อละความเป็นเรา ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกว่าเป็นธรรม แม้แต่คำว่า “โยนิโสมนสิการ” ถ้าฟังดีๆ โยนิโสมนสิการเป็นคนชื่อนั้นชื่อนี้หรือเปล่า เป็นใครหรือเปล่า ใช้คำว่า “มนสิการ” หมายความถึงว่าธรรมที่เป็นมนสิการ เวลาที่ตั้งตนไว้ชอบ มีใครเป็นตัวตนตั้งหรือไม่ หรือว่าความเข้าใจธรรมนั่นเอง ทำให้เกิดสติที่จะประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล ในทางที่เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกไม่มีเรา แต่ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด แม้พระวินัยเกิดโลภะขึ้นเป็นใครชื่ออะไรหรือไม่ และการเคลื่อนไหวด้วยกำลังของโลภะเป็นใครหรือไม่ หรือว่าเป็นรูปที่เคลื่อนไหวไปเพราะจิตที่ต้องการ เกิดหิริโอตตัปปะ ใช้คำว่า “หิริโอตตัปปะ” เป็นใครหรือไม่ คือใช้คำที่เป็นธรรมทั้งหมด แต่คนฟังที่เต็มไปด้วยตัวตนก็เป็นเราทั้งหมดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าฟังธรรม มีความเข้าใจจริงๆ จะไม่มีความสงสัย ขณะใดที่กุศลจิตเกิด สภาพธรรมเกิดแล้วทำหน้าที่ของสภาพธรรมทั้งหมด แม้มนสิการเจตสิกก็เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลย วิริยะมีไหม ในขณะที่กุศลจิตเกิด มี ทำหน้าที่ของวิริยะแล้ว เป็นไปในการกระทำกรรมที่เป็นกุศลในขณะนั้น มีเราที่ต้องไปทำอะไรอีกหรือไม่

    เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ละความไม่รู้ และก็ละการคิดเตรียมว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ก่อน แม้แต่เหตุที่ทรงแสดงว่าการที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลก็ทรงแสดงความเป็นจริง ไม่ใช่มีเราที่จะต้องไปทำอะไร แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น ก็ให้เข้าใจถูกต้องว่าเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้ ได้แก่อะไรบ้าง แต่ไม่ใช่มีเราที่จะไปทำ แต่เป็นความเข้าใจถูกว่าถ้าปราศจากเหตุหนึ่งเหตุใด ความสมบูรณ์ที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลก็มีไม่ได้

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์แล้วรู้สึกว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถึงแม้จะรู้เพียงทีละขณะแล้วก็ยังไม่ชัดเจน ก็เป็นเพียงทีละขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจขึ้นถึงความไม่มีตัวตน และก็เป็นสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    คุณนีน่า อาจารย์อธิบายตลอดเวลาต้องมีการละ แต่คิดว่าอยากจะรู้มากกว่าเรื่องการละ และถ้ามีเราติดธรรมจะไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิตลอดเวลาแต่เป็นโลภะ ความโลภโดยไม่มีมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ เรามี ๓ อย่าง เราด้วยโลภะหรือตัณหา เราด้วยมานะ และเราด้วยทิฏฐิ มิฉะนั้นโลภมูลจิตก็จะไม่ต่างกันเป็น ๘ ประเภท ก็ต้องมีอย่างเดียว แต่โลภะที่เกิดโดยไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็มี แต่ก็ยังเป็นโลภะได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความเป็นเรา แม้พระอนาคามีบุคคลละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังเป็นเราด้วยมานะ เพราะฉะนั้นธรรมจะละเอียดขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีการฟัง แล้วก็ไม่มีการที่จะเข้าใจ และอบรมตามลำดับ ไม่สามารถที่จะเห็นความละเอียดได้ เราเห็นโทษของอกุศลอย่างหยาบ การฆ่าสัตว์ การประพฤติผิดในกาม การถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้ การล่วงศีล ๕ เป็นความประพฤติอย่างหยาบซึ่งทุกคนก็มองเห็นว่าเป็นอกุศลอย่างหยาบ มีศรัทธาที่จะละด้วยศีลซึ่งเป็นปกติศีล ๕ หรือว่าบางคนก็อาจจะมีศรัทธาที่จะขัดเกลาหรือจะมีศีลเพิ่มขึ้นเป็นศีล ๘ ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะดับความเป็นเราหรือความเป็นตัวตนถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมปรากฏตามปกติด้วย

