พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233


    ตอนที่ ๒๓๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ผมมีความติดใจอยู่ เช่น สมมติว่าเราศึกษาธรรมจนได้เป็นพระอริยบุคคล ความเป็นพระอริยบุคคลยังสืบต่อไปถึงชาติถัดๆ ไป ทีนี้ถ้าเป็นปุถุชนเมื่อตายไปแล้ว สมมติตายแล้วกลับมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ โอกาสที่จะลืมสิ่งที่เคยรู้มานั้นจะลืมไปเพราะว่าใช้เวลาที่อยู่ในครรภ์มารดาของผู้เป็นแม่ถึง ๙ เดือน บางทีก็ลืมไปหมด แม้แต่เราทุกวันนี้ เมื่อวานนี้ทานข้าวกับอะไร บางทียังจำไม่ได้ แต่พระอริยบุคคลไปเกิดใหม่เป็นเทวดา ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงนิดเดียวก็น่าจะจำได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นคนที่เกิดเป็นมนุษย์มีสิทธิ์ที่จะลืมสิ่งที่รู้มาตั้งแต่ชาติที่แล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ขอความเข้าใจ เพราะเหตุว่าการสนทนาธรรมก็เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ถูกต้อง เมื่อครู่นี้ คุณวิจิตรกล่าวถึงเรื่องในที่นี้มีบุคคลที่ไม่ยอมรับว่าเป็นพระอริยบุคคล หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ผมว่ามันน่าจะมี

    ท่านอาจารย์ ทำไมคาดคะเน

    ผู้ฟัง เพราะว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เดาไม่ได้ สิ่งใดก็ตามไม่ควรที่จะสงสัยแต่ต้องรู้จริง เพราะฉะนั้นแทนที่จะพูดประโยคซึ่งคนที่ฟังเขาก็สงสัย นี่อะไรกัน ที่นี่มีบุคคลที่ไม่ยอมรับว่าเป็นพระอริยบุคคล ก็ควรที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่ใช่เรื่องเดา ไม่ใช่เรื่องคิด ไม่ใช่เรื่องสงสัย แต่ต้องเป็นเรื่องที่รู้จริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นโมฆะไปที่ว่าคุณวิจิตรกล่าวอย่างนี้

