มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร


    สำหรับการที่จะสงเคราะห์บุคคลทั้งหลาย อย่าลืมว่าบุคคลที่ท่านควรจะสงเคราะห์ที่สุดนั้น คือ ผู้ที่มีคุณต่อท่าน

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาตุโปสกสูตร ที่ ๙ (ข้อ ๗๑๓) มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น มาตุโปสกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ชื่อว่า ทำกิจที่ควรทำหรือไม่

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชอบยิ่งพราหมณ์ ท่านทำดังนี้ชื่อว่า ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ด้วยว่าผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ผู้นั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก

    พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว บุคคลนั้นละไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว มาตุโปสกพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

    สังเกตพยัญชนะที่ว่า เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว

    ความหมายของบัณฑิต ในพระสูตรมีความหมายที่ลึกซึ้งด้วย คือ หมายความถึงบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น บัณฑิตที่นี่รวมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

    แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบัณฑิต ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว ไม่ใช่ว่าเวลาที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หรือว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นมารดาบิดา รู้สภาพตามความเป็นจริง และรู้คุณธรรมที่พึงปฏิบัติ รู้ว่าคุณธรรมเช่นใดที่เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมทำให้ประสบบุญเป็นอันมากทีเดียว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703


    พหุภาณีสูตร เริ่มนาที 02:56

    ขอกล่าวถึงเรื่องของการพูด ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน พหุภาณีสูตร ซึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ละท่านจะพูดมากพูดน้อยประการใด ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พหุภาณีสูตร ข้อ ๒๑๔ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ๕ ประการ เป็นไฉน คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ไม่พูดเท็จ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    พระสูตรนี้เพียงแต่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ท่านเป็นผู้พูดมาก หรือว่าท่านเป็นผู้พูดพอประมาณ ถ้าท่านเป็นผู้ที่พูดมาก ลองระลึกดูว่า จิตประเภทใดทำให้เกิดคำพูดต่างๆ เหล่านั้น ถ้าเป็นผู้ที่พูดมาก มีเรื่องมากที่จะพูด เป็นไปได้ไหมที่อาจจะพูดเท็จบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง พูดคำหยาบบ้าง หรือพูดเพ้อเจ้อบ้าง ซึ่งถ้าท่านผู้ใดพูดอย่างนี้ ก็เพราะว่าสะสมมาที่จะเป็นผู้พูดมากอย่างนี้ เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่พูดมาก คำพูดของท่านส่วนมากเป็นอย่างไร เป็นการพูดเท็จมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดส่อเสียดมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดคำหยาบมากหรือน้อย หรือไม่มี เป็นการพูดเพ้อเจ้อบ้างหรือไม่ บางท่านพูดมาก พูดสนุก แต่ไม่ใช่พูดเท็จ ไม่ใช่พูดส่อเสียด ไม่ใช่พูดคำหยาบ แต่เมื่อพูดมากแล้ว คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ย่อมมี ซึ่งเป็นคำพูดเพ้อเจ้อ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านรู้สภาพธรรมที่ท่านสะสมมา และรู้เหตุปัจจัยที่ให้กล่าววาจาอย่างนั้นๆ การที่รู้ความจริงอย่างนั้น จะทำให้ท่านสามารถที่จะสะสมอุปนิสัย ในการที่จะเปลี่ยนจากคำพูดที่เกิดเพราะอกุศลจิต ให้เป็นคำพูดที่เกิดเพราะกุศลจิต เพราะถ้าเคยเป็นคนพูดมาก จะให้เปลี่ยนเป็นคนพูดน้อยก็ยาก ต้องอาศัยการอบรมสะสมปัจจัยต่อไปอีกมากทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าจะพูดมาก ถ้าระลึกได้ และพูดน้อมไปในเรื่องที่เป็นกุศล ก็ย่อมจะกระทำได้ ในการที่จะให้คำพูดน้อมไปในธรรม ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ฟังและสำหรับตัวท่านผู้พูดด้วย เพราะว่าคำพูดที่เป็นไปในธรรมในกุศลธรรมนั้น ย่อมเป็นการที่จะเตือนให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้

    ท่านที่มีมิตรสหาย และเคยคุยกันด้วยเรื่องต่างๆ พอศึกษาธรรมแล้ว สนทนากันเรื่องธรรมได้ไหม ก็ได้ จิตน้อมไปในธรรม มีโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมชัดเจนละเอียดขึ้น และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยเฉพาะเมื่อเป็นการสนทนากันในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

    บางท่านก็มีปัญหา พอสนทนากันในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ สติก็เกิดได้ ท่านก็มีปัญหาว่า พอสติเกิดก็เหมือนกับเป็นตัวตน คล้ายๆ กับมีตัวตนได้ยินว่า ให้สติเกิด สติจึงได้เกิดขึ้น ซึ่งตามความเป็นจริง สติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อเคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อสติเกิดก็ยังคิดว่าเป็นตัวตนที่ให้สติเกิด เพราะได้ยินว่าควรให้สติเกิดในขณะนั้น ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนมีอยู่มากเหลือเกิน ในขณะที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดปรากฏ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 484

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