    อ.วิชัย ตามความเข้าใจอามิสมี ๓ อย่าง คือมีโลกามิส กิเลสามิส และวัฏฏามิส และถ้าพูดถึงโลกามิสเครื่องล่อคืออามิสหมายถึงกามคุณ ๕ อย่างนี้จะเข้าใจถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.วิชัย ส่วนกิเลสามิสก็คือกิเลสทั้งหลาย แต่ว่าข้อสงสัยคือวัฏฏามิส

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยก็คงทราบว่าพระอนาคามีบุคคลละความติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเกิดในพรหมโลก อายุยืนยาวมาก แต่พรหมบางท่านก็สามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ก่อนครึ่งหนึ่งของอายุของพรหม ทำไมต้องนานถึงขนาดนั้น แค่เหลือเพียงความติดข้องในความเป็นเรา โดยที่ว่าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ไม่มีเลย แต่ถึงกระนั้นในความเป็นเรา และในการที่ยังคงต้องการภพ ท่านต้องใช้เวลานานถึงอย่างนั้น และผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ถึง ยังเต็มไปด้วยความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในภพซึ่งเป็นวัฏฏามิส เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแม้วัฏฏามิสก็ไม่ใช่ง่ายที่จะละ

    อ.วิชัย ความยินดีในวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ ในวัฏฏะ

    อ.วิชัย ในกถาที่เทวดา และพระผู้มีพระภาคทรงตรัส ก็รู้สึกว่ามีความต่างกัน ในการที่บุคคลนั้นเมื่อเห็นภัย ถ้าเทวดากล่าวก็คือพึงกระทำบุญทั้งหลายที่จะนำสุขมาให้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าพึงละอามิส มุ่งสันติ ละวัฏฏะนั้น

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้แม้เทวดาจะกล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคก็จะกล่าวอีกนัยที่จะทำให้เห็นว่าต่างกัน คือถ้ายังคงเพลิดเพลินเกิดในสวรรค์วนเวียนไปก็ไม่พ้นจากสังสารวัฏ ยังไม่ถึงความสงบที่แท้จริง

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์วิชัยถามที่เทวดาพูดบอกว่าพึงทำบุญนำความสุขมาให้ เรียนถามว่าสิ่งนี้ก็เป็นเครื่องล่อสิ่งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังมีกิเลส แสดงความต่างของบุคคล ผู้ที่เป็นปุถุชนมีครบไหม โลกามิส กิเลสามิส วัฏฏามิส ครบ พระอนาคามีบุคคลมีครบไหม หรือพระโสดาบันมีครบไหม พระโสดาบันก็มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และดับกิเลสคือความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม และก็ยังมีความติดข้องในภพ พอถึงความเป็นพระอนาคามีดับความยินดีติดข้องในโลกามิส แต่ยังมีกิเลสามิสที่ยังมีความพอใจในภพ และก็ในความสำคัญตน แต่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีอามิสเลย เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่บุคคล ผู้ที่เข้าใจก็รู้ได้ว่าแต่ละคนตัวเองครบไหม แล้วเมื่อเป็นบุคคลนั้นๆ แล้วก็จะเป็นบุคคลจริงๆ ที่ว่าเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดหรือความหลง หรือความเข้าใจผิดพลาด แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ปัญญาเห็นตรง เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ตรงกันข้ามกับอกุศล

