เสรีสูตร


    เรื่องของทานอีกเรื่องหนึ่ง เป็นข้อคิดสำหรับท่านผู้ฟัง เพื่อให้กุศลของท่านเจริญทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เสรีสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    เสรีเทพบุตรได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า

    เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหาร ชื่อว่า ยักษ์ โดยแท้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบเสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า

    ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นสมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ

    ข้อความเหมือนกับจะซ้ำกับที่ทรงแสดงไว้ แต่ว่าทุกเรื่องในพระไตรปิฎกมีประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านผู้ฟัง

    เสรีเทพบุตรได้กราบทูลว่า

    น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว

    ทำไมแจ่มแจ้งกับเสรีเทพบุตร ก็เพราะเหตุว่าท่านได้เกิดเป็นเทพบุตร ได้เสวยผลของบุญ ได้รับผลของบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต เป็นการพิสูจน์พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ธรรมจึงแจ่มแจ้งแก่เสรีเทพบุตร ซึ่งเสรีเทพบุตรก็ได้กราบทูลอดีตชาติของท่านแด่พระผู้มีพระภาค มีข้อความโดยย่อว่า

    ในอดีตชาติ เสรีเทพบุตรได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน พระองค์ได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจกทั้งหลาย

    ครั้นต่อมา พวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาพระองค์ได้ทูลปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน แต่พวกฝ่ายในไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกฝ่ายในจะได้อาศัยพระองค์ให้ทานกระทำบุญบ้าง ซึ่งพระองค์ก็ทรงดำริว่า พระองค์เองก็ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้มาทูลว่าจะให้ทานเช่นนี้ พระองค์จึงทรงมอบการให้ทานที่ประตูด้านแรกแก่พวกฝ่ายในไป พวกฝ่ายในก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของพระองค์ก็ลดไป

    ครั้นต่อมา พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ก็พากันไปเฝ้าทูลปรารภว่า เป็นการชอบที่พวกกษัตริย์พระราชวงศ์จะได้อาศัยพระองค์ให้ทานกระทำบุญบ้าง ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมอบประตูด้านที่สองให้แก่พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ไป พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของพระองค์ก็ลดไป

    เคยบำเพ็ญทานมาก และมีผู้ปรารภว่าจะให้ทานบ้าง ก็ได้มอบทานที่เคยให้ เพื่อให้บุคคลอื่นได้กระทำทาน เจริญบุญกุศลเช่นพระองค์บ้าง

    ครั้นต่อมา พวกพลกาย คือ ข้าราชการฝ่ายทหารก็ได้ไปเฝ้าทูลปรารภว่า เป็นการชอบที่พวกพลกายจะได้อาศัยพระองค์ให้ทานกระทำบุญบ้าง ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมอบประตูด้านที่สามให้พวกพลกายไป พวกพลกายก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของพระองค์ก็ลดไป

    ครั้นต่อมา พวกพราหมณ์คฤหบดี คือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนก็ไปเฝ้าทูล ปรารภว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าราชการฝ่ายทหารก็ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกพราหมณ์คฤหบดีจะได้อาศัยพระองค์ให้ทานกระทำบุญบ้าง ซึ่งพระเจ้าเสรีก็ได้ทรงมอบประตูด้านที่สี่ให้พวกพราหมณ์คฤหบดีไป พวกพราหมณ์คฤหบดีต่างก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของพระเจ้าเสรีก็ลดไป

    จะเจริญทานต่อไปหรือว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อมีผู้มีขอไปหมดทั้ง ๔ ประตูซึ่งเคยบำเพ็ญอยู่ ประตูแรกคือพวกฝ่ายใน ประตูที่ ๒ กษัตริย์พระราชวงศ์ ประตูที่ ๓ ข้าราชการฝ่ายทหาร ประตูที่ ๔ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน

    มอบให้ไปแล้วทั้ง ๔ ประตู ซึ่งเสรีเทพบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องในอดีตชาติของท่านต่อไป

    ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างพากันเข้าไปหาหม่อมฉัน ได้ทูลสนองขึ้นว่า บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงบำเพ็ญทานในที่ไหนๆ อีกหรือ

