คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)


    ขุททกนิกาย คันธารวรรคที่ ๒ อรรถกถาคันธารชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า

    ที่พระนครราชคฤห์ สมัยนั้น เมื่อคนทั้งหลายพากันเลื่อมใสในท่าน พระปิลินทวัจฉะ ชาวพระนครราชคฤห์ได้ส่งเภสัชทั้ง ๕ ไปถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ ท่านได้แจกจ่ายเภสัชเหล่านั้นแด่บริษัทของท่าน ซึ่งภิกษุเหล่านั้นเก็บของที่ได้มาไว้ เต็มกระถางบ้าง หม้อบ้าง ถลกบาตรบ้าง เมื่อคนทั้งหลายเห็นเข้าพากันยกโทษว่า สมณะเหล่านี้มักมาก เป็นผู้รักษาคลังภายใน (คือ เป็นผู้สะสมสิ่งของ)

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่าด้วยการสะสมเภสัช และได้ตรัสว่า ในอดีตกาลเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ บัณฑิตสมัยก่อนบวชเป็นนักบวชในลัทธิภายนอก แม้รักษาเพียงศีล ๕ ก็ไม่เก็บก้อนเกลือไว้เพื่อประโยชน์ ในวันรุ่งขึ้น ส่วนภิกษุทั้งหลายบวชในศาสนาที่นำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เมื่อพากันสะสมอาหารไว้เพื่อประโยชน์แก่วันที่ ๒ วันที่ ๓ ชื่อว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร และ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องในอดีต พระองค์ตรัสว่า

    ในอดีตกาล พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าคันธาระในคันธารรัฐ ในครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระเจ้าวิเทหะในวิเทหรัฐ พระราชาทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงเป็น พระสหายที่ไม่เคยเห็นกัน แต่ทรงมีความคุ้นเคยกันอย่างมั่นคง

    ในวันอุโบสถกลางเดือน พระเจ้าคันธาระทรงสมาทานศีลเป็นครั้งคราว แล้วเสด็จไปประทับบนพระแท่นภายใน ตรัสถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรมแก่ เหล่าอำมาตย์ทั้งหลาย ขณะนั้นพระเจ้าคันธาระทรงทอดพระเนตรท้องฟ้าทาง พระบัญชร ทรงเห็นพระราหูบดบังดวงจันทร์เต็มดวง ทำให้แสงจันทร์หายไป พระองค์ทรงพระดำริว่า พระจันทร์นี้เศร้าหมองอับแสงไปเพราะสิ่งเศร้าหมองที่จรมา แม้ข้าราชบริพารนี้ก็เป็นเครื่องเศร้าหมองสำหรับเราเหมือนกัน

    พระองค์ทรงพระดำริว่า เราจักละราชสมบัติออกบวช เหมือนดวงพระจันทร์สัญจรไปในท้องฟ้าที่บริสุทธิ์ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรด้วยผู้อื่นที่เราตักเตือนแล้ว เราจักเป็นเสมือนผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยตระกูลและหมู่คณะ ตักเตือนตัวเองเท่านั้นเที่ยวไป

    การสะสมในครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ พิจารณาถึงโยนิโสมนสิการที่เจริญขึ้น คือ มองเห็นว่า แม้การจะตักเตือนผู้อื่นก็เป็นภาระ เพราะว่าประโยชน์ก็แล้วแต่ว่าจะ ได้มากหรือได้น้อยสำหรับผู้ได้รับการตักเตือน แต่สำหรับประโยชน์ของตนเองก็ มองเห็นว่า การมีบริวารหรือมีผู้ที่จะต้องตักเตือนนั้นยังเป็นภาระอยู่

    พระองค์ทรงมอบราชสมบัติให้แก่เหล่าอำมาตย์ แล้วให้แต่งตั้งอำมาตย์ที่อำมาตย์ทั้งหลายเห็นสมควรให้เป็นพระราชา

    เมื่อพระเจ้าวิเทหะทรงทราบว่า พระเจ้าคันธาระทรงออกผนวชแล้ว ก็ทรง สละราชสมบัติ ทรงผนวช แล้วประทับที่ดินแดนหิมพานต์เช่นเดียวกัน

