กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)


    ทุกชีวิตที่เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ ไม่แน่นอนเลย มีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นช่วงเวลาของอกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้การสะสมของกุศลและอกุศลว่า ในกาลไหนจะเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก และในกาลไหน จะเป็นปัจจัยให้กุศลประเภทใดเกิดมาก เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศล

    เพื่อความไม่ประมาทในการเจริญกุศล ขอกล่าวถึงชีวิตของพระสาวกในอดีตท่านหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เป็นผู้ไม่ประมาท

    อรรถกถา ทวาทสนิบาต อรรถกถากามชาดกที่ ๔ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ณ พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาบันของพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งหักร้างถางป่า เพื่อทำไร่

    ก็เป็นชีวิตปกติธรรมดา

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ก็ได้ทรงแวะกระทำปฏิสันถารกับพราหมณ์ผู้นั้นว่า

    เธอทำอะไรล่ะ พราหมณ์

    เขากราบทูลว่า

    ข้าพระองค์หักร้างถางที่ทำไร่ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ พราหมณ์ กระทำการงานไปเถอะ

    แล้วก็เสด็จเลยไป

    พราหมณ์ผู้นี้จะได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ก่อนที่จะได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านก็เป็นผู้ที่หักร้างถางป่าเพื่อทำไร่

    พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปกระทำปฏิสันถารกับพราหมณ์นั้นบ่อยๆ ตั้งแต่ เวลาที่เขาเริ่มหักร้างถางป่า เวลาที่เขาขนต้นไม้ที่ตัดแล้วออกไป เวลาก่อคันนา จนถึงเวลาหว่านข้าว

    พราหมณ์นั้นคิดว่า ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมากระทำปฏิสันถารเนืองๆ นั้น คงเพราะต้องการภัตอย่างไม่ต้องสงสัย พราหมณ์นั้นจึงได้กราบทูลว่า ตนจะถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว

    ต่อมาเมื่อข้าวกล้าแก่แล้ว พราหมณ์นั้นก็ตกลงใจว่า พรุ่งนี้จะเกี่ยว แต่ ในคืนนั้นเองฝนลูกเห็บตกตลอดคืน น้ำในแม่น้ำอจิรวดีท่วมข้าว พัดไปไม่เหลือเลยแม้แต่ทะนานเดียว พราหมณ์นั้นเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง

    หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นพราหมณ์นั้นเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง พระองค์ได้เสด็จไปหา ทรงแสดงธรรม เขาคลายความเศร้าโศกและได้บรรลุโสดาบัน

    เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ทราบเรื่องของพราหมณ์นั้น ก็ได้สนทนากันเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตกาล พระองค์ก็ได้กระทำให้พราหมณ์ผู้นี้สร่างโศกด้วย แล้วได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีต

    ทุกชาติต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่มีใครพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น ในยามทุกข์ ใครสามารถช่วยคนอื่นให้คลายทุกข์ได้ นั่นก็ต้องเป็นปัญญา เพราะว่าอย่างอื่น ย่อมไม่สามารถทำให้คลายทุกข์ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

    ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต ณ พระนครพาราณสี มีพระโอรส ๒ พระองค์ พระองค์พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรสองค์ใหญ่ ตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโอรสองค์เล็ก

    เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสองค์ใหญ่ไม่ทรงต้องการครองราชย์สมบัติ ไม่ต้องการความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ไม่ทรงปรารถนาแม้ตำแหน่งอุปราช ไม่ปรารถนาแม้จะประทับอย่างสุขสำราญในพระราชวัง พระองค์เสด็จออกจากพระนครพาราณสีไปสู่ชนบทชายแดน ทรงอาศัยสกุลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง และทรงกระทำการงานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

    นี่เป็นช่วงหนึ่ง แต่ขอให้ดูการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่แน่นอนในชีวิตของแต่ละคนซึ่งกำลังเป็นกุศลว่า ต่อไปภายหน้าจะไม่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล

    ภายหลังเมื่อสกุลเศรษฐีนั้นรู้ว่าพระองค์เป็นใคร ก็ไม่ยอมให้พระองค์ทำ การงาน และได้รับใช้พระองค์ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อพวกข้าราชการไปสู่ชนบท เพื่อรังวัดเขตบ้านนั้น เศรษฐีบ้านนั้นก็ทูลขอให้พระราชกุมารทรงส่งสารถึงพระราชา ผู้เป็นน้อง ให้ลดส่วยแก่พวกตน ซึ่งพระราชาก็ทรงโปรดให้ลดส่วยให้