    เมื่อเขาทูลอย่างนี้ หม่อมฉันจึงกล่าวตอบไปว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นในท้องถิ่นชนบทนอกๆ ออกไป มีรายได้ใดๆ เกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในเมือง คือ ส่งเข้าท้องพระคลังเสียกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งพวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจกทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด ซึ่งก็เป็นเช่นดังกราบบังคมทูลถวายนี้แหละพระเจ้าข้า หม่อมฉันจึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ แห่งกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ โดยที่จะมาคำนึงถึงว่า เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผลของบุญพอแล้ว หรือเท่านี้ที่เราจะพึงตั้งอยู่ในสามัคคีธรรม คือ พร้อมเพรียงร่วมทำบุญกับเขาพอแล้ว ฯ

    เสรีเทพบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า

    น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นสมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า

    ที่กล่าวถึงพระสูตรนี้ เพราะโดยมากเวลาที่ท่านผู้ฟังพูดถึงทาน หรือการถวายทานแก่สมณพราหมณ์ แก่วณิพก ยาจก ท่านก็คิดถึงเฉพาะสิ่งที่ท่านจะหยิบยื่นให้เป็นวัตถุ เป็นข้าว น้ำ อาหาร แต่ตัวอย่างของพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าเสรี จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีผู้ที่ทูลขอปรารภที่จะให้ทาน และได้ทรงมอบประตูทั้ง ๔ ที่ทรงเคยบำเพ็ญกุศลให้กับบุคคลอื่นไปแล้วก็จริง แต่ก็ไม่หมดหนทางที่จะเจริญกุศลต่อไป ยังมีเรื่องที่จะเจริญกุศลอีกมาก อย่างเช่น ในท้องถิ่นชนบทนอกๆ ออกไปซึ่ง ยังไม่เจริญ ควรที่จะต้องพัฒนาให้มีความสะดวกสบาย มีความเจริญ เรื่องที่จะให้บุคคลอื่นได้รับความสะดวกความสบาย อย่าจำกัดแคบๆ เพียงการที่จะสละวัตถุให้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้ได้รับความสะดวกความสบาย ก็ควรที่จะคิดถึง

    ก็เป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน ที่พระองค์ทรงคิดถึงเรื่องของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในชนบทนั้นๆ ที่ควรจะแบ่งออกครึ่งหนึ่งส่งเข้าท้องพระคลัง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจกทั้งหลายในชนบทนั้น แต่สำหรับท่านอื่นทุกท่าน บางครั้งอาจจะมีความผูกพัน หรือว่าความเกี่ยวข้องทางด้านกฎหมายที่บุคคลอื่นจะต้องให้ทรัพย์สมบัติแก่ท่าน ซึ่งบุคคลนั้นอาจจะเป็นผู้ที่ขัดสน มีความทุกข์ยากลำบาก มีภาระที่จะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ถ้าท่านยอมสละที่จะไม่รับทรัพย์สินเงินทองที่จะมาชดเชยให้ท่าน ที่จะทำให้เขาได้รับความลำบากเดือดร้อน ท่านก็ให้ทาน โดยที่ไม่รับสิ่งที่ท่านควรจะได้รับ

    เรื่องของการที่จะให้บุคคลอื่นได้รับประโยชน์สุข อย่าจำกัดแคบๆ เพียงเฉพาะการสละวัตถุให้เท่านั้น แต่มีโอกาสใดที่จะเกื้อกูลคนที่กำลังเดือดร้อนโดยวิธีใดๆ โดยเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ท่านย่อมสามารถที่จะกระทำได้

    อาจจะมีหลายครอบครัวที่ต้องอาศัยพักพิงท่าน ซึ่งอาจจะได้รับความเดือดร้อน เขาต้องนำทรัพย์สินที่เป็นรายได้ประจำเดือนมาส่งมามอบให้ท่าน หรืออย่างไรก็ตาม แต่ว่าอยู่ในฐานะที่ลำบากเดือดร้อน ถ้าท่านมีจิตที่เป็นกุศลที่จะผ่อนปรนแบ่งเบา หรือว่าสละเพื่อให้เขาได้พ้นจากความทุกข์ยาก ในขณะนั้นก็เป็นการสงเคราะห์อนุเคราะห์ เป็นการให้ทานเช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น หนทางที่จะเจริญกุศลมีมากมายหลายประการ ไม่ควรคิดจำกัดอยู่เฉพาะในวงแคบๆ ว่า ถ้าเป็นการให้ทานแล้วก็คือ นำข้าวน้ำไปให้แก่บุคคลที่ขัดสน หรือว่าแก่สมณพราหมณ์ที่เป็นการถวายบิณฑบาต หรือภัตตาหารเท่านั้น แต่ควรที่จะได้สงเคราะห์บุคคลอื่น โดยวิธีใดก็ตามเท่าที่ท่านสามารถจะอนุเคราะห์ได้

