จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน


    มีปัญหาที่น่าคิด ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ชีวิตผ่านความตายไปทุกวัน แต่ละวันๆ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ผ่านความตายไปแต่ละขณะๆ เพราะฉะนั้น การสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ก็คงจะใกล้เข้ามาทุกขณะ ที่แต่ละขณะผ่านไป และการเกิดในภพภูมิต่อไปนั้น ก็แล้วแต่กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่ ซึ่งเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือ อกุศลกรรมอะไรที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนก็ตาม สภาพของจิตย่อมเป็นไปตามการสะสม

    ถ้าปัจจุบันชาตินี้ยังรัก ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลง ยังพยาบาท ยังริษยา ยังสำคัญตนมากน้อยอย่างไร ชาติหน้าเปลี่ยนไปได้ไหม ก็จะต้องเหมือนอย่างนี้ แต่จะมากขึ้น หรือจะน้อยลง ก็ตามการสะสมของปัจจุบันชาติในแต่ละขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความสำคัญของแต่ละขณะในชีวิตว่า จะเป็นประโยชน์ เมื่อกุศลจิตเกิด และจะเป็นประโยชน์มากขึ้นเมื่อสามารถรู้ว่า เป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม

    สำหรับในชาตินี้ ก่อนที่จะตาย ก็น่าจะคิดว่า อยากเป็นคนดี หรืออยากเป็นพระโสดาบัน คิดดูว่าต้องการอย่างไหน ขอเชิญท่านผู้ฟังแสดงความคิดเห็น อยากเป็นคนดีทุกๆ วันเพิ่มขึ้นด้วยการเจริญกุศลทุกประการ หรืออยากเป็นพระโสดาบัน

    ทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดได้ ถ้าคิดถูกก็เป็นปัญญา ถ้าคิดผิดก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง สำหรับผม ชาตินี้คงไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะพยายามมานานแล้วตั้งแต่บวช เนื่องจากความเข้าใจมีน้อย ถ้าความเข้าใจมีอยู่แค่นี้ ชาตินี้คงไม่ได้เป็น พระโสดาบันแน่ๆ แต่ก็พยายามเป็นคนดี ซึ่งความดีก็รู้สึกว่าทำน้อยเหลือเกิน โดยมากมักจะนึกถึงสิ่งใหญ่ๆ ในการทำความดี เช่น ทำบุญบวชนาคบ้าง ทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง ที่ถือว่าเป็นบุญใหญ่ แต่บุญเล็กบุญน้อยที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ อย่างเวยยาวัจจมัย ปัตตานุโมทนามัย ปัตติทานมัย พวกนี้มักจะ มองข้ามไป ซึ่งผมคิดว่า ตราบใดที่เรายังดูถูกบุญเล็กบุญน้อยประจำวันที่เราควรจะบำเพ็ญได้ทุกขณะ ตราบนั้นบารมีหรือสติปัญญาของเราที่จะเป็นเครื่องอบรมให้เกิด สติปัฏฐานนั้นก็คงจะยาก ไม่ฉับพลันทันทีที่จะเห็นแจ้งในสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น จะต้องบำเพ็ญบุญกุศลเล็กๆ น้อยๆ อย่าดูถูกดูหมิ่น ผมจำได้ที่ พ.อ.ธงชัยเคยพูดว่า ทานนี่อย่าประมาท ทำไปเถอะ บาทหนึ่ง สองบาท เห็นคนขอทานข้างถนนอย่าไปดูถูกดูหมิ่นคิดไปในทางอกุศลว่า ได้เงินไปคงเอาไปซื้อเหล้า อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าจิตเราเป็นกุศลทุกๆ ขณะที่เราสามารถจะทำได้ ผมคิดว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตของเรา ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนที่หวังผลขั้นสูงจนถึงมรรคผลนิพพานยังอยู่ห่างมาก เพราะสติปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม ยังน้อยเหลือเกิน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747


    ผู้ฟัง (ต่อ) การเป็นคนดีหรือเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยาก แต่ขึ้นอยู่กับการเจริญเหตุให้ตรงกับผล คือ มีความเห็นถูกนั่นเอง ลักษณะไหนจะเป็นคนดี ลักษณะไหนจะเป็นพระโสดาบัน คิดว่าสำคัญที่เหตุและความเข้าใจ ซึ่งต้องใช้ปัญญา เป็นความเห็นถูกมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นอกุศล แต่เป็นฉันทะ คือ เป็นผู้ใคร่ที่จะกระทำ ไม่ทราบว่า ในชาตินี้อยากจะเป็นคนดี คือ ใคร่ที่จะเป็นคนดี มีฉันทะที่จะเป็นคนดี หรือจะเป็น พระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นฉันทะที่เกิดจากกุศล คิดว่าเป็นพระโสดาบันดีกว่า เพราะว่าขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน คือ ทำลายสักกายทิฏฐิ ได้แล้ว ขั้นต้น