    นี่เริ่มจากบ้านหลังหนึ่ง

    ต่อมาพวกชาวบ้านทั้งหมด ชาวชนบทบ้าง ชาวบ้านอื่นๆ บ้าง ก็พากันเข้าไปทูลพระราชกุมารว่า พวกเขาจะถวายส่วยแก่พระราชกุมารเท่านั้น ขอให้พระราชา ทรงยกเว้นส่วยแก่พวกเขา ซึ่งพระราชกุมารก็ได้ส่งสารถึงพระราชา และพระราชา ก็ทรงยกเว้นส่วยให้

    ตั้งแต่บัดนั้น คนเหล่านั้นก็พากันถวายส่วยแก่พระราชกุมาร ลาภสักการะใหญ่ก็เกิดขึ้นแก่พระองค์

    ทีแรกไม่ต้องการแม้ราชสมบัติ ออกจากพระราชวังไป แต่ขอให้คิดดู ชีวิต ทุกคนต้องการมีความสุข บางครั้งบางขณะอาจจะไม่ต้องการ แต่ไม่ใช่จะดับได้ เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ภายหลังก็เกิดความต้องการอีกได้

    ความปรารถนาของพระราชกุมารเจริญตามลาภสักการะด้วย กาลต่อมาพระองค์ทูลขอชนบทแม้ทั้งหมดจากพระราชาผู้เป็นน้อง และต่อมาก็ขอราชสมบัติ กึ่งหนึ่ง ภายหลังก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยด้วยราชสมบัติเพียงกึ่งนั้น ทรงดำริจะ ยึดราชสมบัติเป็นของพระองค์ทั้งหมด เสด็จไปสู่พระนครนั้นพร้อมด้วยชาวชนบท และหยุดพักอยู่ภายนอกพระนคร ส่งสารไปถึงพระราชาผู้น้องว่า จะให้ราชสมบัติหรือจะรบ

    โลภะเกิดขึ้นทำให้เป็นถึงอย่างนั้น คือ หรือจะรบ ต้องการมากถึงอย่างนั้น ไม่คำนึงถึงว่าจะมีการสูญเสียชีวิตหรืออะไรเลย เมื่อมีความโลภเกิดขึ้น มีความปรารถนาเกิดขึ้น ก็เปลี่ยนจากการที่ไม่ต้องการโดยดี เป็นจะให้ราชสมบัติหรือจะรบ

    พระราชาผู้น้องทรงพระดำริว่า พระราชกุมารผู้พี่นี้เป็นคนพาล เมื่อก่อนไม่ทรงปรารถนาราชสมบัติ แม้กระทั่งตำแหน่งอุปราชก็ไม่ทรงปรารถนา มาบัดนี้กลับจะ ยึดเอาด้วยการรบ และพระองค์ทรงพระดำริว่า ถ้าพระองค์จะทรงฆ่าพระราชกุมารผู้พี่ ในการรบ ความครหาก็จะมีแก่พระองค์ พระองค์ก็เชิญพระราชกุมารผู้พี่ ครองราชย์สมบัติโดยไม่ต้องรบ เมื่อพระราชกุมารผู้พี่ทรงครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชกุมารผู้น้อง

    ตั้งแต่ทรงครองราชย์สมบัติ พระองค์ก็ทรงตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยด้วยราชสมบัติพระนครเดียว ทรงปรารถนาราชสมบัติ ๒ พระนคร ๓ พระนคร ไม่ทรงเห็นที่สุดแห่งความอยากเลย

    ครองราชย์สมบัติแล้ว ได้ทุกสิ่งทุกอย่างหมด แต่ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของความโลภ

    ครั้งนั้นท้าวสักกะ (คือ พระอินทร์) ทรงทราบความที่พระราชกุมารเป็นไปในอำนาจของตัณหา ท้าวสักกะทรงดำริที่จะให้พระราชาระลึกได้ พระองค์จึงทรงจำแลงเพศเป็นมาณพ ขอเฝ้าพระราชาเป็นการส่วนพระองค์ มาณพกราบทูลพระราชาว่า มีพระนคร ๓ แห่งที่มั่งคั่ง มีฝูงคนแออัด สมบูรณ์ด้วยพลและพาหนะ และตนสามารถยึดราชสมบัติทั้ง ๓ พระนครนั้นถวายแด่พระราชาได้ ขอให้พระราชารีบเสด็จไปยึดพระนครทั้ง ๓ นั้น