    ขอกล่าวเรื่องของศรัทธา ใครจะรู้ดีกว่าใคร หรือไม่ว่าใครมีศรัทธาเท่าไร มาก หรือน้อย นอกจากตัวเอง เพราะเหตุว่าแม้แต่การที่จะสนใจฟังธรรม หรือกุศลประการใดก็ตามมีไม่ได้โดยไม่มีศรัทธา เพราะศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ขณะนั้นจิตปราศจากอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดมีศรัทธา แต่จะศรัทธาระดับใด ระดับของทาน สามารถที่จะสละวัตถุให้บุคคลอื่นก็เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปในกาม ก็เป็นกามาวจรกุศล ศรัทธาในศีล เพราะเมื่อมีศรัทธาจิตผ่องใสเป็นกุศล การที่จะไปเบียดเบียนคนอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนในแต่ละวัน ก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่สะสมมาตามความเป็นจริง เมื่อเกิดขึ้นว่าขณะนั้นเบียดเบียนใคร หรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียว เบียดเบียนโดยการโกง การทุจริต แม้ในการแข่งขัน ในการเล่นกีฬา หรือในการอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่เบียดเบียน ขณะนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีศรัทธาไม่ได้ เพราะเหตุว่าศรัทธาต้องเป็นไปในขณะที่กุศลจิตเกิด ด้วยเหตุนี้แต่ละคนก็มีชีวิตประจำวันเป็นไปในทางต่างๆ แล้วแต่กิจการงานหน้าที่ เพราะฉะนั้นขณะนั้นมีอกุศลจิต หรือกุศลจิตเกิดย่อมรู้ได้ และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า เหตุใดอกุศลจิตเกิด ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีศรัทธา ถ้ามีศรัทธาจิตต้องผ่องใส และก็ไม่สามารถที่จะกระทำอกุศลใดๆ ได้เลย เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นผู้มีศรัทธา การกระทำทางกาย ทางวาจาเพราะศรัทธาก็เป็นไปในทางกุศลด้วย เป็นไปในระดับของศีลที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น และก็ยังเป็นไปในทานด้วย แต่ก็ยังไม่พอ นอกจากศรัทธา และศีลแล้วก็ยังมีการฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ โดยไม่ได้ฟัง จะคิดอย่างไรก็ไม่มีทาง กี่ภพกี่ชาติก็มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนกระทั่งหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้แต่คำแรกว่า “ธรรม” เมื่อไรที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าขณะนี้มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นธรรม เพียงนี้ก็ตรงเป็นผู้ตรงซึ่งต้องอาศัยการฟัง เพราะฉะนั้นศรัทธาจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความเข้าใจธรรมขึ้น และศีลก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นศีลที่ละเอียดกว่าเพียงขั้นศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุตามกำลังของศรัทธา ด้วยเหตุนี้ทั้งหมด ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา หิริโอตัปปะเป็นกุศลธรรมทั้งหมด ซึ่งเวลาที่เกิดศรัทธาก็จะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท และผู้นั้นก็จะรู้ได้ขณะใดที่อกุศลประเภทใดเกิด ขณะนั้นศรัทธามั่นคงไหม ไม่มั่นคง จากปุถุชนซึ่งหนาแน่นด้วยอกุศล กว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันซึ่งไม่ล่วงทุจริตทางกาย วาจา ๕ ประการที่เป็นนิจศีล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นก็จะมีการที่ศรัทธาเกิดเมื่อไร ศีลก็มีเมื่อนั้นได้ แต่ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นศรัทธาก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธาที่มั่นคงจึงเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ขอคำอธิบาย "อริยทรัพย์ " ว่า ทรัพย์ คืออะไร และ อริยทรัพย์ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ฟังชื่อ เพราะฉะนั้นที่ได้ฟังนี่ปลื้มใจ หรือไม่? " ทรัพย์ " คือ เครื่องปลื้มใจ สิ่งที่ทำให้เราปลาบปลื้ม เพราะเหตุว่าคนที่ทรัพย์ทางโลก พอมีทรัพย์เข้าก็สบายใจ ไม่เดือดร้อน แต่นั่นยังเป็นทรัพย์ที่สาธารณะทั่วไปกับอันตรายต่างๆ โจรก็ลักพาได้ น้ำก็พัดพาไปได้ ซึ่งทุกคนก็ได้เห็นตัวอย่าง ทายาทซึ่งไม่เป็นที่รักก็มีมากที่ทรัพย์เหล่านั้นจะหมดสิ้นไป แต่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ใครก็ไม่สามารถที่จะนำไปได้ หรือว่าเอาไปได้ก็คือ "ทรัพย์ภายใน หรือ เครื่องปลื้มใจ ได้แก่ ศรัทธา" เพราะ ฉะนั้นขณะที่กำลังฟังเรื่องนี้คือเรื่องของอริยทรัพย์ ปลื้มใจ หรือไม่ จะได้รู้ว่ากำลังของศรัทธา และทรัพย์มีแค่ไหนในขณะที่ได้ฟัง มิฉะนั้นเราก็ฟังเรื่องของบุคคลอื่น เช่น พระอริยบุคคล ทรัพย์ของท่านนี้เป็นอริยทรัพย์แน่นอน เพราะว่ากว่าที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านต้องมีความเข้าใจในขั้นของการฟังที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ว่า ปัญญาที่จะสามารถดับกิเลสได้ ละคลายความสงสัย ต้องเป็นปัญญาที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือการฟัง ก็ต้องมีการฟังหลายขั้น ฟังเพียงชื่อ ฟังเพียงเรื่องราว แล้วก็จำชื่อ จำเรื่องราว กับการฟัง และก็รู้ว่าขณะที่กำลังฟังนี่เอง จริงๆ แล้วขณะนั้นมีศรัทธา แต่ศรัทธาที่ฟังประกอบด้วยปัญญามากแค่ไหน และก็พอที่จะรู้สึกถึงความปลื้มใจ หรือยัง หรือว่ายังไม่ปรากฏความปลื้มใจ เพียงแต่ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าแม้แต่ศรัทธา คือ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ก็จะมีกำลังที่ต่างกันมาก และละเอียดด้วย ซึ่งแต่ละคนก็ได้สะสมมาที่จะรู้ตัวเองว่าขณะนี้ไม่ต้องไปถามเรื่องของอริยทรัพย์ หรือทรัพย์ของคนอื่น แต่ของตนเอง ขณะที่กำลังฟังมีความปลื้มแค่ไหน หรือ เพียงแต่เริ่มจะเข้าใจ ถ้าเริ่มจะเข้าใจก็เริ่มจะปลื้ม แต่ยังไม่ถึงกับปลื้มที่ได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง หรือว่าได้ประจักษ์ความจริงนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่าทรัพย์ที่มีที่เป็นเครื่องปลื้มใจ ไม่ใช่เพียงวัตถุภายนอกซึ่งหมดไปได้ แต่ทรัพย์ที่เป็นเครื่องปลื้มใจที่เป็นภายใน คือ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา หิริโอตัปปะ กล่าวอย่างนี้ได้ไหม หรือต้องกลับไปเรียงให้ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องไปสนใจที่จะเรียงด้วยความเป็นเรา แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจจริงๆ แม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงว่าทรงแสดงโดยลำดับก็มี เพราะเหตุว่าถ้าไม่กล่าวตามลำดับก็ได้ แต่ว่าที่กล่าวตามลำดับก็มี นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเพื่อความเข้าใจ มิฉะนั้นความเป็นเราก็จะติดหลายอย่าง ขณะที่กำลังสับสนว่า แล้วข้อไหนจะมาก่อน ข้อไหนมาทีหลัง ปลื้มใจ หรือไม่ตอนนั้น ก็ไม่ปลื้มใจ แต่ว่าสามารถที่จะมีความเข้าใจในแต่ละลักษณะของสภาพธรรม เช่น ลักษณะของศรัทธา สภาพที่ผ่องใส ขณะนี้กำลังมี เมื่อกุศลจิตเกิดแต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นกำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่กว่าจะรู้จริงๆ และจิตจะผ่องใสขึ้นตามลำดับ เพราะปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมนั้นก็ต้องอบรมจนกว่าจะถึงความเป็นอริยทรัพย์ของพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง “ศรัทธา” เป็นโสภณธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง หากมีศรัทธามาก ล้นขึ้นมา ระดับไหนที่เรียกว่าเป็นศรัทธาที่เป็นโสภณ ระดับไหนที่เลยโสภณไป มี หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาล้นเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง คนบางคนนี่เข้าวัด หลับหูหลับตาเข้าวัด หลับหูหลับตาทำทาน นั่นคือศรัทธาที่ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องดึงเครื่องรั้งเอาไว้ ก็เลยกลายเป็นล้นไป ผมคิดเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมละเอียดมาก สิ่งที่เรากล่าวถึงยังไม่ได้ปรากฏแม้เพียงอย่างเดียวถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เรากำลังพูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องราว เป็นนิมิตของสิ่งที่ปรากฏเหมือนจริง เช่น มีสิ่งที่ปรากฏจริงแต่เป็นคนเป็นสัตว์ นี่ก็แสดงให้เป็นว่าไม่ได้รู้การดับไปของรูปที่ปรากฏทางตาซึ่งมีอายุที่สั้นมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้ต้องทราบด้วยว่าเรากำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง แต่ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่รู้ลักษณะนั้น ลักษณะนั้นก็ไม่ปรากฏ ยังไม่สามารถที่จะรู้จริงได้ เช่นศรัทธา เราได้ยินชื่อ เป็นสภาพที่ผ่องใสเกิดร่วมกับโสภณจิต กุศลจิตเกิดขณะใด ขณะนั้นต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเรากล่าวถึงขณะจิตซึ่งละเอียดมาก เพราะชั่วขณะที่เห็น ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นจิตประเภทวิบาก สิ่งนี้ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้ได้ไหมว่าจิตขณะนี้ต่างกับขณะที่เป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่ชั่วขณะที่จิตดีงามเกิดขึ้นสลับกับเห็น เราก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกได้ใช่ไหมว่าขณะเห็นไม่ใช่กุศล เพราะขณะเห็นเป็นวิบาก หลังจากนั้นจิตผ่องใสเป็นกุศล และถ้ามีอกุศลเกิดแทรก เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นมีอกุศลเกิดแทรก เมื่อเสียงปรากฏปกติทั่วๆ ไป ปัญญาไม่ได้เกิดที่จะรู้ลักษณะของเสียง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็จะมีอวิชชา คือ ความไม่รู้ และมีการที่พอใจ หรือไม่พอใจในเสียงนั้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวว่าศรัทธาเกิน หรือล้นก็เพราะเหตุว่าเราเข้าใจผิดเพราะรวมทุกอย่างว่าเป็นศรัทธา เช่น ในขณะที่กำลังนั่งขณะนี้เหมือนกับกุศลจิตเกิดตลอด แต่ความจริงไม่ใช่ มีวิบากจิตเกิดสลับ และมีอกุศลเกิดสลับด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ศึกษาด้วยความละเอียดที่จะเข้าใจว่าขณะใดที่อกุศลจิตเกิดแม้เพียงเล็กน้อยบางเบาสักเท่าไร ขณะนั้นก็ไม่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ศรัทธาไม่มีคำว่าล้น