    ภายหลังดาบสทั้งสองได้มาพบกัน ไม่รู้จักกัน แต่กระนั้นทั้งสองต่างก็ชื่นชมกันประพฤติพรตและอาจาระสม่ำเสมอกัน

    ครั้งนั้น วิเทหดาบสทำการอุปัฏฐากท่านคันธารดาบส และในวันเพ็ญคืนหนึ่ง เมื่อท่านทั้ง ๒ นั่งกล่าวกถาที่ประกอบด้วยธรรมกัน ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง พระราหู บดบังดวงจันทร์อีก ท่านคันธารดาบสก็กล่าวว่า ราหูเป็นเครื่องเศร้าหมองอย่างหนึ่งของพระจันทร์ ไม่ให้พระจันทร์ส่องแสงสว่าง เมื่อท่านเห็นดวงจันทร์ถูกราหูบังก็คิดว่า ราชสมบัตินี้เป็นเครื่องเศร้าหมอง จึงละราชสมบัติแล้วออกบวช

    เมื่อท่านวิเทหดาบสได้ฟัง ก็ได้ถามว่า

    ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านเป็นพระเจ้าคันธาระหรือ

    คันธารดาบสก็ตอบว่า

    ถูกแล้ว ผมเป็นพระเจ้าคันธาระ

    วิเทหดาบสก็กล่าวว่า ท่านเองก็เป็นพระเจ้าวิเทหะ ซึ่งเป็นสหายที่ยังไม่เคยเห็นกัน คันธารดาบสก็ได้ถามว่า เพราะเหตุใดท่านวิเทหดาบสจึงออกบวช วิเทหดาบสก็กล่าวว่า เมื่อได้ทราบว่าท่านคันธาระออกบวชก็บวชตาม เพราะคิดว่า ท่านคันธารดาบสคงได้เห็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงของการบวชแน่นอนแล้ว

    ตั้งแต่นั้นมา ดาบสทั้ง ๒ นั้นก็สนิทสนมในธรรมกันยิ่งขึ้น ท่านทั้งสองอยู่ในดินแดนหิมพานต์นั้นเป็นเวลานาน และได้ออกจากป่าหิมพานต์เพื่อต้องการลิ้มรสเค็ม รสเปรี้ยว ได้ไปสู่แดนตำบลหนึ่ง

    เมื่อคนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ได้ถวายภิกษา แล้วพากันสร้าง ที่พักกลางคืนให้ท่านอยู่ในป่า แม้ในระหว่างทางบิณฑบาต ก็ได้สร้างบรรณศาลาไว้ ในที่ที่มีน้ำสะดวก เพื่อต้องการให้ท่านทำภัตกิจในที่นั้น

    เมื่อท่านเที่ยวภิกขาจารที่บ้านชายแดนนั้นแล้ว นั่งฉันที่บรรณศาลาหลังนั้นแล้ว ก็ได้ไปที่อยู่ของตน

    คนที่เลื่อมใสศรัทธาเหล่านั้น เมื่อถวายอาหารท่าน บางครั้งก็ถวายเกลือ ใส่ลงในบาตร บางคราวก็ห่อใบตองถวาย บางคราวก็ถวายอาหารที่มีรสไม่เค็มเลย


    วันหนึ่งพวกเขาได้ถวายเกลือจำนวนมากในห่อใบตองแก่ท่านเหล่านั้น วิเทหดาบสถือเอาเกลือที่เขาถวายไปด้วย เวลาภัตกิจของพระโพธิสัตว์ก็ ถวายจนพอ ฝ่ายตนเองก็หยิบเอาประมาณพอควร ที่เกินต้องการก็ห่อใบตองแล้ว เก็บไว้ที่พุ่มหญ้าด้วยคิดว่า จักใช้ในวันที่ไม่มีเกลือ

    อยู่มาวันหนึ่งเมื่อได้อาหารจืด ท่านวิเทหดาบสได้ถวายภาชนะภิกษาแก่ ท่านคันธาระแล้ว นำเกลือออกมาจากระหว่างพุ่มหญ้าแล้วกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านอาจารย์ นิมนต์ท่านรับเกลือ