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากจะแยก หมายถึงว่าคำว่ากิเลสามิสก็จะมีอธิบายเหมือนกับมุ่งหมายในขณะที่เกิดขึ้นสัมปยุตต์กับจิต และถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส หมายถึงในขณะที่เป็นอารมณ์ของจิตใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ โลกามิสก็หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และผู้ที่ติดข้องก็เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่ และก็ยังมีความยินดีพอใจ กิเลสล่อให้เป็นอย่างนั้นอยู่

    อ.ธิดารัตน์ กุศล ก็มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอารมณ์ จะเรียกว่าในขณะนั้นกุศลก็ยังเป็นไปกับอามิสที่เป็นรูป เสียง เป็นกามคุณอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ดับกิเลส แล้วแต่ว่าเป็นกุศลประเภทใด ฟังธรรมก็ต้องเข้าใจถูกต้อง และไม่ลืมคำแรกคือ “อนัตตา” และก็ปัญญาสามารถจะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงโดยอาศัยการฟัง การค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของธรรมได้ มิฉะนั้นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของพระอริยสาวกทั้งหลายก็ต้องไม่มีด้วย

    ผู้ฟัง สภาพของกุศลจิต กุศลมีทั้งที่เป็นไปในวัฏฏะ และไม่ได้เป็นไปในวัฏฏะ ซึ่งโดยปกติแล้วการศึกษาธรรม พิจารณากุศลก็ค่อนข้างจะยาก และกุศลยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท เรียนถามว่าลักษณะสภาพธรรมจริงๆ มีความต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะสนใจชื่อ และพยายามไปหาเวลาที่ไม่ปรากฏ อย่างเวลานี้จะหาอะไรที่ไม่ปรากฏ จะเจอไหม และจะเข้าใจในลักษณะนั้น หรือว่าคิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แทนที่จะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ และเข้าใจตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการที่จะเข้าใจธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่าแม้ในขั้นฟังยังต้องเริ่มจากการที่จะเห็นถูกจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม หมายความว่าไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลได้ และธรรมที่มีก็ต่างกันเป็น ๒ อย่างคือ นามธรรม และรูปธรรม ถ้าเราตั้งต้นอย่างนี้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากนามธรรม รูปธรรม เราพูดถึงกุศลจิต อกุศลจิต เราสามารถที่จะไปรู้ความจริงในความเป็นนามซึ่งไม่ใช่ตัวตน และลักษณะนั้นก็เป็นฝ่ายดีด้วย ไม่ใช่ฝ่ายไม่ดี ได้ไหม ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าขณะนี้จริงๆ เราจะกล่าวถึงชื่อ ถึงเรื่องราวของสภาพธรรมได้ตามพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่ว่าสภาพธรรมที่เรากล่าวถึง หรืออ่าน หรือคิด ก็เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่เหลือเลย นอกจากสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วหมดไปเรื่อยๆ สิ่งที่เหลือคือนิมิต ของไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) หรือลักษณะของเจตสิกต่างๆ ความโกรธไม่ใช่หนึ่งขณะที่เกิด แต่ว่าสามารถที่จะรู้การเกิดดับสืบต่อในความเป็นลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นความโกรธ หรือว่าลักษณะต่างๆ ของสภาพธรรม แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็ว ประมาณไม่ได้ จนหลอกลวงให้เห็นเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่เราเข้าใจว่ามีจริงเช่น คน ก่อนฟังธรรมมีคนรูปร่างต่างๆ มีสัตว์รูปร่างต่างๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จะค่อยๆ คลายการที่ยึดถือโดยความไม่รู้ว่ามีคนจริงๆ มีสัตว์จริงๆ ไม่ได้เกิดดับเลย นี่คือเพียงขั้นเริ่มที่จะเข้าใจความต่างของบัญญัติ และปรมัตถ์ เราใช้คำนี้บ่อยๆ ปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แต่ว่าจริงๆ แล้วขณะนี้เอง