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ารู้ว่ายังอีกไกลมาก ในชาตินี้ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันๆ นี้ ฉันทะจะ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เจริญกุศลทุกขั้นเท่าที่เจริญได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะเป็นคนดีจริงๆ ก็ต้องประกอบด้วยปัญญาจึงจะดีได้ ไม่ใช่ว่าใคร่จะเป็นคนดีหรืออยากเป็นคนดีโดยปัญญาไม่เกิดและจะเป็นได้ เพราะคนที่จะเป็นคนดีได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองว่า ไม่ดีอย่างไร ถูกไหม เพราะว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสจะดีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ และคิดว่าดีแล้ว ขณะนั้นเป็นคนดีจริงๆ ไม่ได้

    การเป็นคนดีได้จริงๆ คือ ต้องดีถึงกับหมดกิเลส แต่เมื่อไม่สามารถจะดับกิเลสหรือหมดกิเลสได้ ก็ต้องอบรมเจริญเหตุ คือ ความดี ที่จะให้หมดกิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะดับกิเลสได้ เพราะการเป็นคนดีจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาและ ดับกิเลส มิฉะนั้นจะชื่อว่าดีจริงๆ ไม่ได้ หรือสำหรับผู้ที่รู้เหตุและผลก็เข้าใจได้ว่า การเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากเหตุ คือ บารมีต่างๆ คุณความดีต่างๆ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งขันติ สัจจะ วิริยะ อธิษฐาน ปัญญา เมตตา อุเบกขา เนกขัมมะ จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร

    การเป็นพระโสดาบัน เป็นผลของการอบรมเจริญความดีในชีวิตประจำวันจนกว่าจะสมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญาเมื่อไร ก็จะบรรลุผลคือเป็นพระโสดาบันเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ก็เจริญเหตุที่จะทำให้บรรลุการเป็นพระโสดาบันข้างหน้า โดยเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    เรื่องของความดีมีมากมายหลายประการ ควรจะทราบว่า ความดีมีอะไรบ้างที่เป็นหลักใหญ่ๆ ซึ่งท่านพระเถระในอดีตได้กล่าวไว้ แม้ว่าท่านได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ควรจะเห็นประโยชน์ของคาถาที่พระอรหันต์ในอดีตได้กล่าวไว้

    อรรถกถา กุมาปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๗๓ มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า ท่านกุมาบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า

    การฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาท โดยเคารพเป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล

    นี่คือจากชีวิตประจำวันไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เริ่มจาก การฟัง เป็นความดี

    ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ

    ถ้าไม่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ชีวิตประจำวันมีใครบ้างที่ไม่ห่วงใย ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจอรรถของพระอรหันต์ต้องรู้ด้วยว่า คาถาที่ท่านกล่าว ไม่ใช่เพียงแต่อ่านและคิดว่าไม่มีอะไร และวันหนึ่งก็จะเป็น พระอรหันต์ แต่ต้องเข้าใจถึงอรรถ ถึงเหตุที่ทำให้บรรลุผลนั้นๆ ด้วย แม้แต่การที่จะอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ

    ถ้ายังเป็นตัวตน เป็นเรา ไม่ใช่เป็นชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้นเห็นและดับไป เกิดขึ้นได้ยินและดับไป เกิดขึ้นคิดนึกและดับไป เกิดขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์และดับไป ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ทุกคนยังห่วงใย ตั้งแต่เช้าจนค่ำก็มีเรื่องที่จะต้องห่วงใย ขณะที่จะไม่ห่วงใยคือขณะที่สติปัฏฐานเกิด และระลึกลักษณะของสภาพธรรม พิจารณาจนรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพเป็น ความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล

    เพราะฉะนั้น เริ่มจากการฟังพระธรรม ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบอันแท้จริง ด้วยการอบรมเจริญปัญญา

    และวันหนึ่งๆ จะอยู่ไปอย่างไรก่อนที่จะตายจากโลกนี้ คือ ทุกคนเกิดมาแล้วยังตายไม่ได้ถ้าไม่ถึงเวลาที่จะตาย ใครจะทำให้ตายก็ตายไม่ได้ เพราะว่าจุติจิตเป็นผลของกรรม จุติจิตเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น คนที่เกิดมาแล้วก็ต้องอยู่ไป แต่การอยู่ไปแต่ละวันๆ จะอยู่ไปอย่างไรก่อนที่จะตายจากโลกนี้

    อรรถกถา ขุททกนิกาย นิทานกถาวรรณนา มีข้อความว่า

    ด้วยศัพท์ว่า ธรรมวิหาร ในบทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้ ท่านแสดงถึง การถึงพร้อมด้วยการฟังพระสัทธรรม เพราะเว้นจากการฟังธรรมเสียแล้ว จะไม่มี ธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้นได้เลย