    คันธารดาบสถามว่า

    วันนี้คนทั้งหลายไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้มาจากไหน

    วิเทหดาบสกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านอาจารย์ ในวันก่อนคนทั้งหลายได้ถวายเกลือมาก กระผมจึง เก็บเกลือที่เกินความต้องการไว้ด้วยตั้งใจว่า จักใช้ในวันที่อาหารมีรสจืด

    พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกับวิเทหดาบสว่า

    โมฆบุรุษ ท่านละทิ้งวิเทหรัฐประมาณ ๓ ร้อยโยชน์มาแล้ว ถึงความไม่มีกังวลอะไร บัดนี้ยังเกิดความทะยานอยากในก้อนเกลืออีกหรือ

    เมื่อจะตักเตือนท่าน จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า

    ท่านละทิ้งหมู่บ้านที่บริบูรณ์ ๑๖,๐๐๐ หมู่ และคลังที่เต็มด้วยทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ยังจะทำการสะสมอยู่อีก

    ผลของการกล่าวตักเตือนจะเป็นอย่างไร โยนิโสมนสิการจะเกิดหรือยังไม่เกิด นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละท่านที่จะสะสมโยนิโสมนสิการไปจนกว่า จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งในครั้งนั้นท่านพระอานนท์ท่านเป็นวิเทหดาบส

    วิเทหดาบส ถูกตำหนิอยู่อย่างนี้ ทนคำตำหนิไม่ได้ กลายเป็นปฏิปักษ์ไป เมื่อจะแย้งว่า

    ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านไม่เห็นโทษของตัวเอง เห็นแต่โทษของผมอย่างเดียว ท่านดำริว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยคนอื่นที่เราตักเตือน เราจักเตือนตัวเราเอง ทอดทิ้งราชสมบัติออกบวชแล้ว แต่วันนี้เหตุไฉนท่านจึงตักเตือนผม

    วิเทหดาบสไม่เห็นโทษของตนเองและยังคิดว่า คันธารดาบสไม่เห็นโทษของตนเอง เห็นแต่โทษของวิเทหดาบส เพราะแม้คันธารดาบสก็ได้สละราชสมบัติ เมื่อไม่ปกครองคน ยังจะตักเตือนท่านทำไม

    ท่านวิเทหดาบสได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

    ท่านละทิ้งที่อยู่คือคันธารรัฐ พ้นจากการปกครองในราชธานีที่มีทรัพย์ พอเพียงแล้ว บัดนี้ยังจะปกครองในที่นี้อีก

    ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการแน่นอนที่ไม่ฟังคำตักเตือน และไม่เห็นประโยชน์

    พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า

    ท่านวิเทหะ เรากล่าวธรรม ความจริง เราไม่ชอบอธรรม ความไม่จริง เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ บาปก็ไม่เปรอะเปื้อนเรา

    เป็นการแสดงเจตนาของท่านที่กล่าวคำจริง ไม่ใช่มีเจตนาที่จะปกครอง วิเทหดาบส แต่มีเจตนาที่จะกล่าวคำที่เป็นสัจจธรรม

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ธรรมดาการให้โอวาทนี้เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

    คือ เป็นปกติที่ท่านจะโอวาท เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจก- พุทธเจ้า และพระสาวก และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

    ถึงคนพาลจะไม่รับเอาโอวาทที่ท่านเหล่านั้นให้แล้ว แต่ผู้ให้โอวาทก็ไม่มีบาปเลย

    คือ ผู้ที่มีเจตนากล่าวธรรม มีเจตนาที่จะแสดงสัจจธรรม ใครจะรับหรือไม่รับ ผู้ที่มีเจตนาแสดงสัจจธรรมก็ไม่มีบาปเลย

    และเมื่อจะแสดงธรรมอีก ท่านจึงกล่าวคาถาว่า

    ผู้มีปัญญา คนใดมักชี้โทษมักพูดบำราบ ควรเห็นผู้นั้นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้นจะมีแต่ความดีไม่มีความชั่ว คนควรตักเตือน ควรพร่ำสอน และควรห้ามเขาจากอสัตบุรุษ เพราะเขาจะเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ ไม่เป็นที่รักของเหล่าอสัตบุรุษ