ขณะใดที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใดของสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ลักษณะนั้นมีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้ว ก็สืบต่อจนกระทั่งเสมือนว่าไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นการที่จะไปรู้ว่าขณะนี้เป็นจิตที่เป็นกุศลจิตต่างกับอกุศลจิต จะรู้เมื่อไร ถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมเสียก่อน กุศลจิตเกิดแล้วดับเร็วไหม อกุศลเกิดดับเร็วไหม แล้วก็ไม่รู้ลักษณะนั้นเลย แล้วก็จะไปพยายามคิดว่าจะต่างกันอย่างไร ๒ อย่าง แต่ว่าถ้าจะคิดก็ต่างโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้ลักษณะของเจตสิกก็ไม่ได้ปรากฏว่าต่างกับจิต แต่ว่าเพียงขั้นฟังเข้าใจว่าที่จิตเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าจะรู้จริงๆ ก็คือต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรม และรูปธรรมก่อน และลักษณะนั้นก็ปรากฏอย่างนั้นตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ความละเอียดของปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความต่างได้ยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของความเป็นตัวตนที่เราโกรธ กับลักษณะของอกุศลจิตที่โกรธนั้นก็ยังไม่ปรากฏเด่นชัดให้เราทราบได้ ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นธาตุที่ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นธาตุที่ไม่ใช่เรา แล้วจะไปให้อะไรปรากฏ อะไรที่คุณสุกัญญากล่าว เช่น ความรู้สึกมีจริงๆ เป็นนิมิตของเวทนา เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะนั้นจนกระทั่งรู้ในความเป็นธาตุ ในความไม่ใช่ตัวตน เริ่มต้นด้วยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก่อน ไม่ใช่ว่าขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งเวทนาเจตสิก ทั้งโทสเจตสิก แล้วจะให้อะไรปรากฏให้รู้ไปหมดว่าอะไรเป็นเวทนา อะไรเป็นโทสะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแม้ในขณะนี้ตามความเป็นจริงก็ไม่มีเรา แต่ว่ามีนามธรรม และรูปธรรมซึ่งยังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงในความต่างกัน เช่น ในขณะที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏที่จะรู้ว่าเป็นเพียงรูปเท่านั้นที่ปรากฏทางตา ส่วนการที่จะรู้ว่าเป็นบุคคลนั้น เป็นสิ่งนี้ เป็นเพราะความจำซึ่งไม่ใช่ขณะที่เห็นเพราะขณะที่เห็นสั้นมาก เล็กน้อยมาก ถ้าไม่ได้รู้อย่างนี้ก็คือว่าเรายังไม่ได้รู้ความจริงของแต่ละนามที่มีลักษณะที่ต่างกัน และเราจะไปรู้ถึงว่าขณะนั้น เวลาที่ความรู้สึกปรากฏ และจะไปให้โทสะปรากฏด้วย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อะไรที่ปรากฏขณะนั้น ปรากฏสั้นมาก แล้วก็ดับไป ขณะนี้กำลังฟังเรื่องของความรู้สึก ความรู้สึกเกิดกับจิตทุกขณะปรากฏหรือไม่ว่าขณะนี้ความรู้สึกเป็นความรู้สึกอะไร ประเภทไหน

    ผู้ฟัง ไม่ได้ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร จะไปให้โทสะปรากฏ จะไปให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ปรากฏ

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรมก็คือความคิดนึกโดยตลอด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่คือความต่างขั้นของปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นพิจารณาค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และปัญญาที่สามารถจะเข้าใจลักษณะที่สติกำลังรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริงตรงกับที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง ขณะหลงลืมสติกับลักษณะของสติเกิดซึ่งเป็นสติขั้นเข้าใจหรือขั้นฟัง นั้นก็เป็นความคิดนึกอยู่ดี ไม่ได้เป็นลักษณะปรมัตถ์ที่แท้จริง แม้แต่ลักษณะของการระลึกได้ที่เป็นสติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    28 ม.ค. 2567