    ผู้ฟัง ฟังคำอธิบายก็เชื่อแล้วว่าศรัทธาเป็นโสภณอย่างเดียว สติเป็นโสภณอย่างเดียวไม่มีอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ กุศลเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะที่ศรัทธาเกิด ขณะนั้นจะเป็นไปในอะไร ก็ต้องเป็นศีล เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีการล่วงอกุศลทางกาย วาจา และขณะใดที่มีความประพฤติเป็นไปในการเกื้อกูลด้วยการช่วยเหลือ ขณะนั้นก็เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจาซึ่งเป็นไปในศีล เวลาที่มีการสงเคราะห์บุคคลอื่นด้วยวัตถุเป็นไปในการให้ ขณะนั้นก็เป็นทาน แต่ต้องเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ถ้าไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ภาวนา ขณะนั้นก็เป็นกุศล เป็นศีล เพราะไม่ล่วงทุจริต

    ผู้ฟัง เรียนถามถึงเรื่องลักษณะของสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น

    ผู้ฟัง กำลังเห็น เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ "เห็น" เป็นสภาพที่รู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมต่างกัน ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิด มีลักษณะเฉพาะสภาพธรรมนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เช่น " แข็ง " แข็ง ก็เห็นไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ สุขทุกข์ไม่ได้ แต่ "เห็น" มีจริง ขอให้คิดถึงความจริงของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะยากจริงๆ ที่จะรู้ว่าธาตุชนิดนี้เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ขณะนี้จิตเห็นเกิดจึงเห็น ทำกิจเห็น จิตได้ยินเกิดทำกิจได้ยิน เสียงปรากฏได้เพราะมีจิตที่ทำกิจได้ยินเสียงนั้น นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปร่าง แต่ความน่าอัศจรรย์คือธาตุนี้คือมีจริงๆ และเป็นธาตุที่เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย จะไม่รู้ไม่ได้เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ กำลังเห็นนี่ ไม่ใช่ไม่เห็นใช่ไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นสภาพรู้ คือสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ขอถามถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะเห็น สภาพที่สามารถเห็น รู้ว่าขณะนี้สิ่งนี้กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น สีสันวัณณะขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ปรากฏให้เห็น สามารถเห็น สภาพที่สามารถเห็น นั่นคือลักษณะของสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วไม่รู้อะไร เป็นสภาพที่สามารถคิด ขณะที่กำลังคิดก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้คำ รู้เรื่อง หรือสามารถที่จะจำลักษณะสัณฐานต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นสภาพรู้ โต๊ะ เก้าอี้ แข็งอ่อน เย็นร้อน ไม่ได้จำอะไร แต่ขณะใดที่จำขณะนั้นก็เป็นสภาพของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ขณะที่ขุ่นเคืองใจมีจริงๆ ลักษณะนั้นก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมก็มีลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งต้องเกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่น เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จิตรู้สิ่งใด เจตสิกก็รู้สิ่งนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิก ก็เกิดที่เดียวกัน และก็ดับพร้อมกันด้วย

    ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร ท่านอาจารย์บอกเห็น ดิฉันก็เห็นจริงๆ แต่ไม่เข้าถึงลักษณะตรงที่เห็น ตรวจต่อ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจตามลำดับ เห็นมี ถูกต้องไหม แต่ยังไม่รู้ลักษณะเห็น นี่คือความถูกต้อง แต่รู้ว่ามี เพราะฉะนั้นผู้ที่สามารถประจักษ์ลักษณะของเห็นต้องมี เพราะว่าเห็นมีจริงๆ นี่แสดงให้เห็นว่ากว่าจะดับกิเลสได้โดยการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมากเพราะเหตุว่าไม่รู้มานานแสนนาน การที่จะให้เกิดการรู้การเข้าใจในทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้เห็น กำลังเห็น ก็ยังต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะถึงด้วยสติสัมปชัญญะตรงลักษณะที่เห็นในสภาพที่เป็นเพียงสภาพรู้