    ถ้ามีคนตักเตือน และคำนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ที่จริง เป็นธรรม แต่อสัตบุรุษจะ ไม่รักคนที่ตักเตือน เพราะฉะนั้น แม้ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษก็ไม่เป็นไร ไม่น่าจะเดือดร้อน

    วิเทหดาบสก็ยังไม่พอใจ

    คือ แม้จะได้ฟังอย่างนี้ ก็ยังเป็นอโยนิโสมนสิการในขณะนั้น

    และได้กล่าวว่า

    ท่านอาจารย์ บุคคลแม้เมื่อกล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์อยู่ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมาก เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คม

    แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

    คนอื่นได้รับความแค้นเคืองเพราะคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้น จะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด

    ไม่ได้พิจารณาจิตของตนเองที่แค้นเคืองเลย แต่กลับกล่าวว่า คำพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรพูด ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็ยังยืนยันเจตนาที่หวังดีของท่านโดยกล่าวคาถาที่ ๕ กับวิเทหดาบสว่า

    ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด หรือจะเขี่ยทิ้ง เหมือนโปรยแกลบทิ้งก็ตาม เมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาป ย่อมไม่เปรอะเปื้อนเรา

    นี่ก็อดทนมาก พูดแล้วก็ต้องพูดอีก

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็การที่พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้ เป็นการดำรงอยู่ในการปฏิบัติที่สมควร แก่โอวาทของพระศาสดาที่ตรัสว่า

    ดูก่อน อานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลย เหมือนช่างหม้อไม่ทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักปราบแล้วปราบอีก ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้นก็จักดำรงอยู่ได้

    เมื่อจะตักเตือนวิเทหดาบสอีก เพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่านตักเตือนแล้ว ตักเตือนอีก จึงรับบุคคลทั้งหลายผู้เช่นกับภาชนะดินที่เผาสุกแล้วไว้ เหมือนช่างหม้อเคาะดูแล้วเคาะดูอีก ไม่รับเอาภาชนะดินที่ยังดิบไว้ รับเอาเฉพาะภาชนะดินที่ เผาสุกแล้วเท่านั้นไว้ฉะนั้น ดังนี้แล้ว คันธารดาบสจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

    ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่มีปัญญาของตนเอง หรือวินัยที่ศึกษาดีแล้วไซร้ คนจำนวนมากก็จะเที่ยวไปเหมือนโคตาบอดเที่ยวไปในป่าฉะนั้น

    แต่เพราะเหตุที่ธีรชนบางเหล่าศึกษาดีแล้วในสำนักอาจารย์ ฉะนั้น ธีรชนผู้มีวินัยที่ได้แนะนำแล้ว จึงมีจิตตั้งมั่นเที่ยวไปอยู่

    เมื่อวิเทหดาบสได้ฟังคำนั้นแล้วก็ได้ไหว้ขอขมาพระมหาสัตว์

    ไม่ได้คิดว่าจะโยนิโสอย่างไร หรือจะทำอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาที่จะทำอย่างนี้ ก็เป็นเพราะว่าได้สะสมมา แม้ว่าการฟังครั้งแรกจะยังแค้นเคือง ขุ่นเคือง แต่เมื่อได้ ฟังอีกๆ และได้เห็นเจตนาของผู้กล่าวว่า มุ่งแสดงธรรมที่เป็นสัจจธรรม ก็ทำให้ วิเทหดาบสระลึกได้ จึงไหว้ขอขมาพระโพธิสัตว์ และได้ขอให้พระโพธิสัตว์ตักเตือน พร่ำสอนท่านอีกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

    นี่คือโยนิโสมนสิการ ซึ่งทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมจะต้องเจริญต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงชาติสุดท้าย และสำหรับในชาติสุดท้ายที่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเห็นได้ถึงการปฏิบัติของพระองค์

