ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)


    สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในเรื่องของขันติบารมี คือ ขันติวาทีชาดก ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่ขอกล่าวถึงอีกเพื่อให้ระลึกได้บ่อยๆ เรื่องความไม่โกรธ เพื่อให้พิจารณาบ่อยๆ ว่า ผู้มีปัญญาควรโกรธหรือไม่ควรโกรธ เพราะว่าเรื่องของความอดทนจะเห็นได้ชัดเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นควรที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่อดทนเลยจึงโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าใคร่ที่จะบำเพ็ญขันติบารมี ก็ควรมีสติระลึกได้ในทุกสถานการณ์

    ขอกล่าวถึงเรื่องขันติวาทีชาดกอีกครั้งหนึ่ง

    อรรถกถาขันติวาทีชาดกที่ ๓

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

    ถ้าท่านผู้ฟังอยู่ที่พระวิหารเชตวัน รู้จักตัวเองพอที่จะรู้ว่าเป็นคนมักโกรธ หรือเปล่า ภิกษุรูปนั้นเป็นคนมักโกรธจึงเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงปรารภ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ก็เหมือนกับว่าเป็นเหตุที่จะทำให้พระศาสดาทรงปรารภ เพื่อทรงโอวาท

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุนั้นว่า

    เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ไม่โกรธ เพราะเหตุไรจึงกระทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่น

    แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีต ดังนี้

    ยังไม่เคยมีใครตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูกท่านผู้ฟัง แต่ถ้ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ขอให้ระลึกถึงขันติวาทีชาดก

    พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

    ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุ ทรงครองราชย์สมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่ากุณฑลกุมาร

    เจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรวมทรัพย์สมบัติตั้งตัว เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้วไม่ถือเอาไปเลย แต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมด ให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้เป็นทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวช ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลาผลไม้อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ ถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน

    วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร ถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดีท่านหนึ่ง เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือนโดยลำดับ ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตน ให้รับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง

    อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์ มีนางนักสนมห้อมล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยาน ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลา แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรำ ก็ประกอบการขับร้องเป็นต้น พระเจ้ากลาปุก็ทรงบรรทมหลับไป

    หญิงนักฟ้อนเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงบรรทมหลับไปแล้ว จึงทิ้งเครื่องดนตรี มีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ เอง และออกไปเดินเที่ยวในพระราชอุทยาน

    ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชา อยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น หญิงเหล่านั้นเห็น พระโพธิสัตว์จึงเข้าไปไหว้ นั่งล้อม และขอให้พระโพธิสัตว์กล่าวธรรม พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น

    ครั้งนั้น หญิงคนนั้นขยับตัว ทำให้พระราชาตื่นบรรทม พระราชาไม่เห็น หญิงพวกนั้นจึงตรัสถาม หญิงคนโปรดนั้นก็กราบทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อม ดาบสรูปหนึ่ง พระราชาทรงกริ้วรีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้น

    เมื่อพระราชาเสด็จไปประทับยืนในสำนักของพระโพธิสัตว์แล้ว ตรัสถามว่า

    สมณะ เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ

    พระราชาตรัสถามว่า

    ที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    คือ ความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่

    พระราชาตรัสว่า

    ประเดี๋ยวเราจักเห็นความมีขันติของเจ้า

    แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา แล้วรับสั่งให้เพชฌฆาตนั้น ฉุดพระโพธิสัตว์ให้ล้มลงที่พื้น แล้วให้เอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้างทั้งสองด้าน เพชฌฆาตก็กระทำตามรับสั่งนั้น ผิวของพระโพธิสัตว์ขาด หนังขาด เนื้อขาด โลหิตไหล

    พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น

    เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า

    ข้าพระองค์จะทำอย่างไร

    พระราชาตรัสว่า

    จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้

    เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ ทีนั้นพระราชาตรัสกับเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั้นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ เฉพาะภายในหทัยอันเป็นสถานที่ลึกซึ้ง

    พระราชาตรัสว่า

    จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้

    เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต

    พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะกระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก

    พระราชาตรัสว่า

    เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด

    แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอก แล้วเสด็จหลีกไป

    เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือ ปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎก ค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งลงแล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น

    เมื่อจะอ้อนวอนจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า

    ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย

    พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

    พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลายเช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลนานมาแล้ว พระเจ้ากาสี ได้รับสั่งให้ห้ำหั่นสมณะนั้นผู้ดำรงอยู่เฉพาะในขันติธรรม พระเจ้ากาสีหมกไหม้ อยู่ในนรก เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้มักโกรธบรรลุพระอนาคามิผล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัต เสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็นท่านพระสารีบุตร ส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคตฉะนี้แล

    จบ อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓

    ระหว่างฟัง เห็นคุณของขันติไหม หรือยังไม่เห็น ยังจะโกรธ

    เวลาที่มีกายวาจาของบุคคลอื่นซึ่งทำให้ท่านขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจ ยังไม่ได้ตัดเท้า ยังไม่ได้ตัดมือ ยังไม่ได้ตัดหู ยังไม่ได้ตัดจมูก แต่ก็โกรธเสียแล้ว แต่ให้ระลึกถึงผู้ที่เห็นโทษของความโกรธและเห็นคุณของขันติ อย่างภิกษุผู้มักโกรธ ในขณะที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจบพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจธรรม ภิกษุผู้มักโกรธนั้นบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล

    นี่คือผลของการมีจิตน้อมไปที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น และเห็นโทษตามความเป็นจริง เพราะถ้ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเพียง พระโสดาบันบุคคลก็ยังโกรธ หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ยังโกรธ แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมหลังจากที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ละเอียดขึ้น จึงจะเห็นโทษของของความโกรธได้

    ถ้ายังมีความโกรธมาก แม้จะได้ฟังขันติวาทีชาดกก็ตาม ครั้งหนึ่ง สองครั้ง หรืออีกหลายๆ ครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีความคิดมีความตั้งใจมั่นที่แม้ว่า ยังโกรธอยู่ แต่ก็มีความเพียร มีความมั่นคงพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พระโอวาทคำสอนของพระผู้มีพระภาค หรือเพียงแต่ใคร่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระอนาคามีบุคคล โดยไม่สนใจที่จะอบรมขันติ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