    สารัตถปกาสินี อรรถกถาเสรีสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    ในอดีตชาติ เสรีเทพบุตรเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าเสรี ผู้ทรงเป็นทานบดี คือ ให้ทานใดก็เป็นใหญ่ในการให้

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    จริงอยู่ ผู้ใดตนเองบริโภคของดี แต่ให้ของไม่ดี ผู้นั้นเป็นทาสแห่งไทยธรรม ผู้ใดตนบริโภคของเช่นใด ก็ให้เช่นนั้น ชื่อว่าเป็นสหายแห่งไทยธรรม ผู้ใดตนใช้สอยของพอดีพอร้าย แต่ให้ของประณีต ชื่อว่าเป็นเชษฐสามีทานแห่งไทยธรรม

    การให้ทานของพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าเสรีนั้น เกิดจากกัมมัสสกตาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ในกรรมและผลของกรรม เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นเงินทองที่มีมากมาย ก็เกิดกัมมัสสกตาญาณ ให้สร้างโรงทาน และมอบหมายให้อำมาตย์เป็นผู้ให้ทานที่ประตูนั้นๆ

    เวลานี้ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่มีโภคะมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผลของบุญกุศลที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต ก็ชื่อว่าท่านไม่รู้กัมมัสสกตาญาณ ไม่รู้เรื่องเหตุและผลว่าที่กำลังได้รับผลของกุศลอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะได้กระทำกุศลไว้แล้วในอดีต แต่ถ้าผู้ใดเห็นว่า เป็นผลของกรรม ผู้นั้นก็รู้ว่าควรจะต้องเจริญกุศลต่อไป ไม่พึงคิดว่า บำเพ็ญกุศลพอแล้ว แม้พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าเสรีก็ไม่ได้ทรงคำนึงว่า เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผลของบุญพอแล้ว แต่ก่อนนี้ท่านผู้ฟังอาจจะเคยคิด ทำบุญเท่านี้พอแล้ว ผลของบุญที่ได้เท่านี้พอแล้ว ซึ่งความจริงไม่พอ เพราะว่าถ้าหมดผลของบุญ ก็เป็นโอกาสของอกุศลกรรม ผลที่ได้รับนั้นก็ย่อมตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรคำนึงถึงว่า เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผลของบุญพอแล้ว

    การเจริญสติปัฏฐานก็เหมือนกัน เพียงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเล็กๆ น้อยๆ คิดว่าเท่านี้พอแล้วได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่ายังไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ต้องเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น และถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ก็ยังต้องเจริญสติปัฏฐานต่อไป จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    เรื่องอานิสงส์ของทาน ถ้าในปัจจุบันชาตินี้ ทานของท่านบางครั้งเป็นลักษณะของอสัปปุริสทาน บางครั้งเป็นลักษณะของสัปปุริสทาน ท่านก็ควรที่จะได้ทราบถึงผลที่ได้รับด้วยว่า ขณะนี้เป็นผลของอสัปปุริสทานในอดีต หรือว่าเป็นผลของสัปปุริสทานในอดีตที่ได้กระทำแล้ว

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อสัปปุริสทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

    อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่อ่อนน้อม ๑ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของที่เป็นเดน ๑ ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้โดยเคารพ ๑ ให้โดยอ่อนน้อม ๑ ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของไม่เป็นเดน ๑ เห็นผลที่จะมาถึงให้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล ฯ

    ทราบไหมว่า การให้ของท่านแต่ละครั้งเป็นไปในลักษณะของอสัปปุริสทาน หรือว่าสัปปุริสทาน ซึ่งข้อความอธิบายพระสูตรนี้ ใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อสัปปุริสทาน มีข้อความว่า

    คำว่า ย่อมให้ทานโดยไม่เคารพ คือ ไม่สักการะทำให้สะอาดให้

    เวลาที่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าให้ไปโดยที่ไม่สักการะ ไม่เคารพในทาน ในการให้ แม้ว่าวัตถุนั้นจะเป็นวัตถุที่ไม่สะอาด ก็ไม่ทำให้สะอาดเสียก่อน ให้ไป นั่นเป็นการให้ทานโดยไม่เคารพ