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรคที่ ๔ ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ถูกคนที่เชื่อเรื่องที่พวกปริพาชกกล่าวร้ายพระองค์ บริภาษติเตียนพระองค์ด้วยเรื่องของนางสุนทรีปริพาชิกา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มุนีไม่เข้าถึง คือ พุทธมุนีไม่เข้าถึงการติเตียน เพราะไม่ได้ทำและเพราะ ไม่โกรธ

    และเมื่อทรงทราบว่า ภิกษุทั้งหลายถูกด่าว่าเย้ยหยันก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ เราเป็นผู้มีศีลมิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ควรนิ่งในเรื่องทั้งหมด แม้รู้อยู่ก็ไม่พูด เพราะคนพาลกับบัณฑิตเข้ากันไม่ได้

    และตรัสกับท่านพระอานนท์เพื่อประโยชน์ในการแสดงธรรมว่า

    ดูกร อานนท์ ภิกษุทั้งหลายควรโต้ตอบชนเหล่านั้นอย่างนี้ว่า คนพูดไม่จริง ย่อมตกนรก

    แสดงให้เห็นการเจริญของโยนิโสมนสิการจากในพระชาติที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นคันธารดาบส จนถึงเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติของพระองค์ คือ พุทธมุนีไม่เข้าถึงการติเตียน เพราะไม่ได้ทำและเพราะ ไม่โกรธ

    ท่านผู้ฟังก็คงจะประสบกับโลกธรรมฝ่ายเสื่อม คือ เสื่อมลาภบ้าง เสื่อมยศบ้าง ถูกนินทาบ้าง แต่ถ้าขณะนั้นโยนิโสมนสิการเกิดเพราะว่าได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด ได้พิจารณาเห็นประโยชน์ และรู้ว่าการที่โยนิโสมนสิการจะเจริญต้องอบรมจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ได้ทำ ท่านไม่ผิด ก็ไม่โกรธ เพราะว่า ท่านไม่ได้ทำ จะโกรธทำไม

    นอกจากนั้น ไม่เข้าถึงการติเตียน คือ ใครก็ย่อมติเตียนไม่ได้ ในเมื่อท่านเองไม่ได้ทำ และไม่โกรธด้วย ถ้าท่านไม่ได้ทำ และโกรธ คนอื่นก็ไม่ติเตียนในข้อที่ท่าน ไม่ทำ แต่ก็ติเตียนในข้อที่ท่านโกรธได้ แต่ถ้าถึงท่านไม่ได้ทำและได้รับโลกธรรมฝ่ายเสื่อม และไม่โกรธด้วย ก็ไม่มีใครที่จะติเตียนทั้งการไม่ทำและการไม่โกรธ

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ โดยการสะสม เวลาที่มีเหตุการณ์ที่ไม่น่า พอใจเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เป็นเรื่องราวที่อาจจะเคยโกรธถ้าโยนิโสมนสิการไม่เจริญ แต่ถ้าโยนิโสมนสิการเจริญขึ้นและระลึกได้ว่า ควรนิ่งในเรื่องทั้งหมด แม้รู้อยู่ก็ไม่พูด ก็เป็นการตัดปัญหาอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ตามเพื่ออนุเคราะห์เป็นประโยชน์ในการแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ภิกษุทั้งหลายควรโต้ตอบชนเหล่านั้นอย่างนี้ว่า คนพูดไม่จริง ย่อมตกนรก

    เป็นการเตือนให้ระลึกได้ว่า ใครก็ตามที่พูดไม่จริง ควรที่จะสังวรและเห็นโทษ และมีโยนิโสมนสิการที่จะไม่กระทำอย่างนั้นอีก

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในชีวิตประจำวันจริงๆ แม้ในขณะนั้นๆ สติปัฏฐานก็จะต้องเกิดเพื่อระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ เพราะว่า ในชีวิตประจำวันไม่มีใครเลือกได้ว่าจะได้โลกธรรมฝ่ายดี หรือโลกธรรมฝ่ายเสื่อม แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีโยนิโสมนสิการที่สะสมมาก็จะทำให้เจริญขึ้นได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