    ความที่พระราชาทรงตกอยู่ในอำนาจความโลภ พระองค์ก็ทรงรับว่า ดีละ แต่ไม่ได้ตรัสถามว่ามาณพนั้นเป็นใคร หรือมาจากไหน หรือจะพระราชทานสิ่งใดให้ เมื่อมาณพกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็ได้เสด็จกลับไปสู่ดาวดึงส์

    พระราชาตรัสให้พวกอำมาตย์มาเฝ้าแล้วตรัสว่า

    มาณพผู้หนึ่งกล่าวว่าจะยึดราชสมบัติ ๓ พระนครให้พวกเรา พวกเธอจงเรียกมาณพนั้นมาทีเถิด จงนำกลองไปเที่ยวตีประกาศในพระนคร เรียกประชุมพลกาย พวกเราต้องยึดครองราชสมบัติ ๓ นคร ไม่ต้องชักช้า

    พวกอำมาตย์ก็กราบทูลว่า พระองค์ทรงประทานสักการะแก่มาณพนั้นอย่างไร หรือทรงถามถึงที่อยู่อาศัยของมาณพนั้นไว้อย่างไร

    พระราชาตรัสว่า พระองค์ไม่ได้ทำสักการะเลย และไม่ได้ถามถึงที่พักอาศัยของมาณพนั้นไว้ด้วย ให้พวกอำมาตย์พากันไปค้นหามาณพนั้นมา

    พวกอำมาตย์ได้พากันไปค้นหาก็ไม่พบ กลับมากราบทูลพระราชา

    หมดโอกาสที่จะได้ ๓ พระนคร เพราะไม่รู้ว่ามาณพนั้นเป็นใคร และ ๓ พระนครที่มาณพสามารถจะยึดมาได้นั้นอยู่ที่ไหน และจะได้มาโดยวิธีใด

    ด้วยเหตุนี้ พระราชาก็เกิดโทมนัส คร่ำครวญว่า

    ราชสมบัติในพระนครทั้ง ๓ เสื่อมหายแล้ว เราเสื่อมเสียจากยศอันใหญ่ มาณพนั้นคงโกรธเราว่า ไม่ให้เสบียง และไม่ให้ที่อยู่อาศัย เลยไม่มา

    พระราชาทรงล้มป่วยด้วยความเสียพระทัย สุดความสามารถที่แพทย์ทั้งหลายจะถวายการรักษาได้

    ถ้าโลภมากๆ ก็ถึงกับป่วยไข้ได้ ด้วยความเสียใจว่า จะได้สิ่งที่ควรจะได้ และก็ไม่มีโอกาสจะได้อีก

    ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เรียนศิลปะสำเร็จจากเมืองตักกสิลา กลับไปสำนักของมารดาบิดาในพระนครพาราณสี เมื่อได้ทราบเรื่องของพระราชาก็ได้ไปขอเฝ้าพระราชา และขอถวายการรักษาพระองค์ พระราชาตรัสว่า พวกแพทย์ ผู้ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ ยังไม่สามารถรักษาพระองค์ได้ มาณพหนุ่มผู้นี้จะสามารถได้อย่างไร และให้พวกอำมาตย์ให้เสบียงแก่มาณพนั้นไป

    มาณพนั้นกล่าวว่า ไม่ต้องการค่ารักษา ขอโปรดให้เพียงค่ายาเท่านั้น พระราชาก็ทรงลองให้มาณพนั้นถวายการรักษาพระองค์ มาณพทูลให้พระราชาทรงบอกสมุฏฐานของโรค ซึ่งพระราชาก็ได้ตรัสเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ต้นที่มาณพคนหนึ่งมาบอกว่า จะเอาราชสมบัติใน ๓ พระนครมาให้พระองค์ แล้วก็ตรัสว่า

    เราเจ็บคราวนี้เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด

    โรคอื่นรักษาง่าย แต่โรคตัณหามีหมอที่ไหนที่จะรักษาได้ ซึ่งพระราชาก็รู้ดีว่า การเจ็บครั้งนี้เพราะโลภะ เพราะความอยาก เพราะตัณหา เพราะฉะนั้น ถ้ามาณพพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด

    มาณพทูลว่า

    ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการเศร้าโศกหรือ

    พระราชาตรัสว่า

    ไม่อาจ

    มาณพกราบทูลว่า

    ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงเศร้าโศก ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อม ละร่างกายของตนเป็นต้น ตลอดถึงสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ ทั้งหมดไป แม้พระองค์จะยึดครองราชย์สมบัติในพระนครทั้ง ๔ ได้ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้ง ๔ บรรทมเหนืออาสนะทั้ง ๔ ทรงเครื่องประดับทั้ง ๔ พร้อมกันคราวเดียวไม่ได้ พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะ ตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอบายทั้ง ๔ ไปได้

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า

    เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้วย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้ เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลนั้นยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมจะเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำฉะนั้น

    ตัณหานี่ไม่หยุด และจะทำให้เร่าร้อนตลอดไป

    ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดี ของคนพาลมีปัญญาน้อย ไม่รู้อะไร ย่อมเจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือนเขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัวฉะนั้น

    แม้จะให้สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชาย หมดทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คนๆ เดียว รู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ

    พระราชาทรงปราบชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่ มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครองมหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัยไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก

    เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น

    มีใครอิ่มบ้างหรือยัง เมื่อวานนี้อยากได้อะไร วันนี้อยากได้อะไร พรุ่งนี้จะ อยากได้อะไรต่อไปอีก

    ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นนั่นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม

    บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ

    อิ่มหรือยัง ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ก็ต้องถามว่าอิ่มหรือยัง แต่อย่าเพิ่งอิ่ม เพราะว่าจะต้องเจริญปัญญาต่อไป

    เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้

    ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้ปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญาเปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปน่าสังเกต

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้า ขายได้ราคาแล้วย่อมมีความสุข เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย

    ก็เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังกล่าวคาถานี้อยู่ ได้เกิดฌานมีโอทาตกสิณ เป็นอารมณ์ เพราะมนสิการพระเศวตฉัตรของพระราชาเป็นอารมณ์

    นี่เป็นผลของการกล่าวธรรม และมีการสะสมมาที่จะเกิดฌานจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่มนสิการพระเศวตฉัตรก็เกิดฌาน มีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์

    แม้พระราชาก็ทรงหายจากโรค พระองค์ทรงโสมนัสยินดี เสด็จลุกจาก พระที่บรรทมตรัสว่า

    พวกแพทย์ทั้งหลายยังไม่อาจรักษาได้ แต่มาณพผู้เป็นบัณฑิตได้ทำเรา ให้ปราศจากโรคด้วยญาณวิสัยของตนได้

    เมื่อจะทรงปราศรัยกับพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า

    คาถาทั้งหมด ๘ คาถาที่ท่านกล่าวแล้ว ขอท่านจงรับเอาทรัพย์ทั้ง ๘,๐๐๐ นี้เถิด คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ

    คือ เมื่อกล่าว ๘ คาถา ก็พระราชทานให้ ๘,๐๐๐

    พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า

    ข้าพระบาทไม่ต้องการด้วยทรัพย์ร้อย ทรัพย์พัน หรือทรัพย์หมื่น เมื่อข้าพระบาทกล่าวคาถาสุดท้าย ใจของข้าพระบาทไม่ยินดีในกาม

    ได้ประโยชน์ยิ่งกว่าทรัพย์ ๘,๐๐๐ เพราะว่าฌานจิตเกิดเมื่อได้กล่าวคาถานั้น

    พระราชาทรงยินดีอย่างเหลือประมาณ ในเมื่อจะทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า

    มาณพใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหาอันยังความทุกข์ให้เกิดแล้วนำออกได้ มาณพนี้เป็นคนดี เป็นมุนีผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง

    พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาว่า

    ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรมเถิด

    แล้วเหาะไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี เจริญพรหมวิหารอยู่จน ตลอดอายุ แล้วไปเกิดในพรหมโลก

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ทำให้พราหมณ์นี้คลายความ เศร้าโศกด้วยประการฉะนี้

    แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพราหมณ์นี้ ส่วนมาณพผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตแล

    วันหนึ่งก็คงจะถึงวันนั้น คือ วันที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ถ้าเข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เจริญกุศล และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