    คำว่า ทำความไม่ยำเกรงให้ คือ ให้โดยการไม่ยำเกรง ด้วยความไม่อ่อนน้อม

    เป็นสภาพลักษณะของกิริยาอาการที่ให้ว่า ให้ด้วยความไม่ยำเกรง

    คำว่า ให้ของที่เป็นเดน คือ ไม่ให้ติดต่อกัน หมายความถึง เหลือแล้วจึงให้

    อาจจะไม่มีเจตนาคิดที่จะให้ก่อน เพราะไม่ให้ของที่สมบูรณ์ ประณีตดี แต่ว่าให้ของที่เหลือแล้ว หรือว่าเพราะเหลือแล้วจึงให้

    อีกอย่างหนึ่ง ย่อมให้ดุจต้องการจะทิ้งเสีย

    ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นของที่เหลือ ไม่ต้องการแล้ว อาการที่ให้ก็เป็นการให้โดยลักษณะเหมือนกับว่า ต้องการจะทิ้ง แทนที่จะเป็นการมอบให้ด้วยความเคารพ หรือด้วยความอ่อนน้อม

    คำว่า เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะมาถึงให้ คือ ไม่ยังความเห็นผลที่จะเกิดขึ้น ให้ อย่างนี้ว่า ผลแห่งทานที่เราทำแล้วจักมาถึง

    คือ ไม่เห็นว่าการให้แต่ละครั้งๆ นั้น จะทำให้ได้รับผลของทาน เมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็อาจจะให้ไปด้วยการไม่ทราบว่า ผลของการให้นั้นมี ซึ่งแล้วแต่การให้ว่า การให้เป็นไปในลักษณะของอสัปปุรุษ หรือว่าสัปปุรุษ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า ทำความยำเกรงให้ คือ เข้าไปตั้งการยำเกรงทั้งในไทยธรรม ทั้งในทักขิไณยบุคคลแล้วให้ ใน ๒ อย่างนั้น บุคคลทำไทยธรรมให้ประณีต ให้มีโอชะ คือ ให้มีรสอร่อย เป็นวัตถุที่น่ายินดี ที่ควรจะรับ ถ้าทำอย่างนั้นแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรม ส่วนผู้เลือกบุคคลให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในทักขิไณยบุคคล คือ ในคุณความดีของผู้รับ ก็เป็นการที่ให้ด้วยความเคารพในบุคคลผู้รับ

    คำว่า ผู้เห็นผลที่จะมาถึงให้ คือ เป็นผู้ที่เชื่อกรรม และก็เชื่อวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เมื่อให้ก็รู้ว่า การให้นั้นจะเป็นปัจจัยแก่ภพในอนาคตที่จะให้ได้รับความสุข ความสะดวก ความสบายต่างๆ

    สำหรับผลของทานที่เนื่องมาจากเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัปปุริสทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล คือ ในที่ที่ทานให้ผลเกิดขึ้น

    นี่เป็นผลของการให้ด้วยศรัทธา เพราะเหตุว่าในขณะที่ให้นั้น เป็นผู้ที่มีจิตผ่องใส ไม่มีความเสียดาย แต่เป็นผู้ที่มีความชื่นชมยินดีในทานที่ให้ เพราะฉะนั้น ผลของผู้ที่ให้ทานด้วยศรัทธานั้น ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล คือ ในที่ที่ทานนั้นทำให้เกิดขึ้น

    ประการต่อไป มีข้อความว่า

    ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    ได้รับผลของทานข้อนี้หรือเปล่า พิสูจน์ได้จากชีวิตประจำวัน ท่านที่เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีข้าทาสบริวารมาก มีบุตร มีภรรยา มีคนใช้ บางทีบุคคลเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง

    นี่เป็นผลของการให้โดยไม่เคารพ นามและรูปที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้จะให้ทานจริง เป็นเหตุให้มีทรัพย์มาก มั่งคั่ง มีโภคะมาก แต่เพราะเหตุว่าในขณะที่ให้นั้น ไม่ได้ให้ด้วยความเคารพ เพราะฉะนั้น ผลก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีบุตร มีภรรยา มีทาส มีคนใช้ ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ตรงกันข้าม ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่ให้ทานโดยเคารพ ผลก็คือ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน ก็เป็นผู้ที่เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้