    ทุกท่านที่ได้ฟังพระธรรม ก็เพื่อประโยชน์ที่จะได้มีพระธรรมเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่ฟังพระธรรม เว้นจากการฟังธรรมเสียแล้ว จะไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้นได้เลย ซึ่งก็น่าจะพิจารณาว่า ก่อนได้ฟังพระธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือยัง และเมื่อ ได้ฟังแล้ว มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือยัง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศล ขณะนั้นมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ซึ่งอาศัยจากการฟัง และเข้าใจ และเห็นประโยชน์

    ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า

    เมื่ออยู่ในประเทศที่ไม่สมควรก็ดี เว้นจากการคบหากับสัตบุรุษก็ดี คุณพิเศษเหล่านั้นจะมีไม่ได้เลย แสดงถึงการประกอบด้วยสมบัติ คือ การฟังพระสัทธรรม

    ไม่ทราบว่าทุกท่านเห็นสมบัติของตัวเองจากการฟังพระสัทธรรมหรือยัง เป็นสมบัติที่แท้จริง ประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติทั้งหลายที่มี

    สมบัติทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดา บ้านช่อง เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย สมบัติที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสมบัติทั้งหลายที่มี จะได้แก่อะไร

    เพราะเว้นจากการฟังพระธรรมเสียแล้ว การแทงตลอดซึ่งสัจจธรรมของ พระสาวกทั้งหลายจะมีไม่ได้เลย

    ทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ แต่การฟัง พระธรรม การเข้าใจพระธรรม เป็นเหตุทำให้แทงตลอดสัจจธรรมได้

    เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม จิต เจตสิก รูป หรือนามธรรม รูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    มีใครอยากจะแลกสมบัตินี้กับสมบัติอื่นไหม หรือไม่ปรารถนาที่จะแลก

    การฟังจะทำให้เข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด โดยเฉพาะในการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้าไม่พิจารณาเหตุผลจริงๆ จะทำให้เข้าใจผิดและปฏิบัติผิดได้

    หลายท่านอยากจะปฏิบัติ ไม่ว่าทราบทำไม ทำไมไม่อยากเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งการเข้าใจนั้นคือปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีความเข้าใจเลยจะปฏิบัติได้อย่างไร และบางท่านก็บอกว่า ปฏิบัติเพื่อให้ถึง พระนิพพาน โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร

    ถ้าถามว่าพระนิพพานคืออะไร ก็ตอบไม่ได้ แต่คิดว่า ถ้าไปนั่งสงบแล้วปัญญาจะเกิดและจะรู้แจ้งนิพพานได้ นั่นเป็นเพราะไม่ได้เข้าใจว่า ปัญญาที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมนั้นคืออย่างไร

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมรูปารามสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    เจ้าลัทธิทั้งหมดมีความสำคัญว่า พวกเราจะบรรลุพระนิพพาน แต่พวกเขาย่อมไม่รู้แม้ว่า ชื่อว่านิพพานคือสิ่งนี้

    ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอจงรู้ธรรมที่รู้ได้ยาก คนพาลผู้หลงไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น นิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหาไม่ฉลาดในธรรม ถึงอยู่ใกล้ก็ไม่รู้แจ้งธรรมนี้

    ผู้ที่ฟังพระธรรมเข้าใจแล้วก็ทราบได้ใช่ไหมว่า ขณะนี้อะไรอยู่ใกล้ที่จะรู้แจ้ง ที่จะประจักษ์อริยสัจจธรรม กำลังเห็น ใกล้หรือไกล กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง กำลังได้ยินในขณะนี้ ใกล้หรือไกล กำลังคิดนึกในขณะนี้ ใกล้หรือไกล

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้แจ้งธรรมที่อยู่ใกล้ คือ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ ที่จะบรรลุพระนิพพานก็เป็นไปไม่ได้

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายต่อไปว่า

    ความมืดมนย่อมมีแก่ผู้ไม่เห็น เพราะถูกเครื่องกางกั้น คือ กิเลส หุ้มห่อ ร้อยรัดไว้

    ไม่ใช่คนอื่นเลย ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็คือ ความมืดมนย่อมมีแก่ผู้ ไม่เห็น สภาพธรรมกำลังเกิดดับก็ไม่เห็น เพราะ ถูกเครื่องกางกั้น คือ กิเลส (ความไม่รู้) หุ้มห่อ ร้อยรัดไว้

    เพราะฉะนั้น กว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยการฟัง และยังต้องเห็นโทษของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อยากจะถึงนิพพาน หรืออยากจะหมดกิเลส แต่ต้องรู้ว่า โทษของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ทำให้ไม่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