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจยากมาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าง่ายก็เป็นพระโสดาบันเร็ว ถ้าไม่อาศัยการฟังเลย จะเข้าใจคำว่า “นามธรรม” ว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็คงไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อฟังแล้ว เริ่มเห็นความต่างของรูปธรรม และนามธรรม ด้วยขั้นฟัง ว่าต้องมีสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรมนี้แน่นอน แม้มีจริงๆ เกิดดับอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริงๆ ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริง นี่คืออวิชชา เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่า “อวิชชา”ๆ ไม่รู้อะไร ไม่ต้องไปหาที่ไหน กำลังไม่รู้ลักษณะที่กำลังเห็นนี้คืออวิชชา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ไม่สามารถที่จะแทงตลอดได้จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น กว่าจะคลายจนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับของเห็น และการเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจ หรือไม่เข้าถึงทุกขอริยสัจ ทุกข์ที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลเพราะได้รู้สภาพธรรมซึ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าสิ่งที่มีจริงเป็นจริงอย่างนี้ก็ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ให้ไปแสวงหาอย่างอื่น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเพราะว่ากำลังปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วไม่รู้ ก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาต้องมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าอวิชชาขณะนี้ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าถึง หรือถึงลักษณะนั้นได้จนกระทั่งประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกว่าเหมือน เลยเห็นไป เหมือนกับว่าไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังให้เข้าใจว่าจิตนี่เกิดดับเร็วขนาดไหน แค่ไหน ประมาณไม่ได้ จึงไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วในขณะนี้เอง ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมนั้นก็ดับแล้ว และก็เกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความฝัน หรือไม่

    ผู้ฟัง อยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ ว่าอยู่ในโลกของความฝันจะไม่คลายความติดข้องเพราะยังคิดว่ามีจริงๆ เป็นเราด้วย เป็นของเราด้วย แต่ความจริงไม่ใช่ ที่เคยอุปมาว่าในฝันได้อะไรตั้งหลายอย่าง เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอย่างที่ได้ ฉันใด ขณะนี้ก็คิดว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้ดับ แต่ว่าความจริงสิ่งที่ปรากฏนี้ดับไปตลอดเวลาไม่เหลือเลย

    อ.นิภัทร ต้องรู้ไปตามลำดับ เพราะญาณคือความรู้ ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยคำว่า “สัจจญาณ” ก่อน สัจจญาณคือการรู้ว่ามีธรรมอย่างนั้นจริงๆ ไม่มีเปลี่ยนแปลง จริงๆ ทางตามีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ ใครจะพูดอย่างอื่นไม่ใช่ ต้องเป็นอย่างนี้ ทางหูมีได้ยินกับเสียงจริงๆ ใครพูดอย่างอื่นไม่รู้ ไม่ใช่ ต้องให้เข้าใจชัดเจนอย่างนี้ มั่นคงอย่างนี้ ขั้นนี้ยังไม่ต้องประจักษ์ ยังประจักษ์ไม่ได้ เป็นแค่ขั้นสัจจญาณ เป็นความรู้ขั้นเข้าใจธรรมว่ามีอยู่จริงๆ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ มีจริงๆ เรามั่นคงจะได้ไม่ไขว้เขว หรือเอนเอียงๆ ไปตามที่ใครมาชักจูงแนะนำ ต้องอย่างนี้เท่านั้นเป็นสัจจญาณธรรมดา ยังไม่ประจักษ์อะไร ขั้นต่อไปขั้นกิจญาณนี่ขั้นประจักษ์คือเมื่อเข้าใจแล้ว ประจักษ์ก็ประจักษ์อย่างที่เข้าใจ แต่เป็นการประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ต่อไปก็ถึงขั้นกตญาณ ขั้นประจักษ์แล้ว ต้องเป็นไปตามลำดับ เพิ่งจะเรียนขั้นประถม แล้วจะไปสอบขั้นปริญญาตรีนั้นไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไปเป็นไปตามลำดับ สิ่งนี้เป็นความรู้ที่เราจะต้องค่อยๆ เป็นไป ขั้นสัจจญาณนี่ก็ให้เข้าใจให้ดี ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะถูกเขาจูงจมูกไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567