    เพราะฉะนั้น ทานก็จำแนกไปโดยละเอียดตามควรแก่เหตุ


    ประการต่อไป มีข้อความว่า

    ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    หมายความว่า เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความจำเป็น มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านย่อมได้รับสิ่งนั้นที่เป็นประโยชน์สนองความต้องการ ความปรารถนา หรือความจำเป็นนั้นทันที เป็นผลของการให้ทานโดยกาลอันควร ถ้าขณะใดที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังต้องการการสงเคราะห์ การช่วยเหลือทันที แต่ท่านยังรีรอ คิดไปคิดมาก่อน ท่านไม่ได้ให้ทานโดยกาลอันควร เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุ โภคทรัพย์ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็อาจจะได้ แต่ว่าช้า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้นในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    เพราะฉะนั้น ผลขอทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์เช่นนี้ ย่อมทำให้ท่านเป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น เพราะว่าบางท่านมีวัตถุ มีของใช้สวยๆ งามๆ ประณีต แต่ไม่ยอมใช้ แต่เวลาที่ท่านมีจิตอนุเคราะห์ให้บุคคลอื่นได้ใช้ด้วยความสะดวก สุขสบาย จิตของท่านก็ย่อมน้อมไปเพื่อจะใช้วัตถุที่อำนวยความสุขสบายที่ประณีตยิ่งขึ้น

    ข้อต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร และจากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    เป็นผู้ที่ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผลคือ จะพ้นจากอันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทซึ่งไม่เป็นที่รัก เพราะว่าคนที่ไม่เป็นที่รัก หรือทายาทที่ไม่เป็นที่รักทำความเดือดร้อนให้ได้ไหม ทรัพย์ที่มีอยู่ก็เอาไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าอาจจะทุจริตเอาไปในทางที่ไม่ควร นั่นก็เป็นการที่ทำให้ทรัพย์นั้นมีอันตราย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล

    เป็นผลที่เกิดจากเหตุที่ละเอียดขึ้น ซึ่งท่านพิสูจน์ได้จากชีวิตของท่านเอง

    อรรถกถา มโนรถปุรณี มีข้อความว่า

    คำว่า ศรัทธา คือ เชื่อในทานและผลแห่งทาน

    เวลาที่มีความเชื่อในกรรมและผลของกรรม ในการให้ และผลของการให้ การให้ของท่านแต่ละครั้งก็ย่อมจะเป็นการให้ด้วยจิตที่ศรัทธา ด้วยจิตที่ผ่องใส

    คำว่า กาเลนะ คือ ให้โดยกาลอันเหมาะอันควร

    คำว่า เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ คือ เป็นผู้มีจาคะอันความตระหนี่ไม่ยึดจับแล้ว

    คำว่า ไม่กระทบกระทั่ง คือ ไม่เข้าไปฆ่า ได้แก่ ไม่ลบหลู่คุณ คือ ไม่ย่ำยีบุคคลอื่นในการให้ทาน

    คำว่า ประโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้นอันมาแล้วตามกาลย่อมบริบูรณ์ ความว่า ประโยชน์ทั้งหลายเมื่อมาถึง ย่อมไม่มาโดยกาลที่เป็นผู้มีวัยแก่ ย่อมมาในกาลที่เหมาะที่ควร คือ ในปฐมวัยนั่นเอง ทั้งมีมาก

    นี่เป็นผลของการให้ทานโดยกาลอันควร

    จะเห็นได้ว่า บางครั้งท่านไม่ได้รับสิ่งที่ท่านปรารถนา ในเวลาที่ท่านต้องการ ในวัยที่ท่านต้องการ แต่พอล่วงเลยเวลานั้น หรือวัยนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมทุกอย่างด้วยวัตถุ ด้วยโภคสมบัติ ซึ่งท่านอาจไม่สามารถใช้วัตถุโภคสมบัติเหล่านั้นได้ เพราะเหตุว่าล่วงเลยปฐมวัย คือ วัยที่ควรจะได้รับ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ให้โดยกาลอันสมควรแล้ว ประโยชน์ทั้งหลายเมื่อมาถึง ย่อมไม่มาโดยกาลที่เป็นผู้มีวัยแก่ คือ มาในวัยที่พอเหมาะ พอดี พอควรที่ท่านจะได้ใช้บริโภคโภคสมบัตินั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดต้องการที่จะได้รับสมความปรารถนา ท่านก็ควรจะเป็นผู้อนุเคราะห์ตามกาลโดยควรด้วย

    สำหรับเรื่องของกาลทาน หรือว่าการให้โดยควรแก่กาล ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กาลทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล

    ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักษิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักษิณาทานนั้น ทักษิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

    เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

    นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